ชื่นชมยินดีในความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา
“ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่ได้ยินพระคำของพระเจ้าและถือรักษาพระคำนั้น!”—ลูกา 11:28, ล.ม.
1. พระยะโฮวาทรงเริ่มสื่อความกับมนุษย์ครั้งแรกเมื่อไร?
พระยะโฮวาทรงรักและใฝ่พระทัยอย่างยิ่งในสวัสดิภาพของมนุษย์. ด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่พระองค์ทรงสื่อความกับพวกเขา. การสื่อความนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในสวนเอเดน. ตามที่กล่าวในเยเนซิศ 3:8 (ฉบับแปลใหม่) ครั้งหนึ่งใน “เวลาเย็น” อาดามและฮาวา “ได้ยินเสียงพระเจ้า.” บางคนเสนอความเห็นว่าข้อนี้แสดงนัยว่า ในตอนนั้นพระยะโฮวาทรงสื่อความกับอาดามเป็นปกติวิสัย อาจเป็นได้ว่าทุก ๆ วัน. ไม่ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเช่นไร คัมภีร์ไบเบิลแสดงชัดเจนว่าพระเจ้าทรงใช้เวลากับมนุษย์คนแรกไม่เพียงแค่ให้พระบัญชาแก่เขา แต่ยังได้ทรงสอนเขาในเรื่องที่เขาจำเป็นต้องทราบเพื่อจะทำหน้าที่รับผิดชอบของตนได้สำเร็จ.—เยเนซิศ 1:28-30.
2. มนุษย์คู่แรกแยกตัวไม่รับการชี้นำจากพระยะโฮวาอย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
2 พระยะโฮวาประทานชีวิตแก่อาดามและฮาวา ให้เขามีอำนาจเหนือสัตว์และแผ่นดินโลกทั้งสิ้น. มีข้อห้ามเพียงอย่างเดียว—ทั้งสองต้องไม่รับประทานผลจากต้นไม้เกี่ยวกับความรู้เรื่องความดีและความชั่ว. โดยถูกซาตานชักจูง อาดามและฮาวาไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า. (เยเนซิศ 2:16, 17; 3:1-6) เขาเลือกทำอย่างไม่หมายพึ่งพระเจ้า ตัดสินเอาเองว่าอะไรถูกอะไรผิด. ด้วยการทำอย่างนั้น เขาประพฤติอย่างโง่เขลาโดยแยกตัวไม่รับการชี้นำจากพระผู้สร้างผู้เปี่ยมด้วยความรัก. ผลที่ตามมาเป็นความหายนะสำหรับเขาและลูกหลานที่ยังไม่ได้เกิดมา. อาดามและฮาวาเริ่มแก่ลงและในที่สุดก็ตายไปโดยที่ไม่มีความหวังจะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. สิ่งที่ลูกหลานของเขาได้รับเป็นมรดกตกทอดก็คือบาปและความตายซึ่งเป็นผลมาจากบาป.—โรม 5:12.
3. เหตุใดพระยะโฮวาทรงสื่อความกับคายิน และคายินตอบสนองอย่างไร?
3 แม้ว่าเกิดการขืนอำนาจในสวนเอเดน พระยะโฮวาก็ยังคงสื่อความกับมนุษย์ต่อไป. คายิน บุตรชายหัวปีของอาดามและฮาวา ตกอยู่ในอันตรายอาจถูกบาปเข้าครอบงำ. พระยะโฮวาทรงเตือนเขาว่าเขากำลังมุ่งไปสู่ความยุ่งยากและทรงแนะนำเขาให้ “ทำดี.” คายินปฏิเสธคำแนะนำอันเปี่ยมด้วยความรักนี้และฆ่าน้องชายตน. (เยเนซิศ 4:3-8) ด้วยเหตุนั้น มนุษย์สามคนแรกบนแผ่นดินโลกล้วนปฏิเสธการชี้นำที่ชัดเจนจากพระผู้ประทานชีวิตแก่พวกเขา พระเจ้าผู้ทรงสั่งสอนไพร่พลของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่ตัวเขาเอง. (ยะซายา 48:17) เรื่องนี้คงต้องทำให้พระยะโฮวาทรงผิดหวังสักเพียงไร!
พระยะโฮวาทรงเปิดเผยพระองค์เองต่อผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณ
4. พระยะโฮวาทรงเชื่อมั่นเช่นไรเกี่ยวด้วยลูกหลานของอาดาม และโดยที่ทรงคำนึงถึงเรื่องนั้น พระองค์ประทานข่าวความหวังอะไร?
4 แม้ว่าพระองค์ทรงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะตัดขาดการติดต่อสื่อความกับมนุษย์ แต่พระยะโฮวามิได้ทำเช่นนั้น. พระองค์ทรงเชื่อมั่นว่าจะมีลูกหลานบางคนของอาดามที่ฉลาดสุขุม เอาใจใส่การชี้นำของพระองค์. ยกตัวอย่าง เมื่อประกาศคำพิพากษาต่ออาดามและฮาวา พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าถึงการมาของ “พงศ์พันธุ์” ที่จะเป็นปฏิปักษ์กับงู คือซาตานพญามาร. ในที่สุด ซาตานจะถูกบดขยี้หัวถึงตาย. (เยเนซิศ 3:15) คำพยากรณ์นี้เป็นข่าวความหวังที่น่ายินดีสำหรับ “ผู้ที่ได้ยินพระคำของพระเจ้าและถือรักษาพระคำนั้น.”—ลูกา 11:28, ล.ม.
5, 6. ก่อนศตวรรษแรก พระยะโฮวาทรงสื่อความกับไพร่พลของพระองค์โดยวิธีใดบ้าง และการสื่อความนี้ให้ประโยชน์แก่พวกเขาอย่างไร?
5 พระยะโฮวาทรงติดต่อและแจ้งพระทัยประสงค์ของพระองค์แก่ปฐมบรรพบุรุษผู้ซื่อสัตย์ในโบราณกาล เช่น โนฮา, อับราฮาม, ยิศฮาค, ยาโคบ, และโยบ. (เยเนซิศ 6:13; เอ็กโซโด 33:1; โยบ 38:1-3) ต่อมา พระองค์ทรงจัดให้มีประมวลกฎหมายทั้งหมดสำหรับชาติยิศราเอลโดยทางโมเซ. พระบัญญัติของโมเซให้ประโยชน์แก่พวกเขาในหลายทาง. โดยปฏิบัติตามพระบัญญัติ ชาติยิศราเอลถูกแยกต่างหากจากชาติอื่นทั้งหมดในฐานะไพร่พลพิเศษของพระเจ้า. พระเจ้าทรงรับรองกับชาวยิศราเอลว่าหากพวกเขาปฏิบัติตามพระบัญญัติ พระองค์จะทรงอวยพรพวกเขาไม่เฉพาะแต่ฝ่ายวัตถุ แต่ฝ่ายวิญญาณด้วย โดยที่ทรงโปรดให้พวกเขาเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิต ชาติที่บริสุทธิ์. พระบัญญัติถึงกับจัดวางระเบียบข้อบังคับด้านอาหารและสุขอนามัยซึ่งส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงเตือนด้วยเช่นกันเกี่ยวกับผลที่น่าเศร้าใจซึ่งจะเกิดขึ้นจากการไม่เชื่อฟัง.—เอ็กโซโด 19:5, 6; พระบัญญัติ 28:1-68.
6 ต่อมา พระธรรมที่เขียนขึ้นโดยการดลใจเล่มอื่น ๆ ก็เพิ่มเข้ามาในสารบบของคัมภีร์ไบเบิล. บันทึกประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นการติดต่อเกี่ยวข้องที่พระยะโฮวาทรงมีกับชาติต่าง ๆ. พระธรรมที่เขียนโดยใช้ภาษากวีพรรณนาคุณลักษณะของพระองค์ไว้อย่างงดงาม. พระธรรมที่เป็นคำพยากรณ์บอกล่วงหน้าถึงวิธีที่พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาจะสำเร็จในอนาคต. ผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณศึกษาข้อเขียนที่มีขึ้นโดยการดลใจเหล่านี้อย่างถี่ถ้วนและนำไปใช้. ผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งเขียนไว้ว่า “พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า, และเป็นแสงสว่างตามทางของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) สำหรับผู้ที่เต็มใจฟัง พระยะโฮวาทรงสอนและให้ความหยั่งเห็นเข้าใจแก่เขา.
แสงสว่างจ้าขึ้นเรื่อย ๆ
7. แม้ว่าพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์หลายอย่าง ส่วนใหญ่แล้วพระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะใด และเพราะเหตุใด?
7 เมื่อถึงศตวรรษแรก กลุ่มศาสนาชาวยิวหลายกลุ่มได้เพิ่มจารีตประเพณีของมนุษย์เข้ากับพระบัญญัติ. มีการใช้พระบัญญัติอย่างผิด ๆ และแทนที่จะเป็นแหล่งแห่งความหยั่งเห็นเข้าใจ พระบัญญัติกลายเป็นภาระหนักเนื่องด้วยประเพณีเหล่านั้น. (มัดธาย 23:2-4) อย่างไรก็ตาม ในปีสากลศักราช 29 พระเยซูทรงปรากฏในฐานะพระมาซีฮา. งานมอบหมายของพระองค์ไม่เพียงแค่ประทานชีวิตเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติเท่านั้น แต่พระองค์ยัง “ให้คำพยานถึงความจริง” ด้วย. แม้ว่าพระองค์ทรงทำการอัศจรรย์หลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วพระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ “อาจารย์.” คำสอนของพระองค์เป็นดุจแสงสว่างซึ่งส่องทะลุความมืดฝ่ายวิญญาณที่ห่อหุ้มจิตใจของประชาชน. พระเยซูเองตรัสไว้อย่างถูกต้องว่า “เราเป็นความสว่างของโลก.”—โยฮัน 8:12; 11:28; 18:37, ล.ม.
8. พระธรรมอะไรซึ่งเขียนโดยการดลใจในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช และพระธรรมเหล่านี้ให้ประโยชน์อย่างไรแก่คริสเตียนยุคแรก?
8 ต่อมา ได้มีการเพิ่มพระธรรมกิตติคุณซึ่งเป็นหนังสือสี่เล่มที่บันทึกเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซู และพระธรรมกิจการซึ่งเป็นประวัติบันทึกเกี่ยวกับการแผ่ขยายศาสนาคริสเตียนภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู. นอกจากนี้ก็ยังมีจดหมายที่เหล่าสาวกของพระเยซูเขียนขึ้นโดยการดลใจ รวมทั้งพระธรรมวิวรณ์ซึ่งเป็นหนังสือแห่งคำพยากรณ์. ข้อเขียนเหล่านี้รวมเข้ากับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูกลายเป็นสารบบของคัมภีร์ไบเบิลครบชุด. ด้วยความช่วยเหลือของห้องสมุดที่มีขึ้นโดยการดลใจนี้ คริสเตียนสามารถ “รู้พร้อมกับสิทธชนทั้งหมดว่า, อะไรเป็นความกว้าง, อะไรเป็นความยาว, อะไรเป็นความสูง, อะไรเป็นความลึก” ของความจริง. (เอเฟโซ 3:14-18) พวกเขาสามารถมี “พระทัยของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนยุคแรกไม่เข้าใจเต็มที่เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวาในทุกแง่ทุกมุม. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงเพื่อนผู้เชื่อถือว่า “ในปัจจุบันเราเห็นเป็นเค้าราง ๆ โดยอาศัยกระจกเงาโลหะ.” (1 โกรินโธ 13:12, ล.ม.) กระจกแบบนี้สะท้อนให้พอเห็นเค้าโครง แต่ไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด. ยังจะต้องมีความเข้าใจพระคำของพระเจ้าเต็มที่ยิ่งขึ้นกว่านี้อีก.
9. เกิดมีความหยั่งเห็นเข้าใจอะไรใน “สมัยสุดท้าย”?
9 ปัจจุบัน เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่เรียกว่า “สมัยสุดท้าย” ยุคที่ถูกระบุว่าเป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) ผู้พยากรณ์ดานิเอลบอกล่วงหน้าว่าในสมัยดังกล่าว “ความรู้แท้จะมีอุดมบริบูรณ์.” (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวา ผู้สื่อความองค์ยิ่งใหญ่ ได้ช่วยผู้มีหัวใจสุจริตให้เข้าใจความหมายในพระคำของพระองค์. ในเวลานี้ ผู้คนมากมายเข้าใจว่าพระคริสต์เยซูได้ขึ้นครองบัลลังก์แล้วในสวรรค์ที่ไม่ปรากฏแก่ตาในปี 1914. พวกเขาทราบด้วยว่าอีกไม่ช้าพระองค์จะนำอวสานมาสู่ความชั่วทั้งสิ้นและเปลี่ยนแผ่นดินโลกให้กลายเป็นอุทยานทั่วทั้งโลก. กำลังมีการประกาศแง่มุมสำคัญนี้ของข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลก.—มัดธาย 24:14.
10. ตลอดศตวรรษต่าง ๆ ผู้คนตอบรับคำแนะนำของพระยะโฮวาอย่างไร?
10 ถูกแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์พระยะโฮวาทรงแจ้งพระทัยประสงค์และพระประสงค์ของพระองค์ให้ประชาชนบนแผ่นดินโลกทราบ. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงหลายคนที่ฟัง, ใช้สติปัญญาของพระเจ้า, และได้รับพระพรจากสติปัญญานั้น. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกเกี่ยวกับคนอื่น ๆ ที่ปฏิเสธคำแนะนำอันเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้า และเจริญรอยตามแนวทางแห่งความพินาศของอาดามและฮาวา. พระเยซูทรงยกตัวอย่างเปรียบเทียบสภาพการณ์เช่นนี้เมื่อพระองค์ตรัสถึงถนนโดยนัยสองสาย. ถนนสายหนึ่งนำไปสู่ความพินาศ. ถนนนี้กว้างขวางและหลายคนที่ปฏิเสธพระคำของพระเจ้าดำเนินในทางนี้. ส่วนถนนอีกสายหนึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์. แม้ว่าเป็นถนนที่คับแคบ แต่คนจำนวนน้อยซึ่งยอมรับว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระคำเลือกเดินในเส้นทางนี้.—มัดธาย 7:13, 14.
หยั่งรู้ค่าสิ่งที่เรามี
11. ความรู้และความเชื่อของเราในคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักฐานถึงอะไร?
11 คุณเป็นคนหนึ่งที่เลือกทางสู่ชีวิตไหม? ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณต้องการจะอยู่บนเส้นทางนี้ต่อ ๆ ไป. คุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? จงคิดรำพึงเป็นประจำด้วยความหยั่งรู้ค่าเกี่ยวกับพระพรต่าง ๆ ที่คุณได้รับจากการรู้จักความจริงในคัมภีร์ไบเบิล. ข้อเท็จจริงที่ว่าคุณได้ตอบรับข่าวดีนับเป็นหลักฐานถึงพระพรของพระเจ้า. พระเยซูทรงระบุอย่างนั้นเมื่อพระองค์อธิษฐานถึงพระบิดาด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้: “โอพระบิดา, พระองค์เป็นเจ้าของฟ้าและแผ่นดิน ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ เพราะว่าพระองค์ได้ทรงซ่อนสิ่งเหล่านี้ไว้จากผู้มีปัญญาและผู้ฉลาด, แต่ได้สำแดงให้ลูกอ่อนรู้.” (มัดธาย 11:25) ชาวประมงและคนเก็บภาษีเข้าใจความหมายแห่งคำสอนของพระเยซู ในขณะที่พวกหัวหน้าศาสนาที่มีการศึกษาสูงไม่เข้าใจ. พระเยซูตรัสต่อไปอีกว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้, เว้นไว้พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.” (โยฮัน 6:44) หากคุณได้มารู้จักคัมภีร์ไบเบิลรวมทั้งเชื่อและปฏิบัติตามคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล นั่นเป็นหลักฐานว่าพระยะโฮวาได้ทรงชักนำคุณ. นับว่ามีเหตุผลที่จะยินดี.
12. คัมภีร์ไบเบิลให้ความหยั่งเห็นเข้าใจเช่นไรบ้าง?
12 พระคำของพระเจ้าบรรจุความจริงที่ปลดปล่อยให้เป็นอิสระและให้ความหยั่งเห็นเข้าใจ. ผู้ที่ดำเนินชีวิตประสานกับความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลหลุดพ้นจากการถือโชคลาง, คำสอนเท็จ, และความเขลาซึ่งครอบงำชีวิตของหลายล้านคน. ตัวอย่างเช่น การทราบความจริงเรื่องจิตวิญญาณช่วยปลดปล่อยเราจากความกลัวที่ว่าคนตายสามารถทำอันตรายเราหรือความกลัวว่าผู้ที่เรารักซึ่งตายไปจะประสบความทุกข์ทรมาน. (ยะเอศเคล 18:4) การทราบความจริงเกี่ยวกับทูตสวรรค์ชั่วช่วยเราให้หลีกเลี่ยงภัยอันตรายของลัทธิภูตผีปิศาจ. คำสอนเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายให้การปลอบโยนแก่ผู้ที่สูญเสียคนที่เขารักเนื่องด้วยความตาย. (โยฮัน 11:25) คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เราเห็นว่าเราอยู่ ณ จุดไหนในกระแสเวลา และให้ความเชื่อมั่นแก่เราในคำสัญญาของพระเจ้าสำหรับอนาคต. คำพยากรณ์เหล่านี้ยังช่วยเสริมความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปให้มั่นคงด้วย.
13. การเอาใจใส่พระคำของพระเจ้าให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร?
13 หลักการของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิลสอนเราให้ดำเนินชีวิตในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ. ยกตัวอย่าง เราเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงกิจปฏิบัติที่ทำให้ร่างกายเราเป็นมลทิน เช่น การใช้ยาสูบและยาเสพย์ติดอื่น ๆ. เราละเว้นจากการใช้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ. (2 โกรินโธ 7:1) การเอาใจใส่กฎหมายด้านศีลธรรมของพระเจ้าช่วยป้องกันเราไว้จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. (1 โกรินโธ 6:18) ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเจ้าที่ว่าอย่ารักเงิน เราจึงไม่ได้ทำลายสันติสุขแห่งจิตใจ เหมือนกับหลาย ๆ คน ขณะที่มุ่งแสวงหาความมั่งคั่ง. (1 ติโมเธียว 6:10) คุณได้รับประโยชน์อย่างไรบ้างจากการใช้พระคำของพระเจ้าในชีวิตของคุณ?
14. พระวิญญาณบริสุทธิ์มีพลังโน้มนำเช่นไรต่อชีวิตเรา?
14 หากเราดำเนินชีวิตประสานกับพระคำของพระเจ้า เราได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. เราปลูกฝังบุคลิกภาพแบบพระคริสต์ ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะเด่น ๆ อย่างเช่นความเมตตาและความสงสาร. (เอเฟโซ 4:24, 32) พระวิญญาณของพระเจ้ายังก่อผลในตัวเราด้วย กล่าวคือความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, และการรู้จักบังคับตน. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) คุณลักษณะเหล่านี้ส่งเสริมความสุขและสัมพันธภาพที่เปี่ยมความหมายกับผู้อื่น รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวด้วย. เราได้รับความเข้มแข็งภายในซึ่งช่วยเราเผชิญความยากลำบากด้วยความกล้าหาญ. คุณสังเกตไหมถึงวิธีที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ก่อผลทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น?
15. เมื่อเราดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เราได้รับประโยชน์อย่างไร?
15 เมื่อเราดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา เราเสริมสร้างสายสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ให้แน่นแฟ้น. เราเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่าพระองค์ทรงเข้าใจและรักเรา. เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าพระองค์ทรงค้ำจุนเราในยามลำบาก. (บทเพลงสรรเสริญ 18:18) เราทราบดีว่าพระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของเราจริง ๆ. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) เราจึงไว้วางใจการชี้นำจากพระองค์ เชื่อมั่นว่าการชี้นำดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อเรา. และเรามีความหวังอันยอดเยี่ยมว่าเมื่อถึงเวลาอันควรพระเจ้าจะช่วยผู้ซื่อสัตย์ให้บรรลุความสมบูรณ์ และประทานของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์แก่พวกเขา. (โรม 6:23) สาวกยาโกโบเขียนไว้ว่า “จงเข้ามาใกล้พระเจ้า, และพระองค์จะสถิตอยู่ใกล้ท่าน.” (ยาโกโบ 4:8) คุณรู้สึกไหมว่าสัมพันธภาพของคุณกับพระยะโฮวาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อคุณเข้าใกล้พระองค์?
ทรัพย์ที่ไม่มีอะไรเทียบได้
16. คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกทำการเปลี่ยนแปลงเช่นไร?
16 เปาโลเตือนคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณในศตวรรษแรกให้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งบางคนในพวกเขาเคยเป็นคนผิดประเวณี, คนเล่นชู้, คนรักร่วมเพศ, ขโมย, คนโลภ, นักเลงสุรา, คนปากร้าย, และคนกรรโชก. (1 โกรินโธ 6:9-11) ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างมาก; พวกเขาได้รับการ ‘ชำระให้สะอาด.’ ลองนึกดูว่าชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไรหากปราศจากความจริงที่ทำให้เป็นอิสระซึ่งคุณได้เรียนจากคัมภีร์ไบเบิล. แน่นอน ความจริงเป็นทรัพย์ที่ไม่มีอะไรจะเทียบได้. เรามีความสุขสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงสื่อความกับเรา!
17. พยานพระยะโฮวาได้รับการเลี้ยงดูฝ่ายวิญญาณ ณ การประชุมคริสเตียนอย่างไร?
17 นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงพระพรที่เราได้รับในสังคมพี่น้องหลากหลายเชื้อชาติ! “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดอาหารฝ่ายวิญญาณให้ตามเวลาที่สมควร รวมทั้งคัมภีร์ไบเบิล, วารสาร, และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ในภาษาต่าง ๆ มากมาย. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ณ การประชุมประชาคมในปี 2000 พยานพระยะโฮวาในหลายดินแดนได้พิจารณาจุดเด่นจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูแปดพระธรรม. พวกเขาได้คิดรำพึงเรื่องราวชีวิตของหลายคนในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งลงในวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! พวกเขาได้พิจารณาหนังสือบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็น ประมาณหนึ่งในสี่ส่วน และหนังสือจงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! เกือบทั้งเล่ม. นอกจากบทความศึกษา 52 เรื่องแล้ว พวกเขาก็ยังได้พิจารณาบทความรองอีก 36 เรื่องในวารสารหอสังเกตการณ์. นอกจากนี้ ไพร่พลของพระยะโฮวายังได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยพระราชกิจของเรา 12 ฉบับและคำบรรยายสาธารณะในแต่ละสัปดาห์ซึ่งมีหัวเรื่องหลากหลายจากคัมภีร์ไบเบิล. ช่างมีความรู้ฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์สักเพียงไร!
18. เราได้รับการช่วยเหลืออย่างไรบ้างในประชาคมคริสเตียน?
18 ตลอดทั่วโลก ประชาคมต่าง ๆ กว่า 91,000 ประชาคมให้การสนับสนุนและการหนุนกำลังใจด้วยการประชุมและการคบหาสมาคม. นอกจากนี้ เรายังได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนคริสเตียนที่อาวุโสซึ่งเต็มใจช่วยเราฝ่ายวิญญาณ. (เอเฟโซ 4:11-13) ถูกแล้ว เราได้รับประโยชน์ใหญ่หลวงจากการรับเอาความรู้เกี่ยวกับความจริง. นับเป็นความยินดีที่ได้รู้จักและรับใช้พระยะโฮวา. ถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญช่างเป็นความจริงสักเพียงไร ดังที่ท่านเขียนไว้ว่า “ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก”!—บทเพลงสรรเสริญ 144:15.
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาทรงสื่อความกับใครในยุคก่อนคริสเตียน?
• แสงสว่างฝ่ายวิญญาณจ้าขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรในศตวรรษแรก? ในสมัยปัจจุบัน?
• พระพรอะไรบ้างที่เป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตประสานกับความรู้ของพระยะโฮวา?
• เหตุใดเราจึงชื่นชมยินดีในความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า?
[ภาพหน้า 8], 9
พระยะโฮวาทรงแจ้งพระทัยประสงค์ของพระองค์แก่โมเซ, โนฮา, และอับราฮาม
[ภาพหน้า 9]
ในสมัยของเรา พระยะโฮวาได้ฉายความสว่างลงบนพระคำของพระองค์
[ภาพหน้า 10]
ขอให้คิดถึงพระพร ที่เราได้รับในสังคมพี่น้องหลากหลายเชื้อชาติ!