พระยะโฮวาทรงตกแต่งไพร่พลของพระองค์ด้วยความสว่าง
“ลุกขึ้นเถอะ, [“หญิงเอ๋ย,” ล.ม.], จงส่องแสง! เพราะว่าแสงสว่างของเจ้ามาแล้ว, และสง่าราศีของพระยะโฮวาได้ลงมาจับอยู่บนเจ้าแล้ว.”—ยะซายา 60:1.
1, 2. (ก) มนุษยชาติอยู่ในสภาพเช่นไร? (ข) ใครอยู่เบื้องหลังความมืดที่ครอบงำมนุษยชาติ?
“เราจำเป็นต้องมีคนอย่างยะซายาหรือนักบุญเปาโล!” คำพูดประโยคนี้เป็นเสียงร้องทุกข์ของแฮร์รี ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐ ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1940. ทำไมเขาเอ่ยขึ้นมาอย่างนี้? เพราะเขาสำนึกว่าโลกยุคนั้นจำเป็นต้องมีผู้นำด้านศีลธรรมที่มีคุณงามความดีสูงสุด. มนุษยชาติเพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 คือสงครามโลกครั้งที่สอง. แม้ว่าสงครามนั้นสิ้นสุดลงแล้ว แต่โลกก็ยังไม่มีสันติภาพ. ความมืดยังคงอยู่. ที่จริง 57 ปีผ่านไปแล้วหลังจากสงครามนั้น แต่โลกก็ยังอยู่ในความมืด. หากประธานาธิบดีทรูแมนยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ เขาก็จะยังคงเห็นว่าจำเป็นต้องมีผู้นำด้านศีลธรรมอย่างยะซายาหรืออัครสาวกเปาโลอยู่นั่นเอง.
2 ไม่ว่าประธานาธิบดีทรูแมนทราบหรือไม่ก็ตาม อัครสาวกเปาโลได้กล่าวถึงความมืดที่ก่อผลเป็นความทุกข์แก่มนุษยชาติ และท่านเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในข้อเขียนของท่าน. ตัวอย่างเช่น ท่านเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อดังนี้: “เรามีการปล้ำสู้ ไม่ใช่กับเลือดและเนื้อ แต่ต่อสู้กับการปกครอง ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ต่อสู้กับผู้ครอบครองโลกแห่งความมืดนี้ ต่อสู้กับอำนาจวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟโซ 6:12, ล.ม.) โดยกล่าวอย่างนี้ เปาโลไม่เพียงแต่แสดงว่าท่านสำนึกว่ามีความมืดฝ่ายวิญญาณครอบงำโลกนี้อยู่ แต่ท่านยังทราบด้วยว่าใครคือผู้ก่อให้เกิดความมืดดังกล่าว ซึ่งก็คือกองกำลังแห่งผีปิศาจที่มีอำนาจซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ครอบครองโลก.” เนื่องจากกายวิญญาณที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลังความมืดของโลกนี้ มนุษย์ธรรมดาอย่างเราจะขับไล่ความมืดนี้ได้อย่างไร?
3. แม้มนุษยชาติอยู่ในความมืด ยะซายาบอกล่วงหน้าเช่นไรเกี่ยวกับเหล่าผู้ซื่อสัตย์?
3 ในทำนองเดียวกัน ยะซายาได้กล่าวถึงความมืดที่มีผลต่อมนุษยชาติ. (ยะซายา 8:22; 59:9) อย่างไรก็ตาม โดยมองมาถึงสมัยของเรา ท่านได้รับการดลใจให้บอกล่วงหน้าว่าแม้แต่ในยุคมืดเช่นนี้ พระยะโฮวาจะทรงทำให้ผู้ที่รักความสว่างมีความคาดหวังที่แจ่มใส. แม้ว่าเปาโลและยะซายาไม่ได้อยู่กับเรา แต่เรามีคำจารึกของท่านทั้งสองซึ่งเขียนขึ้นโดยการดลใจเพื่อช่วยชี้นำเรา. เพื่อจะเห็นว่านั่นเป็นพระพรเช่นไรสำหรับผู้ที่รักพระยะโฮวา ขอให้เราพิจารณาถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของยะซายาซึ่งจะพบได้ในบทที่ 60 ของพระธรรมที่ท่านได้เขียน.
ผู้หญิงเชิงพยากรณ์ฉายความสว่าง
4, 5. (ก) พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาให้ผู้หญิงคนหนึ่งทำอะไร และพระองค์ทรงสัญญาอะไร? (ข) ยะซายาบท 60 มีข้อมูลอะไรที่น่าตื่นเต้น?
4 ข้อความในส่วนต้นของยะซายาบท 60 กล่าวถึงหญิงคนหนึ่งซึ่งมีสภาพที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง—นอนหมอบราบอยู่กับพื้นในความมืดมิด. ทันใดนั้นเอง มีแสงส่องทะลุความมืดเข้ามา และพระยะโฮวาทรงเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า “ลุกขึ้นเถอะ, [“หญิงเอ๋ย,” ล.ม.], จงส่องแสง! เพราะว่าแสงสว่างของเจ้ามาแล้ว, และสง่าราศีของพระยะโฮวาได้ลงมาจับอยู่บนเจ้าแล้ว.” (ยะซายา 60:1) ถึงเวลาแล้วที่หญิงโดยนัยผู้นี้จะยืนขึ้นและสะท้อนความสว่างหรือสง่าราศีของพระเจ้า. เพราะเหตุใด? เราพบคำตอบในข้อต่อมาว่า “ดูเถอะ, ความมืดจะแผ่ปิดโลกไว้มิด, และความมืดทึบจะคลุมประชาชนไว้; แต่ส่วนเจ้า, พระยะโฮวาจะส่องแสงให้, และให้สง่าราศีของพระองค์จับปรากฏอยู่บนเจ้า.” (ยะซายา 60:2) เมื่อหญิงผู้นี้เชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวา เธอย่อมได้รับผลอันยอดเยี่ยมอย่างแน่นอน. พระยะโฮวาตรัสว่า “ประชาชาติจะดำเนินตามแสงสว่างของเจ้า, และกษัตริย์ทั้งหลายจะดำเนินตามแสงสว่างอันจ้าของเจ้า.”—ยะซายา 60:3.
5 ถ้อยคำอันน่าตื่นเต้นในสามข้อนี้เป็นทั้งบทนำและคำสรุปของเนื้อความส่วนที่เหลือทั้งหมดของยะซายาบท 60. ยะซายาบทนี้บอกล่วงหน้าถึงประสบการณ์ของผู้หญิงเชิงพยากรณ์และอธิบายวิธีที่เราจะสามารถดำรงอยู่ในความสว่างของพระยะโฮวาได้ แม้ว่าความมืดได้เข้าครอบงำมนุษยชาติ. ทว่า สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในสามข้อแรกนี้หมายถึงอะไร?
6. ใครคือผู้หญิงที่ยะซายาบท 60 กล่าวถึง และใครเป็นตัวแทนของเธอบนแผ่นดินโลก?
6 ผู้หญิงในยะซายา 60:1-3 ได้แก่ซีโอน องค์การทางภาคสวรรค์ของพระยะโฮวาซึ่งประกอบด้วยเหล่ากายวิญญาณ. ปัจจุบัน ซีโอนมีตัวแทนบนแผ่นดินโลกคือชนที่เหลือแห่ง “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” ประชาคมนานาชาติแห่งคริสเตียนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณ ซึ่งมีความหวังจะปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.) ชาติฝ่ายวิญญาณชาตินี้มีสมาชิกทั้งหมด 144,000 คน และความสำเร็จเป็นจริงของยะซายาบท 60 ในสมัยปัจจุบันรวมจุดอยู่ที่สมาชิกของชาตินี้ซึ่งมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกในช่วง “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; วิวรณ์ 14:1) คำพยากรณ์นี้ยังได้ให้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับมิตรสหายของคริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ด้วย ซึ่งก็คือ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น.”—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; โยฮัน 10:16.
7. สภาพของซีโอนในปี 1918 เป็นเช่นไร และเรื่องนี้ได้มีคำพยากรณ์ไว้อย่างไร?
7 มีช่วงเวลาหนึ่งไหมที่ “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า” จมอยู่ในความมืด ดังที่มีการให้ภาพล่วงหน้าโดยผู้หญิงเชิงพยากรณ์นั้น? ใช่แล้ว สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ต่อสู้อย่างหนักเพื่องานให้คำพยานจะดำเนินต่อไป. แต่ในปี 1918 อันเป็นปีสุดท้ายของสงคราม งานประกาศอย่างเป็นระบบระเบียบแทบจะยุติลงโดยสิ้นเชิง. โจเซฟ เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่งในตอนนั้นทำหน้าที่ดูแลงานประกาศทั่วโลก รวมทั้งคริสเตียนคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่นำหน้า ถูกตัดสินให้จำคุกระยะยาวด้วยข้อกล่าวหาเท็จ. ในพระธรรมวิวรณ์ มีการพรรณนาเชิงพยากรณ์ถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกในตอนนั้นว่าเป็นศพอยู่ “บนถนนกว้างของเมืองใหญ่ซึ่งถูกเรียกในความหมายฝ่ายวิญญาณว่าโซโดมและอียิปต์.” (วิวรณ์ 11:8, ล.ม.) นั่นนับว่าเป็นช่วงเวลาอันมืดมนอย่างแท้จริงสำหรับซีโอน ซึ่งมีบุตรที่เป็นผู้ถูกเจิมเป็นตัวแทนอยู่บนแผ่นดินโลก!
8. เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งเช่นไรในปี 1919 และพร้อมด้วยผลเช่นไร?
8 อย่างไรก็ตาม ในปี 1919 มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่ง. พระยะโฮวาทรงฉายความสว่างลงบนซีโอน! อิสราเอลของพระเจ้าที่ยังมีอยู่ลุกขึ้นยืนเพื่อสะท้อนความสว่างของพระเจ้า ทำงานประกาศข่าวดีอีกครั้งหนึ่งโดยปราศจากความกลัว. (มัดธาย 5:14-16) เนื่องด้วยความมีใจแรงกล้าที่ฟื้นขึ้นใหม่ของคริสเตียนเหล่านี้ คนอื่น ๆ ถูกชักนำให้เข้ามาสู่ความสว่างของพระยะโฮวา. ในตอนแรกเริ่ม ผู้ที่เข้ามาใหม่ได้รับการเจิมในฐานะสมาชิกที่เพิ่มเข้ากับชาติอิสราเอลของพระเจ้า. มีการพรรณนาที่ยะซายา 60:3 ว่าพวกเขาเป็นกษัตริย์ เนื่องจากพวกเขาจะเป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 20:6) ในเวลาต่อมา ชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นก็เริ่มได้รับการชักนำให้เข้ามาสู่ความสว่างของพระยะโฮวา. คนเหล่านี้คือ “ประชาชาติ” ตามที่กล่าวไว้ในคำพยากรณ์.
บุตรของผู้หญิงนั้นกลับมาบ้าน!
9, 10. (ก) ผู้หญิงนั้นได้เห็นภาพอะไรอันน่าทึ่ง และนี่เป็นภาพเล็งถึงอะไร? (ข) ซีโอนมีเหตุผลอะไรที่จะยินดี?
9 ถึงตอนนี้ พระยะโฮวาทรงเริ่มเสริมรายละเอียดมากขึ้นเข้ากับเค้าโครงที่ยะซายา 60:1-3. พระองค์ทรงมีพระบัญชาอีกข้อหนึ่งแก่ผู้หญิงนั้น. ขอให้ฟังสิ่งที่พระองค์ตรัส: “จงเงยหน้าเหลียวตาดูไปรอบ ๆ!” ผู้หญิงนั้นทำตาม และสิ่งที่เธอเห็นช่างเป็นภาพที่ทำให้อบอุ่นใจสักเพียงไร! บุตรทั้งหลายของเธอกำลังกลับมาบ้าน. ข้อพระคัมภีร์กล่าวต่อไปอีกว่า “เขาทั้งหมดรวบรวมกันเข้ามา, เขาทั้งหลายมาหาเจ้า, บุตรชายทั้งหลายของเจ้าจะมาแต่เมืองไกล, และบุตรหญิงทั้งหลายของเจ้าจะถูกใส่เอวอุ้มมา.” (ยะซายา 60:4) การประกาศเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วโลกซึ่งเริ่มในปี 1919 ชักนำคนใหม่ ๆ หลายพันคนให้เข้ามารับใช้พระยะโฮวา. คนเหล่านี้ด้วยเช่นกันที่ได้กลายมาเป็น “บุตรชาย” และ “บุตรหญิง” ของซีโอน กล่าวคือสมาชิกผู้ถูกเจิมแห่งชาติอิสราเอลของพระเจ้า. โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาทรงตกแต่งซีโอนให้งดงามโดยนำกลุ่มสุดท้ายแห่งชน 144,000 คนสู่ความสว่าง.
10 คุณนึกภาพออกไหมถึงความยินดีของซีโอนเมื่อลูก ๆ มาอยู่กับเธอ? กระนั้น พระยะโฮวาทรงโปรดให้ซีโอนมีเหตุผลเพิ่มขึ้นอีกที่จะยินดี. เราอ่านดังนี้: “เมื่อเจ้าเห็นแล้วเจ้าจะปลาบปลื้ม, และเจ้าจะตื่นเต้นดีใจ; เพราะว่าความอุดมสมบูรณ์แห่งทะเลจะกลับมาสู่เจ้า, ความมั่งคั่งของประชาชาติจะมาถึงเจ้า.” (ยะซายา 60:5) สอดคล้องกับคำพยากรณ์ดังกล่าว นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา คริสเตียนจำนวนมากมายที่มีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกได้หลั่งไหลสู่ซีโอน. พวกเขาได้ออกมาจาก “ทะเล” แห่งมนุษยชาติที่เหินห่างจากพระเจ้าและพวกเขาเป็นความมั่งคั่งของประชาชาติ. พวกเขาเป็น “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง.” (ฮาฆี 2:7, ล.ม.; ยะซายา 57:20) โปรดสังเกตด้วยว่า “สิ่งน่าปรารถนา” เหล่านี้ไม่ได้ต่างคนต่างรับใช้พระยะโฮวาตามวิธีของตนเอง. แต่พวกเขาเพิ่มความงามให้แก่ซีโอนโดยเข้ามานมัสการร่วมกันกับเหล่าพี่น้องผู้ถูกเจิม โดยที่ทั้งสองกลุ่มกลายมาเป็น “ฝูงเดียว, และมีผู้เลี้ยงผู้เดียว.”—โยฮัน 10:16.
พ่อค้าและคนเลี้ยงแกะมายังซีโอน
11, 12. จงพรรณนาฝูงชนที่กำลังมุ่งสู่ซีโอน.
11 ผลของการรวบรวมที่มีบอกไว้ล่วงหน้านี้ก็คือ จำนวนของผู้สรรเสริญพระยะโฮวาเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด. เรื่องนี้มีบอกไว้ล่วงหน้าในคำพยากรณ์ส่วนต่อไป. ขอให้นึกภาพว่าคุณกำลังยืนอยู่กับผู้หญิงเชิงพยากรณ์นี้บนภูเขาซีโอน. คุณมองไปทางตะวันออก และคุณเห็นอะไร? “ฝูงอูฐล้นหลามจะเต็มบ้านเต็มเมือง, ลูกอูฐเมืองมิดยานและเมืองเอพาและเมืองซีบาก็จะมา, คนทั้งหลายจะนำทองคำกับกำยานมา, และเขาจะร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา.” (ยะซายา 60:6) กลุ่มพวกพ่อค้านำกองคาราวานอูฐเดินทางตามเส้นทางที่มุ่งสู่กรุงเยรูซาเลม. อูฐเหล่านี้มีมากราวกับน้ำที่ไหลหลากท่วมแผ่นดิน! พวกพ่อค้านำของขวัญมีค่าติดตัวมาด้วยคือ “ทองคำกับกำยาน.” และพ่อค้าเหล่านี้เข้ามาสู่ความสว่างของพระเจ้าเพื่อจะสรรเสริญพระองค์อย่างเปิดเผย เพื่อ “ร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา.”
12 พวกพ่อค้าไม่ใช่พวกเดียวที่เดินทางมา. พวกคนเลี้ยงแกะก็พากันมายังซีโอนด้วย. คำพยากรณ์กล่าวต่อไปว่า “ฝูงสัตว์ทั้งหมดแห่งเมืองเคดารจะมาห้อมล้อมเจ้า, ฝูงแกะตัวผู้ของเมืองนะบาโยธจะมารับใช้เจ้า.” (ยะซายา 60:7ก) ชนเผ่าที่เลี้ยงแกะกำลังพากันมาที่เมืองบริสุทธิ์เพื่อถวายสัตว์ที่ดีที่สุดจากฝูงแด่พระยะโฮวา. พวกเขาถึงกับถวายตัวเองเพื่อรับใช้ซีโอน! พระยะโฮวาทรงต้อนรับคนต่างชาติเหล่านี้อย่างไร? พระเจ้าเองทรงให้คำตอบว่า “มันทั้งหลายจะขึ้นไปบนแท่นบูชาของเราเป็นเครื่องสักการบูชาอย่างโปรดปราน, และเราจะให้สง่าราศีแก่วิหารอันรุ่งเรืองของเรา.” (ยะซายา 60:7ข) พระยะโฮวาทรงพระกรุณารับเครื่องบูชาและการรับใช้จากคนต่างชาติเหล่านี้. ของถวายของพวกเขาตกแต่งพระวิหารของพระองค์ให้งดงาม.
13, 14. สิ่งที่เห็นว่ากำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาจากทางตะวันตกนั้นคืออะไร?
13 ทีนี้ ขอให้หันไปกวาดตามองขอบฟ้าด้านตะวันตก. คุณเห็นอะไร? ที่เห็นอยู่ในระยะไกลคือสิ่งที่ดูแล้วคล้ายกับเมฆขาวแผ่คลุมเหนือพื้นทะเล. พระยะโฮวาตรัสถามอย่างที่คุณเองคงนึกสงสัย: “ใครหนอล่องลอยมาดุจดังเมฆ, ดุจนกพิราบมาจับที่หน้าต่าง?” (ยะซายา 60:8) พระยะโฮวาตรัสตอบคำถามของพระองค์เองว่า “เหล่าเรือกำปั่นเข้ามารวมลำกันเพื่อเรา, มีกำปั่นเมืองธาระซิศเป็นเรือนำ, เพื่อจะพาเอาบุตรชายของเจ้ามาจากเมืองไกล, พามาพร้อมกับเงินและทองของเขา, เป็นเกียรติยศแก่พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, องค์บริสุทธิ์ของชนชาติยิศราเอล, เพราะว่าพระองค์ได้กระทำให้เจ้ามีสง่าราศี [“ตกแต่งเจ้าให้งดงาม,” ล.ม.].”—ยะซายา 60:9.
14 คุณนึกภาพออกไหม? เมฆขาวนั้นได้เคลื่อนตัวเข้ามาและในตอนนี้ดูคล้ายกับกลุ่มของจุดเล็ก ๆ ที่แผ่ไกลออกไปทางตะวันตก. กลุ่มของจุดเหล่านี้ดูคล้ายกับฝูงนกที่กำลังบินเรี่ยคลื่น. แต่เมื่อใกล้เข้ามา คุณจึงเห็นว่าจุดเหล่านี้คือเรือที่กางใบรับลม. เรือจำนวนมากมายกำลังแล่นสู่กรุงเยรูซาเลมจนดูคล้ายกับฝูงนกพิราบ. จากท่าเรือต่าง ๆ อันไกลโพ้น ขบวนเรือเหล่านี้กำลังแล่นด้วยความเร็วเต็มอัตรา นำผู้เชื่อถือมายังกรุงเยรูซาเลมเพื่อนมัสการพระยะโฮวา.
องค์การของพระยะโฮวาแผ่ขยาย
15. (ก) ข้อความที่ยะซายา 60:4-9 บอกล่วงหน้าถึงการเพิ่มทวีอะไร? (ข) คริสเตียนแท้แสดงน้ำใจเช่นไร?
15 ข้อ 4 ถึง 9 ช่างให้ภาพพยากรณ์ที่ชัดเจนจริง ๆ เกี่ยวกับการแผ่ขยายไปทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1919 เป็นต้นมา! เหตุใดพระยะโฮวาทรงอวยพรซีโอนให้มีการเพิ่มทวีเช่นนั้น? เพราะนับตั้งแต่ปี 1919 ชาติอิสราเอลของพระเจ้าได้เชื่อฟังพระองค์โดยฉายความสว่างของพระองค์ออกไปอย่างสม่ำเสมอ. แต่คุณสังเกตไหมว่าผู้มาใหม่เหล่านี้ “ขึ้นไปบนแท่นบูชา [ของพระเจ้า]” ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 7? แท่นบูชาคือที่ถวายเครื่องบูชา และจุดเด่นของคำพยากรณ์ส่วนนี้เตือนใจเราว่าการรับใช้พระยะโฮวาหมายรวมถึงการถวายเครื่องบูชา. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายร่างกายของท่านเป็นเครื่องบูชาอันมีชีวิตอยู่, บริสุทธิ์, ที่พระเจ้าทรงยอมรับได้, เป็นการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์พร้อมด้วยความสามารถของท่านในการหาเหตุผล.” (โรม 12:1, ล.ม.) สอดคล้องกับคำกล่าวของเปาโล คริสเตียนแท้ไม่พอใจเพียงแค่เข้าร่วมปฏิบัติกิจทางศาสนาสัปดาห์ละครั้ง. พวกเขาอุทิศเวลา, พลังงาน, และทรัพย์สินเพื่อส่งเสริมการนมัสการบริสุทธิ์. การมีผู้นมัสการที่ทุ่มเทตัวเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ตกแต่งพระวิหารของพระยะโฮวาให้งดงามมิใช่หรือ? คำพยากรณ์ของยะซายากล่าวไว้อย่างนั้น. และเมื่อเป็นอย่างนั้น เราแน่ใจได้ว่าผู้นมัสการที่มีใจแรงกล้าเช่นนั้นงดงามในสายพระเนตรพระยะโฮวา.
16. ใครให้ความช่วยเหลืองานสร้างพระวิหารและกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่ในสมัยโบราณ และใครได้ให้ความช่วยเหลืองานก่อสร้างในสมัยปัจจุบัน?
16 ผู้ที่มาใหม่ต้องการทำงาน. คำพยากรณ์กล่าวต่อไปอีกว่า “คนต่างชาติจะสร้างกำแพงของเจ้า, และกษัตริย์ทั้งหลายของเขาจะปรนนิบัติเจ้า.” (ยะซายา 60:10) ในความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรกตามคำพยากรณ์นี้ย้อนกลับไปในสมัยที่กลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน กษัตริย์และคนอื่น ๆ จากชาติทั้งหลายได้ให้ความช่วยเหลือจริง ๆ ในการสร้างพระวิหารและกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่. (เอษรา 3:7; นะเฮมยา 3:26) ในความสำเร็จเป็นจริงสมัยปัจจุบัน ชนฝูงใหญ่ได้สนับสนุนชนที่เหลือผู้ถูกเจิมในการเสริมสร้างการนมัสการแท้. พวกเขาได้ช่วยก่อตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้นในที่ต่าง ๆ และโดยวิธีนี้ช่วยเสริม “กำแพง” แห่งองค์การของพระยะโฮวาซึ่งเป็นดุจเมืองให้เข้มแข็ง. พวกเขามีส่วนร่วมด้วยเช่นกันในการสร้างตามตัวอักษร กล่าวคือ การสร้างหอประชุมราชอาณาจักร, หอประชุมใหญ่, และสำนักงานเบเธล. ในทุกวิธีตามที่ได้กล่าวไป พวกเขาสนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมในการดูแลความจำเป็นต่าง ๆ ในองค์การของพระยะโฮวาซึ่งกำลังแผ่ขยาย!
17. วิธีหนึ่งที่พระยะโฮวาทรงตกแต่งไพร่พลของพระองค์ให้งดงามคืออะไร?
17 คำตรัสตอนท้ายข้อของยะซายา 60:10 ช่างให้กำลังใจสักเพียงไร! พระยะโฮวาตรัสดังนี้: “ถึงแม้ว่าเราได้โบยตีเจ้าในยามโกรธ, แต่ในยามโปรดปรานเราก็สงสารเจ้า.” ถูกแล้ว ย้อนไปในปี 1918/1919 พระยะโฮวาทรงตีสอนไพร่พลของพระองค์จริง ๆ. แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว. เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่พระยะโฮวาทรงแสดงความเมตตาต่อผู้รับใช้ของพระองค์ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นสหายของพวกเขา. หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้นคือการเพิ่มทวีอย่างน่าทึ่งที่พระองค์ได้ทรงอวยพรพวกเขา ราวกับ ‘ทรงตกแต่งพวกเขาให้งดงาม.’
18, 19. (ก) พระยะโฮวาทรงสัญญาเช่นไรเกี่ยวกับคนใหม่ ๆ ที่เข้ามายังองค์การของพระองค์? (ข) ข้อที่เหลือในยะซายาบท 60 บอกเราเกี่ยวกับอะไร?
18 แต่ละปีมี “คนต่างชาติ” หลายแสนคนเข้ามาสมทบกับองค์การของพระยะโฮวา และทางก็ยังเปิดให้มีคนอื่น ๆ อีกมากที่จะตามเข้ามา. พระยะโฮวาตรัสแก่ซีโอนว่า “ประตูเมืองของเจ้าจะเปิดอยู่ร่ำไป, ตลอดวันตลอดคืนจะไม่มีเวลาปิดเลย, เพื่อคนทั้งหลายจะได้นำทรัพย์สมบัติจากประเทศต่าง ๆ มาให้เจ้า, มีเหล่ากษัตริย์เป็นผู้นำ.” (ยะซายา 60:11) ผู้ต่อต้านบางคนพยายามปิด “ประตู” เหล่านี้ แต่เราทราบว่าพวกเขาไม่มีทางปิดได้. พระยะโฮวาเองตรัสว่าไม่ว่าจะอย่างไร ประตูนั้นจะเปิดอยู่ตลอด. จะมีการเพิ่มทวีต่อไป.
19 ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกที่พระยะโฮวาได้ทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์และตกแต่งพวกเขาให้งดงามในสมัยสุดท้ายนี้. ข้อที่เหลือในยะซายาบท 60 แสดงให้เห็นว่าวิธีเหล่านั้นคืออะไร.
คุณอธิบายได้ไหม?
• “หญิง” ของพระเจ้าได้แก่ใคร และใครเป็นตัวแทนของเธอบนแผ่นดินโลก?
• บุตรของซีโอนนอนหมอบราบกับพื้นเมื่อไร และพวกเขา “ลุกขึ้น” เมื่อไรและอย่างไร?
• โดยใช้สัญลักษณ์ที่ต่างกันออกไป พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าอย่างไรเกี่ยวกับการเพิ่มทวีจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักรในทุกวันนี้?
• พระยะโฮวาโปรดให้ความสว่างฉายลงบนไพร่พลของพระองค์โดยวิธีใดบ้าง?
[ภาพหน้า 10]
“หญิง” ของพระยะโฮวาได้รับพระบัญชาให้ลุกขึ้น
[ภาพหน้า 12]
กองเรือที่ดูราวกับนกพิราบจับอยู่ที่ขอบฟ้า