จงประเมินค่าชีวิตของคุณซึ่งเป็นของประทานนั้นอย่างถูกต้อง
“พระโลหิตของพระเยซูคริสต์ . . . จะได้ทรงชำระใจวินิจฉัยผิดและชอบของท่านทั้งหลายให้พ้นจากการประพฤติที่ตายแล้ว, เพื่อจะได้ปฏิบัติพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.”—เฮ็บราย 9:14.
1. อะไรคือข้อพิสูจน์ที่แสดงว่าเราถือว่าชีวิตของเรามีค่ามาก?
ถ้ามีใครถามคุณว่าคุณถือว่าชีวิตของคุณมีค่าแค่ไหน คุณจะตอบอย่างไร? เราถือว่าชีวิตมีค่ามาก ทั้งชีวิตของเราเองและของคนอื่น. ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ก็คือ เราจะไปหาหมอเพื่อรักษาเมื่อเจ็บป่วย หรือเพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ. เราต้องการมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพที่ดี. แม้แต่ผู้สูงอายุหรือทุพพลภาพส่วนใหญ่แล้วก็ไม่อยากตาย พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่.
2, 3. (ก) สุภาษิต 23:22 เน้นพันธะอะไร? (ข) พันธะที่กล่าวในสุภาษิต 23:22 เกี่ยวข้องอย่างไรกับพระเจ้า?
2 การที่คุณประเมินว่าชีวิตมีค่าแค่ไหนนั้นมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับผู้อื่น. ตัวอย่างเช่น พระคำของพระเจ้าแนะนำเราว่า “เจ้าจงฟังคำบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเจ้า, และอย่าดูหมิ่นมารดาของเจ้าเมื่อท่านแก่ชรา.” (สุภาษิต 23:22) การ “ฟัง” ไม่ได้หมายถึงแค่ฟังถ้อยคำที่พูดออกมา; สุภาษิตข้อนี้หมายถึง ฟังแล้วประพฤติตาม. (เอ็กโซโด 15:26; พระบัญญัติ 7:12; 13:18; 15:4; ยะโฮซูอะ 22:2; บทเพลงสรรเสริญ 81:13) พระคำของพระเจ้าให้เหตุผลอย่างไรที่เราควรเชื่อฟัง? นั่นไม่ใช่เพียงเพราะบิดามารดาของคุณมีอายุหรือประสบการณ์มากกว่าคุณ. เหตุผลที่ให้ไว้ก็คือท่านเป็น “ผู้บังเกิดเกล้าของเจ้า.” คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลข้อนี้ว่า “จงฟังบิดาของเจ้าผู้ให้กำเนิดเจ้า.” ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ หากคุณถือว่าชีวิตของคุณมีค่าแล้ว คุณจะรู้สึกว่ามีพันธะต่อผู้เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตนั้น.
3 แน่ล่ะ ถ้าคุณเป็นคริสเตียนแท้ คุณย่อมตระหนักว่าพระยะโฮวาเป็นบ่อเกิดแรกเดิมแห่งชีวิต. โดยทางพระองค์ คุณ “มีชีวิต” ขึ้นมา, “เคลื่อนไหว” ได้ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการรับรู้, และบัดนี้ “เป็นอยู่” สามารถคิดหรือวางแผนเกี่ยวกับอนาคต รวมไปถึงการคิดเรื่องชีวิตไม่รู้สิ้นสุด. (กิจการ 17:28, ล.ม.; บทเพลงสรรเสริญ 36:9; ท่านผู้ประกาศ 3:11, ล.ม.) สอดคล้องกับที่กล่าวในสุภาษิต 23:22 นับว่าสมควรที่เราจะ “ฟัง” พระเจ้าด้วยความเต็มใจ ปรารถนาจะเข้าใจและปฏิบัติสอดคล้องกับทัศนะของพระองค์ในเรื่องชีวิต แทนที่เราจะประเมินค่าของชีวิตเองตามใจชอบ.
จงแสดงความนับถือต่อชีวิต
4. ในตอนต้นของประวัติศาสตร์มนุษย์ ความนับถือต่อชีวิตกลายมาเป็นประเด็นอย่างไร?
4 ในช่วงต้นของประวัติศาสตร์มนุษย์ พระยะโฮวาแสดงชัดว่า พระองค์ไม่ได้ปล่อยให้มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้. เนื่องจากถูกครอบงำด้วยความรู้สึกโกรธและอิจฉา คายินจึงฆ่าเฮเบลน้องชาย พรากชีวิตของผู้ไร้ความผิด. คุณคิดว่าคายินมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอย่างนั้นในเรื่องชีวิตไหม? พระเจ้าไม่ได้คิดอย่างนั้น. พระองค์เรียกคายินมาให้การ ดังนี้: “เจ้าได้ทำอะไร? เสียงโลหิตของน้องร้องฟ้องขึ้นมาจากดินถึงเรา.” (เยเนซิศ 4:10) โปรดสังเกตว่าโลหิตของเฮเบลที่พื้นดินนั้นใช้เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตของเขา ซึ่งถูกตัดขาดอย่างเหี้ยมโหด และโลหิตนั้นร้องขอต่อพระเจ้าให้แก้แค้น.—เฮ็บราย 12:24.
5. (ก) พระเจ้าวางข้อห้ามอะไรในสมัยโนฮา และข้อห้ามดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับใคร? (ข) ในความหมายใดที่ว่าข้อห้ามนี้เป็นก้าวสำคัญ?
5 หลังจากน้ำท่วมใหญ่ มนุษยชาติเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยชีวิตคนเพียงแปดคน. ในคำแถลงที่มีผลบังคับใช้กับมนุษย์ทุกคน พระเจ้าเปิดเผยมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่พระองค์ทรงประเมินค่าชีวิตและเลือด. พระองค์ตรัสว่ามนุษย์กินเนื้อสัตว์ได้ แต่ทรงวางข้อจำกัดไว้ดังนี้: “ทุกสิ่งที่มีชีวิตเคลื่อนไหวไปมาจะเป็นอาหารของเจ้า เราจะยกของทุกอย่างให้แก่เจ้า ดังที่เรายกต้นผักเขียวสดให้แก่เจ้าแล้ว แต่อย่ากินเนื้อพร้อมกับชีวิตของมัน คือเลือดของมัน.” (เยเนซิศ 9:3, 4, ฉบับแปลใหม่) ชาวยิวบางคนตีความข้อนี้ว่าหมายถึง การห้ามมนุษย์กินเนื้อหรือเลือดของสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่. แต่ก็ปรากฏชัดภายหลังว่า สิ่งที่พระเจ้าห้ามในข้อนี้คือการรับประทานเลือดเพื่อค้ำจุนชีวิต. ยิ่งกว่านั้น คำสั่งของพระเจ้าผ่านทางโนฮาเป็นก้าวสำคัญไปสู่การบรรลุพระประสงค์อันสูงส่งของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับเลือด นั่นคือพระประสงค์ที่จะให้มนุษย์มีโอกาสได้รับชีวิตนิรันดร์.
6. โดยผ่านทางโนฮา พระเจ้าเน้นย้ำทัศนะของพระองค์ในเรื่องคุณค่าของชีวิตอย่างไร?
6 พระเจ้าแถลงต่อไปว่า “โลหิตที่เป็นชีวิตของเจ้านั้นเราจะทวงเอา; เราคงจะทวงเอาจากสัตว์ทั้งปวง, และเราจะทวงเอาจากมือมนุษย์ด้วย: เราจะทวงเอาชีวิตมนุษย์จากมือพี่น้องของตนทุกคน. ผู้ใดฆ่ามนุษย์ให้โลหิตไหล, มนุษย์จะฆ่าผู้นั้นให้โลหิตไหลเหมือนกัน: เพราะพระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของพระองค์.” (เยเนซิศ 9:5, 6) คุณเห็นได้จากคำแถลงแก่ครอบครัวมนุษย์ทั้งมวลในข้อนี้ว่า พระเจ้าถือว่าโลหิตมนุษย์หมายถึงชีวิตของเขา. พระผู้สร้างประทานชีวิตให้คนเรา และไม่ควรมีใครพรากชีวิตนั้นไป ซึ่งมีโลหิตเป็นสัญลักษณ์หมายถึงนั้น. เช่นเดียวกับกรณีของคายิน ถ้าใครฆ่าคน พระผู้สร้างมีสิทธิ “ทวงเอา” ชีวิตจากผู้ที่ฆ่านั้น.
7. เหตุใดเราควรสนใจคำแถลงที่พระเจ้ากล่าวแก่โนฮาในเรื่องเลือด?
7 โดยทางคำแถลงของพระองค์ พระเจ้าสั่งห้ามไม่ให้มนุษย์ใช้เลือดอย่างผิด ๆ. คุณเคยสงสัยไหมว่าเพราะเหตุใด? อะไรเป็นเหตุที่พระเจ้ามีทัศนะแบบนั้นต่อเลือด? จริง ๆ แล้ว คำตอบในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคำสอนอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุดในคัมภีร์ไบเบิล. คำสอนนี้เป็นแก่นสำคัญของข่าวสารคริสเตียน แม้ว่าหลายคริสตจักรเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญ. นั่นคือคำสอนอะไร? และชีวิต, การตัดสินใจ, และการกระทำของคุณเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร?
เลือด—อาจใช้ได้อย่างไร?
8. ในพระบัญญัติ พระยะโฮวาวางข้อจำกัดอะไรในเรื่องการใช้เลือด?
8 พระยะโฮวาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องชีวิตและเลือดเมื่อพระองค์ประทานประมวลกฎหมายแก่ชาติอิสราเอล. โดยการประทานพระบัญญัตินี้ พระองค์ดำเนินการไปอีกขั้นเพื่อให้บรรลุพระประสงค์ของพระองค์. คุณคงทราบว่าพระบัญญัติกำหนดให้ถวายของถวายแก่พระเจ้า เช่น ธัญชาติ, น้ำมัน, และเหล้าองุ่น. (เลวีติโก 2:1-4; 23:13; อาฤธโม 15:1-5) มีการถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาด้วย. พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับเครื่องบูชาที่เป็นสัตว์นี้ว่า “ชีวิตของเนื้อหนังอยู่ในเลือด เราได้ให้เลือดแก่เจ้าเพื่อใช้บนแท่น เพื่อจะทำการลบมลทินบาปแห่งวิญญาณจิตของเจ้า เพราะว่าโลหิตเป็นสิ่งที่ทำการลบมลทินบาปด้วยชีวิตเป็นเหตุ [“ไถ่ความผิดโดยชีวิตที่อยู่ในเลือดนั้น,” ล.ม.] เพราะฉะนั้นเราจึงได้พูดกับคนอิสราเอลว่า ในพวกเจ้าอย่าให้คนใดรับประทานเลือดเลย.” พระยะโฮวากล่าวต่อไปว่า ถ้าใคร เช่น ผู้ล่าสัตว์หรือผู้เลี้ยงสัตว์ ฆ่าสัตว์เป็นอาหาร เขาต้องให้เลือดไหลออก แล้วเอาดินกลบ. พื้นแผ่นดินโลกเป็นที่วางพระบาทของพระเจ้า การที่คนเราให้เลือดไหลลงสู่พื้นดินจึงเป็นการยอมรับว่า ชีวิตนั้นกลับคืนสู่พระผู้ประสาทชีวิต.—เลวีติโก 17:11-13, ฉบับแปลใหม่; ยะซายา 66:1.
9. การใช้เลือดวิธีเดียวที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ในพระบัญญัติคืออะไร และมีการให้ใช้เลือดในวิธีดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
9 พระบัญญัติข้อนี้ไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่มีความหมายอะไรสำหรับเรา. คุณสังเกตไหมว่าทำไมชาวอิสราเอลถูกห้ามไม่ให้รับประทานเลือด. พระเจ้าตรัสว่า “เพราะฉะนั้นเราจึงได้พูดกับคนอิสราเอลว่า ในพวกเจ้าอย่าให้คนใดรับประทานเลือดเลย.” เหตุผลคืออะไร? “เราได้ให้เลือดแก่เจ้าเพื่อใช้บนแท่น เพื่อจะทำการลบมลทินบาปแห่งวิญญาณจิต [“ไถ่ความผิดสำหรับชีวิต,” ล.ม.] ของเจ้า.” คุณเห็นใช่ไหมว่า ข้อนี้ทำให้เราหยั่งเห็นเข้าใจถึงเหตุผลที่พระเจ้าตรัสสั่งแก่โนฮาห้ามไม่ให้มนุษย์รับประทานเลือด? พระผู้สร้างปลงพระทัยที่จะให้เลือดอยู่ในฐานะที่มีความหมายสูงส่ง สงวนไว้ใช้เป็นพิเศษสำหรับการช่วยชีวิตผู้คนมากมายให้รอด. เลือดจะมีบทบาทสำคัญในการลบหรือปิดคลุมบาป (การไถ่ความผิด). ฉะนั้น ภายใต้พระบัญญัติ การใช้เลือดวิธีเดียวที่พระเจ้าทรงอนุญาตก็คือบนแท่น เพื่อไถ่ความผิดสำหรับชีวิตชาวอิสราเอลที่แสวงหาการอภัยบาปจากพระยะโฮวา.
10. เหตุใดเลือดสัตว์ไม่สามารถก่อผลให้มีการอภัยบาปได้อย่างสมบูรณ์ กระนั้นการถวายเครื่องบูชาตามพระบัญญัติให้ข้อเตือนใจอะไร?
10 แนวคิดที่ใช้เลือดเพื่อไถ่ความผิดนี้ไม่ต่างไปจากหลักการคริสเตียน. เมื่อกล่าวถึงลักษณะสำคัญนี้ของพระบัญญัติที่พระเจ้าจัดเตรียม คริสเตียนอัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ตามพระบัญญัตินั้นข้าพเจ้าเกือบจะพูดได้ว่าทุกสิ่งถูกชำระด้วยโลหิต, และถ้าไม่มีโลหิตไหลออกแล้ว, ก็จะไม่มีการยกบาป.” (เฮ็บราย 9:22) เปาโลชี้ให้เห็นชัดว่า การถวายเครื่องบูชาตามข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้ทำให้ชาวอิสราเอลกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ปราศจากบาป. ท่านเขียนว่า “การกระทำบูชานั้นเป็นเหตุให้ระลึกถึงความบาปทุกปี ๆ ด้วยว่าเลือดโคผู้และเลือดแพะจะชำระความบาปก็หามิได้เลย.” (เฮ็บราย 10:1-4) ถึงกระนั้น การถวายเครื่องบูชาดังกล่าวก็ส่งเสริมเป้าประสงค์บางอย่าง. เครื่องบูชาเหล่านั้นเตือนใจชาวอิสราเอลให้ระลึกว่าพวกเขาผิดบาป และจำเป็นต้องมีอะไรนอกไปจากนั้นเพื่อจะได้รับการอภัยบาปอย่างสมบูรณ์. แต่ถ้าเลือดสัตว์ซึ่งมีความหมายเล็งถึงชีวิตของมันไม่สามารถปิดคลุมบาปของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว จะมีเลือดใด ๆ ทำได้ไหม?
วิธีแก้ปัญหาของพระผู้ประสาทชีวิต
11. เรารู้ได้อย่างไรว่าการถวายเลือดสัตว์บูชาชี้ถึงอะไรบางอย่าง?
11 จริง ๆ แล้ว พระบัญญัติชี้ถึงอะไรบางอย่างที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่ามากในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าบรรลุผล. เปาโลถามขึ้นมาว่า “ถ้าเช่นนั้น เหตุใดจึงมีพระบัญญัติ?” ท่านตอบว่า “พระบัญญัติถูกเพิ่มไว้เพื่อทำให้การล่วงละเมิดปรากฏชัด จนกว่าพงศ์พันธุ์ที่ได้รับคำสัญญานั้นจะมา; และพระบัญญัติถูกถ่ายทอดทางทูตสวรรค์โดยผ่านมือผู้กลาง [โมเซ].” (ฆะลาเตีย 3:19, ล.ม.) คล้าย ๆ กัน เปาโลเขียนว่า “พระบัญญัตินั้นได้เป็นแต่เงาของสิ่งดีที่จะมาภายหน้า, มิใช่ตัวจริงแห่งของสิ่งนั้นทีเดียว.”—เฮ็บราย 10:1.
12. เราจะหยั่งเห็นเข้าใจการเปิดเผยพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องเลือดได้อย่างไร?
12 จากการที่ได้พิจารณากันมาถึงตอนนี้ คุณคงจำได้ว่าในสมัยของโนฮา พระเจ้าบัญชาว่า มนุษย์กินเนื้อสัตว์เพื่อค้ำจุนชีวิตได้ แต่จะกินเลือดไม่ได้. ในเวลาต่อมา พระเจ้าตรัสว่า “ชีวิตของเนื้อหนังอยู่ในเลือด.” ถูกแล้ว พระองค์ปลงพระทัยที่จะถือว่าเลือดเป็นสัญลักษณ์หมายถึงชีวิต และตรัสว่า “เราได้ให้เลือดแก่เจ้าเพื่อใช้บนแท่น เพื่อจะทำการลบมลทินบาปแห่งวิญญาณจิต [“ไถ่ความผิดสำหรับชีวิต,” ล.ม.] ของเจ้า.” ถึงกระนั้น ยังจะมีการเปิดเผยอันน่าพิศวงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้ามากขึ้น. พระบัญญัติเป็นเงาของสิ่งดีที่จะมีมา. สิ่งดีอะไร?
13. เพราะเหตุใดการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูจึงมีความสำคัญ?
13 ตัวจริงนั้นรวมจุดอยู่ที่ความตายของพระเยซูคริสต์. คุณทราบว่าพระเยซูถูกทรมานและตอกกับหลัก. พระองค์สิ้นพระชนม์เยี่ยงอาชญากร. เปาโลเขียนว่า “ขณะที่เรายังอ่อนแอ พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อคนที่ดูหมิ่นพระเจ้าตามเวลากำหนด . . . พระเจ้าทรงเสนอความรักของพระองค์แก่เราในประการที่ว่า ขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่ พระคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา.” (โรม 5:6, 8, ล.ม.) โดยการสิ้นพระชนม์เพื่อเรานั้น พระคริสต์ทรงจัดเตรียมค่าไถ่เพื่อปิดคลุมบาปของเรา. ค่าไถ่นี้เป็นแก่นของข่าวสารคริสเตียน. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16; 1 โกรินโธ 15:3; 1 ติโมเธียว 2:6) ค่าไถ่เกี่ยวข้องอย่างไรกับเลือดและชีวิต และชีวิตของคุณเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร?
14, 15. (ก) คำแปลที่เอเฟโซ 1:7 ในคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับเน้นที่ความตายของพระเยซูอย่างไร? (ข) ข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับเอเฟโซ 1:7 ที่อาจถูกมองข้ามไปได้?
14 บางคริสตจักรเน้นที่ความตายของพระเยซู สมาชิกคริสตจักรเหล่านั้นกล่าวทำนองนี้: “พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อฉัน.” ขอให้พิจารณาว่าคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลข้อความในเอเฟโซ 1:7 ว่าอย่างไร: “ในพระองค์และโดยความตายของพระองค์ เราได้รับการไถ่ กล่าวคือ ลบล้างความผิดของเรา.” (ฉบับอเมริกันไบเบิล โดยแฟรงก์ ไชล์ แบลันไทน์ 1902) “เราเป็นอิสระโดยทางความตายของพระคริสต์ หมายความว่า พระเจ้าทรงอภัยบาปให้เราแล้ว.” (ฉบับประชานิยม) “ในและโดยทางพระคริสต์และการสละชีวิตของพระองค์ เราได้รับการปลดปล่อย อันเป็นการปลดปล่อยที่หมายถึงการอภัยบาป.” (พันธสัญญาใหม่ โดยวิลเลียม บาร์เคลย์ 1969) “โดยทางความตายของพระคริสต์ เราได้รับการอภัยบาปและเป็นอิสระ.” (พันธสัญญาใหม่สำหรับผู้แปล 1973) คุณจะเห็นได้ว่าคำแปลเหล่านี้ล้วนเน้นที่ความตายของพระเยซู. บางคนอาจกล่าวว่า ‘แต่ความตายของพระเยซูก็เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ นี่. แล้วอะไรกันล่ะที่ขาดหายไปในคำแปลเหล่านี้?’
15 จริง ๆ แล้ว ถ้าคุณต้องอาศัยเฉพาะฉบับแปลดังกล่าว คุณอาจมองข้ามจุดหนึ่งที่สำคัญยิ่งไปได้ และนี่อาจจำกัดความเข้าใจของคุณต่อข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล. คำแปลเหล่านั้นบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อความเดิมในเอเฟโซ 1:7 มีคำกรีกที่หมายถึง “โลหิต.” ด้วยเหตุนั้น คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับ เช่น คัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยฉบับแปลเก่า จึงแปลข้อความใกล้เคียงกับต้นฉบับมากกว่าว่า “ในพระองค์นั้นเราได้รับการไถ่โดยพระโลหิต ของพระองค์, และได้รับอภัยโทษในความผิดของเราโดยพระกรุณาอันอุดมของพระองค์.”
16. คำแปลที่ว่า “พระโลหิตของพระองค์” นั้นน่าจะชวนให้เราคิดถึงอะไร?
16 คำแปลที่ว่า “พระโลหิตของพระองค์” นั้น มีความหมายอย่างมาก และน่าจะชวนให้เราคิดถึงหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับโลหิต. ความตายของผู้หนึ่งผู้ใดยังไม่พอ แม้จะเป็นความตายของพระเยซูมนุษย์สมบูรณ์ก็ตาม. พระองค์ทำให้สิ่งที่แสดงภาพล่วงหน้าในพระบัญญัติสำเร็จเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันไถ่โทษ. ในวันพิเศษนั้น สัตว์ชนิดที่กำหนดไว้ในพระบัญญัติจะถูกถวายเป็นเครื่องบูชา. จากนั้น มหาปุโรหิตจะนำเลือดส่วนหนึ่งของสัตว์ที่ถวายบูชานั้นเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพลับพลาหรือพระวิหาร ซึ่งจะมีการถวายเลือดแด่พระเจ้าที่นั่น เสมือนว่าเขาอยู่จำเพาะพระพักตร์พระองค์.—เอ็กโซโด 25:22; เลวีติโก 16:2-19.
17. พระเยซูทำให้สิ่งที่แสดงภาพล่วงหน้าในวันไถ่โทษสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
17 ดังที่เปาโลอธิบาย พระเยซูทำให้สิ่งที่แสดงภาพล่วงหน้าในวันไถ่โทษสำเร็จเป็นจริง. ก่อนอื่น ท่านกล่าวว่า มหาปุโรหิตของอิสราเอลนำเลือดเข้าไปถวายในห้องบริสุทธิ์ที่สุดปีละครั้ง “เพื่อความบาปของตัวเอง และเพื่อความบาปของคนทั้งปวง.” (เฮ็บราย 9:6, 7) ตรงตามแบบอย่างที่ทำในวันไถ่โทษนี้ หลังจากคืนพระชนม์เป็นกายวิญญาณแล้ว พระเยซูเสด็จเข้าไปในสวรรค์. ฐานะกายวิญญาณที่ไม่ใช่เนื้อและเลือด พระองค์สามารถไปปรากฏจำเพาะ “พระพักตร์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.” พระองค์ถวายอะไรแด่พระเจ้า? ไม่ใช่อะไรบางอย่างทางกายภาพ แต่เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่ง. เปาโลกล่าวต่อไปว่า “เมื่อพระคริสต์ได้เสด็จมาเป็นมหาปุโรหิต . . . พระองค์ไม่ได้ทรงนำเลือดแพะและเลือดลูกวัวเข้าไป, แต่ทรงนำพระโลหิตของพระองค์เอง, เสด็จเข้าไปในที่บริสุทธิ์นั้นแต่เพียงครั้งเดียว, และทรงได้ความรอดนิรันดร์ไว้. เพราะว่าถ้าเลือดแพะและเลือดวัวตัวผู้ . . . ยังอาจชำระเนื้อหนังให้บริสุทธิ์ได้, มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าไรพระโลหิตของพระเยซูคริสต์, ผู้ประกอบด้วยพระวิญญาณนิรันดร์ได้ทรงถวายพระองค์เองแก่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาอันปราศจากตำหนิ, จะได้ทรงชำระใจวินิจฉัยผิดและชอบของท่านทั้งหลายให้พ้นจากการประพฤติที่ตายแล้ว, เพื่อจะได้ปฏิบัติพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” ใช่แล้ว สิ่งที่พระเยซูถวายแด่พระเจ้าก็คือคุณค่าแห่งพระโลหิตของพระองค์.—เฮ็บราย 9:11-14, 24, 28; 10:11-14; 1 เปโตร 3:18.
18. เหตุใดข้อความต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวถึงเลือดควรมีความสำคัญต่อคริสเตียนในทุกวันนี้?
18 ความจริงจากพระเจ้านี้ทำให้เราเข้าใจแง่มุมอันน่าพิศวงต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวในเรื่องเลือดได้ครบถ้วน เป็นต้นว่า เหตุใดพระเจ้าทรงมีทัศนะต่อเรื่องเลือดเช่นนี้, ทัศนะของเราต่อเรื่องเลือดควรเป็นเช่นไร, และทำไมเราควรเชื่อฟังข้อห้ามที่พระเจ้าวางไว้ในเรื่องการใช้เลือด. เมื่ออ่านพระธรรมเล่มต่าง ๆ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คุณจะพบข้อคัมภีร์มากมายที่พาดพิงถึงพระโลหิตของพระคริสต์. (ดูกรอบ.) ข้อเหล่านั้นแสดงอย่างชัดเจนว่าคริสเตียนทุก ๆ คนควรมีความเชื่อใน “พระโลหิต ของ [พระเยซู].” (โรม 3:25) การที่เราได้รับการอภัยบาปและกลับมามีสันติสุขกับพระเจ้าเป็นไปได้ทางเดียวคือโดย “พระโลหิต ที่พระองค์ [พระเยซู] ได้หลั่ง.” (โกโลซาย 1:20, ล.ม.) ข้อนี้เป็นจริงอย่างแน่นอนสำหรับผู้ที่พระเยซูทรงทำสัญญาไมตรีเป็นพิเศษกับพวกเขาเพื่อจะร่วมปกครองกับพระองค์ในสวรรค์. (ลูกา 22:20, 28-30; 1 โกรินโธ 11:25; เฮ็บราย 13:20) ข้อนี้ยังเป็นจริงเช่นกันสำหรับ “ชนฝูงใหญ่” ในทุกวันนี้ ซึ่งจะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ที่กำลังจะมาถึงและมีชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก. ในความหมายโดยนัย ชนฝูงใหญ่ ‘ชำระเสื้อยาวของเขาในพระโลหิต ของพระเมษโปดก.’—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.
19, 20. (ก) เหตุใดพระเจ้าทรงปลงพระทัยวางข้อจำกัดในเรื่องการใช้เลือด? และเราควรรู้สึกเช่นไรต่อเรื่องนี้? (ข) เราควรสนใจที่จะทราบอะไร?
19 เป็นที่กระจ่างชัดว่าในทัศนะของพระเจ้าแล้ว เลือดมีความหมายพิเศษ. เราควรมีทัศนะต่อเรื่องเลือดอย่างเดียวกันนั้น. พระผู้สร้างผู้ทรงห่วงใยชีวิตมีสิทธิวางข้อจำกัดแก่มนุษย์ในเรื่องการใช้เลือด. ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา พระองค์ปลงพระทัยที่จะจำกัดให้ใช้เลือดในวิธีเดียวที่สำคัญยิ่ง อันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ชีวิตนิรันดร์เป็นไปได้. วิธีนั้นเกี่ยวข้องกับพระโลหิตของพระเยซูที่มีค่ามาก. เรามีเหตุผลที่จะขอบพระคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเราด้วยการใช้เลือด—พระโลหิตของพระเยซู—ในแนวทางที่เป็นการช่วยชีวิตให้รอดนี้! และเราควรขอบพระคุณพระเยซูสักเพียงไรที่ทรงหลั่งพระโลหิตของพระองค์ถวายเป็นเครื่องบูชาเพื่อพวกเรา! แท้จริง เราเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของอัครสาวกโยฮันที่กล่าวว่า “แด่พระองค์ผู้ทรงรักเราทั้งหลายและได้ทรงปลดปล่อยเราจากบาปของเราโดยพระโลหิตของพระองค์เอง—และพระองค์ทรงทำให้เราเป็นราชอาณาจักร เป็นปุโรหิตแด่พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์—ถูกแล้ว ขอให้พระองค์นั้นจงมีสง่าราศีและฤทธานุภาพตลอดไป. อาเมน.”—วิวรณ์ 1:5, 6, ล.ม.
20 บทบาทของเลือดในการช่วยชีวิตให้รอดนี้อยู่ในพระทัยของพระเจ้าผู้ทรงสรรพปัญญาและพระผู้ประสาทชีวิตของเราตลอดเวลายาวนานในอดีต. ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจถามว่า ‘เรื่องนี้ควรจะมีผลกระทบอะไรต่อการตัดสินใจและการกระทำของเรา?’ บทความถัดไปจะพิจารณาประเด็นนี้.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราเรียนรู้อะไรได้เกี่ยวกับทัศนะของพระเจ้าในเรื่องเลือดจากเรื่องราวของเฮเบลและโนฮา?
• ในพระบัญญัติ พระเจ้าวางข้อจำกัดอะไรในเรื่องการใช้เลือด และเพราะเหตุใด?
• พระเยซูทำให้สิ่งที่แสดงภาพล่วงหน้าในวันไถ่โทษสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
• พระโลหิตของพระเยซูช่วยชีวิตเราให้รอดได้อย่างไร?
[กรอบหน้า 18]
เลือดของผู้ใดที่ช่วยชีวิตให้รอด?
“จงเอาใจใส่ตัวท่านเองและฝูงแกะทั้งปวงซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้แต่งตั้งท่านทั้งหลายเป็นผู้ดูแล ให้บำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงซื้อไว้ด้วยพระโลหิตแห่งพระบุตรของพระองค์เอง.”—กิจการ 20:28, ล.ม.
“เดี๋ยวนี้เมื่อเราเป็นคนชอบธรรมแล้วโดยพระโลหิตของพระองค์, เราก็จะพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าโดยพระองค์แน่ยิ่งกว่านั้นอีก.”—โรม 5:9.
“เมื่อก่อนท่าน . . . ไม่มีที่หวัง และอยู่ในโลกปราศจากพระเจ้า. แต่บัดนี้ท่านทั้งหลายอยู่ในพระเยซูคริสต์, ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ไกล แต่ได้เข้ามาใกล้แล้วโดยพระโลหิตของพระคริสต์นั้น.”—เอเฟโซ 2:11-13.
“พระเจ้าทรงเห็นดีให้ความบริบูรณ์ทั้งสิ้นอยู่ในพระองค์ และให้สิ่งอื่น ๆ ทั้งสิ้นคืนดีกับพระองค์เองโดยพระองค์นั้น โดยสร้างสันติด้วยพระโลหิตที่พระองค์ได้หลั่งลงบนหลักทรมาน.”—โกโลซาย 1:19, 20, ล.ม.
“เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย, เราจึงมีใจกล้าที่จะเข้าไปในที่บริสุทธิ์โดยพระโลหิตของพระเยซู.”—เฮ็บราย 10:19.
“ไม่ได้ทรงไถ่ท่านทั้งหลายออกจากการประพฤติตามความโง่ซึ่งท่านได้เรียนมาจากบรรพบุรุษนั้น ด้วยสิ่งของที่จะเปื่อยเน่าไป . . . แต่ทรงไถ่ด้วยโลหิตอันมีราคามาก. คือพระโลหิตของพระคริสต์, เหมือนเลือดของลูกแกะที่ปราศจากพิการและด่างพร้อย.”—1 เปโตร 1:18, 19.
“ถ้าเราดำเนินอยู่ในความสว่าง, เหมือนอย่างพระองค์สถิตอยู่ในความสว่าง, เราก็ร่วมสามัคคีธรรมซึ่งกันและกัน, และพระโลหิตของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ได้ทรงชำระเราทั้งหลายให้ปราศจากบาปทั้งสิ้น.”—1 โยฮัน 1:7.
“พระองค์เป็นผู้สมควรจะทรงรับหนังสือและแกะตราหนังสือนั้นออก, เพราะว่าพระองค์ถูกฆ่าเสียแล้ว, และโดยพระโลหิตของพระองค์ได้ทรงไถ่เราทั้งหลายออกจากทุกตระกูลและทุกภาษาและทุกชาติและทุกประเทศถวายแด่พระเจ้า.”—วิวรณ์ 5:9.
“ผู้ที่กล่าวโทษพวกพี่น้องของเรา . . . ก็ถูกผลักทิ้งลงเสียแล้ว. เขาเหล่านั้นได้มีชัยชนะแก่มันโดยพระโลหิตของพระเมษโปดกนั้น, และโดยคำพยานของตนเอง.”—วิวรณ์ 12:10, 11.
[ภาพหน้า 16]
โดยทางพระบัญญัติ พระเจ้าแสดงชัดว่าเลือดมีบทบาทสำคัญในการอภัยบาป
[ภาพหน้า 17]
โดยทางพระโลหิตของพระเยซู ชีวิตของผู้คนมากมายสามารถได้รับการช่วยให้รอด