จงรุดหน้าต่อไปในงานเกี่ยว!
“คนที่หว่านพืชด้วยน้ำตาไหลจะเก็บเกี่ยวผลด้วยความยินดี.”—บทเพลงสรรเสริญ 126:5.
1. เหตุใดจึงต้อง “ขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น, ให้ใช้คนทำการหลายคนไป” ในทุกวันนี้?
หลังจากการประกาศในแคว้นแกลิลี (ฆาลิลาย) เป็นรอบที่สาม พระเยซูคริสต์ตรัสแก่เหล่าสาวกดังนี้: “การเกี่ยวนั้นเป็นการใหญ่นักหนา, แต่คนทำการยังน้อยอยู่.” (มัดธาย 9:37) สถานการณ์เป็นเช่นเดียวกันในยูเดีย (ยูดาย). (ลูกา 10:2) เนื่องจากเป็นอย่างนั้นเมื่อเกือบ 2,000 ปีที่แล้ว สถานการณ์เป็นอย่างไรในทุกวันนี้? ระหว่างปีรับใช้ที่แล้ว พยานพระยะโฮวามากกว่า 6,000,000 คนก้าวรุดหน้าไปในงานเกี่ยวโดยนัยในท่ามกลางประชากรโลก 6,000,000,000 คน ซึ่งผู้คนมากมาย “อิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” ดังนั้น คำกระตุ้นเตือนของพระเยซูที่ว่าให้ “ขอต่อเจ้าของของการเกี่ยวนั้น, ให้ใช้คนทำการหลายคนไปในการเกี่ยวของพระองค์” จึงเป็นสถานการณ์จริงสำหรับเวลานี้เช่นเดียวกับเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว.—มัดธาย 9:36, 38.
2. อะไรทำให้ผู้คนสนใจพวกเรา?
2 พระยะโฮวาพระเจ้า เจ้าของงานเกี่ยว ทรงตอบคำร้องขอให้ส่งคนงานออกไปมากขึ้น. และช่างเป็นความยินดีสักเพียงไรที่ได้ร่วมในงานเกี่ยวนี้ที่พระเจ้าทรงชี้นำ! แม้ว่าเรามีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับชาติทั้งหลาย แต่การมีส่วนร่วมด้วยใจแรงกล้าในกิจกรรมประกาศเรื่องราชอาณาจักรและการช่วยคนให้เป็นสาวกทำให้โลกสนใจเรา. ในหลายประเทศ เราถูกเอ่ยถึงในสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง. เสียงกระดิ่งประตูในละครโทรทัศน์อาจทำให้ใครบางคนพูดว่าพยานพระยะโฮวากำลังมาเยี่ยม. ถูกแล้ว กิจกรรมคริสเตียนของเราในฐานะคนงานเกี่ยวโดยนัยเป็นที่รู้จักกันดีในศตวรรษที่ 21 นี้.
3. (ก) เราทราบอย่างไรว่าโลกสังเกตกิจกรรมประกาศเรื่องราชอาณาจักรในศตวรรษแรก? (ข) เหตุใดเรากล่าวได้ว่าเหล่าทูตสวรรค์สนับสนุนงานรับใช้ของเรา?
3 โลกสังเกตกิจกรรมประกาศเรื่องราชอาณาจักรในศตวรรษแรกและข่มเหงผู้ประกาศข่าวดีด้วย. ด้วยเหตุนั้น อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “สำหรับข้าพเจ้าแล้วดูเหมือนว่าพระเจ้าได้ทรงจัดพวกเราอัครสาวกไว้สุดท้ายในการแสดง เป็นคนที่ถูกกำหนดให้ตาย เพราะเรา [อัครสาวก] ได้ตกเป็นเป้าสายตาของโลก และของพวกทูตสวรรค์ และของมนุษย์เสมือนอยู่ในโรงมหรสพ.” (1 โกรินโธ 4:9, ล.ม.) คล้ายกัน ความบากบั่นของเราในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรแม้เผชิญการข่มเหงทำให้โลกสังเกตสนใจเราและเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเหล่าทูตสวรรค์. วิวรณ์ 14:6 อ่านดังนี้: “ข้าพเจ้า [อัครสาวกโยฮัน] ได้เห็นทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งบินไปตลอดทั่วท้องฟ้า, นำกิตติคุณอันเจริญเป็นนิตย์ไปประกาศแก่ชนชาวโลกทั้งปวง, แก่ทุกประเทศ, ทุกชาติ, ทุกภาษา, และทุกคณะ.” ถูกแล้ว เราได้รับการสนับสนุนจากทูตสวรรค์ในงานรับใช้—งานเกี่ยวของเรา!—เฮ็บราย 1:13, 14.
“เป้าแห่งความเกลียดชัง”
4, 5. (ก) พระเยซูทรงให้คำเตือนอะไรแก่เหล่าสาวก? (ข) เหตุใดผู้รับใช้ของพระเจ้าในปัจจุบันจึงตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง”?
4 เมื่อเหล่าอัครสาวกของพระเยซูถูกส่งออกไปในฐานะคนงานเกี่ยว พวกเขาปฏิบัติตามโอวาทของพระองค์ที่ให้ “ระแวดระวังเหมือนงูและกระนั้นไม่เป็นพิษเป็นภัยเหมือนนกพิราบ.” พระเยซูตรัสเพิ่มเติมว่า “จงระวังมนุษย์; เพราะเขาจะส่งท่านขึ้นศาล และเขาจะเฆี่ยนท่านในธรรมศาลาของเขา. ท่านจะถึงกับถูกลากตัวไปต่อหน้าเจ้าเมืองและกษัตริย์เพราะเรา เพื่อให้คำพยานแก่พวกเขาและนานาชาติ. . . . และเจ้าทั้งหลายจะตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังจากผู้คนทั้งปวงเพราะนามของเรา; แต่ผู้ที่ได้อดทนจนถึงที่สุดผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.”—มัดธาย 10:16-22, ล.ม.
5 เราตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” ในทุกวันนี้เพราะ “มนุษย์โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย” ซึ่งก็คือซาตานพญามาร ศัตรูตัวสำคัญของพระเจ้าและไพร่พลของพระองค์. (1 โยฮัน 5:19) พวกศัตรูของเราสังเกตเห็นความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณของเรา แต่ไม่ยอมรับว่านั่นเป็นเพราะพระยะโฮวา. ผู้ต่อต้านเห็นใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุขของเราขณะที่เรามีส่วนร่วมอย่างยินดีในงานเกี่ยว. พวกเขาประหลาดใจในเอกภาพของเรา! ที่จริง พวกเขาอาจจำใจต้องยอมรับเมื่อพวกเขาเดินทางไปอีกประเทศหนึ่งและพบว่าพยานพระยะโฮวาที่นั่นทำงานเหมือนกันเลยทีเดียวกับที่เขาเห็นในประเทศของเขา. แน่นอน เราทราบว่าเมื่อถึงเวลา พระยะโฮวาผู้สนับสนุนเราและทำให้เรามีเอกภาพจะเป็นที่รู้จักแม้แต่ในหมู่ศัตรูของเรา.—ยะเอศเคล 38:10-12, 23.
6. เรามีคำรับรองอะไรขณะที่เราเข้าร่วมในงานเกี่ยว แต่เกิดคำถามอะไรขึ้น?
6 เจ้าของการเกี่ยวได้ประทาน “อำนาจทั้งสิ้น . . . ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก” แก่พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์. (มัดธาย 28:18, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงใช้พระเยซูให้ชี้นำงานเกี่ยวโดยทางเหล่าทูตสวรรค์และ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งได้รับการเจิมบนแผ่นดินโลกนี้. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.; วิวรณ์ 14:6, 7) แต่เราจะรับมือการต่อต้านจากศัตรูและยังสามารถรักษาความยินดีขณะที่เรารุดหน้าต่อไปในงานเกี่ยวได้โดยวิธีใด?
7. เราควรพยายามรักษาน้ำใจเช่นไรเมื่อถูกต่อต้านหรือถูกข่มเหง?
7 เมื่อเราเผชิญการต่อต้านหรือแม้แต่การข่มเหงซึ่งหน้า ขอให้เราแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อที่เราจะสามารถรักษาน้ำใจแบบเดียวกับเปาโล. ท่านเขียนไว้ว่า “เมื่อถูกด่าถูกแช่งเราก็อวยพร เมื่อถูกเคี่ยวเข็ญเราก็ทนเอา เมื่อถูกว่าด้วยคำหยาบคาย, เราก็ตอบด้วยคำอ่อนหวาน.” (1 โกรินโธ 4:12, 13) บางครั้ง น้ำใจแบบนี้ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวทำให้เจตคติของผู้ที่ต่อต้านเราเปลี่ยนไป.
8. คุณได้รับคำรับรองอะไรจากคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 10:28?
8 แม้แต่การขู่ด้วยความตายก็ไม่ทำให้ใจแรงกล้าของเราในฐานะคนงานเกี่ยวลดน้อยลงไป. เราประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรโดยปราศจากความกลัวอย่างเปิดเผยเท่าที่เป็นไปได้. และเราได้รับคำรับรองที่ให้กำลังใจจากคำตรัสของพระเยซู ที่ว่า “อย่ากลัวคนเหล่านั้นที่ฆ่าร่างกายแต่ไม่สามารถฆ่าจิตวิญญาณ; แต่จงกลัวท่านผู้นั้นที่สามารถทำลายทั้งจิตวิญญาณและร่างกายได้ในเกเฮนนา.” (มัดธาย 10:28, ล.ม.) เราทราบว่าพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต. พระองค์ประทานรางวัลแก่ผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระองค์และรุดหน้าต่อไปอย่างซื่อสัตย์ในงานเกี่ยว.
ข่าวสารที่ช่วยชีวิต
9. บางคนตอบรับถ้อยคำของยะเอศเคลอย่างไร และเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นในทุกวันนี้อย่างไร?
9 เมื่อผู้พยากรณ์ยะเอศเคลประกาศข่าวสารของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญแก่ “ชาวประเทศกบฏ”—อาณาจักรยิศราเอลและยูดา—มีบางคนยินดีรับฟังข่าวสารที่ท่านประกาศ. (ยะเอศเคล 2:3) พระยะโฮวาตรัสว่า “นี่แน่ะท่านเป็นแก่เขาดุจคำเพลงเกี้ยวแห่งคนเสียงดี, และดุจผู้ใดดีดเครื่องเพลงให้ดีเพราะ.” (ยะเอศเคล 33:32) แม้ว่าพวกเขาชอบถ้อยคำของยะเอศเคล แต่พวกเขาไม่ได้ลงมือทำตาม. เป็นเช่นไรในทุกวันนี้? เมื่อชนที่เหลือผู้ถูกเจิมและสหายของพวกเขาประกาศข่าวสารของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญ บางคนชอบฟังเรื่องพระพรที่ราชอาณาจักรจะนำมาให้ แต่พวกเขาไม่ได้ตอบรับด้วยความหยั่งรู้ค่า, เข้ามาเป็นสาวก, และร่วมในงานเกี่ยว.
10, 11. ในช่วงห้าสิบปีแรกแห่งศตวรรษที่ 20 มีการทำอะไรเพื่อประกาศข่าวสารที่ช่วยชีวิตแก่สาธารณชน และผลเป็นเช่นไร?
10 ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนตอบรับงานเกี่ยวและเข้าร่วมในการประกาศข่าวสารของพระเจ้า. ยกตัวอย่าง ระหว่างการประชุมภาคตั้งแต่ปี 1922 ถึง 1928 มีการประกาศชัดเจนในเรื่องข่าวสารการพิพากษาต่อระบบชั่วของซาตาน. สถานีวิทยุหลายแห่งออกอากาศคำกล่าวโทษที่กล่าว ณ การประชุมภาคเหล่านั้น. หลังจากนั้น ไพร่พลของพระเจ้าจ่ายแจกสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับข่าวการพิพากษาดังกล่าวหลายล้านเล่ม.
11 ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 กิจการงานให้คำพยานอีกแบบหนึ่งก็ได้เริ่มขึ้น—การเดินขบวนแจ้งข่าว. ทีแรก ไพร่พลของพระยะโฮวาแขวนแผ่นป้ายประกบหน้าหลังซึ่งแจ้งหัวเรื่องคำบรรยายสาธารณะ. ต่อมา พวกเขาแขวนแผ่นป้ายที่เขียนคำขวัญอย่างเช่น “ศาสนาเป็นบ่วงแร้วและกลลวง” และ “จงรับใช้พระเจ้าและพระคริสต์องค์ราชันย์.” เมื่อพวกเขาเดินขบวนผ่านไปตามถนนสายต่าง ๆ ผู้ที่สัญจรไปมาก็ถูกดึงดูดให้สนใจ. พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมเป็นประจำในงานนี้ตามถนนที่คับคั่งไปด้วยผู้คนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ‘กิจกรรมนี้ทำให้พยานพระยะโฮวากลายเป็นจุดสนใจอย่างมากและทำให้พวกเขามีความกล้า.’
12. นอกจากข่าวสารการพิพากษาของพระเจ้าแล้ว เราดึงความสนใจไปที่อะไรในงานรับใช้ของเรา และใครที่ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการประกาศข่าวดีในเวลานี้?
12 ขณะที่เราประกาศข่าวการพิพากษาของพระเจ้า เราจะดึงความสนใจไปที่แง่บวกของข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรด้วย. การที่เราให้คำพยานอย่างกล้าหาญบนเวทีโลกช่วยเราในการเสาะหาคนที่เหมาะสม. (มัดธาย 10:11) สมาชิกกลุ่มสุดท้ายของชนจำพวกผู้ถูกเจิมส่วนใหญ่ตอบรับเสียงร้องเรียกเพื่อให้มาร่วมงานเกี่ยวในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930. ต่อมา ณ การประชุมภาคในปี 1935 ก็มีข่าวอันยอดเยี่ยมออกมาเกี่ยวกับอนาคตที่เปี่ยมด้วยพระพรสำหรับ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น” บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16) พวกเขาเอาใจใส่ข่าวสารการพิพากษาของพระเจ้าและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชนผู้ถูกเจิมในการประกาศข่าวดีที่ช่วยชีวิต.
13, 14. (ก) บทเพลงสรรเสริญ 126:5, 6 สามารถให้กำลังใจเช่นไร? (ข) หากเราหว่านและรดน้ำต่อไปเรื่อย ๆ จะเกิดผลเช่นไร?
13 ถ้อยคำที่บทเพลงสรรเสริญ 126:5, 6 ให้กำลังใจอย่างยิ่งแก่คนงานเกี่ยวของพระเจ้า โดยเฉพาะผู้ที่ถูกข่มเหง: “คนที่หว่านพืชด้วยน้ำตาไหลจะเก็บเกี่ยวผลด้วยความยินดี. ผู้ที่เดินร้องไห้ไปหว่านพืชนั้น, ไม่ต้องสงสัย, คงจะแบกฟ่อนข้าวของตนกลับมาอีกด้วยความยินดี.” คำพูดนี้ของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเกี่ยวกับการหว่านและการเก็บเกี่ยวแสดงถึงความใฝ่พระทัยของพระยะโฮวาและพระพรที่มีเหนือชนที่เหลือที่กลับมาจากการเป็นเชลยในบาบูโลนโบราณ. พวกเขามีความสุขอย่างเหลือล้นที่ได้รับการปลดปล่อย แต่พวกเขาอาจร้องไห้เมื่อถึงตอนที่หว่านเมล็ดลงบนผืนดินอันร้างเปล่าซึ่งไม่ถูกไถพรวนเลยในช่วงเวลา 70 ปีที่พวกเขาเป็นเชลย. อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หว่านและก่อสร้างชื่นใจยินดีกับผลที่ได้รับและอิ่มใจยินดีในผลจากการลงมือลงแรงของตน.
14 เราอาจหลั่งน้ำตาเมื่อตกอยู่ในการทดลองหรือเมื่อเราหรือเพื่อนร่วมความเชื่อทนทุกข์เพื่อเห็นแก่ความชอบธรรม. (1 เปโตร 3:14) ในงานเกี่ยวของเรา ช่วงแรก ๆ เราอาจรู้สึกว่าลำบากเพราะดูเหมือนว่าเราไม่มีอะไรจะอวดได้สำหรับความพยายามของเราในงานรับใช้. แต่หากเราหว่านและรดน้ำต่อไปเรื่อย ๆ พระเจ้าจะทรงทำให้สิ่งต่าง ๆ งอกงามขึ้น และหลายครั้งเกินกว่าที่เราคาดไว้เสียอีก. (1 โกรินโธ 3:6) ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้ชัดเจนจากผลของการจ่ายแจกคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสืออธิบายพระคัมภีร์.
15. จงยกตัวอย่างเกี่ยวกับประโยชน์ของสรรพหนังสือคริสเตียนในงานเกี่ยว.
15 ขอให้พิจารณาตัวอย่างของชายคนหนึ่งที่ชื่อจิม. เมื่อมารดาเขาเสียชีวิต เขาพบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อชีวิต—เกิดขึ้นมาอย่างไร? โดยวิวัฒนาการหรือมีผู้สร้าง? a รวมอยู่กับทรัพย์สินของมารดา. เขาอ่านด้วยความสนใจ. เมื่อได้สนทนากับพยานฯ คนหนึ่งที่เข้ามาคุยกับเขาขณะอยู่ที่ถนน จิมตอบตกลงให้เธอไปเยี่ยมเขา และในที่สุดเขาก็ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. จิมก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างรวดเร็ว, อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา, และรับบัพติสมา. เขาบอกสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้. ผลคือ พี่สาวและพี่ชายได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา และในเวลาต่อมาจิมได้รับสิทธิพิเศษรับใช้ในฐานะอาสาสมัครเต็มเวลาที่เบเธลในกรุงลอนดอน.
ถูกข่มเหงแต่ก็ยังยินดี
16. (ก) เหตุใดงานเกี่ยวจึงประสบผลสำเร็จ? (ข) พระเยซูประทานคำเตือนอะไรเกี่ยวกับผลกระทบของข่าวดี แต่เราเข้าถึงผู้คนด้วยเจตคติเช่นไร?
16 เหตุใดงานเกี่ยวจึงประสบผลสำเร็จเช่นนั้น? เนื่องจากคริสเตียนผู้ถูกเจิมและสหายของพวกเขาเอาใจใส่พระบัญชาของพระเยซู ที่ว่า “ซึ่งเรากล่าวแก่พวกท่านในที่มืด, ท่านจงกล่าวในที่สว่าง และซึ่งท่านได้ยินกะซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาตึก.” (มัดธาย 10:27) อย่างไรก็ตาม เราคาดหมายได้เลยว่าจะประสบความยากลำบาก เพราะพระเยซูทรงเตือนไว้ว่า “พี่ก็จะมอบน้อง, พ่อก็จะมอบลูก, และลูกจะทรยศต่อพ่อแม่ให้ถึงแก่ความตาย.” พระเยซูตรัสอีกว่า “อย่าคิดว่าเรามาเพื่อจะให้เกิดความสงบสุขที่แผ่นดินโลก เรามิได้มาเพื่อจะให้เกิดความสงบสุข, แต่เพื่อจะใช้ดาบ.” (มัดธาย 10:21, 34) พระเยซูมิได้ทรงประสงค์จะทำให้ครอบครัวแตกแยก. แต่บางครั้งข่าวดีก่อให้เกิดผลกระทบอย่างนั้น. เป็นจริงอย่างนั้นด้วยกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในปัจจุบัน. เมื่อเราเยี่ยมครอบครัวต่าง ๆ เราไม่ประสงค์จะทำให้เกิดความแตกแยก. เราปรารถนาให้ทุกคนได้รับข่าวดี. ด้วยเหตุนั้น เราพยายามเข้าถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วยวิธีที่กรุณาและเห็นอกเห็นใจซึ่งทำให้ข่าวสารของเราเป็นที่ดึงดูดใจสำหรับคนที่ “มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์.”—กิจการ 13:48, ล.ม.
17. ผู้ที่เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น ๆ อย่างไร และมีตัวอย่างอะไรในเรื่องนี้?
17 ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรทำให้ผู้ที่เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าโดดเด่นแตกต่างจากผู้อื่น. ยกตัวอย่างเช่น ขอให้สังเกตว่าเพื่อนผู้นมัสการของเราเด่นกว่าคนอื่น ๆ อย่างไรเพราะพวกเขา ‘ถวายของของกายะซาแก่กายะซา และถวายของของพระเจ้าแก่พระเจ้า’ ในยุคแห่งชาติสังคมนิยมในเยอรมนี. (ลูกา 20:25) ไม่เหมือนกับพวกหัวหน้าศาสนาและคริสเตียนในนามทั้งหลายที่สังกัดคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร ผู้รับใช้ของพระยะโฮวายืนหยัดมั่นคง ไม่ยอมละเมิดหลักการในคัมภีร์ไบเบิล. (ยะซายา 2:4; มัดธาย 4:10; โยฮัน 17:16) ศาสตราจารย์คริสติน คิง ผู้ประพันธ์หนังสือรัฐนาซีกับศาสนาใหม่ ให้ข้อสังเกตว่า “มีแต่พยานฯ เท่านั้นที่รัฐบาล [นาซี] ปราบไม่สำเร็จ เพราะแม้พวกเขาถูกฆ่าไปหลายพันคน แต่งานของพวกเขาก็ยังดำเนินต่อไป และเมื่อมาถึงเดือนพฤษภาคม 1945 กิจการของพยานพระยะโฮวาก็ยังดำเนินต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา ขณะที่ชาติสังคมนิยมล่มสลาย.”
18. ไพร่พลของพระยะโฮวาแสดงเจตคติเช่นไรแม้ถูกข่มเหง?
18 ที่นับว่าสำคัญจริง ๆ ก็คือเจตคติที่ไพร่พลของพระยะโฮวาแสดงออกเมื่อพวกเขาถูกข่มเหง. ในขณะที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองอาจประทับใจในความเชื่อของเรา พวกเขารู้สึกประหลาดใจที่เราไม่ผูกใจเจ็บแค้น. ยกตัวอย่าง พยานฯ ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซีแสดงความยินดีและพอใจเมื่อระลึกถึงประสบการณ์ในอดีต. พวกเขาทราบว่าพระยะโฮวาประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่พวกเขา. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) ผู้ถูกเจิมที่อยู่ท่ามกลางพวกเราได้รับคำรับรองว่า ‘นามของพวกเขาจดไว้ในสวรรค์แล้ว.’ (ลูกา 10:20) ความอดทนของพวกเขาก่อให้เกิดความหวังที่ไม่ทำให้ผิดหวัง และคนงานเกี่ยวที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีความหวังที่จะอยู่บนแผ่นดินโลกก็มีความเชื่อมั่นแบบเดียวกัน.—โรม 5:4, 5.
จงบากบั่นในงานเกี่ยว
19. มีการใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพอะไรบ้างในงานรับใช้ของคริสเตียน?
19 พระยะโฮวาจะให้เราทำงานเกี่ยวโดยนัยอีกนานเท่าไรเป็นเรื่องที่ต้องคอยดูกันต่อไป. ในระหว่างนี้ เราควรจำไว้เสมอว่าคนที่เก็บเกี่ยวพืชผลมีวิธีเฉพาะของเขาในการทำงาน. คล้ายกัน เรามั่นใจได้ว่าการที่เราใช้วิธีต่าง ๆ ในการประกาศซึ่งได้มีการทดลองและทดสอบมาแล้วอย่างซื่อสัตย์จะเกิดผลเป็นอย่างดี. เปาโลบอกเพื่อนคริสเตียนดังนี้: “ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายประพฤติตามอย่างข้าพเจ้าประพฤตินั้น.” (1 โกรินโธ 4:16) เมื่อเปาโลพบกับผู้ปกครองประชาคมเอเฟโซที่เมืองมิเลตุส ท่านเตือนพวกเขาให้ระลึกว่าท่านมิได้เหนี่ยวรั้งไว้จากการสอนพวกเขา “ในที่สาธารณะและตามบ้านเรือน.” (กิจการ 20:20, 21, ล.ม.) ติโมเธียว เพื่อนร่วมทางของเปาโล ได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ ที่ท่านอัครสาวกใช้ และด้วยเหตุนั้นจึงสามารถช่วยชาวโกรินโธให้คุ้นเคยกับวิธีการเหล่านั้น. (1 โกรินโธ 4:17) พระเจ้าทรงอวยพรวิธีสอนของเปาโล เช่นเดียวกับที่พระองค์จะอวยพรความบากบั่นของเราในการประกาศข่าวดีต่อสาธารณชนตามบ้าน, การกลับเยี่ยมเยียน, การนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน, และการประกาศในที่ใดก็ตามที่จะพบผู้คนได้.—กิจการ 17:17.
20. พระเยซูทรงชี้อย่างไรว่าการเกี่ยวฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์ใกล้เข้ามาแล้ว และเรื่องนี้ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไรในไม่กี่ปีมานี้?
20 หลังจากให้คำพยานแก่หญิงชาวซะมาเรียคนหนึ่งใกล้ ๆ เมืองซูคาร ในปี ส.ศ. 30 พระเยซูตรัสถึงการเกี่ยวฝ่ายวิญญาณ. พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกดังนี้: “จงลืมตามองดูนาเถิด, เพราะว่าทุ่งนาเหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว. คนเกี่ยวก็กำลังรับค่าจ้างอยู่แล้ว, และกำลังสะสมผลไว้สำหรับชีวิตนิรันดร์, เพื่อทั้งผู้หว่านผู้เกี่ยวจะยินดีด้วยกัน.” (โยฮัน 4:34-36) พระเยซูอาจทรงมองเห็นอยู่แล้วว่าการที่พระองค์พบกับหญิงชาวซะมาเรียเกิดผลเช่นไร เพราะหลายคนได้เชื่อในพระองค์เนื่องด้วยคำพยานของเธอ. (โยฮัน 4:39) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศได้ยกเลิกข้อจำกัดต่อพยานพระยะโฮวาหรือให้การยอมรับพวกเขาทางกฎหมาย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเขตใหม่ ๆ สำหรับการเกี่ยว. ผลคือในเวลานี้กำลังมีการเกี่ยวฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์. ที่จริง ตลอดทั่วโลก เราประสบพระพรอันอุดมขณะที่เราร่วมในงานเกี่ยวฝ่ายวิญญาณด้วยความชื่นชมยินดีต่อ ๆ ไป.
21. เหตุใดเรามีเหตุผลที่จะรุดหน้าต่อ ๆ ไปในฐานะคนงานเกี่ยวที่ชื่นชมยินดี?
21 เมื่อพืชผลสุกและพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้ คนงานต้องลงมืออย่างเร่งด่วน. พวกเขาต้องทุ่มเทแรงกายโดยไม่รอช้า. ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องทำงานอย่างอุตสาหะพากเพียรและด้วยสำนึกถึงความเร่งด่วน เพราะเรากำลังอยู่ใน “เวลาอวสาน.” (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) ถูกแล้ว เราเผชิญกับการทดลองหลายอย่าง แต่เรามีงานเกี่ยวเพื่อรวบรวมผู้นมัสการพระยะโฮวาที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยทำกันมา. ด้วยเหตุนั้น นี่เป็นวันแห่งความชื่นชมยินดี. (ยะซายา 9:3) ดังนั้น ในฐานะคนงานที่ชื่นชมยินดี ให้เรารุดหน้าต่อ ๆ ไปในงานเกี่ยว!
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์และจ่ายแจกโดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เจ้าของงานเกี่ยวทรงตอบอย่างไรสำหรับคำขอให้มีคนงานมากขึ้น?
• แม้ว่าเราตกเป็น “เป้าแห่งความเกลียดชัง” เรารักษาน้ำใจเช่นไร?
• เหตุใดเราจึงชื่นชมยินดีแม้แต่เมื่อถูกข่มเหง?
• เหตุใดเราควรบากบั่นในงานเกี่ยวโดยสำนึกถึงความเร่งด่วน?
[ภาพหน้า 16, 17]
ผู้ที่ร่วมในงานเกี่ยวฝ่ายวิญญาณได้รับการสนับสนุนจากทูตสวรรค์
[ภาพหน้า 18]
การเดินขบวนแจ้งข่าวทำให้หลายคนสนใจข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร
[ภาพหน้า 18]
เราปลูกและรดน้ำ แต่พระเจ้าทรงทำให้งอกงาม