อย่าเปิดช่องแก่พญามาร
“อย่าเปิดช่องแก่พญามาร.”—เอเฟโซ 4:27, ล.ม.
1. เหตุใดผู้คนมากมายจึงสงสัยว่าพญามารมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่?
เป็นเวลานานที่ผู้คนมากมายในดินแดนของคริสต์ศาสนจักรคิดว่าพญามารมีเขา, เท้าเป็นกีบ, สวมชุดคลุมสีแดง, และใช้สามง่ามไล่ต้อนคนชั่วลงนรกที่มีไฟลุกโพลงอยู่. คัมภีร์ไบเบิลไม่สนับสนุนความคิดเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความคิดผิด ๆ อย่างนั้นทำให้หลายล้านคนสงสัยว่าพญามารมีตัวตนอยู่จริงไหม หรือคิดไปว่าคำนี้เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์แทนความชั่วร้าย.
2. อะไรคือข้อเท็จจริงบางอย่างจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับพญามาร?
2 คัมภีร์ไบเบิลให้หลักฐานโดยประจักษ์พยานยืนยันหนักแน่นว่าพญามารมีตัวตนอยู่จริง. พระเยซูคริสต์เคยเห็นมันในแดนวิญญาณบนสวรรค์และพูดกับมันขณะอยู่บนโลก. (โยบ 1:6; มัดธาย 4:4-11) แม้พระคัมภีร์ไม่ได้บอกชื่อแต่เดิมของวิญญาณตนนี้ แต่ก็ได้เรียกมันว่ามาร. คำกรีกเดิมในคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับการแปลว่า “มาร” มีความหมายว่า “ผู้ใส่ร้าย” เนื่องจากมันได้ใส่ร้ายพระเจ้า. มันถูกเรียกด้วยว่าซาตาน (แปลว่า “ผู้ต่อต้าน”) เนื่องจากมันต่อต้านพระยะโฮวา. นอกจากนี้ ซาตานพญามารถูกเรียกว่า “งูตัวแรกเดิมนั้น” ซึ่งคงจะเพราะว่ามันได้ใช้งูล่อลวงฮาวา. (วิวรณ์ 12:9, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 2:14) มันยังเป็นที่รู้จักด้วยว่า “ตัวชั่วร้าย.”—มัดธาย 6:13, ล.ม.a
3. เราจะพิจารณาคำถามอะไร?
3 ฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวา เราไม่อยากจะเป็นเหมือนซาตานศัตรูตัวเอ้ของพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว ไม่ว่าในทางใด. ฉะนั้น เราจึงต้องทำตามคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “อย่าเปิดช่องแก่พญามาร.” (เอเฟโซ 4:27, ล.ม.) แล้วอะไรคือลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างของซาตานที่เราจะต้องไม่เลียนแบบ?
อย่าเลียนแบบผู้ใส่ร้ายตัวเอ้นั้น
4. “ตัวชั่วร้าย” ใส่ร้ายพระเจ้าอย่างไร?
4 “ตัวชั่วร้าย” สมควรถูกเรียกว่าผู้ใส่ร้าย. การใส่ร้ายคือการกล่าวเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับบุคคลหนึ่งโดยมีเจตนาให้ผู้นั้นเสียหาย. พระเจ้าสั่งอาดามว่า “ส่วนต้นไม้เกี่ยวกับความรู้เรื่องความดีและความชั่วนั้น เจ้าอย่ากินจากต้นนั้น เพราะว่าในวันซึ่งเจ้ากินจากต้นนั้น เจ้าจะตายเป็นแน่.” (เยเนซิศ 2:17, ล.ม.) ฮาวาก็ได้รับทราบข้อห้ามนี้ แต่พญามารบอกนางผ่านทางงูว่า “เจ้าจะไม่ตายจริงดอก: เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า, เจ้ากินผลไม้นั้นเข้าไปวันใด, ตาของเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น; แล้วเจ้าจะเป็นเหมือนพระ [“พระเจ้า,” ล.ม.], จะรู้จักความดีและชั่ว.” (เยเนซิศ 3:4, 5) นั่นเป็นคำใส่ร้ายที่มีเจตนาร้ายต่อพระยะโฮวาพระเจ้า!
5. ทำไมดิโอเตรเฟสจึงสมควรที่จะต้องรับผิดชอบต่อการพูดใส่ร้าย?
5 ชาวอิสราเอลได้รับคำบัญชาว่า “อย่าเป็นคนเที่ยวไปเที่ยวมาส่อเสียด [“พูดใส่ร้าย,” ล.ม.] แก่เพื่อนบ้าน.” (เลวีติโก 19:16) อัครสาวกโยฮันกล่าวเกี่ยวกับผู้พูดใส่ร้ายคนหนึ่งในสมัยของท่านว่า “ข้าพเจ้าได้เขียนบางสิ่งถึงประชาคม แต่ดิโอเตรเฟสซึ่งชอบเป็นเอกท่ามกลางพวกเขา ไม่รับเอาสิ่งใดจากพวกเราด้วยความนับถือเลย. นี่เป็นเหตุที่ว่า หากข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าจะเตือนให้ระลึกถึงการของเขาซึ่งเขาทำอยู่ต่อไป โดยพูดมากถึงพวกเราด้วยคำที่ชั่วช้า.” (3 โยฮัน 9, 10, ล.ม.) ดิโอเตรเฟสใส่ร้ายโยฮัน และสมควรที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน. จะมีคริสเตียนที่ภักดีคนไหนกันที่อยากเป็นเหมือนดิโอเตรเฟสและเลียนแบบซาตานผู้ใส่ร้ายตัวเอ้นั้น?
6, 7. เพราะเหตุใดเราจึงต้องการจะหลีกเลี่ยงการใส่ร้ายใคร ๆ?
6 บรรดาผู้รับใช้พระยะโฮวาถูกใส่ร้ายและถูกกล่าวหาผิด ๆ อยู่บ่อย ๆ. “ฝ่ายพวกปุโรหิตใหญ่และพวกอาลักษณ์ก็ยืนขึ้นฟ้อง [พระเยซู] แข็งแรงมาก.” (ลูกา 23:10) เปาโลถูกอะนาเนียมหาปุโรหิตและคนอื่น ๆ กล่าวหาอย่างผิด ๆ. (กิจการ 24:1-8) และคัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับซาตานว่าเป็น “ผู้กล่าวหาพี่น้องของเรา . . . ทั้งวันทั้งคืนต่อพระพักตร์พระเจ้าของเรา.” (วิวรณ์ 12:10, ล.ม.) พี่น้องที่ถูกกล่าวหาผิด ๆ เหล่านี้ก็คือคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อยู่บนแผ่นดินโลกในสมัยสุดท้ายนี้.
7 ไม่ควรที่คริสเตียนจะใส่ร้ายหรือกล่าวหาใคร ๆ อย่างผิด ๆ. กระนั้น สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีข้อมูลครบถ้วนก่อนที่จะให้คำพยานกล่าวโทษใคร. ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ ผู้ที่จงใจเป็นพยานเท็จอาจมีโทษถึงตาย. (เอ็กโซโด 20:16; พระบัญญัติ 19:15-19) นอกจากนั้น สิ่งที่พระยะโฮวาทรงสะอิดสะเอียนรวมถึง “พยานเท็จที่ระบายลมออกมาเป็นคำเท็จ.” (สุภาษิต 6:16-19) ดังนั้นแล้ว เราต้องการจะหลีกเลี่ยงการเลียนแบบผู้ใส่ร้ายและผู้กล่าวหาเท็จตัวเอ้นั้นอย่างแน่นอน.
หลีกหนีจากแนวทางของผู้ฆ่าคนตั้งแต่แรกเดิม
8. ในทางใดที่พญามารเป็น “ผู้ฆ่าคนเมื่อมันเริ่มทำตามใจตัวเอง”?
8 พญามารเป็นผู้ฆ่าคน. พระเยซูกล่าวว่า “มันเป็นผู้ฆ่าคนเมื่อมันเริ่มทำตามใจตัวเอง.” (โยฮัน 8:44, ล.ม.) พญามารเป็นผู้ฆ่าคนตั้งแต่มันชักจูงอาดามกับฮาวาให้หันเหไปจากพระเจ้า. มันนำความตายมาสู่มนุษย์คู่แรกและลูกหลานของเขา. (โรม 5:12) ขอสังเกตว่าการกระทำอย่างนี้เกิดจากบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่เกิดจากความชั่วร้าย.
9. ตามที่บ่งชี้ไว้ใน 1 โยฮัน 3:15 เราอาจกลายเป็นผู้ฆ่าคนไปได้อย่างไร?
9 หนึ่งในบัญญัติสิบประการที่ให้แก่ชาติอิสราเอลคือ “อย่าฆ่าคน.” (พระบัญญัติ 5:17) อัครสาวกเปโตรเขียนถึงคริสเตียนว่า “ในพวกท่าน อย่าให้คนใดต้องมีโทษเพราะเป็นผู้ฆ่าคน.” (1 เปโตร 4:15) ดังนั้น ในฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวา เราจะไม่ฆ่าใคร. กระนั้น เราอาจมีความผิดจำเพาะพระเจ้าหากเราเกลียดเพื่อนคริสเตียนคนใดคนหนึ่งและอยากให้เขาตายไปเสีย. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดที่เกลียดชังพี่น้องของตนก็ย่อมเป็นผู้ฆ่าคน, และท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า ผู้ฆ่าคนไม่มีชีวิตนิรันดร์อยู่ในตัวเลย.” (1 โยฮัน 3:15) ชาวอิสราเอลได้รับบัญชาว่า “อย่าปิดความโกรธต่อพี่น้องไว้ในใจ.” (เลวีติโก 19:17) ขอเรารีบแก้ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับเพื่อนร่วมความเชื่อ เพื่อซาตานผู้ฆ่าคนจะไม่ได้ทำลายเอกภาพคริสเตียนของเรา.—ลูกา 17:3, 4.
ยืนหยัดมั่นคงต่อต้านจอมมุสา
10, 11. เราต้องทำอะไรเพื่อยืนหยัดต่อต้านซาตานจอมมุสา?
10 พญามารเป็นผู้พูดมุสา. พระเยซูตรัสว่า “เมื่อมันพูดเท็จมันก็พูดตามสันดานของมันเอง เพราะมันเป็นผู้มุสา และเป็นพ่อของการมุสา.” (โยฮัน 8:44, ฉบับแปลใหม่) ซาตานโกหกฮาวา ส่วนพระเยซูเข้ามาในโลกเพื่อเป็นพยานถึงความจริง. (โยฮัน 18:37) ถ้าเราต้องการยืนหยัดต่อต้านพญามารฐานะที่เราเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ เราจะใช้การโกหกหลอกลวงไม่ได้. เราต้อง “กล่าวแต่ตามจริง.” (ซะคาระยา 8:16; เอเฟโซ 4:25) “พระยะโฮวา พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง” จะอวยพรเฉพาะเหล่าพยานของพระองค์ที่พูดความจริงเท่านั้น. คนชั่วไม่มีสิทธิ์เป็นตัวแทนของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 31:5; 50:16; ยะซายา 43:10.
11 หากเราถือว่าการหลุดพ้นจากคำโกหกต่าง ๆ ของซาตานเนื่องจากเรารู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นสิ่งล้ำค่า เราจะยึดมั่นอยู่กับหลักการคริสเตียน ซึ่งเป็น “ทางแห่งความจริง.” (2 เปโตร 2:2, ล.ม.; โยฮัน 8:32) คำสอนคริสเตียนทั้งสิ้นประกอบกันขึ้นเป็น “ความจริงแห่งข่าวดี.” (ฆะลาเตีย 2:5, 14, ล.ม.) ความรอดของเรานั้นขึ้นอยู่กับการ “ดำเนินอยู่ในความจริงต่อ ๆ ไป” คือโดยยึดมั่นกับความจริงและยืนหยัดมั่นคงต่อต้าน “พ่อของการมุสา.”—3 โยฮัน 3, 4, 8, ล.ม.
จงต้านทานผู้ออกหากตัวเอ้
12, 13. เราควรปฏิบัติเช่นไรต่อผู้ออกหาก?
12 ทูตสวรรค์องค์ที่กลายมาเป็นพญามารนั้นครั้งหนึ่งเคยอยู่ในความจริง. แต่ดังที่พระเยซูตรัส มัน “มิได้ตั้งอยู่ในความจริง เพราะความจริงมิได้อยู่ในมัน.” (โยฮัน 8:44) ผู้ออกหากตัวเอ้นี้มุ่งต่อต้าน “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง” อย่างไม่ลดราวาศอก. คริสเตียนในศตวรรษแรกบางคนตกเข้าสู่ “บ่วงแร้วของมาร” ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเพราะถูกนำไปผิดทางและหลงไปจากความจริง. ดังนั้น เปาโลจึงกระตุ้นติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่านให้สั่งสอนคนเหล่านั้นด้วยใจอ่อนโยนเพื่อพวกเขาจะฟื้นตัวฝ่ายวิญญาณและพ้นจากบ่วงแร้วของซาตาน. (2 ติโมเธียว 2:23-26) แน่นอน จะดีกว่ามากหากยึดมั่นอยู่กับความจริงและไม่ถูกทำให้ติดกับโดยความคิดแบบออกหากเสียตั้งแต่แรก.
13 เนื่องจากรับฟังมารและไม่บอกปัดคำโกหกของมัน มนุษย์คู่แรกจึงกลายเป็นผู้ออกหาก. ดังนั้นแล้ว ควรหรือที่เราจะฟังผู้ออกหาก, อ่านข้อเขียน, หรือดูเว็บไซต์ของพวกเขาในอินเทอร์เน็ต? ถ้าเรารักพระเจ้าและรักความจริง เราจะไม่ทำสิ่งเหล่านี้. เราจะไม่ให้ผู้ออกหากเข้ามาในบ้านของเราหรือแม้แต่จะทักทายเขา เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เราเป็น “ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำที่ชั่วของเขา.” (2 โยฮัน 9-11, ล.ม.) ขอเราอย่าพ่ายแพ้ต่อคำล่อลวงของมารโดยการละทิ้ง “ทางแห่งความจริง” ของคริสเตียนไปติดตามผู้สอนเท็จที่มุ่ง “แพร่แนวคิดที่ก่อความพินาศ” และพยายาม ‘แสวงประโยชน์จากเราด้วยถ้อยคำที่บรรจงแต่งขึ้น.’—2 เปโตร 2:1-3, ฉบับแปลไบอิงตัน.
14, 15. เปาโลให้คำเตือนอะไรแก่เหล่าผู้ปกครองจากเมืองเอเฟโซส์และติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่าน?
14 เปาโลบอกคริสเตียนผู้ปกครองจากเมืองเอเฟโซส์ว่า “ท่านทั้งหลายจงระวังตัวให้ดี, และจงรักษาฝูงแกะที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงตั้งท่านไว้เป็นผู้ดูแล, และเพื่อจะได้บำรุงเลี้ยงคริสตจักรของพระเจ้า, ที่พระองค์ทรงได้ด้วยพระโลหิตของพระองค์เอง. ข้าพเจ้าทราบอยู่ว่า, เมื่อข้าพเจ้าไปแล้วจะมีสุนัขป่าอันร้ายเข้ามาในท่ามกลางท่าน, และจะไม่ละเว้นฝูงแกะไว้เลย จะเกิดมีบางคนในท่ามกลางพวกท่านเองกล่าวเลี่ยง [“พูดบิดเบือน,” ล.ม.] ความจริงเพื่อจะชักชวนเหล่าสาวกให้หลงตามเขาไป.” (กิจการ 20:28-30) ต่อมา ผู้ออกหากที่ว่านั้นก็ได้ปรากฏตัวขึ้น และ “พูดบิดเบือน.”
15 ในราวปี ส.ศ. 65 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนติโมเธียวให้ “ซื่อตรงในการที่ใช้คำแห่งความจริง.” เปาโลเขียนว่า “แต่จงหลีกไปเสียจากถ้อยคำนอกคอกนอกทาง ด้วยว่าคำเหล่านั้นย่อมก่อให้เกิดอธรรมมากยิ่งขึ้น, และถ้อยคำของเขาจะกินรุกลามไปเหมือนแผลมะเร็ง ในพวกเขาเหล่านั้นมีฮุเมนายกับฟิเลโตเป็นต้น. คนทั้งสองนั้นได้หลงจากความจริง แล้วกล่าวว่า, การซึ่งจะเป็นขึ้นมาจากตายนั้นผ่านพ้นมาแล้ว, เขาจึงได้ทำลายความเชื่อของบางคนเสีย.” การออกหากได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว! เปาโลกล่าวเพิ่มเติมว่า “แต่ว่ารากซึ่งพระเจ้าทรงวางไว้นั้นยังตั้งมั่นคงอยู่.”—2 ติโมเธียว 2:15-19.
16. ทั้ง ๆ ที่มีกลอุบายของผู้ออกหากตัวเอ้ ทำไมเราจึงภักดีต่อพระเจ้าและพระคำของพระองค์?
16 ซาตานใช้ผู้ออกหากบ่อยครั้งเพื่อทำลายการนมัสการแท้ แต่มันก็ทำไม่สำเร็จ. ประมาณปี 1868 ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ เริ่มทำการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อที่ยอมรับกันมานานของคริสตจักรต่าง ๆ ภายในคริสต์ศาสนจักรและได้พบการตีความพระคัมภีร์อย่างผิด ๆ. รัสเซลล์กับผู้แสวงหาความจริงคนอื่น ๆ บางคนตั้งกลุ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลขึ้นที่เมืองพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา. นับแต่นั้นมาก็เป็นเวลาเกือบ 140 ปีแล้ว ผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีความรู้เพิ่มพูนขึ้นและมีความรักต่อพระเจ้าและพระคำของพระองค์เพิ่มมากขึ้น. ทั้ง ๆ ที่มีกลอุบายของผู้ออกหากตัวเอ้ การระแวดระวังทางฝ่ายวิญญาณของทาสสัตย์ซื่อและสุขุมได้ช่วยคริสเตียนแท้เหล่านี้ให้รักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
อย่ายอมให้ผู้ครองโลกมีอำนาจเหนือคุณ
17-19. โลกที่อยู่ใต้อำนาจของพญามารคืออะไร และเหตุใดเราไม่ควรรักโลกนั้น?
17 อีกวิธีหนึ่งที่ซาตานพยายามทำให้เราติดกับคือโดยการชักนำเราให้รักโลกนี้ ซึ่งก็คือสังคมมนุษย์ที่ไม่ชอบธรรมซึ่งเหินห่างจากพระเจ้า. พระเยซูเรียกมารว่า “ผู้ครองโลก” และกล่าวว่ามัน “ไม่มีอำนาจอะไรเหนือ [พระองค์].” (โยฮัน 14:30, ล.ม.) ขออย่าให้ซาตานมีอำนาจเหนือเรา! แน่นอน เราตระหนักว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย [นั้น].” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) ดังนั้น พญามารจึงสามารถเสนอที่จะยก “อาณาจักรทั้งหมดของโลก” แก่พระเยซูเพื่อแลกกับการนมัสการแบบออกหากหนเดียว ซึ่งพระบุตรของพระเจ้าปฏิเสธอย่างหนักแน่น. (มัดธาย 4:8-10, ล.ม.) โลกที่อยู่ใต้อำนาจควบคุมของซาตานเกลียดชังเหล่าสาวกของพระคริสต์. (โยฮัน 15:18-21) ไม่ประหลาดใจเลยที่อัครสาวกโยฮันเตือนเราไม่ให้รักโลก!
18 โยฮันเขียนว่า “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก. ถ้าคนใดรักโลก, ความรักต่อพระบิดาไม่ได้อยู่ในคนนั้นเลย. เพราะว่าสารพัตรซึ่งมีอยู่ในโลก, คือความใคร่ของเนื้อหนังและความใคร่ของตาและการอวดอ้างถือตัวในชาตินี้ไม่ได้เกิดมาจากพระบิดา, แต่เกิดมาจากโลก. และโลกนี้กับความใคร่ของโลกกำลังผ่านพ้นไป แต่ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.” (1 โยฮัน 2:15-17) เราต้องไม่รักโลก เนื่องจากแนวทางชีวิตของโลกเป็นที่น่าปรารถนาของเนื้อหนังที่ผิดบาป และตรงกันข้ามกับมาตรฐานของพระยะโฮวาพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง.
19 ถ้าความรักต่อโลกนี้มีอยู่ในหัวใจของเราล่ะ? ถ้าอย่างนั้น ก็ให้เราทูลอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยเราให้เอาชนะความรักแบบนั้นและเอาชนะความปรารถนาของเนื้อหนังที่มากับความรักต่อโลก. (ฆะลาเตีย 5:16-21) เราย่อมจะบากบั่นรักษาตัวให้ “พ้นจากราคีแห่งโลก” อย่างแน่นอน หากเราสำนึกเสมอว่า “บรรดาวิญญาณอันชั่ว” เป็น ‘ผู้ครอบครองโลก’ ที่ไม่ประจักษ์แก่ตา มีอำนาจเหนือสังคมมนุษย์ที่ไม่ชอบธรรม.—ยาโกโบ 1:27; เอเฟโซ 6:11, 12; 2 โกรินโธ 4:4.
20. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าเรา “ไม่เป็นส่วนของโลก”?
20 พระเยซูตรัสเกี่ยวกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “พวกเขาไม่เป็นส่วนของโลก เหมือนข้าพเจ้าไม่เป็นส่วนของโลก.” (โยฮัน 17:16, ล.ม.) คริสเตียนผู้ถูกเจิมและสหายที่อุทิศตัวแล้วของพวกเขาพยายามรักษาตัวให้สะอาดบริสุทธิ์ด้านศีลธรรมและด้านวิญญาณโดยแยกตัวจากโลกนี้. (โยฮัน 15:19; 17:14; ยาโกโบ 4:4) โลกที่ไม่ชอบธรรมนี้เกลียดชังพวกเราเพราะเราแยกตัวจากโลก และเป็น “คนประกาศความชอบธรรม.” (2 เปโตร 2:5) จริงอยู่ เราอยู่ท่ามกลางสังคมมนุษย์ ซึ่งมีทั้งคนผิดประเวณี, คนผิดผัวเมียเขา, คนฉ้อโกง, คนไหว้รูปเคารพ, ขโมย, คนพูดมุสา, และคนขี้เมา. (1 โกรินโธ 5:9-11; 6:9-11; วิวรณ์ 21:8) แต่เราไม่ได้หายใจเอา “วิญญาณของโลก” เข้าไป เพราะเราจะไม่ถูกพลังกระตุ้นที่ผิดบาปนี้ครอบงำ.—1 โกรินโธ 2:12.
อย่าเปิดช่องแก่พญามาร
21, 22. คุณจะนำคำแนะนำของเปาโลที่บันทึกไว้ในเอเฟโซ 4:26, 27 ไปใช้ได้อย่างไร?
21 แทนที่จะถูกกระตุ้นโดย “วิญญาณของโลก” เราได้รับการนำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งก่อให้เกิดคุณลักษณะต่าง ๆ ในตัวเรา เช่น ความรักและการรู้จักบังคับตน. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) คุณลักษณะเหล่านี้ช่วยเราให้ยืนหยัดต้านทานการโจมตีความเชื่อของเราจากพญามาร. มันต้องการให้เรามี “ใจเดือดร้อน [“เดือดดาล,” ล.ม.]” อัน “มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่ว” แต่พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยเราให้ “อดกลั้นความโกรธไว้ และระงับความโทโสเสีย.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:8) จริงอยู่ เราอาจมีเหตุผลอันสมควรที่จะรู้สึกโกรธในบางครั้ง แต่เปาโลแนะนำเราว่า “โกรธเถิด และถึงกระนั้นก็อย่าทำบาป; อย่าให้ตะวันตกโดยที่ท่านยังขุ่นเคืองอยู่ และอย่าเปิดช่องแก่พญามาร.”—เอเฟโซ 4:26, 27, ล.ม.
22 ความโกรธอาจนำเราไปสู่ความบาปได้หากเรายังกรุ่นอยู่ในความโกรธ. การที่เรายังเก็บอารมณ์ความรู้สึกนี้ไว้อยู่เป็นการเปิดช่องให้มารสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประชาคม หรือกระตุ้นให้เรากระทำสิ่งที่ชั่วร้าย. ฉะนั้น เราจึงต้องรีบแก้ไขความขุ่นข้องหมองใจกันโดยเร็วตามวิธีของพระเจ้า. (เลวีติโก 19:17, 18; มัดธาย 5:23, 24; 18:15, 16) ด้วยเหตุนี้ ขอให้เราได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระเจ้า แสดงการรู้จักบังคับตน และอย่าปล่อยให้แม้แต่ความโกรธที่มีเหตุอันควรนั้นสะสมมากขึ้น ๆ จนก่อให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์, ความมุ่งร้าย, และความเกลียดชัง.
23. เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้างในบทความถัดไป?
23 เราได้พิจารณาลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างของพญามารที่เราไม่ควรเอาอย่าง. แต่ผู้อ่านบางคนอาจสงสัยว่า เราควรกลัวซาตานไหม? ทำไมมันจึงปลุกปั่นให้เกิดการข่มเหงคริสเตียน? และเราจะป้องกันไม่ให้พญามารมีชัยเหนือเราได้อย่างไร?
[เชิงอรรถ]
a ดูบทความชุดซึ่งเกี่ยวกับหน้าปกที่ชื่อว่า “พญามารมีจริงไหม?” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 พฤศจิกายน 2005.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ทำไมเราไม่ควรใส่ร้ายคนหนึ่งคนใดเลย?
• ตามที่กล่าวใน 1 โยฮัน 3:15 นั้น เราจะหลีกเลี่ยงการเป็นผู้ฆ่าคนได้อย่างไร?
• เราควรมีท่าทีเช่นไรต่อผู้ออกหาก และเพราะเหตุใด?
• เหตุใดเราไม่ควรรักโลก?
[ภาพหน้า 23]
เราจะไม่เปิดช่องให้พญามารทำลายเอกภาพคริสเตียนของเรา
[ภาพหน้า 24]
เหตุใดโยฮันจึงกระตุ้นเตือนเราไม่ให้รักโลก?