ขอให้เราเป็นคนชนิดที่มีความเชื่อ
“เราทั้งหลาย . . . เป็นคนชนิดที่มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.”—เฮ็บราย 10:39, ล.ม.
1. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าความเชื่อของผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาแต่ละคนมีค่า?
คราวต่อไปเมื่อคุณอยู่ที่หอประชุมราชอาณาจักรซึ่งเต็มไปด้วยผู้นมัสการพระยะโฮวา ขอให้ลองมองไปรอบ ๆ ตัว. คิดดูว่าพวกเขาได้แสดงความเชื่อในหลาย ๆ วิธีเช่นไรบ้าง. คุณอาจเห็นผู้สูงอายุที่ได้รับใช้พระเจ้ามาหลายสิบปี, คนหนุ่มสาวที่ต้านทานแรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกันอยู่ทุกวี่วัน, และบิดามารดาที่บากบั่นพยายามเพื่อเลี้ยงดูบุตรให้เกรงกลัวพระเจ้า. มีผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคมซึ่งแบกรับหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง. ใช่แล้ว คุณอาจเห็นพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณทุกรุ่นทุกวัยที่เอาชนะอุปสรรคทุกรูปแบบเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวา. ความเชื่อของแต่ละคนช่างมีค่าสักเพียงไร!—1 เปโตร 1:7.
2. เหตุใดคำแนะนำของเปาโลในเฮ็บรายบท 10 และ 11 เป็นประโยชน์ต่อเราในทุกวันนี้?
2 ในบรรดามนุษย์ไม่สมบูรณ์ด้วยกัน หากว่ามีก็คงมีไม่กี่คนที่เข้าใจความสำคัญของความเชื่อดีกว่าอัครสาวกเปาโล. ที่จริง ท่านชี้ว่าความเชื่อแท้นำไปสู่การ “รักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.” (เฮ็บราย 10:39, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม เปาโลทราบว่าความเชื่อจะถูกโจมตีและอาจถูกเซาะกร่อนได้ในโลกที่ไร้ความเชื่อนี้. ท่านเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อคริสเตียนชาวฮีบรูในกรุงยะรูซาเลมและแคว้นยูเดียที่กำลังต่อสู้เพื่อรักษาความเชื่อของตน. ขณะที่เราพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของพระธรรมเฮ็บรายบท 10 และ 11 ให้เราสังเกตวิธีต่าง ๆ ที่เปาโลใช้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อของพวกเขา. ขณะที่เราทำอย่างนั้น เราจะเห็นวิธีที่เราสามารถเสริมสร้างความเชื่อที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในตัวเราเองและคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา.
จงแสดงความเชื่อมั่นต่อกัน
3. คำกล่าวของเปาโลดังพบที่เฮ็บราย 10:39 แสดงอย่างไรว่าท่านเชื่อมั่นในพี่น้องชายหญิงร่วมความเชื่อ?
3 สิ่งแรกที่เราอาจสังเกตเห็นได้แก่เจตคติในแง่บวกของเปาโลต่อผู้ที่ท่านเขียนไปถึง. ท่านเขียนว่า “บัดนี้เราทั้งหลายไม่ใช่คนชนิดที่ถอยกลับไปสู่ความพินาศ แต่เป็นคนชนิดที่มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.” (เฮ็บราย 10:39, ล.ม.) เปาโลมองเพื่อนคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ในแง่ดีที่สุด ไม่ใช่ในแง่ร้ายที่สุด. สังเกตด้วยว่าท่านใช้คำว่า “เราทั้งหลาย.” เปาโลเป็นคนชอบธรรม. กระนั้น ท่านมิได้วางตัวเหนือกว่าผู้อ่านของท่าน ราวกับว่าท่านอยู่อีกระดับหนึ่งที่สูงส่งและชอบธรรมกว่าพวกเขามาก. (เทียบกับท่านผู้ประกาศ 7:16.) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านรวมตัวเองอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกเขา. ท่านแสดงความเชื่อมั่นจากหัวใจว่าท่านและผู้อ่านจดหมายของท่านซึ่งเป็นคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ทุกคนจะเผชิญอุปสรรคที่ทำให้หวาดหวั่นซึ่งกำลังปรากฏให้พวกเขาเห็นราง ๆ, ด้วยความกล้าหาญพวกเขาจะไม่ยอมถอยกลับไปสู่ความพินาศ, และพวกเขาจะพิสูจน์ตัวว่าเป็นคนชนิดที่มีความเชื่อ.
4. เพราะเหตุใดเปาโลจึงเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมความเชื่อ?
4 เปาโลมีความเชื่อมั่นเช่นนั้นได้อย่างไร? ท่านมองไม่เห็นข้อบกพร่องของคริสเตียนชาวฮีบรูหรืออย่างไร? ตรงกันข้าม ท่านให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยพวกเขาเอาชนะข้อบกพร่องฝ่ายวิญญาณของตน. (เฮ็บราย 3:12; 5:12-14; 6:4-6; 10:26, 27; 12:5) กระนั้น เปาโลมีเหตุผลที่ดีอย่างน้อยสองประการที่มีความเชื่อมั่นในพี่น้องของท่าน. (1) ในฐานะผู้ที่เลียนแบบพระยะโฮวา เปาโลพยายามมองไพร่พลของพระเจ้าเหมือนกับที่พระยะโฮวาทรงมองพวกเขา. นั่นย่อมหมายถึงการมองเห็นไม่เฉพาะข้อบกพร่องของพวกเขาเท่านั้น แต่มองเห็นคุณลักษณะที่ดีและศักยภาพของพวกเขาที่จะเลือกทำดีในอนาคตด้วย. (บทเพลงสรรเสริญ 130:3; เอเฟโซ 5:1) (2) เปาโลมีความเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยในอำนาจแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์. ท่านทราบว่าไม่มีอุปสรรคใด ๆ ไม่มีข้ออ่อนแออันใดของมนุษย์ สามารถกีดกันพระยะโฮวาไว้จากการประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่คริสเตียนที่พยายามรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.; ฟิลิปปอย 4:13) ดังนั้น ความเชื่อมั่นของเปาโลในพี่น้องชายหญิงของท่านจึงไม่ใช่การไว้ใจคนผิด, ไม่ตรงกับความเป็นจริง, หรือมองในแง่ดีจนไร้เหตุผล. ความเชื่อมั่นนี้มีพื้นฐานหนักแน่นและอาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก.
5. เราจะเลียนแบบความเชื่อมั่นของเปาโลได้อย่างไร และน่าจะยังผลเป็นเช่นไร?
5 แน่นอน ความเชื่อมั่นที่เปาโลแสดงให้เห็นมีผลต่อคนอื่น ๆ. ความเชื่อมั่นนั้นคงต้องมีความหมายอย่างมากต่อประชาคมในกรุงยะรูซาเลมและยูเดียเนื่องด้วยการที่เปาโลกล่าวหนุนกำลังใจพวกเขาเช่นนั้น. เมื่อเผชิญกับคำเยาะเย้ยที่รุนแรงและความไม่แยแสด้วยความหยิ่งยโสของพวกผู้ต่อต้านชาวยิว คริสเตียนชาวฮีบรูได้รับความช่วยเหลือจากคำกล่าวเช่นนั้นให้ตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นคนชนิดที่มีความเชื่อ. เราจะทำเช่นนั้นต่อกันได้ไหมในทุกวันนี้? เป็นเรื่องง่ายมากที่จะมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดมากมายหลายอย่างและบุคลิกภาพแปลก ๆ ในตัวผู้อื่น. (มัดธาย 7:1-5) กระนั้น เราสามารถช่วยกันได้อีกมาก หากเราสังเกตและเห็นคุณค่าความเชื่ออันมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่แต่ละคนมี. ด้วยการหนุนกำลังใจเช่นนั้น ความเชื่อน่าจะวัฒนาได้ดีกว่า.—โรม 1:11, 12.
การใช้พระคำของพระเจ้าอย่างเหมาะสม
6. เปาโลยกข้อความที่ท่านเขียนไว้ที่เฮ็บราย 10:38 มาจากไหน?
6 เปาโลยังสร้างความเชื่อในเพื่อนร่วมความเชื่อของท่านด้วยการใช้พระคัมภีร์อย่างชำนาญ. ตัวอย่างเช่น ท่านเขียนว่า “‘แต่คนชอบธรรมของเราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อ’ และ ‘ถ้าเขาถอยกลับ จิตวิญญาณของเราไม่พอใจในคนนั้นเลย.’” (เฮ็บราย 10:38, ล.ม.) ในที่นี้ เปาโลยกคำพูดของผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคขึ้นมากล่าว.a ข้อความนี้คงคุ้นเคยกันดีในหมู่ผู้อ่านของเปาโลซึ่งเป็นคริสเตียนชาวฮีบรูที่รู้จักพระธรรมเชิงพยากรณ์เป็นอย่างดี. เมื่อคำนึงถึงเป้าหมายของท่าน—เพื่อเสริมความเชื่อของคริสเตียนในกรุงยะรูซาเลมและที่อยู่ใกล้ ๆ เมื่อประมาณปี ส.ศ. 61—ตัวอย่างของฮะบาฆูคนับเป็นตัวเลือกที่เหมาะ. เพราะเหตุใด?
7. ฮะบาฆูคบันทึกคำพยากรณ์ของท่านเมื่อไร และสถานการณ์ในยูดาเวลานั้นเป็นเช่นไร?
7 มีหลักฐานชี้ว่าฮะบาฆูคเขียนพระธรรมนี้เพียงสองทศวรรษเศษ ๆ ก่อนความพินาศของกรุงยะรูซาเลมในปี 607 ก่อนสากลศักราช. ในนิมิต ท่านผู้พยากรณ์เห็นชาวแคลเดีย (ชาวบาบูโลน) “ประชาชาติที่ขมขื่นและรีบร้อน” กำลังโจมตีอย่างฉับพลันต่อยูดาและทำลายกรุงยะรูซาเลม พร้อมกันนั้นก็กวาดต้อนผู้คนและชาติต่าง ๆ ตามรายทาง. (ฮะบาฆูค 1:5-11, ล.ม.) แต่ความหายนะนี้ได้มีบอกล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่สมัยของยะซายา กว่าหนึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น. ในสมัยของฮะบาฆูค ยะโฮยาคิมสืบบัลลังก์ต่อจากโยซียากษัตริย์ที่ดี และความชั่วก็เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งในแผ่นดินยูดา. ยะโฮยาคิมกดขี่และถึงกับฆ่าคนเหล่านั้นที่กล่าวในพระนามพระยะโฮวา. (2 โครนิกา 36:5; ยิระมะยา 22:17; 26:20-24) จึงไม่แปลกที่ผู้พยากรณ์ฮะบาฆูครู้สึกปวดร้าวจนได้ร้องออกมาว่า “โอ้พระยะโฮวา นานเท่าไร?”—ฮะบาฆูค 1:2, ล.ม.
8. เหตุใดตัวอย่างของฮะบาฆูคจึงเป็นประโยชน์ต่อคริสเตียนในศตวรรษแรกและในปัจจุบัน?
8 ฮะบาฆูคไม่ทราบว่าความพินาศของกรุงยะรูซาเลมอยู่ใกล้ขนาดไหน. คล้ายคลึงกัน คริสเตียนในศตวรรษแรกไม่ทราบว่าเมื่อไรระบบยิวจะถึงกาลอวสาน. เราในปัจจุบันก็ไม่ทราบ “วันนั้นโมงนั้น” ที่การพิพากษาของพระยะโฮวาจะมาถึงระบบชั่วนี้. (มัดธาย 24:36) ดังนั้น ให้เราสังเกตคำตอบของพระยะโฮวาที่ทรงให้แก่ฮะบาฆูคซึ่งมีอยู่สองส่วน. ส่วนแรก พระองค์ทรงรับรองกับท่านผู้พยากรณ์ว่าอวสานจะมาตามเวลา. พระเจ้าตรัสว่า “จะไม่ล่าช้าเลย” แม้ว่าในมุมมองของมนุษย์อาจดูเหมือนว่าล่าช้า. (ฮะบาฆูค 2:3, ล.ม.) ส่วนที่สอง พระยะโฮวาทรงเตือนฮะบาฆูคให้ระลึกว่า “ส่วนคนชอบธรรมนั้น เขาจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปโดยความซื่อสัตย์ของตน.” (ฮะบาฆูค 2:4, ล.ม.) ช่างเป็นความจริงอันงดงามและเรียบง่ายอะไรเช่นนี้! ที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ใช่ข้อที่ว่าเมื่อไรอวสานจะมาถึง แต่เป็นข้อที่ว่าเราดำเนินชีวิตต่อ ๆ ไปตามความเชื่อหรือไม่.
9. ผู้รับใช้ที่เชื่อฟังของพระยะโฮวาดำรงชีวิตต่อไปด้วยความซื่อสัตย์อย่างไร (ก) ในปี 607 ก.ส.ศ.? (ข) หลังปี ส.ศ. 66? (ค) เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็ง?
9 เมื่อกรุงยะรูซาเลมถูกปล้นในปี 607 ก.ส.ศ. ยิระมะยา, บารุคเลขานุการของท่าน, เอเบ็ดเมเล็ก, และชาวเรคาบที่ภักดีได้เห็นความสัตย์จริงแห่งคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ทรงให้แก่ฮะบาฆูค. พวกเขา “ดำรงชีวิตอยู่ต่อไป” โดยรอดจากความพินาศอันน่ากลัวของกรุงยะรูซาเลม. เพราะเหตุใด? พระยะโฮวาทรงปูนบำเหน็จความซื่อสัตย์ของพวกเขา. (ยิระมะยา 35:1-19; 39:15-18; 43:4-7; 45:1-5) คล้ายคลึงกัน คริสเตียนชาวฮีบรูในศตวรรษแรกคงตอบรับคำแนะนำของเปาโล เพราะเมื่อกองทัพโรมันโจมตีกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 66 แล้วถอนทัพกลับไปอย่างไม่อาจอธิบายได้ว่าเพราะอะไร คริสเตียนเหล่านั้นเอาใจใส่คำเตือนของพระเยซูที่ให้หนีด้วยความซื่อสัตย์. (ลูกา 21:20, 21) พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไปเนื่องด้วยความซื่อสัตย์ของตน. ในทำนองเดียวกัน เราจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปถ้าเราพิสูจน์ตัวว่าซื่อสัตย์จนกระทั่งอวสานมาถึง. ช่างเป็นเหตุผลสำคัญจริง ๆ ที่จะเสริมความเชื่อของเราในขณะนี้!
ทำให้ตัวอย่างแห่งความเชื่อเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวา
10. เปาโลพรรณนาถึงความเชื่อของโมเซอย่างไร และเราอาจเลียนแบบโมเซอย่างไรในเรื่องนี้?
10 นอกจากนั้น เปาโลสร้างความเชื่อด้วยการใช้ตัวอย่างอย่างมีพลัง. ขณะที่คุณอ่านเฮ็บรายบท 11 โปรดสังเกตวิธีที่ท่านทำให้ตัวอย่างของบุคคลเด่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวา. ตัวอย่างเช่น ท่านกล่าวว่าโมเซ “ยังคงยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็น พระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:27, ล.ม.) กล่าวอีกอย่างคือ พระยะโฮวาทรงเป็นจริงต่อโมเซถึงขนาดที่ประหนึ่งท่านสามารถเห็นพระเจ้าผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา. จะกล่าวอย่างเดียวกันได้ไหมสำหรับตัวเรา? เป็นเรื่องง่ายที่จะพูดถึงสัมพันธภาพกับพระยะโฮวา แต่เพื่อจะสร้างและเสริมสัมพันธภาพเช่นนั้นจำเป็นต้องมีความพยายามและการลงมือ. นั่นคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ! พระยะโฮวาทรงเป็นจริงสำหรับเราถึงขนาดที่เราคำนึงถึงพระองค์เมื่อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยไหม? ความเชื่อเช่นนั้นจะช่วยเราให้อดทนได้แม้กระทั่งการต่อต้านที่หนักที่สุด.
11, 12. (ก) ภายใต้สถานการณ์เช่นไรที่ความเชื่อของฮะโนคอาจได้ถูกทดสอบ? (ข) ฮะโนคได้รับบำเหน็จอะไรที่ชื่นชูใจ?
11 ขอให้พิจารณาความเชื่อของฮะโนคด้วย. การต่อต้านที่ท่านเผชิญนั้นยากที่เราจะนึกภาพออก. ฮะโนคต้องประกาศข่าวสารที่เสียดแทงใจเกี่ยวกับการพิพากษาคนชั่วในเวลานั้น. (ยูดา 14, 15) การกดขี่คุกคามชายที่ซื่อสัตย์ผู้นี้ดูเหมือนว่าชั่วร้ายและรุนแรงมากจนพระยะโฮวา “ทรงเปลี่ยนแปลงท่าน” จากสภาพมีชีวิตให้หลับไปในความตาย ก่อนที่ศัตรูจะจับตัวท่านไปได้. ดังนั้น ฮะโนคไม่ได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ที่ท่านประกาศ. อย่างไรก็ตาม ท่านได้รับของประทานที่ในบางแง่แล้ว ดียิ่งกว่าเสียอีก.—เฮ็บราย 11:5, ล.ม.; เยเนซิศ 5:22-24.
12 เปาโลอธิบายว่า “ก่อนถูกเปลี่ยนแปลง มีคำพยานถึง [ฮะโนค] ว่าท่านทำให้พระเจ้าพอพระทัย.” (เฮ็บราย 11:5, ล.ม.) ข้อนี้หมายถึงอะไร? ก่อนจะหลับไปในความตาย ฮะโนคได้รับนิมิตบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นนิมิตเกี่ยวกับอุทยานบนแผ่นดินโลกซึ่งท่านจะฟื้นขึ้นมาในอีกไม่ช้านี้. ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร พระยะโฮวาทรงให้ฮะโนคทราบว่าพระองค์พอพระทัยแนวทางชีวิตที่ซื่อสัตย์ของท่าน. ฮะโนคได้ทำให้พระทัยพระยะโฮวายินดี. (เทียบกับสุภาษิต 27:11.) การพิจารณาชีวิตฮะโนคน่าประทับใจมิใช่หรือ? คุณอยากดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อเช่นนั้นไหม? ถ้าอย่างนั้น จงพิจารณาตัวอย่างเช่นนั้น; มองดูพวกเขาในฐานะบุคคลจริง. จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ วันแล้ววันเล่า. จำไว้ด้วยว่า คนชนิดที่มีความเชื่อไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาบนฐานของวันเวลาหรือกำหนดเวลาว่าเมื่อไรพระเจ้าจะทรงทำให้คำสัญญาทั้งหมดของพระองค์สำเร็จ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราตั้งใจแน่วแน่จะรับใช้พระยะโฮวาตลอดไป! การทำอย่างนั้นย่อมเป็นแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดทั้งในระบบนี้และในระบบหน้า.
วิธีที่จะเข้มแข็งยิ่งขึ้นในความเชื่อ
13, 14. (ก) คำกล่าวของเปาโลดังบันทึกที่เฮ็บราย 10:24, 25 อาจช่วยเราอย่างไรในการทำให้การประชุมเป็นโอกาสที่น่ายินดี? (ข) เหตุผลประการแรกสุดสำหรับการประชุมคริสเตียนคืออะไร?
13 เปาโลชี้ถึงแนวปฏิบัติหลายอย่างแก่คริสเตียนชาวฮีบรูซึ่งพวกเขาจะนำไปใช้ได้ในการเสริมความเชื่อของตน. ขอให้เราพิจารณาสักสองอย่าง. เราคงคุ้นเคยดีกับคำกระตุ้นเตือนของท่านที่เฮ็บราย 10:24, 25 ซึ่งกระตุ้นเราให้ประชุมด้วยกันเป็นประจำในการประชุมคริสเตียน. อย่างไรก็ตาม พึงจำไว้ว่าถ้อยคำของเปาโลซึ่งได้รับการดลใจในข้อนั้นไม่ได้หมายความว่าเราควรเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ณ การประชุมเหล่านั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เปาโลพรรณนาถึงการประชุมว่าเป็นโอกาสที่จะรู้จักกันดีขึ้น, กระตุ้นกันให้รับใช้พระเจ้าเต็มที่ยิ่งขึ้น, และหนุนกำลังใจกัน. เราอยู่ที่นั่นเพื่อจะเป็นผู้ให้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับ. เมื่อเป็นอย่างนั้น การประชุมจะเป็นโอกาสที่น่ายินดี.—กิจการ 20:35.
14 อย่างไรก็ตาม ในอันดับแรก เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเพื่อนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้า. เราทำอย่างนั้นโดยเข้าร่วมการอธิษฐานและร้องเพลง, ฟังอย่างตั้งใจ, และถวาย “ผลแห่งริมฝีปาก” ซึ่งก็คือคำสรรเสริญแด่พระยะโฮวาในความเห็นที่เราให้และในการทำส่วนต่าง ๆ ณ การประชุม. (เฮ็บราย 13:15) หากเรารักษาเป้าหมายเหล่านี้ไว้ในใจและทำตามเป้าหมายนี้ในการประชุมทุกครั้ง ความเชื่อของเราก็จะได้รับการเสริมสร้างขึ้นอย่างแน่นอนในแต่ละครั้ง.
15. เหตุใดเปาโลกระตุ้นคริสเตียนชาวฮีบรูให้ยึดมั่นอยู่กับงานรับใช้ของตน และเหตุใดคำแนะนำเดียวกันนี้จึงนับว่าเหมาะกับทุกวันนี้?
15 อีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อก็คือโดยทางงานประกาศ. เปาโลเขียนดังนี้: “ให้เรายึดมั่นกับการประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความหวังของเราโดยไม่สั่นคลอน เพราะพระองค์ผู้ทรงสัญญานั้นสัตย์ซื่อ.” (เฮ็บราย 10:23, ล.ม.) คุณอาจกระตุ้นคนอื่น ๆ ให้ยึดมั่นกับอะไรบางอย่างเมื่อดูเหมือนว่าพวกเขาอาจเลิกเสียกลางคัน. ไม่ต้องสงสัย ซาตานกำลังกดดันคริสเตียนชาวฮีบรูให้เลิกรับใช้ และมันกำลังกดดันไพร่พลของพระเจ้าในทุกวันนี้เช่นเดียวกัน. เมื่อเผชิญความกดดันเช่นนั้น เราควรทำอะไร? ขอพิจารณาสิ่งที่เปาโลทำ.
16, 17. (ก) เปาโลได้ความกล้าที่จะทำงานรับใช้มาจากไหน? (ข) เราควรใช้วิธีการอะไรหากพบว่าตัวเราเองไม่ค่อยกล้าทำงานบางอย่างในงานรับใช้ของคริสเตียน?
16 เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองเธซะโลนิเกดังนี้: “หลังจากเราได้ทนทุกข์มาก่อนและถูกปฏิบัติอย่างเหยียดหยาม (ตามที่ท่านทั้งหลายทราบ) ในฟิลิปปอย เราก็ได้เร้าใจให้กล้าโดยพึ่งในพระเจ้าของเราเพื่อจะบอกข่าวดีของพระเจ้าแก่ท่านทั้งหลายด้วยความบากบั่นเป็นอันมาก.” (1 เธซะโลนิเก 2:2, ล.ม.) เปาโลและเพื่อนร่วมทางของท่าน “ถูกปฏิบัติอย่างเหยียดหยาม” อย่างไรในเมืองฟิลิปปอย? ตามที่ผู้คงแก่เรียนบางคนกล่าว คำภาษากรีกที่เปาโลใช้แสดงถึงการปฏิบัติอย่างดูหมิ่น, น่าละอาย, หรือรุนแรง. เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ฟิลิปปอยได้เฆี่ยนท่านกับเพื่อน ๆ ด้วยไม้เรียว, จับขังคุก, และจำพวกท่านไว้กับขื่อ. (กิจการ 16:16-24) ประสบการณ์อันเจ็บปวดนั้นมีผลอย่างไรต่อเปาโล? ผู้คนในเมืองถัดไปที่ท่านเยี่ยมในฐานะมิชชันนารี คือเมืองเธซะโลนิเก ได้สังเกตว่าเปาโลถอยกลับด้วยความกลัวไหม? ไม่ ท่าน “ได้เร้าใจให้กล้า.” ท่านเอาชนะความกลัวและประกาศต่อไปอย่างกล้าหาญ.
17 ความกล้าของเปาโลมาจากไหน? จากตัวท่านเองไหม? ไม่ ท่านกล่าวว่าท่านได้เร้าใจให้กล้า “โดยพึ่งในพระเจ้าของเรา.” หนังสืออ้างอิงสำหรับผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งกล่าวว่าข้อความนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “พระเจ้าทรงเอาความกลัวไปจากหัวใจเรา.” ดังนั้น หากคุณรู้สึกไม่ค่อยกล้าเท่าไรในงานรับใช้ หรือมีบางสิ่งบางอย่างในงานรับใช้ที่ทำให้คุณรู้สึกกลัว ทำไมไม่ทูลต่อพระยะโฮวาให้พระองค์ทรงช่วยคุณอย่างนั้น? ทูลขอให้พระองค์เอาความกลัวไปจากหัวใจคุณ. ทูลขอพระองค์ให้ช่วยเร้าให้คุณมีความกล้าสำหรับงานรับใช้นั้น. นอกจากนั้น จงใช้วิธีการอื่น ๆ ที่ได้ผล. อย่างเช่น นัดแนะที่จะทำงานกับบางคนที่ชำนาญในการให้คำพยานแบบที่คุณรู้สึกกังวล. นั่นอาจรวมถึงการประกาศในเขตธุรกิจ, การให้คำพยานตามถนน, การประกาศเมื่อสบโอกาส, หรือการให้คำพยานทางโทรศัพท์. คู่ของคุณคงจะเต็มใจนำในตอนแรก. ถ้าอย่างนั้นก็จงสังเกตและเรียนรู้. แต่หลังจากนั้น จงเร้าใจให้กล้าที่จะลองทำดู.
18. พระพรอะไรที่เราอาจประสบหากเราเร้าใจให้กล้าในงานรับใช้ของเรา?
18 หากคุณได้เร้าใจให้กล้า คิดดูซิว่าอาจยังผลเช่นไร. เมื่อคุณยืนหยัดและไม่ปล่อยให้ตัวเองท้อใจ คุณก็น่าจะมีประสบการณ์ที่ดีในการแบ่งปันความจริง ซึ่งมิฉะนั้นแล้วคุณอาจพลาดประสบการณ์ที่ดีดังกล่าวไป. (โปรดดูหน้า 25.) คุณจะอิ่มใจพอใจที่ทราบว่าคุณได้ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยโดยการทำสิ่งที่เป็นเรื่องยากสำหรับคุณ. คุณจะประสบพระพรและความช่วยเหลือที่มาจากพระองค์ในการเอาชนะความกลัวของคุณ. ความเชื่อของคุณจะเข้มแข็งยิ่งขึ้น. ที่จริง คุณไม่อาจเสริมสร้างความเชื่อในคนอื่นได้โดยไม่ได้เสริมสร้างความเชื่อของคุณเองในขณะเดียวกัน.—ยูดา 20, 21.
19. รางวัลอันล้ำค่าอะไรมีไว้สำหรับ “คนชนิดที่มีความเชื่อ”?
19 ขอให้คุณเสริมความเชื่อของคุณและความเชื่อของคนอื่นที่อยู่รอบตัวคุณต่อ ๆ ไป. คุณจะทำอย่างนั้นได้โดยเสริมสร้างตัวเองและคนอื่นด้วยการใช้พระคำของพระเจ้าอย่างชำนาญ, โดยศึกษาตัวอย่างความเชื่อที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลและทำให้ตัวอย่างเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวา, โดยเตรียมตัวและเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และโดยยึดมั่นอยู่กับสิทธิพิเศษอันมีค่ายิ่งแห่งงานรับใช้ต่อสาธารณชน. ขณะที่คุณทำสิ่งเหล่านี้ ขอให้แน่ใจได้เลยว่าคุณเป็นคนหนึ่งใน “คนชนิดที่มีความเชื่อ” จริง ๆ. พึงจำไว้ด้วยว่า คนชนิดนี้จะได้รับรางวัลอันล้ำค่า. พวกเขาเป็น “คนชนิดที่มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.”b ขอให้ความเชื่อของคุณเติบโตต่อ ๆ ไป และขอให้พระยะโฮวาพระเจ้าคุ้มครองคุณให้มีชีวิตตลอดไป!
[เชิงอรรถ]
a เปาโลยกฮะบาฆูค 2:4 ในฉบับแปลเซปตัวจินต์ ซึ่งมีประโยคนี้ด้วย: “ถ้าคนใดถอยกลับ จิตวิญญาณของเราไม่พอใจในคนนั้นเลย.” ประโยคนี้ไม่ปรากฏในฉบับสำเนาภาษาฮีบรูใด ๆ ที่ยังมีอยู่. มีบางคนเสนอความเห็นว่าฉบับแปลเซปตัวจินต์ อาศัยฉบับสำเนาภาษาฮีบรูที่เก่ากว่าซึ่งในเวลานี้ไม่มีแล้ว. ไม่ว่าจะอย่างไร เปาโลรวมประโยคนี้ไว้ที่นี่ภายใต้การดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ข้อความนี้ได้รับการรับรองจากพระเจ้า.
b ข้อพระคัมภีร์ประจำปีของพยานพระยะโฮวาสำหรับปี 2000 คือ “เราทั้งหลายไม่ใช่คนชนิดที่ถอยกลับ . . . แต่เป็นคนชนิดที่มีความเชื่อ.”—เฮ็บราย 10:39, ล.ม.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เปาโลแสดงความมั่นใจอย่างไรในคริสเตียนชาวฮีบรู และเราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
▫ เหตุใดการที่เปาโลอ้างอิงถึงผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคจึงนับว่าเหมาะสม?
▫ เปาโลได้ทำให้ตัวอย่างอะไรในเรื่องความเชื่อจากพระคัมภีร์เป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวา?
▫ วิธีอะไรที่ใช้ได้ดีในการเสริมสร้างความเชื่อซึ่งเปาโลสนับสนุนให้ใช้?
[รูปภาพหน้า 23]
หลังจากที่เปาโลมีประสบการณ์อันเจ็บปวดในเมืองฟิลิปปอย ท่านได้เร้าใจให้กล้าที่จะประกาศสั่งสอนต่อ ๆ ไป
[รูปภาพหน้า 24]
คุณจะเร้าใจให้กล้าในการลองให้คำพยานในแบบต่าง ๆ ได้ไหม?