อย่าเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม
“อย่าให้เราเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม เพราะเราจะเก็บเกี่ยวผลในเวลาอันควรถ้าเราไม่เลื่อยล้า.”—ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.
1, 2. (ก) เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีความเพียรอดทนในการรับใช้พระเจ้า? (ข) อับราฮามแสดงความเพียรอดทนอย่างไร และอะไรช่วยท่านให้อดทน?
ในฐานะพยานพระยะโฮวา เรายินดีในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. นอกจากนั้น เราพบความสดชื่นในการรับเอา “แอก” แห่งการเป็นสาวก. (มัดธาย 11:29) อย่างไรก็ตาม การรับใช้พระยะโฮวาด้วยกันกับพระคริสต์ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. อัครสาวกเปาโลแสดงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนเมื่อท่านกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนว่า “ท่านทั้งหลายต้องการความเพียร, เพื่อว่าครั้นท่านกระทำให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จแล้ว, ท่านจะได้รับตามคำทรงสัญญา.” (เฮ็บราย 10:36) จำเป็นต้องมีความเพียรอดทนเพราะการรับใช้พระเจ้าอาจเป็นเรื่องท้าทาย.
2 ชีวิตของอับราฮามให้ข้อพิสูจน์เป็นอย่างดีถึงข้อเท็จจริงนี้. หลายครั้งที่ท่านเผชิญกับการเลือกที่ตัดสินใจได้ยากและสถานการณ์ที่ตึงเครียด. การได้รับพระบัญชาให้ละทิ้งชีวิตที่สะดวกสบายในเมืองอูระเป็นเพียงจุดเริ่มต้น. ไม่นานนัก ท่านเผชิญกับการกันดารอาหาร, ความเป็นปฏิปักษ์จากเพื่อนบ้าน, เหตุการณ์ที่ทำให้ท่านเกือบสูญเสียภรรยา, ความชิงชังจากญาติบางคน, และความป่าเถื่อนของสงคราม. ยังจะมีการทดลองที่หนักกว่านี้อีก. แต่อับราฮามไม่เคยเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม. ข้อนี้นับว่าน่าทึ่งเมื่อคำนึงถึงว่าท่านไม่มีพระคำของพระเจ้าครบชุดเช่นพวกเราในปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยว่าท่านทราบเกี่ยวกับคำพยากรณ์แรก ซึ่งพระเจ้าทรงประกาศไว้ว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) เนื่องจากพงศ์พันธุ์จะมาทางท่าน ความเป็นปฏิปักษ์ของซาตานย่อมพุ่งตรงมาที่อับราฮาม. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ช่วยอับราฮามให้อดทนการทดลองทั้งหลายด้วยความยินดี.
3. (ก) เหตุใดไพร่พลของพระยะโฮวาในปัจจุบันควรคาดหมายว่าจะประสบความทุกข์ลำบาก? (ข) ฆะลาเตีย 6:9 ให้การหนุนใจแก่เราเช่นไร?
3 ไพร่พลของพระยะโฮวาในปัจจุบันควรคาดหมายว่าจะประสบความทุกข์ลำบากด้วย. (1 เปโตร 1:6, 7) ที่จริง วิวรณ์ 12:17 เตือนเราว่าซาตานกำลัง “ประกาศสงคราม” กับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม. เนื่องจากคบหาสมาคมใกล้ชิดกับชนผู้ถูกเจิม “แกะอื่น” ก็ตกเป็นเป้าความโกรธของซาตานด้วยเช่นกัน. (โยฮัน 10:16) นอกจากการต่อต้านที่คริสเตียนอาจพบในงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว พวกเขาอาจพบกับความกดดันที่ก่อความยุ่งยากลำบากในชีวิตส่วนตัวด้วย. เปาโลกระตุ้นเตือนเราดังนี้: “อย่าให้เราเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม เพราะเราจะเก็บเกี่ยวผลในเวลาอันควรถ้าเราไม่เลื่อยล้า.” (ฆะลาเตีย 6:9, ล.ม.) ใช่แล้ว แม้ว่าซาตานตั้งใจทำลายความเชื่อของเรา เราต้องยืนหยัดต่อต้านมัน ตั้งมั่นคงในความเชื่อ. (1 เปโตร 5:8, 9) แนวทางอันซื่อสัตย์ของเราอาจก่อผลเช่นไร? ยาโกโบ 1:2, 3 (ล.ม.) อธิบายว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า จงถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้นเมื่อท่านทั้งหลายประสบการทดลองต่าง ๆ เพราะอย่างที่ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่า คุณภาพของความเชื่อของท่านที่ผ่านการทดสอบแล้วทำให้เกิดความเพียรอดทน.”
การโจมตีซึ่งหน้า
4. ซาตานได้พยายามทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของไพร่พลพระเจ้าโดยใช้การโจมตีซึ่งหน้าอย่างไร?
4 ชีวิตของอับราฮามแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับ “การทดลองต่าง ๆ” ที่คริสเตียนอาจเผชิญในทุกวันนี้. ตัวอย่างเช่น ท่านต้องตอบโต้การโจมตีของผู้รุกรานที่มาจากซีนาร. (เยเนซิศ 14:11-16) ไม่น่าแปลกใจ ซาตานยังคงใช้การโจมตีซึ่งหน้าในรูปของการข่มเหง. นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง หลายสิบประเทศมีคำสั่งห้ามจากรัฐบาลต่องานด้านการศึกษาแบบคริสเตียนของพยานพระยะโฮวา. หนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 2001 รายงานเกี่ยวกับความรุนแรงจากพวกศัตรูที่คริสเตียนในประเทศแองโกลาต้องเพียรอดทน. โดยไว้วางใจพระยะโฮวา พี่น้องของเราในดินแดนเหล่านี้ยืนหยัดไม่ยอมเลิกรา! พวกเขาได้ตอบโต้ด้วยการประกาศอย่างไม่ละลดด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือขืนอำนาจ.—มัดธาย 24:14.
5. หนุ่มสาวคริสเตียนอาจถูกข่มเหงที่โรงเรียนอย่างไร?
5 อย่างไรก็ตาม การข่มเหงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความรุนแรง. ในที่สุด อับราฮามได้รับพระพรให้มีบุตรชายสองคน คือยิศมาเอลและยิศฮาค. เยเนซิศ 21:8-12 บอกเราว่าครั้งหนึ่งยิศมาเอล “เล่น” กับยิศฮาค. ในจดหมายที่มีไปถึงพี่น้องในเมืองฆะลาเตีย เปาโลชี้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นร้ายแรงกว่าการเล่นแบบเด็ก ๆ เพราะท่านพรรณนาว่ายิศมาเอลข่มเหง ยิศฮาค! (ฆะลาเตีย 4:29) จึงอาจเรียกได้อย่างถูกต้องว่าการเยาะเย้ยจากเพื่อนนักเรียนและการกล่าวโจมตีจากผู้ต่อต้านเป็นการข่มเหง. คริสเตียนวัยเยาว์คนหนึ่งชื่อไรอันเล่าถึงความทุกข์ทรมานที่เขาต้องทนรับซึ่งมาจากเพื่อนร่วมชั้น: “ผมรู้สึกว่าเวลา 15 นาทีที่นั่งรถโรงเรียนทั้งขาไปขากลับนานเหมือนกับหลายชั่วโมง เพราะผมถูกเยาะเย้ยถากถาง. พวกเขาเอาคลิปหนีบกระดาษลนไฟแช็กจี้เนื้อตัวผม.” ทำไมจึงทำหยาบคายรุนแรงอย่างนี้? เพราะ “การฝึกอบรมตามระบอบของพระเจ้าที่ผมได้รับทำให้ผมแตกต่างจากวัยรุ่นคนอื่น ๆ ที่โรงเรียน.” อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนจากบิดามารดา ไรอันสามารถอดทนอย่างซื่อสัตย์. เยาวชนทั้งหลาย คุณรู้สึกท้อใจเพราะถูกเพื่อนรุ่นเดียวกันเยาะเย้ยไหม? อย่าเลิกรา! ด้วยการอดทนอย่างซื่อสัตย์ คุณจะพบว่าเป็นจริงดังที่พระเยซูได้ตรัสไว้ว่า “เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหงและนินทาท่านทั้งหลายต่าง ๆ เป็นความเท็จเพราะเรา, ท่านก็เป็นสุข.”—มัดธาย 5:11.
เรื่องกระวนกระวายใจในชีวิตประจำวัน
6. ในปัจจุบัน มีอะไรบ้างที่อาจทำให้สัมพันธภาพกับเพื่อนคริสเตียนตึงเครียดได้?
6 การทดลองส่วนใหญ่ที่เราประสบในทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องกระวนกระวายใจในชีวิตประจำวัน. อับราฮามเองต้องรับมือความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ของท่านกับคนเลี้ยงสัตว์ของโลตหลานชาย. (เยเนซิศ 13:5-7) เช่นเดียวกันในปัจจุบัน ความแตกต่างด้านบุคลิกภาพและความอิจฉาเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจทำให้สัมพันธภาพตึงเครียดและแม้แต่คุกคามสันติสุขของประชาคม. “ที่ใดมีความริษยาและน้ำใจชอบโต้เถียง ที่นั่นก็มีความยุ่งเหยิงและสิ่งเลวทรามทุกอย่าง.” (ยาโกโบ 3:16, ล.ม.) นับว่าสำคัญเพียงไรที่เราจะไม่เลิกรา ไม่ปล่อยให้ความหยิ่งทำลายสันติสุข และแสวงหาผลประโยชน์สำหรับผู้อื่นเช่นเดียวกับอับราฮาม!—1 โกรินโธ 13:5; ยาโกโบ 3:17.
7. (ก) คนเราควรทำเช่นไรหากรู้สึกเจ็บใจเพราะเพื่อนคริสเตียน? (ข) อับราฮามวางตัวอย่างที่ดีอย่างไรในการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น?
7 การรักษาสันติสุขอาจกลายเป็นเรื่องท้าทายเมื่อเรารู้สึกว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมจากเพื่อนร่วมความเชื่อ. สุภาษิต 12:18 กล่าวว่า “คำพูดพล่อย ๆ ของคนบางจำพวกเหมือนการแทงของกระบี่.” คำพูดที่กล่าวออกมาโดยไม่ยั้งคิด แม้ว่าเจตนาบริสุทธิ์ อาจสร้างความเจ็บใจอย่างยิ่ง. ความเจ็บใจยิ่งมากเข้าไปอีกหากเรารู้สึกว่าถูกใส่ร้ายหรือถูกซุบซิบนินทาอย่างไร้ความเมตตา. (บทเพลงสรรเสริญ 6:6, 7) แต่คริสเตียนไม่อาจปล่อยให้ความรู้สึกเจ็บใจทำให้เขาเลิกรา! หากคุณอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น จงริเริ่มแก้ไขโดยพูดอย่างกรุณากับคนที่ทำผิดต่อเรา. (มัดธาย 5:23, 24; เอเฟโซ 4:26) จงอยู่พร้อมจะให้อภัยคนนั้น. (โกโลซาย 3:13) โดยปล่อยให้ความขุ่นเคืองผ่านไป เราจะสามารถรักษาอารมณ์ของเราเองรวมทั้งสัมพันธภาพที่เรามีกับพี่น้อง. อับราฮามไม่เก็บความขุ่นเคืองใด ๆ ที่ท่านอาจมีต่อโลต. ท่านรีบไปช่วยโลตและครอบครัว!—เยเนซิศ 14:12-16.
การทดลองที่เราเองทำให้เกิดขึ้น
8. (ก) คริสเตียนอาจ ‘ทิ่มแทงตัวเขาเองด้วยความทุกข์เป็นอันมาก’ อย่างไร? (ข) เหตุใดอับราฮามสามารถมีทัศนะที่สมดุลในเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุ?
8 ต้องยอมรับว่า การทดลองบางอย่างเกิดจากตัวเราเอง. ยกตัวอย่าง พระเยซูทรงมีรับสั่งแก่เหล่าสาวกว่า “อย่าสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก, ที่ตัวหนอนและสนิมอาจทำลายเสียได้, และที่ขโมยอาจขุดช่องล้วงลักเอาไปได้.” (มัดธาย 6:19) ถึงกระนั้น พี่น้องบางคน ‘ทิ่มแทงตัวเขาเองให้ทะลุด้วยความทุกข์เป็นอันมาก’ โดยให้ความสำคัญสิ่งฝ่ายวัตถุมากกว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักร. (1 ติโมเธียว 6:9, 10) อับราฮามเต็มใจเสียสละสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวัตถุเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า. “โดยความเชื่อท่านจึงได้อาศัยในตำบลซึ่งเป็นที่ทรงสัญญาไว้นั้น, เหมือนท่านเป็นคนแขกเมือง, คือตั้งทับอาศัยอยู่กับยิศฮาคและยาโคบซึ่งเป็นผู้รับมฤดกด้วยกันในคำทรงสัญญาอันเดียวนั้น เพราะว่าท่านได้คอยอยู่เพื่อจะได้เมืองที่มีราก, ซึ่งพระเจ้าเป็นนายช่างและเป็นผู้ทรงสร้างขึ้น.” (เฮ็บราย 11:9, 10) ความเชื่อของอับราฮามใน “เมือง” ที่อยู่ในอนาคต หรือรัฐบาลของพระเจ้า ช่วยท่านไม่ให้ไว้วางใจในทรัพย์สินเงินทอง. นับว่าเป็นความฉลาดสุขุมมิใช่หรือที่เราจะทำแบบเดียวกันนั้น?
9, 10. (ก) ความปรารถนาที่จะเป็นคนเด่นอาจก่อให้เกิดการทดลองอย่างไร? (ข) พี่น้องชายในปัจจุบันอาจวางตัวเป็น “ผู้น้อย” โดยวิธีใด?
9 ขอให้พิจารณาอีกแง่หนึ่ง. คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำที่หนักแน่นดังนี้: “ถ้าผู้ใดถือตัวว่าเป็นคนสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่สำคัญอะไรเลย ผู้นั้นก็หลอกตัวเอง.” (ฆะลาเตีย 6:3, ฉบับแปลใหม่) นอกจากนั้น เราได้รับการกระตุ้นที่จะ “ไม่ทำประการใดในทางทุ่มเถียงกันหรืออวดดีไปเปล่า ๆ, แต่ให้ทุกคนมีใจถ่อมลง.” (ฟิลิปปอย 2:3) บางคนนำการทดลองมาสู่ตัวเองเพราะไม่ใช้คำแนะนำนี้. โดยถูกผลักดันจากความปรารถนาจะเป็นคนเด่น แทนที่จะปรารถนา “การงานอย่างดี” พวกเขาจึงท้อใจและไม่พอใจเมื่อไม่ได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างในประชาคม.—1 ติโมเธียว 3:1.
10 อับราฮามวางตัวอย่างที่ดีโดยที่ ‘ไม่คิดถือตัวเกินที่ควรจะคิด.’ (โรม 12:3) เมื่อพบกับมัลคีเซเด็ค อับราฮามไม่ได้วางตัวราวกับว่าฐานะของท่านที่พระเจ้าทรงโปรดปรานนั้นทำให้ท่านเหนือกว่า. ตรงกันข้าม ท่านยอมรับฐานะที่สูงกว่าของมัลคีเซเด็คซึ่งเป็นปุโรหิตด้วยการถวายส่วนสิบลดหนึ่ง. (เฮ็บราย 7:4-7) คริสเตียนในปัจจุบันก็เช่นกันควรเต็มใจวางตัวในฐานะ “ผู้น้อย” และไม่พยายามทำตัวเด่น. (ลูกา 9:48) หากดูเหมือนว่าผู้ที่นำหน้าในประชาคมหน่วงเหนี่ยวไม่ให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่คุณ จงตรวจสอบตัวเองอย่างสัตย์ซื่อเพื่อดูว่าคุณสามารถปรับปรุงอะไรได้บ้างในด้านบุคลิกภาพหรือวิธีจัดการในเรื่องต่าง ๆ. แทนที่จะรู้สึกขมขื่นเพราะสิทธิพิเศษที่ไม่ได้รับ จงใช้ประโยชน์เต็มที่จากสิทธิพิเศษที่คุณมีอยู่—สิทธิพิเศษในการช่วยผู้อื่นให้รู้จักพระยะโฮวา. ถูกแล้ว “ท่านทั้งหลายจงถ่อมใจลงใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า, เพื่อพระองค์จะได้ทรงยกท่านขึ้นในเวลาอันควร.”—1 เปโตร 5:6.
เชื่อในสิ่งที่ไม่เห็น
11, 12. เหตุใดบางคนในประชาคมอาจสูญเสียความสำนึกในเรื่องความเร่งด่วน? (ข) อับราฮามวางตัวอย่างที่ดีอย่างไรในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้า?
11 การทดลองอีกอย่างหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการที่อวสานของระบบชั่วนี้ดูเหมือนว่าเนิ่นช้า. ตาม 2 เปโตร 3:12 (ล.ม.) คริสเตียนต้อง “คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” อย่างไรก็ตาม หลายคนได้คอย “วัน” นี้มาหลายปี บางคนหลายสิบปี. ผลคือ บางคนอาจเริ่มท้อใจและสูญเสียความสำนึกในเรื่องความเร่งด่วน.
12 อีกครั้งหนึ่ง ขอให้พิจารณาตัวอย่างของอับราฮาม. ชีวิตทั้งสิ้นของท่านดำเนินตามความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้า แม้ว่าคำสัญญาเหล่านั้นไม่มีทางสำเร็จได้ทั้งหมดในช่วงชีวิตท่าน. จริงอยู่ ท่านมีชีวิตนานพอได้เห็นยิศฮาคบุตรชายเติบโตขึ้น. แต่ต้องรออีกหลายศตวรรษก่อนที่ลูกหลานของอับราฮามจะเปรียบได้กับ “ดวงดาวบนฟ้า” หรือ “เม็ดทรายที่ฝั่งมหาสมุทร.” (เยเนซิศ 22:17) อย่างไรก็ตาม อับราฮามไม่รู้สึกขมขื่นหรือท้อแท้ใจ. ด้วยเหตุนั้น อัครสาวกเปาโลจึงกล่าวถึงอับราฮามและปฐมบรรพบุรุษคนอื่น ๆ ว่า “คนเหล่านี้ทุกคนตายไปขณะที่ยังมีความเชื่อ แม้ว่าเขามิได้รับผลตามคำสัญญาก็ตาม แต่ก็แลเห็นแต่ไกลและยินดีต้อนรับไว้ และได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกถิ่นและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.”—เฮ็บราย 11:13, ล.ม.
13. (ก) คริสเตียนในปัจจุบันเป็นเหมือน “คนอาศัยชั่วคราว” อย่างไร? (ข) เหตุใดพระยะโฮวาจะทรงนำอวสานมาสู่ระบบนี้?
13 หากอับราฮามสามารถดำเนินชีวิตตามความเชื่อในคำสัญญาซึ่งความสำเร็จเป็นจริงนั้น ‘อยู่ไกล’ เราในปัจจุบันน่าจะทำได้มากกว่านั้นสักเพียงไร ในเมื่อคำสัญญาเหล่านี้ใกล้จะสำเร็จเป็นจริงอยู่แล้ว! เช่นเดียวกับอับราฮาม เราต้องถือว่าตัวเราเองเป็น “คนอาศัยชั่วคราว” ในระบบของซาตาน ปฏิเสธไม่ลงหลักปักฐานในแบบชีวิตที่มุ่งสนองความต้องการของตนเองเกินควร. เป็นเรื่องธรรมดา เราคงอยากให้ “อวสานของสิ่งทั้งปวง” มาถึงเร็ว ๆ ไม่ใช่แค่ใกล้จะถึง. (1 เปโตร 4:7, ฉบับแปลใหม่) อาจเป็นได้ว่าเรากำลังทนทุกข์ด้วยปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพ. หรือความกดดันทางเศรษฐกิจอาจทำให้เรารู้สึกหนักอึ้ง. อย่างไรก็ตาม เราต้องจำไว้ว่าพระยะโฮวาจะทรงนำอวสานมาสู่ระบบนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อช่วยเราให้พ้นทุกข์เท่านั้น แต่เพื่อทำให้พระนามของพระองค์เองเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ด้วย. (ยะเอศเคล 36:23; มัดธาย 6:9, 10) อวสานไม่จำเป็นต้องมาในเวลาที่เราสะดวก หากแต่ในเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับพระประสงค์ของพระยะโฮวา.
14. ความอดกลั้นพระทัยของพระเจ้าให้ประโยชน์อย่างไรแก่คริสเตียนในทุกวันนี้?
14 ควรจำไว้ด้วยว่า “พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเฉื่อยช้าในเรื่องคำสัญญาของพระองค์เหมือนบางคนถือว่าช้านั้น แต่พระองค์อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย เพราะพระองค์ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.) โปรดสังเกต พระเจ้า “อดกลั้นพระทัยกับท่านทั้งหลาย” ซึ่งก็คือสมาชิกประชาคมคริสเตียน. ดูเหมือนว่าพวกเราบางคนจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นในการปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อ ‘ในที่สุดพระองค์จะพบเราปราศจากด่างพร้อยและมลทิน และมีสันติสุข.’ (2 เปโตร 3:14, ล.ม.) ดังนั้น เราควรขอบพระคุณมิใช่หรือที่พระเจ้าทรงแสดงความอดกลั้นพระทัยเช่นนั้น?
วิธีที่เราจะพบความยินดีแม้ว่ามีอุปสรรค
15. พระเยซูทรงรักษาความยินดีแม้เผชิญการทดลองต่าง ๆ ได้อย่างไร และการเลียนแบบพระองค์ให้ประโยชน์อย่างไรแก่คริสเตียนในทุกวันนี้?
15 ชีวิตของอับราฮามสอนบทเรียนหลายอย่างแก่คริสเตียนในปัจจุบัน. ท่านไม่ได้แสดงเฉพาะความเชื่อเท่านั้น แต่ยังแสดงความอดกลั้น, ความฉลาด, ความกล้าหาญ, และความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว. ท่านจัดให้การนมัสการพระยะโฮวาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตของท่าน. อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านั้นอีกที่เราจะเลียนแบบคือตัวอย่างของพระเยซูคริสต์. พระองค์ทรงเผชิญการทดลองและการทดสอบมากมายเช่นกัน แต่ตลอดเวลาที่เผชิญสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดพระองค์ไม่เคยสูญเสียความยินดี. เพราะเหตุใด? เพราะจิตใจของพระองค์มุ่งอยู่ที่ความหวังซึ่งอยู่ตรงหน้า. (เฮ็บราย 12:2, 3) ด้วยเหตุนั้น เปาโลอธิษฐานว่า “บัดนี้ ขอพระเจ้าผู้ทรงให้ท่านทั้งหลายมีความเพียรอดทนและการปลอบโยน โปรดให้ท่านทั้งหลายมีเจตคติอย่างเดียวกันในท่ามกลางพวกท่านเหมือนพระคริสต์เยซูทรงมี.” (โรม 15:5, ล.ม.) ด้วยเจตคติที่ถูกต้อง เราสามารถพบความยินดีแม้เผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ที่ซาตานอาจตั้งไว้เพื่อขัดขวางเรา.
16. เราสามารถทำอะไรเมื่อปัญหาดูเหมือนว่าหนักมาก?
16 เมื่อดูเหมือนว่าปัญหาหนักเหลือเกิน ขอให้จำไว้ว่าเช่นเดียวกับที่พระองค์รักอับราฮาม พระยะโฮวาทรงรักคุณ. พระองค์ทรงประสงค์ให้คุณประสบความสำเร็จ. (ฟิลิปปอย 1:6) จงไว้วางใจเต็มที่ในพระยะโฮวา เชื่อมั่นว่า “พระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกล่อใจเกินที่ท่านจะทนได้ แต่เมื่อทรงยอมให้ท่านถูกล่อใจนั้น พระองค์จะจัดทางออกให้ด้วย เพื่อท่านจะสามารถทนได้.” (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) จงพัฒนานิสัยในการอ่านพระคำของพระเจ้าทุกวัน. (บทเพลงสรรเสริญ 1:2) จงเพียรอธิษฐาน ทูลขอพระยะโฮวาให้ช่วยคุณอดทน. (ฟิลิปปอย 4:6) พระองค์จะ “ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” (ลูกา 11:13) จงรับประโยชน์จากเครื่องช่วยต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงจัดไว้ให้เพื่อค้ำจุนคุณทางฝ่ายวิญญาณ เช่น สรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. นอกจากนั้น จงเสาะหาการช่วยเหลือสนับสนุนจากสังคมพี่น้อง. (1 เปโตร 2:17) จงเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ เพราะจากที่นั่นคุณจะได้รับการหนุนใจที่จำเป็นเพื่อคุณจะอดทนได้. (เฮ็บราย 10:24, 25) จงชื่นชมยินดีในความเชื่อมั่นที่ว่าความเพียรอดทนของคุณนำไปถึงสภาพอันเป็นที่ชอบในสายพระเนตรของพระเจ้าและความซื่อสัตย์ของคุณทำให้พระทัยของพระองค์ยินดี!—สุภาษิต 27:11; โรม 5:3-5.
17. เหตุใดคริสเตียนไม่ท้อแท้สิ้นหวัง?
17 พระเจ้าทรงรักอับราฮามในฐานะ “มิตร” ของพระองค์. (ยาโกโบ 2:23) แม้กระนั้น ชีวิตของอับราฮามเต็มไปด้วยการทดลองและความทุกข์ลำบากมากมาย. ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนสามารถคาดหมายได้เลยว่าจะประสบกับการทดลองเช่นเดียวกันใน “สมัยสุดท้าย” อันร้ายกาจนี้. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “คนชั่วและเจ้าเล่ห์จะกำเริบชั่วร้ายมากยิ่งขึ้น.” (2 ติโมเธียว 3:1, 13, ล.ม.) แทนที่จะท้อแท้สิ้นหวัง จงตระหนักว่าความกดดันที่เราเผชิญอยู่นี้ให้หลักฐานว่าอวสานของระบบชั่วของซาตานใกล้เข้ามาแล้ว. แต่พระเยซูทรงเตือนเราให้ระลึกว่า “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด, ผู้นั้นจะรอด.” (มัดธาย 24:13) ดังนั้น ‘อย่าเลิกราในการทำสิ่งที่ดีงาม!’ จงเลียนแบบอับราฮาม และอยู่ในกลุ่มของคนเหล่านั้นที่ “อาศัยความเชื่อและความเพียร จึงได้รับคำสัญญาเป็นมฤดก.”—เฮ็บราย 6:12.
คุณสังเกตไหม?
• เหตุใดไพร่พลของพระยะโฮวาในปัจจุบันควรคาดหมายว่าจะพบกับการทดสอบและความทุกข์ลำบาก?
• ซาตานอาจใช้การโจมตีซึ่งหน้าอย่างไรบ้าง?
• จะแก้ข้อขัดแย้งส่วนตัวที่มีกับเพื่อนคริสเตียนด้วยกันได้โดยวิธีใด?
• ความหยิ่งและความถือดีในตัวเองอาจทำให้เกิดการทดลองได้อย่างไร?
• อับราฮามวางตัวอย่างที่ดีอย่างไรในการรอคอยความสำเร็จแห่งคำสัญญาของพระเจ้า?
[ภาพหน้า 26]
หนุ่มสาวคริสเตียนหลายคนถูกเพื่อน ๆ ข่มเหง เยาะเย้ยถากถาง
[ภาพหน้า 29]
ในสมัยของอับราฮาม ความสำเร็จแห่งคำสัญญาของพระเจ้านั้น ‘อยู่ไกล’ แต่ท่านก็ยังดำเนินชีวิตตามความเชื่อในคำสัญญาเหล่านั้น