วิธีปลูกฝังทัศนะที่สมดุลในเรื่องงาน
ในโลกทุกวันนี้ที่มีความกดดันสูงจากภาวะตลาดโลก, การแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย, และการผลิตสินค้าในปริมาณมาก ๆ โดยใช้เครื่องจักร หลายคนจึงไม่กระตือรือร้นที่จะไปทำงานในแต่ละวัน. กระนั้น เราน่าจะชื่นชมกับงานของเรา. เพราะเหตุใด? เพราะเราถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้า และพระเจ้าทรงเพลิดเพลินในงานของพระองค์. ตัวอย่างเช่น เมื่อทบทวนสิ่งที่พระองค์ทรงทำไปแล้วในตอนสิ้นสุดของ “วัน” แห่งการทรงสร้างหกวัน หรือช่วงเวลาที่ยาวนาน เยเนซิศ 1:31 กล่าวว่า “พระเจ้าทอดพระเนตรดูสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั้นเห็นว่าดีนัก.”
ความรักที่พระยะโฮวาทรงมีต่องานเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัยที่มีการเรียกพระองค์ว่า “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11) ดังนั้นแล้ว เป็นเรื่องมีเหตุผลมิใช่หรือที่ว่า ยิ่งเราเลียนแบบพระองค์มากเท่าใด เราก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น? ในเรื่องนี้ กษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติอิสราเอลโบราณซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างและผู้จัดระเบียบที่โดดเด่นทรงเขียนไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนควรกินและดื่มด้วยและเห็นสิ่งดีจากงานหนักทั้งสิ้นของเขา. นั่นเป็นของประทานจากพระเจ้า.”—ท่านผู้ประกาศ 3:13, ล.ม.
การปลูกฝังทัศนะที่ดีงามและสมดุลเรื่องงานในสถานที่ทำงานทุกวันนี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องยาก. แต่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประทานบำเหน็จแก่คนเหล่านั้นที่เอาใจใส่การชี้นำด้วยความรักของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:99, 100) คนเช่นนั้นกลายเป็นลูกจ้างที่มีคุณค่าและไว้ใจได้ ฉะนั้น โอกาสที่เขาจะตกงานจึงมีน้อย. เขายังเรียนที่จะพิจารณาดูชีวิตและงานของตนไม่เพียงจากมุมมองในแง่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในแง่ฝ่ายวิญญาณด้วย. นี่ทำให้เขาสามารถตัดสินใจอย่างที่มีความรับผิดชอบในชีวิตและเห็นว่าความสุขและความสำนึกในเรื่องความมั่นคงของเขานั้นมิได้ถูกกำหนดโดยงานที่เขาทำหรือภาวะตลาดงานที่มักเปลี่ยนอยู่เสมอ. (มัดธาย 6:31-33; 1 โกรินโธ 2:14, 15) นั่นช่วยเขาให้ปลูกฝังหลักจรรยาในการทำงานที่สมดุลอย่างแท้จริง.
จงปลูกฝังหลักจรรยาในการทำงานที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย
บางคนเป็นคนบ้างาน โดยเอางานของตนขึ้นหน้าสิ่งอื่นทั้งหมด. คนอื่นคอยเวลาเลิกงานด้วยใจจดจ่อเพื่อจะได้หยุดทำงานแล้วกลับบ้าน. ทัศนะที่สมดุลเป็นเช่นไร? คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบว่า “การพักผ่อนกำมือหนึ่งก็ยังดีกว่างานหนักและการวิ่งไล่ตามลมสองกำมือ.” (ท่านผู้ประกาศ 4:6, ล.ม.) ที่จริง การทำงานหนักเกินไปหรือนานเกินไปก่อผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือ “การวิ่งไล่ตามลม” โดยไร้ประโยชน์. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะเราอาจก่อความเสียหายแก่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งก็คือ สัมพันธภาพระหว่างเรากับครอบครัวและมิตรสหาย, สภาพฝ่ายวิญญาณ, สุขภาพของเรา, และแม้แต่การมีอายุยืนด้วยซ้ำ. (1 ติโมเธียว 6:9, 10) ทัศนะที่สมดุลคืออิ่มใจกับการมีสมบัติวัตถุน้อยขณะที่ชื่นชมกับความสงบสุขพอสมควร แทนที่จะแบกภาระของงานสองกำมือพร้อมกับการแข่งขันและความทุกข์.
ขณะที่สนับสนุนให้มีทัศนะที่สมดุลดังกล่าว คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เห็นชอบกับความเกียจคร้าน. (สุภาษิต 20:4) ความเกียจคร้านกัดกร่อนความนับถือตัวเองและความนับถือที่คนอื่นอาจมีต่อเรา. ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น ความเกียจคร้านยังบ่อนทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าคนที่ไม่ยอมทำงานก็ไม่สมควรกินโดยอาศัยค่าใช้จ่ายของคนอื่น. (2 เธซะโลนิเก 3:10) แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาควรจะเปลี่ยนนิสัยและขยันทำงาน โดยวิธีนี้จึงจัดหาสิ่งยังชีพอย่างซื่อตรงให้แก่ตัวเองและคนที่ต้องพึ่งอาศัยเขา. ด้วยการขยันทำงาน เขาอาจถึงกับสามารถช่วยคนเหล่านั้นที่ขัดสนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่พระคำของพระเจ้าสนับสนุน.—สุภาษิต 21:25, 26; เอเฟโซ 4:28.
ได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่วัยเด็กให้เห็นคุณค่าของงาน
นิสัยการทำงานที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มีการเรียนรู้นิสัยดังกล่าวในวัยเด็ก. ฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนบิดามารดาว่า “จงฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น: และเมื่อแก่ชราแล้วเขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” (สุภาษิต 22:6) นอกจากวางตัวอย่างที่ดีในการเป็นคนทำงานแล้ว บิดามารดาที่ฉลาดเริ่มฝึกลูกเล็ก ๆ โดยการมอบให้เขาทำงานบ้านที่เหมาะกับอายุของเขา. ถึงแม้เด็ก ๆ อาจขัดเคืองใจในการทำงานบางอย่าง พวกเขาจะถือว่าตัวเองเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ชมเชยเขาสำหรับงานที่ทำได้ดี. น่าเสียดาย บิดามารดาบางคนพะนอบุตรของตน บางทีเนื่องจากความกรุณาที่ไม่ถูกทาง. บิดามารดาเช่นนั้นควรไตร่ตรองดูสุภาษิต 29:21 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “ถ้าผู้ใดพะนอคนใช้ [หรือบุตร] ของตนตั้งแต่เยาว์วัย ในช่วงชีวิตต่อมาเขาจะถึงกับเป็นคนไม่สำนึกบุญคุณเสียเลย.”
บิดามารดาที่รับผิดชอบยังมีความสนใจอย่างแรงกล้าในการศึกษาเล่าเรียนของลูก ๆ ด้วย โดยสนับสนุนพวกเขาให้ขยันหมั่นเพียรในการเรียนเมื่ออยู่ที่โรงเรียน. นี่จะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนในภายหลังเมื่อเขาต้องทำงานฝ่ายโลก.
จงเป็นคนฉลาดในการเลือกงานของคุณ
ถึงแม้ไม่ได้บอกเราว่าควรทำงานชนิดใด คัมภีร์ไบเบิลให้แนวแนะที่ดีแก่เราเพื่อการทำงานจะไม่เกิดผลเสียหายต่อความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ, การรับใช้พระเจ้าของเรา, และหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญอื่น ๆ. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เวลาที่เหลืออยู่นั้นลดน้อยลง. จากนี้ไป ให้คนที่ . . . ใช้ประโยชน์จากโลกนี้ [เป็น] เหมือนมิได้ใช้อย่างเต็มที่; เพราะฉากของโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป.” (1 โกรินโธ 7:29-31, ล.ม.) ไม่มีอะไรที่คงทนถาวรอย่างแท้จริงในระบบปัจจุบัน. การทุ่มเทเวลาและพลังทั้งสิ้นของเราแก่ระบบนี้เป็นเหมือนการเอาเงินที่เราเก็บออมมาตลอดชีวิต มาลงทุนในบ้านที่สร้างขึ้นในบริเวณที่รู้กันว่าน้ำท่วม. ช่างเป็นการลงทุนที่โง่เขลาอะไรเช่นนี้!
คัมภีร์ไบเบิลในฉบับแปลอื่นแปลวลี “มิได้ใช้อย่างเต็มที่” ว่า “มิได้หมกมุ่นอย่างเต็มที่.” (ฉบับแปล ทูเดส์ อิงลิช) ผู้คนที่ฉลาดไม่เคยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าเวลา “ลดน้อยลง” สำหรับระบบปัจจุบันและการ “หมกมุ่น” ในระบบนี้จะนำไปสู่ความผิดหวังและความเสียใจอย่างเลี่ยงไม่พ้น.—1 โยฮัน 2:15-17.
‘พระเจ้าจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย’
พระยะโฮวาทรงทราบความจำเป็นของเราดียิ่งกว่าเราเสียอีก. พระองค์ยังทราบด้วยว่าเราอยู่ตรงไหนในกระแสเวลาแห่งการทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นจริง. ฉะนั้น พระองค์ทรงเตือนเราว่า “จงให้วิถีชีวิตของท่านพ้นจากการรักเงิน ขณะที่ท่านอิ่มใจด้วยสิ่งของที่มีอยู่นั้น. เพราะ [พระเจ้า] ได้ตรัสไว้แล้วว่า ‘เราจะไม่ละท่านไว้เลยและจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.’” (เฮ็บราย 13:5, ล.ม.) ถ้อยคำดังกล่าวช่างปลอบประโลมใจสักเพียงไร! โดยเลียนแบบความห่วงใยด้วยความรักของพระเจ้าที่มีต่อประชาชนของพระองค์ พระเยซูทรงให้ส่วนใหญ่ของคำเทศน์บนภูเขาอันมีชื่อเสียงของพระองค์มุ่งอยู่ที่การสอนเหล่าสาวกถึงทัศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานและสิ่งฝ่ายวัตถุ.—มัดธาย 6:19-33.
พยานพระยะโฮวาพยายามเอาใจใส่คำสอนเหล่านั้น. ตัวอย่างเช่น เมื่อนายจ้างชวนพยานฯ คนหนึ่งซึ่งเป็นช่างไฟฟ้าให้ทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ ลูกจ้างในตัวอย่างนี้ได้ปฏิเสธ. เพราะเหตุใด? เพราะเขาไม่ต้องการให้งานอาชีพมารบกวนเวลาที่เขาให้กับครอบครัวและให้กับเรื่องฝ่ายวิญญาณ. เนื่องจากเขาเป็นคนงานที่ดีเยี่ยมและไว้ใจได้ นายจ้างจึงยอมตามความประสงค์ของเขา. แน่นอน เหตุการณ์ใช่ว่าจะลงเอยแบบนั้นเสมอไป และคนเราอาจต้องหางานอื่นทำเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งรูปแบบชีวิตที่สมดุล. ถึงกระนั้น คนเหล่านั้นที่มอบความไว้วางใจเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวามักจะพบว่า ความประพฤติและหลักจรรยาที่ดีในการทำงานของเขาทำให้เขาได้รับความพอใจจากนายจ้าง.—สุภาษิต 3:5, 6.
เมื่องานทั้งสิ้นจะได้รับผลตอบแทน
ในระบบปัจจุบันที่ไม่สมบูรณ์ งานอาชีพและโอกาสในการทำงานนั้นใช่ว่าจะปลอดจากปัญหาและความไม่แน่นอนต่าง ๆ เสียเลย. ที่จริง สภาพการณ์อาจแย่ลงขณะที่โลกไม่มั่นคงยิ่งขึ้นและภาวะเศรษฐกิจขึ้น ๆ ลง ๆ หรือกระทั่งล้มเหลวด้วยซ้ำ. แต่สภาพการณ์เช่นนี้จะมีอยู่ชั่วคราว. ในไม่ช้า จะไม่มีใครที่ไม่มีงานทำ. นอกจากนี้ งานทั้งสิ้นจะน่าเพลิดเพลินและให้ผลตอบแทนอย่างแท้จริง. นั่นจะเป็นไปได้โดยวิธีใด? อะไรจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว?
โดยทางผู้พยากรณ์ยะซายา พระยะโฮวาทรงชี้ไปข้างหน้าถึงสมัยดังกล่าว. พระยะโฮวาตรัสว่า “เรากำลังสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่; และสิ่งก่อนนั้นจะไม่ระลึกถึงอีก ทั้งจะไม่คำนึงถึงในหัวใจ.” (ยะซายา 65:17, ล.ม.) พระองค์ตรัสถึงรัฐบาลใหม่ของพระองค์ ซึ่งภายใต้รัฐบาลนี้สังคมมนุษย์ที่ใหม่และต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจะกลายเป็นจริง.—ดานิเอล 2:44.
เกี่ยวกับสภาพที่ผู้คนจะดำรงชีวิตอยู่และงานที่จะทำในสมัยนั้น คำพยากรณ์นี้กล่าวต่อไปว่า “เขาจะสร้างบ้านเรือนและจะได้อยู่เป็นแน่; และเขาจะทำสวนองุ่นแล้วได้กินผลแน่นอน. เขาจะไม่สร้างแล้วคนอื่นอยู่อาศัย; เขาจะไม่ปลูกแล้วคนอื่นได้กิน. เพราะอายุของต้นไม้จะเป็นอายุของพลเมืองของเรา; และผู้ถูกเลือกสรรของเราจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการงานโดยน้ำมือของเขาเอง. เขาจะไม่ทำงานหนักโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งเขาจะไม่คลอดบุตรแล้ววุ่นวายใจ; เพราะเขาเป็นเผ่าพันธุ์ที่ประกอบด้วยผู้ที่ได้รับพระพรจากพระยะโฮวา และลูกหลานจะอยู่กับเขา.”—ยะซายา 65:21-23, ล.ม.
ช่างเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตเสียนี่กระไรในโลกใหม่ที่พระเจ้าทรงมุ่งหมายไว้! คุณต้องการจะมีชีวิตอยู่ในโลกเช่นนั้นมิใช่หรือ โลกซึ่งคุณ “ไม่ทำงานหนักโดยเปล่าประโยชน์” แต่จะชื่นชมอย่างเต็มที่กับ “ผล” จากการลงแรงของคุณ? แต่โปรดสังเกตว่า ผู้ที่จะได้รับพระพรดังกล่าวคือ “เขาเป็นเผ่าพันธุ์ที่ประกอบด้วยผู้ที่ได้รับพระพรจากพระยะโฮวา.” คุณจะเป็นคนหนึ่งในบรรดา “ผู้ที่ได้รับพระพร” เช่นนั้นได้โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและทำตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระองค์. พระเยซูตรัสว่า “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.” (โยฮัน 17:3, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาจะยินดีช่วยคุณได้รับความรู้ที่ให้ชีวิตนั้นโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าอย่างเป็นระบบ.
[กรอบหน้า 6]
“เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ”
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สิ่งใด ๆ ก็ดีที่ท่านทั้งหลายทำ จงทำด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณเหมือนหนึ่งทำแด่พระยะโฮวาและไม่ใช่แก่มนุษย์.” (โกโลซาย 3:23, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า คนที่ให้หลักการที่ดีข้อนี้ควบคุมหลักจรรยาในการทำงานของเขาจะเป็นลูกจ้างที่พึงต้องการ. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในหนังสือวิธีปกป้องเอกลักษณ์ของคุณ (ภาษาอังกฤษ) เจ. เจ. ลูนาแนะนำนายจ้างที่กำลังหาคนงานให้เสาะหาสมาชิกที่เอาการเอางานจากกลุ่มศาสนาบางกลุ่ม แต่เขากล่าวเสริมว่า “ความเป็นจริงคือว่า ตามปกติเรามักจะตัดสินใจจ้างพยาน [ของพระยะโฮวา].” เขาให้เหตุผลอย่างหนึ่งในบรรดาเหตุผลต่าง ๆ คือการที่พวกเขาเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความซื่อตรง และนั่นทำให้พวกเขา “เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ” ในงานชนิดต่าง ๆ.
[ภาพหน้า 5]
งานที่สมดุลกับกิจกรรมฝ่ายวิญญาณและนันทนาการนำมาซึ่งความพอใจ