‘จงไปทำให้คนเป็นสาวกให้เขารับบัพติสมา’
“ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมา . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.”—มัดธาย 28:19-20, ล.ม.
1. ชาติอิสราเอลได้ทำการตัดสินใจอะไรที่เชิงเขาไซนาย?
ประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว ชาติหนึ่งทั้งชาติได้ทำสัตย์ปฏิญาณกับพระเจ้า. ขณะชุมนุมกันที่เชิงเขาไซนาย ชาวอิสราเอลประกาศอย่างเปิดเผยว่า “สิ่งสารพัตรที่พระยะโฮวาตรัสนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจะกระทำตาม.” นับแต่บัดนั้น ชาติอิสราเอลได้กลายเป็นประชาชนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า เป็น “ทรัพย์ประเสริฐ” ของพระองค์. (เอ็กโซโด 19:5, 8; 24:3) พวกเขารอคอยและคาดหวังจะได้รับการปกป้องจากพระองค์และจะได้อาศัยสืบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าในดินแดนที่ “มีน้ำนมและน้ำผึ้งอันบริบูรณ์.”—เลวีติโก 20:24.
2. ผู้คนในปัจจุบันสามารถมีความสัมพันธ์เช่นไรกับพระเจ้า?
2 อย่างไรก็ตาม ดังที่อาซาฟผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญยอมรับ ชาวอิสราเอล “มิได้รักษาคำสัญญาไมตรีแห่งพระเจ้า, ไม่ยอมประพฤติตามบัญญัติของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 78:10) พวกเขาไม่ได้รักษาคำปฏิญาณที่บรรพบุรุษได้ทำไว้กับพระยะโฮวา. ในที่สุด ชาตินี้สูญเสียสายสัมพันธ์พิเศษดังกล่าวกับพระเจ้า. (ท่านผู้ประกาศ 5:4; มัดธาย 23:37, 38) ด้วยเหตุนั้น พระเจ้า “ทรงหันมาใฝ่พระทัยคนต่างชาติเป็นครั้งแรก เพื่อนำเอาประชาชนสำหรับพระนามของพระองค์ออกจากพวกเขา.” (กิจการ 15:14, ล.ม.) และในสมัยสุดท้ายนี้ พระองค์ทรงรวบรวม “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง” ซึ่งคนเหล่านี้ยอมรับอย่างปีติยินดีว่า “ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.”—วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.
3. คนที่จะมีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้าต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง?
3 เพื่อจะเป็นคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อันล้ำค่าเช่นนั้นกับพระเจ้า คนเราต้องอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและแสดงสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวนั้นอย่างเปิดเผยด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. การทำดังกล่าวเป็นการเชื่อฟังพระบัญชาที่พระเยซูทรงบัญชาแก่เหล่าสาวกโดยตรง ที่ว่า “ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ชาวอิสราเอลได้ฟังการอ่าน “หนังสือสัญญาไมตรี.” (เอ็กโซโด 24:3, 7, 8) ด้วยเหตุนั้น พวกเขาเข้าใจในเรื่องพันธะที่ตนมีต่อพระยะโฮวา. ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ดังที่พบในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีก่อนที่ใครจะมาถึงขั้นรับบัพติสมา.
4. เพื่อที่ใครคนหนึ่งจะมีคุณวุฒิรับบัพติสมาได้เขาต้องทำอะไรก่อน? (โปรดดูกรอบข้างบนด้วย.)
4 เห็นได้ชัด พระเยซูทรงประสงค์ให้เหล่าสาวกมีรากฐานที่มั่นคงสำหรับความเชื่อก่อนจะรับบัพติสมา. พระองค์ทรงมีบัญชาให้เหล่าสาวกไม่เพียงแต่ไปทำให้คนเป็นสาวก แต่สอนคนเหล่านั้น ‘ให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งพระองค์ทรงบัญชาไว้’ ด้วย. (มัดธาย 7:24, 25; เอเฟโซ 3:17-19) ด้วยเหตุนั้น คนที่มีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมามักจะใช้เวลาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นเวลาหลายเดือน แม้กระทั่งหนึ่งหรือสองปี เพื่อว่าเขาจะไม่ตัดสินใจอย่างเร่งรีบหรืออย่างขาดความรู้. เมื่อฟังคำบรรยายบัพติสมา ผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาจะตอบคำถามสำคัญสองข้อ. เนื่องจากพระเยซูทรงเน้นว่า ‘ให้คำของเราที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ ก็หมายความว่าไม่’ จึงเป็นประโยชน์ที่เราทุกคนจะทบทวนกันอย่างละเอียดถึงความหมายของคำถามบัพติสมาสองข้อนี้.—มัดธาย 5:37, ล.ม.
การกลับใจและการอุทิศตัว
5. คำถามบัพติสมาข้อแรกเน้นสองขั้นตอนสำคัญอะไร?
5 คำถามบัพติสมาข้อแรกถามว่าผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาได้กลับใจจากแนวทางชีวิตเดิมและได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์แล้วหรือไม่. คำถามนี้เน้นสองขั้นตอนสำคัญที่จะต้องทำก่อนรับบัพติสมา นั่นคือการกลับใจและการอุทิศตัว.
6, 7. (ก) เหตุใดผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาทุกคนจำเป็นต้องกลับใจ? (ข) เมื่อใครคนหนึ่งกลับใจแล้วเขาต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?
6 เหตุใดคนเราต้องกลับใจก่อนจะเสนอตัวรับบัพติสมา? อัครสาวกเปาโลอธิบายดังนี้: “ครั้งหนึ่งเราทุกคนได้ประพฤติตัวสอดคล้องกับความปรารถนาแห่งเนื้อหนังของเรา.” (เอเฟโซ 2:3, ล.ม.) ก่อนที่เราจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เราดำเนินชีวิตกลมกลืนกับโลก ตามค่านิยมและมาตรฐานของโลก. แนวทางชีวิตของเราอยู่ใต้การควบคุมของซาตาน พระเจ้าของระบบนี้. (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.) แต่เมื่อได้มารู้จักพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เราตั้งใจแน่วแน่จะ ‘ไม่ดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของมนุษย์อีกต่อไป แต่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า.’—1 เปโตร 4:2.
7 แนวทางใหม่นี้ให้ผลตอบแทนมากมาย. เหนือสิ่งอื่นใด แนวทางนี้เปิดทางให้มีสัมพันธภาพล้ำค่ากับพระยะโฮวา ซึ่งดาวิดเปรียบกับการได้รับเชิญเข้าสู่ “พลับพลา” และ “ภูเขาศักดิ์สิทธิ์” ของพระเจ้า ซึ่งนั่นนับเป็นสิทธิพิเศษอันใหญ่หลวงจริง ๆ. (บทเพลงสรรเสริญ 15:1, ฉบับแปลใหม่) ตามเหตุผลแล้ว พระยะโฮวาคงไม่เชิญใครโดยไม่ได้เลือก แต่จะทรงเชิญเฉพาะคนที่ “ประพฤติเที่ยงตรง, ที่กระทำการยุติธรรม, และพูดแต่คำจริงจากใจของตน.” (บทเพลงสรรเสริญ 15:2) ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของเราก่อนมาเรียนความจริง การบรรลุข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจหมายถึงการที่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ทั้งการประพฤติและบุคลิกภาพ. (1 โกรินโธ 6:9-11; โกโลซาย 3:5-10) แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นคือการกลับใจ ซึ่งก็หมายถึงการรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริงในแนวทางชีวิตแต่ก่อนและการตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. การกลับใจนำไปสู่การหันกลับอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็คือการละทิ้งวิถีชีวิตอันเห็นแก่ตัวแบบโลกและดำเนินตามแนวทางอันเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า.—กิจการ 3:19.
8. เราทำการอุทิศตัวโดยวิธีใด และการอุทิศตัวเกี่ยวข้องเช่นไรกับการรับบัพติสมา?
8 ส่วนที่สองของคำถามบัพติสมาข้อแรกถามว่าผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาได้อุทิศตัวเองแด่พระยะโฮวาเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์แล้วหรือไม่. การอุทิศตัวเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำก่อนจะรับบัพติสมา. การอุทิศตัวทำโดยที่เราอธิษฐานแสดงความปรารถนาจากหัวใจที่จะถวายชีวิตของเราแด่พระยะโฮวาโดยทางพระคริสต์. (โรม 14:7, 8; 2 โกรินโธ 5:15) เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว พระยะโฮวาจึงกลายเป็นนายและเจ้าของตัวเรา และเรายินดีทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเช่นเดียวกับพระเยซู. (บทเพลงสรรเสริญ 40:8; เอเฟโซ 6:6) การให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังกับพระยะโฮวานี้ทำเพียงครั้งเดียว. เนื่องจากเราอุทิศตัวด้วยการอธิษฐานเป็นส่วนตัว การประกาศตนอย่างเปิดเผยในวันรับบัพติสมาจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนทราบว่าเราได้อุทิศตัวอย่างจริงจังแด่พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์แล้ว.—โรม 10:10.
9, 10. (ก) การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าหมายรวมถึงอะไรบ้าง? (ข) แม้แต่เจ้าหน้าที่ของนาซีก็เข้าใจความหมายการอุทิศตัวของเราอย่างไร?
9 การติดตามแบบอย่างของพระเยซูในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าหมายรวมถึงอะไรบ้าง? พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกว่า “ถ้าผู้ใดต้องการติดตามเรา ให้เขาปฏิเสธตัวเองและแบกเสาทรมานของตนแล้วติดตามเราเรื่อยไป.” (มัดธาย 16:24, ล.ม.) ในที่นี้ พระองค์ทรงระบุสามสิ่งที่เราต้องทำ. ประการแรก เราต้อง “ปฏิเสธ” ตัวเอง. กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เราละทิ้งแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวและไม่สมบูรณ์ของเรา และยอมรับคำแนะนำและการชี้นำของพระเจ้า. ประการที่สอง เราต้อง “แบกเสาทรมานของตน.” ในสมัยของพระเยซู เสาทรมานเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความละอายและความทุกข์ยาก. ในฐานะคริสเตียน เรายอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าเราอาจประสบความทุกข์ยากเพราะเห็นแก่ข่าวดี. (2 ติโมเธียว 1:8) แม้ว่าโลกอาจเยาะเย้ยหรือตำหนิเรา แต่เช่นเดียวกับพระคริสต์ เรา ‘ไม่ถือว่าความละอายเป็นสิ่งสำคัญ’ และมีความสุขที่ทราบว่าเรากำลังทำให้พระเจ้าพอพระทัย. (เฮ็บราย 12:2) ประการสุดท้าย เราติดตามพระเยซู “เรื่อยไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 73:26; 119:44; 145:2.
10 น่าสนใจ แม้แต่ผู้ต่อต้านบางคนก็ยังเข้าใจความหมายของการอุทิศตัวที่พยานพระยะโฮวาได้ทำกับพระเจ้าเพื่อรับใช้เฉพาะพระองค์ผู้เดียว. ตัวอย่างเช่น ในค่ายกักกันบูเคนวาลด์ของเยอรมนีสมัยนาซี พยานฯ ที่ไม่ยอมทิ้งความเชื่อต้องเซ็นชื่อกำกับข้อความซึ่งพิมพ์ไว้ว่า “ข้าพเจ้ายังคงเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่อุทิศตนและจะไม่ยอมทำลายคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้ทำไว้กับพระยะโฮวา.” แน่นอน ข้อความนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเจตคติของผู้รับใช้พระเจ้าทุกคนที่อุทิศตัวแล้วและซื่อสัตย์ต่อพระองค์!—กิจการ 5:32.
ถูกระบุว่าเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง
11. ผู้รับบัพติสมาได้รับสิทธิพิเศษอะไร?
11 คำถามข้อที่สองถามว่า ก่อนอื่น ผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาเข้าใจหรือไม่ว่าการรับบัพติสมาเป็นการบ่งชี้ว่าเขาเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. หลังจากจุ่มตัวแล้ว เขากลายมาเป็นผู้รับใช้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งที่ถูกเรียกตามพระนามพระยะโฮวา. นี่เป็นทั้งสิทธิพิเศษใหญ่หลวงและหน้าที่รับผิดชอบที่จริงจัง. การรับบัพติสมายังทำให้ผู้รับบัพติสมามีความหวังที่จะได้รับการช่วยให้รอดอย่างถาวรด้วย โดยมีข้อแม้ว่าเขาต้องรักษาตัวซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา.—มัดธาย 24:13.
12. พันธะอะไรมาพร้อมกับเกียรติในการถูกเรียกตามพระนามพระยะโฮวา?
12 แน่นอน นับเป็นเกียรติซึ่งจะหาอะไรมาเทียบไม่ได้ที่จะถูกเรียกตามพระนามพระยะโฮวา พระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ. ผู้พยากรณ์มีคากล่าวดังนี้: “บรรดาชนชาติทั้งหลายต่างก็ดำเนินในนามแห่งพระของตน แต่เราจะดำเนินในพระนามของพระเยโฮวาห์พระเจ้าของเราเป็นนิตย์สืบ ๆ ไป.” (มีคา 4:5, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ตาม พันธะหน้าที่อย่างหนึ่งมาพร้อมกับเกียรติอันนี้. เราต้องพยายามอย่างหนักที่จะดำเนินชีวิตในแนวทางที่นำพระเกียรติมาสู่พระนามที่เราถืออยู่. ดังที่เปาโลเตือนคริสเตียนในกรุงโรม หากเราไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่เราประกาศ พระนามของพระเจ้าก็จะ ‘ถูกหยาบหยาม’ หรือถูกทำให้เสื่อมเสีย.—โรม 2:21-24, ฉบับแปลใหม่.
13. เหตุใดผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแล้วของพระยะโฮวามีหน้าที่รับผิดชอบที่จะให้คำพยานเกี่ยวกับพระเจ้าของพวกเขา?
13 เมื่อใครคนหนึ่งเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา เขายอมรับเอาหน้าที่รับผิดชอบที่จะประกาศเกี่ยวกับพระเจ้าของเขา. พระยะโฮวาทรงเชิญชาติอิสราเอลที่อุทิศตัวให้เป็นพยานของพระองค์เพื่อพิสูจน์ยืนยันความเป็นพระเจ้าอันถาวรของพระองค์. (ยะซายา 43:10-12, 21) แต่ชาตินี้ไม่ได้ทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จ และในที่สุดพวกเขาสูญเสียความโปรดปรานของพระยะโฮวาอย่างสิ้นเชิง. ทุกวันนี้ คริสเตียนแท้ภูมิใจที่มีสิทธิพิเศษในการให้คำพยานถึงพระยะโฮวา. เราทำอย่างนั้นเพราะเรารักพระองค์และปรารถนาอย่างยิ่งให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. เราจะนิ่งเงียบอยู่ได้อย่างไรเมื่อเราได้เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์และพระประสงค์ของพระองค์? เรารู้สึกเหมือนอัครสาวกเปาโลเมื่อท่านกล่าวว่า “เป็นการจำเป็นซึ่งข้าพเจ้าจะประกาศกิตติคุณนั้น ถ้าข้าพเจ้ามิได้ประกาศ, วิบัติจะเกิดแก่ข้าพเจ้า.”—1 โกรินโธ 9:16.
14, 15. (ก) องค์การของพระยะโฮวามีบทบาทเช่นไรในการเติบโตฝ่ายวิญญาณของเรา? (ข) มีการจัดเตรียมอะไรบ้างที่ช่วยเราทางฝ่ายวิญญาณ?
14 คำถามข้อที่สองยังเตือนผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาด้วยให้นึกถึงหน้าที่รับผิดชอบที่จะทำงานร่วมกับองค์การที่ได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระยะโฮวา. เราไม่ได้รับใช้พระเจ้าแต่เพียงลำพัง และเราจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ, การสนับสนุน, และการหนุนใจจาก “สังคมพี่น้องทั้งสิ้น.” (1 เปโตร 2:17, ล.ม.; 1 โกรินโธ 12:12, 13) องค์การของพระเจ้ามีบทบาทสำคัญในการเติบโตฝ่ายวิญญาณของเรา. องค์การนี้จัดให้มีสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลอย่างมากมายซึ่งช่วยเราให้เติบโตด้านความรู้ที่ถูกต้อง, ช่วยให้จัดการอย่างฉลาดสุขุมเมื่อเราเผชิญปัญหา, และช่วยปลูกฝังสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้า. เช่นเดียวกับแม่ที่ตรวจตราให้แน่ใจว่าลูกได้รับอาหารและการดูแลอย่างดี “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ก็จัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาอย่างบริบูรณ์เพื่อช่วยเราก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.—มัดธาย 24:45-47, ล.ม.; 1 เธซะโลนิเก 2:7, 8.
15 ในการประชุมประจำสัปดาห์ ประชาชนของพระยะโฮวาได้รับการฝึกอบรมและการหนุนใจที่จำเป็นเพื่อจะเป็นพยานที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. (เฮ็บราย 10:24, 25) โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าสอนเราให้พูดต่อหน้าสาธารณชน และการประชุมการรับใช้ฝึกเราให้เสนอข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ. ทั้งที่การประชุมและโดยทางการศึกษาสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว เราเห็นได้ว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวากำลังดำเนินกิจ ชี้นำองค์การของพระองค์. ด้วยการจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประจำ พระเจ้าทรงกระตุ้นเราให้ตื่นตัวต่ออันตราย, ฝึกอบรมเราให้เป็นผู้รับใช้ที่มีประสิทธิภาพ, และช่วยเราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7, 8, 11; 1 เธซะโลนิเก 5:6, 11; 1 ติโมเธียว 4:13.
แรงกระตุ้นที่ทำให้ตัดสินใจ
16. อะไรกระตุ้นเราให้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา?
16 ดังนั้น คำถามบัพติสมาทั้งสองข้อเตือนผู้ประสงค์จะรับบัพติสมาให้นึกถึงความหมายของการรับบัพติสมาในน้ำและหน้าที่รับผิดชอบที่การรับบัพติสมานำมาให้เขา. ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรล่ะที่ควรกระตุ้นให้พวกเขาตัดสินใจรับบัพติสมา? เราได้มาเป็นสาวกที่รับบัพติสมา ไม่ใช่เพราะมีใครบังคับ แต่เพราะพระยะโฮวา “ชักนำ” เรา. (โยฮัน 6:44) เนื่องจาก “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” พระองค์ทรงปกครองเอกภพด้วยความรัก ไม่ใช่โดยใช้กำลังบังคับ. (1 โยฮัน 4:8) เราถูกดึงดูดให้มาหาพระยะโฮวาโดยคุณลักษณะอันเปี่ยมด้วยความกรุณาของพระองค์และโดยวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อเรา. พระยะโฮวาประทานพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวเพื่อเรา และทรงเสนอจะให้อนาคตที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แก่เรา. (โยฮัน 3:16) เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงถูกกระตุ้นให้อุทิศตัว ถวายชีวิตแด่พระองค์.—สุภาษิต 3:9; 2 โกรินโธ 5:14, 15.
17. เราไม่ได้อุทิศตัวเพื่ออะไร?
17 การอุทิศตัวของเรานั้น ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์หรือเพื่องานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยตรง. งานที่พระเจ้าทรงมอบหมายแก่ประชาชนของพระองค์จะเปลี่ยนไป แต่การอุทิศตัวแด่พระองค์ยังคงเหมือนเดิม. ตัวอย่างเช่น สิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาให้อับราฮามทำนั้นแตกต่างอย่างมากจากสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาให้ยิระมะยาทำ. (เยเนซิศ 13:17, 18; ยิระมะยา 1:6, 7) ถึงกระนั้น ท่านทั้งสองทำงานเฉพาะอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้ทำเพราะพวกท่านรักพระยะโฮวาและปรารถนาจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์อย่างซื่อสัตย์. ในช่วงอวสานนี้ สาวกที่รับบัพติสมาแล้วของพระคริสต์ทุกคนต่างทุ่มเทความพยายามที่จะทำตามพระบัญชาของพระคริสต์ในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรและทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) การทำงานนี้อย่างสุดหัวใจเป็นวิธีที่ดีที่จะแสดงว่าเรารักพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์และเราอุทิศตัวอย่างแท้จริงแด่พระองค์.—1 โยฮัน 5:3.
18, 19. (ก) เราประกาศให้รู้กันทั่วเช่นไรเมื่อรับบัพติสมา? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการรับบัพติสมาเปิดโอกาสให้ได้รับพระพรมากมาย แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนที่จะถือเป็นเรื่องเล่น ๆ. (ลูกา 14:26-33) การรับบัพติสมาเป็นการแสดงถึงความตั้งใจแน่วแน่ที่มีความสำคัญเหนือหน้าที่รับผิดชอบอื่นใดทั้งสิ้น. (ลูกา 9:62) เมื่อเรารับบัพติสมา ที่จริงเรากำลังประกาศให้รู้กันทั่วว่า “พระองค์นี้เป็นพระเจ้าของพวกข้าพเจ้าเป็นนิตย์และเป็นนิตย์. พระองค์จะทรงนำพวกข้าพเจ้าตลอดชีวิต.”—บทเพลงสรรเสริญ 48:14.
19 บทความถัดไปจะพิจารณากันต่อไปเกี่ยวกับคำถามที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับบัพติสมาในน้ำ. มีเหตุผลฟังขึ้นไหมที่ใครจะยับยั้งตัวเองไว้ไม่รับบัพติสมา? อายุเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงไหม? ทุกคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไรในการทำให้โอกาสแห่งการรับบัพติสมาเป็นที่น่านับถือ?
คุณจะอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดคริสเตียนทุกคนจำเป็นต้องกลับใจก่อนจะรับบัพติสมา?
• การอุทิศตัวแด่พระเจ้าเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?
• หน้าที่รับผิดชอบอะไรมาพร้อมกับเกียรติในการถูกเรียกตามพระนามพระยะโฮวา?
• อะไรควรกระตุ้นเราให้ตัดสินใจรับบัพติสมา?
[กรอบ/ภาพหน้า 22]
คำถามบัพติสมาสองข้อ
โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ คุณได้กลับใจจากบาปของคุณ และได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ไหม?
การอุทิศตัวและการรับบัพติสมาของคุณบ่งชี้ว่า คุณเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งซึ่งสมทบกับองค์การที่ได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้า คุณเข้าใจเช่นนี้ไหม?
[ภาพหน้า 23]
การอุทิศตัวเป็นการให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังแก่พระยะโฮวาในคำอธิษฐาน
[ภาพหน้า 25]
งานประกาศของเราเป็นหลักฐานแสดงถึงการอุทิศตัวของเราแด่พระเจ้า