‘พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งไพร่พลของพระองค์’
“เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:19.
1, 2. (ก) พระยะโฮวาทรงอวยพระพรไพร่พลของพระองค์อย่างไรในทุกวันนี้? (ข) คริสเตียนหลายคนเผชิญอะไร และมีคำถามอะไรเกิดขึ้น?
สมจริงตามคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล ผู้นมัสการพระยะโฮวาอาศัยอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. (2 โกรินโธ 12:1-4) พยานพระยะโฮวามีมิตรภาพในระดับนานาชาติในหมู่พวกเขาซึ่งมีความรักและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นลักษณะเด่น. (โยฮัน 13:35) พวกเขามีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. (ยะซายา 54:13) พวกเขาหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาอย่างแท้จริงที่พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกเขามีสิทธิพิเศษเป็นแขกในพลับพลาฝ่ายวิญญาณของพระองค์!—บทเพลงสรรเสริญ 15:1.
2 ในขณะที่ทุกคนในองค์การของพระยะโฮวามีความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณ บางคนดูเหมือนมีชีวิตที่มีสันติสุขและความสงบสุขพอสมควร ในขณะที่คนอื่นประสบความทุกข์ยากไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง. คริสเตียนหลายคนพบว่าตนเองตกอยู่ในสภาพย่ำแย่เป็นเวลานานโดยไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการบรรเทาทุกข์. ความท้อแท้ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในสภาวะเช่นนั้น. (สุภาษิต 13:12) ความยากลำบากทั้งหลายบ่งถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้าไหม? พระยะโฮวาทรงจัดให้มีการปกป้องเป็นพิเศษแก่คริสเตียนบางคน แต่ขณะเดียวกันก็ทอดทิ้งคนอื่นไหม?
3. (ก) พระยะโฮวาต้องรับผิดชอบไหมสำหรับความลำบากต่าง ๆ ที่ไพร่พลพระองค์ประสบ? (ข) เหตุใดแม้แต่ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาประสบความทุกข์ยากเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ?
3 คัมภีร์ไบเบิลตอบดังนี้: “เมื่อถูกทดลอง อย่าให้ผู้ใดว่า ‘พระเจ้าทดลองข้าพเจ้า.’ เพราะพระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งที่ชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” (ยาโกโบ 1:13, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงเป็นพระผู้ปกป้องและค้ำจุนไพร่พลของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 91:2-6) “พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งพลไพร่ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 94:14) นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์จะไม่ประสบความยากลำบาก. ระบบโลกปัจจุบันถูกควบคุมโดยปัจเจกชนซึ่งมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว. หลายคนต่ำทราม และบางคนชั่วช้าสิ้นดี. คนพวกนี้ไม่มีใครหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อจะได้สติปัญญา. ทั้งนี้ยังผลให้มนุษย์เราประสบความทุกข์ยากมากมาย. คัมภีร์ไบเบิลบอกชัดว่าไพร่พลของพระยะโฮวาไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลอันน่าเศร้าแห่งความไม่สมบูรณ์และความชั่วของมนุษย์ได้เสมอไป.—กิจการ 14:22.
คริสเตียนที่ภักดีคาดหมายความยากลำบาก
4. คริสเตียนทุกคนสามารถคาดหมายอะไรตราบใดที่เขายังอยู่ในระบบชั่วนี้ และเพราะเหตุใด?
4 แม้ไม่เป็นส่วนของโลก ผู้ติดตามพระเยซูมีชีวิตอยู่ท่ามกลางระบบนี้. (โยฮัน 17:15, 16) คัมภีร์ไบเบิลเปิดโปงซาตานว่าเป็นอำนาจที่มีอิทธิพลครอบงำอยู่เบื้องหลังโลกนี้. (1 โยฮัน 5:19) ฉะนั้น คริสเตียนทุกคนคาดหมายได้ว่าไม่ช้าก็เร็วจะต้องเผชิญปัญหาร้ายแรง. โดยที่คิดเช่นนี้ อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “จงรักษาสติของท่านไว้ จงระวังระไวให้ดี. พญามาร ปรปักษ์ของท่านทั้งหลาย เที่ยวเดินไปเหมือนสิงโต แผดเสียงร้อง เสาะหาคนหนึ่งคนใดที่มันจะขย้ำกลืนเสีย. แต่จงยืนหยัดต่อต้านมัน มั่นคงในความเชื่อ โดยรู้ว่า สิ่งเดียวกันในด้านความลำบากเกิดขึ้นอยู่ในสังคมพี่น้องทั้งสิ้นของท่านทั้งหลายในโลก.” (1 เปโตร 5:8, 9, ล.ม.) ใช่แล้ว สังคมทั้งสิ้นแห่งคริสเตียนอาจคาดหมายได้ว่าจะพบกับความยากเข็ญ.
5. พระเยซูทรงทำให้กระจ่างอย่างไรว่าคริสเตียนที่ซื่อสัตย์จะประสบเรื่องน่าเศร้าในชีวิต?
5 แม้ว่าเรารักพระยะโฮวาอย่างลึกซึ้งและภักดีต่อหลักการของพระองค์ก็ตาม เราจะประสบสิ่งต่าง ๆ ที่น่าเศร้าในชีวิต. พระเยซูทรงทำให้เรื่องนี้กระจ่างในอุทาหรณ์ของพระองค์ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 7:24-27 ซึ่งที่นั่นพระองค์ทรงชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างคนที่เชื่อฟังพระคำของพระองค์กับคนที่ไม่เชื่อฟัง. พระองค์เปรียบสาวกที่เชื่อฟังเป็นเหมือนคนมีปัญญาคนหนึ่งที่สร้างเรือนบนศิลาอันมั่นคง. ส่วนคนที่ไม่เชื่อฟังคำของพระองค์ถูกเปรียบเป็นคนโง่ที่สร้างบ้านบนทราย. หลังพายุผ่านไป เฉพาะบ้านที่สร้างบนศิลาเท่านั้นที่คงตั้งอยู่ได้. สังเกตว่าในกรณีบ้านของคนมีปัญญา “ฝนก็ตกและน้ำก็ไหลเชี่ยว, ลมก็พัดปะทะเรือนนั้น, แต่เรือนมิได้พังลง.” พระเยซูไม่ได้สัญญาว่าคนมีปัญญาจะประสบสันติสุขและความสงบสุขเสมอ. แทนที่จะเป็นดังนั้น ความสุขุมรอบคอบของคนนั้นจะเตรียมเขาไว้ให้ผ่านพายุร้ายนั้นไปได้และปลอดภัย. มีการถ่ายทอดแนวคิดในลักษณะเดียวกันในอุทาหรณ์เรื่องผู้หว่านพืช. ที่นั่น พระเยซูทรงอธิบายว่าแม้แต่ผู้นมัสการที่เชื่อฟัง “ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา” ก็จะ “เกิดผลโดยความเพียร [“ความอดทน,” ล.ม.].”—ลูกา 8:4-15.
6. ในอุปมาของเปาโลเรื่องวัสดุทนไฟ ใครที่ผ่านการทดสอบอย่างหนักได้?
6 ในการเขียนถึงชาวโกรินโธ อัครสาวกเปาโลใช้คำอุปมาเพื่อให้อุทาหรณ์เกี่ยวกับความจำเป็นต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ทนทานซึ่งช่วยเราเผชิญการทดลองได้. วัสดุทนไฟอย่างทอง, เงิน, และเพชรพลอยอันมีค่านั้นเทียบได้กับคุณสมบัติต่าง ๆ อย่างพระเจ้า. (เทียบกับสุภาษิต 3:13-15; 1 เปโตร 1:6, 7.) ในทางตรงกันข้าม ลักษณะนิสัยอย่างเนื้อหนังถูกเปรียบเสมือนวัสดุที่ไหม้ไฟ. จากนั้นเปาโลกล่าวดังนี้: “การของทุกคนก็จะได้ปรากฏแจ้ง. ด้วยว่าเวลาวันนั้นจะเห็นได้ชัดเจน. เหตุว่าจะเห็นชัดได้ด้วยไฟ และไฟนั้นจะได้ทดลองดูการของทุกคนว่าเป็นอย่างไร. ถ้าการของผู้ใดที่ก่อขึ้นบนรากนั้นทนอยู่ได้. ผู้นั้นจะได้บำเหน็จ.” (1 โกรินโธ 3:10-14) อีกครั้งหนึ่งในที่นี้คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า เราทุกคน จะเผชิญการทดสอบอย่างรุนแรงแบบใดแบบหนึ่งอย่างที่ไม่อาจเลี่ยงได้.
7. ตามกล่าวไว้ที่โรม 15:4 พระคัมภีร์สามารถช่วยเราอย่างไรให้ทนการทดลองได้?
7 ในคัมภีร์ไบเบิลมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้รับใช้ที่ภักดีของพระเจ้าซึ่งต้องทนความทุกข์เดือดร้อน บางครั้งเป็นระยะเวลานานทีเดียว. กระนั้น พระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งพวกเขา. อัครสาวกเปาโลคงคิดถึงตัวอย่างเหล่านี้เมื่อท่านกล่าวว่า “ทุกสิ่งที่เขียนไว้คราวก่อนได้เขียนไว้สั่งสอนพวกเรา เพื่อว่า โดยการอดทนของเราและโดยการปลอบโยนจากพระคัมภีร์เราจะมีความหวัง.” (โรม 15:4, ล.ม.) ขอพิจารณาตัวอย่างของชายสามคนผู้ซึ่งแม้มีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า แต่ก็ประสบความทุกข์ยากมากมาย.
สิ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล
8. พระยะโฮวาทรงยอมให้เป็นเช่นไรในกรณีของโยเซฟ และนานแค่ไหน?
8 โยเซฟบุตรยาโคบเป็นที่โปรดปรานของพระยะโฮวาตั้งแต่ยังเยาว์. ถึงกระนั้น แม้ไม่ได้มีข้อพลาดผิดของท่านเองแต่อย่างใด ท่านประสบเหตุการณ์ที่ก่อความลำบากอย่างไม่ขาดสาย. ท่านถูกกักตัวไว้และถูกพี่ ๆ ของท่านเองปฏิบัติอย่างโหดร้าย. ท่านถูกขายไปเป็นทาสในต่างแดนซึ่งที่นั่นท่านถูกกล่าวหาอย่างไม่มีมูลความจริงและถูกขังไว้ใน “คุกมืด.” (เยเนซิศ 40:15) ที่นั่น “เขาได้กระทำเท้าของผู้นั้นให้ระบมไปด้วยตรวน: ท่านต้องติดตรวนเหล็กอยู่.” (บทเพลงสรรเสริญ 105:17, 18) ระหว่างที่ท่านเป็นทาสและถูกจำขังอยู่นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโยเซฟคงต้องได้ทูลพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่าขอให้ได้อิสรภาพ. กระนั้น แม้จะได้ความเข้มแข็งจากพระยะโฮวาด้วยวิธีต่าง ๆ ท่านตื่นขึ้นมาทุกเช้าโดยที่ยังเป็นทาสและเป็นนักโทษอยู่รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 13 ปี.—เยเนซิศ 37:2; 41:46.
9. ดาวิดต้องอดทนกับอะไรเป็นเวลาหลายปี?
9 กรณีของดาวิดก็คล้าย ๆ กัน. เมื่อพระยะโฮวาทรงเลือกชายที่มีคุณสมบัติเหมาะจะปกครองยิศราเอล พระองค์ตรัสว่า “เราได้พบดาวิดบุตรของยิซัย, เป็นคนที่พอใจเรา.” (กิจการ 13:22) ถึงแม้ท่านมีฐานะเป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระยะโฮวา ดาวิดทนทุกข์ยากมากมาย. เนื่องด้วยภยันตรายที่คุกคามชีวิต ท่านซ่อนตัวหลายปีในถิ่นทุรกันดาร, ในถ้ำ, ตามรอยแยกในหน้าผา, และในผืนแผ่นดินต่างแดน. เพราะถูกล่าเหมือนสัตว์ป่า ท่านรู้สึกท้อใจและหวาดกลัว. อย่างไรก็ตาม ท่านอดทนโดยอาศัยความเข้มแข็งจากพระยะโฮวา. ดาวิดสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำจากประสบการณ์ของท่านเองดังนี้: “เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:19.
10. ภัยร้ายแรงอย่างยิ่งอะไรเกิดแก่นาโบธและครอบครัวเขา?
10 ในสมัยผู้พยากรณ์เอลียา มีเพียง 7,000 คนเท่านั้นในยิศราเอลที่ไม่ได้คุกเข่าต่อพระเท็จบาละ. (1 กษัตริย์ 19:18; โรม 11:4) นาโบธซึ่งคงเป็นคนหนึ่งในคนเหล่านี้ ได้ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมอย่างร้ายกาจ. เขาถูกลบหลู่ด้วยการกล่าวหาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท. เมื่อวินิจฉัยว่ามีความผิด เขาถูกพิพากษาลงโทษโดยพระราชกฤษฎีกาให้ประหารด้วยก้อนหิน และเลือดของเขาก็มีหมามาเลียกิน. แม้แต่ลูก ๆ ของเขาก็ถูกฆ่าตาย! กระนั้น เขาหาได้มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาไม่. พยานปรักปรำเขาล้วนกล่าวคำมุสา. เรื่องทั้งหมดเป็นแผนการที่มาจากราชินีอีซาเบลเพื่อกษัตริย์จะได้ริบสวนองุ่นของนาโบธ.—1 กษัตริย์ 21:1-19; 2 กษัตริย์ 9:26.
11. อัครสาวกเปาโลบอกอะไรแก่เราเกี่ยวกับชายหญิงผู้ซื่อสัตย์ในประวัติบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล?
11 โยเซฟ, ดาวิด, และนาโบธเป็นเพียงสามคนจากชายหญิงผู้ซื่อสัตย์จำนวนมากมายซึ่งมีเอ่ยถึงในคัมภีร์ไบเบิลที่ประสบความทุกข์เข็ญ. อัครสาวกเปาโลเขียนทบทวนประวัติผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในยุคสมัยต่าง ๆ. ในข้อเขียนนั้น ท่านกล่าวถึงคนที่ “ถูกทดลองโดยคำเยาะเย้ยและถูกเฆี่ยน, แล้วก็ถูกจำและขังไว้ในคุกด้วย และบางคนถูกหินขว้าง, บางคนถูกเลื่อยเป็นท่อน ๆ, บางคนถูกทดลองต่าง ๆ, บางคนถูกฆ่าด้วยคมดาบ บางคนเที่ยวสัญจรไปนุ่งห่มหนังแกะหนังแพะ อดอยาก, ทนทุกขเวทนาและทนการเคี่ยวเข็ญ (แผ่นดินโลกไม่สมกับคนเช่นนั้นเลย). เขาจึงได้เที่ยวซุ่มซ่อนตัวอยู่ในถ้ำและในโพรง.” (เฮ็บราย 11:36-38) แต่พระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งพวกเขา.
พระยะโฮวาทรงดูแลคนเหล่านั้นที่ทนทุกข์
12. พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันประสบความทุกข์ยากอะไรบ้าง?
12 จะว่าอย่างไรสำหรับไพร่พลของพระยะโฮวาในทุกวันนี้? ฐานะเป็นองค์การ เราสามารถมั่นใจในการปกป้องจากพระเจ้าและในเส้นทางที่ปลอดภัยผ่านสมัยสุดท้ายและความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. (ยะซายา 54:17; วิวรณ์ 7:9-17) อย่างไรก็ตาม ฐานะปัจเจกชนเราตระหนักว่า “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า” ย่อมเกิดแก่มนุษย์ทุกคน. (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) ทุกวันนี้ มีคริสเตียนที่ซื่อสัตย์มากมายซึ่งประสบเหตุเลวร้าย. บางคนอดทนกับความยากจนข้นแค้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “ลูกกำพร้าและหญิงม่าย” คริสเตียนที่อยู่ในความทุกข์ลำบาก. (ยาโกโบ 1:27) และมีอีกหลายคนที่ทนทุกข์อันเป็นผลจากภัยธรรมชาติ, สงคราม, อาชญากรรม, การใช้อำนาจอย่างผิด ๆ, ความเจ็บป่วย, และความตาย.
13. มีประสบการณ์เกี่ยวกับความยากลำบากอะไรบ้างที่เราได้รับรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้?
13 ตัวอย่างเช่น รายงานประจำปี 1996 ของสาขาต่าง ๆ ของสมาคมว็อชเทาเวอร์ต่อคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา แจ้งว่าพี่น้องชายและหญิงบางคนถูกจำคุกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เพราะยึดมั่นในหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. สามประชาคมในประเทศหนึ่งซึ่งอยู่ที่อเมริกาใต้แตกกระจายไปคนละทิศละทางเมื่อกลุ่มกองโจรบังคับให้พยานฯ หลายร้อยคนออกไปจากพื้นที่. ในประเทศหนึ่งซึ่งอยู่ที่แอฟริกาตะวันตก พยานฯ บางคนซึ่งถูกกักอยู่ในเหตุการณ์การปะทะกันในสงครามกลางเมืองถูกฆ่า. ในประเทศหนึ่งแถบอเมริกากลาง สภาวะทางการเงินของพี่น้องบางคนซึ่งวิกฤติอยู่แล้วยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกเพราะถูกพายุเฮอร์ริเคนถล่มอย่างรุนแรง. ในที่อื่น ๆ ซึ่งความยากจนและการขาดแคลนอาหารอาจไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง อิทธิพลต่าง ๆ ที่ไม่ดีอาจทำให้ความยินดีของบางคนลดลง. คนอื่นรู้สึกหดหู่เนื่องด้วยแรงกดดันต่าง ๆ ของชีวิตสมัยใหม่. เนื่องด้วยความเฉยเมยของผู้คนทั่วไป บางคนอาจรู้สึกท้อแท้เมื่อเขาประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.
14. (ก) เราเรียนอะไรจากตัวอย่างของโยบ? (ข) แทนที่จะคิดในแง่ลบ เราควรทำเช่นไรเมื่อเราประสบความทุกข์เดือดร้อน?
14 อย่าได้เข้าใจว่าสภาพการณ์เหล่านี้เป็นหลักฐานชี้ถึงความไม่พอพระทัยของพระเจ้า. ขอให้ระลึกถึงกรณีของโยบและความลำบากยากแค้นมากมายที่ท่านต้องทนเอา. ท่านเป็น “คนดีรอบคอบและชอบธรรม.” (โยบ 1:8) โยบคงรู้สึกเสียกำลังใจสักเพียงไรเมื่ออะลีฟาศกล่าวหาว่าท่านทำผิด! (โยบบท 4, 5, 22) เราไม่ต้องการด่วนสรุปว่าเราประสบความยากลำบากเพราะเราได้ทำอะไรบางอย่างให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย หรือเพราะพระยะโฮวาได้ถอนพระพรของพระองค์กลับ. การคิดในแง่ลบเมื่อเผชิญความยากลำบากอาจทำให้ความเชื่อของเราอ่อนลง. (1 เธซะโลนิเก 3:1-3, 5) เมื่อประสบความทุกข์เดือดร้อน ดีที่สุดที่จะใคร่ครวญข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาและพระเยซูทรงอยู่ใกล้ ๆ ผู้ชอบธรรมไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม.
15. เราทราบได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวด้วยความยากลำบากต่าง ๆ ที่ไพร่พลของพระองค์ประสบ?
15 อัครสาวกเปาโลช่วยให้เรามั่นใจเมื่อท่านกล่าวดังนี้: “ใครผู้ใดจะให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระคริสต์เล่า? จะเป็นการยากลำบาก, หรือความทุกข์ในใจ, หรือการเคี่ยวเข็ญ, หรือการกันดารอาหาร, หรือการเปลือยกาย, หรือการถูกโพยภัย, หรือการถูกคมดาบหรือ . . . ข้าพเจ้าเชื่อมั่นคงว่า, แม้ความตาย, หรือชีวิต, หรือทูตสวรรค์, หรือผู้มีบรรดาศักดิ์, หรือสิ่งซึ่งมีอยู่เดี๋ยวนี้, หรือสิ่งซึ่งจะเป็นมาภายหน้า, หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย, หรือความสูง, หรือความลึก, หรือสิ่งใด ๆ อื่นที่ทรงสร้างแล้ว, จะไม่อาจกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้าซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย.” (โรม 8:35, 38, 39) พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยในตัวเราอย่างลึกซึ้งและตระหนักถึงความยากลำบากของเรา. ระหว่างที่หนีการตามล่าอยู่นั้น ดาวิดเขียนดังนี้: “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา. พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้ผู้ที่มีใจชอกช้ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:15, 18; มัดธาย 18:6, 14) พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราทรงเอาพระทัยใส่ในตัวเราและสงสารคนทุกข์ยาก. (1 เปโตร 5:6, 7) พระองค์ทรงจัดให้เรามีสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อจะอดทนได้ ไม่ว่าเราอาจประสบความยากลำบากแบบใดก็ตาม.
ของประทานจากพระยะโฮวาช่วยค้ำจุนเรา
16. การจัดเตรียมอะไรจากพระยะโฮวาช่วยเราให้อดทน และโดยวิธีใด?
16 แม้ว่าเราไม่อาจคาดหมายชีวิตที่ปราศจากปัญหาในระบบเก่านี้ แต่เรา “ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง.” (2 โกรินโธ 4:8, 9, ฉบับแปลใหม่) พระเยซูทรงสัญญาจะจัดให้ผู้ติดตามพระองค์มีผู้ช่วย. พระองค์ตรัสว่า “เราจะขอพระบิดา, และพระองค์จะทรงประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งแก่ท่าน, เพื่อจะอยู่กับท่านเป็นนิตย์. คือพระวิญญาณแห่งความจริง.” (โยฮัน 14:16, 17) ในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 อัครสาวกเปโตรบอกกับผู้ฟังของท่านว่า พวกเขาสามารถได้รับ “พระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (กิจการ 2:38) พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราไหมในทุกวันนี้? ใช่แล้ว! พลังปฏิบัติการของพระยะโฮวาช่วยให้เราเกิดผลที่น่าอัศจรรย์ซึ่งก็ได้แก่: “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติอันมีค่ายิ่งที่ช่วยเราให้อดทน.
17. ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลประการใดบ้างที่ช่วยเสริมความเชื่อและความมุ่งมั่นที่จะคอยท่าพระยะโฮวาอย่างอดทน?
17 พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังช่วยเราให้เข้าใจว่า ความทุกข์ลำบากในปัจจุบันเป็น “เพียงเล็กน้อยซึ่งเราทนทุกข์อยู่ชั่วคราว” เมื่อเทียบกับบำเหน็จแห่งชีวิตนิรันดร์. (2 โกรินโธ 4:16-18, ฉบับประชานิยม) เราเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะไม่ทรงลืมการงานของเราและความรักที่เราแสดงเพื่อพระองค์. (เฮ็บราย 6:9-12) เมื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจ เราได้รับการปลอบประโลมโดยตัวอย่างของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในอดีตซึ่งทนความยากลำบากมากมาย แต่ก็ได้รับการประกาศว่ามีความสุข. ยาโกโบเขียนดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย ในเรื่องการทนรับความชั่วร้ายและการอดใจรอนั้น จงเอาแบบอย่างของพวกผู้พยากรณ์ที่ได้กล่าวในนามของพระยะโฮวา. นี่แน่ะ! เราบอกว่า คนเหล่านั้นที่ได้อดทนก็เป็นสุข.” (ยาโกโบ 5:10, 11, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่า “กำลังที่มากกว่าปกติ” จะช่วยเราอดทนการทดลอง. พระยะโฮวาทรงอวยพระพรเราด้วยความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายด้วย. (2 โกรินโธ 1:8-10; 4:7, ล.ม.) โดยการอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันและคิดรำพึงเรื่องคำสัญญาเหล่านี้ เราจะเสริมความเชื่อของเราและความมุ่งมั่นของเราที่จะคอยท่าพระเจ้าอย่างอดทน.—บทเพลงสรรเสริญ 42:5.
18. (ก) สองโกรินโธ 1:3, 4 สนับสนุนเราให้ทำอะไร? (ข) คริสเตียนผู้ดูแลจะพิสูจน์ได้โดยวิธีใดว่าเขาเป็นแหล่งแห่งการปลอบประโลมและความสดชื่น?
18 นอกจากนี้ พระยะโฮวาได้ทรงประทานอุทยานฝ่ายวิญญาณให้เราซึ่งเราสามารถชื่นชมในความรักแท้ของพี่น้องคริสเตียนชายหญิงของเรา. เราทุกคนมีบทบาทต้องทำเพื่อปลอบประโลมกันและกัน. (2 โกรินโธ 1:3, 4) โดยเฉพาะคริสเตียนผู้ดูแลสามารถเป็นแหล่งสำคัญแห่งการปลอบประโลมและความสดชื่น. (ยะซายา 32:2) ฐานะเป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์” พวกเขาได้รับมอบหมายให้เสริมสร้างคนที่ทุกข์ยาก ให้ “พูดปลอบโยนผู้ที่หดหู่ใจ” และ “เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ.” (เอเฟโซ 4:8, 11, 12, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) มีการสนับสนุนผู้ปกครองให้ใช้วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งหนังสืออื่น ๆ ที่ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดไว้ให้ด้วย. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) หนังสือเหล่านี้มีคำแนะนำมากมายที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งสามารถช่วยเราแก้ปัญหาและแม้กระทั่งป้องกันปัญหาบางอย่างที่ทำให้เรากังวลใจ. ขอให้เราเลียนแบบพระยะโฮวาโดยการปลอบโยนและหนุนกำลังใจกันและกันในช่วงเวลาที่ยุ่งยากนี้!
19. (ก) อะไรช่วยเราหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อความยากลำบากบางอย่าง? (ข) ในที่สุดแล้วเราต้องวางใจในผู้ใด และอะไรจะช่วยเราให้สามารถเผชิญการทดลองได้?
19 ขณะที่เราเข้ามาในสมัยสุดท้ายมากขึ้นและสภาพการณ์ต่าง ๆ ในระบบปัจจุบันยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ คริสเตียนทำสิ่งที่เขาทำได้เพื่อเลี่ยงสิ่งที่ก่อความทุกข์ยาก. (สุภาษิต 22:3) การมีวิจารณญาณที่ดี, สุขภาพจิตดี, และความรู้เกี่ยวกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยเราตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม. (สุภาษิต 3:21, 22) เราฟังพระคำของพระยะโฮวาและปฏิบัติตามพระคำนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการทำพลาดผิดโดยไม่จำเป็น. (บทเพลงสรรเสริญ 38:4) อย่างไรก็ตาม เราตระหนักว่าไม่ว่าเราจะพยายามในส่วนของเราสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจขจัดความยากลำบากไปจากชีวิตของเราได้อย่างสิ้นเชิง. ในระบบนี้ ผู้ชอบธรรมหลายคนเผชิญความลำบากยากแค้นอย่างรุนแรง. อย่างไรก็ดี เราสามารถเผชิญการทดลองต่าง ๆ ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า “พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งพลไพร่ของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 94:14) และเรารู้ว่าระบบนี้รวมทั้งความทุกข์เข็ญในระบบนี้ไม่ช้าจะสูญไป. ด้วยเหตุนั้น ขอให้เราปลงใจแน่วแน่จะไม่ “เลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม เพราะเราจะเก็บเกี่ยวผลในเวลาอันควรถ้าเราไม่เลื่อยล้า.”—ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.
เราได้บทเรียนเช่นไร?
▫ การทดลองอะไรที่สังคมคริสเตียนทั้งสิ้นต้องประสบ?
▫ ตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยเราเข้าใจว่า ความยากลำบากมิได้บ่งชี้ถึงความไม่พอพระทัยของพระยะโฮวา?
▫ พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวด้วยความยากลำบากที่ไพร่พลพระองค์ประสบ?
▫ ของประทานอะไรบ้างที่มาจากพระยะโฮวาซึ่งช่วยเราอดทนการทดลอง?
[รูปภาพหน้า 10]
ดาวิด, นาโบธ, และโยเซฟ ทั้งสามประสบความยากลำบาก