จงขอการชี้นำจากพระเจ้าในทุกสิ่ง
“พระองค์นี้เป็นพระเจ้าของพวกข้าพเจ้าเป็นนิตย์และเป็นนิตย์. พระองค์จะทรงนำพวกข้าพเจ้าตลอดชีวิต.”—เพลง. 48:14.
1, 2. เหตุใดเราควรทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวาแทนที่จะไว้ใจปัญญาของตัวเราเอง และเกิดมีคำถามอะไรขึ้นบ้าง?
เมื่อเราพินิจพิจารณาสิ่งที่ไร้ค่าหรือเป็นอันตราย เป็นเรื่องง่ายมากที่เราอาจหลอกตัวเอง. (สุภา. 12:11) หากเราปรารถนาจริง ๆ ที่จะทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสำหรับคริสเตียน หัวใจเราก็มักจะหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองให้ทำสิ่งนั้น. (ยิระ. 17:5, 9) ด้วยเหตุนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแสดงให้เห็นว่าท่านมีปัญญาเมื่ออธิษฐานถึงพระยะโฮวาว่า “ขอพระองค์ทรงใช้แสงสว่างและความสัตย์ซื่อของพระองค์; ให้นำหน้าข้าพเจ้า.” (เพลง. 43:3) ท่านไว้วางใจพระยะโฮวา ไม่ใช่ปัญญาของท่านเองซึ่งมีจำกัด และไม่มีใครอีกแล้วที่จะให้การชี้นำท่านได้ดีกว่านี้. เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ เราควรหมายพึ่งการชี้นำจากพระเจ้า.
2 แต่เพราะเหตุใดเราควรไว้วางใจการชี้นำจากพระยะโฮวายิ่งกว่าการชี้นำจากใคร ๆ ทั้งหมด? เราควรขอการชี้นำเมื่อไร? เราควรมีเจตคติเช่นไรเพื่อจะได้รับประโยชน์จากการชี้นำนั้น และพระยะโฮวาทรงชี้นำเราอย่างไรในทุกวันนี้? จะมีการพิจารณาคำถามสำคัญเหล่านี้ในบทความนี้.
เหตุใดจึงไว้วางใจการชี้นำจากพระยะโฮวา?
3-5. เรามีเหตุผลอะไรที่สามารถเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าจะได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวา?
3 พระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์. (1 โค. 8:6) พระองค์ทรงรู้จักเราแต่ละคนอย่างละเอียดและสามารถอ่านหัวใจเราเสียด้วยซ้ำ. (1 ซามู. 16:7; สุภา. 21:2) กษัตริย์ดาวิดทูลพระเจ้าว่า “ซึ่งข้าพเจ้านั่งลงหรือลุกขึ้นนั้นพระองค์ทรงทราบหมด; และความคิดของข้าพเจ้าพระองค์ทรงทราบแต่ไกล. ข้าแต่พระยะโฮวา, ถ้อยคำที่ลิ้นของข้าพเจ้า, ไม่มีสักคำเดียวที่พระองค์ไม่ทรงทราบ.” (เพลง. 139:2, 4) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงรู้จักเราเป็นอย่างดี เราจะสงสัยได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา? นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงเป็นองค์สัพพัญญู. พระองค์ทรงเห็นทุกสิ่ง, ทรงมองลึกกว่ามนุษย์เรา, และทรงรู้ตั้งแต่ต้นว่าในที่สุดผลของการกระทำต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร. (ยซา. 46:9-11; โรม 11:33) พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงรอบรู้ทุกอย่างแต่องค์เดียว.”—โรม 16:27.
4 นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงรักเราและทรงประสงค์ให้เราได้รับสิ่งดีที่สุดเสมอ. (โย. 3:16; 1 โย. 4:8) ในฐานะพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรัก พระองค์ทรงพร้อมจะประทานสิ่งดีแก่เราอย่างเต็มที่. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “ของประทานอันดีและสมบูรณ์ทุกอย่างมาจากเบื้องบน เพราะของประทานนั้นมาจากผู้ทำให้เกิดดวงสว่างในท้องฟ้า.” (ยโก. 1:17) คนที่ยอมให้พระเจ้าชี้นำได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากความเอื้ออารีของพระองค์.
5 ประการสุดท้าย พระยะโฮวาทรงมีฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวในเรื่องนี้ว่า “ผู้ใดอาศัยอยู่ในที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดผู้นั้นจะได้อาศัยอยู่ในร่มของพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง. ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงพระยะโฮวาว่า, พระองค์เป็นที่พึ่งพำนักและเป็นป้อมของข้าพเจ้า; พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า ๆ วางใจในพระองค์.” (เพลง. 91:1, 2) เมื่อเราทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา เรากำลังขอพระเจ้าซึ่งเป็นผู้ทำทุกสิ่งให้สำเร็จได้เสมอให้ทรงช่วยคุ้มครอง. แม้แต่เมื่อเราถูกต่อต้าน พระยะโฮวาทรงช่วยเหลือเรา. พระองค์จะไม่ทำให้เราผิดหวังเลย. (เพลง. 71:4, 5; อ่านสุภาษิต 3:19-26.) จริงทีเดียว พระยะโฮวาทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา, ทรงประสงค์ให้เราได้รับสิ่งดีที่สุด, และทรงมีอำนาจจะประทานสิ่งดีที่สุดแก่เรา. นับว่าโง่เขลาสักเพียงไรถ้าเราไม่สนใจการชี้นำจากพระองค์! แต่เราต้องได้รับการชี้นำเมื่อไร?
เราจำเป็นต้องได้รับการชี้นำเมื่อไร?
6, 7. เราจำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวาเมื่อไร?
6 ที่จริง เราจำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากพระเจ้าตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งชรา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “พระองค์นี้เป็นพระเจ้าของพวกข้าพเจ้าเป็นนิตย์และเป็นนิตย์. พระองค์จะทรงนำพวกข้าพเจ้าตลอดชีวิต.” (เพลง. 48:14) เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ คริสเตียนที่ฉลาดสุขุมไม่มีวันเลิกขอการชี้นำจากพระเจ้า.
7 แน่นอน มีบางเวลาที่เรารู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเป็นพิเศษ. บางครั้ง เราประสบ “ความทุกข์ยาก” โดยอาจถูกข่มเหง, เจ็บป่วยอย่างหนัก, หรือตกงานกะทันหัน. (เพลง. 69:16, 17) ในเวลาเช่นนั้น เรารู้สึกสบายใจเมื่อขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา โดยเชื่อมั่นว่าพระองค์จะช่วยเราให้เข้มแข็งเพื่อสามารถอดทนและจะชี้นำเราให้ตัดสินใจอย่างสุขุม. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 102:17.) อย่างไรก็ตาม เรายังต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ในโอกาสอื่น ๆ ด้วย. ตัวอย่างเช่น เมื่อสนทนากับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร เราต้องได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวาเพื่อจะสามารถประกาศข่าวดีอย่างมีประสิทธิภาพ. และเมื่อไรก็ตามที่เราต้องตัดสินใจ—ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนันทนาการ, การแต่งกาย, การคบหาสมาคม, งานอาชีพ, การศึกษา, หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม—เราจะตัดสินใจอย่างสุขุมได้ก็เฉพาะเมื่อเราทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา. อันที่จริง เราจำเป็นต้องได้รับการชี้นำในทุกแง่มุมของชีวิต.
อันตรายเมื่อไม่ขอการชี้นำจากพระเจ้า
8. การที่ฮาวากินผลไม้ต้องห้ามนั้นแสดงถึงอะไร?
8 อย่างไรก็ตาม ขอจำไว้ว่าเราต้องเต็มใจจะทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา. พระเจ้าจะไม่ทรงบังคับเราให้ทำตามการชี้นำจากพระองค์ถ้าเราไม่ต้องการ. มนุษย์คนแรกที่เลือกจะไม่ ทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวาคือฮาวา และตัวอย่างของเธอแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจที่ไม่ดีอาจก่อผลเสียหายร้ายแรงได้มากสักเพียงไร. ขอให้คิดดูด้วยว่าการกระทำของเธอแสดงถึงอะไร. ฮาวากินผลไม้ต้องห้ามนั้นเพราะเธอต้องการ “เป็นเหมือนพระ, จะรู้จักความดีและชั่ว.” (เย. 3:5) ด้วยการทำอย่างนั้น เธอแสดงตัวว่าต้องการอยู่ในฐานะเท่าเทียมกับพระเจ้า ตัดสินใจเองว่าอะไรดีอะไรชั่วแทนที่จะทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น เธอปฏิเสธอำนาจปกครองสูงสุดของพระยะโฮวา. เธอต้องการเป็นนายของตัวเอง. อาดามสามีของเธอก็ทำแบบเดียวกันในแนวทางแห่งการขืนอำนาจ.—โรม 5:12.
9. ถ้าเราปฏิเสธการชี้นำจากพระยะโฮวา นั่นเท่ากับว่าเรากำลังทำอะไร และเหตุใดนั่นเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดอย่างยิ่ง?
9 ในปัจจุบัน ถ้าเราไม่ทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา เราก็คงเป็นเหมือนฮาวา คือไม่ยอมรับอำนาจปกครองของพระองค์. ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกถึงคนที่มีนิสัยในการดูสื่อลามก. ถ้าเขาสมทบกับประชาคมคริสเตียน เขาย่อมรู้ว่าพระยะโฮวาทรงแนะนำให้เราปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้. สิ่งที่ไม่สะอาดทั้งหลายไม่ควรแม้แต่จะเอ่ยถึง ยังไม่ต้องพูดถึงการจ้องมองด้วยความพอใจในสิ่งที่ยั่วกิเลสตัณหาแบบนั้น. (เอเฟ. 5:3) โดยปฏิเสธการชี้นำจากพระยะโฮวา คนเช่นนั้นกำลังปฏิเสธอำนาจปกครองสูงสุดของพระยะโฮวา ปฏิเสธพระองค์ในฐานะองค์ประมุข. (1 โค. 11:3) นั่นเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดอย่างยิ่ง เพราะดังที่ยิระมะยากล่าวไว้ “ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.”—ยิระ. 10:23.
10. เหตุใดเราควรใช้เจตจำนงเสรีอย่างที่แสดงว่ามีความรับผิดชอบ?
10 บางคนอาจสงสัยถ้อยคำของยิระมะยา โดยคิดว่าเนื่องจากพระยะโฮวาประทานเจตจำนงเสรีแก่เรา พระองค์ก็ไม่น่าจะตำหนิเราเมื่อเราใช้เจตจำนงเสรีนั้น. ถึงกระนั้น อย่าลืมว่าเจตจำนงเสรีไม่ได้เป็นแค่ของประทานเท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบด้วย. เราต้องให้การต่อพระเจ้าสำหรับสิ่งที่เราเลือกทำและพูด. (โรม 14:10) พระเยซูตรัสว่า “ใจเต็มไปด้วยสิ่งใด ปากก็พูดตามนั้น.” พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “สิ่งที่ออกมาจากหัวใจคือ ความคิดชั่วร้าย การฆ่าคน การเล่นชู้ การผิดประเวณี การขโมย การเป็นพยานเท็จ การหมิ่นประมาท.” (มัด. 12:34; 15:19) ดังนั้น คำพูดและการกระทำของเราเผยให้เห็นว่าสภาพหัวใจของเราเป็นอย่างไร. คำพูดและการกระทำแสดงว่าเราเป็นคนอย่างไรจริง ๆ. นั่นเป็นเหตุที่คริสเตียนที่ฉลาดสุขุมขอการชี้นำจากพระยะโฮวาในทุกเรื่อง. เมื่อเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาก็จะทรงเห็นว่าเขา “มีใจซื่อตรง” และจะ “ทรงดี” ต่อเขา.—เพลง. 125:4.
11. เราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอล?
11 ขอให้นึกถึงประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอล. เมื่อชาตินี้เลือกอย่างฉลาดสุขุมด้วยการเชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวา พระองค์ทรงปกป้องพวกเขา. (ยโฮ. 24:15, 21, 31) แต่บ่อยครั้ง พวกเขาใช้เจตจำนงเสรีอย่างผิด ๆ. ในสมัยยิระมะยา พระยะโฮวาตรัสกับพวกเขาว่า “เขาทั้งหลายหาได้ฟังไม่, แลเขาไม่ได้เงี่ยหูของเขาเลย, แต่ได้ดำเนินในความปรึกษาแลในความคิดแห่งใจร้ายของเขา, แลเขาได้เดินถอยหลัง, หาได้เดินไปข้างหน้าไม่.” (ยิระ. 7:24-26) น่าเศร้าจริง ๆ ที่เป็นอย่างนั้น! ขอเราอย่าได้ปฏิเสธการชี้นำจากพระยะโฮวาและดำเนินตามความมุ่งหมายของตนเองและ ‘เดินถอยหลัง ไม่เดินไปข้างหน้า’ เพราะความดื้อรั้นหรือเพราะอยากทำตามใจตัวเอง!
ต้องอาศัยอะไรเพื่อจะทำตามคำแนะนำของพระเจ้า?
12, 13. (ก) คุณลักษณะอะไรที่ช่วยเราให้อยากทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา? (ข) เหตุใดความเชื่อจึงสำคัญอย่างยิ่ง?
12 ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาทำให้เราต้องการทำตามการชี้นำจากพระองค์. (1 โย. 5:3) แต่เปาโลชี้ไปยังอีกสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องมีเมื่อท่านกล่าวว่า “เราดำเนินชีวิตตามความเชื่อ ไม่ใช่ตามสิ่งที่เห็น.” (2 โค. 5:6, 7) เหตุใดความเชื่อจึงสำคัญ? พระยะโฮวาทรงนำเราใน “ทางชอบธรรม” แต่แนวทางดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่ความมั่งคั่งหรืออภิสิทธิ์ในโลกนี้. (เพลง. 23:3) ด้วยเหตุนั้น สายตาแห่งความเชื่อของเราต้องจดจ้องที่รางวัลฝ่ายวิญญาณที่ไม่มีอะไรเทียบได้ซึ่งมาจากการรับใช้พระยะโฮวา. (อ่าน 2 โครินท์ 4:17, 18.) และความเชื่อช่วยเราให้อิ่มใจกับสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่เรามี.—1 ติโม. 6:8.
13 พระเยซูทรงชี้ว่าการนมัสการแท้เกี่ยวข้องกับการเสียสละตัวเองซึ่งต้องอาศัยความเชื่อด้วยเช่นกัน. (ลูกา 9:23, 24) ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์บางคนได้เสียสละอย่างมาก โดยอดทนเมื่อประสบกับความยากจน, การใช้อำนาจกดขี่, อคติ, หรือแม้แต่การข่มเหงอย่างรุนแรง. (2 โค. 11:23-27; วิ. 3:8-10) มีเพียงความเชื่อที่เข้มแข็งเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาทำอย่างนั้นได้ด้วยความยินดี. (ยโก. 1:2, 3) ความเชื่อที่เข้มแข็งทำให้เราเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าการทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวาเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเสมอ. การทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวาให้ประโยชน์สูงสุดแก่เราเสมอ. เราไม่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อยว่ารางวัลสำหรับคนที่อดทนอย่างภักดีนั้นยอดเยี่ยมกว่ามากเมื่อเทียบกับความยากลำบากชั่วคราวที่อาจต้องทนเอา.—ฮีบรู 11:6.
14. เหตุใดฮาการ์ต้องแสดงความถ่อมใจ?
14 ขอให้พิจารณาด้วยถึงบทบาทของความถ่อมใจในการทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา. ตัวอย่างของฮาการ์ (ฮาฆาร) สาวใช้ของซาราห์ แสดงให้เห็นจุดนี้. เมื่อซาราห์คิดว่าไม่สามารถมีบุตรได้ นางจึงยกฮาการ์ให้แก่อับราฮาม และฮาการ์ก็ตั้งครรภ์กับอับราฮาม. ต่อมา ฮาการ์เริ่มแสดงท่าทีหยิ่งผยองต่อนายหญิงที่เป็นหมัน. ผลก็คือ ซาราห์ “เคี่ยวเข็ญหญิงนั้น” จนฮาการ์หนีไป. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระยะโฮวามาพบฮาการ์และบอกว่า “จงกลับไปหานายผู้หญิงของเจ้า, และจงยอมตัวอยู่ใต้บังคับของเขาเถิด.” (เย. 16:2, 6, 8, 9) ฮาการ์อาจอยากได้รับการชี้นำให้ทำอย่างอื่นมากกว่า. เพื่อจะทำตามคำชี้แนะของทูตสวรรค์ได้ เธอจะต้องทิ้งนิสัยหยิ่งยโส. อย่างไรก็ตาม ฮาการ์ถ่อมใจทำตามคำของทูตสวรรค์ ยิศมาเอลบุตรชายเธอจึงเกิดมาอย่างปลอดภัยในค่ายพักของบิดา.
15. จงพรรณนาสถานการณ์บางอย่างในปัจจุบันที่เราต้องถ่อมใจเพื่อจะทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวาได้.
15 เพื่อจะทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา เราอาจต้องมีความถ่อมใจเช่นเดียวกัน. บางคนอาจต้องยอมรับว่ารูปแบบของนันทนาการที่เขาชอบไม่เป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา. คริสเตียนคนหนึ่งอาจทำให้บางคนขุ่นเคืองและจำเป็นต้องขออภัย. หรือเขาอาจทำอะไรบางอย่างผิดและจำเป็นต้องยอมรับความผิดพลาดนั้น. จะว่าอย่างไรถ้าบางคนทำผิดร้ายแรง? เขาจำเป็นต้องถ่อมใจและสารภาพความผิดนั้นกับผู้ปกครอง. บางคนอาจถึงขั้นถูกตัดสัมพันธ์. เพื่อจะได้รับการยอมรับกลับคืนสู่ประชาคม เขาต้องถ่อมใจเพื่อจะกลับใจและเปลี่ยนวิถีชีวิต. ในสถานการณ์เหล่านี้และสถานการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน ถ้อยคำที่สุภาษิต 29:23 (ฉบับแปลใหม่) ให้กำลังใจดังนี้: “ความเย่อหยิ่งของคนนำเขาให้ต่ำลง แต่คนที่มีใจถ่อมจะได้รับเกียรติ.”
พระยะโฮวาทรงชี้นำเราอย่างไร?
16, 17. เราจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากคัมภีร์ไบเบิลในฐานะแหล่งแห่งการชี้นำจากพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
16 แหล่งที่ให้การชี้นำจากพระเจ้าที่ดีเยี่ยมที่สุดได้แก่คัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. (อ่าน 2 ติโมเธียว 3:16, 17.) เพื่อจะรับประโยชน์มากที่สุดจากพระคำนั้น เราไม่ควรคอยให้เกิดสถานการณ์ที่ยุ่งยากเสียก่อนแล้วค่อยหาคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในพระคัมภีร์. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราจะสร้างนิสัยอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน. (เพลง. 1:1-3) โดยทำอย่างนั้น เราจะคุ้นเคยกับข้อความที่อยู่ในพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ความคิดของเราจะไปในทิศทางเดียวกับพระเจ้า และเราจะพร้อมเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่เราไม่คาดคิดเสียด้วยซ้ำ.
17 นอกจากนั้น นับว่าสำคัญที่จะคิดรำพึงสิ่งที่เราอ่านในพระคัมภีร์และอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้น. เมื่อเราใคร่ครวญข้อคัมภีร์ เราพิจารณาว่าอาจใช้ข้อนั้นอย่างไรในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง. (1 ติโม. 4:15) เมื่อเราเผชิญปัญหาที่ร้ายแรง เราอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ขอพระองค์ทรงช่วยชี้นำให้รู้วิธีจัดการปัญหานั้น. พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะช่วยเรานึกถึงหลักการในพระคัมภีร์ที่เป็นประโยชน์ซึ่งเราเคยอ่านในคัมภีร์ไบเบิลหรือหนังสือต่าง ๆ ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5.
18. พระยะโฮวาทรงใช้สังคมพี่น้องคริสเตียนอย่างไรเพื่อชี้นำเรา?
18 สังคมพี่น้องคริสเตียนเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีค่าซึ่งเราสามารถได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวา. แกนกลางของสังคมพี่น้องก็คือ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และคณะกรรมการปกครองที่เป็นตัวแทน ซึ่งจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำในรูปสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และระเบียบวาระสำหรับการประชุมในประชาคมและการประชุมใหญ่. (มัด. 24:45-47; เทียบกับกิจการ 15:6, 22-31.) นอกจากนั้น ในสังคมพี่น้องคริสเตียนก็มีคนที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติในการให้ความช่วยเหลือเป็นส่วนตัวและให้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์. (ยซา. 32:1) เยาวชนในครอบครัวคริสเตียนยังมีแหล่งให้การสนับสนุนที่มีค่าอีกแหล่งหนึ่ง. บิดามารดาที่มีความเชื่อได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้ชี้นำบุตร และด้วยเหตุนั้นเยาวชนควรขอคำแนะนำจากบิดามารดาเสมอ.—เอเฟ. 6:1-3.
19. เราจะได้รับพระพรอะไรเมื่อเราขอการชี้นำจากพระยะโฮวาอยู่เสมอ?
19 จริงทีเดียว พระยะโฮวาทรงให้การชี้นำแก่เราหลายทาง และเราควรรับประโยชน์ให้มากที่สุดจากการชี้นำของพระองค์. กษัตริย์ดาวิดกล่าวถึงช่วงเวลาที่ชาติอิสราเอลซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าว่า “บรรพบุรุษของพวกข้าพเจ้าได้วางใจในพระองค์. เมื่อวางใจแล้ว, พระองค์ทรงช่วยเขาให้รอด. เมื่อร้องทุกข์ต่อพระองค์, แล้วทรงช่วยเขาให้รอดเขาวางใจในพระองค์; จึงไม่ต้องรับความละอาย.” (เพลง. 22:3-5) หากเราไว้วางใจและทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวา เราก็จะ “ไม่ต้องรับความละอาย” เช่นเดียวกัน. เราจะไม่ผิดหวังในเรื่องที่เราหวัง. หากเรา ‘มอบทางประพฤติไว้กับพระยะโฮวา’ แทนที่จะหมายพึ่งสติปัญญาของตัวเอง เราจะได้รับพระพรอย่างอุดมแม้แต่ในขณะนี้. (เพลง. 37:5) และถ้าเราบากบั่นอย่างภักดีในแนวทางนี้ พระพรเหล่านั้นก็จะเป็นพระพรถาวร. กษัตริย์ดาวิดเขียนดังนี้: “พระยะโฮวาทรงรักความยุติธรรม, และไม่ทรงละทิ้งพวกผู้ชอบธรรมของพระองค์เลย; ทรงรักษาเขาไว้เป็นนิจกาล . . . คนสัตย์ธรรมจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และจะอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นนิตย์.”—เพลง. 37:28, 29.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดเราไว้วางใจการชี้นำจากพระยะโฮวา?
• การปฏิเสธการชี้นำจากพระยะโฮวาแสดงถึงอะไร?
• คริสเตียนจำเป็นต้องแสดงความถ่อมใจในสถานการณ์เช่นไรบ้าง?
• พระยะโฮวาทรงชี้นำเราอย่างไรในทุกวันนี้?
[ภาพหน้า 8]
คุณหมายพึ่งพระยะโฮวาในทุกแง่มุมของชีวิตไหม?
[ภาพหน้า 9]
ฮาวาปฏิเสธอำนาจปกครองสูงสุดของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 10]
ฮาการ์จำเป็นต้องมีคุณลักษณะอะไร เพื่อจะทำตามคำชี้แนะของทูตสวรรค์ได้?