ข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ
“เจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”—กิจการ 1:8, ล.ม.
1. ในฐานะผู้สอนคัมภีร์ไบเบิล เราใส่ใจในเรื่องใด และเพราะเหตุใด?
ครูที่ดีจะใส่ใจไม่เพียงแต่เนื้อหาที่เขาสอนเท่านั้น แต่จะใส่ใจวิธีที่เขาสอนด้วย. ในฐานะที่เราเป็นผู้สอนความจริงที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิล เราก็ใส่ใจอย่างเดียวกันนั้น. เราใส่ใจทั้งข่าวสารที่เราประกาศและวิธีที่เราใช้. ข่าวสารที่เราประกาศคือข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้านั้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่เราปรับเปลี่ยนวิธีประกาศ. เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ผู้คนมากเท่าที่เป็นไปได้มีโอกาสได้รับฟังข่าวดี.
2. เราเลียนแบบใครเมื่อเราปรับวิธีเสนอข่าวดี?
2 โดยการปรับวิธีเสนอของเรา เราเลียนแบบผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยโบราณ. ขอให้พิจารณาตัวอย่างของอัครสาวกเปาโล. ท่านกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้าสอนพวกยูดาย, ข้าพเจ้าก็ทำตัวเหมือนคนยูดาย . . . เมื่อข้าพเจ้าสอนคนที่อยู่นอกบัญญัติ, ข้าพเจ้าก็ทำตัวเหมือนคนที่อยู่นอกบัญญัติ . . . เมื่อข้าพเจ้าสอนคนที่อ่อนแอ, ข้าพเจ้าก็ทำตัวเหมือนคนที่อ่อนแอ เพื่อจะได้คนอ่อนแอ, ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดเพราะเห็นแก่คนทั้งปวง, เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้าง.” (1 โกรินโธ 9:19-23) เปาโลได้รับผลที่ดีเมื่อปรับวิธีเสนอของท่านให้เข้ากับแต่ละสภาพการณ์. เราก็จะได้รับผลที่ดีเช่นกันหากเราปรับวิธีเสนอให้เข้ากับแต่ละคนที่เราคุยด้วย.
ถึง “ปลายแผ่นดินโลก”
3. (ก) เราเผชิญข้อท้าทายอะไรในงานประกาศของเรา? (ข) ถ้อยคำในยะซายา 45:22 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในปัจจุบัน?
3 ข้อท้าทายใหญ่หลวงอย่างหนึ่งที่ผู้ประกาศข่าวดีเผชิญคือความกว้างใหญ่ของพื้นที่ประกาศ ซึ่งก็คือ “ทั่วโลก.” (มัดธาย 24:14) ระหว่างศตวรรษที่ผ่านมา ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจำนวนมากได้ทำงานอย่างหนักเพื่อนำข่าวดีไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่. ผลเป็นเช่นไร? มีการแผ่ขยายออกไปอย่างน่าทึ่งทั่วโลก. ในตอนต้นศตวรรษที่ 20 การประกาศทำกันในไม่กี่ประเทศ แต่ปัจจุบันพยานพระยะโฮวาทำงานประกาศใน 235 ดินแดน! จริงทีเดียว ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรกำลังได้รับการประกาศกระทั่ง “จนถึงปลายแผ่นดินโลก.”—ยะซายา 45:22.
4, 5. (ก) ใครที่มีบทบาทสำคัญในการแพร่ข่าวดี? (ข) สำนักงานสาขาบางแห่งกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับคนที่มาจากต่างแดนซึ่งรับใช้ในเขตงานที่สาขาเหล่านั้นดูแล?
4 อะไรเป็นเหตุให้เกิดการแผ่ขยายเช่นนั้น? มีหลายปัจจัย. มิชชันนารีที่ได้รับการฝึกอบรมจากโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด และช่วงหลัง ๆ มานี้ มากกว่า 20,000 คนที่จบจากโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้ มีส่วนอย่างมากในการแผ่ขยายนี้. เช่นเดียวกันกับพยานฯ จำนวนมากมายที่ย้ายไปยังดินแดนที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าโดยออกค่าใช้จ่ายเอง. คริสเตียนที่มีน้ำใจเสียสละเหล่านั้น ทั้งชายและหญิง, เด็กและผู้ใหญ่, คนโสดและคนที่แต่งงานแล้ว ต่างมีบทบาทสำคัญในการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรไปตลอดทั่วโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 110:3; โรม 10:18) พวกเขาได้รับการหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่ง. ขอสังเกตข้อความที่สำนักงานสาขาบางแห่งเขียนเกี่ยวกับผู้ที่มาจากต่างประเทศเพื่อรับใช้ในที่ที่มีความต้องการมากกว่าในเขตที่อยู่ภายใต้การดูแลของสาขาเหล่านั้น.
5 “พยานฯ ที่น่ารักเหล่านี้นำหน้าในการประกาศในเขตโดดเดี่ยว ช่วยก่อตั้งประชาคมใหม่ และช่วยพี่น้องในท้องถิ่นนั้นให้เติบโตฝ่ายวิญญาณ.” (เอกวาดอร์) “หากพี่น้องต่างชาติจำนวนมากซึ่งรับใช้อยู่ที่นี่ย้ายออกไป จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมต่าง ๆ. นับว่าเป็นพระพรที่มีพวกเขาอยู่กับเราที่นี่.” (สาธารณรัฐโดมินิกัน) “ในหลายประชาคมของเรามีพี่น้องหญิงเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์. (บทเพลงสรรเสริญ 68:11) พี่น้องหญิงเหล่านี้ส่วนมากยังใหม่ในทางแห่งความจริง แต่พี่น้องหญิงโสดหลายคนที่เป็นไพโอเนียร์ซึ่งมาจากประเทศอื่นได้ให้การช่วยเหลือที่ล้ำค่าโดยฝึกอบรมพี่น้องใหม่เหล่านี้. พี่น้องหญิงเหล่านี้ที่มาจากต่างแดนเป็นของประทานสำหรับเราอย่างแท้จริง!” (ประเทศในยุโรปตะวันออก) คุณเคยคิดถึงการรับใช้ในต่างแดนบ้างไหม?a—กิจการ 16:9, 10.
‘สิบคนแต่บรรดาภาษาทั้งปวง’
6. ซะคาระยา 8:23 ชี้ถึงข้อท้าทายด้านภาษาอย่างไรในงานประกาศของเรา?
6 ข้อท้าทายสำคัญอีกอย่างคือความหลากหลายอย่างมากในด้านภาษาที่ใช้กันในโลก. พระคำของพระเจ้าบอกไว้ล่วงหน้าดังนี้: “ในวันเหล่านั้นจะเป็นไป, คือว่าสิบคนแต่บรรดาภาษาประเทศเมืองทั้งปวง, จะยึดชายเสื้อแห่งคนชาติยูดายว่า, เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) ในความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์นี้ในปัจจุบัน สิบคนที่ว่านี้หมายถึงชนฝูงใหญ่ ตามที่พยากรณ์ไว้ในวิวรณ์ 7:9. แต่ขอสังเกตว่าตามคำพยากรณ์ของซะคาระยานั้น “สิบคน” นั้นไม่ใช่แค่มาจากประเทศทั้งปวง แต่มาจาก ‘บรรดาภาษาประเทศทั้งปวง’ ด้วย. เราได้เห็นคำพยากรณ์ดังกล่าวสำเร็จเป็นจริงในรายละเอียดที่สำคัญจุดนี้ไหม? ใช่แล้ว เป็นอย่างนั้นจริง ๆ.
7. สถิติอะไรที่แสดงว่าผู้คนจาก “บรรดาภาษา” ทั้งปวงกำลังได้รับฟังข่าวดี?
7 ขอเราพิจารณาสถิติบางอย่าง. เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว สรรพหนังสือของเราตีพิมพ์ใน 90 ภาษา. ทุกวันนี้จำนวนนั้นสูงขึ้นถึงมากกว่า 400 ภาษา. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” พยายามอย่างเต็มที่เพื่อจัดให้มีสรรพหนังสือแม้แต่ในภาษาที่มีผู้คนค่อนข้างน้อยใช้พูดกัน. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) เพื่อเป็นตัวอย่าง ขณะนี้สรรพหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลมีในภาษากรีนแลนด์ (มีผู้ใช้ภาษานี้ 47,000 คน) ภาษาปาเลา (มีผู้ใช้ภาษานี้ 15,000 คน) และภาษาแย็ป (มีผู้ใช้ภาษานี้ไม่ถึง 7,000 คน).
“ประตูใหญ่” เปิดไปสู่โอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน
8, 9. เหตุการณ์อะไรเป็นการเปิด “ประตูใหญ่” สำหรับเรา และพยานฯ จำนวนมากตอบรับอย่างไร?
8 แต่ทุกวันนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องไปต่างประเทศเพื่อจะบอกข่าวดีแก่ผู้คนในภาษาต่าง ๆ. ไม่กี่ปีมานี้ การย้ายถิ่นฐานและการอพยพลี้ภัยของผู้คนจำนวนนับล้าน ๆ ไปยังประเทศที่มั่งคั่งกว่าทางเศรษฐกิจทำให้เกิดชุมชนผู้ย้ายถิ่นเป็นจำนวนมากซึ่งพูดภาษาต่าง ๆ หลายภาษา. ตัวอย่างเช่น ในกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส มีภาษาต่าง ๆ ที่ใช้พูดกันประมาณ 100 ภาษา. ในเมืองโตรอนโตประเทศแคนาดามี 125 ภาษา และในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษมีการใช้ภาษาต่างประเทศมากกว่า 300 ภาษา! การมีผู้คนจากประเทศอื่นมาอยู่ในเขตงานของหลายประชาคมเป็นการเปิด “ประตูใหญ่” ไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในการบอกข่าวดีแก่ผู้คนทุกชาติ.—1 โกรินโธ 16:9, ล.ม.
9 พยานฯ จำนวนมากกำลังตอบรับข้อท้าทายนี้ด้วยการเรียนภาษาต่างประเทศ. สำหรับพวกเขาส่วนใหญ่ นี่เป็นเรื่องยาก ทว่าพวกเขาได้รับผลตอบแทนจากความบากบั่นพยายามเป็นความยินดีที่เกิดจากการช่วยผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยให้เรียนรู้ความจริงในพระคำของพระเจ้า. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้รับบัพติสมา ณ การประชุมภาคของประเทศหนึ่งในยุโรปตะวันตกเป็นชาวต่างชาติ.
10. คุณได้ใช้หนังสือข่าวดีสำหรับคนทุกชาติอย่างไร? (ดูกรอบ “ลักษณะเด่นของหนังสือเล่มเล็กข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ” หน้า 26.)
10 จริงอยู่ พวกเราส่วนใหญ่ไม่สามารถจะเรียนภาษาต่างประเทศได้. ถึงกระนั้น เราก็ยังสามารถช่วยชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเราได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากหนังสือใหม่ข่าวดีสำหรับคนทุกชาติb ซึ่งบรรจุข่าวสารที่น่าดึงดูดใจจากคัมภีร์ไบเบิลไว้ในหลายภาษา. (โยฮัน 4:37) คุณใช้หนังสือเล่มเล็กนี้ในการประกาศไหม?
เมื่อผู้คนไม่ตอบรับ
11. มีข้อท้าทายอะไรเพิ่มเข้ามาในบางดินแดน?
11 ขณะที่อำนาจครอบงำของซาตานกำลังทวีขึ้นในโลก เราพบข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่งบ่อยขึ้น นั่นคือ บางดินแดนไม่ค่อยมีผู้คนตอบรับ. แน่นอน สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ทำให้เราประหลาดใจ เพราะพระเยซูบอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่าสภาพการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น. พระองค์กล่าวถึงสมัยของเราว่า “ความรักของคนเป็นอันมากจะเยือกเย็นลง.” (มัดธาย 24:12) เป็นจริงอย่างนั้น ความเชื่อในพระเจ้าและความนับถือต่อคัมภีร์ไบเบิลมีลดน้อยลงท่ามกลางผู้คนจำนวนมากมาย. (2 เปโตร 3:3, 4) ด้วยเหตุนี้ ในบางส่วนของโลก จึงมีผู้คนค่อนข้างน้อยเข้ามาเป็นสาวกใหม่ของพระคริสต์. แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า งานหนักที่พี่น้องคริสเตียนที่รักของเราทำในการพยายามประกาศอย่างซื่อสัตย์ในดินแดนที่ไม่มีการตอบรับเช่นนั้นเป็นการสูญเปล่า. (เฮ็บราย 6:10) เพราะเหตุใด? ให้เรามาพิจารณากัน.
12. วัตถุประสงค์สองประการของงานประกาศของเราคืออะไร?
12 กิตติคุณที่เขียนโดยมัดธายเน้นวัตถุประสงค์หลักสองประการของกิจกรรมการประกาศของเรา. ประการหนึ่งคือเพื่อ “ทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก.” (มัดธาย 28:19, ล.ม.) อีกประการหนึ่งคือเพื่อให้ “คำพยาน” เรื่องราชอาณาจักร. (มัดธาย 24:14, ล.ม.) วัตถุประสงค์ทั้งสองประการล้วนสำคัญ แต่ประการหลังมีความหมายเป็นพิเศษ. เพราะเหตุใด?
13, 14. (ก) อะไรคือลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของหมายสำคัญที่บ่งชี้ถึงการประทับของพระคริสต์? (ข) เราควรจดจำอะไรไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกาศในเขตที่ผู้คนไม่ค่อยตอบรับ?
13 มัดธายผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลบันทึกไว้ว่า เหล่าอัครสาวกทูลถามพระเยซูดังนี้: “อะไรจะเป็นหมายสำคัญแห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้?” (มัดธาย 24:3, ล.ม.) ในคำตอบของพระเยซู พระองค์กล่าวว่าลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของหมายสำคัญนั้นคืองานประกาศทั่วโลก. พระองค์ตรัสถึงการทำให้คนเป็นสาวกไหม? เปล่า. พระองค์ตรัสว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) โดยวิธีนี้ พระเยซูแสดงว่างานประกาศราชอาณาจักรจะเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของหมายสำคัญ.
14 ดังนั้น เมื่อเราประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร เราจดจำไว้ว่าแม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไปในการทำให้คนเป็นสาวก แต่เราก็ทำให้งานให้ “คำพยาน” สำเร็จลุล่วง. ไม่ว่าผู้คนจะตอบรับอย่างไร พวกเขาก็รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และโดยวิธีนี้ เรามีส่วนในการทำให้คำพยากรณ์ของพระเยซูสำเร็จเป็นจริง. (ยะซายา 52:7; วิวรณ์ 14:6, 7) จอร์ดี พยานฯ หนุ่มคนหนึ่งในยุโรปตะวันตกกล่าวว่า “การรู้ว่าพระยะโฮวาใช้ผมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มัดธาย 24:14 สำเร็จเป็นจริงนั้นก่อความยินดีแก่ผมอย่างยิ่ง.” (2 โกรินโธ 2:15-17) ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงรู้สึกอย่างเดียวกันนั้น.
เมื่อมีการสั่งห้ามข่าวสารของเรา
15. (ก) พระเยซูทรงเตือนสาวกของพระองค์ในเรื่องใด? (ข) อะไรช่วยเราให้ประกาศต่อ ๆ ไปได้ทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้าน?
15 การต่อต้านเป็นข้อท้าทายอีกประการหนึ่งสำหรับการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. พระเยซูเตือนเหล่าสาวกไว้ล่วงหน้าว่า “ชาติต่าง ๆ จะเกลียดชังพวกท่านเพราะนามของเรา.” (มัดธาย 24:9) เช่นเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก สาวกของพระเยซูในปัจจุบันก็ถูกเกลียดชัง, ถูกต่อต้าน, และถูกข่มเหง. (กิจการ 5:17, 18, 40; 2 ติโมเธียว 3:12; วิวรณ์ 12:12, 17) ในบางดินแดน พวกเขาถูกสั่งห้ามจากรัฐบาลอยู่ในขณะนี้. กระนั้น เนื่องจากเชื่อฟังพระเจ้า คริสเตียนแท้ในดินแดนเหล่านั้นประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรต่อ ๆ ไป. (อาโมศ 3:8; กิจการ 5:29; 1 เปโตร 2:21) อะไรช่วยให้พยานฯ ในดินแดนดังกล่าวและในที่อื่น ๆ ตลอดทั่วโลกทำเช่นนั้นได้? ก็เนื่องจากกำลังที่พระยะโฮวาประทานแก่พวกเขาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์.—ซะคาระยา 4:6; เอเฟโซ 3:16; 2 ติโมเธียว 4:17.
16. พระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างงานประกาศกับพระวิญญาณของพระเจ้า?
16 พระเยซูทรงชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพระวิญญาณของพระเจ้ากับงานประกาศเมื่อพระองค์บอกสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายจะได้รับฤทธิ์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์มาบนเจ้า แล้วเจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8, ล.ม.; วิวรณ์ 22:17) ลำดับเหตุการณ์ในข้อคัมภีร์นี้มีความสำคัญ. พวกสาวกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อน แล้วจากนั้นพวกเขาก็เริ่มงานให้คำพยานไปทั่วโลก. เฉพาะแต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้พวกเขามีกำลังเพื่อจะอดทนได้ในการให้ “คำพยานแก่ทุกชาติ.” (มัดธาย 24:13, 14, ล.ม.; ยะซายา 61:1, 2) ด้วยเหตุนี้ จึงเหมาะที่พระเยซูกล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าเป็น “ผู้ช่วย.” (โยฮัน 15:26) พระเยซูตรัสว่าพระวิญญาณของพระเจ้าจะสอนและชี้นำสาวกของพระองค์.—โยฮัน 14:16, 26; 16:13.
17. พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเหลือพวกเราอย่างไรเมื่อเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง?
17 พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยพวกเราในปัจจุบันในทางใดบ้างเมื่อเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงในการประกาศข่าวดี? พระวิญญาณเสริมกำลังเรา และขัดขวางผู้ที่ข่มเหงเรา. เพื่อจะเห็นตัวอย่างในเรื่องนี้ ให้เราพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของกษัตริย์ซาอูล.
ถูกพระวิญญาณของพระเจ้าขัดขวาง
18. (ก) เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับซาอูลในทางเลวร้ายลง? (ข) ซาอูลข่มเหงดาวิดด้วยวิธีใดบ้าง?
18 ซาอูลเริ่มต้นอย่างดีเมื่อเป็นกษัตริย์องค์แรกของชาติอิสราเอล แต่ภายหลังก็กลับไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา. (1 ซามูเอล 10:1, 24; 11:14, 15; 15:17-23) ด้วยเหตุนี้ พระวิญญาณของพระเจ้าจึงไม่หนุนหลังกษัตริย์องค์นี้อีกต่อไป. ซาอูลแสดงความโกรธอย่างรุนแรงต่อดาวิด ผู้ซึ่งได้รับการเลือกให้เป็นกษัตริย์องค์ถัดไป และตอนนี้ได้รับการหนุนหลังจากพระวิญญาณของพระเจ้า. (1 ซามูเอล 16:1, 13, 14) ดาวิดดูเหมือนจะถูกกำจัดได้ไม่ยากเย็น เนื่องจากว่ามีแต่พิณในมือ ขณะที่ซาอูลมีหอก. ดังนั้น วันหนึ่งขณะดาวิดกำลังดีดพิณถวาย “ซาอูลก็ทรงพุ่งหอกด้วยนึกว่า ‘ข้าจะปักดาวิดให้ติดกับผนังเสีย’ แต่ดาวิดก็หนีไปได้ถึงสองครั้ง.” (1 ซามูเอล 18:10, 11, ฉบับแปลใหม่) ภายหลัง ซาอูลรับฟังโยนาธานราชโอรสซึ่งเป็นเพื่อนกับดาวิด และตั้งสัตย์สาบานว่า “พระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใดจะไม่ประหารชีวิตเขาเสียแน่ฉันนั้น.” แต่ต่อมา ซาอูลก็ “หมายจะพุ่งดาวิดด้วยหอกให้ติดกับฝา” อีก. อย่างไรก็ตาม ดาวิด “หลบหลีกพ้นไปได้, หอกก็ไปติดอยู่ที่ฝา.” ดาวิดหลบหนีไป ส่วนซาอูลพยายามตามจับตัวท่าน. ในช่วงที่วิกฤตินี้ พระวิญญาณของพระเจ้าเข้าขัดขวางซาอูล. โดยวิธีใด?—1 ซามูเอล 19:6, 10.
19. พระวิญญาณของพระเจ้าปกป้องดาวิดอย่างไร?
19 ดาวิดหนีไปหาผู้พยากรณ์ซามูเอล แต่ซาอูลก็ส่งคนตามไปจับตัวดาวิด. อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเหล่านั้นมาถึงที่หลบซ่อนของดาวิด “พระวิญญาณแห่งพระเจ้าก็สวมทับพวกทูตของซาอูลให้พยากรณ์.” พวกทูตของซาอูลอยู่ใต้อำนาจพระวิญญาณของพระเจ้าจนพวกเขาลืมวัตถุประสงค์ที่ถูกส่งมาเสียสิ้น. ซาอูลส่งคนไปจับตัวดาวิดมาอีกสองครั้ง แต่ผลก็ยังเหมือนเดิม. ในที่สุด กษัตริย์ซาอูลไปหาดาวิดด้วยตนเอง แต่ก็ไม่อาจต้านอำนาจพระวิญญาณของพระเจ้าได้เช่นกัน. ที่จริง พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้ซาอูลแน่นิ่ง “ตลอดวันและคืน” เป็นการเปิดโอกาสให้ดาวิดมีเวลาหลบหนีพอ.—1 ซามูเอล 19:20-24.
20. เราเรียนบทเรียนอะไรได้จากเรื่องราวที่ซาอูลข่มเหงดาวิด?
20 เรื่องราวของซาอูลกับดาวิดนี้ให้บทเรียนที่หนุนกำลังใจเรา นั่นคือ ผู้กดขี่ข่มเหงผู้รับใช้ของพระเจ้าจะไม่ประสบความสำเร็จเมื่อถูกพระวิญญาณของพระเจ้าขัดขวาง. (บทเพลงสรรเสริญ 46:11; 125:2) พระยะโฮวามุ่งหมายให้ดาวิดเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอล. ไม่มีใครจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่พระองค์ทรงมุ่งหมายไว้ได้. ในสมัยของเรา พระยะโฮวาได้ตั้งพระทัยไว้ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศ.” ไม่มีใครจะยับยั้งได้.—กิจการ 5:40, 42.
21. (ก) ผู้ต่อต้านบางคนในสมัยนี้กระทำอย่างไร? (ข) เรามั่นใจในเรื่องใด?
21 ผู้นำทางศาสนาและทางการเมืองบางคนใช้คำโกหกและกระทั่งใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามยับยั้งพวกเรา. แต่เช่นเดียวกับที่พระยะโฮวาให้การปกป้องฝ่ายวิญญาณแก่ดาวิด พระองค์จะให้การปกป้องแบบเดียวกันนั้นแก่ประชาชนของพระองค์ในสมัยนี้เช่นกัน. (มาลาคี 3:6) ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวด้วยความมั่นใจเช่นเดียวกับดาวิดว่า “ข้าพเจ้าได้วางใจในพระเจ้าแล้ว, ข้าพเจ้าจะไม่หวั่นกลัว; มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า?” (บทเพลงสรรเสริญ 56:11; 121:1-8; โรม 8:31) ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ขอให้เราฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวงต่อ ๆ ไปขณะที่เราทำงานมอบหมายจากพระองค์ในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรแก่คนทุกชาติ.
[เชิงอรรถ]
a ดูกรอบ “มีความอิ่มใจอย่างยิ่ง” หน้า 22.
b จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจำได้ไหม?
• ทำไมเราจึงปรับเปลี่ยนวิธีการประกาศของเรา?
• “ประตูใหญ่” สู่โอกาสใหม่ ๆ อะไรที่เปิดกว้าง?
• งานประกาศของเราทำให้อะไรสำเร็จลุล่วงแม้แต่ในเขตที่ผู้คนไม่ค่อยจะตอบรับ?
• ทำไมผู้ต่อต้านจึงไม่สามารถยับยั้งการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร?
[กรอบหน้า 22]
มีความอิ่มใจอย่างยิ่ง
“มีความสุขและเพลิดเพลินจากการรับใช้พระยะโฮวาด้วยกัน.” นี่เป็นคำพรรณนาถึงครอบครัวหนึ่งที่ย้ายจากสเปนไปโบลิเวีย. ลูกชายคนหนึ่งในครอบครัวย้ายไปที่นั่นก่อนเพื่อสนับสนุนกลุ่มโดดเดี่ยวกลุ่มหนึ่ง. พ่อแม่ของเขาประทับใจมากกับความชื่นชมยินดีอย่างเห็นได้ชัดของลูกชายคนนี้จนในไม่ช้าทั้งครอบครัว—ซึ่งมีลูกชายทั้งหมดสี่คนอายุตั้งแต่ 14 ถึง 25 ปี—ก็ไปรับใช้อยู่ที่นั่น. ลูกชายสามคนเป็นไพโอเนียร์อยู่ในตอนนี้ ส่วนอีกคนที่ย้ายไปคนแรกนั้นเข้ารับการอบรมในโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้เมื่อไม่นานมานี้.
แอนเจลิกา อายุ 30 ปี จากแคนาดา ซึ่งรับใช้ในยุโรปตะวันออก กล่าวว่า “มีข้อท้าทายหลายอย่าง แต่การได้ช่วยเหลือผู้คนในงานรับใช้ทำให้ดิฉันรู้สึกอิ่มใจ. นอกจากนี้ ดิฉันรู้สึกซึ้งใจกับถ้อยคำขอบคุณมากมายจากพยานฯ ในท้องถิ่น ซึ่งมักจะกล่าวขอบคุณดิฉันที่มาช่วยพวกเขา.”
สองพี่น้องวัยใกล้จะ 30 ปีจากสหรัฐ ซึ่งรับใช้ในสาธารณรัฐโดมินิกัน เล่าว่า “มีธรรมเนียมหลายอย่างที่จะต้องปรับตัว. แต่เรายืนหยัดต่อไปในงานมอบหมายของเรา และตอนนี้เรามีนักศึกษาพระคัมภีร์เจ็ดรายที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ.” พี่น้องสองคนนี้มีส่วนสำคัญในการจัดกลุ่มผู้ประกาศในเมืองที่ยังไม่มีประชาคม.
ลอรา พี่น้องหญิงอายุย่าง 30 ปี รับใช้ในต่างแดนมามากกว่าสี่ปีแล้ว. เธอเล่าว่า “ดิฉันตั้งใจดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายเสมอ. การทำอย่างนี้ช่วยให้ผู้ประกาศเห็นว่าการมีชีวิตที่เรียบง่ายเป็นเรื่องของการเลือกเองอย่างมีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพราะความยากจน. การสามารถช่วยเหลือคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาว ก่อความยินดีแก่ฉัน ซึ่งเป็นการชดเชยความยากลำบากของการรับใช้ในต่างแดน. ดิฉันจะไม่ยอมแลกงานรับใช้ที่นี่ของดิฉันกับแนวทางชีวิตอย่างอื่น และดิฉันจะอยู่ที่นี่ตราบเท่าที่พระยะโฮวาจะทรงอนุญาต.”
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
ลักษณะเด่นของหนังสือเล่มเล็กข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ
หนังสือเล่มเล็กข่าวดีสำหรับคนทุกชาติ มีข่าวสารหนึ่งหน้าเต็มในภาษาต่าง ๆ 29 ภาษา. ข่าวสารนั้นเขียนโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง. ดังนั้น เมื่อเจ้าของบ้านอ่านข่าวสารนี้ ก็เหมือนกับว่าคุณกำลังพูดกับเขา.
ปกในของหนังสือนี้มีภาพแผนที่โลก. จงใช้แผนที่นี้เพื่อผูกมิตรกับเจ้าของบ้าน. คุณอาจชี้ไปที่ประเทศที่คุณอยู่และแสดงให้เขาเห็นว่าคุณอยากรู้ว่าเขามาจากประเทศไหน. โดยวิธีนี้ อาจช่วยให้เขายินดีจะสนทนากับคุณ และเป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและผ่อนคลาย.
คำนำของหนังสือเล่มเล็กนี้กล่าวถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่เราควรทำเพื่อช่วยคนที่พูดภาษาที่เราไม่เข้าใจนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ. โปรดอ่านขั้นตอนเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน และนำไปใช้อย่างสำนึกถึงความรับผิดชอบ.
สารบัญไม่เพียงให้รายชื่อภาษาเท่านั้น แต่ยังลงรหัสของแต่ละภาษากำกับไว้ด้วย. นี่จะช่วยคุณให้บอกได้ว่ารหัสภาษาที่พิมพ์ไว้บนแผ่นพับหรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ในภาษาต่าง ๆ นั้นหมายถึงภาษาอะไร.
[รูปภาพ]
คุณกำลังใช้หนังสือเล่มเล็กนี้ในการประกาศไหม?
[ภาพหน้า 23]
ปัจจุบันสิ่งพิมพ์ของเราที่อธิบายคัมภีร์ไบเบิลมีใน 400 กว่าภาษา
กานา
แลปแลนด์ (ในสวีเดน)
ฟิลิปปินส์
[ภาพหน้า 24, 25]
คุณจะรับใช้ในที่ที่มีความต้องการผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าได้ไหม?
เอกวาดอร์
สาธารณรัฐโดมินิกัน