ครอบครัวใหญ่พร้อมใจรับใช้พระเจ้า
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนดังนี้: “บุตรชายหญิงย่อมเป็นของประทานมาแต่พระยะโฮวา; และการตั้งครรภ์นั้นคือรางวัลของพระองค์. ลูกธนูในมือของคนกล้าหาญเป็นฉันใด, บุตรชายหญิงของคนหนุ่มก็เป็นฉันนั้น. คนใดที่มีลูกดกดุจลูกธนูเต็มแล่งก็เป็นผาสุก.”—บทเพลงสรรเสริญ 127:3-5.
ใช่แล้ว บุตรนับได้ว่าเป็นพระพรจากพระยะโฮวา. และเช่นเดียวกับนักยิงธนูมีความรู้สึกพึงพอใจที่รู้วิธียิงลูกธนูในแล่งสู่เป้าหมาย บิดามารดาก็ย่อมมีความสุขเมื่อเขาชี้นำลูก ๆ ให้ดำเนินในแนวทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.—มัดธาย 7:14.
ในสมัยก่อนโน้น ครอบครัวที่มี ‘แล่งเต็มไปด้วย’ บุตรหลายคนเป็นเรื่องธรรมดาในหมู่ไพร่พลพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกถึงช่วงหลายปีที่ตกเป็นทาสในอียิปต์: “ฝ่ายลูกหลานยิศราเอลก็เกิดเผ่าพันธุ์ทวีขึ้น, มีกำลังมาก, แผ่ไปจนเต็มทั้งเมือง.” (เอ็กโซโด 1:7) เมื่อเทียบจำนวนชาวยิศราเอลที่เข้าสู่อียิปต์กับจำนวนที่ออกจากอียิปต์จะเห็นได้ว่าครอบครัวที่มีลูกสิบคนถือเป็นขนาดของครอบครัวตามธรรมดา!
ในเวลาต่อมา พระเยซูทรงเจริญวัยขึ้นมาในครอบครัวซึ่งสำหรับหลายคนในปัจจุบันคงถือว่าเป็นครอบครัวใหญ่. พระเยซูเป็นบุตรหัวปี แต่โยเซฟและมาเรียมีบุตรชายอีกสี่คนและบุตรสาวอีกจำนวนหนึ่ง. (มัดธาย 13:54-56) การที่ทั้งสองมีบุตรหลายคนคงจะช่วยอธิบายว่ามาเรียและโยเซฟได้ออกเดินทางกลับบ้านจากกรุงยะรูซาเลมโดยไม่ทราบว่าพระเยซูไม่ได้อยู่ในกลุ่มได้อย่างไร.—ลูกา 2:42-46.
ครอบครัวใหญ่ในทุกวันนี้
ปัจจุบัน คริสเตียนหลายคนตัดสินใจจำกัดขนาดของครอบครัวตนเนื่องด้วยเหตุผลทางฝ่ายวิญญาณ, เศรษฐกิจ, สังคม, และเหตุผลอื่น. อย่างไรก็ตาม ครอบครัวใหญ่ก็ยังคงเป็นบรรทัดฐานในสังคมหลาย ๆ แห่ง. ตามรายงานสภาพของเด็ก ๆ ในโลกประจำปี 1997 พื้นที่ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์สูงสุดได้แก่แอฟริกาส่วนที่อยู่ตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา. ที่นั่น โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงคนหนึ่งให้กำเนิดบุตรหกคน.
สำหรับคริสเตียนที่เป็นบิดามารดาของครอบครัวขนาดใหญ่ การเลี้ยงดูบุตรเพื่อให้เขารักพระยะโฮวานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่หลายคนก็ประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้. ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการที่ครอบครัวร่วมเป็นหนึ่งเดียวในการนมัสการบริสุทธิ์. คำพูดของอัครสาวกเปาโลถึงประชาคมในเมืองโกรินโธใช้ได้อย่างมีน้ำหนักพอ ๆ กันสำหรับครอบครัวคริสเตียนในทุกวันนี้. ท่านเขียนว่า “พี่น้องทั้งหลาย . . . ข้าพเจ้ากระตุ้นเตือนท่านทั้งหลาย คือพวกท่านทุกคนควรพูดจาปรองดองกัน และไม่ควรมีการแบ่งแยกกันในท่ามกลางท่าน แต่ให้ท่านเป็นหนึ่งเดียวโดยมีจิตใจและแนวความคิดเดียวกัน.” (1 โกรินโธ 1:10, ล.ม.) จะบรรลุเอกภาพเช่นนั้นได้โดยวิธีใด?
บิดามารดาต้องเป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ บิดามารดาต้องอุทิศตัวอย่างเต็มที่แด่พระเจ้า. ขอให้พิจารณาสิ่งที่โมเซกล่าวแก่ชาวยิศราเอล: “ดูกรพวกยิศราเอล, จงฟังเถิด: พระยะโฮวาพระเจ้าของเราเป็นเอกพระยะโฮวา: และเจ้าจงรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจ, สุดจิตต์ของเจ้า, และด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า. และถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย; และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้, และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.”—พระบัญญัติ 6:4-7.
พึงสังเกตว่าโมเซชี้ว่าพระบัญญัติของพระเจ้าจำต้องอยู่ ‘ในหัวใจ’ ของบิดามารดา. เฉพาะแต่เมื่อเป็นเช่นนั้น บิดามารดาจึงจะมีแนวโน้มที่จะสอนบุตรของตนทางฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ. ที่จริง เมื่อบิดามารดาเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ เขาก็จะกระตือรือร้นที่จะสอนบุตรในสิ่งฝ่ายวิญญาณ.
เพื่อจะกลายเป็นบุคคลฝ่ายวิญญาณและรักพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดหัวใจ นับว่าสำคัญมากที่จะอ่าน, คิดรำพึง, และใช้พระคำของพระเจ้าเป็นประจำ. ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนไว้ว่า คนที่มีความยินดีในกฎหมายของพระยะโฮวาและคนที่อ่านกฎหมายนั้น “ทั้งกลางวันและกลางคืน” จะ “กลายเป็นดุจต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมธารน้ำ ซึ่งเกิดผลตามฤดู และใบก็ไม่เหี่ยวแห้ง และทุกสิ่งที่เขาทำจะสำเร็จ.”—บทเพลงสรรเสริญ 1:2, 3, ล.ม.
เช่นเดียวกับที่ต้นไม้เกิดผลดีหากได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ครอบครัวที่ได้รับการบำรุงฝ่ายวิญญาณก็ย่อมเกิดผลที่ดีซึ่งถวายคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวา. ครอบครัวของอูวาเมกวูซึ่งอยู่ที่แอฟริกาตะวันตกเป็นแบบอย่างที่ดี. แม้ว่าอูวาเมกวูและภรรยามีบุตรแปดคน ทั้งคู่รับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ ซึ่งหมายถึงผู้ประกาศที่ทำงานเต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา. เขากล่าวว่า “ครอบครัวเราได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประจำครอบครัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว. เราได้สอนพระคำของพระเจ้าแก่ลูก ๆ ตั้งแต่พวกเขายังเป็นทารก ไม่เพียงเฉพาะตอนศึกษาประจำครอบครัว แต่ในการประกาศและในเวลาอื่น ๆ ด้วย. ลูก ๆ ของเราทุกคนเป็นผู้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร และมีเพียงลูกคนเล็กสุดที่อายุหกขวบเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับบัพติสมา.”
การทำงานด้วยกันเป็นทีม
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่า “โดยสติปัญญาครัวเรือนจะได้รับการเสริมสร้าง.” (สุภาษิต 24:3, ล.ม.) ในครอบครัว สติปัญญาเช่นนั้นทำให้มีการร่วมมือกันเป็นทีม. “กัปตัน” ของทีมครอบครัวได้แก่บิดา; เขาเป็นประมุขของครัวเรือนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า. (1 โกรินโธ 11:3) อัครสาวกเปาโลซึ่งได้รับการดลใจเน้นถึงความจริงจังแห่งหน้าที่รับผิดชอบของความเป็นประมุขเมื่อท่านเขียนว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่เลี้ยงดู [ทั้งทางด้านวัตถุและฝ่ายวิญญาณ] คนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.”—1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.
สอดคล้องกับคำแนะนำจากพระคำของพระเจ้า คริสเตียนผู้เป็นสามีต้องดูแลสภาพฝ่ายวิญญาณของภรรยาตน. หากภรรยารับภาระหนักมากในการทำงานบ้าน สภาพฝ่ายวิญญาณของเธอก็ย่อมจะเสียหาย. ที่ประเทศหนึ่งในแอฟริกา คริสเตียนคนหนึ่งซึ่งเพิ่งรับบัพติสมาบ่นกับผู้ปกครองในประชาคมว่าภรรยาเขาดูเหมือนจะเฉยเมยในเรื่องสิ่งฝ่ายวิญญาณ. ผู้ปกครองเสนอแนะว่าภรรยาเขาจำต้องได้รับการช่วยเหลือในทางปฏิบัติ. ดังนั้น สามีเริ่มช่วยเธอทำงานบ้าน. เขายังได้ใช้เวลาช่วยเธอปรับปรุงการอ่านและพัฒนาความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลด้วย. เธอตอบรับอย่างดี และเวลานี้ทั้งครอบครัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการรับใช้พระเจ้า.
นอกจากนี้ บิดาต้องเอาใจใส่สภาพฝ่ายวิญญาณของบุตรด้วย. เปาโลเขียนดังนี้: “ท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเขาด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) เมื่อบิดามารดาเอาใจใส่ฟังคำแนะเตือนที่ให้ระวังอย่ายั่วบุตรให้ขัดเคืองใจ รวมทั้งเอาใจใส่ต่อการชี้นำที่จะฝึกอบรมพวกเขา บุตรก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมครอบครัว. ผลก็คือ ลูก ๆ มีแนวโน้มที่จะช่วยและให้กำลังใจกันในการพยายามบรรลุเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ.
การร่วมมือกันเป็นทีมหมายรวมถึงการมอบหน้าที่รับผิดชอบทางฝ่ายวิญญาณแก่บุตรเมื่อเขาพร้อมที่จะรับ. บิดาคนหนึ่งซึ่งเป็นคริสเตียนผู้ปกครองที่มีบุตร 11 คน ตื่นแต่เช้าตรู่และนำการศึกษากับบุตรหลายคนก่อนจะไปทำงาน. หลังจากที่บัพติสมาแล้ว ลูก ๆ ที่โตกว่าก็จะผลัดกันช่วยน้อง ๆ ซึ่งก็รวมถึงการช่วยกันสอนคัมภีร์ไบเบิลแก่น้อง ๆ ด้วย. ผู้เป็นพ่อคอยดูแลอีกทีหนึ่ง และชมเชยความพยายามของพวกเขา. ลูกหกคนรับบัพติสมาแล้ว ส่วนที่เหลือก็กำลังพัฒนาไปสู่เป้าหมายนั้น.
การสื่อความที่ดี มีเป้าหมายร่วม
สิ่งสำคัญต่อครอบครัวที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้แก่การสื่อความด้วยความรักและมีเป้าหมายร่วมฝ่ายวิญญาณ. กอร์ดอน คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่ประเทศไนจีเรีย เป็นบิดาของบุตรเจ็ดคน อายุไล่ตั้งแต่ 11 จนถึง 27 ปี. มีหกคนเป็นไพโอเนียร์ เหมือนพ่อและแม่. คนเล็กสุดซึ่งรับบัพติสมาเมื่อเร็ว ๆ นี้มีส่วนร่วมเป็นประจำในงานทำให้คนเป็นสาวกพร้อมกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว. บุตรชายสองคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม.
กอร์ดอนนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับบุตรแต่ละคนเป็นส่วนตัว. นอกจากนั้น ครอบครัวนี้ยังมีโครงการศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียด. ทุกเช้า พวกเขาจะร่วมกันพิจารณาข้อพระคัมภีร์ประจำวันแล้วจากนั้นก็จะเตรียมตัวสำหรับการประชุมประจำประชาคม.
เป้าหมายอย่างหนึ่งที่ตั้งไว้สำหรับสมาชิกแต่ละคนของครอบครัวคือ การอ่านทุกบทความในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! เมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาเพิ่มการอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำทุกวันเข้าเป็นกิจวัตรอีกอย่างหนึ่งของพวกเขา. โดยพูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้อ่าน สมาชิกครอบครัวกระตุ้นหนุนใจกันให้ดำเนินตามนิสัยนี้ต่อ ๆ ไป.
การศึกษาประจำครอบครัวทุกสัปดาห์เป็นไปด้วยดีจนไม่จำเป็นต้องมีการเตือนกัน—ทุกคนเฝ้าคอยให้ถึงเวลาศึกษา. ตลอดหลายปี เนื้อหา, โครงสร้าง, และเวลาที่ใช้ในการศึกษาประจำครอบครัวได้เปลี่ยนไปตามอายุและความจำเป็นของบุตร. ครอบครัวนี้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเพื่อนผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ของพระเจ้า และข้อนี้นับว่าเป็นผลดีต่อลูก ๆ.
พวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันเป็นครอบครัวและจัดเวลาเอาไว้สำหรับนันทนาการ. สัปดาห์ละครั้ง พวกเขาจะอยู่ร่วมกันใน “คืนของครอบครัว” ทายปัญหากัน, เล่าเรื่องตลกที่ดีงาม, เล่นเปียโน, เล่าเรื่อง, และทำอะไร ๆ ที่เป็นการหย่อนใจด้วยกัน. บางครั้ง พวกเขาไปเที่ยวชายทะเลและสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ.
การหมายพึ่งพระยะโฮวา
ไม่มีกรณีใดซึ่งได้กล่าวไปแล้วที่ไม่ประสบความลำบากในการเลี้ยงดูครอบครัวขนาดใหญ่. คริสเตียนผู้หนึ่งกล่าวดังนี้: “นับเป็นข้อท้าทายใหญ่หลวงที่จะเป็นพ่อที่ดีของลูกแปดคน. จำเป็นต้องมีอาหารเลี้ยงดูพวกเขาอย่างบริบูรณ์ทั้งทางกาย และฝ่ายวิญญาณ; ผมต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินให้มีพอเพียงจะเลี้ยงพวกเขา. ลูก ๆ ที่โตแล้วกำลังเป็นวัยรุ่น และทั้งแปดคนเข้าโรงเรียน. ผมทราบว่าการฝึกอบรมฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าลูกผมบางคนดื้อและไม่ค่อยจะยอมเชื่อฟัง. เขาทำให้ผมเศร้าใจ แต่ผมรู้ว่าบางครั้งผมก็ทำสิ่งที่ทำให้พระยะโฮวาทรงเศร้าพระทัยเหมือนกัน และพระองค์ทรงให้อภัยผม. ดังนั้น ผมต้องอดทนต่อไปในการดัดแปลงแก้ไขนิสัยลูก ๆ จนกว่าเขาจะรู้สำนึก.
“ผมพยายามเลียนแบบตัวอย่างของพระยะโฮวาที่พระองค์ทรงอดทนต่อเราเนื่องจากพระองค์ทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจเสียใหม่. ผมศึกษากับครอบครัวผม และลูกบางคนก็กำลังพยายามบรรลุเป้าหมายที่จะรับบัพติสมา. ผมไม่หมายพึ่งความเข้มแข็งของตัวเองเพื่อจะประสบผล; กำลังของผมสามารถช่วยให้ประสบผลได้ไม่มาก. ผมพยายามเข้าใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้นด้วยคำอธิษฐาน และปฏิบัติตามสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า ‘จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.’ พระยะโฮวาจะทรงช่วยผมให้ประสบผลสำเร็จในการฝึกอบรมลูก ๆ ของผม.”—สุภาษิต 3:5, 6.
อย่าเลิกรา!
บางครั้งการฝึกอบรมบุตรอาจดูเหมือนเป็นงานที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า แต่อย่าเลิกรา! จงบากบั่นทำต่อไป! ถ้าบุตรของคุณไม่ตอบรับหรือไม่หยั่งรู้ค่าความพยายามของคุณในเวลานี้ เขาอาจหยั่งรู้ค่าในภายหลัง. จำเป็นต้องใช้เวลาที่เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นคริสเตียนที่บังเกิดผลแห่งพระวิญญาณ.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
โมนิกา ซึ่งอยู่ที่ประเทศเคนยา เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนทั้งหมดสิบคน. เธอกล่าวอย่างนี้: “คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่เราตั้งแต่เรายังแบเบาะ. คุณพ่อจะศึกษาหนังสืออธิบายพระคัมภีร์กับเราทุกสัปดาห์. เนื่องจากงานที่คุณพ่อทำ จึงไม่สามารถศึกษาในวันเดียวกันทุกครั้ง. บางครั้ง เมื่อคุณพ่อกลับจากที่ทำงานถึงบ้าน ท่านพบเรากำลังเล่นอยู่นอกบ้าน ท่านก็จะบอกเราว่าอีกห้านาทีให้เราทุกคนกลับเข้าบ้านเพื่อศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน. หลังจากศึกษาพระคัมภีร์เสร็จ คุณพ่อก็จะสนับสนุนให้เราถามหรือหยิบยกปัญหาอะไรก็ได้ขึ้นมาพิจารณากัน.
“คุณพ่อจะคอยดูให้เราคบกับเด็กที่เลื่อมใสในพระเจ้า. คุณพ่อแวะไปที่โรงเรียนเป็นประจำเพื่อถามครูเกี่ยวกับความประพฤติของเรา. ครั้งหนึ่งเมื่อคุณพ่อแวะไปที่โรงเรียน ท่านได้รับทราบว่าพี่ชายสามคนของดิฉันได้ชกต่อยกับเด็กผู้ชายคนอื่น อีกทั้งบางครั้งพวกเขาก็แสดงกิริยาหยาบคาย. คุณพ่อลงโทษพี่ชายที่ประพฤติตัวไม่ดี แต่คุณพ่อก็ใช้เวลาอธิบายจากพระคัมภีร์ด้วยว่าทำไมพวกเขาจำเป็นต้องประพฤติตัวในแนวทางของพระเจ้า.
“คุณพ่อคุณแม่แสดงให้พวกเราเห็นถึงผลประโยชน์ของการเข้าร่วมประชุมด้วยการเตรียมส่วนต่าง ๆ ของการประชุมกับเรา. เราได้รับการฝึกอบรมให้เป็นผู้ประกาศโดยการฝึกซ้อมส่วนต่าง ๆ ที่บ้าน. ตั้งแต่เป็นทารก เราได้ไปกับคุณพ่อคุณแม่ในงานประกาศตามบ้าน.
“ทุกวันนี้ พี่ชายสองคนของดิฉันเป็นไพโอเนียร์พิเศษ, พี่สาวคนหนึ่งเป็นไพโอเนียร์ประจำ, และน้องสาวอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งงานและมีลูกแล้ว เป็นพยานฯ ที่กระตือรือร้น. น้องสาวสองคนของดิฉันอายุ 18 และ 16 ปี เป็นผู้ประกาศที่รับบัพติสมาแล้ว. น้องชายสองคนที่ยังเล็กอยู่กำลังได้รับการฝึกอบรม. ดิฉันได้รับใช้ที่สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาที่เคนยามาสามปีแล้ว. ดิฉันรักและหยั่งรู้ค่าคุณพ่อคุณแม่ของดิฉัน เพราะท่านเป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณ; ท่านวางตัวอย่างที่ดีไว้ให้เรา.”
ไม่ว่าคุณมีบุตรกี่คน ขออย่าได้เลิกราในการช่วยพวกเขาให้ดำเนินในเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์. ขณะที่พระยะโฮวาทรงอวยพระพรความพยายามของคุณ คุณจะสะท้อนให้เห็นจริงตามคำพูดของอัครสาวกโยฮันซึ่งกล่าวถึงบุตรฝ่ายวิญญาณของท่านดังนี้: “ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณยิ่งไปกว่าสิ่งเหล่านี้ คือที่ข้าพเจ้าได้ยินว่าลูกทั้งหลายของข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในความจริงต่อ ๆ ไป.”—3 โยฮัน 4, ล.ม.