จงติดตามตัวอย่างของพระเยซูและแสดงความห่วงใยต่อคนจน
ความยากจนและการกดขี่มีมานานแทบจะพอ ๆ กับมนุษยชาติ. ถึงแม้พระบัญญัติของพระเจ้าที่ประทานแก่ชาติอิสราเอลพยายามจะปกป้องคนจนและทำให้ความทุกข์ของพวกเขาเบาบางลง บ่อยครั้งก็มีการละเลยพระบัญญัตินั้น. (อาโมศ 2:6) ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลได้ประณามวิธีที่มีการปฏิบัติต่อคนจน. ท่านได้กล่าวว่า “ชาวแผ่นดินนั้นได้ทำเบียดเบียนข่มเหง, และได้ทำโจรกรรม, และได้เบียดเบียนคนยากจนและเข็ญใจ, และได้เบียดเบียนคนแขกบ้านด้วยการทุจริต.”—ยะเอศเคล 22:29.
สภาพการณ์ไม่ได้ต่างกันตอนที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก. พวกผู้นำศาสนาแสดงให้เห็นการขาดความห่วงใยอย่างสิ้นเชิงต่อคนยากจนและขัดสน. ผู้นำศาสนาได้รับการพรรณนาว่าเป็นคน “มีใจรักทรัพย์สมบัติ” ผู้ซึ่ง “มักริบเอาเรือนของหญิงม่าย” และเป็นห่วงเรื่องการรักษาประเพณีของพวกเขายิ่งกว่าการเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุและคนขัดสน. (ลูกา 16:14; 20:47; มัดธาย 15:5, 6) น่าสนใจที่ในอุปมาของพระเยซูเรื่องชาวซะมาเรียผู้ใจดีนั้น เมื่อปุโรหิตและชาวเลวีเห็นชายที่ได้รับบาดเจ็บ ต่างก็เดินผ่านเขาไปอีกฟากหนึ่งของถนน แทนที่จะหันมาช่วยเหลือ.—ลูกา 10:30-37.
พระเยซูทรงแสดงความห่วงใยต่อคนจน
เรื่องราวในพระธรรมกิตติคุณเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเข้าใจเต็มที่ถึงความยากลำบากของคนจนและมีความรู้สึกไวต่อความจำเป็นของพวกเขาและเห็นอกเห็นใจ. ถึงแม้พระเยซูเคยดำรงอยู่ในสวรรค์ พระองค์ได้ทรงสละพระองค์เอง มารับเอาชีวิตมนุษย์ และ ‘ยอมเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่เรา.’ (2 โกรินโธ 8:9) เมื่อทอดพระเนตรเห็นฝูงชน พระเยซู “ทรงสงสารเขาด้วยเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36, ฉบับแปลใหม่) เรื่องราวเกี่ยวกับหญิงม่ายที่ขัดสนแสดงว่าพระเยซูทรงรู้สึกประทับใจ ไม่ใช่เนื่องจากเงินถวายจำนวนมากมายของคนรวย ผู้ซึ่งให้ “เงินเหลือใช้ของเขา” แต่เนื่องจากเงินบริจาคที่มีค่าน้อยนิดของหญิงม่ายยากจน. สิ่งที่เธอได้ทำประทับใจพระองค์ เพราะเธอ “ได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.”—ลูกา 21:4.
พระเยซูไม่เพียงรู้สึกสงสารคนจน แต่พระองค์ยังทรงสนพระทัยเป็นส่วนตัวในความจำเป็นของพวกเขาด้วย. พระองค์กับพวกอัครสาวกมีเงินกองกลางที่เก็บไว้ให้ชาวอิสราเอลที่ขัดสน. (มัดธาย 26:6-9; โยฮัน 12:5-8; 13:29) พระเยซูทรงสนับสนุนคนเหล่านั้นที่ต้องการจะเป็นสาวกของพระองค์ให้สำนึกถึงพันธะหน้าที่ของเขาที่จะช่วยเหลือคนขัดสน. พระองค์ได้ตรัสกับขุนนางหนุ่มผู้มั่งคั่งคนหนึ่งว่า “จงไปขายบรรดาสิ่งของซึ่งท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนอนาถา. ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์, แล้วจงตามเรามา.” ข้อเท็จจริงที่ว่าชายคนนี้ไม่เต็มใจสละทรัพย์สมบัติของตนแสดงว่าเขามีความรักต่อความมั่งคั่งร่ำรวยมากกว่ารักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่มีคุณลักษณะที่จำเป็นเพื่อจะเป็นสาวกของพระเยซู.—ลูกา 18:22, 23.
สาวกของพระคริสต์ห่วงใยคนจน
ภายหลังการวายพระชนม์ของพระเยซู เหล่าอัครสาวกและสาวกคนอื่น ๆ ของพระคริสต์ยังคงแสดงความห่วงใยคนจนในท่ามกลางพวกเขาต่อไป. ในราวปีสากลศักราช 49 อัครสาวกเปาโลได้ประชุมกับยาโกโบ, เปโตร, และโยฮัน และได้พิจารณางานมอบหมายที่เปาโลได้รับจากพระเยซูคริสต์เจ้าให้ประกาศข่าวดี. พวกเขาได้ตกลงกันว่าเปาโลและบาระนาบาควรจะไปหา “ชนต่างชาติ” โดยให้การประกาศของท่านทั้งสองมุ่งไปยังคนต่างชาติ. อย่างไรก็ดี ยาโกโบกับเพื่อน ๆ ได้กระตุ้นเตือนเปาโลและบาระนาบาว่า “ไม่ให้เราลืมคนจน.” และนั่นเป็นสิ่งที่เปาโล “กระตือรือร้นที่จะกระทำอยู่แล้วด้วย.”—ฆะลาเตีย 2:7-10.
ระหว่างการปกครองของจักรพรรดิคลาวดิอุส การกันดารอาหารอย่างรุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมัน. เพื่อสนองความจำเป็นดังกล่าว คริสเตียนในเมืองอันทิโอก “จึงตั้งใจว่าจะเรี่ยไรกันตามมากและน้อยฝากไปช่วยบรรเทาทุกข์พวกพี่น้องที่อยู่ในมณฑลยูดาย. เขาจึงได้กระทำดังนั้นและฝากบาระนาบาและเซาโลไปให้ผู้ปกครองทั้งหลาย.”—กิจการ 11:28-30.
คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ยอมรับด้วยว่าสาวกของพระเยซูต้องแสดงความห่วงใยต่อคนจนและคนที่ขัดสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางเพื่อนร่วมความเชื่อ. (ฆะลาเตีย 6:10) เพราะฉะนั้น พวกเขาสำแดงความห่วงใยที่แท้จริงต่อความจำเป็นด้านวัตถุของคนที่ขาดแคลน. ตัวอย่างเช่น ในปี 1998 ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงได้ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลเสียหายย่อยยับ. ความแห้งแล้งได้ทำลายพืชผล เช่น ข้าว, ถั่ว, และข้าวโพด ทำให้การกันดารอาหารแพร่ไปทั่ว ซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี. ในบางแห่ง แม้แต่น้ำดื่มก็หายาก. พยานพระยะโฮวาในภาคอื่นของประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมการบรรเทาทุกข์ขึ้นทันที และในเวลาไม่นาน พวกเขาได้รวบรวมอาหารปริมาณมากมายและชำระค่าใช้จ่ายในการขนส่งเสบียงดังกล่าว.
พยานฯ ที่ได้สนับสนุนงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้เขียนว่า “เรารู้สึกยินดีจริง ๆ ที่สามารถช่วยเหลือพี่น้องของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากมั่นใจว่าเราได้ทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี. เราไม่เคยลืมถ้อยคำที่ยาโกโบ 2:15, 16.” ข้อคัมภีร์นั้นอ่านว่า “ถ้าพี่น้องชายหญิงใด ๆ ไม่มีเสื้อผ้าและขัดสนอาหารประจำวัน, และในพวกท่านมีคนใดว่าแก่เขาว่า, ‘เชิญให้ไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด’ และท่านไม่ได้ให้อะไร ๆ ที่เขาต้องการสำหรับตัวนั้น, จะเป็นประโยชน์อะไร?”
ในประชาคมหนึ่งของพยานพระยะโฮวาในเมืองเซาเปาลู พยานฯ ที่ถ่อมและมีใจแรงกล้าคนหนึ่งซึ่งยากจนทางด้านวัตถุมักจะดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพ. เธอกล่าวว่า “ถึงแม้ดิฉันมีชีวิตอยู่ด้วยความยากจน ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลได้ทำให้ชีวิตของดิฉันมีความหมายอย่างแท้จริง. ดิฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนพยานฯ.” ไม่นานมานี้ สตรีคริสเตียนที่ทำงานหนักคนนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่ไม่สามารถชำระเงินค่าผ่าตัดได้. ในกรณีเฉพาะเช่นนี้ พี่น้องชายหญิงคริสเตียนในประชาคมอยู่ในฐานะที่จะจ่ายค่าผ่าตัด. การให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนร่วมความเชื่อที่ขัดสนเป็นสิ่งที่คริสเตียนแท้ปฏิบัติกันอยู่ทั่วโลก.
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าประสบการณ์ดังกล่าวอาจทำให้อบอุ่นใจเพียงไร ก็เป็นที่ชัดแจ้งว่าความพยายามอย่างจริงใจเช่นนั้นจะไม่กำจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป. แม้แต่รัฐบาลที่มีอำนาจและองค์กรบรรเทาทุกข์ใหญ่ ๆ ระหว่างประเทศ ถึงจะประสบผลสำเร็จอยู่บ้างก็ตาม ก็ไม่สามารถกำจัดปัญหาความยากจนที่มีมานานได้. ฉะนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นว่า อะไรจะเป็นวิธีแก้ที่แน่นอนสำหรับความยากจนและปัญหาอื่น ๆ ที่ก่อความทุกข์แก่มนุษยชาติ?
คำสอนในคัมภีร์ไบเบิลให้ความช่วยเหลือถาวร
บันทึกในกิตติคุณแสดงให้เห็นว่าพระเยซูคริสต์ทรงกระทำการดีเป็นประจำเพื่อคนเหล่านั้นที่ยากจนหรือเป็นผู้ที่มีความจำเป็นอื่น ๆ. (มัดธาย 14:14-21) แต่พระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่กิจกรรมอะไรเป็นอันดับแรก? ในโอกาสหนึ่ง หลังใช้เวลาช่วงหนึ่งช่วยคนเหล่านั้นที่มีความจำเป็นแล้ว พระเยซูตรัสแก่เหล่าสาวกของพระองค์ว่า “ให้เราไปที่อื่นเถิด เข้าไปตามหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อเราจะได้ประกาศ ที่นั่นด้วย.” ทำไมพระเยซูจึงหยุดงานที่ทรงทำเพื่อประโยชน์ของคนเจ็บป่วยและคนขัดสนแล้วกลับไปทำงานประกาศดังเดิม? พระองค์อธิบายโดยตรัสว่า “เพราะเนื่องด้วยจุดประสงค์นี้ [นั่นคือ เพื่อจะประกาศ] เราจึงได้มา.” (มาระโก 1:38, 39, ล.ม.; ลูกา 4:43) ถึงแม้การกระทำดีแก่ผู้คนที่มีความจำเป็นนับว่าสำคัญสำหรับพระเยซูก็ตาม การประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นงานมอบหมายอันดับแรกของพระองค์.—มาระโก 1:14.
เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ “ดำเนินตามรอยพระบาทของ [พระเยซู] อย่างใกล้ชิด” คริสเตียนในทุกวันนี้จึงมีการชี้นำที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญในความพยายามของเขาที่จะช่วยเหลือคนอื่น. (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) เช่นเดียวกับพระเยซู พวกเขาช่วยผู้คนที่มีความจำเป็น. อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับพระเยซู พวกเขาทำให้งานสอนข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา. (มัดธาย 5:14-16; 24:14; 28:19, 20) แต่เพราะเหตุใดการประกาศข่าวสารที่มีอยู่ในพระคำของพระเจ้าจึงสำคัญยิ่งกว่าการช่วยเหลือผู้คนในวิธีอื่น?
ประสบการณ์ชีวิตจริงจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้คนเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ใช้ได้จริงในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาก็เตรียมพร้อมดีขึ้นที่จะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงความยากจน. ยิ่งกว่านั้น ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าที่พยานพระยะโฮวาประกาศอยู่ในทุกวันนี้ทำให้ผู้คนมีความหวังในเรื่องอนาคต—ซึ่งทำให้ชีวิตคู่ควรแก่การดำรงอยู่ ถึงแม้อยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ลำบากยิ่งนัก. (1 ติโมเธียว 4:8) ความหวังนั้นคืออะไร?
พระคำของพระเจ้าทำให้เรามั่นใจในเรื่องอนาคตที่ว่า “มีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญา [ของพระเจ้า] และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” (2 เปโตร 3:13, ล.ม.) เมื่อคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “แผ่นดินโลก” บางครั้งพาดพิงถึงผู้คนที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก. (เยเนซิศ 11:1, ล.ม.) ดังนั้น “แผ่นดินโลกใหม่” ที่ชอบธรรมซึ่งจะมีมาตามคำสัญญานั้นคือสังคมของผู้คนที่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. พระคำของพระเจ้าสัญญาต่อไปว่าภายใต้การปกครองของพระคริสต์ คนเหล่านั้นที่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าจะได้รับรางวัลชีวิตนิรันดร์และจะมีชีวิตที่น่าพอใจในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (มาระโก 10:30) อนาคตอันยอดเยี่ยมเช่นนั้นมีอยู่สำหรับทุกคน รวมทั้งคนจนด้วย. ใน “แผ่นดินโลกใหม่” นั้น ปัญหาเกี่ยวกับความยากจนจะได้รับการแก้ไขตลอดกาล.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
พระเยซูจะ “ทรงช่วยคนขัดสน” อย่างไร? —บทเพลงสรรเสริญ 72:12
ความยุติธรรม: “พระองค์จะทรงพิพากษา พลเมืองที่เป็นคนอนาถา, พระองค์จะทรงช่วยบุตรของคนขัดสน, และจะทรงทำลายผู้ข่มเหงให้ย่อยยับไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:4) ระหว่างช่วงที่พระคริสต์ทรงปกครองเหนือแผ่นดินโลก ทุกคนจะได้รับความยุติธรรม. จะไม่มีการทุจริต อันเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ทำให้หลายประเทศที่อาจจะร่ำรวยกลายเป็นประเทศที่ยากจน.
สันติภาพ: “ในสมัยของพระองค์นั้นผู้ชอบธรรมจะเจริญขึ้น, และความสงบสุขจะมีบริบูรณ์ จนดวงจันทร์จะดับศูนย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:7) ความยากจนส่วนใหญ่ในโลกเป็นผลมาจากการต่อสู้และสงครามของมนุษย์. พระคริสต์จะทรงนำสันติภาพอย่างบริบูรณ์มาสู่แผ่นดินโลก โดยวิธีนี้จึงกำจัดสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของความยากจน.
ความเมตตาสงสาร: “พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน, ชีวิตของคนขัดสนพระองค์จะช่วยให้รอด. พระองค์จะไถ่ชีวิตของเขาให้พ้นจากการข่มเหงและการร้ายกาจ; เลือดของเขาจะประเสริฐ ต่อพระเนตรของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:12-14) คนอนาถา, คนขัดสน, และคนที่ถูกข่มเหงจะกลายมาเป็นส่วนของครอบครัวมนุษย์ที่มีความสุขครอบครัวเดียว, เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์เยซูคริสต์.
ความเจริญรุ่งเรือง: “จะมีธัญญาหารบริบูรณ์ บนพื้นแผ่นดิน.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:16) ระหว่างการปกครองของพระคริสต์ จะมีความเจริญรุ่งเรืองและความบริบูรณ์ทางด้านวัตถุ. ผู้คนจะไม่ทนทุกข์เนื่องจากการขาดแคลนอาหารและความอดอยากที่มักเป็นสาเหตุของความยากจนในปัจจุบัน.
[ภาพหน้า 4, 5]
พระเยซูทรงสนพระทัยเป็นส่วนตัวในความจำเป็นของคนจน
[ภาพหน้า 6]
ข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลทำให้เกิดความหวังแท้