วิธีพบความสุขแท้
ดาไลลามะ ผู้นำศาสนาพุทธคนหนึ่งได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าจุดมุ่งหมายจริง ๆ ในชีวิตของเราคือ แสวงหาความสุข.” ครั้นแล้วก็ชี้แจงว่า เขาเชื่อว่าจะบรรลุความสุขได้โดยการฝึกหรือใช้วินัยกับจิตใจและหัวใจ. เขากล่าวว่า “จิตใจเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่เราต้องมีเพื่อบรรลุความสุขครบถ้วน.” เขาคิดว่าความเชื่อในพระเจ้าเป็นเรื่องไม่จำเป็น.a
ตรงกันข้าม ขอพิจารณาพระเยซูผู้มีความเชื่อที่มั่นคงในพระเจ้าและคำสอนของพระองค์มีผลกระทบต่อผู้คนหลายร้อยล้านคนตลอดศตวรรษต่าง ๆ. พระเยซูสนพระทัยในความสุขของมนุษย์. พระองค์ทรงเริ่มคำเทศน์บนภูเขาอันมีชื่อเสียงด้วยคำอวยพรเก้าประการ—ถ้อยคำเก้าประการที่เริ่มต้นว่า “ความสุขมีแก่ . . . ” (มัดธาย 5:1-12, ล.ม.) ในคำเทศน์เดียวกันนั้น พระองค์ทรงสอนเหล่าผู้ฟังให้ตรวจสอบหัวใจและจิตใจ, ทำให้บริสุทธิ์, และให้ใช้วินัยกับจิตใจและหัวใจของเขา—เอาความคิดที่สงบสุข, สะอาด, และเต็มด้วยความรักมาแทนความคิดที่รุนแรง, ผิดศีลธรรม, และเห็นแก่ตัว. (มัดธาย 5:21, 22, 27, 28; 6:19-21) ดังที่สาวกคนหนึ่งของพระองค์ได้กระตุ้นเตือนในภายหลัง เราควร ‘ใคร่ครวญต่อ ๆ ไป’ ในสิ่งที่ ‘จริง, น่าเอาใจใส่อย่างจริงจัง, ชอบธรรม, บริสุทธิ์, น่ารัก, กล่าวถึงในทางดี, มีคุณความดี, และน่าสรรเสริญ.’—ฟิลิปปอย 4:8, ล.ม.
พระเยซูทรงทราบว่าความสุขแท้เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพกับคนอื่น. โดยนิสัยแล้วเราซึ่งเป็นมนุษย์ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น เราไม่สามารถมีความสุขอย่างแท้จริงได้หากเราแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว หรือมักจะขัดแย้งกับคนรอบข้างเราอยู่เสมอ. เราจะมีความสุขได้เพียงแต่ถ้าเรารู้สึกว่าได้รับความรักและถ้าเรารักคนอื่น. พระเยซูทรงสอนว่า พื้นฐานสำหรับความรักดังกล่าวคือ สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. ตรงนี้โดยเฉพาะที่คำสอนของพระเยซูต่างจากคำสอนของดาไลลามะ เพราะพระเยซูทรงสอนว่า มนุษย์จะมีความสุขอย่างแท้จริงไม่ได้หากไม่พึ่งอาศัยพระเจ้า. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?—มัดธาย 4:4; 22:37-39.
คิดถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของคุณ
คำอวยพรประการหนึ่งคือ “ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน.” (มัดธาย 5:3, ล.ม.) ทำไมพระเยซูตรัสเช่นนี้? เพราะ ไม่เหมือนกับสัตว์ เรามีความต้องการฝ่ายวิญญาณ. เนื่องจากถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้า เราสามารถปลูกฝังคุณสมบัติของพระเจ้าได้ในระดับหนึ่ง เช่น ความรัก, ความยุติธรรม, ความเมตตา, และสติปัญญา. (เยเนซิศ 1:27; มีคา 6:8; 1 โยฮัน 4:8) ความต้องการฝ่ายวิญญาณของเรารวมไปถึงความต้องการที่จะมีชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย.
เราจะสนองความต้องการฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นได้อย่างไร? ไม่ใช่โดยการนั่งสมาธิซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือประสบการณ์ของคนธรรมดา หรือโดยเพียงแค่การตรวจสอบตัวเอง. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเยซูตรัสว่า “มนุษย์จะเลี้ยงชีพด้วยอาหารแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ด้วยคำตรัสทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา.” (มัดธาย 4:4, ล.ม.) โปรดสังเกตว่า พระเยซูตรัสว่า พระเจ้าเป็นแหล่งที่มาของ “คำตรัสทุกคำ” ที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของเรา. มีคำถามบางอย่างที่เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นทรงช่วยเราตอบได้. ความหยั่งเห็นเข้าใจเช่นนั้นเหมาะกับเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ เมื่อคำนึงถึงการเพิ่มขึ้นของทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของชีวิตและหนทางสู่ความสุข. ร้านหนังสือจัดให้มีแผนกต่าง ๆ ที่ทั้งแผนกมีแต่หนังสือที่ให้คำสัญญาแก่ผู้อ่านในเรื่องสุขภาพ, ความมั่งคั่ง, และความสุข. มีการตั้งเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสุขโดยเฉพาะไว้.
อย่างไรก็ตาม ความคิดของมนุษย์ในเรื่องเหล่านี้มักจะถูกนำไปผิดทาง. ความคิดดังกล่าวมักจะสนองความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวหรือทำให้ถูกใจตัวเอง. ความคิดนั้นอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่จำกัด และบ่อยทีเดียวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่จริง. ตัวอย่างเช่น ในท่ามกลางนักเขียนหนังสือคู่มือให้คำแนะนำที่ใช้ได้ในทางปฏิบัติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะให้แนวคิดของพวกเขาอาศัยทฤษฎีเกี่ยวกับ “จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ” ซึ่งสันนิษฐานว่าอารมณ์ของมนุษย์มีรากเหง้ามาจากบรรพบุรุษของเราที่ว่ากันว่าเป็นสัตว์. ความเป็นจริงคือว่า ความพยายามใด ๆ ที่จะประสบความสุขโดยอาศัยทฤษฎีที่เพิกเฉยต่อบทบาทของพระผู้สร้างของเรานั้นไร้ผลและจะนำไปสู่ความผิดหวังในที่สุด. ผู้พยากรณ์สมัยโบราณคนหนึ่งกล่าวว่า “คนมีปัญญาจะได้รับความอาย. . . . นี่แน่ะเขาได้ปฏิเสธพระวจนะของพระเจ้าและปัญญาอย่างใดมีในตัวเขาเล่า.”—ยิระมะยา 8:9, ฉบับแปลใหม่.
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงทราบโครงสร้างของเราและสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง. พระองค์ทรงทราบเหตุผลที่ทรงจัดให้มนุษย์อยู่บนแผ่นดินโลกและอนาคตจะเป็นอย่างไร และพระองค์ทรงให้ความรู้นั้นแก่เราในคัมภีร์ไบเบิล. สิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยไว้ในหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจนั้นกระตุ้นความรู้สึกตอบสนองในตัวบุคคลที่มีแนวโน้มในทางถูกต้องและทำให้เกิดความสุข. (ลูกา 10:21; โยฮัน 8:32) เป็นเช่นนั้นกับสาวกสองคนของพระเยซู. พวกเขาเศร้าระทมหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. แต่ภายหลังที่ทราบเกี่ยวกับบทบาทของพระองค์ในพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อความรอดของมนุษยชาติจากพระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์โดยตรงแล้ว เขาพูดว่า “หัวใจเราเร่าร้อนมิใช่หรือขณะที่พระองค์ตรัสกับเราตามทาง ขณะที่พระองค์ทรงเปิดเผยพระคัมภีร์แก่เราอย่างเต็มที่?”—ลูกา 24:32, ล.ม.
ความยินดีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเมื่อเรายอมให้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลชี้นำชีวิตของเรา. ในเรื่องนี้ ความสุขอาจเปรียบได้กับรุ้งกินน้ำ. รุ้งปรากฏเมื่อบรรยากาศเหมาะสม แต่ยิ่งมีสีสันสดใสมากขึ้น—กระทั่งกลายเป็นรุ้งสองชั้นด้วยซ้ำ—เมื่อบรรยากาศเยี่ยมยอด. ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาดูบางตัวอย่างที่แสดงว่าการนำคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ทำให้มีความสุขมากขึ้นได้อย่างไร.
ทำให้ชีวิตเรียบง่ายเสมอ
ประการแรก ขอพิจารณาคำแนะนำของพระเยซูในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ. หลังจากเตือนให้ระวังเพื่อจะไม่ทำให้การแสวงหาทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตแล้ว พระองค์ได้ตรัสถ้อยคำที่ผิดธรรมดา. พระองค์ตรัสว่า “เหตุฉะนั้นถ้าตาของท่านปกติ, ทั้งตัวก็พลอยสว่างไปด้วย.” (มัดธาย 6:19-22) โดยพื้นฐาน พระองค์ตรัสว่าหากเรามัวเมาแสวงหาทรัพย์สมบัติ, อำนาจ, หรือเป้าหมายอื่นใดที่ผู้คนตั้งไว้สำหรับตัวเองแล้ว เราจะสูญเสียสิ่งที่สำคัญกว่า. เพราะดังที่พระเยซูตรัสในอีกโอกาสหนึ่งว่า “ชีวิตของบุคคลใด ๆ มิได้อยู่ในของบริบูรณ์ซึ่งเขามีอยู่นั้น.” (ลูกา 12:15) หากเราจัดสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ไว้เป็นอันดับแรก เช่น สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า, ความห่วงใยต่อครอบครัว, และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นแล้ว “ตา” ของเราก็จะ “ปกติ” ไม่มองนั่นมองนี่ยุ่งไปหมด.
โปรดสังเกตว่า พระเยซูมิได้สนับสนุนลัทธิถือสันโดษหรือการหักห้ามใจตัวเองอย่างเด็ดขาด. ที่จริง พระเยซูเองมิใช่นักพรต. (มัดธาย 11:19; โยฮัน 2:1-11) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงสอนว่าคนเหล่านั้นที่ถือว่าชีวิตเป็นเพียงโอกาสที่จะสั่งสมความมั่งคั่ง โดยพื้นฐานแล้วพลาดโอกาสที่ดีในชีวิตไป.
เมื่อออกความเห็นเกี่ยวกับบางคนที่กลายเป็นคนร่ำรวยในช่วงต้น ๆ ของชีวิต ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชคนหนึ่งในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สำหรับพวกเขาแล้ว เงินเป็น “ต้นเหตุของความเครียดและความวุ่นวาย.” เขากล่าวเสริมว่าคนเหล่านี้ “ซื้อบ้านสองสามหลัง, ซื้อรถยนต์, ใช้จ่ายเงินซื้อสิ่งของต่าง ๆ. และเมื่อการทำเช่นนั้นไม่มีผลอะไรต่อเขา [นั่นคือ ทำให้เขามีความสุข] เขาก็กลายเป็นคนซึมเศร้า, ไม่มีแก่นสาร, และไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรกับชีวิตตัวเอง.” ตรงกันข้าม คนเหล่านั้นที่เอาใจใส่ฟังคำตักเตือนของพระเยซูที่ให้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายกว่าทางด้านวัตถุและเปิดโอกาสให้กับสิ่งฝ่ายวิญญาณมักจะพบความสุขแท้มากกว่า.
ทอม ช่างก่อสร้างที่อยู่ในฮาวาย ได้อาสาสมัครช่วยสร้างสถานที่สำหรับนมัสการในหมู่เกาะแปซิฟิกที่ซึ่งผู้คนมีไม่มากนักทางด้านวัตถุ. ทอมสังเกตอะไรบางอย่างเกี่ยวกับผู้คนที่ถ่อมตัวเหล่านี้. เขากล่าวว่า “พี่น้องชายหญิงคริสเตียนของผมในหมู่เกาะเหล่านี้มีความสุขอย่างแท้จริง. พวกเขาได้ช่วยผมให้มองเห็นชัดยิ่งขึ้นว่าเงินทองและทรัพย์สมบัติไม่ใช่เคล็ดลับที่นำไปสู่ความสุข.” เขายังได้สังเกตอาสาสมัครซึ่งทำงานร่วมกับเขาในเกาะเหล่านั้นด้วย และได้เห็นว่าพวกเขาช่างอิ่มใจกันสักเพียงไร. ทอมกล่าวว่า “พวกเขาสามารถที่จะหาเงินได้มาก. แต่พวกเขาก็เลือกที่จะให้สิ่งฝ่ายวิญญาณอยู่ในอันดับแรกเสมอและคงไว้ซึ่งรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย.” โดยได้รับการกระตุ้นจากตัวอย่างเหล่านี้ ทอมได้ทำให้ชีวิตของตนเองเรียบง่ายขึ้นเพื่อจะสามารถอุทิศเวลามากขึ้นให้แก่ครอบครัวและการมุ่งติดตามทางฝ่ายวิญญาณ—การกระทำที่เขาไม่เคยรู้สึกเสียดายเลย.
ความสุขและความนับถือตัวเอง
สิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับความสุขคือ ความสำนึกถึงศักดิ์ศรีของตัวเองหรือความนับถือตนเอง. เนื่องจากสภาพไม่สมบูรณ์ของมนุษย์และความอ่อนแอที่เป็นผลจากสภาพเช่นนั้น บางคนจึงมีทัศนะในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเอง และสำหรับหลายคนแล้ว ความรู้สึกดังกล่าวมีมาตั้งแต่วัยเด็ก. อาจเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะความรู้สึกที่ฝังรากลึก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้. วิธีแก้อยู่ที่การนำพระคำของพระเจ้ามาใช้.
คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่าพระผู้สร้างทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับตัวเรา. ทัศนะของพระองค์สำคัญกว่าทัศนะของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง—แม้แต่ของตัวเราเองมิใช่หรือ? ในฐานะแบบฉบับของความรักอย่างแท้จริง พระเจ้าทรงพิจารณาดูเราโดยไม่มีอคติหรือเจตนาร้าย. พระองค์ทรงมองเราอย่างที่เราเป็นอยู่ เช่นเดียวกับที่ทรงเห็นว่าเราสามารถจะเป็นคนเช่นไร. (1 ซามูเอล 16:7; 1 โยฮัน 4:8) ที่จริง พระองค์ทรงถือว่าคนเหล่านั้นที่ต้องการจะทำให้พระองค์พอพระทัยนั้นมีค่าล้ำ เป็นที่น่าปรารถนา ไม่ว่าเขาจะไม่สมบูรณ์แค่ไหนก็ตาม.—ดานิเอล 9:23; ฮาฆี 2:7.
แน่นอน พระเจ้าไม่ทรงมองข้ามความอ่อนแอและบาปใด ๆ ที่เราทำ. พระองค์ทรงคาดหมายให้เราพยายามอย่างแข็งขันที่จะทำสิ่งถูกต้อง และพระองค์ทรงเกื้อหนุนเราเมื่อเราทำเช่นนั้น. (ลูกา 13:24) กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด, พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น.” พระคัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ถ้าหากพระองค์จะทรงจดจำการอสัตย์อธรรมทั้งหมดไว้, ใครจะทนไหว? แต่พระองค์ทรงมีการอภัยโทษ, ประสงค์จะให้เขาทั้งหลายเกรงกลัวพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 103:13; 130:3, 4.
ดังนั้น จงหัดมองดูตัวเองอย่างที่พระเจ้าทรงมอง. การรู้ว่าพระองค์ทรงมองดูคนเหล่านั้นที่รักพระองค์ว่าเป็นที่น่าปรารถนา และรู้ว่าพระองค์มีความเชื่อมั่นในพวกเขา—ถึงแม้เขาอาจถือว่าตัวเองไม่มีค่าก็ตาม—สามารถเพิ่มความสุขมากมายให้คนเรา.—1 โยฮัน 3:19, 20.
ความหวัง—สำคัญยิ่งต่อความสุข
แนวคิดที่ได้รับการส่งเสริมเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งเรียกว่าจิตวิทยาเชิงสร้างสรรค์ถือว่า การมองในแง่ดีซึ่งพัฒนาขึ้นได้โดยการคิดในแง่บวกและโดยเพ่งเล็งอยู่ที่จุดดีในตัวของคนเรา สามารถนำไปสู่ความสุขได้. มีน้อยคนที่ไม่เห็นด้วยที่ว่า การมองในแง่ดีเกี่ยวกับชีวิตและอนาคตย่อมเพิ่มความสุขให้เรา. อย่างไรก็ดี การมองในแง่ดีเช่นนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มิใช่อาศัยแค่ความเพ้อฝัน. นอกจากนี้ ไม่ว่าจะมีการมองในแง่ดีหรือการคิดในแง่บวกมากแค่ไหนก็ตาม ก็จะไม่กำจัดสงคราม, ความอดอยาก, โรคภัยไข้เจ็บ, ภาวะมลพิษ, วัยชรา, ความเจ็บป่วย, หรือความตาย—อันเป็นสิ่งที่ปล้นเอาความสุขมากมายไปจากหลายคน. ถึงอย่างไรก็ตาม การมองในแง่ดีก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ดี.
น่าสนใจ คัมภีร์ไบเบิลมิได้ใช้คำว่าการมองในแง่ดี แต่ใช้คำที่มีพลังมากกว่านั่นคือคำว่าความหวัง. พจนานุกรมอธิบายศัพท์ครบถ้วนของไวน์ (ภาษาอังกฤษ) ให้คำนิยาม “ความหวัง” ดังที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็น “ความคาดหมายที่น่าพอใจและมั่นใจ, . . . การคาดล่วงหน้าถึงสิ่งดีอย่างเป็นสุขเบิกบาน.” ตามสำนวนที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล ความหวังมิใช่เป็นเพียงการมองสถานการณ์ในแง่ดี แต่ยังพาดพิงถึงสิ่งซึ่งเป็นพื้นฐานของความหวังนั้นด้วย. (เอเฟโซ 4:4; 1 เปโตร 1:3) ตัวอย่างเช่น ความหวังของคริสเตียนคือ การที่สิ่งอันไม่พึงปรารถนาทั้งมวลซึ่งมีกล่าวถึงในวรรคก่อนนั้นจะถูกกำจัดออกไปไนไม่ช้า. (บทเพลงสรรเสริญ 37:9-11, 29) แต่ความหวังดังกล่าวยังครอบคลุมมากกว่านั้นอีก.
คริสเตียนตั้งตาคอยสมัยที่มนุษย์ผู้ซื่อสัตย์จะบรรลุชีวิตสมบูรณ์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (ลูกา 23:42, 43, ล.ม.) วิวรณ์ 21:3, 4 (ล.ม.) ขยายความเกี่ยวกับความหวังนั้นโดยกล่าวว่า “นี่แน่ะ! พลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษยชาติ และพระองค์จะสถิตกับเขา และพวกเขาจะเป็นชนชาติต่าง ๆ ของพระองค์. . . . และพระองค์จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ทั้งความทุกข์โศกหรือเสียงร้องหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย. สิ่งที่เคยมีอยู่เดิมนั้นผ่านพ้นไปแล้ว.”
ใครก็ตามที่คาดหมายจะมีอนาคตเช่นนั้นย่อมมีเหตุผลทุกประการที่จะมีความสุข ถึงแม้สภาพการณ์ปัจจุบันของเขาไม่ราบรื่นดังที่ปรารถนา. (ยาโกโบ 1:12) ดังนั้น ไฉนไม่ตรวจสอบดูคัมภีร์ไบเบิลและค้นหาเหตุผลที่คุณจะเชื่อเรื่องนี้ได้. จงเสริมความหวังของคุณให้มั่นคงขึ้นโดยใช้เวลาแต่ละวันอ่านคัมภีร์ไบเบิล. การทำเช่นนั้นจะทำให้คุณมั่งคั่งทางฝ่ายวิญญาณ, ช่วยคุณหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ปล้นความสุขไปจากผู้คน, และเสริมสร้างความสำนึกของคุณในเรื่องความอิ่มใจ. ถูกแล้ว เคล็ดลับสุดท้ายซึ่งนำไปสู่ความสุขแท้คือ การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (ท่านผู้ประกาศ 12:13) ชีวิตที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของการเชื่อฟังคำสั่งสอนของคัมภีร์ไบเบิลเป็นชีวิตที่มีความสุข เพราะพระเยซูตรัสว่า “ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่ได้ยินพระคำของพระเจ้าและถือรักษาพระคำนั้น!”—ลูกา 11:28, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ความเชื่อในพระเจ้าเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับชาวพุทธ.
[ภาพหน้า 5]
ความสุขไม่อาจพบได้โดยการ สั่งสมทรัพย์สมบัติ, แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว, หรือไว้วางใจในความรู้อันจำกัดของมนุษย์
[ภาพหน้า 6]
ชีวิตที่อยู่บนพื้นฐานของการเชื่อฟังพระคำของพระเจ้าเป็นชีวิตที่มีความสุข
[ภาพหน้า 7]
ความหวังของคริสเตียนทำให้คนเรามีความสุข