นักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณ—สนับสนุนความจริงของคัมภีร์ไบเบิลไหม?
ไม่ว่าคุณเป็นคริสเตียนหรือไม่ มโนคติของคุณเกี่ยวกับพระเจ้าแห่งคัมภีร์ไบเบิล, พระเยซู, และศาสนาคริสเตียนอาจได้รับอิทธิพลจากพวกเขา. หนึ่งในคนเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นลิ้นทองและอีกคนหนึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่. มีการพรรณนาถึงพวกเขาทั้งกลุ่มว่าเป็น “แบบฉบับอันประเสริฐสุดแห่งชีวิตของพระคริสต์.” คนเหล่านี้เป็นใคร? พวกเขาเป็นนักคิดทางศาสนา, นักเขียน, นักเทววิทยา, และนักปรัชญาในสมัยโบราณซึ่งมีอิทธิพลมากทีเดียวต่อทัศนะของ “คริสเตียน” ในปัจจุบัน—นักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณ.
“คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นพระคำของพระเจ้า” เดมีตรีโอส เจ. คอนสตันเตลอส ศาสตราจารย์ศาสนศาสตร์แห่งนิกายกรีกออร์โทด็อกซ์อ้างอย่างนั้น. เขากล่าวด้วยว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเปิดเผยพระคำของพระเจ้าไม่อาจถูกจำกัดไว้เฉพาะบนหน้าหนังสือ.” แหล่งใดอีกซึ่งอาจเป็นที่มาอันน่าเชื่อถือของการเปิดเผยจากพระเจ้า? คอนสตันเตลอสประกาศไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อเข้าใจคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ (ภาษาอังกฤษ) ดังนี้: “ธรรมเนียมอันศักดิ์สิทธิ์และพระคัมภีร์บริสุทธิ์ถือว่าเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน.”
รากฐานของ “ธรรมเนียมอันศักดิ์สิทธิ์” นั้นรวมถึงคำสอนและข้อเขียนของเหล่านักเขียนคริสตจักร. พวกเขาเป็นนักเทววิทยาและนักปรัชญา “คริสเตียน” ที่โดดเด่นซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่สองถึงศตวรรษที่ห้าแห่งสากลศักราช. พวกเขามีอิทธิพลต่อแนวคิด “คริสเตียน” ในสมัยปัจจุบันมากเพียงไร? คำสอนของพวกเขายึดมั่นอยู่กับคัมภีร์ไบเบิลไหม? อะไรควรเป็นรากฐานอันหนักแน่นของความจริงตามหลักการคริสเตียนสำหรับสาวกของพระเยซูคริสต์?
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
ในช่วงกลางศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช ผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนปกป้องความเชื่อของตนจากผู้กดขี่ชาวโรมันและจากพวกออกหาก. อย่างไรก็ตาม นี่เป็นยุคที่มีข้อคิดเห็นทางเทววิทยามากมายอย่างยิ่ง. การถกกันในวงการศาสนาเกี่ยวด้วยเรื่อง “ความเป็นพระเจ้า” ของพระเยซูตลอดจนลักษณะและการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้เกิดปัญหาที่หนักยิ่งกว่าความแตกแยกด้านปัญญา. ความขัดแย้งอันขมขื่นและความแตกแยกที่ไม่อาจประสานกันได้ในเรื่องหลักคำสอน “คริสเตียน” ได้แพร่ทะลักไปสู่แวดวงวัฒนธรรมและการเมือง บางครั้งก่อให้เกิดการจลาจล, การกบฏ, การต่อสู้กันในหมู่พลเมือง, หรือแม้แต่สงคราม. นักประวัติศาสตร์ พอล จอห์นสัน เขียนดังนี้: “ศาสนาคริสเตียน [ที่ออกหาก] เริ่มต้นด้วยความสับสน, ความขัดแย้ง, และความแตกแยก ซึ่งก็เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยมา. . . . ภูมิภาคแถบเมดิเตอร์เรเนียนภาคกลางและภาคตะวันออกในช่วงศตวรรษแรกและศตวรรษที่สองแห่งคริสต์ศักราชเนืองแน่นไปด้วยแนวคิดทางศาสนามากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งต่างก็พยายามเผยแผ่แนวคิดของตนออกไป. . . . ดังนั้น ตั้งแต่ต้นทีเดียว มีศาสนาคริสเตียนมากมายหลากหลายโดยที่แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย.”
ในยุคนั้น นักเขียนและนักคิดที่เห็นว่าจำเป็นต้องตีความหมายคำสอน “คริสเตียน” โดยใช้ศัพท์ปรัชญาเริ่มรุ่งเรืองเฟื่องฟู. เพื่อเอาใจคนนอกรีตที่มีการศึกษาซึ่งเพิ่งเปลี่ยนมาถือ “ศาสนาคริสเตียน” นักเขียนด้านศาสนาเหล่านี้พึ่งพิงวรรณกรรมกรีกและยิวในยุคแรก ๆ เป็นอย่างมาก. เริ่มต้นที่จัสติน มาร์เทอร์ (ประมาณ ส.ศ. 100-165) ซึ่งเขียนโดยใช้ภาษากรีก ผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนเริ่มซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เขาซึมซับมรดกด้านปรัชญาของวัฒนธรรมกรีกมากขึ้น.
แนวโน้มอย่างนี้เริ่มเบ่งบานในข้อเขียนของออริเกน (ประมาณ ส.ศ. 185-254) นักเขียนชาวกรีกจากอะเล็กซานเดรีย. ว่าด้วยหลักคำสอนขั้นต้น ซึ่งเป็นบทความของออริเกนนับเป็นก้าวแรกที่เขาพยายามอย่างเป็นระบบเพื่ออธิบายคำสอนหลักของเทววิทยา “คริสเตียน” โดยใช้ศัพท์ปรัชญากรีก. สภาแห่งนีเซีย (ส.ศ. 325) ซึ่งพยายามอธิบายและพิสูจน์เรื่อง “ความเป็นพระเจ้า” ของพระคริสต์ นับว่ามีส่วนสำคัญในการให้แรงผลักดันใหม่แก่การตีความหมายหลักคำสอน “คริสเตียน.” สภานี้นับเป็นสัญญาณซึ่งชี้ถึงการเริ่มต้นของยุคที่สภาประชุมคริสตจักรโดยทั่วไปพยายามให้คำนิยามหลักคำสอนอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น.
นักเขียนและนักบรรยาย
ยูเซบิอุสแห่งซีซาเรีย ซึ่งเขียนในช่วงที่สภานีเซียเรียกประชุมครั้งแรก คบหาอยู่กับจักรพรรดิคอนสแตนติน. กว่า 100 ปีเล็กน้อยภายหลังสภานีเซีย นักเทววิทยาซึ่งส่วนใหญ่เขียนโดยใช้ภาษากรีกถกเถียงกันอย่างยาวนานและเผ็ดร้อนเกี่ยวด้วยเรื่องหนึ่งซึ่งกลายมาเป็นคำสอนเด่นของคริสต์ศาสนจักร คือตรีเอกานุภาพ. ที่เด่นในกลุ่มนักเทววิทยาเหล่านี้ได้แก่อะทานาซิอุส สังฆราชแห่งอะเล็กซานเดรียซึ่งเชื่อมั่นในตัวเองมาก กับผู้นำคริสตจักรสามคนจากกัปปะโดเกีย แคว้นเอเชียไมเนอร์—บาซิลผู้ยิ่งใหญ่, เกรกอรีแห่งนิสซา น้องชายของเขา, และเกรกอรีแห่งนาซิอันซุส สหายของทั้งสอง.
นักเขียนและนักเทศน์ในยุคนั้นมีมาตรฐานด้านวาทศิลป์สูง. เกรกอรีแห่งนาซิอันซุสและจอห์น ไครซอสตอม (หมายถึง “ลิ้นทอง”) ซึ่งใช้ภาษากรีก และอัมโบรสแห่งมิลานกับเอากุสตินแห่งฮิปโปซึ่งใช้ภาษาลาติน เป็นสุดยอดนักบรรยาย ปรมาจารย์แห่งศิลปะการพูดซึ่งเป็นศิลปะที่ได้รับความนิยมและการยกย่องสูงสุดในสมัยนั้น. นักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้นได้แก่เอากุสติน. บทความด้านเทววิทยาของเขามีส่วนอย่างมากในพัฒนาการของแนวคิด “คริสเตียน” ในปัจจุบัน. เจโรม ผู้คงแก่เรียนที่เด่นที่สุดในยุคนั้น เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลลาตินวัลเกตจากภาษาดั้งเดิม.
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญคือ นักเขียนคริสตจักรเหล่านี้ยึดมั่นอยู่กับคัมภีร์ไบเบิลอย่างแท้จริงหรือไม่? ในคำสอนของพวกเขา พวกเขายึดมั่นอยู่กับพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจไหม? ข้อเขียนของพวกเขาเป็นแนวชี้นำที่ไว้ใจได้ไหมเพื่อรับเอาความรู้ถ่องแท้ของพระเจ้า?
คำสอนของพระเจ้าหรือคำสอนของมนุษย์?
เมื่อไม่นานมานี้ เมโทดีอุส เจ้าคณะเขตปกครองศาสนาแห่งปิซิเดียของนิกายกรีกออร์โทด็อกซ์เขียนหนังสือที่ชื่อรากฐานกรีกในศาสนาคริสเตียน (ภาษาอังกฤษ) เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมและปรัชญากรีกเป็นโครงสร้างพื้นฐานของแนวคิด “คริสเตียน” ในปัจจุบัน. ในหนังสือนั้น เขายอมรับอย่างไม่ลังเลว่า “นักเขียนคริสตจักรที่โดดเด่นเกือบทุกคนถือว่าหลักพื้นฐานของกรีกเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และพวกเขาหยิบยืมหลักเหล่านั้นมาจากวรรณกรรมโบราณของกรีก ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจะทำความเข้าใจและแสดงความจริงแห่งหลักการคริสเตียนให้ถูกต้อง.”
เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาแนวคิดที่ว่าพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ประกอบกันเป็นตรีเอกานุภาพ. ภายหลังการประชุมของสภานีเซีย นักเขียนคริสตจักรหลายคนได้กลายมาเป็นผู้เชื่อตรีเอกานุภาพที่เคร่งครัด. ข้อเขียนและคำอธิบายของพวกเขาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ตรีเอกานุภาพเป็นคำสอนเด่นของคริสต์ศาสนจักร. ทว่า พบว่ามีตรีเอกานุภาพในคัมภีร์ไบเบิลไหม? ไม่เลย. ถ้าอย่างนั้นนักเขียนคริสตจักรได้คำสอนนี้มาจากไหน? พจนานุกรมความรู้ด้านศาสนา (ภาษาอังกฤษ) ชี้ว่า มีหลายคนกล่าวว่าตรีเอกานุภาพ “เป็นความเสื่อมที่หยิบยืมมาจากศาสนานอกรีต และนำมาทาบต่อเข้ากับความเชื่อของคริสเตียน.” และหนังสือลัทธินอกรีตในศาสนาคริสเตียนของเรา (ภาษาอังกฤษ) ยืนยันว่า “แหล่งกำเนิดของ [ตรีเอกานุภาพ] มาจากศาสนานอกรีตทั้งกระบิ.”a—โยฮัน 3:16; 14:28.
หรือขอให้พิจารณาคำสอนเรื่องอมตภาพของจิตวิญญาณ ความเชื่อที่ว่าบางส่วนของคนเรามีชีวิตต่อไปหลังจากกายตายแล้ว. อีกครั้งหนึ่ง นักเขียนคริสตจักรมีส่วนสำคัญในการนำเอาแนวคิดนี้เข้ามาในศาสนาซึ่งไม่มีคำสอนในเรื่องจิตวิญญาณที่รอดอยู่ต่อไปหลังจากตาย. คัมภีร์ไบเบิลแสดงไว้ชัดเจนว่าจิตวิญญาณตายได้: “จิตวิญญาณที่ได้ทำบาป, จิตวิญญาณนั้นจะตายเอง.” (ยะเอศเคล 18:4) รากฐานสำหรับความเชื่อของนักเขียนคริสตจักรในเรื่องจิตวิญญาณอมตะคืออะไร? สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ กล่าวว่า “แนวคิดของคริสเตียนเกี่ยวกับวิญญาณที่พระเจ้าสร้างที่เข้าไปในร่างกายตอนปฏิสนธิเพื่อประกอบเป็นตัวมนุษย์ทั้งหมดเป็นผลมาจากพัฒนาการอันยาวนานด้านปรัชญาคริสเตียน. เฉพาะออริเกนแห่งฝ่ายตะวันออกและเซนต์เอากุสตินแห่งฝ่ายตะวันตกเท่านั้นที่ยอมรับหลักคำสอนที่ว่าจิตวิญญาณคือวิญญาณ รวมทั้งแนวคิดทางปรัชญาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับลักษณะของจิตวิญญาณ. . . . [คำสอนของเอากุสติน] . . . ส่วนมาก (รวมทั้งจุดบกพร่องบางอย่าง) ได้มาจากคตินิยมเพลโตใหม่.” และวารสารเพรสไบทีเรียน ไลฟ์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ความเป็นอมตะของจิตวิญญาณเป็นแนวคิดแบบกรีกซึ่งเกิดจากลัทธิลึกลับซึ่งมีมาแต่โบราณและถูกนำมาพัฒนาโดยนักปรัชญาเพลโต.”b
รากฐานอันหนักแน่นของความจริงตามหลักการคริสเตียน
หลังจากที่ได้ตรวจสอบภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของนักเขียนคริสตจักร แม้ว่าสั้น ๆ รวมทั้งตรวจสอบที่มาแห่งคำสอนของพวกเขา นับว่าเหมาะที่จะถามว่า คริสเตียนที่มีน้ำใสใจจริงควรยึดถือคำสอนของนักเขียนคริสตจักรเพื่อเป็นหลักสำหรับความเชื่อของตนไหม? ขอให้คัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามนี้.
ประการหนึ่งนั้น พระเยซูคริสต์เองทรงห้ามการใช้ยศศักดิ์ทางศาสนาที่มีการเรียกบางคนว่า “บิดา” [ในภาษาอังกฤษ คำที่ใช้หมายถึงนักเขียนคริสตจักร ตามตัวอักษรคือ “บิดาแห่งคริสตจักร”] เมื่อพระองค์ตรัสว่า “อย่าเรียกผู้ใดว่าบิดาของท่านบนแผ่นดินโลกเพราะท่านทั้งหลายมีพระบิดาแต่ผู้เดียว คือผู้ที่สถิตในสวรรค์.” (มัดธาย 23:9, ล.ม.) การใช้คำ “บิดา” เพื่อเรียกใครคนใดคนหนึ่งทางศาสนาไม่ถูกต้องตามหลักคริสเตียนและไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. พระคำของพระเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรเขียนเสร็จสิ้นประมาณปีสากลศักราช 98 ด้วยบันทึกของอัครสาวกโยฮัน. ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนแท้ไม่จำเป็นต้องหมายพึ่งมนุษย์คนใดเพื่อเป็นแหล่งแห่งการเปิดเผยซึ่งมาจากการดลใจ. พวกเขาระวังที่จะไม่ “ทำลายพระบัญญัติของพระเจ้า” ด้วยประเพณีของมนุษย์. การปล่อยให้ประเพณีของมนุษย์เข้ามาแทนที่พระคำของพระเจ้าก่อความเสียหายร้ายแรงฝ่ายวิญญาณ. พระเยซูทรงเตือนว่า “ถ้าคนตาบอดจูงคนตาบอด ทั้งสองจะตกลงในบ่อ.”—มัดธาย 15:6, 14.
คริสเตียนจำเป็นต้องได้รับการเปิดเผยจากแหล่งอื่นอีกไหมนอกจากพระคำของพระเจ้าที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล? ไม่. พระธรรมวิวรณ์เตือนไม่ให้เพิ่มสิ่งใดเข้าไปในบันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจโดยกล่าวดังนี้: “ถ้าผู้ใด ๆ จะเพิ่มข้อความในเรื่องราวพยากรณ์ของหนังสือนี้, พระเจ้าจะทรงเพิ่มภัยทรมานที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ให้แก่ผู้นั้น ๆ.”—วิวรณ์ 22:18.
ความจริงตามหลักการคริสเตียนเป็นส่วนหนึ่งในพระคำของพระเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือคัมภีร์ไบเบิล. (โยฮัน 17:17; 2 ติโมเธียว 3:16; 2 โยฮัน 1-4) ความเข้าใจที่ถูกต้องในคัมภีร์ไบเบิลไม่อิงอยู่กับปรัชญาฝ่ายโลก. เกี่ยวกับคนที่พยายามใช้สติปัญญาของมนุษย์เพื่ออธิบายการเปิดเผยจากพระเจ้า นับว่าเหมาะที่จะกล่าวซ้ำคำถามของอัครสาวกเปาโล ที่ว่า “คนมีปัญญาหายไปไหนแล้ว? อาลักษณ์หายไปไหนแล้ว? นักตั้งปัญหาสมัยนี้หายไปไหนแล้ว? พระเจ้ามิได้ทรงกระทำปัญญาของโลกให้กลายเป็นการโฉดเขลาไปหรือ?”—1 โกรินโธ 1:20.
นอกจากนั้น ประชาคมคริสเตียนแท้เป็น “หลักและรากแห่งความจริง.” (1 ติโมเธียว 3:15) ผู้ดูแลประชาคมปกป้องความบริสุทธิ์สะอาดของการสอนในประชาคม ไม่ปล่อยให้สิ่งใด ๆ ที่ไม่บริสุทธิ์ด้านหลักคำสอนแทรกซึมเข้ามา. (2 ติโมเธียว 2:15-18, 25) พวกเขาป้องกันประชาคมไว้จาก ‘ผู้พยากรณ์เท็จ, ผู้สอนผิด, และมิจฉาลัทธิ.’ (2 เปโตร 2:1) ภายหลังการเสียชีวิตของเหล่าอัครสาวก นักเขียนคริสตจักรปล่อยให้ “ถ้อยคำโดยการดลใจซึ่งทำให้หลงผิดและคำสอนของผีปิศาจ” งอกรากขึ้นในประชาคมคริสเตียน.—1 ติโมเธียว 4:1, ล.ม.
ผลของการออกหากนี้เห็นได้ชัดในคริสต์ศาสนจักรปัจจุบัน. ความเชื่อและกิจปฏิบัติของคริสต์ศาสนจักรต่างกันมากกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาอย่างลึกซึ้งเรื่องหลักคำสอนตรีเอกานุภาพจะพบได้ในจุลสารคุณควรเชื่อตรีเอกานุภาพไหม? (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
b สำหรับการพิจารณาโดยละเอียดเกี่ยวกับคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องจิตวิญญาณ โปรดดูหนังสือการหาเหตุผลจากพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) หน้า 98-104 และ 375-380 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
นักเขียนแห่งคริสตจักรแห่งกัปปะโดเกีย
“คริสตจักรออร์โทด็อกซ์ . . . ให้ความนับถือเป็นพิเศษต่อนักเขียนแห่งศตวรรษที่สี่ และโดยเฉพาะต่อบุคคลที่คริสตจักรนี้เรียกขานว่า ‘พระมหาราชาคณะสามองค์’ อันได้แก่ เกรกอรีแห่งนาซิอันซุส, บาซิลผู้ยิ่งใหญ่, และจอห์น ไครซอสตอม” นักเขียนซึ่งเป็นนักบวชคนหนึ่งที่ชื่อ คัลลิสตอส กล่าวดังข้างต้น. นักเขียนคริสตจักรเหล่านี้ยึดพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจเป็นหลักสำหรับคำสอนของตนไหม? เกี่ยวกับบาซิลผู้ยิ่งใหญ่ หนังสือนักเขียนแห่งคริสตจักรกรีก (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “งานเขียนของเขาแสดงว่าเขามีความรู้จักคุ้นเคยมาโดยตลอดเกี่ยวกับเพลโต, โฮเมอร์, ตลอดจนนักประวัติศาสตร์และนักบรรยายชั้นครูทั้งหลาย และคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อรูปแบบการเขียนของเขาแน่นอน. . . . บาซิลยังคงเป็น ‘กรีก.’ ” เป็นเช่นนั้นด้วยกับเกรกอรีแห่งนาซิอันซุส. “ในทัศนะของเขา การแสดงชัยชนะและความเหนือกว่าของคริสตจักรทำได้ดีที่สุดโดยที่คริสตจักรรับเอาจารีตของวัฒนธรรมกรีกโบราณอย่างเต็มที่.”
เกี่ยวกับบุคคลทั้งสามนี้ ศาสตราจารย์พานายีโอทีส เค. คริสตู เขียนไว้ว่า “แม้ว่าพวกเขาเตือนเป็นครั้งคราวให้ระวัง ‘หลักปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหล’ [โกโลซาย 2:8]—เพื่อให้สอดคล้องกับพระบัญชาในพระคริสตธรรมใหม่—แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็กระตือรือร้นในการศึกษาปรัชญาและหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และแม้แต่แนะนำคนอื่น ๆ ให้ศึกษาเช่นเดียวกัน.” เห็นได้ชัด ศาสนาจารย์แห่งคริสตจักรเหล่านี้คิดว่าคัมภีร์ไบเบิลอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะรองรับแนวคิดของตน. การที่พวกเขาแสวงหาหลักหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับนับถือแสดงว่าคำสอนของพวกเขามาจากแหล่งอื่นนอกเหนือคัมภีร์ไบเบิลมิใช่หรือ? อัครสาวกเปาโลเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูว่า “อย่าหลงไปตามคำสอนต่าง ๆ ที่แปลก ๆ.”—เฮ็บราย 13:9, ฉบับแปลใหม่.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
ซีริลแห่งอะเล็กซานเดรีย—นักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณผู้ก่อความขัดแย้ง
บุคคลผู้หนึ่งซึ่งก่อความขัดแย้งอย่างมากในหมู่นักเขียนคริสตจักรได้แก่ซีริลแห่งอะเล็กซานเดรีย (ประมาณ ส.ศ. 375-444). นักประวัติศาสตร์คริสตจักร ฮันส์ ฟอน คัมเพนเฮาเซน พรรณนาถึงเขาว่า “ดื้อรั้น, รุนแรง, และฉลาดแกมโกง, ซาบซ่านด้วยความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่แห่งหน้าที่การงานและความสูงส่งแห่งตำแหน่งของตน” และยังเสริมอีกว่า “เขาไม่เคยเห็นว่าอะไรถูกเว้นแต่สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมอำนาจและอำนาจหน้าที่ของเขา . . . ความโหดร้ายและความไร้ยางอายแห่งวิธีการที่เขาใช้ไม่เคยทำให้เขาสลดหดหู่.” ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งบิชอปแห่งอะเล็กซานเดรีย ซีริลใช้การติดสินบน, การโฆษณาหมิ่นประมาท, และการให้ร้ายป้ายสีเพื่อให้บิชอปแห่งคอนสแตนติโนเปิลถูกปลด. กล่าวกันว่าเขาอยู่เบื้องหลังฆาตกรรมอันโหดร้ายในปี ส.ศ. 415 ที่เกิดขึ้นกับไฮพาเชีย นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง. เกี่ยวกับงานเขียนด้านเทววิทยาของซีริล คัมเพนเฮาเซนกล่าวว่า “เขาริเริ่มการตัดสินคำถามเกี่ยวกับความเชื่อไม่เพียงโดยใช้คัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก แต่โดยใช้วาทะและชุดวาทะซึ่งเข้ากันได้พอดีของบุคคลที่ได้รับการยกย่องนับถือเสริมเข้าไปด้วย.”
[ที่มาของภาพหน้า 18]
© Archivo Iconografico, S.A./CORBIS
[ภาพหน้า 19]
เจโรม
[ที่มาของภาพ]
Garo Nalbandian