‘พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต’!
“คนที่ปลูกกับคนที่รดน้ำจึงไม่สำคัญอะไร พระเจ้าผู้ทรงทำให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ.”—1 โค. 3:7.
1. เราเป็น “ผู้ร่วมงานกับพระเจ้า” ในงานอะไร?
“ผู้ร่วมงานกับพระเจ้า.” นั่นคือคำที่อัครสาวกเปาโลใช้พรรณนาสิทธิพิเศษที่เราทุกคนสามารถได้รับ. (อ่าน 1 โครินท์ 3:5-9.) งานที่เปาโลกล่าวถึงคืองานทำให้คนเป็นสาวก. ท่านเปรียบงานนี้กับการหว่านเมล็ดพืชและการรดน้ำ. เพื่อจะทำงานสำคัญนี้ให้สำเร็จได้ เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. เปาโลเตือนเราให้ระลึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ‘พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต.’
2. เหตุใดข้อเท็จจริงที่ว่า ‘พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต’ ช่วยเราให้มีทัศนะที่เหมาะสมต่องานรับใช้ของเรา?
2 ข้อเท็จจริงที่ทำให้ถ่อมใจนี้ช่วยเราให้มีทัศนะที่เหมาะสมต่องานรับใช้. เราอาจทำงานประกาศและสอนอย่างขยันขันแข็ง แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วพระยะโฮวาเป็นผู้สมควรรับคำสรรเสริญทั้งสิ้นเมื่อมีคนใหม่เข้ามาเป็นสาวก. เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะแม้ว่าเราอาจพยายามมากขนาดไหน ไม่มีใครในพวกเราสามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าใครคนหนึ่งกลายมาเป็นสาวกได้อย่างไร. ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบังคับควบคุมให้เกิดการเติบโตอย่างนั้น. กษัตริย์โซโลมอนกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างถูกต้องเมื่อท่านเขียนว่า “เจ้า . . . ไม่รู้กิจการของพระเจ้าผู้ทรงกระทำสารพัตร.”—ผู้ป. 11:5.
3. มีอะไรคล้ายคลึงกันระหว่างงานหว่านตามตัวอักษรกับงานทำให้คนเป็นสาวก?
3 การที่เราไม่สามารถเข้าใจว่าใครคนหนึ่งกลายมาเป็นสาวกอย่างไรนั้นทำให้เราทำงานนี้อย่างข้องขัดใจไหม? ไม่เลย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น นั่นกลับทำให้งานนี้น่าตื่นเต้นและน่าสนใจ. กษัตริย์โซโลมอนกล่าวว่า “ในเวลาเช้าจงหว่านเมล็ดของเจ้าและอย่าวางมือจนกระทั่งเวลาเย็น; เพราะเจ้าไม่รู้ว่าการนี้จะสำเร็จที่ไหน ที่นี่หรือที่นั่น หรือว่าทั้งสองที่จะดีเหมือนกัน.” (ผู้ป. 11:6, ล.ม.) จริงทีเดียว ในการปลูกพืชจริง ๆ นั้นเราไม่ทราบว่ามันจะงอกหรือไม่หรืองอกที่ไหน. มีปัจจัยหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้. อาจกล่าวได้ว่างานทำให้คนเป็นสาวกก็คล้ายกัน. พระเยซูทรงเน้นข้อเท็จจริงนี้ในตัวอย่างเปรียบเทียบสองเรื่องที่บันทึกไว้สำหรับเราในกิตติคุณของมาระโกบทที่ 4. ให้เรามาดูด้วยกันว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากตัวอย่างเปรียบเทียบสองเรื่องนี้.
ดินชนิดต่าง ๆ
4, 5. จงเล่าย่อ ๆ เกี่ยวกับตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องผู้หว่านซึ่งหว่านโปรยเมล็ดพืช.
4 ดังบันทึกไว้ที่มาระโก 4:1-9 พระเยซูทรงพรรณนาผู้หว่านซึ่งหว่านโปรยเมล็ดพืช และเมล็ดเหล่านั้นก็ตกในที่ต่าง ๆ ดังนี้: “จงฟังเถิด มีคนหนึ่งออกไปหว่านเมล็ดพืช. ขณะที่เขาหว่าน เมล็ดพืชบางส่วนตกตามริมทางและนกมาจิกกินหมด. บางส่วนตกในที่ที่เป็นพื้นหินมีดินอยู่ไม่มากจึงงอกขึ้นทันทีเพราะดินไม่ลึก. แต่พอดวงอาทิตย์ขึ้นก็ถูกแดดเผา และเพราะไม่มีรากจึงเหี่ยวแห้งตายไป. บางส่วนตกกลางต้นไม้มีหนาม และต้นไม้มีหนามขึ้นเบียดจนไม่เติบโต จึงไม่เกิดผล. บางส่วนตกบนดินดี จึงงอกและเติบโตขึ้น แล้วเกิดผลสามสิบเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง และร้อยเท่าบ้าง.”
5 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การหว่านเมล็ดพืชโดยทั่วไปมักทำกันด้วยการโปรยเมล็ดให้กระจายออกไป. ผู้หว่านจะพกเมล็ดไว้ที่ช่องในเสื้อผ้าหรือใส่ไว้ในภาชนะ แล้วก็กำเมล็ดโปรยออกไปเป็นวงกว้าง. ดังนั้น ผู้หว่านในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่ได้ตั้งใจหว่านเมล็ดลงบนดินชนิดต่าง ๆ เพียงแต่เมล็ดเหล่านั้นกระจายไปตกหลายที่เอง.
6. พระเยซูทรงอธิบายตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องผู้หว่านเมล็ดพืชอย่างไร?
6 เราไม่จำเป็นต้องเดาความหมายของตัวอย่างเปรียบเทียบนี้. พระเยซูทรงอธิบายต่อไป ดังบันทึกไว้ที่มาระโก 4:14-20 ว่า “ผู้หว่านนั้นหว่านพระคำ. เมล็ดพืชที่ตกตามริมทางคือพระคำที่ถูกหว่านในตัวผู้คน แต่ทันทีที่พวกเขาได้ยินพระคำนั้น ซาตานก็มาเอาพระคำที่หว่านไว้ในตัวพวกเขาไป. และเมล็ดพืชที่หว่านลงบนที่ที่เป็นพื้นหินคือพระคำที่ผู้คนรับไว้ด้วยความยินดีในทันทีที่ได้ยิน. แต่พวกเขาไม่มีรากในตัว จึงอยู่ได้ระยะหนึ่ง และพอมีความทุกข์ลำบากหรือการข่มเหงเกิดขึ้นเพราะพระคำนั้น พวกเขาก็เลิกเชื่อทันที. ส่วนเมล็ดพืชที่หว่านลงกลางต้นไม้มีหนามคือพระคำที่คนได้ยิน แต่ความวิตกกังวลกับชีวิตในยุคนี้และอำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติกับความปรารถนาสิ่งอื่น ๆ ต่างประดังเข้ามาบดบังพระคำนั้น จึงไม่เกิดผล. สุดท้าย เมล็ดพืชที่หว่านลงบนดินดีคือพระคำที่ผู้คนได้ฟังและยินดีรับไว้ แล้วเกิดผลสามสิบเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง และร้อยเท่าบ้าง.”
7. เมล็ดพืชและดินชนิดต่าง ๆ หมายถึงอะไร?
7 โปรดสังเกตว่าพระเยซูไม่ได้ตรัสว่ามีการหว่านเมล็ดพืชหลายชนิด. พระองค์เพียงแต่ตรัสถึงเมล็ดพืชชนิดหนึ่งซึ่งตกลงบนดินชนิดต่าง ๆ และดินแต่ละชนิดทำให้เกิดผลต่างกัน. ดินชนิดแรกเป็นดินแข็งหรือดินที่อัดแน่น; ชนิดที่สองหน้าดินตื้น; ชนิดที่สามถูกหนามคลุม; และชนิดที่สี่เป็นดินดีซึ่งทำให้เกิดผลดี. (ลูกา 8:8) เมล็ดพืชคืออะไร? เมล็ดพืชคือข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่พบในพระคำของพระเจ้า. (มัด. 13:19) ดินชนิดต่าง ๆ หมายถึงอะไร? ผู้คนที่มีสภาพหัวใจแตกต่างกันนั่นเอง.—อ่านลูกา 8:12, 15.
8. (ก) ผู้หว่านหมายถึงใคร? (ข) เหตุใดผู้คนจึงตอบสนองต่องานประกาศเรื่องราชอาณาจักรต่างกัน?
8 ผู้หว่านหมายถึงใคร? ผู้หว่านหมายถึงผู้ร่วมงานกับพระเจ้า หรือคนที่ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนั่นเอง. เช่นเดียวกับเปาโลและอะโปลโลส พวกเขาปลูกและรดน้ำ. แต่แม้ว่าพวกเขาทำงานหนัก ผลที่ได้กลับแตกต่างกันไป. เพราะเหตุใด? เพราะคนที่ฟังข่าวสารมีสภาพหัวใจแตกต่างกัน. ในตัวอย่างเปรียบเทียบ ผู้หว่านควบคุมให้เกิดผลเหล่านั้นไม่ได้. เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจสักเพียงไร โดยเฉพาะพี่น้องชายหญิงที่ซื่อสัตย์ซึ่งทำงานรับใช้มาหลายปี และบางคนหลายสิบปี แต่ดูเหมือนว่าเกิดผลที่เห็นได้ชัด ๆ น้อยมาก!a เหตุใดจึงให้กำลังใจ?
9. ทั้งอัครสาวกเปาโลและพระเยซูเน้นความจริงอะไรที่ให้กำลังใจ?
9 ความซื่อสัตย์ต่องานของผู้หว่านไม่ได้ถูกวัดโดยผลงาน. เปาโลกล่าวพาดพิงถึงเรื่องนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “คนที่ปลูกกับคนที่รดน้ำ . . . จะได้รับบำเหน็จตามการทำงานของแต่ละคน.” (1 โค. 3:8) บำเหน็จที่จะได้รับนั้นตามการทำงาน ไม่ใช่ตามผลงาน. พระเยซูทรงเน้นจุดนี้เช่นกันเมื่อเหล่าสาวกกลับจากการเดินทางในการทำงานประกาศ. พวกเขายินดีอย่างยิ่งเพราะได้ปราบพวกปิศาจด้วยการใช้พระนามพระเยซู. แม้ว่านั่นอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “อย่าได้ยินดีที่พวกกายวิญญาณอยู่ใต้อำนาจพวกเจ้า แต่จงยินดีเพราะชื่อของพวกเจ้าถูกจารึกไว้ในสวรรค์.” (ลูกา 10:17-20) แม้แต่เมื่อผู้หว่านอาจมองไม่เห็นว่างานของเขาเกิดผลในการทำให้มีสาวกใหม่ ๆ หลายคนเข้ามา แต่นั่นไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเขาขยันหรือซื่อสัตย์น้อยกว่าคนอื่น ๆ. ส่วนใหญ่แล้ว ผลจากการทำงานจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสภาพหัวใจของผู้ฟัง. แต่ในขั้นสุดท้าย พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต!
หน้าที่รับผิดชอบของคนที่ฟังพระคำ
10. การที่ใครคนหนึ่งซึ่งได้ยินพระคำจะเป็นเหมือนกับดินดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอะไร?
10 จะว่าอย่างไรสำหรับคนที่ฟังพระคำ? การที่พวกเขาตอบรับนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วไหม? ไม่. พวกเขาจะเป็นเหมือนกับดินดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง. ที่จริง สภาพหัวใจของใครคนหนึ่งอาจเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้. (โรม 6:17) พระเยซูตรัสในตัวอย่างเปรียบเทียบว่า “ทันทีที่ [บางคน] ได้ยินพระคำนั้น” ซาตานก็มาเอาพระคำนั้นไป. แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้. ที่ยาโกโบ 4:7 คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ “ต่อสู้พญามาร” แล้วมันจะหนีไปจากพวกเขา. พระเยซูทรงพรรณนาสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ ว่าทีแรกก็ตอบรับพระคำด้วยความยินดี แต่แล้วก็เลิกเชื่อเพราะ “ไม่มีรากในตัว.” แต่ผู้รับใช้พระเจ้าได้รับคำแนะเตือนให้ “หยั่งรากและตั้งมั่นคงอยู่บนฐานรากนั้น” เพื่อพวกเขาจะสามารถเข้าใจว่าความจริง “มีความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึกอย่างไร และรู้จักความรักของพระคริสต์ซึ่งเหนือกว่าความรู้.”—เอเฟ. 3:17-19; โกโล. 2:6, 7.
11. เราจะระวังไม่ปล่อยให้ความวิตกกังวลและทรัพย์สมบัติเข้ามาบดบังพระคำได้อย่างไร?
11 นอกจากนี้ ยังมีคำพรรณนาถึงบางคนที่ได้ยินพระคำแล้วกลับปล่อยให้ “ความวิตกกังวลกับชีวิตในยุคนี้และอำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติ” ประดังเข้ามาบดบังพระคำ. (1 ติโม. 6:9, 10) พวกเขาจะระวังไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร? อัครสาวกเปาโลตอบดังนี้: “จงให้วิถีชีวิตของพวกท่านปราศจากการรักเงิน และจงพอใจในสิ่งที่พวกท่านมีอยู่. เพราะพระองค์ตรัสว่า ‘เราจะไม่มีวันละทิ้งเจ้าและไม่มีวันทอดทิ้งเจ้า.’”—ฮีบรู 13:5.
12. เหตุใดคนที่เปรียบเหมือนกับดินดีจึงเกิดผลไม่เท่ากัน?
12 ท้ายที่สุด พระเยซูตรัสว่าเมล็ดที่หว่านลงบนดินดี “เกิดผลสามสิบเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง และร้อยเท่าบ้าง.” แม้ว่าคนที่ตอบรับพระคำมีสภาพหัวใจที่ดีและเกิดผล แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้ในการประกาศข่าวดีนั้นแตกต่างกันไปตามสภาพการณ์ในชีวิตของแต่ละคน. ตัวอย่างเช่น อายุที่มากขึ้นหรือความเจ็บป่วยที่ทำให้อ่อนล้าอาจทำให้บางคนทำงานประกาศได้ไม่มากนัก. (เทียบกับมาระโก 12:43, 44.) อีกครั้งหนึ่ง ผู้หว่านอาจควบคุมได้น้อยมากหรือไม่ได้เลยในเรื่องนี้ แต่เขายินดีเมื่อเห็นว่าพระยะโฮวาทรงทำให้เติบโต.—อ่านเพลงสรรเสริญ 126:5, 6.
ผู้หว่านที่นอนหลับ
13, 14. (ก) จงเล่าย่อ ๆ เกี่ยวกับตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องคนที่หว่านเมล็ดพืช. (ข) ผู้หว่านหมายถึงใคร และเมล็ดหมายถึงอะไร?
13 ที่มาระโก 4:26-29 เราพบตัวอย่างเปรียบเทียบเกี่ยวกับผู้หว่านอีกเรื่องหนึ่ง: “ราชอาณาจักรของพระเจ้าเปรียบเหมือนคนที่หว่านเมล็ดพืชลงบนดิน กลางคืนเขานอนหลับพอสว่างเขาก็ตื่น เมล็ดนั้นงอกและเติบโตขึ้นอย่างไรเขาไม่รู้. ดินเป็นตัวทำให้พืชนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้น โดยเป็นต้นอ่อนก่อน แล้วก็ออกรวง ในที่สุดก็มีเมล็ดเต็มรวง. แต่ทันทีที่ข้าวสุก เขาก็เอาเคียวเกี่ยว เพราะถึงฤดูเกี่ยวแล้ว.”
14 ผู้หว่านในที่นี้คือใคร? บางคนในคริสต์ศาสนจักรเชื่อว่าผู้หว่านหมายถึงพระเยซูเอง. แต่จะกล่าวได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงนอนหลับและไม่รู้ว่าเมล็ดนั้นเติบโตอย่างไร? พระเยซูทรงทราบดีแน่ ๆ ว่ากระบวนการเติบโตเป็นอย่างไร! เช่นเดียวกับคนที่ถูกกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ผู้หว่านคนนี้จึงหมายถึงผู้ประกาศราชอาณาจักรแต่ละคนที่หว่านเมล็ดพืชแห่งราชอาณาจักรด้วยการทำงานประกาศอย่างกระตือรือร้น. เมล็ดที่ถูกหว่านลงไปที่ดินก็คือพระคำที่พวกเขาประกาศ.b
15, 16. ในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องผู้หว่าน พระเยซูทรงชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับการเติบโตตามความหมายตรงตัวและฝ่ายวิญญาณ?
15 พระเยซูตรัสถึงผู้หว่านว่า “กลางคืนเขานอนหลับพอสว่างเขาก็ตื่น.” นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้หว่านละเลยหน้าที่. ถ้อยคำดังกล่าวเพียงแต่พรรณนากิจวัตรตามปกติในชีวิตของคนส่วนใหญ่. คำที่ใช้ในข้อนี้บ่งบอกกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาหนึ่ง คือทำงานตอนกลางวันและนอนหลับตอนกลางคืน. พระเยซูทรงเน้นกับผู้ฟังให้สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลานั้น. พระองค์ตรัสว่า “เมล็ดนั้นงอกและเติบโตขึ้นอย่างไรเขาไม่รู้.” พระองค์ทรงเน้นข้อเท็จจริงที่ว่าการเติบโตเกิดขึ้น “เอง.”—มโก. 4:28, ฉบับแปลใหม่.c
16 พระเยซูกำลังชี้จุดสำคัญอะไรในที่นี้? โปรดสังเกตว่ามีการเน้นเรื่องการเติบโตและวิธีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป. “ดินเป็นตัวทำให้พืชนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้น โดยเป็นต้นอ่อนก่อน แล้วก็ออกรวง ในที่สุดก็มีเมล็ดเต็มรวง.” (มโก. 4:28) การเติบโตนี้ค่อย ๆ เกิดขึ้นและเป็นขั้น ๆ ไม่สามารถฝืนหรือเร่งให้เร็วขึ้นได้. เป็นจริงอย่างนั้นด้วยกับการเติบโตฝ่ายวิญญาณซึ่งก้าวหน้าไปเป็นขั้น ๆ เมื่อพระยะโฮวาทรงให้ความจริงงอกงามขึ้นในหัวใจคนที่เต็มใจตอบรับความจริง.—กิจ. 13:48; ฮีบรู 6:1.
17. ใครมีส่วนร่วมในความยินดีเมื่อเมล็ดแห่งความจริงเกิดผล?
17 ผู้หว่านเข้าร่วมในการเก็บเกี่ยว “ทันทีที่ข้าวสุก” อย่างไร? เมื่อพระยะโฮวาทรงทำให้ความจริงเรื่องราชอาณาจักรเติบโตขึ้นในหัวใจของสาวกใหม่ ในที่สุดพวกเขาก็จะมาถึงจุดที่ถูกกระตุ้นจากความรักที่พวกเขามีต่อพระเจ้าให้อุทิศชีวิตแด่พระองค์. พวกเขาแสดงสัญลักษณ์ว่าได้อุทิศตัวแล้วด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ. ทีละเล็กทีละน้อย พี่น้องชายที่ก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะสามารถรับเอาหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมมากขึ้น. ผลแห่งราชอาณาจักรถูกเก็บเกี่ยวโดยผู้ที่หว่านไว้ในตอนแรก รวมทั้งถูกเก็บเกี่ยวโดยผู้ประกาศราชอาณาจักรคนอื่น ๆ ที่อาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นส่วนตัวกับการหว่านเมล็ดนั้นซึ่งเกิดผลโดยที่มีใครคนหนึ่งเข้ามาเป็นสาวก. (อ่านโยฮัน 4:36-38.) เป็นความจริงดังที่มีกล่าวไว้ว่า “ผู้หว่านกับผู้เกี่ยว . . . ชื่นชมยินดีด้วยกัน.”
บทเรียนสำหรับเราในทุกวันนี้
18, 19. (ก) การทบทวนตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูให้กำลังใจตัวคุณเองอย่างไร? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 เราได้เรียนรู้อะไรจากการทบทวนตัวอย่างเปรียบเทียบสองเรื่องดังกล่าวซึ่งบันทึกไว้ในมาระโกบท 4? เราเห็นได้ชัดเจนว่าเรามีงานที่ต้องทำ นั่นคือการหว่าน. เราไม่ควรปล่อยให้ข้ออ้างและปัญหาหรือความลำบากใด ๆ ก็ตามที่เราอาจประสบทำให้เราเลิกทำงานนี้. (ผู้ป. 11:4) อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันเรารู้ดีว่าเรามีสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมที่พระเจ้าทรงถือว่าเราเป็นผู้ร่วมทำงานกับพระองค์. พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเติบโตฝ่ายวิญญาณ โดยทรงอวยพรความพยายามของเราและความพยายามของคนที่ตอบรับข่าวสาร. เราตระหนักว่าเราไม่สามารถบังคับใครให้เข้ามาเป็นสาวก. เราตระหนักด้วยว่าเราไม่ควรหมดกำลังใจหรือห่อเหี่ยวใจถ้าการเติบโตเป็นไปอย่างช้า ๆ หรือไม่เติบโตเลย. นับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ให้กำลังใจจริง ๆ ที่รู้ว่าความสำเร็จของเราวัดที่ความซื่อสัตย์ของเราต่อพระยะโฮวาและต่อสิทธิพิเศษที่พระองค์ได้ประทานแก่เราให้ประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร . . . เพื่อให้พยานหลักฐานแก่ทุกชาติ.”—มัด. 24:14.
19 พระเยซูทรงสอนอะไรเราอีกเกี่ยวกับการเติบโตของสาวกใหม่และงานราชอาณาจักร? เราจะพบคำตอบสำหรับคำถามนี้ในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอื่น ๆ ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือกิตติคุณเล่มต่าง ๆ. เราจะวิเคราะห์ตัวอย่างเปรียบเทียบเหล่านี้บางเรื่องในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ขอให้พิจารณาตัวอย่างงานรับใช้ของบราเดอร์เกออร์ก ฟยอลเนอร์ ลินดัล ในไอซ์แลนด์ ดังที่มีรายงานในหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 2005 หน้า 210-211 และประสบการณ์ของเหล่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ซึ่งทำงานอย่างบากบั่นขันแข็งในไอร์แลนด์เป็นเวลาหลายปีโดยไม่เกิดผลให้เห็นในทันที ดังที่มีรายงานในหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1988 หน้า 82-99.
b เคยมีคำอธิบายในวารสารนี้ว่าเมล็ดหมายถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของบุคลิกภาพคนเราที่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ. แต่ควรสังเกตว่าในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ของพระเยซู เมล็ดไม่ได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นเมล็ดที่ไม่ดีหรือเน่าเสีย. เมล็ดนี้เพียงแต่งอกโตขึ้นจนเป็นต้นที่โตเต็มที่.—โปรดดูหอสังเกตการณ์ 15 ธันวาคม 1980 หน้า 22-25.
c มีการใช้คำที่แสดงถึงการเกิดขึ้นเองแบบนี้ในที่อื่นอีกเพียงแห่งเดียว คือที่กิจการ 12:10 ซึ่งกล่าวถึงประตูเหล็กว่า “เปิดให้เอง.”
คุณจำได้ไหม?
• มีอะไรบ้างที่คล้ายคลึงกันระหว่างการหว่านเมล็ดในความหมายตรงตัวกับการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร?
• พระยะโฮวาทรงวัดความซื่อสัตย์ของผู้ประกาศราชอาณาจักรอย่างไร?
• มีอะไรคล้ายคลึงกันระหว่างการเติบโตในความหมายตรงตัวกับการเติบโตฝ่ายวิญญาณที่พระเยซูทรงเน้น?
• “ผู้หว่านกับผู้เกี่ยว . . . ชื่นชมยินดีด้วยกัน” อย่างไร?
[ภาพหน้า 13]
เหตุใดพระเยซูทรงเปรียบผู้ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าว่าเป็นผู้หว่านเมล็ดพืช?
[ภาพหน้า 15]
คนที่ถูกเปรียบเป็นดินดีเข้าร่วมการประกาศเรื่องราชอาณาจักรอย่างสุดหัวใจตามสภาพการณ์ของตน
[ภาพหน้า 16]
พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต