พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมโฮเซอา
การนมัสการแท้แทบจะสูญไปจากอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลทางเหนือ. ภายใต้การปกครองของยาราบะอามที่ 2 อิสราเอลมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ แต่แล้วก็เสื่อมลงหลังจากกษัตริย์สิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน. สิ่งที่ตามมาคือช่วงเวลาที่ปั่นป่วนและไร้เสถียรภาพทางการเมือง. กษัตริย์สี่ในหกองค์ที่ปกครองต่อมาถูกลอบปลงพระชนม์. (2 กษัตริย์ 14:29; 15:8-30; 17:1-6) ระยะเวลา 59 ปีที่โฮเซอาทำหน้าที่ผู้พยากรณ์ ซึ่งเริ่มในปี 804 ก่อนสากลศักราช คาบเกี่ยวมาถึงช่วงที่ปั่นป่วนวุ่นวายนี้.
ความรู้สึกที่พระยะโฮวาทรงมีต่อชาติอิสราเอลที่ดื้อด้านแสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดโดยสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตสมรสของโฮเซอา. การเปิดโปงความผิดของอิสราเอลและเปิดเผยการพิพากษาตามคำพยากรณ์ต่ออาณาจักรนี้และอาณาจักรยูดาห์คือเรื่องในข่าวสารของโฮเซอา. โฮเซอาเขียนเรื่องราวเหล่านี้ในพระธรรมที่ใช้ชื่อของท่านเอง โดยใช้ถ้อยคำที่นุ่มนวลและสะเทือนอารมณ์กับภาษาที่มีพลังและทำให้เห็นภาพ. เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ ข่าวสารในพระธรรมนี้จึงมีชีวิตและทรงพลัง.—เฮ็บราย 4:12.
‘จงรับหญิงผู้มีนิสัยนอกใจสามีมาเป็นภรรยา’
พระยะโฮวาตรัสกับโฮเซอาว่า “จงไปรับหญิงผู้มีนิสัยนอกใจสามีมาเป็นภรรยา.” (โฮเซอา 1:2) โฮเซอาก็เชื่อฟังและมีบุตรชายคนหนึ่งกับนางโฆเมร. บุตรอีกสองคนที่นางให้กำเนิดดูเหมือนว่าเป็นบุตรนอกกฎหมาย. ชื่อของพวกเขาคือ โล-รูฮามาและโล-อัมมี ซึ่งความหมายของชื่อทั้งสองชี้ถึงการที่พระยะโฮวาทรงงดเว้นพระเมตตาต่ออิสราเอลและปฏิเสธประชาชนที่ไม่ภักดีของพระองค์.
จริง ๆ แล้วพระยะโฮวาทรงรู้สึกเช่นไรต่อประชาชนของพระองค์ที่กบฏ? พระองค์ทรงบอกโฮเซอาว่า “จงไปสมานรักกับหญิงที่นอกใจสามีและมักมากในการล่วงประเวณีอีก, ดุจดังพระยะโฮวาสมานรักพวกยิศราเอล, ถึงแม้ว่าเขาได้หลงไปติดต่อกับพระอื่น ๆ.”—โฮเซอา 3:1.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:1—ทำไมโฮเซอากล่าวถึงกษัตริย์สี่องค์ที่ปกครองยูดาห์ในช่วงที่ท่านทำงานรับใช้ แต่เอ่ยนามผู้ปกครองอิสราเอลเพียงองค์เดียว? ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายจากดาวิดเท่านั้นจึงจะถูกนับว่าเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมแห่งประชาชนผู้ถูกเลือกสรรของพระเจ้า. กษัตริย์ของอาณาจักรฝ่ายเหนือไม่ได้สืบเชื้อสายจากดาวิดเหมือนกับกษัตริย์ของยูดาห์.
1:2-9—โฮเซอาได้รับหญิงที่ผิดประเวณีมาเป็นภรรยาจริง ๆ ไหม? ใช่ โฮเซอาได้แต่งงานจริงกับผู้หญิงที่ต่อมาภายหลังได้เล่นชู้. ผู้พยากรณ์ไม่ได้กล่าวอะไรที่ชี้ว่าสิ่งที่ท่านเล่าเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของท่านเป็นเพียงความฝันหรือนิมิต.
1:7—เมื่อไรที่ยูดาห์ได้รับพระเมตตาและการช่วยให้รอด? สิ่งนี้สำเร็จเป็นจริงในปี 732 ก่อน ส.ศ. ในสมัยของกษัตริย์ฮิศคียา. ครั้งนั้น พระยะโฮวาทรงยุติการคุกคามของอัสซีเรียต่อกรุงเยรูซาเลมโดยให้ทูตสวรรค์องค์หนึ่งสังหารทหารของศัตรู 185,000 คนภายในคืนเดียว. (2 กษัตริย์ 19:34, 35, ฉบับแปลใหม่) โดยวิธีนี้ พระยะโฮวาได้ทรงช่วยยูดาห์ให้รอด โดยไม่ต้องใช้ “ธนู, หรือดาบ, หรือการสู้รบ, หรือม้า, หรือทหารม้า” แต่โดยทูตสวรรค์องค์หนึ่ง.
1:10, 11 (ฉบับแปลใหม่)—เนื่องจากอาณาจักรอิสราเอลฝ่ายเหนือล่มสลายในปี 740 ก่อน ส.ศ. เป็นไปได้อย่างไรที่พงศ์พันธุ์ยูดาห์กับพงศ์พันธุ์อิสราเอล “จะรวมเข้าด้วยกัน”? คนจำนวนมากจากอาณาจักรทางเหนือได้เข้าไปยังยูดาห์ก่อนที่พลเมืองในแผ่นดินยูดาห์จะถูกจับไปเป็นเชลยที่บาบิโลนในปี 607 ก่อน ส.ศ. (2 โครนิกา 11:13-17; 30:6-12, 18-20, 25) เมื่อเชลยชาวยิวเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในปี 537 ก่อน ส.ศ. ลูกหลานของผู้ที่มาจากอาณาจักรทางเหนือก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย.—เอษรา 2:70.
2:21-23 (ล.ม.)—คำตรัสของพระยะโฮวาที่ว่า “เราจะหว่าน [ยิศเรล] เหมือนหว่านเมล็ดพืชลงบนแผ่นดินเพื่อเรา และเราจะสำแดงความเมตตาต่อนาง” เป็นการพยากรณ์ถึงอะไร? ชื่อบุตรชายคนแรกของโฮเซอากับโฆเมรคือยิศเรล. (โฮเซอา 1:2-4) ชื่อนั้นหมายความว่า “พระเจ้าจะทรงหว่านเมล็ด” เป็นการพยากรณ์ถึงการที่พระยะโฮวาจะรวบรวมชนที่เหลือที่ซื่อสัตย์ในปี 537 ก่อน ส.ศ. และจะหว่านพวกเขาลงในยูดาห์เหมือนหว่านเมล็ด. แผ่นดินที่ร้างเปล่ามานาน 70 ปี บัดนี้จำต้องผลิตธัญพืช, เหล้าองุ่นหวาน, และน้ำมัน. ในเชิงกวี คำพยากรณ์นี้กล่าวว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้จะอ้อนวอนแผ่นดินให้ปล่อยสารอาหารออกมา, และแผ่นดินก็จะขอฝนจากฟ้าสวรรค์. ส่วนฟ้าสวรรค์ก็ทูลวิงวอนพระเจ้าให้ประทานเมฆฝน. ทั้งหมดนี้ก็เพื่อชนที่เหลือที่กลับมาจะมีสิ่งจำเป็นอย่างบริบูรณ์. อัครสาวกเปาโลและเปโตรใช้โฮเซอา 2:23 กับการรวบรวมชนที่เหลือแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ.—โรม 9:25, 26; 1 เปโตร 2:10.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2-9; 3:1, 2. คิดดูสิว่าโฮเซอาได้เสียสละมากเพียงไรโดยรักษาสายสมรสเอาไว้ตามที่พระเจ้าทรงประสงค์! ในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เราเต็มใจจะสละความชอบส่วนตัวของเรามากขนาดไหน?
1:6-9. พระยะโฮวาทรงเกลียดชังการเล่นชู้ฝ่ายวิญญาณ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเกลียดการเล่นชู้จริง ๆ.
1:7, 10, 11; 2:14-23. สิ่งที่พระยะโฮวาตรัสไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับอิสราเอลและยูดาห์สำเร็จเป็นจริง. พระคำของพระยะโฮวากลายเป็นจริงเสมอ.
2:16, 19, 21-23; 3:1-4. พระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยจะให้อภัยผู้ที่แสดงการกลับใจอย่างจริงใจ. (นะเฮมยา 9:17) เช่นเดียวกับพระยะโฮวา เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตาสงสารและกรุณา.
“พระยะโฮวามีข้อพิพาท”
“พระยะโฮวามีข้อพิพาทกับชาวประเทศนี้.” เพราะเหตุใด? ก็เพราะ “ไม่มีความจริงหรือความเมตตาและไม่มีผู้ใดรู้จักพระเจ้าในประเทศนี้.” (โฮเซอา 4:1) ชาวอิสราเอลที่ออกหากมัวยุ่งอยู่กับการหลอกลวง, การทำให้โลหิตตก, และได้ประพฤติผิดประเวณีทั้งทางกายและในด้านวิญญาณ. แทนที่จะแสวงหาการช่วยเหลือจากพระเจ้า “เขาไปเรียกอายฆุบโตมา, แล้วเขาไปหาอาซูเรีย.”—โฮเซอา 7:11.
พระยะโฮวาประกาศการพิพากษาของพระองค์โดยตรัสว่า “ยิศราเอลถูกกลืนเสียหมดแล้ว.” (โฮเซอา 8:8) อาณาจักรยูดาห์ไม่ได้พ้นผิด. โฮเซอา 12:2 กล่าวว่า “พระยะโฮวาก็มีเรื่องกับยะฮูดาด้วยเหมือนกัน, และจะทรงลงโทษยาโคบตามทางประพฤติของเขา; พระองค์จะทดแทนเขาให้สมกับการกระทำของเขา.” แต่การฟื้นฟูนั้นเป็นเรื่องแน่นอน เนื่องจากพระเจ้าทรงสัญญาว่า “จากเงื้อมมือของเชโอลเราจะไถ่เขา; จากความตายเราจะนำเขากลับมา.”—โฮเซอา 13:14, ล.ม.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
โฮเซอา 6:1-3—ใครที่พูดว่า “มาเถิด, ให้เรากลับไปหาพระยะโฮวา”? ชาวอิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์อาจกำลังพูดหนุนใจกันให้กลับไปหาพระยะโฮวา. ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็เพียงแต่แสร้งทำเป็นกลับใจ. ความกรุณารักใคร่ของพวกเขามีอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ และประเดี๋ยวประด๋าว ดุจ “หมอกในเวลารุ่งเช้า; และเหมือนน้ำค้างที่สูญหายไปโดยเร็ว.” (โฮเซอา 6:4) ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่พูดอาจเป็นท่านโฮเซอาที่กำลังอ้อนวอนประชาชนให้กลับมาหาพระยะโฮวา. ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของใคร พลเมืองที่กบฏในอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลจำต้องแสดงออกถึงการกลับใจที่แท้จริงและกลับมาหาพระยะโฮวาจริง ๆ.
7:4—ชาวอิสราเอลที่ชอบเล่นชู้เป็นเหมือน “เตาไฟซึ่ง . . . ทำให้ร้อน” อย่างไร? การเปรียบเทียบเช่นนี้แสดงให้เห็นความรุนแรงของความปรารถนาชั่วที่มีในหัวใจของพวกเขา.
บทเรียนสำหรับเรา:
4:1, 6. ถ้าเราต้องการเป็นที่โปรดปรานของพระยะโฮวาเสมอ เราต้องรับเอาความรู้ของพระองค์และประพฤติตามสิ่งที่เราเรียนรู้ต่อ ๆ ไป.
4:9-13. พระยะโฮวาจะทรงคิดบัญชีกับคนที่ประพฤติผิดทางเพศและมีส่วนร่วมในการนมัสการที่ไม่สะอาด.—โฮเซอา 1:4.
5:1. ผู้ที่นำหน้าท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าควรปฏิเสธการออกหากอย่างสิ้นเชิง. มิฉะนั้น พวกเขาอาจชักจูงบางคนให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการนมัสการเท็จ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็กลายเป็น ‘บ่วงแร้วและข่าย’ ดักจับคนเหล่านั้น.
6:1-4; 7:14, 16. การกลับใจด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวเป็นความหน้าซื่อใจคดและไร้ประโยชน์. เพื่อจะได้รับความเมตตาจากพระเจ้า ผู้กระทำผิดต้องแสดงออกว่ากลับใจอย่างจริงใจ ซึ่งเห็นได้จากการที่เขากลับมาหาสิ่งที่ “สูงกว่า” ซึ่งก็คือ รูปแบบการนมัสการที่สูงส่งกว่า. การกระทำของเขาควรประสานกับมาตรฐานที่สูงส่งของพระเจ้า.—โฮเซอา 7:16, ล.ม.
6:6. การทำบาปเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการขาดความรักภักดีต่อพระเจ้า. เครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณไม่ว่าจะมากมายขนาดไหนก็ไม่อาจชดเชยกันได้.
8:7, 13; 10:13. หลักการที่ว่า “คนใดหว่านพืชอย่างใดลง, ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น” พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริงในกรณีของชาวอิสราเอลที่ไหว้รูปเคารพ.—ฆะลาเตีย 6:7.
8:8; 9:17; 13:16. คำพยากรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับอาณาจักรทางเหนือสำเร็จเป็นจริงเมื่อกรุงซะมาเรียซึ่งเป็นเมืองหลวงถูกอัสซีเรียยึดครอง. (2 กษัตริย์ 17:3-6) เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงทำตามที่พระองค์ตรัสและจะทรงทำให้สิ่งที่ได้ตรัสไว้สำเร็จเป็นจริง.—อาฤธโม 23:19.
8:14. พระยะโฮวาได้ส่ง “ไฟมาเผาเมืองเหล่านั้น [ของยูดาห์] ” ในปี 607 ก่อน ส.ศ. โดยน้ำมือชาวบาบิโลน ทำให้กรุงเยรูซาเลมและแผ่นดินยูดาห์ร้างเปล่าดังที่บอกไว้ล่วงหน้า. (2 โครนิกา 36:19) พระคำของพระเจ้าเป็นความจริงเสมอ.—ยะโฮซูอะ 23:14.
9:10. แม้ว่าพวกเขาอุทิศตัวแด่พระเจ้าองค์เที่ยงแท้แล้ว แต่ชาวอิสราเอลก็ “ไปยังบาละพะโอระ, และได้ยอมตัวบูชาสิ่งที่น่าบัดสี.” นับว่าสุขุมที่เราจะจดจำข้อเตือนใจจากตัวอย่างที่ไม่ดีของพวกเขาและระวังเพื่อจะไม่ทำสิ่งที่ขัดกับการอุทิศตัวของเราแด่พระยะโฮวา.—1 โกรินโธ 10:11.
10:1, 2, 12. เราควรนมัสการพระเจ้าด้วยหัวใจที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด. เมื่อ ‘เราหว่านเมล็ดแห่งความชอบธรรมสำหรับตนเอง เราก็จะเกี่ยวเก็บผลแห่งความดี [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของพระเจ้า.’
10:5. เบธอาเว็น (ซึ่งหมายถึง “นิเวศแห่งความเสียหาย”) เป็นชื่อในเชิงดูหมิ่นที่มีการตั้งให้กับเบทเอล (ซึ่งหมายถึง “นิเวศของพระเจ้า”). เมื่อรูปวัวทองคำที่เบธอาเว็นถูกชิงไป ชาวกรุงซะมาเรียก็พากันคร่ำครวญเพราะสูญเสียสิ่งที่พวกเขาเคารพบูชา. ช่างโง่เขลาเสียจริง ๆ ที่จะวางใจในรูปเคารพอันไร้ชีวิตซึ่งแม้แต่จะปกป้องตัวเองก็ยังทำไม่ได้!—บทเพลงสรรเสริญ 135:15-18; ยิระมะยา 10:3-5.
11:1-4. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์ด้วยความรักเสมอ. ผู้ที่ยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้าไม่เคยถูกกดขี่.
11:8-11; 13:14. คำตรัสของพระยะโฮวาเกี่ยวกับการนำประชาชนของพระองค์กลับมาสู่การนมัสการแท้ ‘ไม่ได้กลับมายังพระองค์โดยไร้ผล.’ (ยะซายา 55:11) ในปี 537 ก่อน ส.ศ. การเป็นเชลยในบาบิโลนสิ้นสุดลงและกลุ่มชนที่เหลือได้กลับไปยังเยรูซาเลม. (เอษรา 2:1; 3:1-3) สิ่งใดก็ตามที่พระยะโฮวาได้ตรัสโดยทางผู้พยากรณ์ของพระองค์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน.
12:6. เราควรตั้งใจแน่วแน่ที่จะแสดงความกรุณารักใคร่, สำแดงความยุติธรรม, และหวังในพระยะโฮวาเสมอ.
13:6. ชาวอิสราเอล “กินอิ่มแล้วใจเขาก็ทะนงตัวขึ้น. ดังนั้น เขาจึงได้ละลืม [พระยะโฮวา] เสีย.” เราจำเป็นต้องระวังแนวโน้มที่จะยกย่องตัวเอง.
“ทางของพระยะโฮวาเป็นทางที่ถูกต้อง”
โฮเซอาอ้อนวอนดังนี้: “โอ! ยิศราเอล, จงกลับมาหาพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน, ด้วยว่าท่านได้พลาดล้มลงไปก็เพราะความผิดของท่านเอง.” ท่านกระตุ้นประชาชนให้ทูลพระยะโฮวาว่า “ขอโปรดทรงยกความผิดของข้าพเจ้าทั้งหมด, และโปรดทรงรับพวกข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยพระกรุณา; ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนำผลแห่งริมฝีปากของข้าพเจ้ามาเป็นสักการบูชาต่างโค.”—โฮเซอา 14:1, 2.
ผู้กระทำผิดที่กลับใจควรมาหาพระยะโฮวา, ยอมรับแนวทางของพระองค์, และถวายเครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญแด่พระองค์. เพราะเหตุใด? ก็เพราะ “ทางของพระยะโฮวาเป็นทางที่ถูกต้อง, และผู้ชอบธรรมก็จะเดินไปในทางนั้น.” (โฮเซอา 14:9) เราชื่นชมยินดีจริง ๆ ที่ยังจะมีหลายคน ซึ่ง “ในที่สุดปลายเขาจะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาและโมทนาพระคุณความดีของพระองค์ด้วยความยำเกรง”!—โฮเซอา 3:5.
[ภาพหน้า 15]
ชีวิตครอบครัวของโฮเซอาเป็นภาพเปรียบเทียบให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาปฏิบัติกับอิสราเอล
[ภาพหน้า 17]
เมื่อซะมาเรียล่มสลายในปี 740 ก่อน ส.ศ. ก็ไม่มีอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูลอีกต่อไป