“จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป”
“อย่าให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” —โรม 12:21, ล.ม.
1. เหตุใดเราจึงมั่นใจได้ว่าเราจะเอาชนะความชั่วได้?
เป็นไปได้ไหมที่จะยืนหยัดต้านทานคนที่ต่อต้านการนมัสการแท้อย่างรุนแรง? เป็นไปได้ไหมที่จะเอาชนะอิทธิพลต่าง ๆ ที่พยายามดึงเรากลับไปสู่โลกอธรรม? คำตอบสำหรับคำถามทั้งสองนี้คือ เป็นไปได้! เพราะเหตุใดเราจึงกล่าวอย่างนั้น? เพราะสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวในจดหมายของท่านถึงพี่น้องในกรุงโรม. ท่านเขียนว่า “อย่าให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:21, ล.ม.) ถ้าเราไว้วางใจพระยะโฮวาและตั้งใจแน่วแน่จะไม่ปล่อยให้โลกชนะเรา ความชั่วของโลกก็จะเอาชนะเราไม่ได้. นอกจากนั้น วลี “เอาชนะความชั่ว . . . ต่อ ๆ ไป” แสดงว่าเราสามารถพิชิตความชั่วได้หากเราตื่นตัวอยู่เสมอในการต่อสู้ฝ่ายวิญญาณเพื่อต่อต้านความชั่ว. เฉพาะคนที่ไม่ตื่นตัวในการป้องกันตัวเองและเลิกต่อสู้เท่านั้นจึงจะพ่ายแพ้แก่โลกชั่วและผู้ปกครองอันชั่วร้ายของโลก คือซาตานพญามาร.—1 โยฮัน 5:19.
2. เหตุใดเราจึงจะพิจารณาเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตของนะเฮมยา?
2 ประมาณ 500 ปีก่อนสมัยของเปาโล ผู้รับใช้พระเจ้าคนหนึ่งซึ่งอาศัยในกรุงเยรูซาเลมแสดงให้เห็นความจริงตามถ้อยคำของเปาโลเกี่ยวกับการต่อสู้ความชั่ว. คนของพระเจ้าผู้นี้ คือนะเฮมยา ไม่เพียงแต่ยืนหยัดต้านทานการต่อต้านจากพวกคนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า แต่ยังได้เอาชนะความชั่วด้วยความดี. ท่านเผชิญข้อท้าทายอะไรบ้าง? อะไรทำให้ท่านประสบความสำเร็จ? เราจะทำตามแบบอย่างของท่านได้อย่างไร? เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ให้เรามาพิจารณาเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตของนะเฮมยา.a
3. นะเฮมยาอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นไร และท่านทำงานอะไรจนแล้วเสร็จ?
3 นะเฮมยารับใช้ในราชสำนักของกษัตริย์อาร์ทาเซอร์เซสแห่งเปอร์เซีย. แม้ว่านะเฮมยาอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่มีความเชื่อ ท่านไม่ได้ “ถูกนวดปั้นตามระบบ” ของสมัยนั้น. (โรม 12:2, ล.ม.) เมื่อเกิดมีความจำเป็นขึ้นมาในยูดาห์ ท่านเสียสละรูปแบบชีวิตที่สะดวกสบาย, ลำบากตรากตรำเดินทางไกลไปยังเยรูซาเลม, และรับงานใหญ่ในการสร้างกำแพงกรุงขึ้นใหม่. (โรม 12:1) แม้ว่าท่านเป็นผู้ว่าราชการกรุงเยรูซาเลม นะเฮมยาทำงานเคียงข้างเพื่อนร่วมชาติชาวอิสราเอลทุกวัน “ตั้งแต่รุ่งเช้าจนได้เห็นดาวหัวค่ำ.” ผลก็คือ ภายในเวลาเพียงสองเดือน โครงการนี้ก็แล้วเสร็จสมบูรณ์! (นะเฮมยา 4:21; 6:15) นั่นนับเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งทีเดียว เพราะระหว่างที่ทำงานก่อสร้าง ชาวอิสราเอลเผชิญกับการต่อต้านหลากหลายรูปแบบ. พวกผู้ต่อต้านนะเฮมยาเป็นใคร และคนพวกนี้มีเป้าหมายอะไร?
4. พวกผู้ต่อต้านนะเฮมยามีเป้าหมายอะไร?
4 พวกผู้ต่อต้านคนสำคัญ ๆ ได้แก่ ซันบาลาต, โตบิยา, และเฆเซ็ม ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่ใกล้ ๆ กับยูดาห์. เนื่องจากพวกเขาเป็นศัตรูของประชาชนของพระเจ้า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่พอใจเขาอย่างยิ่งที่ [นะเฮมยา] มาหาความสุขให้คนอิสราเอล.” (นะเฮมยา 2:10, 19, ฉบับแปลใหม่) ศัตรูของนะเฮมยาตั้งใจมั่นว่าจะหยุดแผนการก่อสร้างของนะเฮมยา ถึงกับใช้แผนชั่วร้ายด้วยซ้ำ. นะเฮมยาจะ ‘ปล่อยให้ความชั่วมีชัยแก่ตัว’ ไหม?
“โกรธและเดือดดาลมาก”
5, 6. (ก) ศัตรูของนะเฮมยาแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่องานก่อสร้าง? (ข) เหตุใดนะเฮมยาจึงไม่กลัวเมื่อถูกพวกผู้ต่อต้านข่มขู่?
5 นะเฮมยากระตุ้นเตือนประชาชนอย่างกล้าหาญว่า “ให้เราสร้างกำแพงเยรูซาเล็มขึ้น.” พวกเขาตอบว่า “ให้เราลุกขึ้นสร้างเถิด.” นะเฮมยากล่าวว่า “เขาก็ปลงใจลงมือทำการดีนั้น” แต่พวกผู้ต่อต้าน “เยาะเย้ยและดูถูกเราพูดว่า ‘เจ้าทั้งหลายทำอะไรกันนี่ เจ้ากำลังกบฏต่อพระราชาหรือ?’ ” นะเฮมยาไม่กลัวคำเยาะเย้ยและคำกล่าวหาเท็จของพวกเขา. ท่านบอกพวกผู้ต่อต้านว่า “พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์จะทรงให้เรากระทำสำเร็จ และเราทั้งหลายผู้รับใช้ของพระองค์จะลุกขึ้นสร้าง.” (นะเฮมยา 2:17-20, ฉบับแปลใหม่) นะเฮมยาตั้งใจแน่วแน่จะดำเนินต่อไปด้วยการ “ทำการดีนั้น.”
6 ซันบาลาต ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านคนหนึ่ง “โกรธและเดือดดาลมาก” และเย้ยหยันหนักขึ้นเรื่อย ๆ. “พวกยิวที่อ่อนแอเหล่านี้ทำอะไรกัน?” เขาเยาะเย้ย. “เขาจะกู้เอาหินที่ถูกเผาจากกองขยะมาใช้อีกหรือ?” โตบิยาเข้ามาสมทบในการเย้ยหยัน โดยกล่าวว่า “ถ้าสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไปมันจะพังกำแพงหินของเขาลงมา.” (นะเฮมยา 4:1-3, ฉบับแปลใหม่) นะเฮมยาแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
7. นะเฮมยาแสดงปฏิกิริยาเช่นไรต่อการกล่าวหาของพวกผู้ต่อต้าน?
7 นะเฮมยาเพียงแต่ไม่สนใจการเยาะเย้ยนั้น. ท่านปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าและไม่หาทางตอบโต้. (เลวีติโก 19:18) แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านฝากเรื่องนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวาและอธิษฐานดังนี้: “โอ้พระองค์, พระเจ้าของข้าพเจ้า; ขอทรงโปรดสดับฟังเถิด, ด้วยว่าพวกข้าพเจ้าก็เป็นที่ดูหมิ่นนัก. ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดบันดาลให้ความดูหมิ่นของเขาตกลงที่ศีรษะของเขาเอง.” (นะเฮมยา 4:4) นะเฮมยาไว้วางใจในคำรับรองของพระยะโฮวาที่ว่า “การแก้แค้นและการตอบแทนเป็นหน้าที่ของเรา.” (พระบัญญัติ 32:35) นอกจากนั้น นะเฮมยาและคนของท่าน ‘สร้างกำแพงต่อ ๆ ไป.’ พวกเขาไม่ยอมให้ใครมาชักนำให้ไขว้เขว. ที่จริง “กำแพงทั้งสิ้นก็ต่อกันสูงครึ่งหนึ่งแล้วเพราะประชาชนมีน้ำใจที่จะทำงาน.” (นะเฮมยา 4:6, ฉบับแปลใหม่) ศัตรูของการนมัสการแท้ไม่สามารถหยุดงานสร้างนี้ได้! เราจะทำตามแบบอย่างของนะเฮมยาได้อย่างไร?
8. (ก) เราอาจเลียนแบบนะเฮมยาอย่างไรเมื่อผู้ต่อต้านกล่าวหาเราอย่างผิด ๆ? (ข) จงเล่าประสบการณ์ที่คุณมีหรือเคยได้ยินซึ่งแสดงว่าการไม่ตอบโต้เป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุม.
8 ปัจจุบัน คนที่ต่อต้านเราที่โรงเรียน, ที่ทำงาน, หรือแม้แต่ที่บ้านอาจเยาะเย้ยและกล่าวหาเรา. อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับการกล่าวหาผิด ๆ เช่นนั้นคือโดยใช้หลักการพระคัมภีร์ที่ว่า “มี . . . เวลานิ่งเงียบ.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 7, ล.ม.) ดังนั้น เช่นเดียวกับนะเฮมยา เราไม่โต้ตอบด้วยคำพูดเชือดเฉือน. (โรม 12:17) เราหมายพึ่งพระเจ้าในคำอธิษฐาน วางใจในพระองค์ผู้ทรงรับรองกับเราว่า “เราเองจะตอบแทน.” (โรม 12:19; 1 เปโตร 2:19, 20) ด้วยวิธีนั้น เราไม่ปล่อยให้ผู้ต่อต้านชักนำเราให้เขวจากงานฝ่ายวิญญาณที่ต้องทำให้สำเร็จในทุกวันนี้—การประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและการทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) แต่ละครั้งที่เราร่วมในงานประกาศและไม่ยอมให้การต่อต้านมาขัดขวาง เราแสดงน้ำใจซื่อสัตย์แบบที่นะเฮมยาแสดง.
‘เราจะฆ่าเจ้า’
9. ศัตรูต่อต้านนะเฮมยาอย่างไร และนะเฮมยาตอบโต้อย่างไร?
9 เมื่อผู้ต่อต้านการนมัสการแท้ในสมัยของนะเฮมยาได้ยินว่า “การซ่อมแซมกำแพงเยรูซาเล็มนั้นกำลังคืบหน้าต่อไป” พวกเขาก็หยิบดาบขึ้น “สู้รบกับเยรูซาเล็ม.” สำหรับชาวยิว สถานการณ์ดูเหมือนว่าจะไม่มีความหวัง. มีพวกซะมาเรียทางตอนเหนือ, พวกอัมโมนทางตะวันออก, พวกอาหรับทางใต้, และพวกอัชโดดทางตะวันตก. กรุงเยรูซาเลมถูกล้อม; ช่างก่อสร้างดูเหมือนว่าติดกับ! พวกเขาจะทำเช่นไร? นะเฮมยากล่าวว่า “เราทั้งหลายได้อ้อนวอนต่อพระเจ้าของเรา.” พวกศัตรูขู่ว่า “เราจะ . . . ฆ่าเขากับยับยั้งงานของเขา.” นะเฮมยาตอบโต้โดยมอบหน้าที่ป้องกันกรุงให้แก่ช่างก่อสร้าง “โดยมีดาบหอกและคันธนู.” ที่จริง ตามทัศนะของมนุษย์แล้ว ชาวยิวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้ไม่มีโอกาสรอดเลยในการต่อสู้กับกองกำลังศัตรูที่มีมากกว่ากันมาก แต่นะเฮมยากระตุ้นพวกเขาดังนี้: “อย่ากลัวเขาเลยจงระลึกถึงพระเจ้าผู้ใหญ่ยิ่งและน่าเกรงกลัว.”—นะเฮมยา 4:7-9, 11, 13, 14, ฉบับแปลใหม่.
10. (ก) อะไรทำให้เหตุการณ์กลับตาลปัตรในหมู่ศัตรูของนะเฮมยา? (ข) นะเฮมยาใช้มาตรการอะไร?
10 แต่แล้วเหตุการณ์ก็กลับตาลปัตร. พวกศัตรูเลิกโจมตี. เพราะเหตุใด? นะเฮมยารายงานว่า “พระเจ้าได้ทรงทำลายแผนงานของเขา.” แต่นะเฮมยาตระหนักดีว่าศัตรูยังคงเป็นภัยคุกคาม. ด้วยเหตุนั้น ท่านปรับวิธีการทำงานของช่างก่อสร้างอย่างฉลาดสุขุม. นับแต่นั้นมา แต่ละคน “มือหนึ่งทำงานอีกมือหนึ่งถืออาวุธไว้.” นะเฮมยายังมอบหมายหน้าที่ให้ชายคนหนึ่ง “เป่าเขาสัตว์” เตือนช่างก่อสร้างเมื่อมีข้าศึกมาโจมตี. ที่สำคัญที่สุด นะเฮมยารับรองคนของท่านว่า “พระเจ้าของเราทั้งหลายจะทรงต่อสู้เพื่อพวกเรา.” (นะเฮมยา 4:15-20, ฉบับแปลใหม่) เมื่อได้รับกำลังใจและพร้อมรับมือกับการรุกรานแล้ว ช่างก่อสร้างก็ทำงานต่อไป. เราอาจได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
11. อะไรทำให้คริสเตียนแท้สามารถยืนหยัดต้านทานความชั่วในดินแดนที่งานประกาศถูกสั่งห้าม และพวกเขาเอาชนะความชั่วด้วยความดีอย่างไร?
11 บางครั้ง คริสเตียนแท้เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรง. ที่จริง ในบางดินแดนคนชั่วร้ายที่ต่อต้านการนมัสการแท้รวมตัวกันเป็นกองกำลังศัตรูที่ใหญ่โต. ว่ากันตามแง่คิดของมนุษย์แล้ว เพื่อนร่วมความเชื่อของเราในดินแดนเหล่านั้นไม่มีโอกาสชนะเลย. อย่างไรก็ตาม พยานฯ เหล่านี้เชื่อมั่นว่า ‘พระเจ้าจะทรงต่อสู้เพื่อพวกเขา.’ ที่จริง คนที่ถูกข่มเหงเพราะเห็นแก่ความเชื่อบ่อยครั้งพบว่าพระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของตนและ “ทรงทำลายแผนงาน” ของศัตรูที่มีอำนาจมาก. แม้แต่ในประเทศที่งานราชอาณาจักรถูกสั่งห้าม คริสเตียนก็พบวิธีที่จะประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไป. เช่นเดียวกับช่างก่อสร้างในกรุงเยรูซาเลมปรับเปลี่ยนวิธีทำงานของตน พยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้ก็ปรับเปลี่ยนวิธีประกาศอย่างรอบคอบเมื่อถูกโจมตี. แน่นอน พวกเขาไม่ใช้อาวุธในการสู้รบ. (2 โกรินโธ 10:4) แม้แต่เมื่อถูกคุกคามด้วยความรุนแรงทางกายก็ไม่ทำให้พวกเขาหยุดทำงานประกาศ. (1 เปโตร 4:16) ตรงกันข้าม พี่น้องที่กล้าหาญเหล่านี้ “เอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.”
“ขอเชิญมาพบกัน”
12, 13. (ก) พวกผู้ต่อต้านนะเฮมยาใช้กลยุทธ์อะไร? (ข) เหตุใดนะเฮมยาปฏิเสธคำเชิญให้ไปพบกับพวกผู้ต่อต้าน?
12 หลังจากที่ศัตรูของนะเฮมยาตระหนักว่าการโจมตีอย่างเปิดเผยของตนล้มเหลว พวกเขาหันมาใช้วิธีการต่อต้านที่แยบยลกว่า. ที่จริง พวกเขาได้พยายามใช้แผนสามแผน. แผนดังกล่าวคืออะไร?
13 แผนแรก ศัตรูของนะเฮมยาพยายามหลอกลวงท่าน. พวกเขาบอกท่านว่า “ขอเชิญมาพบกันในชนบทแห่งหนึ่งในที่ราบโอโน.” ที่ราบโอโนตั้งอยู่ระหว่างกรุงเยรูซาเลมกับซะมาเรีย. ดังนั้น เหล่าศัตรูเสนอให้นะเฮมยามาพบกันคนละครึ่งทางเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างกัน. นะเฮมยาอาจคิดก็ได้ว่า ‘ข้อเสนอนี้ฟังดูดีทีเดียว. เจรจากันน่าจะดีกว่าสู้รบกัน.’ แต่นะเฮมยาปฏิเสธข้อเสนอนี้. ท่านอธิบายเหตุผลดังนี้: “เขาทั้งหลายเจตนาจะทำอันตรายข้าพเจ้า.” ท่านมองทะลุแผนการของพวกเขาและไม่ถูกหลอก. ท่านบอกกับพวกผู้ต่อต้านถึงสี่ครั้งว่า “ข้าพเจ้า . . . ลงมาไม่ได้ ทำไมจะให้งานหยุดเสียในขณะที่ข้าพเจ้าทิ้งงานลงมาหาท่าน?” ความพยายามของเหล่าศัตรูที่จะให้นะเฮมยาประนีประนอมล้มเหลว. ท่านจดจ่อต่อไปกับงานก่อสร้างของท่าน.—นะเฮมยา 6:1-4, ฉบับแปลใหม่.
14. นะเฮมยาแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อผู้ที่กล่าวหาท่านอย่างผิด ๆ?
14 แผนที่สอง ศัตรูของนะเฮมยาใช้วิธีแพร่ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง กล่าวหานะเฮมยาว่า “เจตนาจะกบฏ” ต่อกษัตริย์อาร์ทาเซอร์เซส. พวกเขาบอกนะเฮมยาอีกครั้งหนึ่งว่า “ขอเชิญท่านมาหารือด้วยกัน.” อีกครั้งหนึ่งที่นะเฮมยาปฏิเสธ เพราะท่านเข้าใจดีถึงความมุ่งหมายของศัตรู. นะเฮมยาอธิบายดังนี้: “เขาทั้งหลายต้องการที่จะให้เราตกใจคิดว่า ‘มือของเขาจะผละจากงานไปเสียและงานจะได้ไม่สำเร็จ.’ ” แต่คราวนี้ นะเฮมยาโต้แย้งคำกล่าวหาของศัตรู โดยกล่าวว่า “สิ่งที่ท่านกล่าวมานั้นเราไม่ได้กระทำกันเลย ท่านเสกสรรขึ้นตามใจของท่านเอง.” นอกจากนั้น นะเฮมยาขอการสนับสนุนจากพระยะโฮวา โดยอธิษฐานว่า “ขอพระองค์ทรงเสริมกำลังมือของข้าพระองค์.” ท่านไว้วางใจว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ท่านจะสามารถทำลายแผนการอันชั่วร้ายดังกล่าวและผลักดันโครงการก่อสร้างให้รุดหน้าต่อไป.—นะเฮมยา 6:5-9, ฉบับแปลใหม่.
15. ผู้พยากรณ์เท็จคนหนึ่งให้คำแนะนำอะไร และเหตุใดนะเฮมยาไม่ทำตามคำแนะนำนั้น?
15 แผนที่สาม ศัตรูของนะเฮมยาใช้ผู้ทรยศชาวอิสราเอลคนหนึ่ง ชื่อเชไมอาห์ (ซะมายา) เพื่อหาทางทำให้นะเฮมยาฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า. เชไมอาห์กล่าวกับนะเฮมยาว่า “ให้เราไปพบกันในพระนิเวศของพระเจ้าในพระวิหาร ให้เราปิดประตูพระวิหารเสีย เพราะเขาทั้งหลายจะมาฆ่าท่าน.” เชไมอาห์บอกว่านะเฮมยากำลังจะถูกสังหาร แต่ท่านสามารถรักษาชีวิตให้รอดได้โดยไปซ่อนตัวในพระวิหาร. แต่นะเฮมยาไม่ใช่ปุโรหิต. ท่านจะทำบาปหากหนีไปซ่อนตัวในพระนิเวศของพระเจ้า. ท่านจะฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าไหมในขณะที่พยายามรักษาชีวิตตัวเองให้รอด? นะเฮมยาตอบดังนี้: “คนอย่างข้าพเจ้าจะเข้าไปอยู่ในพระวิหารและมีชีวิตอยู่ได้หรือ? ข้าพเจ้าไม่ไป!” เหตุใดนะเฮมยาไม่ติดกับที่วางไว้ดักท่าน? เพราะท่านทราบว่าแม้เชไมอาห์เป็นเพื่อนร่วมชาติชาวอิสราเอล แต่ “พระเจ้ามิได้ทรงใช้เขา.” ที่จริง ผู้พยากรณ์แท้จะไม่มีทางแนะนำท่านให้ฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า. อีกครั้งหนึ่ง นะเฮมยาไม่ยอมให้ผู้ต่อต้านที่ชั่วร้ายเอาชนะท่าน. ไม่นานหลังจากนั้น ท่านสามารถรายงานว่า “กำแพงจึงสำเร็จในวันที่ยี่สิบห้าเดือนเอลูลในห้าสิบสองวัน.”—นะเฮมยา 6:10-15; อาฤธโม 1:51; 18:7, ฉบับแปลใหม่.
16. (ก) เราควรรับมืออย่างไรกับคนที่ทำทีเป็นเพื่อน, ผู้กล่าวหาเท็จ, และพี่น้องจอมปลอม? (ข) คุณแสดงอย่างไรว่าคุณไม่ยอมประนีประนอมความเชื่อของคุณที่บ้าน, ที่โรงเรียน, หรือที่ทำงาน?
16 เช่นเดียวกับนะเฮมยา เราอาจเผชิญหน้ากับผู้ต่อต้านที่มาในรูปของคนที่ทำทีเป็นเพื่อน, ผู้กล่าวหาเท็จ, และพี่น้องจอมปลอม. บางคนอาจเชิญเราให้มา “พบกันครึ่งทาง” กล่าวคือชวนเราให้ประนีประนอม. พวกเขาอาจพยายามทำให้เราเชื่อว่าหากเรารับใช้พระยะโฮวาด้วยความกระตือรือร้นที่น้อยลงบ้างเล็กน้อย เราก็สามารถมุ่งติดตามเป้าหมายฝ่ายโลกได้ในเวลาเดียวกัน. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราชอาณาจักรของพระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา เราจึงไม่ยอมประนีประนอม. (มัดธาย 6:33; ลูกา 9:57-62) ผู้ต่อต้านยังแพร่คำกล่าวหาเท็จใส่ความเราด้วย. ในบางดินแดน เราถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามรัฐ เช่นเดียวกับที่นะเฮมยาถูกกล่าวหาว่าก่อกบฏต่อกษัตริย์. ข้อกล่าวหาบางอย่างถูกหักล้างได้ในชั้นศาล. แต่ไม่ว่าผลในแต่ละสถานการณ์เป็นเช่นไร เราอธิษฐานด้วยความมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะทรงชี้นำเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นไปตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (ฟิลิปปอย 1:7) การต่อต้านอาจมาจากคนที่เสแสร้งว่ารับใช้พระยะโฮวาด้วย. เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติชาวยิวที่พยายามชักชวนนะเฮมยาให้ฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าเพื่อเอาชีวิตรอด อดีตพยานฯ ที่กลายเป็นผู้ออกหากอาจพยายามชักชวนเราให้ประนีประนอมในทางใดทางหนึ่ง. แต่เราปฏิเสธผู้ออกหากเพราะเราทราบว่าชีวิตเราจะได้รับการช่วยให้รอดไม่ใช่โดยการฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า หากแต่โดยการรักษากฎหมายของพระองค์! (1 โยฮัน 4:1) ใช่แล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเราสามารถเอาชนะความชั่วไม่ว่าจะในรูปใดก็ตาม.
ประกาศข่าวดีแม้เผชิญกับความชั่ว
17, 18. (ก) ซาตานและตัวแทนของมันพยายามจะทำอะไรให้สำเร็จ? (ข) คุณตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร และเพราะเหตุใด?
17 พระคำของพระเจ้ากล่าวเกี่ยวกับพี่น้องที่ได้รับการเจิมของพระคริสต์ว่า “เขาเหล่านั้นได้มีชัยชนะแก่ [ซาตาน] . . . โดยคำพยานของตนเอง.” (วิวรณ์ 12:11) ด้วยเหตุนั้น มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงระหว่างการเอาชนะซาตาน ต้นกำเนิดแห่งความชั่ว กับการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. ไม่แปลกเลยที่ซาตานโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งต่อทั้งชนที่เหลือผู้ถูกเจิมและ “ชนฝูงใหญ่” ด้วยการปลุกเร้าให้มีการต่อต้าน!—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; 12:17.
18 ดังที่เราได้เห็นแล้ว การต่อต้านอาจมาในรูปการใช้คำพูดโจมตี หรือการขู่คุกคามด้วยความรุนแรงทางกาย หรือในรูปอื่นที่แยบยลกว่า. ไม่ว่ากรณีใด เป้าหมายของซาตานยังคงเป็นเช่นเดิมเสมอ คือพยายามจะระงับงานประกาศ. อย่างไรก็ตาม มันจะล้มเหลวอย่างเจ็บปวด เพราะด้วยการทำตามแบบอย่างของนะเฮมยาในสมัยโบราณ ประชาชนของพระเจ้าตั้งใจแน่วแน่จะ “เอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” พวกเขาจะทำอย่างนั้นด้วยการประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไปจนกว่าพระยะโฮวาจะตรัสว่างานนี้เสร็จแล้ว!—มาระโก 13:10; โรม 8:31; ฟิลิปปอย 1:27, 28.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อจะรู้ภูมิหลังของเหตุการณ์เหล่านี้ โปรดอ่านนะเฮมยา 1:1-4; 2:1-6, 9-20; 4:1-23; 6:1-15.
คุณจำได้ไหม?
• ผู้รับใช้พระเจ้าเผชิญกับการต่อต้านเช่นไรในสมัยอดีตและคริสเตียนเผชิญกับการต่อต้านเช่นไรในทุกวันนี้?
• เป้าหมายหลักของศัตรูของนะเฮมยาคืออะไร และเป้าหมายของศัตรูของพระเจ้าในทุกวันนี้คืออะไร?
• เราในปัจจุบันเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไปอย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 29]
บทเรียนที่ได้จากพระธรรมนะเฮมยา
ผู้รับใช้ของพระเจ้าเผชิญกับ
• การเยาะเย้ย
• การขู่คุกคาม
• การหลอกลวง
คนที่ถูกใช้ให้ล่อลวงเราอาจได้แก่
• คนที่ทำทีเป็นเพื่อน
• ผู้กล่าวหาเท็จ
• พี่น้องจอมปลอม
ผู้รับใช้พระเจ้าเอาชนะความชั่วโดย
• ยึดมั่นอยู่กับงานที่พระเจ้าทรงมอบหมาย
[ภาพหน้า 27]
นะเฮมยาและเพื่อนร่วมงานสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเลมขึ้นใหม่แม้เผชิญ การต่อต้านอย่างรุนแรง
[ภาพหน้า 31]
คริสเตียนแท้ประกาศข่าวดีอย่างไม่หวั่นเกรง