ใครมีอิทธิพลต่อความคิดของคุณ?
“ไม่จำเป็นต้องมีใครมาแนะว่าฉันควรคิดอะไร! และไม่จำเป็นต้องมีใครมาบอกว่าฉันควรทำอะไร!” ปกติแล้ว การพูดอย่างหนักแน่นเช่นนี้ย่อมหมายความว่าคุณมีความมั่นใจอย่างมากในตัวเองและวิจารณญาณของคุณเอง. คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม? ไม่ยากที่จะเข้าใจได้ว่า ไม่ควรมีใครตัดสินใจแทนคุณ. แต่สุขุมไหมที่จะรีบปฏิเสธสิ่งที่อาจเป็นคำแนะนำที่ดี? ไม่มีใครเลยหรือที่อาจช่วยคุณได้ให้ตัดสินใจอย่างสุขุมรอบคอบ? อย่างไรก็ตาม คุณจะแน่ใจได้อย่างแท้จริงไหมว่า ที่จริงแล้วไม่ได้มีใครบางคนที่กำลังมีอิทธิพลต่อความคิดของคุณอยู่โดยที่คุณไม่รู้ตัว?
ยกตัวอย่าง ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โยเซฟ เกิบเบลส์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ เข้าควบคุมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเยอรมนี. ทำไม? เพราะเขาตระหนักว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เขามีอาวุธที่ทรงพลังอย่างยิ่งซึ่งเขาอาจใช้เพื่อ “ชักจูงความเชื่อของประชาชน และเมื่อเป็นดังนั้นก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมของพวกเขาได้.” (การโฆษณาชวนเชื่อและภาพยนตร์เยอรมันในช่วงปี 1933-1945) คุณอาจตระหนักดีในความมีประสิทธิภาพอย่างน่าขนลุกของวิธีนี้และวิธีอื่น ๆ ที่เขาใช้ในการชักจูงควบคุมสามัญชน—คนปกติทั่วไปที่มีเหตุผล—ให้ติดตามปรัชญาของลัทธินาซีโดยไม่ลังเลใจ.
เป็นความจริงที่ว่า วิธีที่คุณคิดซึ่งส่งผลถึงวิธีที่คุณกระทำ ถูกโน้มน้าวอยู่เนือง ๆ ในวิธีใดวิธีหนึ่งจากความรู้สึกและทัศนะของคนที่คุณฟังเขาพูด. แน่ละ นี่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป. ถ้าคนเหล่านี้เป็นคนที่สนใจในสวัสดิภาพของคุณด้วยใจจริง—เช่น ครู, เพื่อน, หรือบิดามารดา—คุณก็ย่อมจะได้รับประโยชน์มากจากคำแนะนำปรึกษาของเขา. แต่หากคนเหล่านี้เป็นคนที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและเขาเองก็หลงผิดหรือมีความคิดฉ้อฉล ดังที่อัครสาวกเปาโลพรรณนาไว้ว่าเป็นพวกที่ “หลอกลวงคนอื่นให้หลง” ถ้าอย่างนั้นก็จงระวัง!—ติโต 1:10; พระบัญญัติ 13:6-8.
ฉะนั้น อย่าลำพองใจและคิดว่าไม่มีใครที่สามารถมีอิทธิพลเหนือคุณ. (เทียบกับ 1 โกรินโธ 10:12.) เป็นไปได้มากทีเดียวว่าเรื่องแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว—บ่อยเสียจนคุณคงไม่อยากเต็มใจยอมรับ—โดยคุณไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ. ขอให้ดูตัวอย่างง่าย ๆ ว่าคุณตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อะไรเมื่อไปซื้อของ. การตัดสินใจนั้นมีเหตุผลและเป็นการเลือกส่วนตัวแท้ ๆ เสมอไปไหม? หรือมีคนอื่นซึ่งมักไม่เห็นตัวตนส่งผลกระทบต่อการเลือกของคุณอยู่ลึก ๆ แต่ก็มีพลัง? ผู้รายงานข่าวเชิงสืบสวนชื่อ เอริก คลาร์ก คิดว่าเป็นเช่นนั้นจริง. เขากล่าวว่า “ยิ่งเราถูกโหมกระหน่ำด้วยโฆษณามากเท่าไร เราก็ยิ่งสังเกตเห็นผลกระทบของมันน้อยลงเท่านั้น แต่กระนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างแน่ว่าผลกระทบต่อเรานั้นยิ่งมีมากขึ้น.” เขายังรายงานด้วยว่า เมื่อถามผู้คนว่าเขารู้สึกว่าการโฆษณามีผลมากน้อยเพียงไร “ส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าการโฆษณาได้ผล แต่ไม่ใช่กับตัวเขา.” ผู้คนมีแนวโน้มจะรู้สึกว่าคนอื่นทุกคนมีจุดอ่อนให้โจมตี แต่ไม่ใช่เขา. “ดูเหมือนว่า เฉพาะตัวเขาเท่านั้นที่เป็นกรณียกเว้น.”—นักสร้างความปรารถนา (ภาษาอังกฤษ).
ถูกบีบเข้าสู่เบ้าหลอมของซาตานไหม?
ไม่ว่าคุณถูกจูงใจจากการโฆษณาทุกวันหรือไม่ ก็อาจไม่มีผลร้ายแรงแต่อย่างใด. อย่างไรก็ตาม มีอิทธิพลอีกอย่างหนึ่งที่เป็นอันตรายกว่ามาก. คัมภีร์ไบเบิลแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าซาตานเป็นนักชักจูงชั้นครู. (วิวรณ์ 12:9) ปรัชญาความคิดของมันโดยพื้นฐานแล้วเหมือนกันกับแนวคิดของนักโฆษณาซึ่งกล่าวว่า มีสองวิธีในการจูงใจลูกค้า—“โดยการล่อใจหรือมิฉะนั้นก็โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิด.” ถ้านักโฆษณาชวนเชื่อและนักโฆษณาสามารถใช้เทคนิคที่ลึกซึ้งเช่นนั้นเพื่อโน้มนำความคิดของคุณ ซาตานก็คงต้องมีความเชี่ยวชาญมากกว่านั้นสักเพียงไรในการใช้กลวิธีคล้าย ๆ กันนี้!—โยฮัน 8:44.
อัครสาวกเปาโลทราบข้อนี้. ท่านเกรงว่าเพื่อนคริสเตียนบางคนอาจปล่อยตัวสบาย ๆ ไม่ระวังและกลายเป็นเหยื่อการล่อลวงของซาตาน. ท่านเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าเกรงว่า, งูนั้นได้ล่อลวงนางฮาวาด้วยอุบายของมันฉันใด, จะมีเหตุอันหนึ่งอันใดล่อลวงจิตต์ใจของท่านทั้งหลายให้หลงจากความสัตย์ซื่อและความบริสุทธิ์ต่อพระคริสต์ฉันนั้น.” (2 โกรินโธ 11:3) ขอให้เอาใจใส่คำเตือนนี้อย่างจริงจัง. ไม่อย่างนั้นคุณอาจเป็นเหมือนคนเหล่านั้นที่เชื่อว่าการโฆษณาชวนเชื่อและการปรับเปลี่ยนแนวคิดใช้ได้ผล—“แต่ไม่ใช่กับตัวเขา.” ข้อเท็จจริงที่ว่าการโฆษณาชวนเชื่อของซาตานใช้ได้ผลนั้นเห็นได้ชัดเจนรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นความโหดเหี้ยมทารุณ, ความเลวทราม, และความหน้าซื่อใจคดซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนในชั่วอายุนี้.
ด้วยเหตุนั้น เปาโลวิงวอนเพื่อนคริสเตียนว่า “จงเลิกให้เขานวดปั้นท่านตามระบบนี้.” (โรม 12:2, ล.ม.) ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งถอดความคำพูดของเปาโลอย่างนี้: “อย่าปล่อยให้โลกรอบตัวคุณบีบคุณเข้าสู่เบ้าหลอมของมัน.” (โรม 12:2, ฉบับแปลฟิลลิปส์) ซาตานจะพยายามทำทุกสิ่งเพื่อบีบคุณเข้าสู่เบ้าหลอมของมัน คล้ายกับที่ช่างปั้นหม้อในสมัยโบราณอัดดินเหนียวเข้ากับแบบชนิดเปิดเพื่อพิมพ์ลวดลายและลักษณะให้เป็นอย่างที่เขาต้องการจะประทับลงบนดินเหนียวนั้น. ซาตานได้จัดให้การเมือง, การค้า, ศาสนา, และความบันเทิงของโลกอยู่ในสภาพพร้อมที่จะก่อผลอย่างนั้น. อิทธิพลของมันแผ่ไปทั่วถึงเพียงใด? อิทธิพลของมันแผ่ไปอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับในสมัยของอัครสาวกโยฮัน. โยฮันกล่าวว่า “โลกทั้งสิ้นตกอยู่ใต้อำนาจผู้ชั่วร้ายนั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.; โปรดดู 2 โกรินโธ 4:4 ด้วย.) ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดก็ตามเกี่ยวกับความสามารถของซาตานในการล่อใจผู้คนและทำให้ความคิดของคนเราเสื่อมทราม ก็ขอให้ระลึกว่ามันได้ทำอย่างนี้อย่างมีประสิทธิภาพสักเพียงไรกับคนทั้งชาติ คือชาติยิศราเอล ซึ่งเป็นชาติที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า. (1 โกรินโธ 10:6-12) อาจเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้กับคุณได้ไหม? อาจเป็นได้ ถ้าคุณปล่อยให้ความคิดของคุณเปิดรับเอาอิทธิพลอันลวงหลอกของซาตาน.
ทราบสิ่งที่กำลังเป็นไป
โดยทั่วไปแล้ว พลังที่ซ่อนเร้นเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อความคิดของคุณก็ต่อเมื่อคุณยอมมัน. วานซ์ แพกการ์ด ชี้ถึงจุดนี้ในหนังสือของเขาที่ชื่อพลังชักจูงที่แอบแฝง ดังนี้: “เรายังคงสามารถป้องกันตัวได้อย่างเข้มแข็งต่อพลังชักจูง [ที่แอบแฝง] เช่นนั้น: เราสามารถเลือกที่จะไม่ถูกชักจูง. เรายังคงมีทางเลือกในแทบจะทุกสถานการณ์ และเราไม่มีทางถูกชักจูงจนเสียหายร้ายแรงถ้าเราทราบสิ่งที่กำลังเป็นไป.” ข้อนี้เป็นจริงด้วยเช่นกันกับการโฆษณาชวนเชื่อและการล่อลวง.
แน่ละ เพื่อจะ “ทราบสิ่งที่กำลังเป็นไป” คุณต้องเปิดใจกว้างและรับเอาอำนาจชักจูงที่ดี. เพื่อจะมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งก็เช่นเดียวกับการมีสุขภาพกายดี ต้องมีการบำรุงอย่างดีเพื่อจะสามารถทำหน้าที่ได้ดี. (สุภาษิต 5:1, 2) การขาดข้อมูลก็อาจก่อผลเสียหายร้ายแรงได้เช่นเดียวกับการได้รับข้อมูลผิด ๆ. ดังนั้น ในขณะที่เป็นความจริงที่คุณจำต้องป้องกันความคิดของคุณจากแนวคิดและหลักปรัชญาที่ชักนำให้หลงผิด จงพยายามอย่าได้ปล่อยให้ทัศนะแบบที่ชิงชังหรือดูถูกคำแนะนำหรือข้อมูลทุกอย่างที่คุณได้รับ พัฒนาขึ้นในตัวคุณ.—1 โยฮัน 4:1.
การโน้มน้าวอย่างสุจริตใจเป็นคนละอย่างกันกับการโฆษณาชวนเชื่อที่ซ่อนเงื่อน. อัครสาวกเปาโลเตือนชายหนุ่มติโมเธียวอย่างเห็นได้ชัดให้ระวัง “คนชั่วและเจ้าเล่ห์ [ซึ่ง] จะกำเริบชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้อื่นหลงผิดและตนเองถูกทำให้หลงผิด.” แต่เปาโลกล่าวต่ออีกว่า “แต่ส่วนท่าน จงดำเนินต่อไปในบรรดาสิ่งที่ท่านเรียนรู้มาและในสิ่งที่ท่านถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อ ด้วยรู้แล้วว่าท่านได้เรียนจากผู้ใด.” (2 ติโมเธียว 3:13, 14, ล.ม.) เนื่องจากทุกสิ่งที่คุณรับเข้าสู่จิตใจจะมีผลกระทบต่อคุณในระดับหนึ่ง ปัจจัยสำคัญคือ ‘การรู้ว่าคุณเรียนจากผู้ใด’ เพื่อให้แน่ใจว่าคนเหล่านั้นเป็นคนที่สนใจในสวัสดิภาพอย่างแท้จริงของคุณ ไม่ใช่ของเขาเอง.
ทางเลือกเป็นของคุณ. คุณสามารถเลือกที่จะ ‘ถูกนวดปั้นตามระบบนี้’ ด้วยการปล่อยให้หลักปรัชญาและระบบค่านิยมของโลกนี้ควบคุมความคิดของคุณ. (โรม 12:2, ล.ม.) แต่โลกนี้ไม่สนใจในสวัสดิภาพของคุณ. ด้วยเหตุนั้น อัครสาวกเปาโลจึงเตือนว่า “จงระวังให้ดี, เกรงว่าจะมีผู้หนึ่งผู้ใดนำท่านทั้งหลายให้หลงด้วยหลักปรัชญาและด้วยคำล่อลวงเหลวไหล, ตามเรื่องซึ่งมนุษย์สอนกันต่อ ๆ มานั้น.” (โกโลซาย 2:8) การถูกบีบเข้าสู่เบ้าหลอมของซาตานในลักษณะนี้ หรือการถูก ‘นำให้หลง’ ไม่ต้องอาศัยความพยายาม. มันเป็นเหมือนควันบุหรี่ที่คนอื่นพ่นออกมา. คุณอาจได้รับผลกระทบโดยเพียงแต่สูดเอาอากาศที่มีมลพิษเข้าไป.
คุณอาจเลือกได้ที่จะไม่สูด “อากาศ” ดังกล่าว. (เอเฟโซ 2:2) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น จงติดตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “จงรับการเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนความคิดจิตใจของท่านเสียใหม่ เพื่อท่านทั้งหลายจะพิสูจน์แก่ตัวเองว่าอะไรคือพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า.” (โรม 12:2, ล.ม.) การทำเช่นนี้ต้องอาศัยความพยายาม. (สุภาษิต 2:1-5) จำไว้ว่า พระยะโฮวามิได้เป็นผู้ควบคุมบงการชีวิต. พระองค์ทรงจัดให้มีข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็น แต่เพื่อจะได้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว คุณต้องรับฟังและให้ความรู้นั้นมีผลกระทบต่อความคิดของคุณ. (ยะซายา 30:20, 21; 1 เธซะโลนิเก 2:13) คุณต้องเต็มใจรับเอาความจริงที่มีอยู่ใน “คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์” พระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจของพระเจ้า คือคัมภีร์ไบเบิล เข้าไว้ในจิตใจของคุณ.—2 ติโมเธียว 3:15-17.
จงตอบรับการนวดปั้นจากพระยะโฮวา
ความจำเป็นที่คุณเองต้องเต็มใจตอบรับด้วยความเชื่อฟังหากคุณต้องการจะได้รับประโยชน์จากอำนาจแห่งการนวดปั้นของพระยะโฮวานั้น ได้มีการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อพระยะโฮวาตรัสสั่งผู้พยากรณ์ยิระมะยาให้ไปที่โรงปั้นของช่างปั้นหม้อ. ยิระมะยาเห็นช่างปั้นเปลี่ยนความตั้งใจที่เขาจะทำกับภาชนะอันหนึ่ง เมื่อสิ่งที่เขากำลังพยายามทำอยู่นั้น “เสียไปในมือช่างหม้อ.” แล้วพระยะโฮวาตรัสว่า “โอ้เรือนของยิศราเอล, เราจะกระทำแก่พวกเจ้าเหมือนอย่างช่างหม้อได้ทำนั้นจะไม่ได้หรือ . . . นี่แน่ะ, ดุจดินเหนียวอยู่ในมือคนช่างหม้อนั้น, เจ้าทั้งหลายได้อยู่ในมือของเราฉะนั้น, โอ้ตระกูลยิศราเอลเอ๋ย.” (ยิระมะยา 18:1-6) นั่นหมายความไหมว่าประชาชนในชาติยิศราเอลเป็นดุจก้อนดินเหนียวที่ไร้ชีวิตในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา ซึ่งพระองค์จะทรงปั้นตามชอบพระทัยให้เป็นภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง?
พระยะโฮวาไม่เคยใช้ฤทธานุภาพอันยิ่งใหญ่สูงสุดของพระองค์เพื่อทำให้ผู้คนทำสิ่งที่ฝืนใจเขา; อีกทั้งผลงานที่บกพร่องไม่ใช่ความผิดของพระองค์ ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีของช่างปั้นหม้อที่เป็นมนุษย์. (พระบัญญัติ 32:4) ข้อบกพร่องเกิดขึ้นเมื่อคนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงพยายามนวดปั้นไปในทางที่ดีขัดขืนการชี้นำของพระองค์. นั่นคือข้อแตกต่างอย่างมากระหว่างตัวคุณกับก้อนดินเหนียวที่ไร้ชีวิต. คุณมีเจตจำนงเสรี. เมื่อใช้เจตจำนงเสรีนี้ คุณอาจเลือกได้ว่าจะตอบรับหรือจงใจปฏิเสธอำนาจในการนวดปั้นของพระยะโฮวา.
ช่างเป็นบทเรียนที่น่าคิดทีเดียว! นับว่าดีกว่าสักเพียงไรที่จะฟังพระสุรเสียงของพระยะโฮวาแทนที่จะประกาศอย่างโอหังว่า “ไม่จำเป็นต้องมีใครมาบอกว่าฉันควรทำอะไร”! เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวา. (โยฮัน 17:3) จงทำเหมือนดาวิด ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้ารู้ทางของพระองค์, ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้ดำเนินในพระมรคาของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 25:4) พึงจำถ้อยคำที่กษัตริย์ซะโลโมตรัสไว้ว่า “ผู้ฉลาดจะฟังและรับคำสั่งสอนมากขึ้น.” (สุภาษิต 1:5, ล.ม.) คุณจะฟังไหม? ถ้าคุณฟัง “ความสามารถในการคิดนั่นเองจะป้องกันเจ้าไว้ ความสังเกตเข้าใจก็จะปกป้องเจ้า.”—สุภาษิต 2:11, ล.ม.