พระยะโฮวาทรงเกลียดแนวทางแห่งการทรยศ
‘อย่าได้ทรยศต่อกัน.’—มาลาคี 2:10, ล.ม.
1. พระเจ้าทรงเรียกร้องอะไรจากเราหากเราต้องการได้รับชีวิตนิรันดร์?
คุณปรารถนาจะมีชีวิตนิรันดร์ไหม? หากคุณมีความเชื่อในความหวังที่สัญญาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล คุณคงบอกว่า ‘แน่นอน.’ แต่หากคุณปรารถนาให้พระเจ้าทรงโปรดให้คุณมีชีวิตไม่รู้สิ้นสุดในโลกใหม่ของพระองค์ คุณจะต้องทำตามข้อเรียกร้องของพระองค์. (ท่านผู้ประกาศ 12:13; โยฮัน 17:3) เป็นเรื่องไม่มีเหตุผลไหมที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์ทำอย่างนั้น? ไม่เลย เพราะพระยะโฮวาตรัสให้กำลังใจดังนี้: “เราพึงพอใจในความเมตตากรุณา, มิใช่ในการสักการบูชา; และพึงพอใจในการรู้จักพระเจ้ามากยิ่งกว่าเครื่องบูชาเผา.” (โฮเซอา 6:6) ดังนั้น แม้แต่มนุษย์ที่มักผิดพลาดก็สามารถบรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้า.
2. ชาวอิสราเอลจำนวนมากคิดคดทรยศต่อพระยะโฮวาอย่างไร?
2 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนต้องการทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. โฮเซอาเผยให้เห็นว่าแม้แต่ชาวอิสราเอลหลายคนก็ไม่ต้องการทำอย่างนั้น. ในฐานะชาติ พวกเขาได้ตกลงทำสัญญาไมตรีว่าจะเชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า. (เอ็กโซโด 24:1-8) กระนั้น ไม่นานนักพวกเขาก็ “ได้ผิดคำสัญญา” โดยฝ่าฝืนกฎหมายของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาตรัสว่าชาวอิสราเอลเหล่านั้น “ได้คิดคดทรยศ” ต่อพระองค์. (โฮเซอา 6:7) และนับแต่นั้นมาก็ได้มีผู้คนมากมายทำอย่างนั้น. แต่พระยะโฮวาทรงเกลียดแนวทางแห่งการทรยศ ไม่ว่าจะต่อพระองค์หรือต่อคนที่รักและรับใช้พระองค์.
3. จะมีการวิเคราะห์อะไรในการศึกษาครั้งนี้?
3 โฮเซอาไม่ใช่ผู้พยากรณ์เพียงคนเดียวที่เน้นทัศนะของพระเจ้าเกี่ยวกับการทรยศ ซึ่งเป็นทัศนะที่เราจำเป็นต้องรับเอา หากเราหวังจะมีชีวิตที่มีความสุข. ในบทความก่อน เราได้เริ่มวิเคราะห์ข่าวสารคำพยากรณ์ของมาลาคีไปมากแล้ว โดยเริ่มกับบทที่หนึ่งของพระธรรมนี้. ตอนนี้ขอให้เราพลิกไปยังบทที่สองของพระธรรมนี้ และดูว่าได้มีการเน้นมากขึ้นอย่างไรในเรื่องทัศนะของพระเจ้าเกี่ยวกับการทรยศ. แม้ว่ามาลาคีกำลังพิจารณาสถานการณ์ซึ่งมีอยู่โดยทั่วไปในหมู่ไพร่พลของพระเจ้าในช่วงหลายทศวรรษหลังจากที่พวกเขากลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน บทสองของพระธรรมนี้มีความหมายอย่างแท้จริงสำหรับเราในทุกวันนี้.
ปุโรหิตที่สมควรถูกตำหนิ
4. พระยะโฮวาทรงเตือนพวกปุโรหิตเช่นไร?
4 บท 2 เปิดเรื่องด้วยการตำหนิของพระยะโฮวาต่อปุโรหิตชาวยิวที่หันเหจากแนวทางอันชอบธรรมของพระองค์. หากพวกเขาไม่เอาใจใส่คำแนะนำของพระองค์และไม่แก้ไขแนวทางของตน ย่อมเกิดผลเสียหายร้ายแรงอย่างแน่นอน. โปรดสังเกตสองข้อแรก: “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า, ‘ดูก่อนพวกปุโรหิต, คำบัญญัตินี้เป็นบัญญัติสำหรับเจ้าทั้งหลาย. ถ้าเจ้าทั้งหลายไม่เชื่อฟังไม่เอาใจใส่, เพื่อจะให้บังเกิดเกียรติยศแก่นามของเรา, เราก็จะแช่งเจ้า, และจะกลับคำพรของเจ้าให้กลายเป็นคำแช่งไป.’” หากพวกปุโรหิตสอนกฎหมายของพระเจ้าแก่ประชาชนและรักษาข้อกฎหมายนั้น พวกเขาคงได้รับการอวยพรไปแล้ว. แต่เนื่องจากพวกเขาเพิกเฉยต่อพระทัยประสงค์ของพระเจ้า สิ่งที่พวกเขาจะได้รับคือคำสาปแช่ง. แม้แต่คำอวยพรที่ออกจากปากของพวกปุโรหิตก็จะกลายเป็นคำแช่ง.
5, 6. (ก) เหตุใดพวกปุโรหิตสมควรถูกตำหนิเป็นพิเศษ? (ข) พระยะโฮวาทรงเหยียดหยามพวกปุโรหิตอย่างไร?
5 เหตุใดพวกปุโรหิตจึงสมควรถูกตำหนิเป็นพิเศษ? ข้อ 7 บอกเหตุผลไว้อย่างชัดเจน: “ริมฝีปากของปุโรหิตจะต้องสงวนไว้สำหรับความรู้, เพราะคนทั้งหลายจำต้องแสวงหาคำสอนจากปากของเขา; เนื่องด้วยเขาเป็นทูตของพระยะโฮวาจอมพลโยธา.” มากกว่าหนึ่งพันปีก่อนหน้านั้น กฎหมายของพระเจ้าที่ได้ประทานแก่ชาติอิสราเอลโดยทางโมเซกล่าวไว้ว่าปุโรหิตมีหน้าที่ในการ “สั่งสอนพวกยิศราเอล, บรรดาพระบัญญัติที่พระยะโฮวาได้ตรัส.” (เลวีติโก 10:11) น่าเศร้า ในช่วงเวลาต่อมา ผู้เขียน 2 โครนิกา 15:3 (ฉบับแปลใหม่) รายงานว่า “อิสราเอลอยู่ปราศจากพระเจ้าเที่ยงแท้เป็นเวลานานและไม่มีปุโรหิตผู้สั่งสอนและไม่มีพระธรรม.”
6 ในสมัยของมาลาคี ในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช สถานการณ์ในส่วนของปุโรหิตก็ยังเหมือนเดิม. พวกเขาไม่ได้สอนกฎหมายของพระเจ้าแก่ประชาชน. ดังนั้น ปุโรหิตเหล่านี้สมควรถูกเรียกมาให้การ. ขอให้สังเกตคำตรัสอันหนักแน่นรุนแรงของพระยะโฮวาที่มุ่งถึงพวกเขาโดยตรง. มาลาคี 2:3 ประกาศว่า “เราจะเอาอาจมคืออาจมของสัตว์ที่เจ้าถวายบูชานั้นซัดใส่หน้าเจ้าทั้งหลาย.” ช่างเป็นการตำหนิที่รุนแรงจริง ๆ! พระบัญญัติกำหนดไว้ว่าให้จัดการกับมูลของสัตว์บูชาโดยให้นำออกไปเผานอกค่าย. (เลวีติโก 16:27) แต่เมื่อพระยะโฮวาทรงมีรับสั่งให้นำมูลนั้นมาละเลงหน้าพวกเขาแทน นั่นย่อมแสดงอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงเหยียดหยามพวกเขาและปฏิเสธเครื่องบูชาที่พวกเขาถวาย รวมทั้งผู้ที่นำมาถวายด้วย.
7. เหตุใดพระยะโฮวาทรงพิโรธพวกผู้สอนพระบัญญัติ?
7 หลายศตวรรษก่อนสมัยของมาลาคี พระยะโฮวาได้มอบหมายชาวเลวีให้ดูแลพลับพลา และต่อมาก็ให้ดูแลพระวิหาร รวมทั้งการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. พวกเขาเป็นครูสอนในชาติอิสราเอล. การทำตามหน้าที่มอบหมายนั้นให้สำเร็จย่อมหมายถึงชีวิตและสันติสุขสำหรับพวกเขาและชาติทั้งชาติ. (อาฤธโม 3:5-8) แต่ชาวเลวีได้สูญเสียความเกรงกลัวพระเจ้าที่พวกเขาเคยมีในตอนแรก. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาตรัสแก่พวกเขาว่า “[เจ้า] ได้ประพฤตินอกลู่นอกทาง, เจ้าได้ให้คนเป็นอันมากสะดุดล้มลงในเรื่องคำสอน, เจ้าทั้งหลายได้หักล้างสันถวไมตรีของพวกเลวีเสีย . . . [เจ้า] มิได้ถือรักษาแนวทางของเรา.” (มาลาคี 2:8, 9) โดยที่ไม่ได้สอนความจริงและวางตัวอย่างที่ไม่ดี พวกปุโรหิตทำให้ชาวอิสราเอลเป็นอันมากหลงทาง จึงสมควรแล้วที่พระยะโฮวาทรงพิโรธพวกเขา.
รักษามาตรฐานของพระเจ้า
8. การคาดหมายให้มนุษย์รักษามาตรฐานของพระเจ้าเป็นการเรียกร้องมากเกินไปไหม? จงอธิบาย.
8 ขอเราอย่าได้คิดว่าควรเห็นใจและให้อภัยปุโรหิตเหล่านี้เพราะพวกเขาเป็นเพียงมนุษย์ไม่สมบูรณ์ จึงไม่อาจคาดหมายให้พวกเขารักษามาตรฐานของพระเจ้า. ข้อเท็จจริงคือ มนุษย์เราสามารถ ทำตามพระบัญชาของพระเจ้าได้ เพราะพระยะโฮวาไม่ทรงคาดหมายสิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถทำได้. ปุโรหิตบางคนในตอนนั้นคงได้รักษามาตรฐานของพระเจ้า และไม่มีข้อสงสัยว่าในเวลาต่อมามีปุโรหิตคนหนึ่งที่ได้ทำอย่างนั้น คือพระเยซู “มหาปุโรหิต” ผู้ยิ่งใหญ่. (เฮ็บราย 3:1) คำพรรณนาดังต่อไปนี้ใช้ได้กับพระองค์อย่างแท้จริง ที่ว่า “คำสอนตามความจริงก็อยู่ในปากของเขา, และจะได้พบความชั่วในริมฝีปากของเขาก็หามิได้, เขาได้ดำเนินในความสงบสุข, และในความซื่อสัตย์ต่อพักตร์ของเรา; เขาได้ให้คนเป็นอันมากกลับใจเสียจากการทำบาป.”—มาลาคี 2:6.
9. ใครได้แพร่กระจายความจริงออกไปอย่างซื่อสัตย์ในสมัยของเรา?
9 คล้ายกันนั้น ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปีแล้วที่เหล่าพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ซึ่งมีความหวังฝ่ายสวรรค์ได้รับใช้เป็น “คณะปุโรหิตบริสุทธิ์ เพื่อถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณอันเป็นที่พระเจ้ารับรองเอาได้.” (1 เปโตร 2:5, ล.ม.) พวกเขาได้นำหน้าในการให้ความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้อื่น. ขณะที่คุณเรียนความจริงที่พวกเขาสอน คุณพบด้วยตัวคุณเองมิใช่หรือว่า คำสอนตามความจริงก็อยู่ในปากของพวกเขา? พวกเขาได้ช่วยคนเป็นจำนวนมากให้หันกลับจากความผิดพลาดทางศาสนา ทำให้ในเวลานี้มีหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้เรียนรู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลและมีความหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์. คนเหล่านี้มีสิทธิพิเศษในการสอนคำสอนตามความจริงแก่คนอื่นอีกหลายล้านคนต่อไป.—โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:9.
เหตุผลที่ต้องระวัง
10. เหตุใดเรามีเหตุผลที่จะระวัง?
10 อย่างไรก็ตาม เรามีเหตุผลที่จะระวัง. เราอาจไม่เข้าใจบทเรียนที่แฝงอยู่ในมาลาคี 2:1-9. เราเองตื่นตัวที่จะไม่มีความชั่วในริมฝีปากของเราไหม? ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกในครอบครัวของเราสามารถเชื่ออย่างสนิทใจในสิ่งที่เราพูดไหม? พี่น้องฝ่ายวิญญาณในประชาคมสามารถเชื่อคำพูดของเราไหม? เป็นเรื่องง่ายมากที่จะสร้างนิสัยการพูดในลักษณะที่คลุมเครือซึ่งเมื่อตีความโดยเคร่งครัดแล้วอาจถือได้ว่าถูกต้อง แต่ว่าทำให้ผู้อื่นเข้าใจไขว้เขว. หรืออาจเป็นการกล่าวเกินจริงหรือปกปิดรายละเอียดบางอย่างในทางธุรกิจ. พระยะโฮวาจะไม่ทรงเห็นหรือ? และหากเราทำเช่นนั้น พระองค์จะทรงยอมรับเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญจากริมฝีปากของเราไหม?
11. ใครที่จำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษ?
11 สำหรับผู้ที่มีสิทธิพิเศษในการสอนพระคำของพระเจ้าในประชาคมสมัยปัจจุบันควรถือว่ามาลาคี 2:7 เป็นคำเตือน. ข้อนี้กล่าวว่าริมฝีปากของพวกเขา “ต้องสงวนไว้สำหรับความรู้, เพราะคนทั้งหลายจำต้องแสวงหาคำสอน” จากปากของพวกเขา. หน้าที่รับผิดชอบอันหนักหน่วงตกอยู่กับผู้สอนเช่นนั้น เพราะยาโกโบ 3:1 (ล.ม.) ชี้ว่าพวกเขา “จะได้รับการพิพากษาที่หนักกว่า.” ในขณะที่พวกเขาควรสอนอย่างมีพลังและกระตือรือร้น การสอนของเขาต้องยึดมั่นอยู่กับพระคำของพระเจ้าที่ได้รับการจารึกไว้ รวมถึงคำสั่งที่มาทางองค์การของพระยะโฮวา. โดยวิธีนี้ พวกเขาจะ “เป็นคนมีคุณวุฒิพอที่จะสอนคนอื่น.” ด้วยเหตุนั้น พวกเขาได้รับคำแนะนำดังนี้: “จงทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.”—2 ติโมเธียว 2:2, 15, ล.ม.
12. ผู้สอนจำเป็นต้องระวังในเรื่องใด?
12 หากไม่ระวัง เราอาจรู้สึกอดไม่ได้ที่จะเสริมสิ่งที่เป็นความชอบหรือความเห็นส่วนตัวเข้าไปในคำสอนของเรา. เรื่องนี้อาจนับว่าเสี่ยงเป็นพิเศษสำหรับคนที่มีแนวโน้มมั่นใจในความเห็นของตนเอง แม้แต่เมื่อความเห็นนั้นขัดกับสิ่งที่องค์การของพระยะโฮวาสอน. แต่มาลาคีบท 2 ชี้ว่าเราน่าจะคาดหมายได้ว่าผู้สอนในประชาคมจะยึดมั่นอยู่กับความรู้ที่มาจากพระเจ้า ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งอาจทำให้แกะสะดุดได้. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดจะนำผู้เล็กน้อยเหล่านี้คนหนึ่งที่เชื่อในเราให้หลงผิด, ถ้าได้เอาหินโม่ก้อนใหญ่ผูกคอผู้นั้นถ่วงเสียที่ทะเลลึกก็ดีกว่า.”—มัดธาย 18:6.
การสมรสกับผู้ไม่เชื่อ
13, 14. การทรยศอย่างหนึ่งที่มาลาคีเน้นคืออะไร?
13 ตั้งแต่ข้อ 10 เป็นต้นไป มาลาคีบท 2 เน้นตรงยิ่งกว่าเดิมในเรื่องการทรยศ. มาลาคีเน้นแนวทางที่เกี่ยวข้องกันสองแนวทาง ซึ่งท่านใช้คำว่า “ทรยศ” กับแนวทางดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง. ก่อนอื่น จะสังเกตว่ามาลาคีเกริ่นนำคำแนะนำของท่านด้วยคำถามที่ว่า “เราทั้งหลายร่วมบิดาเดียวกันมิใช่หรือ? พระเจ้าองค์เดียวได้ทรงสร้างเราทั้งหลายมิใช่หรือ? แล้วก็เหตุไฉนเราทั้งหลายจึงได้ลวงกันและกัน [“ทรยศต่อกัน,” ล.ม.], ทำให้เสียสันถวไมตรีของบรรพบุรุษไป?” จากนั้น ในข้อ 11 ท่านกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการทรยศของพวกอิสราเอลเท่ากับเป็นการดูหมิ่น “วิหาร [“ความบริสุทธิ์,” ล.ม.] ของพระยะโฮวา.” พวกเขาทำอะไรที่ร้ายแรงขนาดนั้น? ข้อเดียวกันนี้ระบุแนวทางผิดอย่างหนึ่งที่พวกเขาทำ คือพวกเขาได้ “สมรสกับลูกสาวของคนนับถือพระต่างประเทศ.”
14 กล่าวอีกอย่างคือ ชาวอิสราเอลบางคนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาติที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาได้สมรสกับผู้ที่ไม่นมัสการพระองค์. บริบทช่วยเราให้เห็นเหตุผลที่การทำอย่างนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงมาก. ข้อ 10 กล่าวว่าพวกเขาต่างก็ร่วมบิดาเดียวกัน. บิดาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงยาโคบ (ซึ่งได้ชื่อใหม่ว่าอิสราเอล) หรืออับราฮาม, หรือแม้แต่อาดาม. มาลาคี 1:6 ชี้ว่าพระยะโฮวานั่นเองที่ทรงเป็น “บิดาเดียวกัน” ดังกล่าว. ชาติอิสราเอลมีสัมพันธภาพกับพระองค์ เป็นคู่สัญญาที่ร่วมในสัญญาไมตรีที่ได้ทำไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา. กฎหมายข้อหนึ่งในสัญญาไมตรีนั้นกล่าวว่า “อย่าได้กระทำงานบ่าวสาวด้วยเขา; คือบุตรหญิงของเจ้า อย่ายกให้กับบุตรชายของเขา, และบุตรหญิงของเขาอย่ารับมาเป็นภรรยาบุตรชายของเจ้าเลย.”—พระบัญญัติ 7:3.
15. (ก) บางคนอาจพยายามทำอย่างไรเพื่อให้ดูเหมือนว่าการสมรสกับผู้ที่ไม่มีความเชื่อเป็นสิ่งถูกต้อง? (ข) พระยะโฮวาทรงแสดงทัศนะอย่างไรในเรื่องการสมรส?
15 บางคนในทุกวันนี้อาจหาเหตุผลว่า ‘คนที่ฉันสนใจเป็นคนดีมาก. ทีหลัง เขาคงจะรับเอาการนมัสการแท้.’ การคิดอย่างนี้ยืนยันความจริงของคำเตือนที่บันทึกไว้โดยการดลใจ ที่ว่า “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด.” (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.) ทัศนะของพระเจ้าเกี่ยวกับการสมรสกับผู้ที่ไม่เชื่อมีแสดงไว้ที่มาลาคี 2:12 ซึ่งอ่านว่า “พระยะโฮวา [จะ] ทรงล้างผลาญ [“ตัดขาด,” ล.ม.] คนที่ได้กระทำดังนี้.” ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนได้รับการกระตุ้นที่จะสมรส “กับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า” เท่านั้น. (1 โกรินโธ 7:39) ภายใต้ระบบคริสเตียน ผู้มีความเชื่อไม่ได้ถูก “ตัดขาด” เพราะสมรสกับคนที่ไม่มีความเชื่อ. ถึงกระนั้น หากคู่สมรสนั้นยังคงไม่เชื่ออยู่ต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับเขาเมื่อพระเจ้าทรงนำอวสานมาสู่ระบบนี้ในอีกไม่ช้า?—บทเพลงสรรเสริญ 37:37, 38.
การปฏิบัติต่อคู่ของตนอย่างไม่ถูกต้อง
16, 17. บางคนได้ทรยศอย่างไร?
16 ต่อจากนั้น มาลาคีพิจารณาเกี่ยวกับการทรยศอย่างที่สอง คือการปฏิบัติต่อคู่ของตนอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการหย่าร้างที่ไม่ยุติธรรม. บท 2 ข้อ 14 (ล.ม.) บอกว่า “พระยะโฮวาเองได้เป็นพยานระหว่างเจ้ากับภรรยาซึ่งเจ้าได้เมื่อครั้งเป็นหนุ่ม ซึ่งเจ้าเองได้ทรยศต่อนาง ถึงแม้นางเป็นคู่ครองของเจ้าและเป็นภรรยาตามสัญญาของเจ้า.” โดยทรยศต่อภรรยา สามีชาวยิวได้ทำให้แท่นของพระยะโฮวา ‘นองไปด้วยน้ำตา.’ (มาลาคี 2:13) ผู้ชายเหล่านี้ขอหย่าด้วยเหตุผลอันมิชอบด้วยกฎหมาย ทำผิดด้วยการทิ้งภรรยาที่ได้กันเมื่อครั้งหนุ่มสาว อาจเป็นได้ว่าเพื่อจะสมรสกับหญิงอื่นที่สาวกว่าหรือหญิงนอกรีต. และพวกปุโรหิตที่เสื่อมทรามก็อนุญาตให้ทำอย่างนั้น! ทว่า มาลาคี 2:16 ประกาศว่า “พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่า, ‘เราเป็นผู้เกลียดการหย่าร้างกัน.’” ในเวลาต่อมา พระเยซูทรงชี้ว่าการทำผิดศีลธรรมเป็นเหตุผลเพียงอย่างเดียวที่จะหย่ากันได้ ซึ่งทำให้ฝ่ายที่ไม่มีความผิดมีอิสระที่จะสมรสใหม่ได้.—มัดธาย 19:9.
17 ขอให้ไตร่ตรองคำพูดของมาลาคี เพื่อจะเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวกระตุ้นหัวใจและทำให้รู้สึกถึงความกรุณาขั้นพื้นฐานอย่างไร. ท่านกล่าวถึง “คู่ครองของเจ้าและเป็นภรรยาตามสัญญาของเจ้า.” พวกผู้ชายเหล่านี้ได้สมรสกับเพื่อนผู้นมัสการด้วยกัน คือสตรีชาวอิสราเอล และเลือกเธอเป็นเพื่อนคู่คิดที่จะรักและทะนุถนอม เป็นคู่ครองที่จะอยู่ร่วมกันชั่วชีวิต. แม้ว่าการสมรสนั้นอาจเกิดขึ้นตอนที่เขาและเธอยังเป็นหนุ่มสาว แต่เวลาที่ล่วงผ่านไปและการย่างเข้าสู่วัยชราไม่ได้ทำให้สัญญาแห่งการสมรสของพวกเขากลายเป็นโมฆะ.
18. คำแนะนำของมาลาคีเกี่ยวกับการทรยศใช้ได้อย่างไรในทุกวันนี้?
18 คำแนะนำในเรื่องนี้ใช้ได้ในปัจจุบันด้วยน้ำหนักที่ไม่ต่างกัน. เป็นเรื่องน่าละอายที่บางคนไม่สนใจเชื่อฟังการชี้นำจากพระเจ้าในเรื่องการสมรสกับผู้ที่เชื่อถือในองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น. และเป็นเรื่องน่าเสียดายด้วยเช่นกันที่บางคนไม่ได้พยายามรักษาสายสมรสให้แน่นแฟ้นต่อ ๆ ไป. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาพยายามหาข้ออ้างที่จะดำเนินในแนวทางที่พระเจ้าทรงเกลียดชังด้วยการหย่าร้างอย่างที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์เพื่อจะไปสมรสกับคนอื่น. ด้วยการทำอย่างนั้น พวกเขา “กระทำให้พระเจ้าอ่อนระอาพระทัย.” ในสมัยของมาลาคี คนเหล่านั้นที่เพิกเฉยละเลยคำแนะนำของพระเจ้ายังกำเริบเสิบสานถึงกับคิดว่าทัศนะของพระยะโฮวาไม่ยุติธรรม. ที่จริงแล้ว พวกเขากล่าวว่า “พระเจ้าแห่งความยุติธรรมอยู่ที่ไหน?” ช่างเป็นความคิดที่ดึงดันและไร้เหตุผลอะไรอย่างนั้น! ขออย่าได้มีใครในพวกเราตกเข้าสู่กับดักเช่นนั้นเลย.—มาลาคี 2:17, ฉบับแปลใหม่.
19. สามีภรรยาจะได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าโดยวิธีใด?
19 อย่างไรก็ตาม มาลาคีชี้ในด้านดีว่ามีสามีบางคนที่ไม่ได้ทรยศต่อภรรยา. พวกเขา ‘มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าส่วนที่ยังเหลืออยู่.’ (ข้อ 15, ล.ม.) น่ายินดี องค์การของพระเจ้าในปัจจุบันเต็มไปด้วยชายที่เป็นเช่นนั้นซึ่ง “ให้เกียรติแก่ภรรยา.” (1 เปโตร 3:7, ฉบับแปลใหม่) สามีเหล่านี้ไม่ทำร้ายภรรยาไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจา, พวกเขาไม่รบเร้าขอมีเพศสัมพันธ์แบบที่เสื่อมทราม, และไม่ทำให้ภรรยาเสื่อมเสียเกียรติด้วยการทำก้อร่อก้อติกกับผู้หญิงอื่นหรือด้วยการดูสื่อลามก. องค์การของพระยะโฮวายังได้รับพระพรด้วยจากการมีคริสเตียนที่เป็นภรรยาผู้ซื่อสัตย์จำนวนมากซึ่งภักดีต่อพระเจ้าและกฎหมายของพระองค์. ชายหญิงเหล่านี้ทั้งหมดทราบว่าพระเจ้าทรงเกลียดอะไร และพวกเขาคิดและทำสอดคล้องกับสิ่งที่เขาทราบนั้น. จงดำเนินต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับพวกเขา “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครอง” และได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างบริบูรณ์.—กิจการ 5:29, ล.ม.
20. ใกล้จะถึงเวลาอะไรสำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้น?
20 ในไม่ช้า พระยะโฮวาจะนำการพิพากษามาสู่โลกทั้งสิ้น. ทุกคนจะต้องตอบพระองค์ในเรื่องความเชื่อและการกระทำของตน. “เราแต่ละคนจะให้การต่อพระเจ้าเกี่ยวกับตัวเอง.” (โรม 14:12, ล.ม.) ดังนั้น ถึงตรงนี้จึงมีคำถามที่น่าพิจารณาคือ ใครจะรอดพ้นวันของพระยะโฮวา? เรื่องที่สามและสุดท้ายในบทความชุดนี้จะพิจารณาหัวข้อนี้.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระยะโฮวาทรงตำหนิพวกปุโรหิตในอิสราเอลด้วยเหตุผลพื้นฐานอะไร?
• เหตุใดมาตรฐานของพระเจ้าไม่ได้สูงจนเกินไปที่มนุษย์จะบรรลุได้?
• เหตุใดเราควรระวังการสอนของเราในปัจจุบัน?
• การกระทำสองอย่างอะไรที่พระยะโฮวาทรงตำหนิเป็นพิเศษ?
[ภาพหน้า 15]
ในสมัยของมาลาคี พวกปุโรหิตถูกตำหนิเนื่องจากไม่ได้รักษาแนวทางของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 16]
เราต้องระวังที่จะสอนแนวทางของพระยะโฮวาเสมอ และไม่ส่งเสริมความชอบส่วนตัว
[ภาพหน้า 18]
พระยะโฮวาทรงตำหนิชาวอิสราเอลที่หย่าภรรยาโดยอ้างเหตุผลที่ไม่สำคัญแล้วไปสมรสกับหญิงนอกรีต
[ภาพหน้า 18]
คริสเตียนในปัจจุบันรักษาสัญญาแห่งการสมรสของตน