จงทำให้พระยะโฮวาเป็นที่วางใจของคุณ
“ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้า, เพราะพระองค์เป็นที่หวังใจของข้าพเจ้า: พระองค์เป็นที่วางใจของข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก ๆ มา.”—บทเพลงสรรเสริญ 71:5.
1. ดาวิดเด็กเลี้ยงแกะเผชิญการท้าทายอะไร?
ฆาละยัธตัวสูงเกือบ 3 เมตร. ไม่ประหลาดใจเลยที่ทหารชาวอิสราเอลไม่มีใครกล้าประจันหน้ากับเขา! เป็นเวลาติดต่อกันหลายสัปดาห์ ทุกเช้าและเย็น ฆาละยัธร่างยักษ์ชาวฟิลิสตินออกมาเยาะเย้ยถากถางทหารอิสราเอล ท้าพวกเขาให้ส่งยอดนักรบออกมาสู้กับเขา. ในที่สุด ก็มีการรับคำท้านั้น ไม่ใช่จากทหารคนหนึ่งคนใด แต่จากเด็กหนุ่มธรรมดา ๆ. ดาวิดเด็กเลี้ยงแกะคนนี้ดูเป็นคนแคระไปเลยเมื่อเทียบกับคู่ต่อสู้ของเขา. อันที่จริง น้ำหนักตัวของเขาคงจะน้อยกว่าน้ำหนักชุดเกราะและอาวุธของฆาละยัธด้วยซ้ำ! กระนั้น หนุ่มน้อยผู้นี้ออกไปเผชิญหน้ากับชายร่างยักษ์ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์อันเลื่องลือของความกล้าหาญ.—1 ซามูเอล 17:1-51.
2, 3. (ก) ทำไมดาวิดถึงสามารถเผชิญหน้าฆาละยัธด้วยความมั่นใจขนาดนั้น? (ข) เราจะพิจารณาสองขั้นตอนอะไรในการทำให้พระยะโฮวาเป็นที่วางใจของเรา?
2 อะไรทำให้ดาวิดมีความกล้าหาญเช่นนั้น? ขอให้พิจารณาบางถ้อยคำที่ดูเหมือนว่าดาวิดเขียนในช่วงบั้นปลายชีวิตดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้า, เพราะพระองค์เป็นที่หวังใจของข้าพเจ้า: พระองค์เป็นที่วางใจของข้าพเจ้าตั้งแต่เด็ก ๆ มา.” (บทเพลงสรรเสริญ 71:5) ถูกแล้ว ขณะเมื่อเป็นเด็กหนุ่ม ดาวิดวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มเปี่ยม. ท่านออกไปเผชิญหน้าฆาละยัธ แล้วกล่าวว่า “เจ้าเข้ามาหาเราด้วยดาบและหอกยาวหอกสั้น แต่ฝ่ายเรามาหาเจ้าด้วยนามแห่งพระยะโฮวาของพลโยธาพระเจ้าแห่งกองทัพยิศราเอล, ซึ่งเจ้าได้ท้าทายนั้น.” (1 ซามูเอล 17:45) ในขณะที่ฆาละยัธวางใจในพละกำลังที่เหนือกว่าและสรรพาวุธของเขา ดาวิดวางใจพระยะโฮวา. ในเมื่อพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพอยู่ฝ่ายท่าน ดาวิดจะกลัวไปทำไมกับเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะมีรูปร่างใหญ่โตหรือมีอาวุธครบชุดแค่ไหนก็ตาม?
3 ขณะที่คุณอ่านเรื่องราวของดาวิด คุณอยากให้ความวางใจของคุณในพระยะโฮวาเข้มแข็งขึ้นไหม? พวกเราหลายคนก็คงรู้สึกอย่างนั้น. ฉะนั้น ขอให้เราพิจารณาสองขั้นตอนที่เราจะทำได้เพื่อทำให้พระยะโฮวาเป็นที่วางใจของเรา. ขั้นแรก เราต้องเอาชนะสิ่งที่มักทำให้ยากที่จะวางใจก่อน แล้วรักษาความวางใจนั้นไว้. ขั้นที่สอง เราต้องเรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วการวางใจพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับอะไร.
การเอาชนะสิ่งที่มักทำให้ยากที่จะวางใจพระยะโฮวา
4, 5. เหตุใดหลายคนจึงรู้สึกว่ายากที่จะวางใจพระเจ้า?
4 อะไรทำให้ผู้คนยากที่จะวางใจพระเจ้า? บ่อยครั้งทีเดียว ผู้คนรู้สึกฉงนสนเท่ห์ว่าเหตุใดจึงเกิดสิ่งที่เลวร้ายขึ้น. หลายคนถูกสอนว่าพระเจ้าเป็นเหตุของความทุกข์. เมื่อเกิดภัยพิบัติ นักเทศน์บางคนอาจบอกว่าพระเจ้า “รับ” เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายไปอยู่กับพระองค์ในสวรรค์. นอกจากนั้น ผู้นำศาสนาหลายคนสอนว่าพระเจ้าลิขิตเหตุการณ์ทุกอย่างไว้ก่อนล่วงหน้านานมาแล้ว รวมถึงภัยพิบัติและการกระทำที่ชั่วช้าทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นในโลกนี้. คงเป็นเรื่องยากที่จะวางใจพระเจ้าที่ใจหินอย่างนั้น. ซาตานซึ่งเป็นผู้กระทำให้ใจของคนที่ไม่เชื่อมืดไป กระหายที่จะส่งเสริม “คำสอนของพวกผีปิศาจ” เช่นนั้นทุกอย่าง.—1 ติโมเธียว 4:1; 2 โกรินโธ 4:4.
5 ซาตานต้องการให้ผู้คนสูญเสียความวางใจพระยะโฮวา. ปรปักษ์ของพระเจ้าผู้นี้ไม่อยากให้เรารู้สาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์. และถ้าเราได้เรียนรู้เหตุผลจากพระคัมภีร์ถึงสาเหตุของความทุกข์แล้ว ซาตานก็อยากให้เราลืม. จึงนับว่าเหมาะที่เราจะทบทวนเป็นครั้งคราวถึงสาเหตุหลักสามประการที่ทำให้มีความทุกข์ในโลก. โดยการทำอย่างนั้น เราจะมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ ที่เราเผชิญในชีวิต.—ฟิลิปปอย 1:9, 10.
6. หนึ่งเปโตร 5:8 บอกอย่างไรถึงสาเหตุหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดกับมนุษย์?
6 สาเหตุอย่างหนึ่งที่เกิดความทุกข์กับมนุษย์ก็เพราะซาตานต้องการทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของผู้คนที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. มันพยายามทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบ. ซาตานไม่ประสบผลสำเร็จในครั้งนั้น แต่มันก็ไม่ละความพยายาม. ฐานะผู้ครอบครองโลกนี้ มันพยายาม “ขย้ำกลืน” เหล่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. (1 เปโตร 5:8, ล.ม.) นั่นรวมถึงเราแต่ละคนด้วย! ซาตานอยากให้เราเลิกรับใช้พระยะโฮวา. บ่อยครั้ง มันจึงปลุกเร้าให้เกิดการกดขี่ข่มเหง. แม้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นเจ็บปวด แต่เราก็มีเหตุผลอันดีที่จะอดทน. โดยการเพียรอดทน เราช่วยพิสูจน์ว่าซาตานเป็นตัวมุสา และนั่นทำให้พระยะโฮวามีความยินดี. (โยบ 2:4; สุภาษิต 27:11) เมื่อพระยะโฮวาเสริมกำลังเราให้อดทนการกดขี่ข่มเหง ความวางใจของเราในพระองค์จะเพิ่มพูนขึ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 9:9, 10.
7. ฆะลาเตีย 6:7 ช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความทุกข์?
7 สาเหตุประการที่สองของความทุกข์ลำบากอยู่ในหลักการต่อไปนี้: “คนใดหว่านอะไรลงก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น.” (ฆะลาเตีย 6:7, ล.ม.) บางครั้ง ผู้คนหว่านโดยทำการตัดสินใจเลือกที่ไม่ฉลาดสุขุม และจึงเกี่ยวเก็บความทุกข์ลำบากตามมามิใช่น้อย. พวกเขาอาจเลือกขับรถด้วยความประมาท แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ. หลายคนเลือกสูบบุหรี่ ทำให้เป็นโรคหัวใจและมะเร็งปอด. คนที่เลือกทำผิดศีลธรรมทางเพศเสี่ยงต่อการประสบความปวดร้าวจากการที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวพังทลาย, การสูญเสียความนับถือตนเอง, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์. ผู้คนอาจพยายามตำหนิพระเจ้าสำหรับความทุกข์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น แต่จริง ๆ แล้ว ผลเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับพวกเขามาจากการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดของเขาเอง.—สุภาษิต 19:3.
8. ตามที่กล่าวในท่านผู้ประกาศ 9:11 ทำไมผู้คนประสบความทุกข์?
8 สาเหตุประการที่สามของความทุกข์ลำบากมีกล่าวไว้ในท่านผู้ประกาศ 9:11 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้ากลับมาเห็นภายใต้ดวงอาทิตย์ว่า คนที่วิ่งเร็วมิใช่จะชนะในการวิ่งแข่ง หรือคนที่มีอำนาจใหญ่โตมิใช่จะชนะการสู้รบได้ หรือคนฉลาดก็เช่นกันจะมีอาหารกินเสมอก็หาไม่ หรือคนที่มีความเข้าใจก็เหมือนกันหาใช่ว่าจะมั่งคั่งไม่ หรือแม้แต่คนเหล่านั้นที่มีความรู้ก็จะหาได้รับความโปรดปรานไม่ เพราะวาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้าย่อมบังเกิดแก่เขาทุกคน.” บางครั้ง คนเราเพียงแต่อยู่ผิดที่ผิดเวลา. ไม่ว่าเราแข็งแรงหรืออ่อนแอ ความทุกข์ลำบากและความตายก็อาจมาเยือนเราแต่ละคนโดยไม่คาดหมายได้ทุกเมื่อ. ตัวอย่างเช่น ในสมัยของพระเยซู หอสูงแห่งหนึ่งในกรุงเยรูซาเลมพังลงมา ทำให้ 18 คนเสียชีวิต. พระเยซูชี้แจงว่าพระเจ้าไม่ได้ลงโทษคนเหล่านี้เนื่องด้วยบาปที่พวกเขาได้ทำ. (ลูกา 13:4) เปล่าเลย ไม่อาจโทษพระยะโฮวาได้ว่าเป็นต้นเหตุของความทุกข์ดังกล่าว.
9. หลายคนไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับความทุกข์?
9 การเข้าใจสาเหตุบางประการของความทุกข์นับว่าสำคัญ. อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนพบว่ายากที่จะเข้าใจ. นั่นคือ ทำไมพระยะโฮวาพระเจ้าทรงยอม ให้มีความทุกข์?
เหตุใดพระยะโฮวาทรงยอมให้มีความทุกข์?
10, 11. (ก) ตามที่กล่าวในโรม 8:19-22 เกิดอะไรขึ้นกับ “สิ่งทรงสร้างทั้งปวง”? (ข) เราจะบอกได้อย่างไรว่าใครทำให้สิ่งทรงสร้างอยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์?
10 ข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายของอัครสาวกเปาโลที่ไปถึงคริสเตียนในกรุงโรมให้ความกระจ่างในประเด็นสำคัญนี้. เปาโลเขียนดังนี้: “สิ่งทรงสร้างคอยท่าการปรากฏของเหล่าบุตรของพระเจ้าด้วยความคาดหมายอันแรงกล้า. เพราะสิ่งทรงสร้างถูกทำให้อยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์ มิใช่โดยความตั้งใจของสิ่งนั้นเองแต่โดยทางพระองค์ซึ่งทำให้สิ่งทรงสร้างตกอยู่ใต้อำนาจนั้น โดยมีความหวัง ว่าสิ่งทรงสร้างนั้นจะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสความเสื่อมเสียและมีเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า. ด้วยเรารู้ว่าสิ่งทรงสร้างทั้งปวงนั้นเฝ้าแต่คร่ำครวญด้วยกันและตกอยู่ในความเจ็บปวดด้วยกันจนกระทั่งบัดนี้.”—โรม 8:19-22, ล.ม.
11 เพื่อจะเข้าใจข้อเหล่านี้ เราต้องทราบคำตอบสำหรับคำถามสำคัญ ๆ บางอย่างก่อน. ตัวอย่างเช่น ใครทำให้สิ่งทรงสร้างอยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์? บางคนให้ความเห็นว่าเป็นซาตาน ส่วนคนอื่น ๆ บอกว่าเป็นอาดาม. แต่ผู้ที่ทำให้อยู่ใต้อำนาจนั้นไม่น่าจะเป็นสองบุคคลนี้. เพราะเหตุใด? เนื่องจากผู้ที่ทำให้สิ่งทรงสร้างอยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์ทำเช่นนั้น “โดยมีความหวัง.” ถูกแล้ว ผู้นี้เสนอความหวังแก่บรรดาผู้ซื่อสัตย์ว่าในที่สุดพวกเขาจะ “ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสความเสื่อมเสีย.” ทั้งอาดามและซาตานไม่สามารถเสนอความหวังดังกล่าว. มีแต่พระยะโฮวาผู้เดียวที่สามารถทำเช่นนั้นได้. ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าพระองค์เองเป็นผู้ทำให้สิ่งทรงสร้างอยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์.
12. มีความเข้าใจผิดไปว่า “สิ่งทรงสร้างทั้งปวง” หมายถึงอะไร และเราจะตอบคำถามนี้อย่างไร?
12 แต่ “สิ่งทรงสร้างทั้งปวง” ที่กล่าวถึงในข้อความนั้นหมายถึงอะไร? บางคนบอกว่า “สิ่งทรงสร้างทั้งปวง” พาดพิงถึงทุกสิ่งตามธรรมชาติบนโลกนี้ รวมทั้งสัตว์และพืช. แต่สัตว์และพืชหวังที่จะได้รับ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า” ไหม? ไม่เลย. (2 เปโตร 2:12) ดังนั้นแล้ว “สิ่งทรงสร้างทั้งปวง” จึงหมายถึงเฉพาะแต่มนุษยชาติ. มนุษยชาติเป็นสิ่งทรงสร้างที่ได้รับผลกระทบจากบาปและความตายอันเนื่องมาจากการกบฏในสวนเอเดน และต้องการอย่างยิ่งที่จะมีความหวัง.—โรม 5:12.
13. การกบฏในสวนเอเดนส่งผลเช่นไรต่อมนุษยชาติ?
13 การกบฏครั้งนั้นส่งผลเช่นไรจริง ๆ ต่อมนุษยชาติ? เปาโลพรรณนาผลที่เกิดขึ้นนั้นด้วยคำ ๆ เดียวคือ “ความไร้ประโยชน์.”a ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งอธิบาย คำนี้พรรณนาถึง “ความไร้ประโยชน์ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่เกิดผลตามที่มุ่งหมายไว้ให้เป็น.” มนุษย์ถูกออกแบบให้มีชีวิตตลอดไป ทำงานร่วมกันเป็นครอบครัวที่มีเอกภาพและสมบูรณ์พร้อม เพื่อเอาใจใส่ดูแลแผ่นดินโลกที่มีสภาพเป็นอุทยาน. แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น มนุษย์มีชีวิตที่สั้น, เจ็บปวด, และบ่อยครั้งไม่สมหวัง. จริงอย่างที่โยบกล่าว “อันมนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) ช่างไร้ประโยชน์จริง ๆ!
14, 15. (ก) เราเห็นหลักฐานอะไรที่แสดงถึงความยุติธรรมของพระยะโฮวาในการพิพากษาลงโทษมนุษย์? (ข) เหตุใดเปาโลกล่าวว่าสิ่งทรงสร้างไม่ได้อยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์ “โดยความตั้งใจของสิ่งนั้นเอง”?
14 ตอนนี้ เรามาถึงคำถามสำคัญที่ว่า เหตุใด “ผู้พิพากษาแห่งแผ่นดินโลกทั้งสิ้น” จึงทำให้มนุษยชาติมีชีวิตที่เจ็บปวดและไม่สมหวังเช่นนี้? (เยเนซิศ 18:25, ล.ม.) พระองค์ทำเช่นนั้นเป็นการยุติธรรมไหม? เอาล่ะ ขอให้นึกถึงสิ่งที่บิดามารดาคู่แรกของเราได้กระทำ. ด้วยการกบฏต่อพระเจ้า ทั้งสองจึงเข้าข้างซาตาน ซึ่งกล่าวถ้อยคำที่ท้าทายครอบคลุมไปถึงพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา. โดยการกระทำของทั้งสอง พวกเขาสนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่ามนุษย์จะอยู่ในสภาพที่ดีกว่าถ้าถอนตัวจากพระยะโฮวา คือปกครองตัวเองภายใต้การชี้นำจากกายวิญญาณที่กบฏ. ในการพิพากษาผู้ที่กบฏ จริง ๆ แล้ว พระยะโฮวาก็ให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ. พระองค์ยอมให้มนุษย์ปกครองตัวเองภายใต้อิทธิพลของซาตาน. ในสภาพการณ์เช่นนี้ จะมีการตัดสินใดที่จะยุติธรรมล้ำลึกไปกว่านี้อีก คือให้มนุษยชาติอยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์ แต่ก็ยังให้มีความหวัง?
15 แน่นอน นี่ไม่ได้เป็นไปโดย “ความตั้งใจ” ของสิ่งทรงสร้างเอง. เราเกิดมาเป็นทาสของบาปและความเสื่อมเสียโดยไม่มีทางเลือก. แต่ด้วยพระเมตตา พระยะโฮวาทรงเปิดโอกาสให้อาดามและฮาวามีชีวิตอยู่ต่อไปและให้กำเนิดบุตรหลาน. แต่เรา ซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเขา อยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์อันเนื่องจากบาปและความตาย เรามีโอกาสทำในสิ่งที่อาดามกับฮาวาไม่ได้ทำ. เราสามารถเชื่อฟังพระยะโฮวาและเรียนรู้ว่าพระบรมเดชานุภาพของพระองค์นั้นชอบธรรมและสมบูรณ์พร้อม ในขณะที่การปกครองของมนุษย์ซึ่งไม่หมายพึ่งพระยะโฮวานั้นมีแต่ก่อผลเป็นความเจ็บปวด, ความไม่สมหวัง, และความไร้ประโยชน์. (ยิระมะยา 10:23; วิวรณ์ 4:11) และอิทธิพลของซาตานมีแต่จะทำให้เรื่องเลวร้ายยิ่งขึ้น. ประวัติศาสตร์ของมนุษย์พิสูจน์ว่าเป็นอย่างนั้นจริง.—ท่านผู้ประกาศ 8:9.
16. (ก) ทำไมเราแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวาไม่ได้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ที่เราพบเห็นในโลกทุกวันนี้? (ข) ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมความหวังอะไรแก่ผู้ซื่อสัตย์?
16 เห็นได้ชัด พระยะโฮวามีเหตุผลอันควรที่ให้มนุษย์อยู่ใต้อำนาจความไร้ประโยชน์. แต่นี่หมายความว่าพระยะโฮวาเป็นต้นเหตุของความไร้ประโยชน์และความทุกข์ที่พวกเราแต่ละคนในทุกวันนี้ประสบไหม? ขอให้เปรียบสถานการณ์นี้กับการที่ผู้พิพากษาประกาศคำตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดตามความยุติธรรม. นักโทษผู้นั้นอาจต้องทนทุกข์ลำบากมากจนกว่าจะรับโทษครบตามกำหนด แต่เขาจะตำหนิผู้พิพากษาได้อย่างที่ฟังขึ้นไหมว่าเป็นเหตุให้ เขาต้องได้รับความทุกข์ลำบาก? ไม่เลย! นอกจากนี้ พระยะโฮวาไม่เคยเป็นต้นเหตุของความชั่วเลย. ยาโกโบ 1:13 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งที่ชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” นอกจากนี้ ขอเราอย่าลืมว่าพระยะโฮวาประกาศคำพิพากษาดังกล่าว “โดยมีความหวัง.” ด้วยความรัก พระองค์จัดเตรียมให้ลูกหลานผู้ซื่อสัตย์ของอาดามกับฮาวาได้เห็นอวสานของความไร้ประโยชน์ และประสบความยินดีจาก “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.” ตลอดชั่วนิรันดร์ มนุษยชาติที่ซื่อสัตย์ไม่ต้องกังวลเลยว่าสิ่งทรงสร้างทั้งปวงอาจจะเสื่อมถอยไปสู่สภาพไร้ประโยชน์ที่เจ็บปวดอีก. วิธีที่พระยะโฮวาจัดการเรื่องนี้ด้วยความเที่ยงธรรมจะพิสูจน์ความชอบธรรมแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์สำหรับตลอดกาล.—ยะซายา 25:8.
17. การทบทวนเหตุผลที่เกิดความทุกข์ในโลกทุกวันนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร?
17 เมื่อเราทบทวนเหตุผลต่าง ๆ ที่มนุษย์ประสบกับความทุกข์ เราเห็นมูลเหตุใด ๆ ไหมที่จะตำหนิพระยะโฮวาในเรื่องความชั่ว หรือที่จะสูญเสียความวางใจพระองค์? ตรงกันข้าม การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทำให้เรามีเหตุผลที่จะสะท้อนคำกล่าวของโมเซที่ว่า “ผู้เป็นศิลา กิจการของพระองค์สมบูรณ์พร้อม เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม. พระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ซึ่งกับพระองค์นั้นไม่มีความอยุติธรรม; พระองค์ทรงชอบธรรมและซื่อตรง.” (พระบัญญัติ 32:4, ล.ม.) ให้เราฟื้นความเข้าใจของเราเป็นครั้งคราวด้วยการไตร่ตรองเรื่องเหล่านี้. โดยการทำอย่างนี้ เราย่อมจะขัดขวางความพยายามของซาตานไม่ให้เพาะความสงสัยในใจของเราได้เมื่อเผชิญความยากลำบาก. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับขั้นตอนที่สองที่กล่าวถึงในตอนต้น? การวางใจพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับอะไร?
การวางใจพระยะโฮวาหมายถึงอะไร?
18, 19. คัมภีร์ไบเบิลใช้ถ้อยคำเช่นไรเพื่อสนับสนุนเราให้วางใจพระยะโฮวา แต่บางคนมีความคิดผิด ๆ อย่างไรในเรื่องนี้?
18 พระคำของพระเจ้ากระตุ้นเราดังนี้: “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง; จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” (สุภาษิต 3:5, 6) ถ้อยคำดังกล่าวเป็นสำนวนที่ไพเราะและทำให้เกิดความมั่นใจ. แน่นอนว่าตลอดทั่วเอกภพ ไม่มีใครอีกแล้วที่คู่ควรแก่การวางใจมากกว่าพระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เป็นที่รักยิ่งของเรา. กระนั้น การอ่านถ้อยคำดังกล่าวในสุภาษิตก็ง่ายกว่าการทำตามข้อความนั้น.
19 หลายคนมีความคิดผิด ๆ ในเรื่องที่ว่าการวางใจพระยะโฮวาหมายถึงอะไร. บางคนคิดว่าการวางใจดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของความรู้สึก เป็นอารมณ์ที่เปี่ยมสุขซึ่งเกิดขึ้นเองในหัวใจ. ส่วนคนอื่น ๆ ดูเหมือนจะคิดว่า การวางใจพระเจ้าหมายถึงการที่เราสามารถคาดหวังให้พระองค์ปกป้องเราให้พ้นจากความยากลำบากทั้งปวง, แก้ปัญหาทุกอย่างของเราให้หมดไป, ทำให้อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันลงเอยในแบบที่เราหวังไว้ทุกประการและในทันทีทันใด! แต่ความคิดดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง. การวางใจไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความรู้สึกเท่านั้น และใช่ว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง. ในกรณีของผู้ใหญ่ การวางใจเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอย่างที่ใช้ความคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ.
20, 21. การวางใจพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับอะไร? จงยกตัวอย่าง.
20 ขอให้สังเกตถ้อยคำในสุภาษิต 3:5 อีกครั้ง. ข้อนี้เทียบการวางใจพระยะโฮวากับการพึ่งความเข้าใจของตนเอง และบ่งบอกเป็นนัยว่าเราไม่อาจทำทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน. นี่หมายความว่าเราไม่ควรใช้ความสามารถในการเข้าใจของเราไหม? เปล่า เนื่องจากพระยะโฮวาผู้ซึ่งประทานความสามารถนี้แก่เรา ทรงคาดหมายให้เราใช้ความสามารถดังกล่าวในการรับใช้พระองค์. (โรม 12:1, ล.ม.) แต่เราพึ่ง สิ่งใดเมื่อทำการตัดสินใจ? ถ้าความคิดของเราไม่เข้ากันกับความคิดของพระยะโฮวา เรายอมรับไหมว่านั่นเป็นเพราะพระปัญญาของพระองค์ล้ำเลิศกว่าเรามากนัก? (ยะซายา 55:8, 9) การวางใจพระยะโฮวาหมายถึงการให้ความคิดของพระองค์ชี้นำความคิดของเรา.
21 ยกตัวอย่าง: ขอให้นึกถึงเด็กเล็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่เบาะหลังของรถยนต์ โดยมีพ่อแม่ของเขานั่งอยู่ด้านหน้า. พ่อของเด็กเป็นคนขับ. เมื่อเกิดปัญหาขึ้นระหว่างเดินทาง เช่น ไม่แน่ใจว่าควรจะไปทางไหน หรือบางทีเกิดปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศหรือสภาพพื้นถนน ลูกที่เชื่อฟังและไว้ใจพ่อแม่จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? เขาจะคอยตะโกนบอกทางจากเบาะหลังให้พ่อขับอย่างนั้นอย่างนี้ไหม? เขาจะสงสัยการตัดสินใจของพ่อแม่ไหม หรือจะไม่เชื่อฟังเมื่อพ่อแม่เตือนให้เขาคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย? ไม่เลย โดยธรรมชาติแล้วลูกจะวางใจพ่อแม่ให้แก้ปัญหาเหล่านั้น แม้ว่าพ่อแม่ของเขาไม่สมบูรณ์. ในกรณีของพระยะโฮวา เรามีพระบิดาผู้ทรงสมบูรณ์พร้อม. เราควรวางใจพระองค์อย่างเต็มที่มิใช่หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเผชิญปัญหา?—ยะซายา 30:21.
22, 23. (ก) เหตุใดเราควรวางใจพระยะโฮวาเมื่อเผชิญปัญหาต่าง ๆ และเราอาจทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
22 อย่างไรก็ตาม สุภาษิต 3:6 บอกว่าเราควร ‘รับพระยะโฮวาให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเรา’ ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเราเผชิญสถานการณ์ยุ่งยากเท่านั้น. ดังนั้น การตัดสินใจทุกเรื่องที่เราทำแต่ละวันในชีวิตควรสะท้อนถึงความวางใจที่เรามีต่อพระยะโฮวา. เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราไม่ควรสิ้นหวัง, หวั่นวิตก, หรือไม่รับฟังการชี้นำของพระยะโฮวาเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหา. เราต้องมองความยากลำบากว่าเป็นโอกาสที่จะสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา, ช่วยพิสูจน์ว่าซาตานเป็นตัวมุสา, และพัฒนาความเชื่อฟังและคุณลักษณะอื่น ๆ อันเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา.—เฮ็บราย 5:7, 8.
23 เราสามารถแสดงความวางใจพระยะโฮวาไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไรอยู่เบื้องหน้าเรา. เราทำเช่นนั้นโดยการอธิษฐาน และโดยวิธีที่เราหมายพึ่งพระคำของพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์เพื่อการชี้นำ. แต่เมื่อเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ เราจะแสดงความวางใจพระยะโฮวาในแต่ละกรณีได้อย่างไร? บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
a คำภาษากรีกที่เปาโลใช้สำหรับ “ความไร้ประโยชน์” เป็นคำเดียวกันกับที่ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ใช้แปลถ้อยคำซึ่งซะโลโมใช้หลายครั้งในพระธรรมท่านผู้ประกาศ เช่นที่พบในถ้อยคำที่ว่า “สารพัตรเป็นอนิจจัง.”—ท่านผู้ประกาศ 1:2; 3:19; 12:8.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ดาวิดแสดงอย่างไรว่าท่านได้ทำให้พระยะโฮวาเป็นที่วางใจของท่าน?
• อะไรคือสาเหตุสามประการที่มนุษย์ประสบความทุกข์ลำบากในทุกวันนี้ และเหตุใดจึงเหมาะที่จะทบทวนสาเหตุเหล่านี้เป็นครั้งคราว?
• พระยะโฮวาประกาศคำพิพากษาอะไรต่อมนุษยชาติ และเหตุใดการพิพากษานี้จึงยุติธรรม?
• การวางใจพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับอะไร?
[ภาพหน้า 8]
ดาวิดทำให้พระยะโฮวาเป็นที่วางใจของท่าน
[ภาพหน้า 10]
พระเยซูชี้แจงว่าเมื่อหอสูงแห่งหนึ่งในกรุงเยรูซาเลมพังลง พระยะโฮวาไม่ได้เป็นต้นเหตุ