จงใกล้ชิดพระเจ้า
“พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง”
หลายสิ่งในชีวิต เช่น ความทุกข์, ความผิดหวัง, ความเหงา อาจทำให้เศร้าเสียใจ หรือถึงกับท้อแท้สิ้นหวัง. ในเวลาเช่นนั้นคุณอาจสงสัยว่า ‘ใครจะช่วยฉันได้?’ ถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่พบใน 2 โครินท์ 1:3, 4 ชี้ถึงแหล่งแห่งการชูใจที่แน่นอน นั่นคือ พระยะโฮวาพระเจ้า.
ในข้อ 3 พระเจ้าทรงได้รับการขนานนามว่า “พระบิดาแห่งความเมตตากรุณา.” คำนี้หมายความว่าอย่างไร? คำภาษากรีกที่แปลว่า “ความเมตตากรุณา” สามารถถ่ายทอดแนวคิดเรื่องความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น.a หนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งกล่าวว่า คำนี้อาจแปลว่า “รู้สึกสงสาร” หรือ “ห่วงใยอย่างยิ่ง.” “ความเมตตากรุณา” ของพระเจ้ากระตุ้นพระองค์ให้ลงมือทำบางสิ่ง. การได้รู้จักบุคลิกภาพของพระเจ้าในแง่มุมนี้ทำให้เราอยากใกล้ชิดพระองค์มิใช่หรือ?
นอกจากนี้ เปาโลกล่าวถึงพระยะโฮวาด้วยว่าทรงเป็น “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.” ในวลีนี้อัครสาวกเปาโลใช้คำหนึ่งซึ่งกล่าวกันว่าครอบคลุม “แนวคิดเรื่องการปลอบโยนผู้ที่กำลังประสบปัญหาหรือเศร้าเสียใจและการลงมือให้ความช่วยเหลือหรือให้กำลังใจแก่พวกเขา.” หนังสือคัมภีร์ไบเบิลของผู้แปล (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “เราชูใจผู้ที่ทนทุกข์เมื่อเราทำให้เขามีความกล้าที่จะอดทนกับความเจ็บปวดของตน.”
คุณอาจถามว่า ‘พระเจ้าทรงชูใจเราและทำให้เรามีความกล้าที่จะอดทนกับความทุกข์ของเราโดยวิธีใด?’ วิธีหลักที่พระองค์ทรงใช้คือโดยทางคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์และโดยทางการอธิษฐานซึ่งเป็นของประทานจากพระองค์. เปาโลบอกเราว่า เนื่องด้วยความรัก พระเจ้าทรงประทานพระคำของพระองค์แก่เรา เพื่อ “เราจะมีความหวัง . . . โดยการชูใจจากพระคัมภีร์.” นอกจากนี้ โดยการอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจ เราสามารถจะมี “สันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่าง.”—โรม 15:4; ฟิลิปปอย 4:7.
พระยะโฮวาทรงชูใจประชาชนของพระองค์มากขนาดไหน? เปาโลบอกว่าพระเจ้าทรง “ชูใจเราทุกครั้งที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก.” (2 โครินท์ 1:4) ไม่ว่าเราจะรู้สึกกดดัน, ปวดร้าวใจ, หรือเป็นทุกข์เนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม พระเจ้าทรงสามารถประทานความกล้าและกำลังที่จำเป็นแก่เราเพื่อช่วยให้เราอดทน. เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมิใช่หรือ?
การชูใจที่พระเจ้าประทานให้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ผู้รับเท่านั้น. เปาโลกล่าวต่อไปว่าพระเจ้าทรงชูใจเราเพื่อ “เราจะชูใจคนที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบากต่าง ๆ ได้เนื่องจากเราเองได้รับการชูใจจากพระเจ้า.” เนื่องจากได้รับการชูใจจากพระเจ้าในยามที่มีความทุกข์ลำบาก เราจึงได้รับการช่วยให้ร่วมรู้สึกกับคนอื่นและถูกกระตุ้นให้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ที่ต้องการ.
ในฐานะ “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง” พระยะโฮวาไม่ได้ทรงยุติปัญหาหรือความเจ็บปวดของเราเสมอไป. ถึงกระนั้น เราก็แน่ใจได้ว่า ถ้าเราขอการชูใจจากพระองค์ พระองค์สามารถช่วยให้เรามีกำลังเพื่อจะอดทนและเอาชนะความเศร้าเสียใจหรือปัญหาใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต. พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจเช่นนี้สมควรจะได้รับการนมัสการและคำสรรเสริญจากเราอย่างแท้จริง.
[เชิงอรรถ]
a พระเจ้าทรงได้รับการขนานนามว่า “พระบิดา [หรือแหล่ง] แห่งความเมตตากรุณา” เพราะความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเกิดมาจากพระองค์และเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระองค์.