ไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป
“[พระคริสต์] สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง เพื่อคนที่มีชีวิตจะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป.”—2 โกรินโธ 5:15, ล.ม.
1, 2. บัญญัติอะไรในพระคัมภีร์ที่กระตุ้นเหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกให้เอาชนะความเห็นแก่ตัว?
คืนนั้นเป็นคืนสุดท้ายของพระเยซูบนแผ่นดินโลก. อีกไม่กี่ชั่วโมง พระองค์จะสละชีวิตเพื่อทุกคนที่สำแดงความเชื่อในพระองค์. ในคืนนั้น พระเยซูบอกหลายเรื่องที่สำคัญแก่พวกอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. หนึ่งในเรื่องเหล่านั้นคือบัญญัติเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะที่จะใช้ระบุตัวสาวกของพระองค์. พระองค์ตรัสว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย, คือให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน. เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วฉันใด, เจ้าจงรักซึ่งกันและกันด้วยฉันนั้น. คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.”—โยฮัน 13:34, 35.
2 คริสเตียนแท้ต้องแสดงความรักแบบเสียสละตนเองต่อกันและกัน และให้ความจำเป็นของเพื่อนร่วมความเชื่อมาก่อนของตน. พวกเขาไม่ควรลังเลแม้แต่ที่จะ ‘สละชีวิตเพื่อมิตรสหายของตน.’ (โยฮัน 15:13) คริสเตียนยุคแรกตอบรับบัญญัติใหม่นี้อย่างไร? ในงานเขียนโด่งดังที่ชื่อข้อแก้ต่าง เทอร์ทูลเลียนนักเขียนในศตวรรษที่สองได้ยกคำพูดของคนอื่นที่กล่าวถึงคริสเตียนว่า ‘ดูเถอะว่าพวกเขารักกันมากขนาดไหน พวกเขาพร้อมจะตายแทนกันด้วยซ้ำ.’
3, 4. (ก) เหตุใดเราควรเอาชนะความเห็นแก่ตัว? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้?
3 เราก็เช่นกันต้อง “ช่วยแบกภาระ (ร่วมทุกข์ร่วมสุข) ซึ่งกันและกัน . . . ดังนั้นจึงเป็นที่ให้พระบัญญัติของพระคริสต์สำเร็จ.” (ฆะลาเตีย 6:2) อย่างไรก็ตาม ความเห็นแก่ตัวเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ขัดขวางการเชื่อฟังบัญญัติของพระคริสต์และ ‘รักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเรา, และด้วยสิ้นสุดความคิดของเรา.’ (มัดธาย 22:37-39) เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์ เราจึงมีแนวโน้มในทางเห็นแก่ตัวกันอยู่แล้ว. นอกจากนี้ ความเครียดในชีวิตแต่ละวัน, บรรยากาศการแข่งขันในโรงเรียนหรือที่ทำงาน, และการดิ้นรนหาเลี้ยงชีพให้มีพอใช้จ่าย ยิ่งทำให้แนวโน้มที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดนี้รุนแรงขึ้น. แนวโน้มในทางเห็นแก่ตัวนี้ไม่ลดลง. อัครสาวกเปาโลเตือนไว้ว่า “วาระสุดท้ายนั้น . . . ผู้คนจะเห็นแก่ตัว.”—2 ติโมเธียว 3:1, 2, ฉบับแปล 2002.
4 ในช่วงท้าย ๆ ของงานรับใช้ทางแผ่นดินโลกของพระเยซู พระองค์ตรัสถึงสามขั้นตอนที่จะช่วยสาวกของพระองค์ให้เอาชนะความเห็นแก่ตัว. ขั้นตอนเหล่านั้นคืออะไร และเราจะได้ประโยชน์จากคำแนะนำของพระองค์โดยวิธีใด?
วิธีแก้ที่ชะงัด!
5. ขณะทำงานประกาศทางตอนเหนือของแคว้นแกลิลี พระเยซูทรงเผยอะไรแก่เหล่าสาวก และทำไมการเปิดเผยนั้นจึงทำให้พวกเขาตกตะลึง?
5 ในตอนนั้น พระเยซูกำลังทำงานประกาศใกล้เมืองซีซาเรียฟิลิปปี ทางตอนเหนือของแคว้นแกลิลี. อาณาบริเวณที่งดงามและเงียบสงบแห่งนี้ดูเหมือนเหมาะเป็นที่สำหรับปล่อยตัวตามสบายมากกว่าจะเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องการหักห้ามตน. อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ที่นั่น พระเยซูเริ่มเผยแก่เหล่าสาวกว่า “พระองค์จะต้องเสด็จไปกรุงยะรูซาเลม, เพื่อจะรับความทนทุกข์ทรมานต่าง ๆ อย่างสาหัสจากพวกผู้เฒ่าและพวกปุโรหิตใหญ่และพวกอาลักษณ์. จนต้องถึงแก่ประหารชีวิต แต่ในวันที่สามพระองค์จะเป็นขึ้นมาใหม่.” (มัดธาย 16:21) การเปิดเผยดังกล่าวคงทำให้เหล่าสาวกของพระเยซูตกตะลึงสักเพียงไร เนื่องจากจนถึงขณะนั้น พวกเขาคาดหวังให้ผู้นำของตนตั้งอาณาจักรของพระองค์ขึ้นบนแผ่นดินโลก!—ลูกา 19:11; กิจการ 1:6.
6. เหตุใดพระเยซูทรงตำหนิเปโตรอย่างแรง?
6 เปโตรรีบ “พาพระเยซูออกไป แล้วเริ่มทักท้วงพระองค์ดังนี้: ‘พระองค์เจ้าข้า จงกรุณาพระองค์เองเถิด พระองค์จะไม่ประสบเหตุการณ์เช่นนั้นเลย.’ ” พระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไร? “พระองค์ทรงหันหลังให้และตรัสแก่เปโตรว่า ‘จงไปอยู่ข้างหลังเรา ซาตาน! เจ้าเป็นหินสะดุดแก่เรา เพราะที่เจ้าคิดนั้น ไม่ใช่ความคิดของพระเจ้า แต่เป็นความคิดของมนุษย์.’ ” เจตคติสองอย่างนี้นับว่าต่างกันเสียจริง ๆ! พระเยซูเต็มพระทัยยอมรับแนวทางแห่งการเสียสละตนเองซึ่งพระเจ้ามอบหมายให้พระองค์ อันเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การสิ้นพระชนม์บนหลักทรมานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า. ส่วนเปโตรเสนอแนะแนวทางที่สะดวกสบาย. เปโตรทูลว่า “จงกรุณาพระองค์เองเถิด.” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเปโตรมีเจตนาดี. ถึงกระนั้น พระเยซูทรงตำหนิเปโตรเนื่องจากในโอกาสนั้นท่านปล่อยให้ความคิดของซาตานเข้าครอบงำ. เปโตรไม่ได้มี “ความคิดของพระเจ้า แต่เป็นความคิดของมนุษย์.”—มัดธาย 16:22, 23, ล.ม.
7. พระเยซูวางแนวทางอะไรให้สาวกของพระองค์ปฏิบัติ ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 16:24?
7 คำพูดซึ่งคล้ายกันกับที่เปโตรพูดกับพระเยซูก็มีให้ได้ยินกันในทุกวันนี้. โลกมักส่งเสริมความคิดที่ว่า “ให้สิ่งที่ดีแก่ตัวคุณเอง” หรือ “เลือกทางที่ง่ายที่สุด.” ส่วนพระเยซูแนะนำให้มีเจตคติที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง. พระองค์บอกสาวกของพระองค์ว่า “ถ้าผู้ใดต้องการติดตามเรา ให้เขาปฏิเสธตัวเองและแบกเสาทรมานของตนแล้วติดตามเราเรื่อยไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) เดอะ นิว อินเทอร์พรีเตอร์ส ไบเบิลกล่าวว่า “คำตรัสนี้ไม่ได้เป็นการเชิญชวนคนภายนอกให้เข้ามาเป็นสาวก แต่เป็นการชวนผู้ที่ตอบรับการทรงเรียกของพระคริสต์อยู่แล้วให้ใคร่ครวญถึงความหมายของการเป็นสาวก.” ขั้นตอนทั้งสามที่พระเยซูวางไว้ดังบันทึกไว้ในข้อคัมภีร์นี้เป็นขั้นตอนซึ่งผู้เชื่อถือต้องปฏิบัติตาม. ให้เรามาพิจารณาขั้นตอนเหล่านี้ทีละอย่าง.
8. จงอธิบายความหมายของการปฏิเสธตัวเอง.
8 ขั้นตอนแรก เราต้องปฏิเสธตัวเอง. คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ปฏิเสธตัวเอง” ชี้ถึงความเต็มใจที่จะปฏิเสธความปรารถนาอันเห็นแก่ตัวหรือความสะดวกสบายส่วนตัว. การปฏิเสธตัวเองไม่ใช่แค่เรื่องของการสละความเพลิดเพลินบางอย่างในบางโอกาส อีกทั้งไม่ได้หมายความว่าเราจะบำเพ็ญพรตหรือทรมานตน. เรา ‘ไม่ใช่เจ้าของตัวเราเอง’ อีกต่อไปในแง่ที่ว่า เราเต็มใจถวายชีวิตของเราทั้งสิ้นและทุกสิ่งในชีวิตแด่พระยะโฮวา. (1 โกรินโธ 6:19, 20, ฉบับแปล 2002) แทนที่ชีวิตของเราจะรวมจุดอยู่ที่ตัวเอง แต่จะรวมจุดอยู่ที่พระเจ้า. การปฏิเสธตัวเองแสดงนัยถึงการมุ่งมั่นทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า แม้ว่าบางครั้งการทำอย่างนั้นอาจฝืนแนวโน้มที่ไม่สมบูรณ์ของเรา. เราแสดงว่าเรามีความเลื่อมใสโดยเฉพาะต่อพระเจ้าเมื่อเราอุทิศตัวและรับบัพติสมา แล้วพยายามดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวของเราตลอดช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต.
9. (ก) เมื่อพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก เสาทรมานหมายถึงอะไร? (ข) เราแบกเสาทรมานในความหมายเช่นไร?
9 ขั้นตอนที่สองคือเราต้องแบกเสาทรมาน. ในศตวรรษแรก เสาทรมานหมายถึงการทนทุกข์, ความอัปยศ, และความตาย. ปกติแล้ว มีแต่อาชญากรที่จะถูกประหารบนเสาทรมานหรือศพถูกแขวนไว้บนเสา. ด้วยถ้อยคำดังกล่าว พระเยซูแสดงว่าคริสเตียนต้องพร้อมที่จะรับเอาการข่มเหง, การดูหมิ่นเหยียดหยาม, หรือแม้กระทั่งความตาย เนื่องจากเขาไม่เป็นส่วนของโลก. (โยฮัน 15:18-20) มาตรฐานคริสเตียนของเราทำให้เราต่างจากโลก ดังนั้น โลกจึงอาจ ‘กล่าวร้ายพวกเรา.’ (1 เปโตร 4:4, ล.ม.) เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ที่โรงเรียน, ที่ทำงาน, หรือแม้แต่ในครอบครัว. (ลูกา 9:23) ถึงกระนั้น เราเต็มใจทนรับการหมิ่นประมาทจากโลกเพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป. พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหงและนินทาท่านทั้งหลายต่าง ๆ เป็นความเท็จเพราะเรา, ท่านก็เป็นสุข. จงชื่นชมยินดีอย่างยิ่งเพราะว่าบำเหน็จของท่านมีบริบูรณ์ในสวรรค์.” (มัดธาย 5:11, 12) จริงทีเดียว การเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าคือสิ่งสำคัญที่สุด.
10. การติดตามพระเยซูเรื่อยไปเกี่ยวข้องกับอะไร?
10 ขั้นตอนที่สาม พระเยซูคริสต์ตรัสว่าเราต้องติดตามพระองค์เรื่อยไป. ตามที่อธิบายในพจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ) ของ ดับเบิลยู. อี. ไวน์ คำว่าติดตามหมายถึงเป็นเพื่อนร่วมทาง ซึ่งก็คือ “ผู้ที่เดินทางไปทางเดียวกัน.” หนึ่งโยฮัน 2:6 (ล.ม.) กล่าวว่า “ผู้ที่กล่าวว่าตนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ [พระเจ้า] ผู้นั้นต้องดำเนินอย่างที่ [พระคริสต์] ทรงดำเนินนั้นด้วย.” พระเยซูทรงดำเนินแบบไหน? ความรักที่พระเยซูมีต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์และต่อเหล่าสาวกทำให้พระองค์ไม่มีที่สำหรับความเห็นแก่ตัว. เปาโลเขียนว่า “พระคริสต์ . . . มิได้กระทำตามชอบพระทัยของพระองค์.” (โรม 15:3, ล.ม.) แม้แต่ในยามที่เหนื่อยหรือหิว พระเยซูก็ยังให้ความจำเป็นของผู้อื่นมาก่อนของพระองค์เอง. (มาระโก 6:31-34) นอกจากนั้น พระเยซูทุ่มเทตัวอย่างแข็งขันในงานประกาศสั่งสอนเรื่องราชอาณาจักร. เราควรเลียนแบบพระองค์มิใช่หรือ ขณะที่เราทำงานมอบหมายของเราด้วยใจแรงกล้าที่ให้ ‘สั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัตรซึ่งพระเยซูได้สั่งไว้’? (มัดธาย 28:19, 20) ในการกระทำทั้งหมดนี้ พระคริสต์ทรงวางแบบอย่างไว้แก่เรา และเราต้อง “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.”—1 เปโตร 2:21, ล.ม.
11. เหตุใดนับว่าสำคัญที่เราจะปฏิเสธตัวเอง, แบกเสาทรมาน, และติดตามพระเยซูคริสต์เรื่อยไป?
11 การปฏิเสธตัวเอง, แบกเสาทรมาน, และติดตามพระผู้เป็นแบบอย่างของเราเรื่อยไปนั้นนับว่าสำคัญ. การทำเช่นนั้นเป็นวิธีแก้ความเห็นแก่ตัว อันเป็นอุปสรรคอย่างแท้จริงต่อการแสดงความรักแบบเสียสละตัวเอง. นอกจากนั้น พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดจะใคร่เอาชีวิตของตนรอด, ผู้นั้นจะเสียชีวิต. แต่ผู้ใดจะเสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เรา ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด. เพราะถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลก, แต่ต้องเสียชีวิตของตนจะเป็นประโยชน์อะไร? หรือใครจะเอาอะไรมาแลกกับชีวิตของตน?”—มัดธาย 16:25, 26.
เรารับใช้นายสองนายไม่ได้
12, 13. (ก) ขุนนางหนุ่มที่ขอคำแนะนำจากพระเยซูเป็นห่วงเรื่องอะไร? (ข) พระเยซูให้คำแนะนำอะไรแก่ชายหนุ่มผู้นี้ และเพราะเหตุใด?
12 ไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากพระเยซูเน้นความจำเป็นที่สาวกของพระองค์ต้องปฏิเสธตัวเอง มีขุนนางหนุ่มผู้ร่ำรวยคนหนึ่งมาหาพระองค์ทูลว่า “ท่านอาจารย์, ข้าพเจ้าจะต้องทำดีประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?” พระเยซูบอกให้เขา “ถือรักษาพระบัญญัติไว้” และทรงอ้างถึงพระบัญญัติบางข้อ. ชายหนุ่มนั้นกล่าวว่า “ข้อเหล่านั้นข้าพเจ้าได้ถือรักษาไว้แล้วทุกประการ.” ชายผู้นี้ดูเหมือนว่าจริงใจและพยายามเต็มที่เพื่อถือรักษาพระบัญญัติ. ดังนั้น เขาจึงถามว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง.” พระเยซูทรงตอบชายหนุ่มนั้นด้วยคำเชิญที่ไม่มีใดเหมือนว่า “ถ้าท่านปรารถนาเป็นผู้ดีรอบคอบ จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงตามเรามา.”—มัดธาย 19:16-21.
13 พระเยซูทรงเห็นว่า เพื่อชายคนนี้จะรับใช้พระยะโฮวาสุดชีวิต เขาต้องขจัดอุปสรรคสำคัญในชีวิตของตน นั่นคือความมั่งคั่งด้านวัตถุ. สาวกแท้ของพระคริสต์รับใช้นายสองนายไม่ได้. เขา “จะรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้.” (มัดธาย 6:24, ฉบับแปล 2002) เขาต้องมี ‘ตาปกติ’ คือสายตาที่จดจ่อกับเรื่องฝ่ายวิญญาณ. (มัดธาย 6:22) การสละสิ่งของที่มีอยู่และให้แก่คนอนาถาเป็นการเสียสละตัวเอง. เพื่อแลกกับการเสียสละสิ่งฝ่ายวัตถุ พระเยซูเสนอโอกาสอันล้ำค่าแก่ขุนนางหนุ่มให้เขาได้สะสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติที่จะหมายถึงชีวิตนิรันดร์สำหรับเขาและนำไปสู่ความหวังที่จะได้ปกครองทางภาคสวรรค์ร่วมกับพระคริสต์ในที่สุด. ชายหนุ่มผู้นี้ไม่พร้อมจะเสียสละตัวเอง. เขา “ออกไปเป็นทุกข์นัก เพราะเขามีทรัพย์สิ่งของเป็นอันมาก.” (มัดธาย 19:22) อย่างไรก็ตาม สาวกของพระเยซูคนอื่น ๆ ตอบสนองต่างออกไป.
14. ชาวประมงสี่คนตอบสนองอย่างไรต่อคำเชิญของพระเยซูที่ให้ติดตามพระองค์?
14 ประมาณสองปีก่อนหน้านั้น พระเยซูเสนอคำเชิญคล้าย ๆ กันนี้แก่ชาวประมงสี่คน คือ เปโตร, อันดะเรอา, ยาโกโบ, และโยฮัน. ในตอนนั้น สองคนตีอวนอยู่ ส่วนอีกสองคนกำลังชุนอวน. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะตั้งท่านให้เป็นผู้จับคน.” ในที่สุด ทั้งสี่คนเลิกกิจการประมงของพวกตนแล้วติดตามพระเยซูไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของพวกเขา.—มัดธาย 4:18-22.
15. พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งในสมัยปัจจุบันเสียสละอย่างไรเพื่อติดตามพระเยซู?
15 คริสเตียนหลายคนในปัจจุบันก็ได้เลียนแบบชาวประมงสี่คนนี้ แทนที่จะเป็นอย่างขุนนางหนุ่มผู้ร่ำรวย. พวกเขาได้สละทรัพย์สมบัติและโอกาสที่จะมีชื่อเสียงในโลกนี้เพื่อรับใช้พระยะโฮวา. เด็บบรากล่าวว่า “ตอนที่อายุ 22 ดิฉันทำการตัดสินใจครั้งสำคัญ.” เธออธิบายว่า “หลังจากศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ประมาณหกเดือน ดิฉันต้องการอุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวา แต่ถูกครอบครัวต่อต้านอย่างหนัก. พวกเขาเป็นมหาเศรษฐี และรู้สึกว่าการที่ดิฉันเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาจะนำความอับอายมาสู่ครอบครัว. พวกเขาให้เวลาดิฉันตัดสินใจ 24 ชั่วโมงว่าจะเลือกอย่างไหน ระหว่างชีวิตที่หรูหรามั่งคั่งหรือความจริง. ถ้าไม่เลิกคบหาเด็ดขาดกับพวกพยานฯ ดิฉันจะถูกตัดออกจากกองมรดก. พระยะโฮวาช่วยให้ดิฉันตัดสินใจอย่างถูกต้อง และประทานความเข้มแข็งในการตัดสินใจ. ดิฉันรับใช้เต็มเวลามาจนถึงบัดนี้ 42 ปีแล้ว และไม่นึกเสียใจแต่อย่างใด. เมื่อได้หันหลังให้กับรูปแบบชีวิตที่เห็นแก่ตัวและมุ่งแสวงหาความเพลิดเพลิน ดิฉันหลุดพ้นจากชีวิตที่ว่างเปล่าและไร้ความสุขซึ่งเห็นได้ในหมู่ญาติพี่น้อง. ดิฉันกับสามีได้ช่วยผู้คนนับร้อยให้เรียนรู้ความจริง. ลูก ๆ ฝ่ายวิญญาณเหล่านี้มีค่าสำหรับดิฉันมากยิ่งกว่าความมั่งคั่งใด ๆ ฝ่ายวัตถุ.” พยานพระยะโฮวาอีกหลายล้านคนก็รู้สึกแบบเดียวกันนั้น. แล้วคุณล่ะ?
16. เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป?
16 ความปรารถนาที่จะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไปได้กระตุ้นพยานพระยะโฮวาหลายแสนคนให้รับใช้ในฐานะไพโอเนียร์ หรือผู้ประกาศราชอาณาจักรเต็มเวลา. ส่วนคนอื่น ๆ ซึ่งสภาพการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานรับใช้เต็มเวลา ก็ได้ปลูกฝังน้ำใจไพโอเนียร์และสนับสนุนงานประกาศราชอาณาจักรสุดความสามารถของตน. บิดามารดาหลายคนแสดงน้ำใจที่คล้ายกันนั้นเมื่อพวกเขาอุทิศเวลามากมายและสละสิ่งที่ตนเองชอบเพื่อให้การอบรมฝ่ายวิญญาณแก่บุตร. ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราทุกคนสามารถแสดงให้เห็นว่า เราให้ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอยู่ในอันดับแรกในชีวิตของเรา.—มัดธาย 6:33.
ความรักของผู้ใดผลักดันเราอยู่?
17. อะไรกระตุ้นเราให้เสียสละตัวเอง?
17 การแสดงความรักแบบเสียสละตนเองไม่ใช่แนวทางง่ายที่สุดที่จะดำเนิน. แต่ขอให้คิดดูว่าอะไรที่ผลักดันเราอยู่. เปาโลเขียนดังนี้: “ความรักของพระคริสต์ผลักดันเราอยู่ เพราะเราได้ลงความเห็นอย่างนี้ คือว่ามนุษย์ผู้หนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง . . . และพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง เพื่อคนที่มีชีวิตจะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) ความรักของพระคริสต์นั่นเองที่ผลักดันให้เราไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป. นั่นช่างเป็นแรงกระตุ้นที่ทรงพลังจริง ๆ! เนื่องจากพระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อเรา เราจึงสำนึกถึงพันธะที่ควรจะอยู่เพื่อพระองค์มิใช่หรือ? แท้จริงแล้ว การสำนึกบุญคุณความรักอันใหญ่ยิ่งที่พระเจ้าและพระคริสต์ทรงสำแดงต่อเรากระตุ้นเราให้อุทิศชีวิตแด่พระเจ้าและเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์.—โยฮัน 3:16; 1 โยฮัน 4:10, 11.
18. เหตุใดแนวทางชีวิตแบบเสียสละตนเองจึงคุ้มค่า?
18 การไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไปคุ้มค่าไหม? หลังจากขุนนางหนุ่มผู้ร่ำรวยไม่รับคำเชิญของพระคริสต์และกลับไปแล้ว เปโตรทูลพระเยซูว่า “นี่แหละ, ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละสิ่งสารพัตรติดตามพระองค์มา, พวกข้าพเจ้าจะได้อะไรบ้าง?” (มัดธาย 19:27) เปโตรกับอัครสาวกคนอื่น ๆ ได้ปฏิเสธตนเองอย่างแท้จริง. พวกเขาจะได้รับอะไรตอบแทน? อันดับแรกพระเยซูตรัสถึงสิทธิพิเศษที่พวกเขาจะได้ร่วมปกครองกับพระองค์ในสวรรค์. (มัดธาย 19:28) ในโอกาสเดียวกันนั้น พระเยซูตรัสถึงพระพรที่สาวกทุกคนของพระองค์จะได้รับ. พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดได้สละเรือนหรือพี่น้องชายหญิงหรือบิดามารดาหรือลูกหรือไร่นาเพราะเห็นแก่เราและกิตติคุณของเรา, ในชาติ [“เวลา,” ล.ม.] นี้ผู้นั้นจะได้รับตอบแทนร้อยเท่า . . . และในชาติหน้า [“ระบบที่จะมีมา,” ล.ม.] จะได้ชีวิตนิรันดร์.” (มาระโก 10:29, 30) เราได้รับตอบแทนมากกว่าที่เราเสียสละไป. บิดามารดา, พี่น้อง, และบุตรฝ่ายวิญญาณของเรามีค่ามากกว่าสิ่งใด ๆ ที่เราได้สละเพื่อเห็นแก่ราชอาณาจักรมิใช่หรือ? ใครมีชีวิตที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่ากัน—เปโตร หรือขุนนางหนุ่มผู้ร่ำรวยนั้น?
19. (ก) ความสุขแท้ขึ้นอยู่กับอะไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
19 โดยทางคำพูดและการกระทำ พระเยซูแสดงว่าความสุขเกิดจากการให้และการรับใช้ ไม่ใช่จากการเห็นแก่ตัว. (มัดธาย 20:28; กิจการ 20:35) เมื่อเราไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไปแต่ติดตามพระคริสต์เรื่อยไป เราประสบความอิ่มใจพอใจอย่างมากในชีวิตปัจจุบัน และมีความหวังเรื่องชีวิตนิรันดร์ในอนาคต. แน่นอน เมื่อเราปฏิเสธตัวเอง พระยะโฮวากลายเป็นเจ้าของตัวเรา. ด้วยเหตุนี้ เราจึงกลายเป็นทาสของพระเจ้า. เหตุใดการอยู่ในฐานะทาสนี้จึงเป็นประโยชน์? ฐานะเช่นนั้นส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจต่าง ๆ ของเราในชีวิตอย่างไร? บทความถัดไปจะพิจารณาคำถามเหล่านี้.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดเราควรเอาชนะแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวของเรา?
• การปฏิเสธตัวเอง, การแบกเสาทรมาน, และการติดตามพระเยซูเรื่อยไปหมายความว่าอย่างไร?
• อะไรกระตุ้นเราไม่ให้อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป?
• เหตุใดการใช้ชีวิตแบบเสียสละตนเองจึงคุ้มค่า?
[ภาพหน้า 11]
“พระองค์เจ้าข้า จงกรุณาพระองค์เองเถิด”
[ภาพหน้า 13]
อะไรขัดขวางขุนนางหนุ่มไม่ให้ติดตามพระเยซู?
[ภาพหน้า 15]
ความรักกระตุ้นพยานพระยะโฮวาให้รับใช้ด้วยใจแรงกล้าในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร