อย่ายอมให้ความสงสัยทำลายความเชื่อของคุณ
วันหนึ่งคุณคิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี. วันต่อมาคุณรู้สึกไม่สบาย. โดยกะทันหันคุณไม่มีกำลังหรือความกระปรี้กระเปร่า. คุณปวดศีรษะและรู้สึกเจ็บปวดไปทั้งตัว. เกิดอะไรขึ้น? เชื้อโรคที่เป็นอันตรายได้ทำลายระบบป้องกันของร่างกายคุณและได้จู่โจมอวัยวะสำคัญ. หากปล่อยไว้โดยไม่มีการรักษา จุลินทรีย์ที่บุกรุกเหล่านี้อาจทำลายสุขภาพของคุณอย่างถาวร—ถึงกับทำให้คุณเสียชีวิตด้วยซ้ำ.
แน่นอน ถ้าคุณสุขภาพไม่ดีเมื่อติดเชื้อโรค คุณก็ยิ่งเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น. ตัวอย่างเช่น หากร่างกายคุณอ่อนแอลงเนื่องจากการขาดสารอาหาร ความต้านทานของคุณ “กลับต่ำลงจนกระทั่งการติดเชื้อเล็กน้อยก็อาจทำให้ถึงตายได้” ปีเตอร์ วินเกต นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ได้กล่าวไว้เช่นนั้น.
หากเป็นอย่างนั้น ใครหรือจะอยากมีชีวิตอยู่ในสภาพที่อด ๆ อยาก ๆ? อาจเป็นได้ทีเดียวที่คุณคงจะทำอะไรก็ตามเท่าที่ทำได้เพื่อรับประทานอาหารที่เหมาะสมและรักษาสุขภาพดีไว้. คุณคงจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ด้วยเพื่อจะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย. แต่คุณใช้ความระมัดระวังอย่างเดียวกันไหมเมื่อมาถึงเรื่องการรักษาความ “เข้มแข็งในความเชื่อ” อยู่ต่อไป? (ติโต 2:2, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น คุณตื่นตัวต่ออันตรายที่เกิดจากความสงสัยซึ่งแฝงอยู่นั้นไหม? สิ่งเหล่านี้อาจจู่โจมจิตใจและหัวใจของคุณอย่างง่ายดายจริง ๆ และทำลายความเชื่อและสัมพันธภาพของคุณกับพระยะโฮวา. บางคนดูเหมือนจะไม่คำนึงถึงอันตรายนี้. พวกเขาปล่อยตัวให้กลายเป็นเหยื่อของความสงสัยอย่างง่ายดายโดยทำให้ตัวเองอดอยากทางฝ่ายวิญญาณ. เป็นไปได้ไหมที่คุณอาจเป็นเช่นนั้น?
ความสงสัย—ก่อผลเสียหายเสมอไปไหม?
แน่นอน ใช่ว่าความสงสัยทุกอย่างก่อผลเสียหาย? บางครั้ง คุณต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนจะเชื่ออะไรบางอย่างจนกว่าคุณแน่ใจในข้อเท็จจริง. การชักชวนทางศาสนาที่บอกว่า คุณควรเพียงแต่เชื่อก็พอและไม่ควรสงสัยนั้นนับว่าเป็นอันตรายและหลอกลวง. จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ความรัก “เชื่อทุกสิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) แน่นอน คริสเตียนที่มีความรักพร้อมจะเชื่อคนเหล่านั้นซึ่งเท่าที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่าไว้ใจได้. แต่พระคำของพระเจ้าเตือนเช่นกันว่าให้ระวัง ‘การเชื่อคำบอกเล่าทุกคำ.’ (สุภาษิต 14:15) บางครั้ง ประวัติในอดีตของคนเราทำให้มีเหตุผลอันควรที่จะสงสัย. คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “แม้ [นักพูดที่หลอกลวง] จะพูดคำไพเราะอย่าเชื่อเขาเลย.”—สุภาษิต 26:24, 25.
อัครสาวกโยฮันยังเตือนคริสเตียนให้ระวังการเชื่อโดยไม่สงสัยด้วย. ท่านเขียนว่า “อย่าเชื่อทุกถ้อยคำที่กล่าวโดยการดลใจ.” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น “จงตรวจดูว่าถ้อยคำเหล่านั้นมาจากพระเจ้าหรือไม่.” (1 โยฮัน 4:1, ล.ม.) “ถ้อยคำ” คำสอนหรือความคิดเห็น อาจดูเหมือนว่ามาจากพระเจ้า. แต่นั่นมาจากพระองค์จริง ๆ ไหม? การแสดงความสงสัยบางอย่าง หรือยับยั้งความเชื่อไว้ก่อน อาจเป็นการป้องกันอย่างแท้จริง เพราะดังที่อัครสาวกโยฮันกล่าวนั้น “ผู้ล่อลวงหลายคนได้แพร่หลายไปในโลกแล้ว.”—2 โยฮัน 7.
ความสงสัยที่ไม่มีมูลความจริง
ถูกแล้ว บ่อยครั้งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างซื่อสัตย์และถ่อมใจเพื่อจะพิสูจน์ความจริง. อย่างไรก็ดี การทำเช่นนี้ไม่เหมือนกับการปล่อยให้ความสงสัยที่ไม่มีมูลความจริงและยังความเสียหายเกิดขึ้นในจิตใจและหัวใจของเรา—ความสงสัยที่อาจทำลายความเชื่อและสัมพันธภาพของเราที่ได้รับการสร้างขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว. ความสงสัยเช่นนี้ได้รับการจำกัดความว่าเป็นความไม่แน่ใจเกี่ยวกับความเชื่อหรือความคิดเห็นที่มักมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ. คุณจำได้ไหมว่าซาตานได้เพาะเชื้อแห่งความสงสัยเกี่ยวกับพระยะโฮวาขึ้นในจิตใจของฮาวาโดยวิธีใด? มันถามว่า “จริงหรือที่พระเจ้าตรัสห้ามว่า, ‘เจ้าอย่ากินผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้’?” (เยเนซิศ 3:1) แน่นอน ความไม่แน่ใจซึ่งคำถามที่ฟังดูไม่มีพิษมีภัยนี้ได้ก่อให้เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของเธอ. นั่นเป็นวิธีการที่ซาตานมักจะใช้. เหมือนกับคนที่เขียนบัตรสนเท่ห์ มันช่ำชองในการใช้คำพูดเสียดสี, คำพูดที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง, และคำโกหก. ซาตานได้ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีงามซึ่งไว้ใจได้มานับไม่ถ้วน โดยความสงสัยที่แฝงอยู่ซึ่งถูกเพาะขึ้นโดยวิธีนั้น.—ฆะลาเตีย 5:7-9.
สาวกยาโกโบเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลกระทบที่ยังความเสียหายของความสงสัยชนิดนี้. ท่านเขียนเกี่ยวกับสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมที่เรามีในการเข้าเฝ้าพระเจ้าอย่างสะดวกใจเพื่อได้รับความช่วยเหลือในคราวที่มีการทดลอง. แต่เมื่อคุณอธิษฐานถึงพระเจ้า ยาโกโบเตือนว่า “จงให้ผู้นั้นขอด้วยใจเชื่อ. อย่าให้มีใจสงสัยเลย.” ความสงสัยในสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าทำให้เรา “เป็นเหมือนคลื่นแห่งทะเลซึ่งถูกลมพัดซัดไปซัดมา.” เรากลายเป็นเหมือน “คนสองใจไม่ยั่งยืนในบรรดาทางทั้งหลายที่ตนประพฤตินั้น.” (ยาโกโบ 1:6, 8) เราจะเกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับความเชื่อซึ่งทำให้เราเป็นคนโลเล. ครั้นแล้ว ดังที่ได้เกิดขึ้นกับฮาวา เราจะกลายเป็นคนเปราะบางต่อคำสอนและปรัชญาต่าง ๆ ซึ่งมาจากซาตาน
การรักษาไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีทางฝ่ายวิญญาณ
ถ้าเช่นนั้น เราจะป้องกันตัวไว้จากความสงสัยที่ก่อผลเสียหายได้อย่างไร? คำตอบง่ายเหลือเกิน: โดยปฏิเสธการโฆษณาชวนเชื่อของซาตานอย่างเด็ดขาดและรับประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมต่าง ๆ ของพระเจ้าที่ทำให้เรา “มั่นคงในความเชื่อ.”—1 เปโตร 5:8-10.
สิ่งที่จำเป็นอย่างแท้จริงคือการบำรุงเลี้ยงตัวเองทางฝ่ายวิญญาณอย่างดี. วินเกต นักเขียนที่มีการกล่าวถึงในตอนต้นอธิบายว่า “แม้แต่เมื่อร่างกายพักผ่อนอยู่ ก็ยังจำเป็นต้องมีการจัดส่งพลังงานให้อย่างต่อเนื่องสำหรับกระบวนการทางเคมี และสำหรับการทำงานของอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย และส่วนประกอบของเนื้อเยื่อมากมายจำเป็นต้องมีการทดแทนอยู่เรื่อย ๆ.” สุขภาพฝ่ายวิญญาณของเราก็เป็นเช่นเดียวกัน. ถ้าไม่มีการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอแล้ว ความเชื่อของเราก็จะเหมือนกับร่างกายที่ขาดอาหาร คือค่อย ๆ ได้รับความเสียหายและจะตายในที่สุด. พระเยซูคริสต์ทรงย้ำเรื่องนี้เมื่อพระองค์ตรัสว่า “มนุษย์จะเลี้ยงชีพด้วยอาหารแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ด้วยคำตรัสทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา.”—มัดธาย 4:4, ล.ม.
ขอให้คิดถึงเรื่องนี้. เราได้สร้างความเชื่อที่มั่นคงในตอนแรกโดยวิธีใด? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ความเชื่อเกิดจากสิ่งที่ได้ยิน.” (โรม 10:17, ล.ม.) ท่านหมายความว่า ทีแรกเราสร้างความเชื่อและความมั่นใจของเราในพระยะโฮวา, คำสัญญา, และองค์การของพระองค์โดยการบำรุงเลี้ยงตัวด้วยพระคำของพระเจ้า. แน่นอน เรามิใช่แค่เชื่อทุกสิ่งที่เราได้ยินโดยไม่พินิจพิเคราะห์. เราทำอย่างที่ผู้คนซึ่งอยู่ในเมืองเบรอยะได้ทำนั้น. เรา “ตรวจค้นดูพระคัมภีร์อย่างรอบคอบทุก ๆ วัน เพื่อดูว่าข้อความนั้นจะจริงดังกล่าวหรือไม่.” (กิจการ 17:11, ล.ม.) เราได้ “พิสูจน์แก่ตัวเองในเรื่องพระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า” และตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเรื่องที่เราได้ยินนั้นเป็นความจริง. (โรม 12:2, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 5:21) ตั้งแต่นั้นมา ความเชื่อของเราดูเหมือนจะได้รับการเสริมให้เข้มแข็งขึ้นขณะที่เราเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ว่า พระคำของพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์ไม่มีวันล้มเหลวเลย.—ยะโฮซูอะ 23:14; ยะซายา 55:10, 11.
หลีกเลี่ยงความอดอยากทางฝ่ายวิญญาณ
ตอนนี้ข้อท้าทายคือ การรักษาความเชื่อของเราให้คงอยู่ต่อไปและหลีกเลี่ยงความไม่แน่ใจใด ๆ เกี่ยวกับความเชื่อซึ่งอาจทำให้ความมั่นใจที่เรามีในพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์นั้นลดน้อยลง. เพื่อจะทำเช่นนี้เราต้องตรวจค้นดูพระคัมภีร์ทุก ๆ วันไม่ขาด. อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “ภายหลังบางคน [ผู้ซึ่งทีแรกอาจดูเหมือนว่ามีความเชื่อที่เข้มแข็ง] จะถอยห่างจากความเชื่อ โดยใส่ใจกับถ้อยคำโดยการดลใจซึ่งทำให้หลงผิดและคำสอนของผีปิศาจ.” (1 ติโมเธียว 4:1, ล.ม.) ถ้อยคำและคำสอนซึ่งทำให้หลงผิดดังกล่าวสร้างความสงสัยขึ้นในจิตใจของบางคนและทำให้เขาเหินห่างจากพระเจ้า. เราจะป้องกันตัวอย่างไร? ก็โดยรับการ “บำรุงเลี้ยงด้วยถ้อยคำแห่งความเชื่อและด้วยคำสอนอันดีที่ [เรา] ได้ประพฤติตามอย่างใกล้ชิด” นั้นต่อ ๆ ไป.—1 ติโมเธียว 4:6, ล.ม.
แต่น่าเศร้า บางคนในทุกวันนี้เลือกที่จะไม่รับการ “บำรุงเลี้ยงด้วยถ้อยคำแห่งความเชื่อ”—ทั้ง ๆ ที่การบำรุงเลี้ยงดังกล่าวสามารถหารับได้โดยไม่ต้องเสียค่า. ดังที่ผู้เขียนพระธรรมสุภาษิตคนหนึ่งได้บ่งชี้นั้น เป็นไปได้ที่จะอยู่ในที่ที่มีอาหารฝ่ายวิญญาณมากมาย อยู่ในงานเลี้ยงฝ่ายวิญญาณ แต่ก็ยังคงไม่ได้รับประทานและย่อยอาหารนั้นอย่างแท้จริง.—สุภาษิต 19:24; 26:15.
เรื่องนี้เป็นอันตราย. วินเกตกล่าวว่า “ทันทีที่ร่างกายเริ่มเผาผลาญโปรตีนของตัวเอง สุขภาพก็เริ่มได้รับความเสียหาย.” เมื่อคุณอดอาหาร ร่างกายของคุณเริ่มใช้เชื้อเพลิงที่เก็บสำรองไว้ทั่วร่างกาย. เมื่อแหล่งพลังงานเหล่านี้ถูกใช้จนหมดเกลี้ยง ร่างกายก็เริ่มเผาผลาญโปรตีนซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ. อวัยวะที่สำคัญเริ่มหยุดทำงาน. ครั้นแล้วสุขภาพของคุณก็ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว.
นั่นเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในความหมายฝ่ายวิญญาณกับบางคนในประชาคมคริสเตียนยุคแรก. พวกเขาพยายามจะยังชีวิตอยู่ด้วยสิ่งฝ่ายวิญญาณที่เขามีสำรองไว้เท่านั้น. ดูเหมือนว่าเขาละเลยการศึกษาส่วนตัว และกลายเป็นคนอ่อนแอทางฝ่ายวิญญาณ. (เฮ็บราย 5:12) อัครสาวกเปาโลได้อธิบายอันตรายในการทำเช่นนี้เมื่อท่านเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูว่า “จำเป็นที่เราจะเอาใจใส่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ยินแล้วนั้นให้มากกว่าปกติ เพื่อว่าเราจะไม่ลอยห่างไป.” ท่านทราบว่าง่ายสักเพียงไรที่จะลอยไปสู่นิสัยที่ไม่ดีหากเรา “ไม่ใส่ใจความรอดอันสำคัญยิ่งเช่นนั้น.”—เฮ็บราย 2:1, 3, ล.ม.
เป็นที่น่าสนใจ คนที่ได้รับความเสียหายจากภาวะทุโภชนาการใช่ว่าจะต้องดูเหมือนป่วยหรือผอม. คล้ายกัน อาจไม่ปรากฏชัดทันทีว่าใครสักคนได้รับความเสียหายจากความอดอยากทางฝ่ายวิญญาณ. คุณอาจดูมีสภาพที่ดีทางฝ่ายวิญญาณ แม้เมื่อคุณไม่ได้รับการบำรุงเลี้ยงอย่างเหมาะสม—แต่ก็ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น! คุณจะกลายเป็นคนอ่อนแอทางฝ่ายวิญญาณอย่างเลี่ยงไม่พ้น ได้รับผลกระทบง่ายจากความสงสัยที่ไม่มีมูลความจริง และไม่สามารถต่อสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ. (ยูดา 3, ล.ม.) คุณย่อมรู้ขอบเขตอันแท้จริงของการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณส่วนตัวของคุณ ถึงแม้คนอื่นไม่รู้ก็ตาม.
ฉะนั้น จงศึกษาส่วนตัวต่อ ๆ ไป. จงต่อสู้อย่างแข็งขันกับความสงสัย. การมองข้ามสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการติดเชื้อเล็กน้อย ไม่สนใจไยดีต่อความสงสัยที่กวนใจอยู่เรื่อย ๆ อาจเกิดผลเสียหายได้. (2 โกรินโธ 11:3) ‘เรามีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายจริง ๆ ไหม? คุณสามารถเชื่อทุกสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ไหม? นี่เป็นองค์การของพระยะโฮวาจริง ๆ ไหม?’ ซาตานชอบที่จะเพาะความสงสัยอย่างนั้นขึ้นในจิตใจของคุณ. อย่าปล่อยให้เจตคติที่ละเลยต่อการบำรุงเลี้ยงทางฝ่ายวิญญาณทำให้คุณเป็นเหยื่อคำสอนที่หลอกลวงของมันอย่างง่ายดาย. (โกโลซาย 2:4-7) จงปฏิบัติตามคำแนะนำที่ให้แก่ติโมเธียวนั้น. จงเป็นนักศึกษาที่ดีในการเรียนรู้ “คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์” เพื่อคุณจะสามารถ ‘ดำเนินต่อไปในสิ่งที่คุณได้เรียนรู้และสิ่งที่คุณถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อ.’—2 ติโมเธียว 3:13-15, ล.ม.
คุณอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อจะทำเช่นนี้. ผู้เขียนที่ได้อ้างถึงในตอนต้นได้พูดต่อไปว่า “เนื่องด้วยการขาดอาหารอย่างรุนแรง อวัยวะเกี่ยวกับการย่อยอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดวิตามินและสารอื่น ๆ ที่จำเป็น จนกระทั่งไม่สามารถรับอาหารธรรมดาได้อีกต่อไปหากมีการเตรียมให้. คนที่อยู่ในภาวะเช่นนี้อาจจำเป็นต้องได้รับอาหารที่ย่อยง่ายอยู่ชั่วระยะหนึ่ง.” จำเป็นต้องให้การเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษเพื่อจะเยียวยาผลกระทบจากการที่ร่างกายขาดอาหาร. คล้ายกัน คนที่ละเลยอย่างสิ้นเชิงในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและการการกระตุ้นหนุนใจอย่างมากเพื่อทำให้ความอยากอาหารฝ่ายวิญญาณของเขากลับคืนมา. หากสภาพการณ์ของคุณเป็นเช่นนั้น จงแสวงหาความช่วยเหลือและยินดียอมรับการช่วยเหลือใด ๆ ที่มีการเสนอให้คุณเพื่อสร้างสุขภาพและกำลังทางฝ่ายวิญญาณของคุณขึ้นมาใหม่.—ยาโกโบ 5:14, 15.
อย่า “หวั่นไหวแคลงใจ”
เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ของอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ บางคนอาจรู้สึกว่าท่านมีพื้นฐานที่สมเหตุผลที่จะสงสัย. อาจดูเหมือนว่ามีเหตุผลทีเดียวที่จะสรุปว่าท่าน ‘ไม่มีหวังว่าจะได้เป็นบิดาของหลายประชาชาติ’—ทั้ง ๆ ที่มีคำสัญญาของพระเจ้าก็ตาม. เพราะเหตุใด? ก็จากแง่คิดของมนุษย์เพียงอย่างเดียวสิ่งต่าง ๆ ดูเหมือนจะไม่มีหวัง. บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ‘ท่านพิจารณาดูสังขารของท่านซึ่งเปรียบเหมือนตายไปแล้วและเมื่อคำนึงถึงครรภ์ของนางซาราห์ซึ่งเป็นหมัน.’ กระนั้น ท่านไม่ยอมอย่างเด็ดขาดที่จะปล่อยให้ความสงสัยเกี่ยวกับพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์งอกรากขึ้นในจิตใจและหัวใจของท่าน. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ความเชื่อของท่านมิได้ลดน้อยลงเลย” และ “มิได้หวั่นไหวแคลงใจ.” อับราฮามยังคง “เชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจกระทำให้สำเร็จได้ตามที่พระองค์ตรัสสัญญาไว้.” (โรม 4:18-21, ฉบับแปลใหม่) ตลอดเวลาหลายปีท่านได้สร้างสัมพันธภาพส่วนตัวกับพระยะโฮวาอย่างแน่นแฟ้นและวางใจได้. ท่านได้ปฏิเสธข้อสงสัยใด ๆ ที่อาจบั่นทอนสัมพันธภาพนั้น.
คุณสามารถทำอย่างเดียวกันได้หากคุณ “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ”—หากคุณบำรุงเลี้ยงตัวอย่างเหมาะสมทางฝ่ายวิญญาณ. (2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.) จงถือว่าความสงสัยเป็นอันตรายร้ายแรง. ซาตานทำในสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามเชื้อโรคทางฝ่ายวิญญาณ. หากคุณละเลยการรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณที่ดีจากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวและการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนแล้ว คุณก็ทำให้ตัวเองถูกโจมตีได้ง่ายในการสู้รบดังกล่าว. จงใช้ประโยชน์จากเสบียงอาหารฝ่ายวิญญาณอันอุดมและเหมาะกับเวลาที่จัดเตรียมไว้โดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) จง “เห็นด้วยกับถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” และ “เข้มแข็งในความเชื่อ” ต่อ ๆ ไป. (1 ติโมเธียว 6:3, ล.ม.; ติโต 2:2, ล.ม.) อย่ายอมให้ความสงสัยทำลายความเชื่อของคุณ.
[ภาพหน้า 21]
คุณบำรุงเลี้ยงตัวเองทางฝ่ายวิญญาณดีเพียงไร?