“สติปัญญาเป็นเครื่องปกป้อง”
“ที่จะได้ปัญญาย่อมประเสริฐมากกว่าได้ทองคำมากนัก . . . ที่จะเลือกเอาความเข้าใจก็ดีกว่าที่จะเลือกเอาเงิน” สุภาษิต 16:15ข, 16 กล่าว. เหตุใดสติปัญญาจึงมีค่ามากถึงเพียงนี้? เนื่องจาก “สติปัญญาเป็นเครื่องปกป้องกันฉันใด, เงินก็เป็นเครื่องปกป้องกันฉันนั้น; แต่ความประเสริฐซึ่งมีอยู่ในความรู้นั้นคือมีปัญญารู้รักษาชีวิตของเจ้าของความรู้ [“ปัญญา,” ล.ม.] นั้นให้รอด.” (ท่านผู้ประกาศ 7:12) แต่สติปัญญาจะช่วยรักษาชีวิตของเจ้าของให้รอดอย่างไร?
การได้รับสติปัญญาจากพระเจ้า โดยการรับเอาความรู้ถ่องแท้จากคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้าและประพฤติสอดคล้องกับความรู้นั้น จะช่วยเราให้ดำเนินในแนวทางที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย. (สุภาษิต 2:10-12) กษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณกล่าวว่า “ทางหลวงของคนชอบธรรมหันออกจากความชั่วร้าย บุคคลผู้ระแวดระวังทางของตนก็สงวนชีวิตของเขาไว้.” (สุภาษิต 16:17, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว สติปัญญาช่วยผู้เป็นเจ้าของให้พ้นจากทางชั่วและปกป้องชีวิตของพวกเขา! ถ้อยคำอันฉลาดสุขุมและกระชับได้ใจความที่พระธรรมสุภาษิต 16:16-33 แสดงให้เห็นว่าสติปัญญาของพระเจ้าส่งผลดีต่ออุปนิสัย, คำพูด, และการกระทำของเรา.a
“การที่จะมีใจถ่อมลง”
มีการพรรณนาว่าสติปัญญาซึ่งเป็นประหนึ่งบุคคลได้กล่าวถ้อยคำนี้: “ความเย่อหยิ่ง, ความยโส . . . เราเกลียดนัก.” (สุภาษิต 8:13) ความยโสและสติปัญญาเป็นสิ่งที่ต่างกันสุดขั้ว. เราต้องประพฤติอย่างมีสติปัญญาและระวังที่จะไม่พัฒนานิสัยหยิ่งยโสและการถือตัว. เราควรระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประสบความสำเร็จในบางด้านของชีวิตหรือได้รับตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียน.
สุภาษิต 16:18 เตือนว่า “ความเย่อหยิ่งนำไปถึงความพินาศ, และจิตต์ใจที่จองหองนำไปถึงการล้มลง.” ขอพิจารณาความพินาศครั้งใหญ่ที่สุดในเอกภพ—ความตกต่ำของบุตรกายวิญญาณที่สมบูรณ์ของพระเจ้าผู้ซึ่งทำให้ตนเองกลายเป็นซาตานพญามาร. (เยเนซิศ 3:1-5; วิวรณ์ 12:9) ซาตานแสดงความเย่อหยิ่งมิใช่หรือ ก่อนที่มันจะประสบความพินาศ? คัมภีร์ไบเบิลชี้ถึงเรื่องนี้เมื่อกล่าวว่า ไม่ควรแต่งตั้งคนที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นผู้เชื่อถือให้ทำหน้าที่ผู้ดูแลในประชาคมคริสเตียนเพราะ “เกรงว่าหัวจะสูง, แล้วก็จะเลยล้มไปถูกปรับโทษเหมือนอย่างมารนั้น.” (1 ติโมเธียว 3:1, 2, 6) นับเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่จะระมัดระวังไม่ส่งเสริมให้ผู้อื่นเป็นคนหยิ่งทะนง รวมทั้งไม่ปล่อยให้น้ำใจเช่นนั้นพัฒนาขึ้นในตัวเราด้วย!
สุภาษิต 16:19 กล่าวว่า “การที่จะมีใจถ่อมลงและอยู่กับคนจนก็ดีกว่าที่จะได้ส่วนแบ่งจากการปล้นและอยู่กับคนหยิ่งจองหอง.” นับเป็นคำกระตุ้นเตือนที่ฉลาดสุขุมซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลนโบราณ. ด้วยความหยิ่งทะนง กษัตริย์ตั้งรูปเคารพขนาดใหญ่อันหนึ่งขึ้นบนที่ราบดูรา บางทีอาจเป็นรูปปั้นตัวเขาเอง. รูปปั้นนี้อาจตั้งอยู่บนฐานที่สูงมากจึงทำให้สูงถึง 27 เมตร. (ดานิเอล 3:1) อนุสาวรีย์ขนาดมหึมานี้ถูกตั้งขึ้นโดยมุ่งหมายจะให้เป็นสัญลักษณ์อันน่าประทับใจแห่งจักรวรรดิของนะบูคัดเนซัร. ขณะที่สิ่งต่าง ๆ ที่ใหญ่โตและสูงสง่าไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นนี้, เสาหิน, หอคอยสูง, และตึกระฟ้าต่าง ๆ อาจทำให้มนุษย์รู้สึกประทับใจ แต่ไม่เป็นเช่นนั้นกับพระเจ้า. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “พระยะโฮวาผู้เป็นใหญ่ยิ่ง, พระองค์ยังทรงระลึกถึงคนต่ำต้อย; แต่คนจองหองนั้นพระองค์ทรงรู้จักแต่เผิน ๆ.” (บทเพลงสรรเสริญ 138:6) ที่จริง “สิ่งที่ถือว่าสูงส่งท่ามกลางมนุษย์คือสิ่งน่าสะอิดสะเอียนในสายพระเนตรพระเจ้า.” (ลูกา 16:15, ล.ม.) นับว่าดีกว่าที่เราจะ “ถ่อมใจลง” แทนที่จะ “คิดใฝ่สูง.”—โรม 12:16.
พูดด้วย “ความหยั่งเห็นเข้าใจ” และ “แรงโน้มน้าวใจ”
การได้รับสติปัญญาส่งผลเช่นไรต่อคำพูดของเรา? กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดบอกเราว่า “บุคคลผู้เชื่อฟังพระคำก็จะได้ดี; และผู้หนึ่งผู้ใดที่วางใจในพระยะโฮวาเขาก็เป็นสุข. คนมีใจประกอบด้วยปัญญาจะได้ชื่อว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด; และริมฝีปากที่อ่อนหวานก็ทวีอิทธิพลในการสอน. ความเข้าใจเป็นดุจบ่อน้ำพุแห่งชีวิตสำหรับคนที่มีแล้ว; แต่การเตือนของคนโฉดเขลาคือความโฉดของเขา. ใจของคนมีปัญญาก็เป็นที่สั่งสอนปากของเขา, และเพิ่มเติมอิทธิพลให้แก่ริมฝีปากของเขา [“เป็นเหตุให้ปากของเขาสำแดงความหยั่งเห็นเข้าใจ และเพิ่มแรงโน้มน้าวใจให้แก่ริมฝีปากของเขา,” ล.ม.].”—สุภาษิต 16:20-23.
สติปัญญาช่วยเราพูดด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจและโน้มน้าวใจ. เพราะเหตุใด? เพราะคนที่มีสติปัญญาพยายามที่จะมองเรื่องต่าง ๆ ในแง่ดีและ “วางใจในพระยะโฮวา.” เมื่อเราพยายามมองหาส่วนดีในตัวผู้อื่น เราคงจะพูดชมเชยเขามากกว่า. แทนที่จะพูดจาอย่างขาดความกรุณาและโต้เถียง คำพูดของเราควรอ่อนหวานและโน้มน้าวใจ. การมองลึกเข้าไปในสภาพการณ์ของผู้อื่นจะช่วยเราให้เข้าใจว่าพวกเขาอาจกำลังเผชิญความยากลำบากขนาดไหนและพวกเขากำลังรับมือเช่นไรบ้าง.
คำพูดที่อาศัยสติปัญญายังมีความสำคัญอย่างยิ่งด้วยเมื่อเราเข้าร่วมในงานประกาศราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก. เมื่อเราสอนพระคำของพระเจ้าแก่คนอื่น วัตถุประสงค์ของเราไม่ใช่แค่การถ่ายทอดข้อมูลจากพระคัมภีร์เท่านั้น. เป้าหมายของเราคือเพื่อเข้าถึงหัวใจของเขา. เราต้องพูดอย่างโน้มน้าวใจ. อัครสาวกเปาโลกระตุ้นติโมเธียวเพื่อนร่วมงานของท่านให้ดำเนินต่อไปในสิ่งที่ท่านถูก “โน้มน้าวใจให้เชื่อ.”—2 ติโมเธียว 3:14, 15, ล.ม.
คำภาษากรีกสำหรับคำว่า “โน้มน้าว” หมายถึง “การทำให้เปลี่ยนความคิดโดยแรงชักจูงของเหตุผลหรือการไตร่ตรองทางศีลธรรม” พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ของดับเบิลยู. อี. ไวน์กล่าว. การเสนอเหตุผลที่ทำให้มั่นใจซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนความคิดผู้ฟัง เราต้องหยั่งเห็นเข้าใจความคิด, ความสนใจ, สภาพการณ์, และภูมิหลังของเขา. เราจะมีความหยั่งเห็นเข้าใจเช่นนั้นได้อย่างไร? อัครสาวกยาโกโบให้คำตอบดังนี้: “ให้ทุกคนว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด.” (ยาโกโบ 1:19) โดยตั้งคำถามกับผู้ฟังและตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด เราก็จะรู้สิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขาได้.
อัครสาวกเปาโลมีความสามารถที่โดดเด่นในเรื่องการโน้มน้าวใจ. (กิจการ 18:4) แม้แต่กับเดเมเตรียว ช่างเงินซึ่งเป็นศัตรูก็ยังยอมรับว่า “ไม่ใช่เฉพาะในเมืองเอเฟโซเมืองเดียว, แต่เกือบตลอดทั่วมณฑลอาเซีย เปาโลคนนี้ได้เกลี้ยกล่อมใจคนเป็นอันมากให้เลิกทางเก่าเสีย.” (กิจการ 19:26) เปาโลอ้างว่าการบังเกิดผลในงานรับใช้เป็นเพราะความสามารถของท่านเองไหม? ไม่เลย. ท่านถือว่างานประกาศที่ท่านทำเป็นการ “แสดงพระวิญญาณและพระเดชานุภาพ [ของพระเจ้า].” (1 โกรินโธ 2:4, 5) เราก็ได้รับการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาเช่นกัน. เนื่องจากเราวางใจในพระยะโฮวา เราจึงมั่นใจในการช่วยเหลือจากพระองค์เมื่อเราพยายามพูดด้วยความหยั่งเห็นเข้าใจและโน้มน้าวใจขณะทำงานรับใช้.
ไม่แปลกเลยที่ “คนมีใจประกอบด้วยปัญญา” จะถูกเรียกว่า “คนเฉลียวฉลาด.” (สุภาษิต 16:21) ใช่แล้ว ความหยั่งเห็นเข้าใจเป็น “บ่อน้ำพุแห่งชีวิต” ของผู้มีความหยั่งเห็นเข้าใจ. แต่จะว่าอย่างไรกับคนโฉดเขลา? พวกเขา “ชังปัญญาและคำเตือนสอน.” (สุภาษิต 1:7) คนเช่นนั้นจะได้รับอะไรซึ่งเป็นผลจากการปฏิเสธการตีสอนจากพระยะโฮวา? ดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ซะโลโมกล่าวว่า “ความโง่เป็นการลงโทษแก่คนโง่.” (สุภาษิต 16:22, ฉบับแปลใหม่) พวกเขาได้รับการตีสอนเพิ่มอีก ซึ่งมักจะมาในรูปการลงโทษอย่างรุนแรง. นอกจากนี้ คนโฉดเขลาอาจทำให้ตนเองลำบาก, อับอาย, ติดโรค, และแม้แต่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร.
เพื่อชี้ให้เห็นอีกว่าสติปัญญาส่งผลดีต่อคำพูดของเรา กษัตริย์แห่งอิสราเอลกล่าวว่า “ถ้อยคำที่เพราะหูเป็นเหมือนรวงผึ้ง, คือมีรสหวานแก่จิตต์ใจ, และทำให้กะดูกสมบูรณ์ขึ้น.” (สุภาษิต 16:24) เช่นเดียวกับน้ำผึ้งที่มีรสหวานและทำให้คนที่หิวรู้สึกสดชื่นอย่างรวดเร็ว คำพูดที่ไพเราะก็ให้กำลังใจและทำให้รู้สึกสดชื่น. นอกจากนั้น น้ำผึ้งยังมีคุณสมบัติในการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพ อีกทั้งช่วยให้มีสุขภาพดี. เป็นเช่นนั้นด้วยกับถ้อยคำที่ดีงาม ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณ.—สุภาษิต 24:13, 14.
จงระวัง ‘ทางที่ดูเหมือนเป็นทางถูก’
ซะโลโมกล่าวว่า “มีทางหนึ่งซึ่งดูเหมือนบางคนเห็นว่าเป็นทางถูก; แต่ปลายทางนั้นเป็นทางแห่งความตาย.” (สุภาษิต 16:25) นี่เป็นคำเตือนเกี่ยวกับการหาเหตุผลแบบผิด ๆ และการติดตามแนวทางที่สวนทางกับกฎหมายของพระเจ้า. แนวทางบางอย่างอาจดูเหมือนว่าถูกต้องในสายตามนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ แต่แท้จริงแล้วอาจขัดกับหลักการอันชอบธรรมในพระคำของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น ซาตานอาจส่งเสริมการหลอกลวงรูปแบบดังกล่าวเพื่อที่คนเราจะถูกกระตุ้นให้เดินในแนวทางที่เขาเชื่อว่าถูก ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วนำไปสู่ความตาย.
สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันการหลอกตนเองก็คือ การมีหัวใจที่ฉลาดสุขุมและเข้าใจและมีสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกอบรมโดยความรู้ในพระคำของพระเจ้า. เมื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางศีลธรรมหรือการนมัสการหรือเรื่องอื่น ๆ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เราหลอกตัวเองก็คือให้มาตรฐานของพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกและผิดชี้นำเรา.
“ความหิวของคนงานทำงานให้เขา”
กษัตริย์ผู้ชาญฉลาดกล่าวต่อไปว่า “ความหิวของคนงานทำงานให้เขาเพราะปากของเขากระตุ้นเขาไป.” (สุภาษิต 16:26, ฉบับแปลใหม่) ซะโลโมกล่าวว่าความอยากอาหารของคนงาน “ทำงานให้เขา” เนื่องจากความหิว “กระตุ้นเขา.” ความปรารถนาตามธรรมชาติ เช่น ความหิว สามารถกระตุ้นเราให้เป็นคนที่เกิดผล. ความปรารถนาเช่นนั้นก่อประโยชน์. แต่จะว่าอย่างไรถ้าเราปล่อยให้ความปรารถนาที่ถูกต้องนั้นมีมากเกินไปจนกลายเป็นความโลภ? ผลก็เป็นเช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกองไฟที่ใช้หุงต้มกลายเป็นไฟป่าที่เผาผลาญป่าจนวอดวาย. ความโลภคือความปรารถนาที่ไม่มีการเหนี่ยวรั้งและก่อความเสียหาย. โดยตระหนักถึงอันตรายของเรื่องนี้ คนฉลาดควบคุมกระทั่งความปรารถนาที่ถูกต้อง.
อย่า “ไปในทางที่ไม่ดี”
คำพูดที่ออกจากปากของเราอาจก่อผลเสียหายเช่นเดียวกับไฟที่ลุกไหม้. ในการพรรณนาถึงผลเสียหายของการขุดคุ้ยข้อบกพร่องของคนอื่นและนำไปพูดให้คนอื่น ๆ รู้ ซะโลโมกล่าวว่า “คนผู้ไร้ค่าคุ้ยเขี่ยแต่การผิดร้ายขึ้นมา; และในริมฝีปากของเขานั้นเป็นเปลวไฟ. คนดื้อหลงผิดหว่านความชิงดีให้แพร่หลาย; และคนมักซุบซิบนินทาก็กระทำให้มิตรสนิทแตกแยกกัน.”—สุภาษิต 16:27, 28.
คนที่พยายามทำลายชื่อเสียงของเพื่อนเป็นคนที่ “ไร้ค่า.” เราควรพยายามมองหาส่วนดีในตัวผู้อื่นและพูดในสิ่งที่ทำให้คนอื่นนับถือเขา. และจะว่าอย่างไรกับการฟังคนที่แพร่คำซุบซิบนินทาที่ก่อความเสียหาย? คำพูดเช่นนั้นอาจกระตุ้นให้เกิดความระแวงสงสัยที่ไม่มีหลักฐาน ก่อให้เกิดความบาดหมางในหมู่เพื่อนและความแตกแยกในประชาคม. สติปัญญาจะกระตุ้นเราไม่ให้ฟังคนเช่นนั้น.
ในการเตือนเกี่ยวกับพลังล่อลวงที่สามารถชักนำคนเราไปในทางผิด ซะโลโมกล่าวว่า “คนโหดร้ายล่อลวงเพื่อนบ้านของตน, และพาเขาไปในทางที่ไม่ดี. คนที่ปิดตา [“กะพริบตา,” ล.ม.] ของตนเสียก็เพื่อคิดกะทำการที่หลงผิด; คนที่เม้มริมฝีปากของตนไว้ก็เพื่อทำการชั่วให้สำเร็จ.”—สุภาษิต 16:29, 30.
ความรุนแรงจะสำแดงพลังล่อลวงต่อผู้รับใช้แท้ได้ไหม? หลายคนในทุกวันนี้ถูกล่อลวงให้ ‘คิดกะการที่หลงผิด.’ พวกเขาสนับสนุนหรือใช้ความรุนแรง. เราอาจรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในความรุนแรงโดยตรง. แต่จะว่าอย่างไรกับการถูกชักนำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยใช้วิธีการที่แฝงเร้น? หลายล้านคนถูกล่อใจให้เฝ้าชมความบันเทิง และกีฬาที่ยกย่องความรุนแรงมิใช่หรือ? พระคัมภีร์มีคำเตือนอย่างชัดเจนว่า “จงดำเนินกับคนมีปัญญา; แต่การคบค้ากับคนโฉดเขลาจะได้รับความเจ็บแสบ.” (สุภาษิต 13:20) สติปัญญาของพระเจ้าให้การปกป้องจริง ๆ!
อาจกล่าวอย่างไรกับคนที่ใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่กับผู้มีสติปัญญาและความเข้าใจและ ‘ไม่หลงไปในทางที่ไม่ดี’? การใช้ชีวิตในแนวทางที่ชอบธรรมน่าชมเชยในสายพระเนตรของพระเจ้าและสมควรได้รับความนับถือ. สุภาษิต 16:31 กล่าวว่า “ผมหงอกบนศีรษะเป็นเหมือนมงกุฎแห่งสง่าราศีถ้าใจอยู่ในที่ชอบธรรม.”
ในอีกด้านหนึ่ง ความโกรธที่ไม่มีการควบคุมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง. คายิน บุตรชายคนแรกของอาดามกับฮาวา “โกรธแค้น” เฮเบลน้องชายและ “ลุกขึ้นฆ่าเฮเบลน้องชายของตน.” (เยเนซิศ 4:1, 2, 5, 8) แม้เราอาจมีเหตุผลที่จะโกรธในบางครั้ง แต่เราต้องระวังที่จะไม่ระบายความโกรธของเราอย่างที่ไม่มีการควบคุม. สุภาษิต 16:32 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวชัดเจนว่า “บุคคลผู้โกรธช้าก็ดีกว่าคนมีกำลังมาก และบุคคลผู้ปกครองจิตใจของตนเองก็ดีกว่าผู้ที่ตีเมืองได้.” ความโกรธอย่างที่ไม่มีการควบคุมไม่ได้เป็นเครื่องหมายของทั้งความเข้มแข็งหรือความดีงาม. ความโกรธเช่นนั้นเป็นความอ่อนแอที่อาจ ‘พาคนเราไปในทางที่ไม่ดี.’
เมื่อ ‘การตัดสินมาจากพระยะโฮวาทั้งสิ้น’
กษัตริย์แห่งอิสราเอลตรัสว่า “ฉลากนั้นเขาทอดลงที่ตัก แต่การตัดสินมาจากพระเจ้าทั้งสิ้น.” (สุภาษิต 16:33, ฉบับแปลใหม่) ในสมัยอิสราเอลโบราณ บางครั้งพระยะโฮวาทรงใช้ฉลากเพื่อให้ผู้คนทราบพระประสงค์ของพระองค์. ฉลากอาจเป็นก้อนหินกลมเล็ก ๆ หรือแผ่นไม้หรือแผ่นหินเล็ก ๆ. ตอนแรก มีการอ้อนวอนขอให้พระยะโฮวาทรงตัดสินพระทัยในเรื่องหนึ่ง. ต่อมา มีการซุกฉลากเข้าในชายเสื้อ แล้วก็ดึงออกมา. เป็นที่ยอมรับกันว่าผลที่ได้มาจากพระเจ้า.
พระยะโฮวาไม่ใช้ฉลากเพื่อให้ประชาชนรู้พระประสงค์ของพระองค์อีกต่อไป. พระองค์ทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์โดยทางคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. ความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับสิ่งที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ไบเบิลคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้รับสติปัญญาจากพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ เราไม่ควรให้วันหนึ่งผ่านไปโดยไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ.—บทเพลงสรรเสริญ 1:1, 2; มัดธาย 4:4.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาสุภาษิต 16:1-15 โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 พฤษภาคม 2007 หน้า 17-20.
[ภาพหน้า 8]
เหตุใดสติปัญญาจึงดีกว่าทองคำมากนัก?
[ภาพหน้า 9]
อะไรช่วยเพิ่มแรงโน้มน้าวใจให้แก่ริมฝีปากของเราในขณะทำงานเผยแพร่?
[ภาพหน้า 10]
“คนผู้ไร้ค่าคุ้ยเขี่ยแต่การผิดร้ายขึ้นมา”
[ภาพหน้า 11]
ความโกรธที่ไม่มีการควบคุมอาจพาคนเรา “ไปในทางที่ไม่ดี”
[ภาพหน้า 12]
ความรุนแรงมีพลังล่อลวง