จงเพ่งมองความดีงามแห่งองค์การของพระยะโฮวา
“พวกข้าพเจ้าย่อมได้รับความพอใจด้วยความดีงามแห่งราชสำนักของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 65:4, ล.ม.
1, 2. (ก) การจัดเตรียมที่เกี่ยวกับพระวิหารจะก่อผลเช่นไรต่อประชาชนของพระเจ้า? (ข) ดาวิดจัดเตรียมอะไรไว้สำหรับการก่อสร้างพระวิหาร?
ดาวิดแห่งชาติอิสราเอลโบราณเป็นบุคคลที่นับว่าโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งซึ่งประวัติชีวิตของท่านมีบันทึกในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ชายผู้นี้ซึ่งเป็นทั้งคนเลี้ยงแกะ, นักดนตรี, ผู้พยากรณ์, และกษัตริย์ไว้วางใจพระยะโฮวาพระเจ้าอย่างเต็มที่. ความผูกพันอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งที่ดาวิดมีกับพระยะโฮวากระตุ้นท่านให้ปรารถนาจะสร้างราชนิเวศเพื่อพระองค์. ราชนิเวศหรือพระวิหารดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการนมัสการแท้ในประเทศอิสราเอล. ดาวิดทราบว่าการจัดเตรียมที่เกี่ยวข้องกับพระวิหารจะนำความยินดีและพระพรมาสู่ประชาชนของพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ดาวิดจึงร้องเพลงว่า “ความสุขย่อมมีแก่คนนั้นที่ [พระยะโฮวา] ทรงเลือกและให้เขาเข้ามาหาพระองค์ เพื่อเขาจะได้อาศัยอยู่ภายในลานของพระองค์. พวกข้าพเจ้าย่อมได้รับความพอใจด้วยความดีงามแห่งราชสำนักของพระองค์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งพระวิหารของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 65:4, ล.ม.
2 ดาวิดไม่ได้รับอนุญาตให้ควบคุมดูแลการก่อสร้างราชนิเวศของพระยะโฮวา. แทนที่จะเป็นท่าน สิทธิพิเศษดังกล่าวถูกสงวนไว้สำหรับซะโลโมราชบุตรของท่าน. ดาวิดไม่ได้บ่นพึมพำในเรื่องที่คนอื่นได้รับมอบสิทธิพิเศษที่ท่านเองปรารถนาอย่างยิ่ง. สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านคือการที่พระวิหารถูกสร้างขึ้น. ท่านสนับสนุนโครงการนี้อย่างสุดหัวใจโดยส่งมอบแบบแปลนด้านสถาปัตยกรรมที่ท่านได้รับจากพระยะโฮวาแก่ซะโลโม. นอกจากนั้น ดาวิดยังจัดระเบียบแบ่งชาวเลวีหลายหมื่นคนให้ปฏิบัติหน้าที่ในแผนกต่าง ๆ อีกทั้งบริจาคทองและเงินจำนวนมากเพื่อใช้ในการสร้างพระวิหาร.—1 โครนิกา 17:1, 4, 11, 12; 23:3-6; 28:11, 12; 29:1-5.
3. ผู้รับใช้ของพระเจ้ามีเจตคติเช่นไรต่อการจัดเตรียมเพื่อการนมัสการแท้?
3 ชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์สนับสนุนการจัดเตรียมเพื่อการนมัสการแท้ ณ ราชนิเวศของพระเจ้า. ในฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน เราทำคล้าย ๆ กันโดยสนับสนุนการจัดเตรียมเพื่อการนมัสการภายในองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก. โดยวิธีนั้น เราแสดงว่าเรามีเจตคติแบบเดียวกับดาวิด. เราไม่มีเจตคติชอบบ่น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราเพ่งสนใจความดีงามแห่งองค์การของพระเจ้า. คุณเคยคิดเกี่ยวกับสิ่งดีมากมายที่เราสามารถหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงไหม? ให้เราพิจารณาสิ่งดีเหล่านี้บางอย่าง.
หยั่งรู้ค่าคนเหล่านั้นที่นำหน้า
4, 5. (ก) “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ทำหน้าที่มอบหมายของตนให้สำเร็จอย่างไร? (ข) พยานฯ บางคนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับอาหารฝ่ายวิญญาณที่พวกเขาได้รับ?
4 เรามีเหตุผลอันดีที่จะหยั่งรู้ค่า “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งพระเยซูคริสต์ได้แต่งตั้งไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติของพระองค์บนแผ่นดินโลก. ชนชั้นทาสแห่งคริสเตียนผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณนำหน้าในการประกาศข่าวดี, จัดการประชุมเพื่อการนมัสการ, และจัดพิมพ์สรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักมากกว่า 400 ภาษา. ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกรับ ‘อาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะ’ นี้ด้วยความหยั่งรู้ค่า. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ไม่มีเหตุผลที่จะบ่นในเรื่องนี้อย่างแน่นอน.
5 พยานพระยะโฮวาสูงอายุคนหนึ่งชื่อเอลฟี ได้รับการปลอบโยนและการค้ำจุนมานานปีโดยใช้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ที่พบในหนังสือต่าง ๆ ซึ่งชนชั้นทาสจัดให้. ความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งกระตุ้นให้เอลฟีเขียนดังนี้: “นึกภาพไม่ออกเลยว่าชีวิตดิฉันจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีองค์การของพระยะโฮวา!” ปีเตอร์และเอิร์มการ์ดเป็นผู้รับใช้พระเจ้ามาหลายสิบปีแล้วเช่นกัน. เอิร์มการ์ดแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับการจัดเตรียมทุกอย่างที่มาจาก “องค์การของพระยะโฮวาที่เปี่ยมด้วยความรักและให้การดูแลอย่างดี.” นอกเหนือจากสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แล้ว องค์การยังได้จัดทำเทปและวีดิทัศน์สำหรับคนที่มีความจำเป็นพิเศษด้วย เช่น คนที่บกพร่องในการมองเห็นหรือการได้ยิน.
6, 7. (ก) กิจการงานของประชาคมต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับการดูแลอย่างไร? (ข) บางคนได้กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก?
6 “ทาสสัตย์ซื่อ” มีตัวแทนเป็นคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา ซึ่งก็คือชายผู้ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งรับใช้ที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในเมืองบรุกลิน นิวยอร์ก. คณะกรรมการปกครองแต่งตั้งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาที่มีประสบการณ์เพื่อรับใช้ที่สำนักงานสาขาต่าง ๆ ซึ่งดูแลกิจการงานของประชาคมทั่วโลกกว่า 98,000 ประชาคม. ชายที่บรรลุข้อเรียกร้องตามหลักพระคัมภีร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคมเหล่านี้. (1 ติโมเธียว 3:1-9, 12, 13) ผู้ปกครองนำหน้าและให้การบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าในความอารักขาของเขาด้วยความรัก. ช่างเป็นพระพรจริง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของฝูงแกะนั้นและประสบกับความรักและความเป็นหนึ่งเดียวที่มีอยู่ท่ามกลาง “สังคมพี่น้องทั้งสิ้น.”—1 เปโตร 2:17, ล.ม.; 5:2, 3.
7 แทนที่จะบ่น พี่น้องแต่ละคนมักแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการชี้นำฝ่ายวิญญาณด้วยความรักที่ได้รับจากผู้ปกครอง. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอพิจารณากรณีของเบอร์กิต คริสเตียนผู้เป็นภรรยาวัยสามสิบ. ตอนที่เป็นวัยรุ่น เธอคบเพื่อนไม่ดีและเกือบพลาดพลั้งทำผิด. แต่คำแนะนำที่ชัดเจนตามหลักพระคัมภีร์ของผู้ปกครองและการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมความเชื่อช่วยเธอให้รอดพ้นจากสถานการณ์ในครั้งหนึ่งที่อาจก่ออันตราย. เบอร์กิตรู้สึกอย่างไรในตอนนี้? เธอกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกหยั่งรู้ค่าจริง ๆ ที่ตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งขององค์การที่ยอดเยี่ยมของพระยะโฮวา.” หนุ่มอายุ 17 ปีคนหนึ่งชื่อแอนเดรียสกล่าวว่า “นี่คือองค์การของพระยะโฮวาอย่างแท้จริง องค์การที่ดีที่สุดในโลก.” เราน่าจะหยั่งรู้ค่าความดีงามแห่งองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้มิใช่หรือ?
คนที่นำหน้าเป็นคนไม่สมบูรณ์
8, 9. บางคนในสมัยของดาวิดประพฤติอย่างไร และดาวิดตอบสนองอย่างไรต่อการกระทำเช่นนั้น?
8 แน่นอน คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้นำหน้าในการนมัสการแท้เป็นคนไม่สมบูรณ์. พวกเขาทุกคนล้วนทำผิดพลาด และบางคนมีจุดอ่อนที่ติดตัวมานานซึ่งเขากำลังพยายามอย่างมากที่จะควบคุม. เราจำเป็นต้องหัวเสียเพราะเรื่องนี้ไหม? ไม่. แม้แต่บางคนที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่รับผิดชอบมากมายในอิสราเอลโบราณก็ได้ทำผิดพลาดร้ายแรง. ตัวอย่างเช่น ตอนที่ดาวิดยังหนุ่ม ท่านถูกเรียกตัวให้ถวายการรับใช้เป็นนักดนตรีทำหน้าที่ขับกล่อมกษัตริย์ซาอูลผู้มีปัญหาด้านอารมณ์. ต่อมา ซาอูลพยายามฆ่าดาวิด ซึ่งทำให้ในที่สุดท่านต้องหนีเอาชีวิตรอด.—1 ซามูเอล 16:14-23; 18:10-12; 19:18; 20:32, 33; 22:1-5.
9 ชาวอิสราเอลคนอื่น ๆ ก็ประพฤติตัวทรยศ. ตัวอย่างเช่น โยอาบผู้บัญชาการทหารของดาวิดได้ฆ่าอับเนรซึ่งเป็นพระญาติของซาอูล. อับซาโลมคบคิดกับพวกชิงบัลลังก์ของดาวิดผู้เป็นราชบิดา. และอะฮีโธเฟลที่ปรึกษาซึ่งดาวิดไว้ใจก็ทรยศท่าน. (2 ซามูเอล 3:22-30; 15:1-17, 31; 16:15, 21) กระนั้น ดาวิดไม่ได้กลายเป็นคนชอบบ่นที่รู้สึกขมขื่น และไม่ได้หันหลังให้การนมัสการแท้. ที่จริง ท่านแสดงท่าทีตรงกันข้าม. สถานการณ์เลวร้ายกลับกระตุ้นดาวิดให้ติดสนิทกับพระยะโฮวาและรักษาเจตคติที่ดีอย่างที่ท่านเคยมีตอนที่ท่านหนีซาอูล. ในตอนนั้น ดาวิดร้องเพลงว่า “ขอทรงพระเมตตาแก่ข้าพเจ้า, โอ้ข้าแต่พระเจ้า, ขอทรงพระเมตตาแก่ข้าพเจ้า; เพราะจิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าพึ่งพำนักในพระองค์. ข้าพเจ้าจะอาศัยใต้ร่มปีกของพระองค์, กว่าภัยอันตรายเหล่านี้จะล่วงพ้นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 57:1.
10, 11. คริสเตียนคนหนึ่งที่ชื่อเกอร์ทรูดมีประสบการณ์เช่นไรเมื่อยังสาว และเธอกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับข้อบกพร่องของเพื่อนร่วมความเชื่อ?
10 เราไม่มีเหตุผลที่จะบ่นเกี่ยวกับการคิดคดทรยศในองค์การของพระเจ้าในทุกวันนี้. ทั้งพระยะโฮวา, เหล่าทูตสวรรค์, และผู้บำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณไม่มีใครยอมให้มีคนทรยศชั่วร้ายอยู่ในประชาคมคริสเตียน. อย่างไรก็ตาม เราทุกคนเผชิญกับความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์—ทั้งของตัวเราเองและของผู้รับใช้พระเจ้าคนอื่น ๆ.
11 เกอร์ทรูดเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาคนหนึ่งซึ่งรับใช้พระองค์มานาน. ตอนที่ยังสาว เธอถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าเป็นคนหลอกลวงและไม่ใช่ผู้ประกาศราชอาณาจักรเต็มเวลาอย่างแท้จริง. เธอแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? เกอร์ทรูดบ่นพึมพำที่ถูกกล่าวหาอย่างนั้นไหม? ไม่. ไม่นานก่อนจะเสียชีวิตในปี 2003 ขณะอายุได้ 91 ปี เธอหวนระลึกถึงชีวิตในอดีตและอธิบายว่า “ประสบการณ์เหล่านี้และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นช่วยสอนดิฉันว่า แม้ว่าบางคนทำผิดพลาด แต่พระยะโฮวาทรงชี้นำงานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์โดยทรงใช้พวกเราที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์.” เมื่อเผชิญกับความไม่สมบูรณ์ของผู้รับใช้พระเจ้าคนอื่น ๆ เกอร์ทรูดหันเข้าหาพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานอย่างสุดหัวใจ.
12. (ก) คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเช่นไร? (ข) เราควรมุ่งความคิดไปที่สิ่งใด?
12 เนื่องจากแม้แต่คริสเตียนที่อุทิศตนและภักดีที่สุดก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้งทำผิดพลาด ขอให้เรา “ทำทุกสิ่งต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ.” (ฟิลิปปอย 2:14) คงเป็นเรื่องน่าเศร้าสักเพียงไรหากเราทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีของคนไม่กี่คนในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรก! ตามที่สาวกยูดาได้กล่าวไว้ ผู้สอนเท็จในสมัยนั้น “เพิกเฉยต่อตำแหน่งผู้เป็นนาย และพูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี.” นอกจากนั้น ผู้ทำผิดเหล่านี้ยังเป็นคน “ชอบบ่นพึมพำ คนบ่นเกี่ยวกับชีวิตที่เกิดมา.” (ยูดา 8, 16, ล.ม.) ขอให้เราปฏิเสธแนวทางของคนชอบบ่นและคิดถึงแต่สิ่งดี ๆ ที่เราได้รับโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อ.” จงให้เราหยั่งรู้ค่าความดีงามแห่งองค์การของพระยะโฮวา และ “ทำทุกสิ่งต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ.”
“การพูดเช่นนี้ทำให้ตกตะลึง”
13. บางคนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำสอนบางเรื่องของพระเยซูคริสต์?
13 ในขณะที่บางคนในศตวรรษแรกบ่นพึมพำต่อผู้รับใช้ที่ได้รับการแต่งตั้ง คนอื่น ๆ บ่นพึมพำแสดงความไม่พอใจคำสอนของพระเยซู. พระเยซูตรัสดังบันทึกที่โยฮัน 6:48-69 (ล.ม.) ว่า “ผู้ที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร์.” เมื่อได้ยินคำตรัสนี้ “สาวกของพระองค์หลายคน . . . จึงพูดว่า ‘การพูดเช่นนี้ทำให้ตกตะลึง ใครจะฟังได้?’ ” พระเยซูทรงตระหนักว่า “เหล่าสาวกของพระองค์บ่นพึมพำกันถึงเรื่องนี้.” นอกจากนั้น “เนื่องจากเหตุนี้สาวกของพระองค์หลายคนจึงถอยออกไปสู่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังและไม่ดำเนินกับพระองค์อีกต่อไป.” แต่ไม่ใช่สาวกทุกคนที่บ่นพึมพำ. ขอให้สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเยซูทรงถามอัครสาวก 12 คนว่า “เจ้าทั้งหลายไม่ต้องการจะไปด้วยใช่ไหม?” อัครสาวกเปโตรตอบว่า “พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะจากไปหาผู้ใดเล่า? พระองค์ทรงมีถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์; และข้าพเจ้าทั้งหลายก็ได้เชื่อและได้มาทราบแล้วว่าพระองค์เป็นองค์บริสุทธิ์ของพระเจ้า.”
14, 15. (ก) เหตุใดบางคนแสดงความไม่พอใจแง่มุมบางอย่างของคำสอนคริสเตียน? (ข) เราจะเรียนอะไรได้จากกรณีของเอมานูเอล?
14 ในสมัยปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่คนในหมู่ประชาชนของพระเจ้าแสดงความไม่พอใจแง่มุมบางอย่างของคำสอนคริสเตียนและบ่นพึมพำต่อองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก. เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้? บ่อยครั้ง การบ่นพึมพำเช่นนั้นมีสาเหตุมาจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงใช้ในการจัดการเรื่องต่าง ๆ. พระผู้สร้างทรงเผยความจริงแก่ประชาชนของพระองค์ทีละเล็กทีละน้อย. ด้วยเหตุนั้น ความเข้าใจของเราในพระคัมภีร์จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนในบางครั้ง. ประชาชนของพระยะโฮวาส่วนใหญ่รู้สึกยินดีที่มีการปรับเปลี่ยนเช่นนั้น. แต่บางคนกลายเป็นคน “ชอบธรรมเกินไป” และไม่พอใจที่มีการเปลี่ยน. (ท่านผู้ประกาศ 7:16, ฉบับแปลใหม่) ความหยิ่งอาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง และบางคนติดกับดักของการมีความคิดแบบเป็นเอกเทศ. ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การบ่นพึมพำเช่นนั้นเป็นอันตราย เนื่องจากอาจดึงเราให้ถอยไปหาโลกและแนวทางของโลก.
15 ตัวอย่างเช่น พยานฯ คนหนึ่งที่ชื่อเอมานูเอล วิพากษ์วิจารณ์บางสิ่งที่เขาอ่านในสรรพหนังสือของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) เขาเลิกอ่านสรรพหนังสือของคริสเตียนและในที่สุดก็บอกผู้ปกครองในประชาคมท้องถิ่นว่าเขาไม่ต้องการเป็นพยานพระยะโฮวาอีกต่อไป. อย่างไรก็ดี เวลาผ่านไปได้ไม่นานเอมานูเอลก็เริ่มตระหนักว่าคำสอนขององค์การของพระยะโฮวานั้นถูกต้องจริง ๆ. เขาติดต่อกับพยานฯ, ยอมรับความผิดพลาดของเขา, และถูกรับกลับสู่ฐานะเดิมเป็นพยานพระยะโฮวา. ผลก็คือ เขากลับมามีความสุขอีกครั้ง.
16. อะไรอาจช่วยเราได้ให้เอาชนะข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสอนคริสเตียนบางอย่าง?
16 จะว่าอย่างไรหากเราถูกล่อใจให้บ่นพึมพำเพราะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำสอนบางเรื่องขององค์การของพระยะโฮวา? ถ้าอย่างนั้น ขอเราอย่าได้ขาดความอดทน. ในที่สุด “ทาสสัตย์ซื่อ” อาจจัดพิมพ์บทความที่ตอบคำถามของเราและให้ความกระจ่างในเรื่องที่เราสงสัย. นับว่าฉลาดที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากคริสเตียนผู้ปกครอง. (ยูดา 22, 23) คำอธิษฐาน, การศึกษาส่วนตัว, และการคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่มีทัศนะฝ่ายวิญญาณดีสามารถช่วยได้ด้วยในการขจัดข้อสงสัยและสามารถทำให้เราหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิลที่เสริมความเชื่อซึ่งเราได้เรียนโดยอาศัยช่องทางการสื่อสารของพระยะโฮวา.
รักษาทัศนคติที่ดีเอาไว้
17, 18. แทนที่จะบ่น เราควรมีทัศนคติเช่นไร และเพราะเหตุใด?
17 ต้องยอมรับว่า มนุษย์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มติดตัวตั้งแต่เกิดที่จะทำผิด และบางคนอาจมีแนวโน้มอย่างชัดเจนที่จะบ่นโดยไม่มีเหตุผลอันควร. (เยเนซิศ 8:21; โรม 5:12) แต่หากเรากลายเป็นคนชอบบ่นจนเป็นนิสัย นั่นอาจก่อผลเสียหายต่อสายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาพระเจ้า. ดังนั้น เราจำเป็นต้องควบคุมแนวโน้มใด ๆ ที่จะบ่นพึมพำที่อาจเกิดขึ้นได้.
18 แทนที่จะบ่นพึมพำเกี่ยวด้วยเรื่องต่าง ๆ ในประชาคม เราควรรักษาทัศนคติที่ดีไว้และดำเนินตามกิจวัตรที่ทำให้เรามีธุระยุ่ง, ชื่นชมยินดี, แสดงความนับถือ, สมดุล, และมีความเชื่อที่เข้มแข็ง. (1 โกรินโธ 15:58; ติโต 2:1-5) พระยะโฮวาทรงควบคุมทุกสิ่งภายในองค์การของพระองค์ และพระเยซูทรงตระหนักถึงความเป็นไปในแต่ละประชาคม เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงตระหนักในศตวรรษแรก. (วิวรณ์ 1:10, 11) จงรอคอยพระเจ้าและพระคริสต์ผู้เป็นประมุขประชาคมอย่างอดทนต่อ ๆ ไป. พระองค์อาจใช้ผู้บำรุงเลี้ยงที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้แก้ไขเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน.—บทเพลงสรรเสริญ 43:5; โกโลซาย 1:18; ติโต 1:5.
19. จนกว่าจะถึงเวลาที่ราชอาณาจักรเข้าควบคุมกิจธุระของมนุษย์อย่างเต็มที่ เราควรเพ่งสนใจอะไร?
19 ในไม่ช้าระบบชั่วนี้จะสิ้นสุดลง และราชอาณาจักรมาซีฮาจะเข้าควบคุมกิจธุระของมนุษย์อย่างเต็มที่. จนกว่าจะถึงตอนนั้น สำคัญสักเพียงไรที่เราแต่ละคนจะรักษาทัศนคติที่ดีเอาไว้! นี่จะช่วยเราให้ตระหนักถึงคุณความดีของเพื่อนร่วมความเชื่อ แทนที่จะเพ่งเล็งข้อบกพร่องของพวกเขา. การเพ่งสนใจแง่มุมที่ดีแห่งบุคลิกภาพของพวกเขาจะทำให้เรามีความสุข. แทนที่จิตใจจะห่อเหี่ยวหมดแรงจากการบ่นพึมพำ เราจะได้รับกำลังใจและได้รับการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณ.
20. ทัศนคติที่ดีสามารถช่วยเราให้ชื่นชมพระพรอะไร?
20 ทัศนคติที่ดียังจะช่วยเราด้วยให้สามารถระลึกถึงพระพรมากมายที่เรามีอันเนื่องมาจากการคบหากับองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก. นี่เป็นองค์การเดียวในโลกที่ภักดีต่อองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ. คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความเป็นจริงและสิทธิพิเศษที่มีส่วนร่วมในการนมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว? ขอให้ทัศนคติของคุณเป็นเหมือนกับดาวิด ซึ่งได้ร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน, บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามาเฝ้าพระองค์. ความสุขย่อมมีแก่คนนั้นที่ถูกเลือกไว้ให้เข้าใกล้พระองค์, เพื่อเขาจะได้อาศัยอยู่ภายในบริเวณของพระองค์: ข้าพเจ้าทั้งหลายจะอิ่มหนำด้วยสิ่งของอันประเสริฐในพระมหามณเฑียร.”—บทเพลงสรรเสริญ 65:2, 4.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดเราควรหยั่งรู้ค่าต่อคนที่นำหน้าในประชาคม?
• เราควรแสดงปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อพี่น้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบทำผิดพลาด?
• เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อการปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับความเข้าใจพระคัมภีร์?
• อะไรอาจช่วยคริสเตียนให้เอาชนะข้อสงสัยได้?
[ภาพหน้า 20]
ดาวิดมอบแบบแปลนสร้างพระวิหารให้ซะโลโมและสนับสนุนการนมัสการแท้อย่างสุดหัวใจ
[ภาพหน้า 23]
คริสเตียนผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณด้วยความยินดี