จงวิ่งแข่งด้วยความเพียรอดทน
“ให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรา.” —ฮีบรู 12:1
1, 2. อัครสาวกเปาโลเปรียบชีวิตคริสเตียนเหมือนกับอะไร?
แต่ละปี มีการจัดแข่งขันวิ่งมาราธอนในหลายแห่ง. นักวิ่งชั้นแนวหน้าทั้งหลายเข้าแข่งขันด้วยจุดประสงค์เดียวกัน คือเพื่อจะชนะ. แต่ส่วนใหญ่แล้วนักวิ่งคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมมีเป้าหมายต่ำกว่านั้นเล็กน้อย. สำหรับพวกเขา การวิ่งถึงเส้นชัยเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจแล้ว.
2 ในคัมภีร์ไบเบิล ชีวิตคริสเตียนเปรียบเหมือนกับการวิ่งแข่ง. อัครสาวกเปาโลชวนเพื่อนคริสเตียนในเมืองโครินท์โบราณให้สนใจจุดนี้ในจดหมายฉบับแรกที่ท่านเขียนถึงพวกเขา. ท่านเขียนว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่านักวิ่งที่ลงแข่งขันต่างก็วิ่งกันทุกคน แต่มีคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัล? พวกท่านจงวิ่งอย่างที่จะเอารางวัลนั้นให้ได้.”—1 โค. 9:24
3. เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่ามีนักวิ่งเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ชนะ?
3 เปาโลหมายความว่ามีเพียงคริสเตียนคนเดียวเท่านั้นที่จะได้รับรางวัลชีวิต ส่วนคนอื่น ๆ จะวิ่งเสียแรงเปล่าไหม? ไม่ใช่เช่นนั้นแน่! นักวิ่งที่เข้าแข่งขันฝึกฝนและเคี่ยวเข็ญตัวเองอย่างหนักโดยมีเป้าหมายจะเป็นผู้ชนะ. เปาโลต้องการให้เพื่อนคริสเตียนทุ่มเทตัวเองอย่างนั้นในการแสวงหาชีวิตนิรันดร์. เมื่อทำอย่างนั้น พวกเขาจึงหวังได้ว่าจะได้รับรางวัลชีวิต. ใช่แล้ว ในการวิ่งแข่งของคริสเตียน ทุกคนที่วิ่งจนถึงเส้นชัยได้รับรางวัลนั้น.
4. เราจะพิจารณาอะไรเกี่ยวกับการวิ่งแข่งที่อยู่ตรงหน้าเรา?
4 ถ้อยคำดังกล่าวให้กำลังใจแต่น่าไตร่ตรองสำหรับทุกคนที่เข้าในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตในทุกวันนี้. เพราะเหตุใด? เพราะว่ารางวัลที่จะได้รับนั้น ไม่ว่าชีวิตในสวรรค์หรือชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน ไม่มีอะไรเทียบได้. จริงอยู่ การวิ่งแข่งนี้ยาวนานและยากลำบาก; มีอุปสรรค สิ่งล่อใจ และอันตรายมากมายตลอดเส้นทาง. (มัด. 7:13, 14) น่าเศร้า บางคนวิ่งช้าลง หยุดวิ่ง หรือแม้แต่ล้มลงกลางคัน. มีหลุมพรางและอันตรายอะไรในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต? คุณจะหลีกเหลี่ยงหลุมพรางและอันตรายเหล่านั้นได้อย่างไร? คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อวิ่งให้ถึงเส้นชัยและชนะการแข่งขันนี้?
ต้องเพียรอดทนเพื่อจะชนะ
5. เปาโลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับการวิ่งแข่ง ดังบันทึกไว้ที่ฮีบรู 12:1?
5 ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูในกรุงเยรูซาเลมและแคว้นยูเดีย ท่านอ้างถึงเกมกีฬาหรือการแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง. (อ่านฮีบรู 12:1) ท่านไม่ได้เพียงแค่ชวนให้สนใจเหตุผลที่จะเข้าร่วมแข่งขันเท่านั้น แต่ยังบอกด้วยว่าต้องทำอะไรเพื่อจะชนะ. ก่อนที่เราจะพิจารณาคำแนะนำที่เปาโลได้รับการดลใจให้เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูเพื่อจะดูว่ามีบทเรียนอะไรสำหรับเรา ขอให้เราพิจารณาว่าอะไรกระตุ้นเปาโลให้เขียนจดหมายนี้และท่านพยายามสนับสนุนผู้อ่านให้ทำอะไร.
6. คริสเตียนถูกพวกหัวหน้าศาสนากดดันเช่นไร?
6 คริสเตียนในศตวรรษแรก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเลมและแคว้นยูเดีย กำลังเผชิญการทดสอบและความยากลำบากหลายอย่าง. พวกเขาถูกกดดันอย่างมากจากพวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวที่ยังคงใช้อิทธิพลที่มีพลังครอบงำประชาชน. ก่อนหน้านั้น พวกหัวหน้าศาสนาเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการทำให้พระเยซูคริสต์ถูกลงโทษฐานปลุกระดมและทำให้พระองค์ถูกประหารในฐานะอาชญากร. และพวกเขาจะไม่หยุดการต่อต้านไว้เพียงแค่นี้. หนังสือกิจการบันทึกเหตุการณ์ที่พวกเขาข่มขู่และโจมตีคริสเตียนหลายครั้ง โดยเริ่มเกือบจะทันทีหลังจากเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33. การข่มเหงของพวกเขาสร้างความลำบากให้แก่เหล่าผู้ซื่อสัตย์อย่างแน่นอน.—กิจ. 4:1-3; 5:17, 18; 6:8-12; 7:59; 8:1, 3
7. คริสเตียนที่เปาโลเขียนจดหมายไปถึงอยู่ในช่วงเวลาที่วิกฤติเช่นไร?
7 นอกจากนั้น คริสเตียนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในช่วงที่อวสานของระบบยิวจวนจะมาถึง. พระเยซูทรงบอกพวกเขาเกี่ยวกับพินาศกรรมที่จะเกิดขึ้นกับชาติยิวที่ไม่ซื่อสัตย์. พระองค์ยังบอกอัครสาวกด้วยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อจวนจะถึงอวสาน โดยทรงสั่งให้พวกเขาทำอะไรบางอย่างเพื่อจะรอดชีวิต. (อ่านลูกา 21:20-22) พวกเขาควรทำอะไร? พระเยซูทรงเตือนว่า “จงระวังตัวให้ดีเพื่อว่าใจของเจ้าจะไม่หมกมุ่นอยู่กับการกินมากเกินไป การดื่มจัด และความวิตกกังวลกับชีวิต แล้ววันนั้นจะมาถึงเจ้าทันทีโดยที่เจ้าไม่ทันรู้ตัว.”—ลูกา 21:34
8. อะไรอาจทำให้คริสเตียนบางคนช้าลงหรือหยุดวิ่ง?
8 ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปีแล้วหลังจากที่พระเยซูประทานคำเตือนนั้น. เวลาที่ล่วงเลยไปส่งผลอย่างไรต่อคริสเตียนเหล่านั้น? บางคนพ่ายแพ้แก่แรงกดดันและการล่อใจในชีวิตประจำวันและไม่ได้ทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณซึ่งจะช่วยเสริมพวกเขาให้เข้มแข็ง. (ฮีบรู 5:11-14) ดูเหมือนว่าคนอื่น ๆ คิดว่าชีวิตคงจะง่ายกว่ามากหากพวกเขาเพียงแต่ทำเหมือนกับชาวยิวส่วนใหญ่ที่อยู่รอบตัวพวกเขา. ที่จริง ชาวยิวเหล่านั้นไม่ได้ละทิ้งพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง พวกเขายังคงทำตามพระบัญญัติของพระองค์อยู่บ้าง. คริสเตียนคนอื่น ๆ ถูกบางคนในประชาคมที่พยายามบังคับคนอื่นให้ยึดมั่นพระบัญญัติของโมเซและจารีตประเพณีโน้มน้าวหรือข่มขู่พวกเขา. เปาโลอาจกล่าวเช่นไรเพื่อจะช่วยพี่น้องคริสเตียนให้ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอและเพียรอดทนในการวิ่งแข่งนี้?
9, 10. (ก) ในตอนท้าย ๆ ของฮีบรูบท 10 เปาโลให้คำกระตุ้นหนุนใจอะไร? (ข) เหตุใดเปาโลจึงเขียนถึงการกระทำที่ซื่อสัตย์ของเหล่าพยานในสมัยโบราณ?
9 เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะสังเกตวิธีที่เปาโล ซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้า พยายามช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูให้เข้มแข็ง. ในบท 10 ของจดหมายนี้ เปาโลชี้ว่าพระบัญญัติเป็นเพียงแค่ “เงาของสิ่งดีที่จะมีมา” และแสดงให้เห็นคุณค่าของเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์อย่างชัดเจน. ก่อนจะจบบทนี้ เปาโลเตือนผู้อ่านของท่านว่า “ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องเพียรอดทนเพื่อว่า เมื่อพวกท่านทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว พวกท่านจะได้รับตามคำสัญญา. ด้วยว่าอีก ‘ประเดี๋ยวเดียว’ และ ‘พระองค์ผู้จะเสด็จมานั้นจะมาถึงและจะไม่ทรงชักช้า.’ ”—ฮีบรู 10:1, 36, 37
10 ฮีบรูบท 11 เปาโลอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าความเชื่อแท้ในพระเจ้าคืออะไร. และท่านอธิบายโดยยกตัวอย่างชายหญิงที่มีความเชื่อในสมัยอดีต. นั่นเป็นการพูดนอกเรื่องโดยไม่จำเป็นไหม? ไม่เลย. ท่านอัครสาวกรู้ว่าคนที่มีความเชื่อในพระเจ้าจำเป็นต้องมีความกล้าหาญและความเพียรอดทน. ตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาในสมัยโบราณจะเสริมกำลังคริสเตียนชาวฮีบรูให้รับมือการทดสอบและความยากลำบากที่พวกเขาประสบได้. ด้วยเหตุนั้น หลังจากที่แจกแจงการกระทำที่แสดงความเชื่อของผู้ภักดีเหล่านั้นในสมัยอดีตแล้ว เปาโลจึงสามารถกล่าวว่า “เพราะเหตุที่เรามีพยานกลุ่มใหญ่อยู่รอบข้าง ให้เราปลดของหนักทุกอย่างออกจากตัว รวมทั้งบาปที่รัดตัวเราได้โดยง่าย และให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรา.”—ฮีบรู 12:1
“พยานกลุ่มใหญ่”
11. การคิดถึง “พยานกลุ่มใหญ่” อาจมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
11 “พยานกลุ่มใหญ่” ไม่ได้เป็นเพียงผู้ชมหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งอยู่ที่นั่นเพียงเพื่อจะชมการวิ่งแข่งหรือเพื่อจะได้ดูนักกีฬาหรือทีมที่เขาโปรดปรานได้ชัยชนะ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น อาจกล่าวได้ว่าผู้รับใช้ก่อนยุคคริสเตียนเหล่านี้เป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมในการวิ่งแข่ง. และพวกเขาได้วิ่งจนถึงเส้นชัยแล้ว. แม้ว่าตอนนี้พวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่พวกเขาเคยเป็นนักวิ่งที่ช่ำชองซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจแก่นักวิ่งรุ่นใหม่ในการแข่งขัน. ขอให้นึกภาพว่าผู้แข่งขันคนหนึ่งจะรู้สึกอย่างไรถ้าเขารู้ว่าคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขาหรือคนที่ดูเขาอยู่นั้นเป็นนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก. เขาคงจะถูกกระตุ้นให้ทำอย่างดีที่สุดหรือถึงกับทำสถิติดีกว่าที่เขาเคยทำได้มิใช่หรือ? พยานเหล่านั้นในสมัยอดีตสามารถยืนยันได้ว่าคนเราจะชนะการวิ่งแข่งโดยนัยนี้ได้ แม้ว่าต้องออกแรงมากสักเพียงไรก็ตาม. ด้วยเหตุนั้น โดยการคิดถึงตัวอย่างของ “พยานกลุ่มใหญ่” เหล่านี้เสมอ คริสเตียนชาวฮีบรูในศตวรรษแรกจึงมีความกล้าและ “วิ่งด้วยความเพียรอดทน” ได้. พวกเราในทุกวันนี้ก็ทำอย่างเดียวกันนั้นได้.
12. ตัวอย่างที่เปาโลยกขึ้นมาเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
12 ผู้ซื่อสัตย์หลายคนที่เปาโลกล่าวถึงอยู่ในสภาพการณ์คล้าย ๆ กันกับเรา. ตัวอย่างเช่น โนอาห์มีชีวิตอยู่ในช่วงที่พระเจ้าจะทรงทำลายโลกด้วยน้ำท่วม. เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงที่ใกล้จะถึงอวสานของระบบปัจจุบัน. อับราฮามและซาราห์ได้รับพระบัญชาให้ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนและมุ่งดำเนินในการนมัสการแท้และคอยท่าให้คำสัญญาของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริง. เราถูกกระตุ้นให้ปฏิเสธตัวเองและได้รับความพอพระทัยและพระพรที่พระยะโฮวาทรงเตรียมไว้ให้เรา. โมเซเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารที่น่ากลัว มุ่งหน้าไปสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา. เราอยู่ในเส้นทางที่ผ่านระบบซึ่งกำลังจะสูญสิ้น มุ่งหน้าไปสู่โลกใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญา. นับว่าคุ้มค่าอย่างแท้จริงที่เราจะพิจารณาว่าคนเหล่านี้ผ่านอะไรมาบ้าง รวมถึงพิจารณาความสำเร็จและความล้มเหลว ความเข้มแข็งและความอ่อนแอของพวกเขา.—โรม 15:4; 1 โค. 10:11
พวกเขาประสบความสำเร็จ—โดยวิธีใด?
13. โนอาห์เผชิญข้อท้าทายอะไรบ้าง และอะไรทำให้ท่านเอาชนะข้อท้าทายเหล่านั้นได้?
13 อะไรทำให้ผู้รับใช้เหล่านี้ของพระยะโฮวาอดทนและประสบความสำเร็จในการวิ่งแข่ง? ขอสังเกตสิ่งที่เปาโลเขียนเกี่ยวกับโนอาห์. (อ่านฮีบรู 11:7) “น้ำท่วมแผ่นดิน [ซึ่ง] จะทำลายเนื้อหนัง” ทั้งสิ้นเป็นสิ่งที่โนอาห์ “ยังไม่เห็น.” (เย. 6:17) นั่นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย. ถึงกระนั้น โนอาห์ไม่ได้บอกปัดว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้หรือแม้แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้. เพราะเหตุใด? เพราะท่านเชื่อว่าสิ่งใดก็ตามที่พระยะโฮวาตรัส พระยะโฮวาจะทำสิ่งนั้น. โนอาห์ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่พระยะโฮวาสั่งให้ท่านทำนั้นยากเกินไป. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่าน “กระทำอย่างนั้นทุกสิ่งทุกประการ.” (เย. 6:22) ขอให้พิจารณาทุกสิ่งที่โนอาห์ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเรือ การรวบรวมสัตว์ การเก็บเสบียงอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ การประกาศคำเตือน และการดูแลครอบครัวให้เข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. การกระทำ “อย่างนั้นทุกสิ่งทุกประการ” ไม่ใช่งานเล็ก ๆ เลย. ถึงกระนั้น ความเชื่อและความเพียรอดทนของโนอาห์ทำให้ท่านและครอบครัวได้รับพระพรและชีวิต.
14. อับราฮามและซาราห์อดทนการทดสอบอะไร และนั่นให้บทเรียนอะไรแก่เรา?
14 อับราฮามและซาราห์อยู่ในลำดับถัดมาในรายชื่อของเปาโลที่กล่าวถึง ‘พยานกลุ่มใหญ่ที่อยู่รอบข้างเรา.’ ทั้งสองย้ายถิ่นฐานจากเมืองอูร์และไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติธรรมดาอีกต่อไป และอนาคตของพวกเขาดูเหมือนจะไม่แน่นอน. ทั้งสองเป็นตัวอย่างในเรื่องความเชื่อที่ไม่สั่นคลอนและการเชื่อฟังในช่วงเวลาที่ยากลำบาก. สอดคล้องกับเครื่องบูชาทั้งหมดที่อับราฮามเต็มใจถวายเพื่อการนมัสการแท้ ท่านถูกเรียกอย่างเหมาะสมว่า “บิดาของคนทั้งปวงที่มีความเชื่อ.” (โรม 4:11) เปาโลกล่าวถึงจุดที่เด่น ๆ เท่านั้น เพราะผู้อ่านคุ้นเคยรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของอับราฮามดีอยู่แล้ว. อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่เปาโลชี้ให้เห็นนั้นมีพลังทีเดียว ที่ว่า “คนทั้งปวงนี้ [รวมทั้งอับราฮามและครอบครัวด้วย] ตายไปในขณะที่มีความเชื่อแม้ยังไม่ได้รับตามที่ทรงสัญญา แต่พวกเขาก็มองเห็นแต่ไกลและรอรับด้วยความยินดีและประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกหน้าและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.” (ฮีบรู 11:13) เห็นได้ชัดว่า ความเชื่อในพระเจ้าและสายสัมพันธ์ที่พวกเขามีเป็นส่วนตัวกับพระองค์ช่วยพวกเขาให้วิ่งแข่งด้วยความเพียรอดทน.
15. อะไรกระตุ้นโมเซให้ดำเนินชีวิตอย่างเสียสละ?
15 โมเซเป็นอีกคนหนึ่งในบรรดา “พยานกลุ่มใหญ่” ที่เป็นแบบอย่างสำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. โมเซทิ้งชีวิตที่มั่งคั่งและมีเอกสิทธิ์ โดย “เลือกเอาการถูกทำทารุณร่วมกับประชาชนของพระเจ้า.” อะไรกระตุ้นท่านให้ทำอย่างนั้น? เปาโลตอบว่า “เขาเพ่งมองที่บำเหน็จซึ่งจะได้รับ. . . . เขายังยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปเสมือนเห็นพระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (อ่านฮีบรู 11:24-27) โมเซไม่ได้เขวไปกับการ “เพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป.” พระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์เป็นจริงสำหรับโมเซถึงขนาดที่ท่านแสดงความกล้าหาญและเพียรอดทนอย่างน่าทึ่ง. ท่านทุ่มเทตัวเองอย่างไม่ย่อท้อในการนำชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ไปยังแผ่นดินที่ทรงสัญญา.
16. เรารู้ได้อย่างไรว่าโมเซไม่ท้อแท้สิ้นหวังเมื่อท่านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา?
16 เช่นเดียวกับอับราฮาม โมเซไม่เห็นความสำเร็จเป็นจริงตามคำสัญญาของพระเจ้าในช่วงชีวิตของท่าน. ขณะที่ชาวอิสราเอลกำลังจะเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา พระเจ้าทรงบอกโมเซว่า “เจ้าจะแลเห็นแผ่นดินนั้นซึ่งอยู่ตรงหน้าเจ้า; แต่เจ้าจะหาได้ไปอยู่ในแผ่นดินซึ่งเราจะให้แก่พวกยิศราเอลนั้นไม่.” ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะก่อนหน้านั้นท่านกับอาโรนหงุดหงิดเพราะการกระทำที่ขืนอำนาจของประชาชน จึง “ได้ทำผิดต่อ [พระเจ้า] ในท่ามกลางพวกยิศราเอลที่น้ำมะรีบาคาเดศ.” (บัญ. 32:51, 52) โมเซรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังหรือขุ่นเคืองใจไหม? ไม่เลย. ท่านกล่าวอวยพรประชาชนและกล่าวลงท้ายว่า “โอ้พวกยิศราเอล, เจ้าทั้งหลายเป็นสุขอยู่! ผู้ใดจะเหมือนเจ้า, เป็นชนประเทศที่พระยะโฮวาได้ทรงช่วย, พระองค์เป็นโล่ที่ป้องกันเจ้า, และเป็นพระแสงดาบอันคมกล้าเป็นสง่าของเจ้า.”—บัญ. 33:29
บทเรียนสำหรับเรา
17, 18. (ก) เราอาจเรียนอะไรได้จาก “พยานกลุ่มใหญ่” ในเรื่องการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต? (ข) บทความถัดไปจะพิจารณาอะไร?
17 จากที่เราได้ทบทวนชีวิตของบางคนในบรรดา ‘พยานกลุ่มใหญ่ที่อยู่รอบข้างเรา’ เห็นได้ชัดว่าเพื่อเราจะวิ่งแข่งจนถึงเส้นชัย เราต้องมีความเชื่อในพระเจ้าและคำสัญญาของพระองค์อย่างปราศจากข้อสงสัย. (ฮีบรู 11:6) ความเชื่อไม่อาจจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต แต่ต้องเป็นแกนกลางของชีวิตเรา. ต่างกับคนที่ไม่มีความเชื่อ ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสามารถมองเห็นไกลกว่าปัจจุบัน. เราสามารถเห็น “พระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา” และด้วยเหตุนั้นจึงวิ่งต่อ ๆ ไปด้วยความเพียรอดทน.—2 โค. 5:7
18 การวิ่งแข่งของคริสเตียนไม่ใช่เรื่องง่าย. แต่เราสามารถวิ่งจนถึงเส้นชัยได้. ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาว่ามีอะไรอีกที่ช่วยเราได้.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดเปาโลจึงเขียนเกี่ยวกับพยานที่ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณ?
• การนึกภาพ ‘พยานกลุ่มใหญ่ที่อยู่รอบข้างเรา’ ให้กำลังใจเราเพื่อจะวิ่งด้วยความเพียรอดทนได้อย่างไร?
• คุณได้เรียนอะไรจากการพิจารณาพยานที่ซื่อสัตย์ เช่น โนอาห์ อับราฮาม ซาราห์ และโมเซ?
[ภาพหน้า 19]
อับราฮามและซาราห์เต็มใจทิ้งชีวิตที่สะดวกสบายในเมืองอูร์