จงรักษาน้ำใจที่ดีของประชาคมไว้
“ขอให้พระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เจ้าจงมีแก่ท่านทั้งหลายเนื่องด้วยน้ำใจที่พวกท่านได้แสดง.”—ฟิลิป. 4:23
เราจะส่งเสริมน้ำใจที่ดีในประชาคมได้อย่างไร . . .
ขณะที่เราคบหาสมาคมกับพี่น้อง?
โดยกระตือรือร้นในงานประกาศ?
โดยรายงานการกระทำผิดร้ายแรง?
1. ประชาคมในเมืองฟิลิปปอยและทิอาทิราได้รับคำชมในเรื่องใด?
คริสเตียนในศตวรรษแรกที่เมืองฟิลิปปอยมีฐานะยากจน. แต่พวกเขามีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเพื่อนร่วมความเชื่อในเรื่องความรัก. (ฟิลิป. 1:3-5, 9; 4:15, 16) ในตอนท้ายจดหมายซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจที่เขียนถึงพวกเขา อัครสาวกเปาโลจึงเขียนได้ว่า “ขอให้พระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เจ้าจงมีแก่ท่านทั้งหลายเนื่องด้วยน้ำใจที่พวกท่านได้แสดง.” (ฟิลิป. 4:23) เนื่องจากคริสเตียนในเมืองทิอาทิรามีน้ำใจแบบเดียวกันนั้น พระเยซูผู้ได้รับสง่าราศีในสวรรค์แล้วจึงทรงบอกพวกเขาว่า “เรารู้ว่าเจ้าทำอะไร และรู้ว่าเจ้ามีความรัก ความเชื่อ ทำงานรับใช้ และเพียรอดทน อีกทั้งรู้ว่าสิ่งที่เจ้าทำในตอนหลังมีมากกว่าเมื่อก่อน.”—วิ. 2:19
2. น้ำใจของเราแต่ละคนส่งผลอย่างไรต่อน้ำใจของประชาคม?
2 ประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบันแต่ละประชาคมก็มีน้ำใจบางอย่างที่โดดเด่นเช่นกัน. บางประชาคมมีชื่อเสียงในเรื่องการมีน้ำใจที่อบอุ่นและเปี่ยมด้วยความรัก. บางประชาคมโดดเด่นเป็นพิเศษในการสนับสนุนงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรอย่างกระตือรือร้นและเห็นค่างานรับใช้เต็มเวลาอย่างยิ่ง. เมื่อเราแต่ละคนพัฒนาน้ำใจที่ดี เรามีส่วนช่วยให้ประชาคมมีเอกภาพและส่งเสริมประชาคมให้ก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. (1 โค. 1:10) ตรงกันข้าม ถ้าเรามีน้ำใจที่ไม่ดีก็อาจมีส่วนทำให้ประชาคมเงื่องหงอยฝ่ายวิญญาณ ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการรับใช้พระเจ้า และแม้แต่ปล่อยให้มีการทำผิดในประชาคม. (1 โค. 5:1; วิ. 3:15, 16) น้ำใจของประชาคมคุณเป็นอย่างไร? คุณเองจะช่วยส่งเสริมให้ประชาคมมีน้ำใจที่ดีได้อย่างไร?
จงส่งเสริมน้ำใจที่ดี
3, 4. เราจะ “โมทนาพระคุณ [พระยะโฮวา] ในที่ชุมนุมใหญ่” ได้อย่างไร?
3 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงที่มีเนื้อร้องว่า “ข้าพระองค์จะโมทนาพระคุณพระองค์ [พระยะโฮวา] ในที่ชุมนุมใหญ่ ข้าพระองค์จะสรรเสริญพระองค์ท่ามกลางคนเป็นอันมาก.” (เพลง. 35:18, ฉบับ R73) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญไม่ได้เหนี่ยวรั้งตัวเองไว้จากการสรรเสริญพระยะโฮวาเมื่อท่านอยู่กับผู้รับใช้พระเจ้าคนอื่น ๆ. การประชุมประชาคมในแต่ละสัปดาห์ รวมทั้งการศึกษาหอสังเกตการณ์ ทำให้เรามีโอกาสที่ดีในการแสดงว่าเรามีน้ำใจกระตือรือร้นเมื่อเราออกความคิดเห็นและแสดงความเชื่อของเรา. เราทุกคนอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากสิทธิพิเศษที่เปิดให้เพื่อมีส่วนร่วมในการประชุมไหม? ฉันเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการประชุมต่าง ๆ และให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์จริง ๆ ไหม? ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ผมช่วยลูกให้เตรียมความเห็นไว้ล่วงหน้าและสอนลูกให้ตอบโดยใช้คำพูดของตัวเองไหม?’
4 ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเชื่อมโยงให้เห็นความเกี่ยวข้องกันระหว่างความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องกับการร้องเพลง. ท่านกล่าวว่า “จิตต์ใจของข้าพเจ้าตั้งมั่นคงอยู่, แน่นอน, ข้าพเจ้าจะถวายเพลงสรรเสริญ.” (เพลง. 57:7) เพลงที่ร้อง ณ การประชุมคริสเตียนทำให้เรามีโอกาสดีที่จะ “ถวายเพลงสรรเสริญ” แด่พระยะโฮวาด้วยหัวใจที่แน่วแน่มั่นคง. ถ้าเรายังไม่คุ้นเคยกับเพลงบางเพลง คงดีที่เราจะซ้อมร้องเพลงเหล่านั้นด้วยกันในการนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็น. ขอให้เราตั้งใจไว้ว่าจะ ‘ร้องเพลงถวายพระยะโฮวาตลอดชีวิต และจะร้องเพลงสรรเสริญพระองค์ตราบเท่าที่เรามีชีวิตอยู่.’—เพลง. 104:33, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
5, 6. เราจะแสดงน้ำใจรับรองแขกและความเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น ๆ ได้อย่างไร และการทำอย่างนั้นส่งเสริมอะไรในประชาคม?
5 การแสดงน้ำใจรับรองแขกต่อพี่น้องของเราเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีน้ำใจที่เปี่ยมด้วยความรักในประชาคม. ในบทสุดท้ายของจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรู เปาโลเขียนคำกระตุ้นเตือนดังต่อไปนี้ด้วยที่ว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายรักกันฉันพี่น้องต่อ ๆ ไป. อย่าลืมแสดงน้ำใจรับรองแขก.” (ฮีบรู 13:1, 2) การเลี้ยงอาหารผู้ดูแลเดินทางและภรรยาหรือผู้รับใช้เต็มเวลาในประชาคมเป็นวิธีหนึ่งที่ดีเยี่ยมในการแสดงน้ำใจรับรองแขก. นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงแม่ม่าย ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคนอื่น ๆ ที่อาจได้รับประโยชน์จากการร่วมรับประทานอาหารหรือนมัสการประจำครอบครัวด้วยกันกับเราเป็นครั้งคราว.
6 เปาโลบอกติโมเธียวให้แนะนำคนอื่น ๆ ให้ “ทำการดี และทำให้มาก ๆ ให้เป็นคนใจกว้าง พร้อมจะแบ่งปัน การทำอย่างนี้เป็นการสะสมทรัพย์ที่คงทนไว้เป็นฐานรากอันดีสำหรับอนาคต เพื่อพวกเขาจะได้ยึดชีวิตแท้ไว้ให้มั่น.” (1 ติโม. 6:17-19) เปาโลแนะนำเพื่อนผู้นมัสการให้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. เราส่งเสริมน้ำใจเอื้อเฟื้อได้แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี. วิธีที่ดีวิธีหนึ่งคือการรับส่งพี่น้องบางคนไปประกาศหรือไปประชุม. คนที่ได้รับประโยชน์จากการกระทำด้วยความรักและกรุณาควรทำอย่างไร? พวกเขาคงจะช่วยส่งเสริมน้ำใจที่ดีในประชาคมถ้าพวกเขาแสดงความขอบคุณ โดยที่อาจจะช่วยจ่ายค่าน้ำมันรถซึ่งมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่จะช่วยได้. นอกจากนั้น การใช้เวลาอยู่กับพี่น้องมากขึ้นช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเขาเองมีค่าและเรารักพวกเขา. เมื่อเราทำการดีมาก ๆ ต่อ “ผู้ที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา” และพร้อมจะให้เวลาและสิ่งที่เรามีเพื่อช่วยพวกเขา เราไม่เพียงแต่จะมีความรักต่อพวกเขามากขึ้นแต่ยังจะช่วยเสริมสร้างน้ำใจที่ดีและอบอุ่นในประชาคมด้วย.—กลา. 6:10
7. การเก็บเรื่องส่วนตัวของคนอื่นไว้เป็นความลับช่วยรักษาน้ำใจที่ดีในประชาคมอย่างไร?
7 ขอให้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เสริมสายสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักที่เรามีกับเพื่อนร่วมความเชื่อให้แน่นแฟ้น คือมิตรภาพและการเก็บความลับ. (อ่านสุภาษิต 18:24) เพื่อนแท้เก็บเรื่องส่วนตัวของเพื่อนเป็นความลับ. เมื่อพี่น้องของเราเปิดเผยความคิดและความรู้สึกส่วนลึกของเขากับเราและมั่นใจว่าคนอื่น ๆ จะไม่รู้เรื่องนั้น ความรักที่มีต่อกันอยู่แล้วก็จะยิ่งมั่นคงขึ้น. ขอให้เราส่งเสริมน้ำใจในประชาคมที่เปี่ยมด้วยความรักเหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกันด้วยการเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ซึ่งสามารถเก็บความลับ.—สุภา. 20:19
จงกระตือรือร้นในงานประกาศ
8. คริสเตียนในประชาคมลาโอดิเคียได้รับคำแนะนำอะไร และเพราะเหตุใด?
8 พระเยซูตรัสกับประชาคมในเมืองลาโอดิเคียว่า “เรารู้ว่าเจ้าทำอะไร เจ้าไม่เย็นไม่ร้อน. เราอยากให้เจ้าเย็นหรือไม่ก็ร้อน. เพราะเจ้าเป็นแต่อุ่น ๆ ไม่ร้อนไม่เย็น เราจะคายเจ้าออกจากปากของเรา.” (วิ. 3:15, 16) คริสเตียนในประชาคมลาโอดิเคียขาดความกระตือรือร้นในงานประกาศ. ทัศนคติเช่นนั้นคงมีผลต่อสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่พวกเขามีต่อกันด้วย. ดังนั้น พระเยซูทรงแนะนำพวกเขาด้วยความรักว่า “เราว่ากล่าวและตีสอนผู้ที่เรารัก. ฉะนั้น จงกระตือรือร้นและกลับใจ.”—วิ. 3:19
9. ทัศนคติที่เรามีต่องานประกาศส่งผลต่อน้ำใจของประชาคมอย่างไร?
9 เพื่อส่งเสริมน้ำใจที่ดีในประชาคม เราควรกระตือรือร้นในงานประกาศ. จุดประสงค์อย่างหนึ่งของประชาคมคือการค้นหาคนที่มีลักษณะเยี่ยงแกะในเขตงานและสอนความจริงแก่พวกเขา. ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำงานสอนคนให้เป็นสาวกอย่างกระตือรือร้น เช่นเดียวกับพระเยซู. (มัด. 28:19, 20; ลูกา 4:43) ยิ่งเรามีความกระตือรือร้นในงานรับใช้มากเท่าใด เราก็จะยิ่งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นในฐานะ “ผู้ร่วมงานกับพระเจ้า.” (1 โค. 3:9) เมื่อเราสังเกตดูคนอื่นที่ประกาศด้วยกันปกป้องความเชื่อของตนและแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็นค่าสิ่งฝ่ายวิญญาณ เราถูกกระตุ้นให้รักและนับถือพวกเขามากขึ้น. นอกจากนั้น เมื่อเรา “พร้อมใจกัน” ในงานประกาศ นั่นย่อมทำให้ประชาคมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.—อ่านซะฟันยา 3:9
10. การปรับปรุงคุณภาพงานประกาศของเรามีผลอย่างไรต่อน้ำใจของคนอื่น ๆ ในประชาคม?
10 การที่เราพยายามปรับปรุงงานประกาศให้ดีขึ้นยังมีผลดีอีกอย่างหนึ่งต่อคนอื่น ๆ. เมื่อเราแสดงความสนใจมากขึ้นต่อคนที่เราพบ และพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพในการเข้าถึงหัวใจของผู้ฟัง ความกระตือรือร้นของเราในงานประกาศก็จะเพิ่มขึ้น. (มัด. 9:36, 37) เมื่อเรากระตือรือร้น เราอาจทำให้คนอื่นกระตือรือร้นไปด้วย. พระเยซูไม่ได้ส่งเหล่าสาวกไปประกาศตามลำพัง แต่ส่งพวกเขาออกไปเป็นคู่ ๆ. (ลูกา 10:1) การจัดแบบนี้ไม่เพียงแต่ให้กำลังใจและช่วยฝึกพวกเขาเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นในงานประกาศมากขึ้นด้วย. เรารู้สึกขอบคุณที่ได้ทำงานกับผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีใจแรงกล้ามิใช่หรือ? ความกระตือรือร้นของพวกเขาทำให้เรามีกำลังใจและกระตุ้นเราให้ทำงานประกาศต่อ ๆ ไป.—โรม 1:12
ระวังอย่าบ่นและทำบาป
11. ชาวอิสราเอลในสมัยโมเซมีน้ำใจแบบใด และนั่นส่งผลต่อพวกเขาอย่างไร?
11 หลังจากที่เป็นชาติใหม่ได้ไม่กี่สัปดาห์ ชาวอิสราเอลก็เริ่มแสดงความไม่พอใจและบ่น. การทำอย่างนี้ชักนำพวกเขาให้ขืนอำนาจพระยะโฮวาและตัวแทนของพระองค์. (เอ็ก. 16:1, 2) มีชาวอิสราเอลที่ออกจากประเทศอียิปต์จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่รอดชีวิตจนได้เห็นแผ่นดินที่ทรงสัญญา. แม้แต่โมเซก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในแผ่นดินนั้นเพราะปฏิกิริยาของท่านต่อน้ำใจที่ไม่ดีของชาติอิสราเอล! (บัญ. 32:48-52) ในทุกวันนี้ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของน้ำใจที่ไม่ดี?
12. อะไรจะช่วยเราได้เพื่อจะไม่มีนิสัยชอบบ่น?
12 เราต้องระวังอย่ามีนิสัยชอบบ่น. แม้ว่าการพัฒนาความถ่อมและความนับถือต่อผู้มีอำนาจจะช่วยเราได้ แต่เราต้องเลือกคนที่เราคบหาด้วยอย่างรอบคอบ. การเลือกความบันเทิงที่ไม่ดีหรือใช้เวลามากเกินไปกับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนนักเรียนที่ไม่นับถือหลักการอันชอบธรรมก่อผลเสียหายต่อเรา. เราควรจำกัดการคบหากับผู้คนที่มีทัศนะที่ไม่ดีหรือส่งเสริมน้ำใจเอกเทศ.—สุภา. 13:20
13. อิทธิพลที่ทำให้เสื่อมเสียของการบ่นอาจทำให้เกิดความเสียหายฝ่ายวิญญาณอื่น ๆ เช่นไรในประชาคม?
13 อิทธิพลที่ทำให้เสื่อมเสียของการบ่นอาจทำให้เกิดความเสียหายฝ่ายวิญญาณอื่น ๆ ได้. ตัวอย่างเช่น การบ่นอาจทำลายสันติสุขและเอกภาพของประชาคม. นอกจากนั้น การบ่นต่อว่าเพื่อนร่วมความเชื่ออาจไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดใจ แต่อาจลุกลามจนทำให้คนที่ชอบบ่นกลายเป็นคนปากร้ายและพูดหยาบช้า. (เลวี. 19:16; 1 โค. 5:11) บางคนในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรกที่ชอบบ่น “ไม่นับถือผู้ทำหน้าที่ปกครอง และพูดหยาบหยามผู้ที่พระเจ้าทรงยกย่อง.” (ยูดา 8, 16) แน่นอน พระเจ้าไม่พอพระทัยการบ่นเช่นนั้นต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม.
14, 15. (ก) การปล่อยให้มีการทำผิดต่อไปโดยไม่ยับยั้งไว้อาจทำให้เกิดผลเช่นไรต่อทั้งประชาคม? (ข) เราควรทำอะไรถ้าเรารู้ว่าใครคนหนึ่งทำผิดอย่างลับ ๆ?
14 แต่จะว่าอย่างไรถ้าเรารู้ว่าใครคนหนึ่งทำผิดอย่างลับ ๆ เช่น อาจมีปัญหาในการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดูสื่อลามก หรือใช้ชีวิตอย่างผิดศีลธรรม? (เอเฟ. 5:11, 12) การที่เราปิดหูปิดตาต่อการกระทำผิดร้ายแรงอาจขัดขวางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาไม่ให้ดำเนินกิจอย่างเต็มที่และอาจทำลายสันติสุขของทั้งประชาคม. (กลา. 5:19-23) เช่นเดียวกับที่คริสเตียนยุคแรกในเมืองโครินท์ต้องขจัดความชั่วออกไป พวกเราในปัจจุบันต้องสะกัดกั้นไม่ให้อิทธิพลที่เสื่อมทรามใด ๆ เข้ามาในประชาคมเพื่อรักษาน้ำใจที่ดีของประชาคมไว้. คุณอาจทำอะไรได้เพื่อช่วยให้ประชาคมมีสันติสุข?
15 ดังที่กล่าวไปแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเก็บบางเรื่องไว้เป็นความลับ โดยเฉพาะเมื่อคนอื่นบอกความรู้สึกนึกคิดของเขากับเรา. การแพร่งพรายข้อมูลที่เป็นความลับของใครคนหนึ่งนับเป็นการกระทำที่ผิดและทำให้เจ็บช้ำน้ำใจจริง ๆ! แม้ว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อมีใครทำผิดร้ายแรง คนที่มีหน้าที่ตามหลักพระคัมภีร์ที่จะจัดการเรื่องนั้น ซึ่งก็คือผู้ปกครองในประชาคม ควรทราบเรื่องนั้น. (อ่านเลวีติโก 5:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน)a ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่าพี่น้องคนหนึ่งพลาดพลั้งทำผิด เราควรสนับสนุนพี่น้องคนนั้นให้เข้าพบและขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง. (ยโก. 5:13-15) ถ้าเวลาผ่านไปพอสมควรแล้วแต่พี่น้องคนนั้นยังไม่เข้าพบผู้ปกครอง เราควรรายงานการกระทำผิดดังกล่าว.
16. การรายงานการทำผิดร้ายแรงช่วยรักษาน้ำใจของประชาคมไว้อย่างไร?
16 ประชาคมคริสเตียนเป็นแหล่งพักพิงที่ปลอดภัยฝ่ายวิญญาณ และเราต้องช่วยกันปกป้องประชาคมโดยรายงานการทำผิดร้ายแรง. ถ้าผู้ปกครองช่วยคนทำผิดให้รู้สำนึกและเขากลับใจโดยยอมรับการว่ากล่าวแก้ไข เขาก็จะไม่ก่อผลเสียหายต่อน้ำใจของประชาคมอีกต่อไป. แต่จะว่าอย่างไรถ้าคนที่ทำผิดร้ายแรงไม่กลับใจและไม่ตอบรับคำแนะนำอันเปี่ยมด้วยความรักของผู้ปกครอง? การขับเขาออกจากประชาคมย่อมเป็นการ “ขจัด” สิ่งที่ทำให้เสื่อมเสียออกจากท่ามกลางพวกเรา และรักษาน้ำใจของประชาคมไว้. (อ่าน 1 โครินท์ 5:5) ใช่แล้ว เพื่อจะรักษาน้ำใจของประชาคมไว้เราแต่ละคนต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ให้ความร่วมมือกับคณะผู้ปกครอง และปกป้องสวัสดิภาพของเพื่อนร่วมความเชื่อ.
จงส่งเสริม “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
17, 18. อะไรจะช่วยเราให้ “รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”?
17 โดย “เอาใจใส่ฟังคำสอนของพวกอัครสาวก” เหล่าสาวกของพระเยซูในยุคแรกช่วยให้ประชาคมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น. (กิจ. 2:42) พวกเขาเห็นค่าคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์และการชี้นำที่ได้รับจากผู้เฒ่าผู้แก่. เนื่องจากผู้ปกครองในปัจจุบันร่วมมือกับชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม ทุกคนในประชาคมจึงได้รับการสนับสนุนและได้รับความช่วยเหลือให้รักษาเอกภาพไว้. (1 โค. 1:10) เมื่อเรายอมรับคำสอนที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักจากองค์การของพระยะโฮวาและทำตามคำแนะนำของผู้ปกครอง เราแสดงให้เห็นว่าเรา “พยายามอย่างจริงจังเพื่อรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยสันติสุขซึ่งเป็นสิ่งที่ผูกพันผู้คนให้มีเอกภาพ.”—เอเฟ. 4:3
18 ดังนั้น ขอให้เราพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาน้ำใจที่ดีของประชาคมไว้เสมอ. ถ้าเราทำอย่างนั้น เราแน่ใจได้ว่า ‘พระกรุณาอันใหญ่หลวงของพระเยซูคริสต์เจ้าจะมีแก่เราเนื่องด้วยน้ำใจที่เราได้แสดง.’—ฟิลิป. 4:23
[เชิงอรรถ]
a เลวีติโก 5:1 (พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน): “ถ้าผู้ใดทำบาป คือได้ยินคำประกาศเรียกพยาน โดยที่เขารู้เห็นหรือรู้เรื่องในเหตุการณ์ที่เป็นคดี แต่เขาไม่ยอมให้การ เขาต้องรับโทษความผิดของเขา.”
[ภาพหน้า 19]
คุณส่งเสริมให้มีน้ำใจที่ดีด้วยการเตรียมความเห็นที่เป็นประโยชน์จริง ๆ ไหม?
[ภาพหน้า 20]
จงส่งเสริมน้ำใจที่ดีด้วยการซ้อมร้องเพลงที่ยังไม่คุ้นเคย