คำอธิษฐานของคุณบอกอะไรเกี่ยวกับตัวคุณ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน, บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามาเฝ้าพระองค์.”—เพลง. 65:2
1, 2. เหตุใดผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสามารถอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้อย่างมั่นใจ?
พระยะโฮวาไม่เคยปิดพระกรรณของพระองค์ต่อคำวิงวอนของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงฟังเรา. แม้แต่ถ้าพยานพระยะโฮวาหลายล้านคนอธิษฐานถึงพระเจ้าในเวลาเดียวกัน จะไม่มีใครสักคน ‘ได้ยินเสียงสัญญาณสายไม่ว่าง.’
2 โดยมั่นใจว่าพระเจ้าทรงได้ยินคำอ้อนวอนของท่าน ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน, บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามาเฝ้าพระองค์.” (เพลง. 65:2) คำอธิษฐานของดาวิดได้รับคำตอบเพราะท่านเป็นผู้นมัสการที่ภักดีของพระยะโฮวา. เราควรถามตัวเองว่า ‘การทูลวิงวอนของฉันแสดงให้เห็นว่าฉันไว้วางใจพระยะโฮวาและสนใจการนมัสการบริสุทธิ์เป็นอันดับแรกไหม? คำอธิษฐานของฉันบอกอะไรเกี่ยวกับตัวฉัน?’
จงเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจ
3, 4. (ก) เราควรมีทัศนะอย่างไรเมื่อเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน? (ข) เราควรทำอะไรถ้าเรารู้สึกไม่สบายใจเพราะ “ความคิดที่รบกวนใจ” เกี่ยวกับบาปร้ายแรง?
3 ถ้าเราต้องการให้พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเรา เราต้องเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความถ่อมใจ. (เพลง. 138:6) เราควรขอพระยะโฮวาตรวจดูเรา เช่นเดียวกับที่ดาวิดได้ขอเมื่อท่านกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดพินิจพิเคราะห์ดูข้าพเจ้า และทรงทราบหัวใจของข้าพเจ้า. ขอโปรดตรวจสอบดูข้าพเจ้า และทรงทราบความคิดที่รบกวนใจของข้าพเจ้า และทอดพระเนตรดูว่ามีวิถีที่ก่อความปวดร้าวใด ๆ ในตัวข้าพเจ้าหรือไม่ และโปรดนำข้าพเจ้าไปในหนทางที่ดำเนินสืบไปโดยไม่มีเวลากำหนด.” (เพลง. 139:23, 24, ล.ม.) เราไม่ควรเพียงแค่อธิษฐาน แต่ควรยอมให้พระเจ้าตรวจสอบและยอมรับคำแนะนำจากพระคำของพระองค์ด้วย. พระยะโฮวาทรงสามารถนำเรา “ไปในหนทางที่ดำเนินสืบไปโดยไม่มีเวลากำหนด” โดยทรงช่วยเราให้ดำเนินในแนวทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.
4 จะว่าอย่างไรถ้าเรารู้สึกไม่สบายใจเพราะ “ความคิดที่รบกวนใจ” เกี่ยวกับบาปร้ายแรง? (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 32:1-5) การพยายามระงับความรู้สึกผิดไว้อาจทำให้เราหมดกำลังเรี่ยวแรงเหมือนต้นไม้ที่สูญเสียน้ำเลี้ยงเพราะถูกแดดแผดเผาในฤดูร้อน. เพราะบาปของท่าน ดาวิดจึงสูญเสียความยินดีและอาจถึงกับล้มป่วยด้วยซ้ำ. แต่การสารภาพบาปกับพระเจ้าทำให้ท่านรู้สึกโล่งใจจริง ๆ! ขอให้นึกภาพว่าดาวิดยินดีขนาดไหนเมื่อท่านรู้สึกว่าพระเจ้า “ทรงโปรดยกการล่วงละเมิด” ของท่าน และพระยะโฮวาทรงให้อภัยท่าน. การสารภาพบาปกับพระเจ้าสามารถทำให้รู้สึกโล่งใจ และการช่วยเหลือจากคริสเตียนผู้ปกครองจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพฝ่ายวิญญาณของคนที่ทำผิดด้วย.—สุภา. 28:13; ยโก. 5:13-16
จงวิงวอนพระเจ้าและขอบพระคุณพระองค์
5. เราควรวิงวอนขอต่อพระเจ้าเมื่อไร?
5 ถ้าเราวิตกกังวลอย่างมากด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ เราควรทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “อย่าวิตกกังวลกับสิ่งใด แต่จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ.” (ฟิลิป. 4:6) เราควรวิงวอนขอความช่วยเหลือและการชี้นำจากพระยะโฮวาโดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในอันตรายหรือถูกข่มเหง.
6, 7. เพราะเหตุใดคำอธิษฐานของเราควรมีคำขอบพระคุณอยู่ด้วย?
6 อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอธิษฐานเฉพาะเมื่อเราต้องการจะได้อะไรบางอย่าง นั่นเผยให้เห็นว่าเรามีแรงกระตุ้นแบบใด? เปาโลกล่าวว่าเราควรทูลขอต่อพระเจ้า “พร้อมกับการขอบพระคุณ.” เรามีเหตุผลอย่างแน่นอนที่จะแสดงความรู้สึกเหมือนกับดาวิดซึ่งกล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ยศศักดิ์, อำนาจ, รัศมี, ความชัยชนะ, และเดชานุภาพ: คงมีแก่พระองค์, เพราะสรรพสิ่งในสวรรค์ก็ดี, ที่พิภพโลกก็ดี, เป็นของพระองค์; ข้าแต่พระยะโฮวา, ราชสมบัติสิทธิ์ขาดแก่พระองค์, พระองค์ทรงสถิตอยู่เหนือสิ่งสารพัตร. . . . ข้าแต่พระยะโฮวา, บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายขอขอบพระเดชพระคุณพระองค์, และสรรเสริญพระนามอันล้ำเลิศของพระองค์.”—1 โคร. 29:11-13
7 พระเยซูทรงขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับอาหารและสำหรับขนมปังกับเหล้าองุ่นที่ใช้ในอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. (มัด. 15:36; มโก. 14:22, 23) นอกจากนั้น เพื่อจะแสดงความขอบคุณคล้าย ๆ กันเราควร “ขอบพระคุณพระเยโฮวาห์” สำหรับ “การมหัศจรรย์ของพระองค์ที่มีต่อบุตรทั้งหลายของมนุษย์,” สำหรับ “คำตัดสินอันชอบธรรมของพระองค์,” และสำหรับพระคำหรือข่าวสารของพระองค์ซึ่งเวลานี้มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล.—เพลง. 107:15, ฉบับแปลคิงเจมส์; 119:62, 105, ฉบับแปลคิงเจมส์
จงอธิษฐานขอเพื่อผู้อื่น
8, 9. เหตุใดเราควรอธิษฐานเพื่อเพื่อนคริสเตียน?
8 ไม่ต้องสงสัยว่าเราอธิษฐานขอเพื่อตัวเราเอง แต่คำอธิษฐานของเราควรรวมคำขอเพื่อผู้อื่นด้วย แม้แต่คริสเตียนที่เราไม่รู้จัก. แม้ว่าอัครสาวกเปาโลอาจไม่รู้จักเพื่อนร่วมความเชื่อทุกคนในเมืองโกโลซาย ท่านเขียนว่า “เราขอบพระคุณพระเจ้าพระบิดาของพระเยซูคริสต์เจ้าของเราเสมอเมื่อเราทูลอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลาย เพราะเราได้ยินเรื่องความเชื่อที่พวกท่านมีในพระคริสต์เยซูและความรักที่พวกท่านมีต่อผู้บริสุทธิ์ทุกคน.” (โกโล. 1:3, 4) เปาโลยังอธิษฐานเพื่อคริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเกด้วย. (2 เทส. 1:11, 12) คำอธิษฐานแบบนั้นบอกหลายอย่างเกี่ยวกับตัวเราและทัศนะที่เรามีต่อพี่น้องคริสเตียน.
9 คำอธิษฐานของเราเพื่อคริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” สหายของพวกเขาเป็นหลักฐานที่แสดงว่าเราสนใจห่วงใยองค์การของพระเจ้า. (โย. 10:16) เปาโลขอให้เพื่อนผู้นมัสการอธิษฐานเพื่อที่ท่าน “จะพูดได้ด้วยความมั่นใจเมื่อประกาศเรื่องความลับอันศักดิ์สิทธิ์ในข่าวดีนั้น.” (เอเฟ. 6:17-20) เราเองอธิษฐานเพื่อเพื่อนคริสเตียนอย่างนั้นไหม?
10. การอธิษฐานเพื่อผู้อื่นอาจส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร?
10 การอธิษฐานเพื่อคนอื่นอาจทำให้ทัศนะที่เรามีต่อพวกเขาเปลี่ยนไป. ถ้าเราไม่ชอบใครคนใดคนหนึ่งแต่ว่าเราอธิษฐานเพื่อเขา แล้วเราจะไม่ชอบคนนั้นอยู่ต่อไปได้อย่างไร? (1 โย. 4:20, 21) การอธิษฐานแบบนี้เป็นการกระทำที่เสริมสร้างและส่งเสริมให้เรามีเอกภาพกับพี่น้อง. นอกจากนั้น การอธิษฐานเช่นนั้นบ่งบอกว่าเรามีความรักแบบพระคริสต์. (โย. 13:34, 35) คุณลักษณะนี้เป็นส่วนหนึ่งในผลของพระวิญญาณของพระเจ้า. เราเองอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ไหม โดยที่เราทูลขอพระยะโฮวาให้ช่วยเราแสดงผลของพระวิญญาณคือ ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, และการควบคุมตนเอง? (ลูกา 11:13; กลา. 5:22, 23) หากเป็นอย่างนั้น คำพูดและการกระทำของเราจะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังดำเนินชีวิตตามการทรงนำจากพระวิญญาณ.—อ่านกาลาเทีย 5:16, 25
11. เหตุใดจึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะขอคนอื่นให้อธิษฐานเพื่อเรา?
11 ถ้าเรารู้ว่าลูกถูกล่อใจให้โกงข้อสอบที่โรงเรียน เราก็ควรอธิษฐานเพื่อลูกและใช้พระคัมภีร์เพื่อช่วยเขาให้ประพฤติอย่างซื่อสัตย์และไม่ทำอะไรผิด. เปาโลบอกคริสเตียนในเมืองโครินท์ว่า “เราอธิษฐานต่อพระเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายอย่าทำอะไรผิด.” (2 โค. 13:7) คำอธิษฐานที่แสดงถึงความถ่อมใจแบบนั้นเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวาและสะท้อนถึงตัวเราในทางที่ดี. (อ่านสุภาษิต 15:8) เราสามารถขอคนอื่นให้อธิษฐานเพื่อเรา เหมือนกับที่อัครสาวกเปาโลขอ. ท่านเขียนว่า “จงอธิษฐานเพื่อเราต่อ ๆ ไป ด้วยเรามั่นใจว่าเรามีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีเพราะเราปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.”—ฮีบรู 13:18
คำอธิษฐานของเราบอกอะไรอีกเกี่ยวกับตัวเรา?
12. อะไรควรเป็นส่วนสำคัญในคำอธิษฐานของเรา?
12 คำอธิษฐานของเราบ่งบอกว่าเราเป็นพยานพระยะโฮวาที่มีความสุขและมีใจแรงกล้าไหม? คำวิงวอนของเราส่วนใหญ่แล้วเน้นเรื่องการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า, การประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร, การพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงมีสิทธิอย่างถูกต้องในการปกครอง, และการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ไหม? เรื่องเหล่านี้ควรเป็นส่วนสำคัญในคำอธิษฐานของเรา ดังที่พระเยซูทรงแสดงให้เห็นในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระองค์ ซึ่งเริ่มด้วยถ้อยคำที่ว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.”—มัด. 6:9, 10
13, 14. คำอธิษฐานของเราเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับตัวเรา?
13 คำอธิษฐานที่เราทูลต่อพระเจ้าเผยให้เห็นแรงกระตุ้น, ความสนใจ, และความปรารถนาของเรา. พระยะโฮวาทรงรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไรจริง ๆ. สุภาษิต 17:3 (ล.ม.) กล่าวว่า “เบ้าหลอมมีไว้สำหรับเงินและเตาถลุงมีไว้สำหรับทอง แต่พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ตรวจดูหัวใจ.” พระเจ้าทรงเห็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจเรา. (1 ซามู. 16:7) พระองค์ทรงรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรต่อการประชุม, งานรับใช้, และพี่น้องคริสเตียน. พระยะโฮวาทรงทราบดีว่าเราคิดอย่างไรต่อ “พี่น้อง” ของพระคริสต์. (มัด. 25:40) พระองค์ทรงรู้ว่าเราปรารถนาจริง ๆ หรือไม่ในเรื่องที่เราอธิษฐานขอ หรือว่าเราเพียงแค่พูดซ้ำคำเดิม. พระเยซูตรัสว่า “เมื่ออธิษฐาน อย่ากล่าวถ้อยคำเดียวกันซ้ำซากอย่างที่ชนต่างชาติทำ เพราะพวกเขาคิด [ผิด ๆ] ว่าถ้าพวกเขาพูดมาก ๆ พระจะโปรดฟัง.”—มัด. 6:7
14 คำพูดในคำอธิษฐานของเรายังเผยให้เห็นด้วยว่าเราไว้วางใจพระเจ้ามากเพียงไร. ดาวิดกล่าวว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] เป็นที่พึ่งพำนักของข้าพเจ้าแล้ว, เป็นป้อมอันเข้มแข็งป้องกันพวกศัตรู. ข้าพเจ้าจะอาศัยอยู่ในพลับพลาของพระองค์เป็นนิตย์: ข้าพเจ้าจะพึ่งร่มปีกของพระองค์.” (เพลง. 61:3, 4) เมื่อพระเจ้า “กางพลับพลา” โดยนัยไว้เหนือเรา เรามีความมั่นคงปลอดภัยและได้รับการดูแลปกป้องจากพระองค์. (วิ. 7:15) เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกสบายใจสักเพียงไรที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวาโดยอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นว่าพระองค์ ‘ทรงอยู่ฝ่ายเรา’ ไม่ว่าความเชื่อของเราจะถูกทดสอบอย่างไรก็ตาม!—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 118:5-9
15, 16. คำอธิษฐานอาจช่วยเราให้มองอะไรออกถ้าเรามีความปรารถนาจะรับสิทธิพิเศษในงานรับใช้?
15 คำอธิษฐานอย่างจริงใจถึงพระยะโฮวาในเรื่องแรงกระตุ้นของเราอาจช่วยเราได้ให้มองออกว่าแรงกระตุ้นที่แท้จริงของเราคืออะไร. ตัวอย่างเช่น ความปรารถนาที่จะรับใช้ในตำแหน่งผู้ดูแลท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าเป็นความปรารถนาด้วยใจถ่อมจริง ๆ ที่จะทำตัวให้เป็นประโยชน์และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้เพื่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไหม? หรือว่านั่นเป็นเพราะเราอยาก “เป็นใหญ่” หรือแม้แต่อยาก “ทำตัวเป็นนายเหนือ” คนอื่น? ประชาชนของพระยะโฮวาไม่ควรมีแรงกระตุ้นอย่างนั้น. (อ่าน 3 โยฮัน 9, 10; ลูกา 22:24-27) ถ้าเรามีความปรารถนาผิด ๆ ความสัตย์ซื่อในการอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระเจ้าสามารถเผยให้เห็นว่าเรามีความปรารถนาที่ไม่ถูกต้องและช่วยเราแก้ไขเปลี่ยนแปลงก่อนที่ความปรารถนานั้นจะฝังลึก.
16 ภรรยาที่เป็นคริสเตียนอาจปรารถนาอย่างแรงกล้าให้สามีรับใช้เป็นผู้ช่วยงานรับใช้และอาจเป็นได้ว่าอยากให้สามีได้เป็นผู้ดูแลหรือผู้ปกครองในที่สุด. พี่น้องหญิงเหล่านี้อาจปฏิบัติสอดคล้องกับความปรารถนาที่พวกเธอแสดงในคำอธิษฐานส่วนตัวโดยพยายามวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดี. เรื่องนี้นับว่าสำคัญ เพราะคำพูดและการกระทำของคนในครอบครัวมีผลกระทบต่อทัศนะที่คนอื่น ๆ ในประชาคมมีต่อเขา.
เมื่อเป็นตัวแทนคนอื่น ๆ ในการอธิษฐาน
17. เหตุใดจึงนับว่าดีที่จะอยู่ตามลำพังเมื่อเราอธิษฐานเป็นส่วนตัว?
17 บ่อยครั้งที่พระเยซูทรงปลีกตัวจากฝูงชนเพื่อจะอธิษฐานถึงพระบิดาเป็นส่วนตัว. (มัด. 14:13; ลูกา 5:16; 6:12) เรามีความจำเป็นอย่างเดียวกันที่จะอยู่ตามลำพัง. การอธิษฐานในสภาพแวดล้อมที่สงบน่าจะทำให้เราตัดสินใจอย่างที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยและช่วยเราให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงอธิษฐานในที่สาธารณะด้วย และนับว่าดีที่เราจะพิจารณาวิธีอธิษฐานในที่สาธารณะอย่างเหมาะสม.
18. มีอะไรบ้างที่พี่น้องชายควรจดจำไว้เมื่อเป็นตัวแทนคนอื่น ๆ ในการอธิษฐานที่ประชาคม?
18 ณ การประชุม ชายผู้ภักดีเป็นตัวแทนคนอื่นในการอธิษฐานที่ประชาคม. (1 ติโม. 2:8) เพื่อนร่วมความเชื่อควรจะสามารถกล่าวคำว่า “อาเมน” ซึ่งหมายถึง “ขอให้เป็นอย่างนั้น” ในตอนท้ายสุดของคำอธิษฐาน. แต่เพื่อจะกล่าวอย่างนั้นได้ พวกเขาต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่กล่าวในคำอธิษฐานนั้น. ไม่มีคำพูดที่น่าตกใจหรือไม่ผ่อนหนักผ่อนเบาในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู. (ลูกา 11:2-4) นอกจากนั้น พระองค์ไม่ทรงแจกแจงรายละเอียดในเรื่องความจำเป็นหรือปัญหาทุกอย่างของผู้ฟังแต่ละคน. การแสดงความห่วงใยคนอื่นเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องเหมาะสมสำหรับการอธิษฐานส่วนตัว ไม่ใช่สำหรับการอธิษฐานในที่สาธารณะ. และเมื่อเป็นตัวแทนคนอื่นในการอธิษฐาน เราไม่ควรกล่าวถึงเรื่องที่เป็นความลับ.
19. เราควรวางตัวให้เหมาะสมอย่างไรระหว่างที่มีคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการอธิษฐาน?
19 เมื่อมีคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการอธิษฐาน เราต้องแสดงความเคารพและ “ยำเกรงพระเจ้า.” (1 เป. 2:17) การกระทำบางอย่างอาจนับว่าเหมาะกับกาลเทศะถ้าทำที่อื่น แต่ไม่ใช่ ณ การประชุมคริสเตียน. (ผู้ป. 3:1) ตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีใครคนหนึ่งพยายามให้ทุกคนในกลุ่มคล้องแขนหรือจับมือกันระหว่างที่อธิษฐานอยู่. การทำอย่างนี้อาจทำให้บางคน รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่มีความเชื่อเหมือนกับเรา ไม่พอใจหรือเสียสมาธิ. คู่สมรสบางคู่อาจจับมือกันอย่างระวังไม่ให้เป็นจุดสนใจ แต่ถ้าพวกเขาโอบกอดกันระหว่างที่มีคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการอธิษฐาน คนที่บังเอิญเหลือบไปเห็นการกระทำเช่นนั้นอาจรู้สึกสะดุด. พวกเขาอาจคิดหรือเกิดความรู้สึกว่าสองคนนี้กำลังสนใจความสัมพันธ์อันหวานชื่นของตัวเองแทนที่จะแสดงความนับถือต่อพระยะโฮวา. ดังนั้น ด้วยความนับถือสุดซึ้งต่อพระองค์ ให้เรา “ทำทุกสิ่งอย่างที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ” และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้ใครก็ตามเสียสมาธิ, ตกใจ, หรือสะดุด.—1 โค. 10:31, 32; 2 โค. 6:3
เราควรอธิษฐานขออะไร?
20. คุณจะอธิบายโรม 8:26, 27 อย่างไร?
20 บางครั้ง เราอาจไม่รู้ว่าจะพูดอะไรในคำอธิษฐานส่วนตัวของเรา. เปาโลเขียนว่า “เราไม่รู้ว่าเราควรทูลขอสิ่งใดเมื่อจำเป็นต้องขอ แต่พระวิญญาณ [บริสุทธิ์] ขอแทนเราเมื่อเราคร่ำครวญแม้ไม่เป็นคำพูด. แต่พระองค์ [พระเจ้า] ผู้ตรวจดูหัวใจทรงรู้ความมุ่งหมายของพระวิญญาณ.” (โรม 8:26, 27) พระยะโฮวาทรงให้มีการบันทึกคำอธิษฐานของหลายคนไว้ในพระคัมภีร์. พระองค์ทรงยอมรับคำอ้อนวอนเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ราวกับว่าเป็นคำทูลขอของเรา และด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงทรงให้ตามคำอ้อนวอนเหล่านั้น. พระเจ้าทรงรู้จักเราและทรงรู้ความหมายของสิ่งที่พระองค์ทรงให้พระวิญญาณพูดโดยทางผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิล. พระยะโฮวาทรงตอบคำวิงวอนของเราเมื่อพระวิญญาณ “ขอ” หรือช่วยพูดแทนเรา. แต่เมื่อเราคุ้นเคยพระคำของพระเจ้าดีขึ้น เราก็อาจนึกถึงเรื่องที่เราควรอธิษฐานขอได้ง่ายขึ้น.
21. เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
21 ดังที่เราได้พิจารณากันไปแล้ว คำอธิษฐานของเราบอกได้มากเกี่ยวกับตัวเรา. ตัวอย่างเช่น คำอธิษฐานอาจเผยให้เห็นว่าเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากเพียงไร และเรารู้จักพระคำของพระองค์ดีเพียงไร. (ยโก. 4:8) ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาคำอธิษฐานบางอย่างและถ้อยคำที่ใช้ในคำอธิษฐานซึ่งบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. การพิจารณาพระคัมภีร์เช่นนั้นน่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการที่เราเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน?
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราควรมีทัศนะอย่างไรเมื่อเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน?
• เหตุใดเราควรอธิษฐานเพื่อเพื่อนร่วมความเชื่อ?
• คำอธิษฐานของเราอาจเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับตัวเราและแรงกระตุ้นของเรา?
• เราควรวางตัวแบบที่เหมาะสมอย่างไรระหว่างที่มีคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการอธิษฐาน?
[ภาพหน้า 4]
คุณสรรเสริญและขอบพระคุณ พระยะโฮวาเป็นประจำไหม?
[ภาพหน้า 6]
กิริยาท่าทางของเราระหว่างที่มีคนหนึ่งเป็นตัวแทนในการอธิษฐานควรถวายเกียรติแด่พระยะโฮวาเสมอ