ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคุณเป็นเครื่องนำทางที่ไว้ใจได้ไหม?
“ที่ข้าพเจ้าสั่งอย่างนี้ก็เพื่อให้พวกเรามีความรักอย่างบริสุทธิ์ใจ จากสติรู้สึกผิดชอบที่ดี”—1 ติโม. 1:5
1, 2. ใครให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแก่เรา และทำไมเราควรขอบคุณที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี?
พระยะโฮวาพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีอิสระในการเลือก แต่เพื่อจะช่วยเราให้เลือกสิ่งที่ถูกต้อง พระยะโฮวาจึงให้เครื่องนำทางแก่เรา เครื่องนำทางนี้เรียกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในตัวเรา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีคือความรู้สึกที่รู้ว่าอะไรถูกและอะไรผิด เมื่อเราใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในวิธีที่ถูกต้องนั่นก็จะช่วยเราให้ทำสิ่งที่ดีและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ชั่ว ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทำให้เราเห็นว่าพระยะโฮวารักเราและอยากให้เราประสบความสำเร็จ
2 บางคนในทุกวันนี้ทำสิ่งที่ดีและเกลียดสิ่งที่ชั่วแม้พวกเขาไม่รู้จักคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล (อ่านโรม 2:14, 15) ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เป็นเพราะพวกเขามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีซึ่งช่วยป้องกันพวกเขาไม่ให้ทำสิ่งที่ผิด ลองนึกดูว่าโลกจะเลวร้ายขนาดไหนถ้ามนุษย์ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี! เราคงจะได้ยินเรื่องไม่ดีมากกว่าในตอนนี้ เราขอบคุณจริง ๆ ที่พระยะโฮวาให้มนุษย์มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
3. ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราช่วยประชาคมได้อย่างไร?
3 คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเรื่องการฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของพวกเขา แต่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอยากให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนทำงานอย่างถูกต้อง เพราะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะส่งเสริมเอกภาพในประชาคมได้อย่างมาก เราจึงอยากให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราเตือนเราให้นึกถึงคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว แต่เพื่อจะฝึกและใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา เราต้องไม่เพียงแค่รู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างไร แต่เราต้องรักคำสอนของพระเจ้าและเชื่อว่าคำสอนเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อเรา เปาโลจึงเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ที่ข้าพเจ้าสั่งอย่างนี้ก็เพื่อให้พวกเรามีความรักอย่างบริสุทธิ์ใจ จากสติรู้สึกผิดชอบที่ดี และจากความเชื่อที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด” (1 ติโม. 1:5) เมื่อเราฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราและทำตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น ความรักและความเชื่อที่มีต่อพระยะโฮวาจะเพิ่มมากขึ้น วิธีที่เราใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราจะพิสูจน์ว่าเราใกล้ชิดกับพระยะโฮวามากแค่ไหนและแสดงว่าเราอยากให้พระองค์พอใจมากแค่ไหน ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรายังแสดงให้เห็นด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหนจริง ๆ
4. เราจะฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราได้อย่างไร?
4 เราจะฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราได้อย่างไร? เราทำได้โดยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ ใคร่ครวญสิ่งที่เราอ่าน และขอพระยะโฮวาช่วยเราให้ทำตามสิ่งที่เราได้เรียน นั่นหมายความว่าเราไม่ใช่แค่รู้ข้อเท็จจริงและกฎต่าง ๆ เท่านั้น เป้าหมายของเราในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคือเพื่อรู้จักพระยะโฮวาดีขึ้น แล้วเราก็จะรู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแบบไหน ชอบและไม่ชอบอะไร ในที่สุด ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราก็จะช่วยให้เรารู้ได้ทันทีเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวามองว่าถูกและผิด ยิ่งเราฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากเท่าไร เราก็จะคิดเหมือนพระยะโฮวาได้มากขึ้นเท่านั้น
5. เราจะเรียนอะไรในบทความนี้?
5 แต่เราอาจถามว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีจะช่วยเราอย่างไรเมื่อต้องตัดสินใจ? เราจะนับถือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของพี่น้องคริสเตียนได้อย่างไร? และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราจะกระตุ้นเราให้ทำสิ่งที่ดีได้อย่างไร? ขอเรามาดู 3 เรื่องที่เราจำเป็นต้องฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา (1) การดูแลรักษาสุขภาพ (2) นันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ และ (3) การประกาศของเรา
เป็นคนมีเหตุผล
6. มีคำถามอะไรเกี่ยวกับการเลือกวิธีดูแลรักษาสุขภาพ?
6 คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำร้ายเราและให้เป็นคนมีเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ เช่น การกินและดื่ม (สุภา. 23:20; 2 โค. 7:1) เมื่อเราเชื่อฟังสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกก็จะช่วยปกป้องสุขภาพของเราได้ แต่เราก็ยังต้องป่วยและแก่ชรา เราจึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร เพราะในบางประเทศ มีการรักษาโรคหลายแบบทั้งการรักษาทั่วไปที่โรงพยาบาล การรักษาจากหมอสมุนไพร หรือการรักษาโดยวิธีธรรมชาติ สำนักงานสาขาจึงมักจะได้รับจดหมายจากพี่น้องที่ถามเกี่ยวกับการรักษาแบบต่าง ๆ หลายคนถามว่า “ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะรับการรักษาแบบนี้แบบนั้นได้ไหม?”
7. เราจะตัดสินใจอย่างไรในเรื่องเลือด?
7 สำนักงานสาขาและผู้ปกครองในประชาคมท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนพี่น้องคริสเตียนในเรื่องการรักษาทางการแพทย์ (กลา. 6:5) แต่ผู้ปกครองสามารถให้ดูสิ่งที่พระยะโฮวาได้บอกไว้เพื่อช่วยคริสเตียนให้ตัดสินใจอย่างฉลาด เช่น พระเจ้าสั่งเราให้ละเว้นจากเลือด (กิจ. 15:29) คำสั่งนี้ช่วยให้คริสเตียนเข้าใจชัดเจนว่าเขาไม่สามารถยอมรับการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการรับเลือดครบส่วนหรือแม้แต่ส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนประกอบหลักสี่อย่างของเลือด และเรื่องนี้อาจส่งผลต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขาว่าจะตัดสินใจรับส่วนประกอบย่อยจากส่วนประกอบหลักสี่อย่างของเลือดหรือไม่a มีคำแนะนำอะไรอีกในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยเราตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาทางการแพทย์?
8. ฟิลิปปอย 4:5 ช่วยเราอย่างไรให้เลือกอย่างฉลาดในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ?
8 ในสุภาษิต 14:15 บอกว่า “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง” ทุกวันนี้อาจยังไม่มีการค้นพบการรักษาโรคบางอย่าง ดังนั้น เราจึงต้องระวังการรักษาที่อ้างว่ารักษาโรคได้จริงแต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ เปาโลเขียนว่า “ให้คนทั้งปวงเห็นว่าท่านทั้งหลายเป็นคนมีเหตุผล” (ฟิลิป. 4:5) ความมีเหตุผลจะช่วยเราให้จดจ่ออยู่กับการนมัสการพระยะโฮวาแทนที่จะหมกมุ่นมากเกินไปในเรื่องสุขภาพ ถ้าการดูแลรักษาสุขภาพกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เราจะกลายเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเอง (ฟิลิป. 2:4) เรารู้ว่าในตอนนี้เราไม่สามารถมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แบบได้ ดังนั้น ขอทำให้แน่ใจว่า การรับใช้พระยะโฮวาคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ—อ่านฟิลิปปอย 1:10
9. คำแนะนำในโรม 14:13, 19 ส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของเราในเรื่องสุขภาพ และประชาคมอาจเกิดการแตกแยกได้อย่างไร?
9 คริสเตียนที่มีเหตุผลจะไม่พยายามบังคับคนอื่นให้ทำสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุด ในประเทศหนึ่ง คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งได้สนับสนุนคนอื่น ๆ ให้กินอาหารเสริมและอาหารบางอย่างโดยเฉพาะ พวกเขาพูดโน้มน้าวพี่น้องให้ทำเหมือนพวกเขา พี่น้องบางคนทำตามแต่บางคนปฏิเสธ เมื่อไม่เกิดผลที่ดีอย่างที่บอกไว้ พี่น้องที่ได้กินอาหารเสริมเหล่านั้นจึงไม่พอใจ สามีภรรยาคู่นี้มีสิทธิ์ที่จะเลือกสำหรับพวกเขาเอง ว่าจะลองกินอาหารเสริมหรืออาหารบางอย่างหรือไม่ แต่มีเหตุผลไหมที่จะทำให้ประชาคมเกิดการแตกแยกเพราะเรื่องการดูแลสุขภาพ? ในกรุงโรมสมัยโบราณ คริสเตียนบางคนมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอาหารและการฉลองบางอย่าง เปาโลแนะนำพวกเขาว่า “คนหนึ่งถือว่าวันหนึ่งดีกว่าอีกวันหนึ่ง อีกคนหนึ่งถือว่าทุกวันเหมือนกัน ให้แต่ละคนเชื่อมั่นตามความคิดเห็นของตนเถิด” ดังนั้น ขอเราระวังที่จะไม่ทำให้คนอื่นสะดุด—อ่านโรม 14:5, 13, 15, 19, 20
10. ทำไมเราควรนับถือการตัดสินใจส่วนตัวของคนอื่น? (ดูภาพแรก)
10 เราควรทำอย่างไรถ้าบางครั้งเราไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนในประชาคมจึงตัดสินใจในเรื่องส่วนตัวบางอย่างแบบนั้น? เราไม่ควรด่วนตัดสินหรือบังคับเขาให้เปลี่ยนความคิด บางทีเขาจำเป็นต้องฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากขึ้น หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเขาอาจไวเกินไป (1 โค. 8:11, 12) หรือบางทีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราเองก็อาจไม่ได้ฝึกเต็มที่ ดังนั้น เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและเรื่องอื่น ๆ เราแต่ละคนต้องทำด้วยตัวเองและยอมรับผลจากการตัดสินใจนั้น
มีความสุขกับนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ
11, 12. คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราอย่างไรให้เลือกนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ?
11 พระยะโฮวาสร้างเราให้มีความสุขกับนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจและให้ได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น โซโลมอนเขียนว่ามี “เวลาหัวเราะ” และ “เวลาเต้นรำ” (ผู้ป. 3:4, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจทุกอย่างเป็นประโยชน์ ผ่อนคลาย หรือทำให้สดชื่น นอกจากนั้น เราต้องไม่ใช้เวลามากเกินไปในการทำกิจกรรมเหล่านั้น ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราจะช่วยเราให้มีความสุขและได้ประโยชน์จากนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจที่พระยะโฮวายอมรับได้อย่างไร?
12 คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราให้ระวัง “การกระทำที่เกิดจากความปรารถนาของกายที่มีบาป” นี่รวมถึง “การผิดประเวณี การประพฤติที่ไม่สะอาด การประพฤติที่ไร้ยางอาย การไหว้รูปเคารพ การถือผี การเป็นศัตรูกัน การต่อสู้กัน การริษยากัน การบันดาลโทสะ การชิงดีชิงเด่นกัน การแตกแยกกัน การแยกเป็นนิกายต่าง ๆ การอิจฉากัน การดื่มจนเมามาย การเลี้ยงเฮฮาอย่างเลยเถิด และการต่าง ๆ ทำนองนี้” เปาโลเขียนว่า “ผู้ที่ทำการเหล่านี้เป็นอาจิณจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้า” (กลา. 5:19-21) ดังนั้น เราควรถามตัวเองว่า ‘ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีช่วยฉันให้หลีกเลี่ยงกีฬาที่ก้าวร้าว มีน้ำใจแข่งขันชิงดี ส่งเสริมความรักชาติ หรือรุนแรงไหม? ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันเตือนฉันไหมเมื่อถูกล่อใจให้ดูหนังที่มีภาพโป๊ การผิดศีลธรรม การเมาเหล้า หรือเกี่ยวข้องกับผีปีศาจ?’
13. คำแนะนำที่ 1 ติโมเธียว 4:8 และสุภาษิต 13:20 ช่วยเราอย่างไรในเรื่องนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ?
13 หลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยเราให้ฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราในเรื่องนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “การฝึกทางกายมีประโยชน์เล็กน้อย” (1 ติโม. 4:8) หลายคนรู้สึกว่าการออกกำลังกายเป็นประจำทำให้สดชื่นและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ถ้าเราอยากออกกำลังกายเป็นกลุ่มล่ะ เป็นเรื่องสำคัญไหมว่าเราออกกำลังกายกับใคร? สุภาษิต 13:20 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) บอกเราว่า “คบกับคนฉลาดแล้วจะฉลาด ข้องแวะกับคนโง่จะพบกับความเลวร้าย” เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิลในการเลือกนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ
14. ครอบครัวหนึ่งใช้หลักการในโรม 14:2-4 อย่างไร?
14 คริสเตียนกับดาเนียลา มีลูกสาววัยรุ่นสองคน คริสเตียนบอกว่า “ในช่วงการนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็น เราคุยกันเรื่องนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ เราเห็นด้วยว่ากิจกรรมบางอย่างยอมรับได้แต่บางอย่างยอมรับไม่ได้ เราคุยกันด้วยว่าเราควรคบหากับใคร? แล้วลูกสาวคนหนึ่งของเราก็บ่นว่า ในระหว่างช่วงพัก เธอคิดว่าพยานฯวัยรุ่นบางคนทำตัวไม่เหมาะสมที่โรงเรียน และเธอก็รู้สึกถูกกดดันให้ทำเหมือนกับพวกเขา เราหาเหตุผลกันว่า เราแต่ละคนมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและเราควรให้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีชี้นำเราให้เลือกสิ่งที่เราทำและเลือกคนที่เราจะคบด้วย”—อ่านโรม 14:2-4
15. มัดธาย 6:33 ช่วยเราอย่างไรเมื่อวางแผนเกี่ยวกับนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ?
15 คุณใช้เวลาไปกับนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจมากแค่ไหน? คุณให้อะไรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด? คุณให้การประชุม การประกาศ และการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมาก่อนไหมหรือคุณให้นันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจมาก่อน? พระเยซูบอกว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วพระองค์จะทรงให้สิ่งทั้งปวงนี้แก่พวกเจ้า” (มัด. 6:33) เมื่อคุณตัดสินใจว่าจะใช้เวลาอย่างไร ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคุณช่วยคุณให้นึกถึงคำแนะนำของพระเยซูไหม?
เราถูกกระตุ้นให้ประกาศ
16. ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
16 ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกไม่ใช่แค่เตือนเราให้หลีกเลี่ยงการทำสิ่งที่ไม่ดีเท่านั้นแต่ยังกระตุ้นเราให้ทำสิ่งดีด้วย สิ่งดีอย่างหนึ่งก็คือการประกาศตามบ้านและการประกาศอย่างไม่เป็นทางการ เปาโลก็ทำอย่างนั้นด้วย เขาเขียนว่า “ข้าพเจ้าจำเป็นต้องประกาศอยู่แล้ว ถ้าข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี วิบัติจะมีแก่ข้าพเจ้าแน่!” (1 โค. 9:16) เมื่อเราเลียนแบบเปาโล เราจะรู้สึกสบายใจที่รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง และเมื่อเราประกาศข่าวดีแก่คนอื่น ๆ ตัวอย่างที่ดีของเราก็จะช่วยให้พวกเขาตอบรับความจริง เปาโลบอกว่า “โดยการทำให้ความจริงปรากฏ เราจึงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทุกคนในสายพระเนตรของพระเจ้า”—2 โค. 4:2
17. พี่น้องหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งทำตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเธอที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
17 เมื่อแจ็กเกอลีนอายุ 16 ปี เธอได้เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการในวิชาชีววิทยา เธอบอกว่า “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของฉันไม่ยอมให้ฉันมีส่วนร่วมเต็มที่อย่างที่ฉันเคยทำในห้องเรียน ฉันไม่สามารถสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการ ฉันจึงเข้าพบครูและอธิบายความเชื่อของฉัน ฉันแปลกใจมากที่ครูใจดีไม่ว่าอะไรและเสนอให้ฉันมีโอกาสได้รายงานหน้าชั้นในเรื่องการสร้าง” แจ็กเกอลีนมีความสุขที่ได้ฟังและทำตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ได้รับการฝึกจากคัมภีร์ไบเบิล แล้วความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคุณกระตุ้นคุณให้ทำสิ่งที่ถูกต้องไหม?
18. ทำไมเราอยากมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ไว้ใจได้?
18 เป้าหมายของเราคือการใช้ชีวิตตามหลักการและคำสอนของพระยะโฮวา และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราสามารถช่วยเราให้ไปถึงเป้าหมายนั้น เมื่อเราศึกษาและใคร่ครวญคำสอนของพระเจ้าและทำตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้ นั่นก็จะช่วยฝึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา แล้วของขวัญที่พิเศษนี้จะเป็นเครื่องนำทางที่ไว้ใจได้ในชีวิตคริสเตียนของเรา!
a ดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มิถุนายน 2004 น. 29-31