เข้าใจบทบาทของพระเยซู ผู้ยิ่งใหญ่กว่าดาวิดและโซโลมอน
“ผู้ที่ใหญ่กว่าโซโลมอนอยู่นี่.”—มัด. 12:42
1, 2. จากมุมมองของมนุษย์ เหตุใดจึงน่าแปลกใจที่ซามูเอลได้รับคำสั่งให้เจิมดาวิดเป็นกษัตริย์?
เขาดูไม่เหมือนคนที่จะเป็นกษัตริย์. สำหรับผู้พยากรณ์ซามูเอล ดู ๆ แล้วเขาเป็นแค่หนุ่มน้อยที่เป็นคนเลี้ยงแกะมากกว่า. นอกจากนั้น เบทเลเฮมบ้านเกิดของเขาก็ไม่ใช่เมืองที่โดดเด่น. มีคำพรรณนาเมืองนี้ว่า “เล็กเกินกว่าจะนับเป็นเมืองในยูดาห์.” (มีคา 5:2, ล.ม.) ถึงกระนั้น ชายหนุ่มที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญอะไรซึ่งมาจากเมืองเล็ก ๆ ผู้นี้กำลังจะได้รับการเจิมจากผู้พยากรณ์ซามูเอลให้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอลในอนาคต.
2 หนุ่มน้อยดาวิดไม่ใช่บุตรคนแรกที่ยิซัยเสนอให้ซามูเอลเจิมเป็นกษัตริย์; และก็ไม่ใช่คนที่สองหรือคนที่สามด้วย. ดาวิด ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนบุตรแปดคนของยิซัย ไม่ได้อยู่บ้านด้วยซ้ำตอนที่ซามูเอลมาหาครอบครัวยิซัยเพื่อเจิมบุตรคนหนึ่งของชายที่ซื่อสัตย์ผู้นี้ให้เป็นกษัตริย์คนต่อไปของแผ่นดิน. แต่ดาวิดเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงเลือก และนั่นแหละคือเรื่องที่นับว่าสำคัญ.—1 ซามู. 16:1-10
3. (ก) พระยะโฮวาทรงถือว่าอะไรสำคัญที่สุดเมื่อพระองค์ทรงพิจารณาใครคนหนึ่ง? (ข) เกิดอะไรขึ้นเมื่อดาวิดได้รับการเจิมแล้ว?
3 พระยะโฮวาทรงเห็นสิ่งที่ซามูเอลมองไม่เห็น. พระเจ้าทรงทราบสิ่งที่อยู่ในหัวใจของดาวิด และพระองค์ทรงพอพระทัยในสิ่งที่พระองค์เห็น. สำหรับพระเจ้า สิ่งที่นับว่าสำคัญไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นภายนอก; สิ่งที่สำคัญก็คือบุคคลผู้นั้นเป็นอย่างไรจริง ๆ ในส่วนลึกของเขา. (อ่าน 1 ซามูเอล 16:7) ดังนั้น เมื่อซามูเอลรู้ว่าพระยะโฮวาไม่ได้เลือกบุตรชายเจ็ดคนแรกของยิซัย ท่านจึงขอให้คนไปตามบุตรชายคนสุดท้องจากทุ่งเลี้ยงสัตว์. บันทึกบอกว่า “เจสซีก็ใช้คนไปนำ [ดาวิด] มา ฝ่ายเขาเป็นคนผิวแดง ๆ มีหน้าตาสวยและรูปร่างงามน่าดู และพระเจ้าตรัสว่า ‘จงลุกขึ้นเจิมตั้งเขาไว้เพราะเป็นคนนี้แหละ’ ซามูเอลจึงนำขวดเขาน้ำมันและเจิมตั้งเขาไว้ท่ามกลางพี่ชายของเขา และพระวิญญาณของพระเจ้าก็สวมทับดาวิดอย่างมากตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป.”—1 ซามู. 16:12, 13, ฉบับ R73
ดาวิดเป็นภาพเล็งถึงพระคริสต์
4, 5. (ก) จงพรรณนาสิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างดาวิดกับพระเยซู. (ข) เหตุใดพระเยซูจึงถูกเรียกว่าผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าดาวิด?
4 เช่นเดียวกับดาวิด พระเยซูประสูติในเมืองเบทเลเฮม ประมาณ 1,100 ปีหลังสมัยของดาวิด. ในสายตาของหลายคน พระเยซูก็ดูไม่เหมือนคนที่จะเป็นกษัตริย์ด้วย. ที่เป็นอย่างนั้นเพราะพระองค์ไม่ใช่กษัตริย์แบบที่หลายคนในชาติอิสราเอลตั้งความหวังไว้. ถึงกระนั้น เช่นเดียวกับดาวิด พระองค์ทรงเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงเลือก. และเช่นเดียวกับดาวิด พระองค์ทรงเป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงรัก.a (ลูกา 3:22) ในกรณีของพระเยซู ‘พระวิญญาณของพระเจ้าก็สวมทับพระองค์’ ด้วย.
5 ยังมีความคล้ายคลึงอื่น ๆ อีกระหว่างดาวิดกับพระเยซู. ตัวอย่างเช่น ดาวิดถูกอะฮีโธเฟลซึ่งเป็นที่ปรึกษาทรยศ และพระเยซูทรงถูกยูดาอิสการิโอตซึ่งเป็นอัครสาวกทรยศ. (เพลง. 41:9; โย. 13:18) ทั้งดาวิดและพระเยซูมีใจแรงกล้าอย่างยิ่งต่อสถานนมัสการพระยะโฮวา. (เพลง. 27:4; 69:9; โย. 2:17) นอกจากนั้น พระเยซูทรงเป็นรัชทายาทของดาวิด. ก่อนพระเยซูประสูติ ทูตสวรรค์องค์หนึ่งบอกกับมารดาของพระองค์ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดราชบิดาของท่านให้แก่ท่าน.” (ลูกา 1:32; มัด. 1:1) อย่างไรก็ดี พระเยซูผู้เป็นกษัตริย์มาซีฮาที่ผู้คนรอคอยมานานยิ่งใหญ่กว่าดาวิดเพราะคำสัญญาทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับพระมาซีฮาจะสำเร็จเป็นจริงกับพระองค์.—โย. 7:42
จงติดตามกษัตริย์ผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะ
6. ดาวิดเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีอย่างไร?
6 พระเยซูทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วย. ลักษณะของผู้เลี้ยงแกะที่ดีเป็นอย่างไร? เขาเป็นคนที่คอยดูแล, เลี้ยงดู, และปกป้องฝูงแกะอย่างซื่อสัตย์และกล้าหาญ. (เพลง. 23:2-4) เมื่อยังหนุ่ม ดาวิดเป็นคนเลี้ยงแกะ และท่านดูแลแกะของบิดาอย่างดี. ท่านแสดงความกล้าหาญเมื่อฝูงแกะตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องฝูงแกะจากสิงโตและหมี.—1 ซามู. 17:34, 35
7. (ก) อะไรช่วยเตรียมดาวิดให้พร้อมทำหน้าที่เป็นกษัตริย์? (ข) พระเยซูทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่ดีอย่างไร?
7 ช่วงเวลาหลายปีที่ดาวิดใช้ชีวิตเป็นคนเลี้ยงแกะในท้องทุ่งและเนินเขาช่วยเตรียมท่านไว้ให้พร้อมสำหรับหน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ ในการบำรุงเลี้ยงชาติอิสราเอลซึ่งต้องทุ่มเทเวลาและความเอาใจใส่อย่างมาก.b (เพลง. 78:70, 71) เช่นเดียวกัน พระเยซูก็ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็นผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะที่เป็นแบบอย่าง. พระองค์ได้รับกำลังและการชี้นำจากพระยะโฮวาขณะที่พระองค์ทรงบำรุงเลี้ยง “แกะฝูงน้อย” และ “แกะอื่น.” (ลูกา 12:32; โย. 10:16) ด้วยเหตุนั้น พระเยซูจึงทรงเป็นผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี. พระองค์ทรงรู้จักฝูงแกะของพระองค์อย่างดีถึงขนาดที่ทรงเรียกแกะแต่ละตัวตามชื่อของมัน. พระองค์ทรงรักแกะของพระองค์มากถึงขนาดที่เมื่อยังทรงอยู่บนแผ่นดินโลกพระองค์ทรงเต็มพระทัยสละชีวิตเพื่อประโยชน์ของพวกเขา. (โย. 10:3, 11, 14, 15) ในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงที่ดี พระเยซูทรงทำสิ่งหนึ่งให้สำเร็จซึ่งดาวิดไม่มีทางทำได้. เครื่องบูชาไถ่ของพระองค์เปิดทางให้มนุษยชาติได้รับการช่วยให้พ้นจากความตาย. เป็นเรื่องแน่นอนที่สุดว่าพระองค์จะนำ “แกะฝูงน้อย” ของพระองค์ไปสู่ชีวิตอมตะในสวรรค์ และนำ “แกะอื่น” ไปสู่ชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ซึ่งปราศจากนักล่าที่เป็นเหมือนหมาป่า.—อ่านโยฮัน 10:27-29
จงติดตามกษัตริย์ผู้พิชิต
8. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ผู้พิชิต?
8 ในฐานะกษัตริย์ ดาวิดเป็นนักรบที่เด็ดเดี่ยวซึ่งปกป้องแผ่นดินของประชาชนของพระเจ้า และ “พระเจ้าทรงประทานชัยชนะแก่ดาวิดไม่ว่าจะเสด็จไปรบ ณ ที่ใด.” ด้วยการนำของดาวิด เขตแดนของชาติได้ขยายออกไปจนมีขอบเขตนับตั้งแต่แม่น้ำอียิปต์ไปจนถึงแม่น้ำยูเฟรทิส. (2 ซามู. 8:1-14, ฉบับ R73) ด้วยความเข้มแข็งที่ได้รับจากพระยะโฮวา ท่านเป็นผู้ปกครองที่ทรงอำนาจมากที่สุดคนหนึ่ง. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “กิตติศัพท์ของกษัตริย์ดาวิดได้เลื่องลือไปทั่วนานาประเทศ; และพระยะโฮวาทรงบันดาลให้ชาติทั้งปวง มีความเกรงกลัวท่าน.”—1 โคร. 14:17
9. จงอธิบายว่าพระเยซูในฐานะที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ในอนาคตเป็นผู้พิชิตอย่างไร.
9 เช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิด เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลกพระองค์ไม่หวาดหวั่นสิ่งใด. ในฐานะผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ในอนาคต พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีอำนาจเหนือพวกปิศาจโดยทรงช่วยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อให้หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของพวกมัน. (มโก. 5:2, 6-13; ลูกา 4:36) แม้แต่ศัตรูตัวสำคัญ คือซาตานพญามาร ก็ไม่มีอำนาจเหนือพระองค์. โดยได้รับการสนับสนุนจากพระยะโฮวา พระเยซูทรงชนะโลกนี้ที่อยู่ในอำนาจของซาตาน.—โย. 14:30; 16:33; 1 โย. 5:19
10, 11. พระเยซูทรงมีบทบาทอะไรในฐานะกษัตริย์นักรบในสวรรค์?
10 ประมาณ 60 ปีหลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ คืนพระชนม์และเสด็จสู่สวรรค์ อัครสาวกโยฮันได้รับนิมิตเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูผู้มีบทบาทเป็นกษัตริย์นักรบในสวรรค์. โยฮันเขียนว่า “ข้าพเจ้าจึงเห็นม้าขาวตัวหนึ่ง ผู้ที่ทรงม้านั้นมีธนูและได้รับมงกุฎ และพระองค์ทรงออกไปอย่างผู้มีชัยเพื่อทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน.” (วิ. 6:2) ผู้ที่ทรงม้าขาวนั้นคือพระเยซู. พระองค์ “ได้รับมงกุฎ” ในปี 1914 เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรในสวรรค์. หลังจากนั้น “พระองค์ทรงออกไปอย่างผู้มีชัย.” เช่นเดียวกับดาวิด พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ผู้พิชิต. ไม่นานหลังจากพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า พระองค์ทรงชนะในการทำสงครามกับซาตานและเหวี่ยงมันกับพวกปิศาจบริวารของมันลงมายังแผ่นดินโลก. (วิ. 12:7-9) การทรงม้าออกไปอย่างผู้มีชัยจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระองค์จะ “ทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน” ด้วยการทำลายระบบชั่วของซาตานอย่างสิ้นเชิง.—อ่านวิวรณ์ 19:11, 19-21
11 อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ที่เห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกับดาวิด และพระองค์จะปกป้อง “ชนฝูงใหญ่” ให้รอดผ่านอาร์มาเก็ดดอน. (วิ. 7:9, 14) นอกจากนั้น ภายใต้การปกครองของพระเยซูและรัชทายาทร่วม 144,000 คนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย “ทั้งคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรมจะกลับเป็นขึ้นจากตาย.” (กิจ. 24:15) คนที่ถูกปลุกให้มีชีวิตบนแผ่นดินโลกจะมีความหวังที่จะอยู่ตลอดไป. อนาคตที่รอพวกเขาอยู่ช่างยอดเยี่ยมจริง ๆ! ขอเราทุกคนตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ “ประพฤติการดี” ต่อ ๆ ไป เพื่อเราจะมีชีวิตอยู่เมื่อแผ่นดินโลกเต็มไปด้วยราษฎรที่ชอบธรรมและมีความสุขภายใต้การปกครองของผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าดาวิด.—เพลง. 37:27-29
คำอธิษฐานขอสติปัญญาของโซโลมอนได้รับคำตอบ
12. โซโลมอนอธิษฐานขออะไร?
12 โซโลมอน ราชบุตรของดาวิด ก็เป็นภาพเล็งถึงพระเยซูด้วย.c เมื่อโซโลมอนขึ้นเป็นกษัตริย์ พระยะโฮวาทรงปรากฏแก่ท่านในความฝัน และตรัสว่าพระองค์จะประทานสิ่งใดก็ตามที่ท่านขอ. โซโลมอนอาจจะทูลขอความมั่งคั่งและอำนาจมากขึ้นหรือขอให้มีอายุยืนยาวก็ได้. แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น ท่านทูลขอพระยะโฮวาอย่างไม่เห็นแก่ตัวว่า “บัดนี้ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานสติปัญญาให้แก่ข้าพเจ้า, เพื่อข้าพเจ้าจะได้ออกไปและเข้ามาต่อหน้าพลไพร่นั้น ด้วยว่าผู้ใดอาจจะครอบครองพลไพร่พวกใหญ่ของพระองค์นี้ได้?” (2 โคร. 1:7-10) พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของโซโลมอน.—อ่าน 2 โครนิกา 1:11, 12
13. สติปัญญาของโซโลมอนนั้นหาใครเทียบไม่ได้อย่างไร และท่านได้สติปัญญามาจากไหน?
13 ตราบเท่าที่โซโลมอนซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา ถ้อยคำอันเปี่ยมด้วยสติปัญญาของท่านไม่มีใครในในยุคเดียวกันจะเทียบได้. โซโลมอนแต่ง “คำสุภาษิตสามพันข้อ.” (1 กษัต. 4:30, 32, 34) สุภาษิตเหล่านั้นหลายข้อถูกบันทึกไว้และบรรดาคนที่แสวงหาสติปัญญาก็ยังคงถือว่ามีค่าอย่างยิ่ง. ราชินีแห่งชีบาเดินทางไกลประมาณ 2,400 กิโลเมตรเพื่อจะทดสอบสติปัญญาของโซโลมอนด้วย “คำปริศนาอันลึกซึ้ง.” พระนางประทับใจคำตรัสของโซโลมอนและความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรของท่าน. (1 กษัต. 10:1-9) คัมภีร์ไบเบิลบอกที่มาของสติปัญญาของโซโลมอนว่า “ประชาชนทั่วโลกก็มาเฝ้ากษัตริย์ซะโลโมเพื่อจะฟังพระสติปัญญาของพระองค์, ซึ่งพระเจ้าได้ทรงบันดาลให้มีในพระทัยของพระองค์นั้น.”—1 กษัต. 10:24
จงติดตามกษัตริย์ผู้ฉลาดสุขุม
14. พระเยซูทรงเป็น “ผู้ที่ใหญ่กว่าโซโลมอน” อย่างไร?
14 มีมนุษย์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีสติปัญญาเหนือกว่าโซโลมอน. มนุษย์ผู้นั้นคือพระเยซูคริสต์ ซึ่งทรงพรรณนาพระองค์เองว่าเป็น “ผู้ที่ใหญ่กว่าโซโลมอน.” (มัด. 12:42) พระเยซูตรัส “ถ้อยคำที่ให้ชีวิตนิรันดร์.” (โย. 6:68) ตัวอย่างเช่น คำเทศน์บนภูเขาของพระองค์ขยายความหลักการที่อยู่ในสุภาษิตบางข้อของโซโลมอน. โซโลมอนพรรณนาถึงหลายสิ่งที่ทำให้ผู้นมัสการของพระยะโฮวามีความสุข. (สุภา. 3:13; 8:32, 33; 14:21; 16:20) พระเยซูทรงเน้นว่าความสุขแท้มาจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการพระยะโฮวาและความสำเร็จเป็นจริงตามคำสัญญาของพระเจ้า. พระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณก็มีความสุข เพราะราชอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา.” (มัด. 5:3) คนที่ใช้หลักการที่พบในคำสอนของพระเยซูถูกชักนำให้เข้ามาใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระยะโฮวาผู้เป็น “น้ำพุแห่งชีวิต.” (เพลง. 36:9; สุภา. 22:11; มัด. 5:8) พระคริสต์ทรงเป็นผู้ที่แสดงให้เห็น “พระสติปัญญาของพระเจ้า.” (1 โค. 1:24, 30) ในฐานะกษัตริย์มาซีฮา พระเยซูคริสต์ทรงมี “วิญญาณแห่งปัญญา.”—ยซา. 11:2, ล.ม.
15. เราจะได้รับประโยชน์จากสติปัญญาของพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
15 พวกเราที่เป็นสาวกของผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอนจะได้รับประโยชน์จากสติปัญญาของพระเจ้าได้โดยวิธีใด? เนื่องจากสติปัญญาของพระยะโฮวามีเปิดเผยไว้ในพระคำของพระองค์ เราต้องพยายามหาสติปัญญานั้นให้พบด้วยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตรัสของพระเยซูที่มีบันทึกไว้ และโดยใคร่ครวญสิ่งที่เราอ่าน. (สุภา. 2:1-5) นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องหมั่นขอสติปัญญาจากพระเจ้าอยู่เสมอ. พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่าคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือด้วยน้ำใสใจจริงของเราจะได้รับคำตอบ. (ยโก. 1:5) ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะพบกับสติปัญญาอันล้ำค่าดุจอัญมณีในพระคำของพระเจ้าซึ่งสามารถช่วยเราให้รับมือกับข้อท้าทายต่าง ๆ และตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม. (ลูกา 11:13) โซโลมอนยังถูกเรียกด้วยว่า “ท่านผู้รวบรวม” ซึ่ง “ได้สอนความรู้ให้แก่ประชาชนอยู่เรื่อยไป.” (ผู้ป. 12:9, 10, ล.ม.) พระเยซูผู้เป็นประมุขประชาคมคริสเตียนทรงเป็นผู้รวบรวมประชาชนของพระองค์ด้วยเช่นกัน. (โย. 10:16; โกโล. 1:18) ด้วยเหตุนั้น เราควรเข้าร่วมการประชุมประจำประชาคม ซึ่งที่นั่นเรา ‘ได้รับการสอนอยู่เรื่อยไป.’
16. มีอะไรที่คล้ายคลึงกันระหว่างโซโลมอนกับพระเยซู?
16 โซโลมอนเป็นกษัตริย์ที่สร้างผลงานมากมาย. ท่านจัดให้มีโครงการก่อสร้างทั่วประเทศ ดูแลการสร้างพระราชวัง, ถนนหนทาง, ระบบกักเก็บและจ่ายน้ำ, หัวเมืองคลังหลวง, หัวเมืองสำหรับรถรบ, และหัวเมืองสำหรับพลม้า. (1 กษัต. 9:17-19, ฉบับ R73) ผู้คนทั่วราชอาณาจักรได้รับประโยชน์จากงานก่อสร้างของท่าน. พระเยซูทรงเป็นนักก่อสร้างด้วยเช่นกัน. พระองค์ทรงสร้างประชาคมของพระองค์ไว้บน “ศิลา.” (มัด. 16:18) พระองค์จะทรงดูแลงานก่อสร้างที่จะทำกันในโลกใหม่ด้วย.—ยซา. 65:21, 22
จงติดตามองค์สันติราช
17. (ก) การปกครองของโซโลมอนมีอะไรที่นับว่าเด่น? (ข) โซโลมอนไม่สามารถทำอะไรได้?
17 รากศัพท์ของชื่อโซโลมอนมีความหมายว่า “สันติสุข.” กษัตริย์โซโลมอนปกครองจากกรุงเยรูซาเลม ซึ่งชื่อนี้มีความหมายว่า “มีสันติสุขสองเท่า.” การปกครองของท่านซึ่งนาน 40 ปีมีสันติสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อนในชาติอิสราเอล. คัมภีร์ไบเบิลรายงานเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นว่า “ชาวยูดาและยิศราเอลนั้นก็ได้อาศัยอยู่โดยความผาสุก, ทุกคนก็อยู่ใต้เถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน, ตั้งแต่เมืองดานจนถึงเมืองบะเอละซาบา, ตลอดพระชนม์แห่งกษัตริย์ซะโลโม.” (1 กษัต. 4:25) ถึงกระนั้น โซโลมอนซึ่งมีสติปัญญามากมายก็ไม่สามารถช่วยราษฎรให้หลุดพ้นพันธนาการของความเจ็บป่วย, บาป, และความตาย. แต่ผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอนจะช่วยราษฎรของพระองค์ให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด.—อ่านโรม 8:19-21
18. ในประชาคมคริสเตียน เราได้รับพระพรอะไร?
18 แม้แต่เวลานี้ในประชาคมคริสเตียน เรามีสันติสุข. ที่จริง เราอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณอย่างแท้จริง. เรามีสันติสุขกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์. ขอให้สังเกตสิ่งที่ยะซายาห์พยากรณ์เกี่ยวกับสภาพที่เราประสบกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ว่า “เขาทั้งหลายจะเอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา, และเอาหอกตีเป็นขอสำหรับลิดแขนง; ประเทศต่อประเทศจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้กัน, และเขาจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” (ยซา. 2:3, 4) โดยประพฤติสอดคล้องกับพระวิญญาณของพระเจ้า เรามีส่วนสนับสนุนความงดงามของอุทยานฝ่ายวิญญาณ.
19, 20. เรามีเหตุผลอะไรที่จะชื่นชมยินดี?
19 อย่างไรก็ตาม อนาคตจะดียิ่งกว่านั้นอีก. เมื่อมนุษย์ที่เชื่อฟังมีสันติสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้การปกครองของพระเยซู พวกเขาจะค่อย ๆ “ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสความเสื่อม” จนกระทั่งบรรลุความสมบูรณ์. (โรม 8:21) หลังจากที่พวกเขาผ่านการทดสอบครั้งสุดท้ายตอนสิ้นรัชสมัยพันปี “คนทั้งหลายที่มีใจถ่อมลงจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก, และเขาจะชื่นชมยินดีด้วยความสงบสุขอันบริบูรณ์.” (เพลง. 37:11; วิ. 20:7-10) จริงทีเดียว การปกครองของพระคริสต์เยซูจะดีเยี่ยมกว่าการปกครองของโซโลมอนในหลายทางอย่างที่เราไม่อาจนึกภาพออกได้ในตอนนี้!
20 เช่นเดียวกับที่ชาติอิสราเอลชื่นชมยินดีภายใต้การนำของโมเซ, ดาวิด, และโซโลมอน เราจะชื่นชมยินดียิ่งกว่านั้นอีกภายใต้การปกครองของพระคริสต์. (1 กษัต. 8:66) พวกเรารู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาอย่างเหลือล้นที่ทรงส่งพระบุตรองค์เดียว—ผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ, ดาวิด, และโซโลมอน—มาช่วยเรา!
[เชิงอรรถ]
a ชื่อดาวิดอาจมีความหมายว่า “เป็นที่รัก.” ตอนที่พระเยซูทรงรับบัพติสมาและอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดนิมิตการเปลี่ยนรูปพระกาย พระยะโฮวาตรัสจากสวรรค์โดยเรียกพระองค์ว่า “บุตรที่รักของเรา.”—มัด. 3:17; 17:5
b ในขณะเดียวกัน ดาวิดก็เป็นเหมือนแกะที่ไว้ใจผู้เลี้ยง. ท่านหมายพึ่งพระยะโฮวา ผู้บำรุงเลี้ยงองค์ยิ่งใหญ่ ให้ช่วยปกป้องและชี้นำท่าน. ท่านกล่าวด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า “พระยะโฮวาเป็นผู้ทรงบำรุงเลี้ยงข้าพเจ้า; ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน.” (เพลง. 23:1) โยฮันผู้ให้บัพติสมาระบุว่าพระเยซูทรงเป็น “พระเมษโปดก [ลูกแกะ] ของพระเจ้า.”—โย. 1:29
c น่าสนใจ โซโลมอนมีอีกชื่อหนึ่งว่ายะดิดะยา ซึ่งหมายความว่า “เป็นที่รักของยาห์.”—2 ซามู. 12:24, 25
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่าดาวิดอย่างไร?
• พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอนอย่างไร?
• คุณชื่นชมพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าดาวิดและโซโลมอนในเรื่องใดบ้าง?
[ภาพหน้า 31]
สติปัญญาที่พระเจ้าประทานแก่โซโลมอนเป็นภาพเล็งถึงสติปัญญาของพระเยซูผู้ยิ่งใหญ่กว่าโซโลมอน
[ภาพหน้า 32]
การปกครองของพระเยซูจะดีเยี่ยมกว่าการปกครองของโซโลมอนและดาวิดในหลายทางอย่างที่เราไม่อาจนึกภาพออกได้ในตอนนี้!