“เจ้าหญิงผมเข้มแห่งทะเลทรายซีเรีย”
ผิวของพระนางคมขำราวกับผลมะกอก ฟันของพระนางขาวราวกับไข่มุก ดวงตาของพระนางดำแวววาว. พระนางได้รับการศึกษาอย่างดีและเป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายภาษา. ว่ากันว่าราชินีนักรบผู้นี้มีความรู้มากกว่าพระนางคลีโอพัตราและอาจมีความงดงามเท่าเทียมกัน. เนื่องจากพระนางอาจหาญขึ้นมาต่อต้านมหาอำนาจโลกในสมัยนั้น พระนางจึงมีบทบาทตามคำพยากรณ์ในเหตุการณ์อันน่าทึ่งของพระคัมภีร์. หลังจากพระนางสิ้นชีวิตไปนานแล้ว นักเขียนเยินยอพระนาง และจิตรกรเขียนภาพของพระนางตามอุดมคติ. กวีในศตวรรษที่ 19 พรรณนาพระนางว่า “เจ้าหญิงผมเข้มแห่งทะเลทรายซีเรีย.” สตรีที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงผู้นี้คือพระนางเซโนเบีย—ราชินีแห่งเมืองแพลไมราของซีเรีย.
พระนางเซโนเบียโดดเด่นขึ้นมาอย่างไร? บรรยากาศทางการเมืองซึ่งทำให้พระนางขึ้นสู่อำนาจเป็นอย่างไร? อาจกล่าวอะไรได้ถึงบุคลิกของพระนาง? และราชินีผู้นี้ทำให้บทบาทอะไรในคำพยากรณ์สำเร็จ? ตอนแรกขอพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์ซึ่งเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเริ่มต้นขึ้น.
เมืองริมทะเลทราย
เมืองของพระนางเซโนเบียคือ แพลไมรา อยู่ห่างจากเมืองดามัสกัสออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 210 กิโลเมตร ตรงแนวเหนือสุดของทะเลทรายซีเรียซึ่งเทือกเขาแอนติ-เลบานอน ลาดลงสู่ที่ราบนี้. เมืองโอเอซิสเมืองนี้ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งอยู่ไปทางตะวันตกและแม่น้ำยูเฟรทีสซึ่งอยู่ไปทางตะวันออก. กษัตริย์ซะโลโมอาจรู้จักเมืองนี้ในชื่อธัดโมร สถานที่ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อสวัสดิภาพของอาณาจักรของท่านในสองประการ คือเป็นฐานที่มั่นทางทหารเพื่อจะป้องกันพรมแดนด้านเหนือและเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมต่อสำคัญของเมืองต่าง ๆ ของขบวนคาราวาน. ดังนั้น ซะโลโมจึง “สร้างเมืองธัดโมร [“ขึ้นใหม่,” ล.ม.] ในป่า.”—2 โครนิกา 8:4.
ประวัติศาสตร์หนึ่งพันปีต่อมาหลังรัชกาลของกษัตริย์ซะโลโมไม่ได้บอกอะไรอีกเลยเกี่ยวกับเมืองธัดโมร. หากการระบุว่าเมืองนี้คือเมืองเดียวกับแพลไมราถูกต้องแล้วละก็ การที่เมืองนี้โดดเด่นขึ้นมาก็เริ่มต้นหลังจากซีเรียกลายเป็นแคว้นชั้นนอกของจักรวรรดิโรมันในปี 64 ก.ส.ศ. ริชาร์ด สโตนแมนกล่าวในหนังสือของเขาชื่อแพลไมราและจักรวรรดิ—การกบฏของเซโนเบียต่อโรม ว่า “เมืองแพลไมรามีความสำคัญต่อโรมในสองทาง คือทางเศรษฐกิจและทางทหาร.” เนื่องจากเมืองแห่งต้นปาล์มนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าหลักซึ่งเชื่อมกรุงโรมกับเมโสโปเตเมียและประเทศทางตะวันออก สินค้าราคาแพงแห่งโลกโบราณได้ผ่านเมืองนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศจากอินเดียตะวันออก, ผ้าไหมจากเมืองจีน, และสิ้นค้าอื่น ๆ จากเปอร์เซีย, เมโสโปเตเมียตอนล่าง, และประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน. จักรวรรดิโรมันพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเหล่านี้.
ในทางทหาร แคว้นซีเรียทำหน้าที่เป็นเขตกันชนระหว่างมหาอำนาจที่เป็นอริ คือโรมและเปอร์เซีย. แม่น้ำยูเฟรทีสกั้นโรมกับประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออกระหว่าง 250 ปีแรกแห่งสากลศักราช. เพียงแต่ข้ามทะเลทรายไปทางตะวันตกของเมืองดูรา-ยูโรปอสซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำยูเฟรทีสก็จะถึงเมืองแพลไมรา. โดยตระหนักถึงความสำคัญของเมืองนี้ จักรพรรดิโรมันเช่นเฮเดรียนและวาเลอเรียนได้มาเยี่ยมเมืองแพลไมรา. เฮเดรียนเพิ่มความสง่างามทางสถาปัตยกรรมให้กับเมืองนี้และทำการบริจาคอย่างใจกว้าง. วาเลอเรียนให้รางวัลแก่ชาวแพลไมราผู้สูงศักดิ์ที่ชื่อ ออดีเนทุส—ผู้เป็นสามีของพระนางเซโนเบีย—โดยเลื่อนยศเขาขึ้นให้เป็นกงสุลแห่งโรม ในปี ส.ศ. 258 เพราะว่าเขาได้ประสบความสำเร็จในการรบกับเปอร์เซียและขยายพรมแดนของจักรวรรดิโรมันเข้าไปในเมโสโปเตเมีย. พระนางเซโนเบียมีส่วนสำคัญในการที่สามีขึ้นสู่อำนาจ. นักประวัติศาสตร์ เอดเวิร์ด กิบบอน เขียนว่า “ความสำเร็จของออดีเนทุสขึ้นอยู่กับความรอบคอบและความแข็งแกร่งของพระนาง [เซโนเบีย] เป็นอย่างมาก.”
ในระหว่างนั้น กษัตริย์เซพอร์แห่งเปอร์เซียตัดสินใจท้าทายความยิ่งใหญ่ของโรมและสำแดงอำนาจของท่านเหนือแคว้นทั้งหมดในอดีตของเปอร์เซีย. พร้อมด้วยกองทัพอันน่าเกรงขาม ท่านยกไปทางทิศตะวันตก ยึดเมืองนิซิบิส ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของทหารโรมัน และเมืองแคร์รี (ฮาราน) และล้างผลาญทางเหนือของซีเรียและซิลีเซีย. จักรพรรดิวาเลอเรียนมานำกองกำลังของท่านด้วยตนเองสู้กับผู้ที่มาโจมตีแต่ก็ต้องพ่ายแพ้และถูกพวกเปอร์เซียจับเป็นเชลย.
ออดีเนทุสคิดว่าถึงเวลาที่จะส่งเครื่องบรรณาการราคาแพงและพระราชสาส์นแห่งสันติภาพถึงกษัตริย์เปอร์เซีย. กษัตริย์เซพอร์สั่งอย่างหยิ่งผยองให้โยนของบรรณาการเหล่านั้นลงในแม่น้ำยูเฟรทีสและเรียกร้องให้ออดีเนทุสปรากฏตัวต่อหน้าท่านในฐานะเป็นเชลยอันต่ำต้อย. ชาวแพลไมราตอบสนองโดยรวมพลกองทัพของพวกเร่ร่อนในทะเลทรายและพวกที่เหลือจากกองทัพโรมันและเริ่มโจมตีพวกเปอร์เซียซึ่งตอนนี้กำลังล่าถอยไป. กองกำลังของเซพอร์ซึ่งเหน็ดเหนื่อยจากการรบและเพียบแปล้ด้วยสิ่งของที่ยึดมาได้ ก็แทบไม่สามารถป้องกันตัวได้เลยจากกลยุทธ์ตีหัวเข้าบ้านของนักรบทะเลทรายและจำต้องหนีไป.
ในการยอมรับในชัยชนะเหนือเซพอร์ บุตรและผู้สืบตำแหน่งของวาเลอเรียน แกลลิเอนุส มอบตำแหน่งคอร์เรกโทร์ โททิอุส ออเรียนทิส (ผู้ว่าราชการทางตะวันออกทั้งหมด) ให้แก่ออดีเนทุส. ต่อมา ออดีเนทุสได้ตั้งยศให้ตนเองเป็น “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย.”
เซโนเบียต้องการสร้างจักรวรรดิ
ในปี ส.ศ. 267 ณ จุดสูงสุดของชีวิต ออดีเนทุสและรัชทายาทถูกลอบสังหาร เชื่อกันว่าโดยหลานผู้อาฆาต. พระนางเซโนเบียรับตำแหน่งต่อจากสามีของนาง เนื่องจากบุตรของพระนางยังอายุน้อยไป. ด้วยความสวย, ความทะเยอทะยาน, ความสามารถในฐานะนักบริหาร, ความคุ้นเคยกับการรบพร้อมกับสามีผู้ล่วงลับ, และการพูดได้หลายภาษา พระนางจึงสามารถควบคุมความนับถือและการสนับสนุนจากผู้อยู่ใต้อำนาจของพระนางได้ ซึ่งไม่ใช่งานง่าย ๆ เลยในหมู่ชาวเบดูอิน. พระนางเซโนเบียรักการเรียนรู้และอยู่ท่ามกลางผู้รู้. ที่ปรึกษาคนหนึ่งของพระนางคือนักปรัชญาและนักวาทศาสตร์ แคชชีอุส ลอนไจนุส ซึ่งว่ากันว่าเป็น “ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เดินได้.” นักเขียน สโตนแมนชี้ว่า “ระหว่างห้าปีหลังจากออดีเนทุสเสียชีวิต . . . พระนางเซโนเบียได้สถาปนาตนเองในจิตใจของประชาชนในฐานะเจ้าหญิงแห่งตะวันออก.”
ฟากหนึ่งของเขตแดนของพระนางเซโนเบียคือเปอร์เซีย ซึ่งเธอและสามีได้บั่นทอนกำลังลง และอีกฟากหนึ่งคือโรมที่กำลังจะล่มสลาย. นักประวัติศาสตร์เจ. เอ็ม. โรเบิตส์กล่าวเกี่ยวกับสภาพของจักรวรรดิโรมันในตอนนั้นว่า “ศตวรรษที่สามเป็น . . . เวลาอันย่ำแย่สำหรับโรมพอ ๆ กันทั้งในพรมแดนทางตะวันออกและทางตะวันตก ขณะที่ในกรุงโรม ช่วงเวลาใหม่แห่งสงครามกลางเมืองและการถกเถียงกันเรื่องผู้สืบตำแหน่งก็เริ่มขึ้น. จักรพรรดิยี่สิบสององค์ (ไม่นับรวมผู้อ้างสิทธิ์) มาแล้วก็ไป.” ส่วนเจ้าหญิงแห่งซีเรียเป็นกษัตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอย่างมั่นคงเด็ดขาดในอาณาเขตของพระนาง. สโตนแมนตั้งข้อสังเกตว่า “โดยที่ควบคุมการถ่วงดุลอำนาจของจักรวรรดิทั้งสอง [เปอร์เซียและโรมัน] พระนางอาจใฝ่ฝันที่จะสร้าง [จักรวรรดิ] ที่สามซึ่งจะควบคุมจักรวรรดิทั้งสอง.”
โอกาสที่พระนางเซโนเบียจะขยายอำนาจกษัตริย์มาถึงในปี ส.ศ. 269 เมื่อผู้อ้างสิทธิ์ในการปกครองของโรมปรากฏตัวในอียิปต์. กองทัพของพระนางเซโนเบียยกไปอียิปต์อย่างรวดเร็ว กวาดล้างกบฏ และยึดประเทศนั้น. พระนางประกาศตนเป็นราชินีแห่งอียิปต์และออกเหรียญที่มีนามของพระนางอยู่. ตอนนี้อาณาจักรของพระนางแผ่ขยายจากแม่น้ำไนล์จนถึงแม่น้ำยูเฟรทีส. ณ จุดนี้เองในชีวิต พระนางมีฐานะเป็น “กษัตริย์ทิศใต้” ที่กล่าวถึงในคำพยากรณ์ของดานิเอลในคัมภีร์ไบเบิล เนื่องจากตอนนั้นอาณาจักรของพระนางควบคุมเขตแดนทางใต้ของมาตุภูมิของท่านดานิเอล. (ดานิเอล 11:25, 26, ล.ม.) พระนางยังได้พิชิตส่วนใหญ่ของเอเชียน้อยด้วย.
พระนางเซโนเบียเสริมความเข้มแข็งและตกแต่งเมืองหลวง คือแพลไมรา ถึงขนาดที่เมืองนี้อยู่ในระดับเดียวกันกับเมืองที่ใหญ่กว่าแห่งโลกโรมัน. ประชากรของเมืองนี้มีประมาณ 150,000 กว่าคน. อาคารสาธารณะ, วิหาร, สวน, เสาหิน, และอนุสาวรีย์อันโอ่อ่าเต็มเมือง อยู่ภายในกำแพงเมืองซึ่งว่ากันว่ามีระยะทางโดยรอบ 21 กิโลเมตร. เสาระเบียงที่เรียงกันเป็นแถวแบบคอรินเธียนสูงกว่า 15 เมตรประมาณ 1,500 ต้นเรียงอยู่ตามถนนสายหลัก. รูปจำลองของวีรบุรุษและผู้อำนวยประโยชน์ที่มั่งคั่งปรากฏอยู่มากมายในเมือง. ในปี ส.ศ. 271 พระนางเซโนเบียตั้งรูปจำลองของตนเองและสามีผู้ล่วงลับขึ้น. ณ แนวขอบของทะเลทราย เมืองแพลไมราทอประกายราวกับอัญมณี.
วิหารแห่งพระอาทิตย์เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ดีที่สุดในเมืองแพลไมราและไม่ต้องสงสัยว่าวิหารนี้เป็นจุดรวมฉากเหตุการณ์ทางศาสนาในเมืองนี้. พระนางเซโนเบียคงจะนมัสการเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับพระอาทิตย์ด้วย. อย่างไรก็ดี ซีเรียในศตวรรษที่สามเป็นดินแดนที่มีศาสนาหลากหลาย. ในอาณาเขตของพระนางเซโนเบียมีพวกที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน, ชาวยิว, นักโหราศาสตร์, และผู้นมัสการพระอาทิตย์และพระจันทร์. ทัศนะของพระนางต่อแนวทางการนมัสการต่าง ๆ ในอาณาเขตของพระนางเป็นอย่างไร? นักเขียนสโตนแมนตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้ปกครองที่ฉลาดจะไม่ละเลยประเพณีใด ๆ ที่ดูเหมือนว่าเหมาะสมสำหรับราษฎรของตน. . . . มีการหวังกันว่า ปวงเทพเจ้าจะร่วมกันอยู่ฝ่ายแพลไมรา.” ดูเหมือนว่า พระนางเซโนเบียเป็นผู้ยอมให้มีศาสนาอื่น. แต่ปวงเทพเจ้า “ร่วมกันอยู่ฝ่ายแพลไมรา” จริง ๆ ไหม? จะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองแพลไมราและ “ผู้ปกครองที่ฉลาด” ของเมืองนี้ในอีกไม่นาน?
จักรพรรดิองค์หนึ่ง ‘ปลุกหัวใจของท่าน’ ต่อต้านพระนางเซโนเบีย
ในปี ส.ศ. 270 ออรีเลียนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งโรม. กองทหารของท่านตีและปราบพวกอนารยชนทางเหนืออย่างเป็นผลสำเร็จ. ในปี ส.ศ. 271 ออรีเลียน—ซึ่งตอนนี้มีภาพเป็น “กษัตริย์ทิศเหนือ” ในคำพยากรณ์ของดานิเอล—ได้ “ปลุกพลังและหัวใจของท่านต่อสู้กษัตริย์ทิศใต้” ซึ่งตอนนี้หมายถึงพระนางเซโนเบีย. (ดานิเอล 11:25ก, ล.ม.) ออรีเลียนได้ส่งกองกำลังบางส่วนของท่านไปอียิปต์อย่างรวดเร็วและท่านได้นำกองทัพใหญ่ของท่านไปทางตะวันออกผ่านเอเชียน้อย.
กษัตริย์ทิศใต้—อำนาจปกครองที่มีพระนางเซโนเบียเป็นผู้นำ—“ปลุกใจตนเอง” สำหรับสงครามกับออรีเลียน “ด้วยกองทัพใหญ่ยิ่งและเข้มแข็ง” นำโดยแม่ทัพสองคน ซาบดาสและซาบไบ. (ดานิเอล 11:25ข, ล.ม.) แต่ออรีเลียนยึดอียิปต์ได้และกองทหารเข้าไปในเอเชียน้อยและซีเรีย. พระนางเซโนเบียพ่ายแพ้ที่เมืองเอเมซา (ปัจจุบันเป็นเมืองฮอมส์) และล่าถอยไปที่เมืองแพลไมรา.
เมื่อออรีเลียนล้อมเมืองแพลไมรา พระนางเซโนเบียหวังจะไปขอความช่วยเหลือโดยหนีไปกับบุตรของพระนางทางประเทศเปอร์เซีย แต่ถูกฝ่ายโรมันจับได้ที่แม่น้ำยูเฟรทีส. ชาวแพลไมรายอมแพ้ในปี ส.ศ. 272. ออรีเลียนปฏิบัติกับประชาชนของเมืองนี้อย่างปรานี แล้วท่านยึดทรัพย์สมบัติไปจำนวนมากยิ่งนัก รวมทั้งรูปเคารพจากวิหารของพระอาทิตย์ และกลับไปกรุงโรม. จักรพรรดิโรมันไว้ชีวิตพระนางเซโนเบีย ทำให้พระนางเป็นจุดรวมความสนใจในขบวนฉลองชัยชนะในกรุงโรมในปี ส.ศ. 274. พระนางใช้ชีวิตที่เหลือเป็นคุณหญิงแห่งโรมคนหนึ่ง.
เมืองทะเลทรายถูกทำลาย
ไม่กี่เดือนหลังจากออรีเลียนยึดเมืองแพลไมราได้ ชาวแพลไมราสังหารหมู่กองทหารที่ท่านได้ละไว้. เมื่อข่าวเรื่องการกบฏนี้ไปถึงออรีเลียน ท่านสั่งทหารให้กลับไปที่นั่นทันที และคราวนี้พวกเขาไปแก้แค้นอย่างน่ากลัวต่อประชาชนของเมืองนั้น. คนที่รอดจากการสังหารอย่างไร้ความปรานีถูกนำไปเป็นทาส. เมืองที่หยิ่งผยองถูกยึดและถูกทำลายจนเหลือจะบูรณะได้. ด้วยเหตุนี้ มหานครที่สับสนวุ่นวายจึงกลับคืนสู่สภาพเดิม—คือ “เมืองธัดโมรในป่า.”
เมื่อพระนางเซโนเบียเผชิญหน้ากับโรม พระนางและจักรพรรดิออรีเลียนแสดงบทบาทเป็น “กษัตริย์ทิศใต้” และ “กษัตริย์ทิศเหนือ” อย่างไม่รู้ตัว และทำให้ส่วนของคำพยากรณ์ที่บันทึกรายละเอียดมากมายโดยผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาประมาณ 800 ปีก่อนหน้านั้นสำเร็จเป็นจริง. (ดานิเอล บท 11) เนื่องจากบุคลิกภาพที่น่าประทับใจ พระนางเซโนเบียทำให้หลายคนชื่นชอบ. อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือพระนางมีบทบาททางการเมืองดังที่มีบอกไว้ล่วงหน้าในคำพยากรณ์ของดานิเอล. พระนางครองราชย์ได้ไม่เกินห้าปี. ปัจจุบันนี้ เมืองแพลไมรา เมืองหลวงของอาณาจักรของพระนางเซโนเบีย เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น. แม้แต่จักรวรรดิโรมันอันเข้มแข็งก็สาบสูญไปนานแล้วและยอมแพ้ต่ออาณาจักรที่มาใหม่. อำนาจทางการเมืองเหล่านี้จะมีอนาคตเช่นไร? อนาคตของพวกเขาถูกควบคุมโดยความสำเร็จเป็นจริงอย่างแน่นอนของคำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลด้วย.—ดานิเอล 2:44.
[กรอบหน้า 29]
มรดกจากพระนางเซโนเบีย
เมื่อกลับมาถึงกรุงโรมหลังจากเอาชนะพระนางเซโนเบีย ราชินีแห่งแพลไมราแล้ว จักรพรรดิออรีเลียนได้สร้างวิหารพระอาทิตย์. ในวิหารนั้นท่านตั้งรูปของเทพเจ้าพระอาทิตย์ซึ่งท่านนำมาจากเมืองของพระนาง. วารสารฮิสตอรี ทูเดย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นต่อมาว่า “การกระทำที่โด่งดังที่สุดของออรีเลียนอาจเป็นการจัดตั้งงานเทศการประจำปีที่ดวงอาทิตย์อยู่ในจุดเหมายัน ในวันที่ 25 ธันวาคม ในปี ค.ศ. 274. เมื่อจักรวรรดิกลายเป็นคริสเตียน วันประสูติของพระคริสต์ถูกย้ายมาลงในวันนี้เพื่อทำให้ศาสนาใหม่นี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นของคนที่ชื่นชมกับงานเทศกาลของยุคเก่า. เป็นความคิดที่แปลกประหลาดที่ในที่สุดก็เป็นเพราะจักรพรรดินีเซโนเบียที่ . . . [ผู้คน] ฉลองคริสต์มาสของเรา.”
[แผนที่/ภาพหน้า 28, 29]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ซีเรีย
อันติออก
เอเมซา (ฮอมส์)
แพลไมรา
ดามัสกัส
เมโสโปเตเมีย
ยูเฟรทีส
แคร์รี (ฮาราน)
นิซิบิส
ดูรา-ยูโรปอส
[ที่มาของภาพ]
Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
Colonnade: Michael Nicholson/Corbis
[รูปภาพหน้า 29]
เหรียญโรมันซึ่งอาจแสดงรูปของออรีเลียน
[รูปภาพหน้า 30]
วิหารแห่งพระอาทิตย์ในเมืองแพลไมรา
[ที่มาของภาพ]
The Complete Encyclopedia of Illustration/J. G. Heck
[รูปภาพหน้า 31]
ราชินีเซโนเบียกำลังแถลงต่อทหารของพระนาง
[ที่มาของภาพ]
Giovanni Battista Tiepolo, Queen Zenobia Addressing Her Soldiers, Samuel H. Kress Collection, Photograph © Board of Trustees, National Gallery of Art, Washington
[ที่มาของภาพ หน้า 28]
Detail of: Giovanni Battista Tiepolo, Queen Zenobia Addressing Her Soldiers, Samuel H. Kress Collection, Photograph © Board of Trustees, National Gallery of Art, Washington