คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยง—‘จงเปิดหัวใจให้กว้าง’!
“พระยะโฮวาเป็นผู้ทรงบำรุงเลี้ยงข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน.” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ ดาวิดแสดงความมั่นใจเต็มที่ในพระเจ้า. พูดในแง่ฝ่ายวิญญาณแล้ว พระยะโฮวาทรงนำท่านสู่ที่ซึ่ง “มีหญ้าเขียวสด” และสู่ “ริมฝั่งแม่น้ำที่สงบเงียบ” และนำท่าน “ไปตามทางชอบธรรม.” เมื่อถูกห้อมล้อมด้วยผู้ต่อต้าน ดาวิดได้รับการค้ำจุนและการหนุนกำลังใจ ซึ่งกระตุ้นให้ท่านทูลพระยะโฮวาว่า “ข้าพเจ้าจะไม่กลัวอันตรายเลย; เพราะพระองค์ทรงสถิตอยู่ด้วยข้าพเจ้า.” โดยมีผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่เช่นนั้น ดาวิดจึงตั้งใจแน่วแน่ที่จะ “อาศัยอยู่ในพระบรมมหาราชวังของพระยะโฮวาเป็นนิจกาล.”—บทเพลงสรรเสริญ 23:1-6.
พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้าก็ประสบกับความใฝ่พระทัยด้วยความรักของพระยะโฮวาเช่นกัน และทรงสะท้อนถึงความใฝ่พระทัยนี้อย่างสมบูรณ์แบบในการปฏิบัติต่อเหล่าสาวกของพระองค์ระหว่างที่ทรงอยู่ชั่วคราวบนแผ่นดินโลก. พระคัมภีร์จึงเรียกพระองค์ว่า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี,” “ผู้เลี้ยงแกะอันเลิศ,” และ “ผู้บำรุงเลี้ยงองค์สำคัญ.”—โยฮัน 10:11, ล.ม.; เฮ็บราย 13:20; 1 เปโตร 5:2-4, ล.ม.
พระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์ยังทรงบำรุงเลี้ยงคนเหล่านั้นที่รักพระองค์ต่อ ๆ ไป. การบำรุงเลี้ยงของพระองค์ทั้งสองสำแดงออกส่วนหนึ่งโดยการจัดให้มีบรรดารองผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคม ซึ่งเป็นการจัดเตรียมที่เปี่ยมด้วยความรัก. เปาโลกล่าวกับรองผู้บำรุงเลี้ยงเหล่านั้นเมื่อท่านกล่าวว่า “จงเอาใจใส่ตัวท่านเองและฝูงแกะทั้งปวงซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แต่งตั้งท่านทั้งหลายเป็นผู้ดูแล ให้บำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตแห่งพระบุตรพระองค์เอง.”—กิจการ 20:28, ล.ม.
การบำรุงเลี้ยงฝูงแกะตามแบบอย่างที่วางไว้โดยพระยะโฮวาและพระคริสต์เยซูไม่ใช่งานง่าย ๆ แต่นี่เป็นงานสำคัญในปัจจุบันยิ่งกว่าที่ผ่านมา. ลองคิดถึงพยานฯ กว่าหนึ่งล้านคนที่รับบัพติสมาในช่วงสามปีที่ผ่านมาดูสิ! คนใหม่เหล่านี้ไม่มีภูมิหลังทางฝ่ายวิญญาณซึ่งได้มาจากประสบการณ์หลายปี. นอกจากนั้น ลองคิดถึงพยานฯ ที่ยังเป็นเด็กหรืออยู่ในวัยหนุ่มสาวด้วย. พวกเขาไม่เพียงต้องการความเอาใจใส่จากบิดามารดาเท่านั้น แต่จากรองผู้บำรุงเลี้ยงในประชาคมด้วย.
ที่จริง คริสเตียนทุกคนถูกกดดันจากภายนอก ซึ่งรวมไปถึงความกดดันจากคนรุ่นเดียวกัน. ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อต้านทานแรงชักจูงให้ติดตามแนวทางที่ตามใจตัวเองของโลก. ในบางประเทศ ผู้ประกาศราชอาณาจักรอาจหมดกำลังใจเนื่องจากไม่มีใครตอบรับข่าวสารของตน. ผู้ประกาศหลายคนมีปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง. ปัญหาทางการเงินอาจทำให้บางคนหมดแรงกระตุ้นที่จะแสวงหาราชอาณาจักรก่อน. ตามจริงแล้ว เราทุกคน—รวมทั้งคนที่อยู่ในความจริงมาเป็นเวลานาน—ต่างก็ต้องการและสมควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก.
แรงกระตุ้นที่ถูกต้อง
คริสเตียนสมัยศตวรรษแรกได้รับการเตือนสติว่า ‘จงเปิดหัวใจของท่านให้กว้าง’! (2 โกรินโธ 6.11-13) คริสเตียนผู้ปกครองควรจะทำตามคำแนะนำนี้ในการเอาใจใส่หน้าที่บำรุงเลี้ยง. พวกเขาจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? และจะว่าอย่างไรกับผู้ช่วยงานรับใช้ ซึ่งหลายคนคงจะได้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงในวันข้างหน้า?
ถ้าคริสเตียนผู้ปกครองจะเป็นพระพรแก่ฝูงแกะ พวกเขาต้องไม่เพียงได้รับการกระตุ้นจากความสำนึกในหน้าที่เท่านั้น. พวกเขาได้รับคำแนะนำว่า “จงบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าในความอารักขาของท่านทั้งหลาย มิใช่เพราะถูกบังคับ แต่ด้วยความเต็มใจ; ไม่ใช่เพราะรักผลกำไรโดยมิชอบ แต่ด้วยใจจดจ่อ.” (1 เปโตร 5:2, ล.ม.) ดังนั้น การบำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพจึงเกี่ยวข้องกับความเต็มใจและการมีใจจดจ่อที่จะรับใช้คนอื่น. (โยฮัน 21:15-17) นี่หมายถึงการเห็นความจำเป็นของฝูงแกะและว่องไวในการสนองความจำเป็นนั้น. นี่หมายถึงการสำแดงคุณลักษณะที่ดีแบบคริสเตียนซึ่งเรียกว่า ผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า ขณะที่ปฏิบัติต่อผู้อื่น.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
บางครั้งการบำรุงเลี้ยงรวมไปถึงการเยี่ยมพี่น้องที่บ้าน.a แต่ผู้บำรุงเลี้ยงที่ ‘เปิดหัวใจของตนให้กว้าง’ เสียสละตัวเอง. กล่าวคือ พวกเขาไม่เพียงไปเยี่ยมบำรุงเลี้ยงเป็นครั้งคราวเท่านั้น. พวกเขาใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสในการบำรุงเลี้ยงคนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในฝูงแกะ.
การฝึกฝนคนอื่นให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยง
พี่น้องชายคนใดก็ตาม ไม่ว่าเขาจะมีอายุเท่าไร ซึ่ง “เอื้อมแขนออกไปเพื่อจะได้ตำแหน่งผู้ดูแล . . . ก็ปรารถนาการงานที่ดี.” (1 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ผู้ช่วยงานรับใช้หลายคนสำแดงความเต็มใจที่จะเอื้อมแขนออกไปเพื่อจะได้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้น. ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองจึงยินดีช่วยเหลือพี่น้องชายที่เต็มใจเหล่านี้ให้ดำเนินขั้นตอนที่สำคัญนี้ในการ “เอื้อมแขนออกไปเพื่อจะได้ตำแหน่งผู้ดูแล.” นี่หมายถึงการฝึกฝนพวกเขาให้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ.
เนื่องจากยึดมั่นกับมาตรฐานอันสูงส่งของพระเจ้า ประชาคมคริสเตียนของพระยะโฮวาจึงไม่ได้อ่อนแอลงด้วยผู้เลี้ยงแกะจอมปลอมเช่นที่มีพรรณนาไว้ในยะเอศเคล 34:2-6. คนเหล่านี้เป็นที่น่ารังเกียจในสายพระเนตรของพระยะโฮวาและก็สมควรเป็นเช่นนั้น. แทนที่จะเลี้ยงอาหารฝูงแกะ พวกเขาบำรุงเลี้ยงตัวเอง. พวกเขาไม่ได้เสริมกำลังแกะที่ป่วย, รักษาแกะที่อ่อนแอ, พันแผลขาที่หัก, หรือนำแกะที่หลงหายกลับมา. โดยที่ทำตัวเหมือนสุนัขป่ามากกว่าผู้เลี้ยงแกะ พวกเขากดขี่ฝูงแกะ. แกะที่ถูกละเลยก็กระจัดกระจายไป ท่องไปอย่างไร้จุดหมายโดยไม่มีใครเอาใจใส่ดูแล.—ยิระมะยา 23:1, 2; นาฮูม 3:18; มัดธาย 9:36.
ไม่เหมือนผู้เลี้ยงแกะที่ไม่ซื่อสัตย์เหล่านั้น คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงติดตามแบบอย่างของพระยะโฮวา. พวกเขาช่วยต้อนแกะสู่ที่ซึ่ง “มีหญ้าเขียวสด” และ “ริมฝั่งแม่น้ำที่สงบเงียบ” ทางฝ่ายวิญญาณ. พวกเขาพยายามนำฝูงแกะ “ไปตามทางชอบธรรม” โดยช่วยพวกเขาให้เข้าใจพระคำของพระยะโฮวาอย่างถูกต้องและนำไปใช้เป็นส่วนตัว. พวกเขาทำสิ่งนี้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากพวกเขา “มีคุณวุฒิที่จะสั่งสอน.”—1 ติโมเธียว 3:2, ล.ม.
ส่วนมากผู้ปกครองสอนจากบนเวทีระหว่างการประชุมประชาคม. อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองยังสอนเป็นส่วนตัวด้วย. แน่นอน บางคนสอนตัวต่อตัวได้ดีกว่า ขณะที่คนอื่นมีพรสวรรค์ในการบรรยาย. แต่การที่มีความสามารถในการสอนด้านใดด้านหนึ่งน้อยกว่าอีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นไม่มีคุณวุฒิจะเป็นครู. ผู้ปกครองสอนโดยใช้ช่องทางทุกอย่างที่มี รวมทั้งการบำรุงเลี้ยง. การบำรุงเลี้ยงบางครั้งเป็นแบบทางการ ตัวอย่างเช่น เป็นการเยี่ยมที่จัดเตรียมไว้แล้ว. แต่การบำรุงเลี้ยงหลายครั้งอาจทำในแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากเช่นกัน.
ผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอนตลอดเวลา
แพทย์ต้องมีความรู้และประสบการณ์เพื่อจะทำงานของตนได้. แต่คนไข้จะหยั่งรู้ค่าถ้าเขาสำแดงความกรุณา, ความเมตตาสงสาร, ความห่วงใย, และความสนใจอย่างจริงใจ. คุณลักษณะเหล่านี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งแห่งบุคลิกภาพของเขา. คุณลักษณะคล้าย ๆ กันต้องเป็นส่วนหนึ่งในบุคลิกภาพของผู้สอนและผู้บำรุงเลี้ยงที่ดีด้วย คือตัวเขาต้องสำแดงคุณลักษณะเหล่านี้ทุกวัน. ครูที่ดีจะเตรียมพร้อมเพื่อแนะนำคนอื่น ๆ รอบข้างเขาเมื่อใดก็ตามที่จำเป็น. สุภาษิต 15:23 กล่าวว่า “ถ้อยคำที่กล่าวเหมาะกับกาลเทศะก็ประเสริฐนัก!” เวลาที่ “เหมาะกับกาลเทศะ” อาจเป็นเวลาที่เขาบรรยายจากเวที, เมื่อประกาศตามบ้าน, หรือเมื่อสนทนาที่หอประชุมหรือทางโทรศัพท์. เช่นเดียวกัน ผู้บำรุงเลี้ยงที่ดีพยายามที่จะสำแดงคุณลักษณะที่ดีและห่วงใยในคนอื่นทุกเวลา ไม่ใช่เพียงเมื่อเขากำลังเยี่ยมบำรุงเลี้ยง. โดยที่ ‘เปิดหัวใจของตนให้กว้าง’ เขาจะใช้ทุกโอกาสเพื่อบำรุงเลี้ยงแกะ โดยให้ความเอาใจใส่ซึ่งพวกเขาต้องการในเวลาที่เหมาะสม. นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รักในสายตาของฝูงแกะ.—มาระโก 10:43.
วอล์ฟกัง ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ปกครอง จำได้ว่าผู้ช่วยงานรับใช้คนหนึ่งกับภรรยามาเยี่ยมสังสรรค์กับครอบครัวของเขา. เขากล่าวว่า “ลูก ๆ ของเราตื่นเต้นที่ได้รับความสนใจและมีช่วงเวลาอันสนุกสนาน. พวกเขายังคงพูดถึงวันนั้นอยู่เลย.” ใช่แล้ว ผู้ช่วยงานรับใช้คนนี้แสดงว่าเขาห่วงใย; เขา ‘เปิดหัวใจของตนให้กว้าง.’
อีกโอกาสหนึ่งที่จะ ‘เปิดหัวใจของเราให้กว้าง’ ก็คือการไปเยี่ยมคนป่วย, การส่งข้อความสั้น ๆ ที่หนุนกำลังใจ, หรือการโทรศัพท์ไปหาเขา—อะไรก็ได้ที่ทำให้เขารู้ว่าคุณห่วงใย! เสนอจะช่วยถ้าจำเป็น. ถ้าเขาอยากจะคุยด้วย ก็จงตั้งใจฟัง. คุยเรื่องกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้าในประชาคมและที่อื่น ๆ ซึ่งเสริมสร้างและน่าตื่นเต้น. ช่วยให้เขาจดจ่ออยู่กับอนาคตอันรุ่งโรจน์ซึ่งมีไว้สำหรับคนที่รักพระยะโฮวา.—2 โกรินโธ 4:16-18.
นอกจากการเยี่ยมบำรุงเลี้ยง
เมื่อคำนึงถึงจุดมุ่งหมายของการบำรุงเลี้ยง เห็นได้ชัดว่าการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงอย่างเป็นทางการที่บ้านของพี่น้อง แม้ว่าจะสำคัญ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น. ผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรัก ‘เปิดหัวใจของตนให้กว้าง’ โดยเป็นคนเข้าหาได้ง่ายในทุกสภาพการณ์และทุกเวลา. สัมพันธภาพอันอบอุ่นที่เขาปลูกฝังกับพวกพี่น้องเป็นการรับรองกับพวกเขาว่าในเวลายากลำบาก พวกเขาก็ไม่ต้องกลัวอันตราย โดยรู้ว่าคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยง ผู้เป็นพี่น้องที่รัก เป็นห่วงพวกเขา.—บทเพลงสรรเสริญ 23:4.
ถูกแล้ว ขอให้คุณผู้เป็นคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงทุกคน ‘เปิดหัวใจของคุณให้กว้าง.’ จงสำแดงความรักอย่างจริงใจต่อพี่น้องของคุณ—หนุนกำลังใจพวกเขา, ทำให้พวกเขาสดชื่น, เสริมสร้างพวกเขาทางฝ่ายวิญญาณในทุกวิธีที่คุณทำได้. จงช่วยพวกเขาให้มั่นคงในความเชื่อ. (โกโลซาย 1:23) โดยที่ได้รับพระพรด้วยการมีคริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยงที่ ‘เปิดหัวใจของตนให้กว้าง’ ฝูงแกะก็จะไม่ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย. พวกเขาจะตั้งใจแน่วแน่เหมือนกับดาวิดที่จะพำนักอยู่ในพระบรมมหาราชวังของพระยะโฮวาเป็นนิจกาล. (บทเพลงสรรเสริญ 23:1, 6) ผู้บำรุงเลี้ยงที่เปี่ยมด้วยความรักจะต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีกหรือ?
[เชิงอรรถ]
a คำแนะนำเรื่องการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงจะพบได้ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กันยายน 1993 หน้า 20-23 และฉบับ 15 มีนาคม 1996 หน้า 24-27.
[กรอบหน้า 30]
คริสเตียนผู้บำรุงเลี้ยง
• รับใช้ด้วยใจจดจ่อและเต็มใจ
• เลี้ยงและดูแลฝูงแกะ
• ช่วยคนอื่นให้เอื้อมแขนออกไปเพื่อเป็นผู้บำรุงเลี้ยง
• เยี่ยมคนป่วยและเอาใจใส่พวกเขา
• ตื่นตัวที่จะช่วยพี่น้องของตนทุกเวลา
[ภาพหน้า 31]
ไม่ว่าอยู่ในงานเผยแพร่, ที่การประชุม, หรือที่การสังสรรค์, ผู้ปกครองเป็นผู้บำรุงเลี้ยงเสมอ