ผู้ดูแลครัวเรือนที่ซื่อสัตย์และคณะกรรมการปกครองซึ่งเป็นตัวแทน
“ที่จริง ใครเป็นผู้ดูแลครัวเรือนที่ซื่อสัตย์และสุขุมซึ่งนายจะตั้งให้ดูแลหมู่คนรับใช้เพื่อคอยให้ อาหารแก่พวกเขาอย่างเพียงพอในเวลาอันเหมาะ?”—ลูกา 12:42, เชิงอรรถ
1, 2. พระเยซูทรงตั้งคำถามสำคัญอะไรขณะที่ทรงบอกถึงเหตุการณ์ที่ประกอบกันเป็นสัญญาณของสมัยสุดท้าย?
ขณะที่พระเยซูทรงบอกว่าจะมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ประกอบกันเป็นสัญญาณซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นสมัยสุดท้าย พระองค์ทรงตั้งคำถามนี้: “ที่จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายตั้งไว้ให้ดูแลพวกคนรับใช้ เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ?” แล้วพระเยซูก็ตรัสต่อไปว่าทาสนี้จะได้รับบำเหน็จสำหรับความซื่อสัตย์ของเขาโดยได้รับแต่งตั้งให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.—มัด. 24:45-47
2 หลายเดือนก่อนหน้านั้น พระเยซูทรงถามคล้าย ๆ กันนั้น. (อ่านลูกา 12:42-44 และเชิงอรรถ) พระองค์ทรงเรียกทาสนั้นว่า “ผู้ดูแลครัวเรือน.” ผู้ดูแลครัวเรือนเป็นพ่อบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจเหนือหมู่คนรับใช้. แต่ผู้ดูแลครัวเรือนก็เป็นคนรับใช้ด้วย. ทาสหรือผู้ดูแลครัวเรือนนี้คือใคร และเขาจัดเตรียม “อาหาร . . . ในเวลาอันเหมาะ” อย่างไร? เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราทุกคนจะรู้จักช่องทางที่ถูกใช้เพื่อจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณให้เรา.
3. (ก) ผู้ให้คำอธิบายจากคริสต์ศาสนจักรพยายามอธิบายคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับ “ทาส” อย่างไร? (ข) “ผู้ดูแลครัวเรือน” หรือ “ทาส” คือใคร และ “หมู่คนรับใช้” หรือ “พวกคนรับใช้” คือใคร?
3 ผู้ให้คำอธิบายจากคริสต์ศาสนจักรมักถือว่าคำตรัสดังกล่าวของพระเยซูหมายถึงคนที่มีตำแหน่งที่รับผิดชอบในหมู่คนที่ประกาศตนเป็นคริสเตียน. แต่พระเยซู ผู้เป็น “นาย” ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ ไม่ได้ตรัสว่าจะมีทาสจำนวนมากมายกระจายอยู่ทั่วไปในนิกายต่าง ๆ ของคริสต์ศาสนจักร. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่าจะมี “ผู้ดูแลครัวเรือน” หรือ “ทาส” เพียงคนเดียวที่พระองค์จะตั้งไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมด ของพระองค์. ฉะนั้น ดังที่วารสารนี้มักอธิบายอยู่บ่อย ๆ ผู้ดูแลครัวเรือนจึงต้องหมายถึง “แกะฝูงน้อย” แห่งเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมซึ่งเป็นกลุ่มบุคคล. ในบริบทของกิตติคุณของลูกา พระเยซูเพิ่งตรัสถึงคนเหล่านี้. (ลูกา 12:32) “หมู่คนรับใช้”หรือ “พวกคนรับใช้” หมายถึงคนกลุ่มเดียวกันนี้ แต่เน้นบทบาทของพวกเขาเป็นรายบุคคล. มีคำถามที่น่าคิดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นว่า สมาชิกแต่ละคนของชนชั้นทาสนี้มีส่วนในการจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะไหม? คำตอบจะเห็นได้ชัดเมื่อเราพิจารณาอย่างละเอียดถึงสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวไว้.
ผู้รับใช้ของพระยะโฮวา ในสมัยอดีต
4. พระยะโฮวาตรัสถึงชาติอิสราเอลโบราณอย่างไร และเป็นเรื่องสำคัญที่จะสังเกตอะไรเกี่ยวกับชาตินี้?
4 พระยะโฮวาตรัสถึงชาติอิสราเอลโบราณซึ่งเป็นประชาชนของพระองค์ราวกับว่าพวกเขาทั้งชาติเป็นผู้รับใช้คนหนึ่ง. “พระยะโฮวาตรัสว่า, “เจ้าทั้งหลาย [พหูพจน์] เป็นพยาน [พหูพจน์] ของเรา, และเป็นผู้รับใช้ [เอกพจน์] ของเราที่เราได้เลือกสรรไว้.” (ยซา. 43:10) สมาชิกทั้งหมดของชาตินี้ถูกนับรวมอยู่ในชนชั้นผู้รับใช้นี้. อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่จะสังเกตว่าเฉพาะเหล่าปุโรหิตกับชาวเลวีที่ไม่ใช่ปุโรหิตเท่านั้นที่มีหน้าที่รับชอบในการสอนชาตินี้.—2 โคร. 35:3; มลคี. 2:7
5. ตามที่พระเยซูตรัส จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อะไร?
5 ชาติอิสราเอลคือทาสที่พระเยซูตรัสถึงไหม? ไม่. เรารู้อย่างนั้นเพราะพระเยซูตรัสกับชาวยิวในสมัยของพระองค์ว่า “ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกเอาไปจากพวกเจ้าแล้วมอบให้แก่ชนชาติหนึ่งซึ่งจะเกิดผลที่เหมาะสมกับราชอาณาจักร.” (มัด. 21:43) เห็นได้ชัดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น. พระยะโฮวาจะทรงใช้ชาติใหม่อีกชาติหนึ่ง. อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการสอนทางฝ่ายวิญญาณ งานของทาสในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูใช้วิธีที่คล้ายคลึงกับแบบแผนของ “ผู้รับใช้” ของพระเจ้าในอิสราเอลโบราณ.
ทาสสัตย์ซื่อปรากฏตัว
6. เกิดมีชาติใหม่ชาติใดขึ้นมาในวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 และใครได้มาเป็นส่วนหนึ่งของชาตินี้?
6 ชาติใหม่นี้ คือ “อิสราเอลของพระเจ้า” ประกอบด้วยชาวอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ. (กลา. 6:16; โรม 2:28, 29; 9:6) ชาตินี้เกิดขึ้นมาโดยการเทพระวิญญาณของพระเจ้าในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33. หลังจากนั้น คริสเตียนทั้งหมดที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาตินี้ซึ่งรับใช้เป็นชนชั้นทาสที่พระเยซูคริสต์ผู้เป็นนายได้แต่งตั้งไว้. สมาชิกแต่ละคนของชาตินี้ได้รับมอบหมายให้ประกาศข่าวดีและทำให้คนเป็นสาวก. (มัด. 28:19, 20) แต่สมาชิกทุกคนของกลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะไหม? ให้เรามาดูว่าพระคัมภีร์ตอบอย่างไรในเรื่องนี้.
7. ทีแรก งานหลักของเหล่าอัครสาวกคืออะไร และภายหลังพวกเขารับหน้าที่รับผิดชอบอะไรเพิ่มขึ้น?
7 เมื่อพระเยซูทรงตั้งอัครสาวก 12 คน งานหลักของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการที่พวกเขาถูกส่งออกไปประกาศข่าวดีแก่คนอื่น ๆ. (อ่านมาระโก 3:13-15) งานมอบหมายนี้สอดคล้องกับความหมายพื้นฐานของคำภาษากรีกอะโพสโทโลส ที่แปลว่าอัครสาวก ซึ่งมาจากคำกริยาที่หมายถึง “ส่งไป.” อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปและประชาคมคริสเตียนจวนจะถูกก่อตั้งขึ้น บทบาทของอัครสาวกก็กลายเป็น ‘หน้าที่ในการดูแล.’—กิจ. 1:20-26
8, 9. (ก) เรื่องสำคัญที่อัครสาวก 12 คนเป็นห่วงคืออะไร? (ข) ดังที่คณะกรรมการปกครองยืนยัน มีใครอีกซึ่งได้รับหน้าที่รับผิดชอบพิเศษ?
8 เรื่องหลักที่อัครสาวก 12 คนเป็นห่วงคืออะไร? เราจะเห็นคำตอบได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวันเพนเทคอสต์. เมื่อเกิดการโต้แย้งกันเกี่ยวกับการแจกอาหารประจำวันแก่แม่ม่าย อัครสาวก 12 คนก็เรียกประชุมเหล่าสาวกและกล่าวว่า “ถ้าพวกเราจะละการสอนพระคำของพระเจ้าไปแจกอาหารย่อมไม่สมควร.” (อ่านกิจการ 6:1-6) แล้วเหล่าอัครสาวกก็ตั้งพี่น้องชายคนอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติฝ่ายวิญญาณดีให้ดูแล “งานที่จำเป็น” นี้ เพื่อเหล่าอัครสาวกจะสามารถทุ่มเทตัวใน “งานสอนพระคำของพระเจ้า.” เมื่อจัดอย่างนี้แล้วก็เกิดผลเป็นพระพรจากพระยะโฮวาเมื่อ “พระคำของพระเจ้า . . . แพร่หลายออกไปและสาวกก็ทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในกรุงเยรูซาเลม.” (กิจ. 6:7) ดังนั้น หน้าที่รับผิดชอบหลักในการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณเป็นหน้าที่ของอัครสาวก.—กิจ. 2:42
9 ในเวลาต่อมา มีการมอบหน้าที่รับผิดชอบสำคัญบางอย่างแก่คนอื่น ๆ. ด้วยการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เปาโลและบาร์นาบัสถูกส่งไปเป็นมิชชันนารีโดยประชาคมอันทิโอก. ทั้งสองถูกเรียกว่าเป็นอัครสาวกด้วย แม้ว่าไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่ม 12 คนที่เป็นอัครสาวกในตอนแรกเริ่ม. (กิจ. 13:1-3; 14:14; กลา. 1:19) คณะกรรมการปกครองในกรุงเยรูซาเลมได้ยืนยันการแต่งตั้งท่านทั้งสอง. (กลา. 2:7-10) ไม่นานหลังจากนั้น เปาโลก็มีส่วนในการจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณ. ท่านได้เขียนจดหมายที่มีขึ้นโดยการดลใจฉบับแรก.
10. ในศตวรรษแรก คริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณทั้งหมดมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณไหม? จงอธิบาย.
10 อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณทั้งหมดมีส่วนร่วมในการดูแลงานประกาศและในการเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณไหม? ไม่. อัครสาวกเปาโลบอกเราว่า “ไม่ใช่ทุกคนเป็นอัครสาวก ไม่ใช่ทุกคนเป็นผู้พยากรณ์ ไม่ใช่ทุกคนเป็นผู้สอน ไม่ใช่ทุกคนทำการอิทธิฤทธิ์ไม่ใช่หรือ?” (1 โค. 12:29) แม้ว่าคริสเตียนที่กำเนิดโดยพระวิญญาณทุกคนร่วมในงานประกาศ แต่คนที่ถูกใช้ให้เขียนหนังสือ 27 เล่มของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีจำนวนน้อยมาก—เพียงแค่แปดคน.
ทาสสัตย์ซื่อในสมัยปัจจุบัน
11. ทาสได้รับแต่งตั้งให้ดูแล “ทรัพย์สมบัติ” อะไร?
11 คำตรัสของพระเยซูดังบันทึกที่มัดธาย 24:45 แสดงไว้อย่างชัดเจนว่าจะยังคงมีชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอยู่บนแผ่นดินโลกในช่วงอวสาน. วิวรณ์ 12:17 กล่าวถึงคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้สืบเชื้อสาย “ที่ยังเหลืออยู่” ของผู้หญิง. กลุ่มชนที่เหลือนี้ทั้งกลุ่มได้รับแต่งตั้งให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระคริสต์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้. “ทรัพย์สมบัติ” ที่ผู้ดูแลครัวเรือนที่ซื่อสัตย์ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลได้แก่ผลประโยชน์ต่าง ๆ ของนายบนแผ่นดินโลก ซึ่งรวมถึงราษฎรบนแผ่นดินโลกของราชอาณาจักร ตลอดจนทรัพย์สินและอาคารที่ใช้ในการประกาศข่าวดี.
12, 13. คริสเตียนรู้ได้อย่างไรว่าเขาถูกเรียกสู่สวรรค์?
12 คริสเตียนจะรู้ได้อย่างไรว่าเขามีความหวังทางสวรรค์และถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มชนที่เหลือแห่งอิสราเอลฝ่ายวิญญาณหรือไม่? คำตอบจะพบได้ในคำกล่าวของอัครสาวกเปาโลซึ่งพูดกับคนที่มีความหวังทางสวรรค์อย่างเดียวกับท่านว่า “พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า. ด้วยว่าท่านทั้งหลายไม่ได้รับจิตใจอย่างทาสซึ่งทำให้กลัวอีก แต่พวกท่านได้รับจิตใจอย่างผู้ที่ถูกรับเป็นบุตร ซึ่งโดยจิตใจเช่นนั้น เราจึงร้องว่า ‘อับบา พระบิดา!’ พระวิญญาณนั้นเป็นพยานยืนยันร่วมกับจิตใจของเราว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า. ดังนั้น ถ้าเราเป็นบุตร เราก็เป็นผู้รับมรดกด้วย คือเป็นผู้รับมรดกของพระเจ้าและเป็นผู้รับมรดกร่วมกับพระคริสต์ ถ้าเราทนทุกข์ร่วมกับพระองค์ เพื่อเราจะได้รับสง่าราศีร่วมกันด้วย.”—โรม 8:14-17
13 พูดง่าย ๆ คือ คนเหล่านี้แต่ละคนถูกเจิมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าและ “ถูกเรียก” หรือได้รับเชิญสู่สวรรค์. (ฮีบรู 3:1) การเชิญเป็นส่วนตัวนี้มาจากพระเจ้า. แล้วพวกเขาก็ตอบรับคำเชิญให้มาเป็นบุตรของพระเจ้าในทันที โดยไม่ถามหรือสงสัยหรือกลัว. (อ่าน 1 โยฮัน 2:20, 21) ดังนั้น พวกเขาไม่ได้เลือกความหวังนี้ด้วยตัวเขาเอง แต่พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ประทับตราหรือเจิมพวกเขาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์.—2 โค. 1:21, 22; 1 เป. 1:3, 4
ทัศนะที่ถูกต้อง
14. ชนผู้ถูกเจิมมีทัศนะอย่างไรต่อการถูกเรียก?
14 ชนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ควรมีทัศนะต่อตัวเขาเองอย่างไรขณะที่พวกเขาคอยที่จะได้รับบำเหน็จในสวรรค์? พวกเขาตระหนักว่าแม้พวกเขาได้รับคำเชิญที่วิเศษสุด แต่ก็เป็นเพียงคำเชิญ. พวกเขาต้องรักษาตัวซื่อสัตย์ตราบจนวันตายจึงจะได้รับรางวัลนั้น. ด้วยความถ่อมใจ พวกเขารู้สึกแบบเดียวกับเปาโลที่กล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้ายังไม่ถือว่าข้าพเจ้าได้รับสิ่งนั้นแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ ข้าพเจ้ากำลังลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลังและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ข้าพเจ้ากำลังมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อจะได้รางวัล คือการที่พระเจ้าทรงเรียกให้ไปสวรรค์โดยใช้พระคริสต์เยซู.” (ฟิลิป. 3:13, 14) ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมต้องพยายามสุดกำลังเพื่อจะ ‘ดำเนินอย่างเหมาะสมกับที่พวกเขาได้รับการทรงเรียก ด้วยความถ่อมใจ’ ทำอย่างนั้น “ด้วยความเกรงกลัวตัวสั่น.”—เอเฟ. 4:1, 2; ฟิลิป. 2:12; 1 เทส. 2:12
15. คริสเตียนควรมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่รับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ณ การประชุมอนุสรณ์ และผู้ถูกเจิมมีทัศนะต่อตัวเขาเองอย่างไร?
15 ในอีกด้านหนึ่ง คริสเตียนคนอื่น ๆ ควรมีทัศนะอย่างไรต่อคนที่อ้างว่าได้รับการเจิมนี้และเริ่มรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ณ การประชุมอนุสรณ์? คนอื่นไม่ควรลงความเห็นเอาเองเกี่ยวกับพวกเขา. เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างบุคคลผู้นั้นกับพระยะโฮวา. (โรม 14:12) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนที่ได้รับการเจิมจริง ๆ ไม่เรียกร้องให้ผู้อื่นสนใจเขาเป็นพิเศษ. พวกเขาไม่เชื่อว่าการเป็นผู้ถูกเจิมทำให้พวกเขามีความเข้าใจเป็นพิเศษมากกว่าคนซึ่งเป็นสมาชิกของ “ชนฝูงใหญ่” ที่มีประสบการณ์มากด้วยซ้ำ. (วิ. 7:9) พวกเขาไม่เชื่อว่าพวกเขาต้องได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์มากกว่า “แกะอื่น” สหายของพวกเขา. (โย. 10:16) พวกเขาไม่คาดหมายว่าจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ; พวกเขาไม่อ้างด้วยว่าการรับประทานสิ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทำให้พวกเขาเหนือกว่าผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคม.
16-18. (ก) ชนผู้ถูกเจิมทั้งหมดมีส่วนร่วมกับการเปิดเผยความจริงฝ่ายวิญญาณใหม่ ๆ ไหม? จงยกตัวอย่าง. (ข) เหตุใดจึงไม่มีความจำเป็นที่คณะกรรมการปกครองต้องปรึกษากับทุกคนที่อ้างว่าเป็นผู้ถูกเจิม?
16 ผู้ถูกเจิมเหล่านี้ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลกซึ่งมีส่วนร่วมในการเปิดเผยความจริงฝ่ายวิญญาณใหม่ ๆ ในทางใดทางหนึ่งไหม? ไม่. แม้ว่าในฐานะกลุ่มบุคคล ชนชั้นทาสรับผิดชอบในการบำรุงเลี้ยงครอบครัวแห่งเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ แต่ไม่ใช่ทุกคนในชนชั้นทาสนี้มีหน้าที่รับผิดชอบหรือได้รับงานมอบหมายเหมือนกัน. (อ่าน 1 โครินท์ 12:14-18) ดังที่กล่าวไปแล้ว ในศตวรรษแรก ทุกคนมีส่วนร่วมในงานสำคัญ คืองานประกาศ. แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกใช้ให้เขียนหนังสือต่าง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลและถูกใช้ให้ดูแลประชาคมคริสเตียน.
17 เพื่อเป็นตัวอย่าง: บางครั้งพระคัมภีร์กล่าวถึง “ประชาคม” ว่าดำเนินการตัดสินความ. (มัด. 18:17) แต่ถ้าจะกล่าวให้ตรงจริง ๆ มีเพียงผู้ปกครองบางคนเท่านั้นที่จัดการเรื่องนี้ตามหน้าที่ของพวกเขาในฐานะเป็นตัวแทนของประชาคม. ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ได้ติดต่อกับสมาชิกทุกคนในประชาคมเพื่อขอความเห็นที่หลากหลายก่อนจะตัดสิน. พวกเขาทำตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายตามระบอบของพระเจ้า; พวกเขาดำเนินการแทนทั้งประชาคม.
18 คล้ายกัน ในปัจจุบันผู้ถูกเจิมจำนวนเพียงเล็กน้อยมีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นตัวแทนของชนชั้นทาส. พวกเขาประกอบกันเป็นคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา. ผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณเหล่านี้ดูแลงานราชอาณาจักรและโครงการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณ. แต่เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก คณะกรรมการปกครองไม่ได้ปรึกษากับสมาชิกแต่ละคนของชนชั้นทาสก่อนตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ. (อ่านกิจการ 16:4, 5) อย่างไรก็ตาม พยานฯ ที่เป็นผู้ถูกเจิมทุกคนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ในงานเกี่ยวซึ่งเป็นงานสำคัญที่กำลังทำกันอยู่. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ทั้งกลุ่มเป็นกายเดียว แต่พวกเขาแต่ละคนทำงานมอบหมายที่แตกต่างกัน.—1 โค. 12:19-26
19, 20. ชนฝูงใหญ่มีทัศนะที่สมดุลอย่างไรต่อ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” และคณะกรรมการปกครองซึ่งเป็นตัวแทน?
19 ข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวไปควรมีผลอย่างไรต่อชนฝูงใหญ่ที่มีความหวังจะอยู่ตลอดไปบนแผ่นดินโลกซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ? ในฐานะส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติของกษัตริย์ พวกเขายินดีร่วมมือเต็มที่กับการจัดเตรียมของคณะกรรมการปกครองซึ่งเป็นตัวแทนของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” สมาชิกชนฝูงใหญ่รู้สึกขอบคุณสำหรับอาหารฝ่ายวิญญาณที่มีการผลิตโดยได้รับการชี้นำจากคณะกรรมการปกครอง. แต่ในขณะเดียวกัน แม้ว่าสมาชิกชนฝูงใหญ่นับถือทาสทั้งกลุ่ม พวกเขาระวังที่จะไม่ยกย่องเชิดชูใครก็ตามที่อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของทาสนั้น. ไม่มีคริสเตียนคนใดที่ได้รับการเจิมจริง ๆ จากพระวิญญาณของพระเจ้าจะต้องการหรือคาดหมายว่าเขาจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษเช่นนั้น.—กิจ. 10:25, 26; 14:14, 15
20 ไม่ว่าเราเป็น “พวกคนรับใช้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชนที่เหลือผู้ถูกเจิม หรือเป็นสมาชิกชนฝูงใหญ่ ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะร่วมมืออย่างเต็มที่กับผู้ดูแลครัวเรือนที่ซื่อสัตย์และคณะกรรมการปกครองซึ่งเป็นตัวแทน. ขอให้เราแต่ละคน “เฝ้าระวังอยู่เสมอ” และพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์จนถึงที่สุด.—มัด. 24:13, 42
คุณจำได้ไหม?
• “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” คือใคร และพวกคนรับใช้คือใคร?
• คริสเตียนจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาถูกเรียกสู่สวรรค์หรือไม่?
• ใครมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณใหม่ ๆ?
• ผู้ถูกเจิมควรมีทัศนะต่อตัวเองอย่างไร?
[ภาพหน้า 23]
ปัจจุบัน คณะกรรมการปกครองเป็นตัวแทนของชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. มีการจัดเตรียมคล้าย ๆ กันในศตวรรษแรก