“ไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก”
“ไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา . . . สอนพวกเขาให้ทำตามทุกสิ่งที่ผมสั่งคุณไว้”—มธ. 28:19, 20
1, 2. เกิดคำถามอะไรเมื่อเราอ่านคำพูดของพระเยซูที่มัทธิว 24:14?
พระเยซูบอกล่วงหน้าว่าในสมัยสุดท้ายจะมีการประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าไปทั่ว (มธ. 24:14) พวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องงานประกาศที่ทำกันทั่วโลก บางคนชอบข่าวสารที่เราประกาศ แต่ก็มีคนที่ไม่ชอบด้วย ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังยอมรับนับถืองานที่เราทำ พวกเรามักบอกคนอื่นเสมอว่าเรากำลังทำงานที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้า เรามีสิทธิ์ที่จะพูดแบบนั้นไหม? เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่างานประกาศของเราเป็นงานที่พระเยซูบอกไว้ล่วงหน้า?
2 ผู้คนจากหลายกลุ่มศาสนาอ้างว่าพวกเขาประกาศข่าวสารของพระเยซู แต่งานประกาศของพวกเขาทำกันแค่ในรายการโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต เทศน์ในโบสถ์ หรือไม่ก็แค่เล่าประสบการณ์ของตัวเองว่าได้มาเรียนเกี่ยวกับพระเยซูได้อย่างไร ส่วนคนอื่น ๆ ก็คิดว่าการได้ช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือทำงานจิตอาสา เช่น เป็นหมอ พยาบาล หรือครูก็เป็นวิธีหนึ่งที่พวกเขาประกาศ แต่งานเหล่านี้เป็นงานประกาศที่พระเยซูกำลังพูดถึงไหม?
3. ผู้ติดตามพระเยซูต้องทำ 4 อย่างอะไรบ้างตามมัทธิว 28:19, 20?
3 พระเยซูอยากให้เรารอจนกว่าผู้คนจะเข้ามาหาเราเองไหม? ไม่แน่ ๆ หลังจากฟื้นขึ้นจากตาย พระเยซูบอกสาวกหลายร้อยคนว่า “ไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา . . . สอนพวกเขาให้ทำตามทุกสิ่งที่ผมสั่งคุณไว้” (มธ. 28:19, 20) ดังนั้น พวกเราที่เป็นคนที่ติดตามพระเยซูต้องทำ 4 อย่างที่สำคัญคือ ทำให้คนเป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติศมา สอนพวกเขา และอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือ ไปหาพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งบอกว่า “การ ‘ไป’ ในที่นี้เป็นงานที่ผู้เชื่อถือทุกคนต้องทำ ไม่ว่าจะไปอีกฝั่งถนนหรืออีกฝั่งมหาสมุทรก็ตาม”—มธ. 10:7; ลก. 10:3
4. การ “ไปหาคน” เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง?
4 พระเยซูคาดหมายให้สาวกของท่านทำอะไร? ท่านอยากให้พวกเขาต่างคนต่างไปประกาศกันเอง หรืออยากให้จัดระเบียบและทำงานนี้ร่วมกัน? เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่คนเดียวจะประกาศกับ “คนทุกชาติ” สาวกของพระเยซูจึงต้องมีการจัดระเบียบในการทำงานนี้ นี่คือสิ่งที่พระเยซูพูดถึงตอนที่ท่านเชิญสาวกให้ “ไปหาคน” (อ่านมัทธิว 4:18-22) เมื่อพูดถึงการไปหาคน พระเยซูกำลังเปรียบเทียบกับการไปหาปลา แต่พระเยซูไม่ได้หมายถึงการที่คนคนหนึ่งนั่งรอให้ปลามากินเบ็ด แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การหาปลาที่พระเยซูพูดถึงเกี่ยวข้องกับการใช้อวนจับปลา การหาปลาแบบนั้นเป็นงานหนักที่ต้องจัดระเบียบอย่างดี และต้องมีหลายคนมาช่วยกัน—ลก. 5:1-11
5. คำถาม 4 ข้ออะไรที่เราต้องหาคำตอบ? และทำไม?
5 เพื่อที่เราจะรู้ว่าคนกลุ่มไหนกำลังประกาศข่าวดีในทุกวันนี้ เราต้องตอบคำถาม 4 ข้อนี้ก่อน
คนที่ติดตามพระเยซูต้องประกาศข่าวสารอะไร?
อะไรควรเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาประกาศ?
พวกเขาควรใช้วิธีไหนในการประกาศ?
งานประกาศที่พวกเขาทำควรกว้างไกลไปถึงขนาดไหน? และพวกเขาควรทำงานนี้จนถึงเมื่อไร?
คำตอบของคำถาม 4 ข้อนี้จะไม่เพียงแค่ช่วยเราให้รู้ว่าใครกำลังทำงานที่ช่วยชีวิตนี้ แต่เราจะได้รับกำลังใจให้อยากทำงานนี้ต่อ ๆ ไปด้วย—1 ทธ. 4:16
ต้องประกาศข่าวสารอะไร?
6. เรามั่นใจได้อย่างไรว่าพยานพระยะโฮวากำลังประกาศข่าวสารที่ถูกต้อง?
6 อ่านลูกา 4:43 พระเยซูประกาศ “ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” ท่านอยากให้สาวกทำอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วใครล่ะที่กำลังประกาศข่าวสารนั้นอยู่ทั่วโลก? มีแต่พยานพระยะโฮวาที่ทำอย่างนั้น แม้คนที่ไม่ชอบเราก็ยังยอมรับในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ขอสังเกตว่าบาทหลวงมิชชันนารีที่เดินทางไปในหลายประเทศพูดกับพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งอย่างไร เขาเล่าให้พี่น้องของเราฟังว่าในทุกประเทศที่เขาไป เขาถามพวกพยานฯว่ากำลังประกาศข่าวสารอะไร บาทหลวงบอกว่า “พวกพยานฯโง่มาก พวกเขาตอบเหมือนกันหมดว่า ‘ข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า’” คำพูดของบาทหลวงคนนั้นให้ข้อพิสูจน์ว่าพวกเราไม่ได้โง่ แต่พวกเราเป็นคริสเตียนแท้ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (1 คร. 1:10) รัฐบาลของพระเจ้าก็เป็นข่าวสารหลักของวารสารหอสังเกตการณ์ ด้วยเหมือนกัน มีการแปลวารสารนี้ใน 254 ภาษา และผลิตแต่ละฉบับออกมาเกือบ 59 ล้านเล่มโดยเฉลี่ย วารสารหอสังเกตการณ์ จึงเป็นวารสารที่มีการจำหน่ายจ่ายแจกมากที่สุดในโลก!
7. เรารู้ได้อย่างไรว่าพวกนักเทศน์ของคริสตจักรไม่ได้ประกาศข่าวสารที่ถูกต้อง?
7 พวกนักเทศน์ของคริสตจักรไม่ได้ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า และถ้าพวกเขาพูดถึงรัฐบาลนี้ พวกเขาหลายคนก็จะบอกว่ารัฐบาลนี้อยู่ในใจ (ลก. 17:21) พวกเขาไม่ได้สอนว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่อยู่บนสวรรค์และมีพระเยซูเป็นผู้ปกครอง พวกเขาไม่ได้อธิบายว่าอีกไม่นานรัฐบาลของพระเจ้าจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ และจะทำให้ความชั่วหมดไปจากโลก (วว. 19:11-21) นอกจากนั้น พวกเขามักคิดถึงพระเยซูในภาพของทารกในวันคริสต์มาส เห็นได้ชัดว่า พวกผู้นำของคริสตจักรไม่รู้เลยว่าพระเยซูจะทำอะไรในฐานะที่ท่านเป็นกษัตริย์ และเนื่องจากพวกเขาไม่เข้าใจข่าวสารของพระเยซู พวกเขาจึงไม่มีแรงกระตุ้นที่ถูกต้องในการประกาศ
อะไรควรเป็นแรงกระตุ้นให้ประกาศ?
8. อะไรเป็นแรงกระตุ้นผิด ๆ ที่ผู้คนมีในงานประกาศ?
8 สาวกของพระเยซูไม่ควรทำงานประกาศเพื่อเรี่ยไรเงิน หรือเพื่อมีเงินมาสร้างตึกสวย ๆ ให้คนอื่นประทับใจ พระเยซูบอกสาวกว่า “สิ่งที่คุณได้รับมาฟรี ๆ ก็ให้คนอื่นไปฟรี ๆ” (มธ. 10:8) ดังนั้น เราไม่ควรทำให้งานประกาศของเราเป็นเหมือนการทำธุรกิจ (2 คร. 2:17, เชิงอรรถ) สาวกของพระเยซูไม่ควรขอค่าจ้างสำหรับงานประกาศของเขา (อ่านกิจการ 20:33-35) ถึงแม้พระเยซูจะให้คำแนะนำที่ชัดเจนแบบนี้ แต่โบสถ์ส่วนใหญ่ก็ยังทำให้ผู้คนสับสนโดยการเรี่ยไรเงินเพื่อจะอยู่รอดได้ และเพื่อจ่ายให้กับพวกนักเทศน์และคนที่ทำงานในโบสถ์ ผลคือ ผู้นำศาสนาในคริสตจักรหลายคนร่ำรวยมหาศาล—วว. 17:4, 5
9. พยานพระยะโฮวาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาไปประกาศด้วยแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง?
9 มีการเรี่ยไรที่หอประชุมหรือที่การประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาไหม? ไม่เลย งานของพวกเขาทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคด้วยความสมัครใจ (2 คร. 9:7) ถึงจะเป็นอย่างนั้น ในปีที่แล้วพยานพระยะโฮวาใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 2 พันล้านชั่วโมงในการประกาศข่าวดี และสอนคัมภีร์ไบเบิลให้ผู้คนมากกว่า 9 ล้านคนในแต่ละเดือน พวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างที่ออกไปประกาศ แต่พวกเขายินดีใช้เงินของตัวเองเพื่อทำงานนี้ นักวิจัยคนหนึ่งพูดถึงงานที่พยานฯทำว่า “เป้าหมายของพวกเขาคือการประกาศและการสอน” เขายังบอกอีกว่าพวกพยานฯไม่มีนักเทศน์ที่ได้รับเงิน ดังนั้น ถ้าพวกเราไม่ได้ประกาศเพราะเงิน แล้วอะไรกระตุ้นพวกเราให้ประกาศ? พวกเราเต็มใจทำงานนี้เพราะเรารักพระยะโฮวาและรักผู้คน ความคิดแบบนี้ทำให้คำพยากรณ์ข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเกิดขึ้นจริง ข้อนั้นคือสดุดี 110:3 (อ่าน)
ควรใช้วิธีไหนในการประกาศ?
10. พระเยซูและสาวกของท่านใช้วิธีไหนในการประกาศ?
10 พระเยซูและสาวกของท่านใช้วิธีไหนในการประกาศ? พวกเขาไปทุกที่ที่มีผู้คน ตัวอย่างเช่น พวกเขาประกาศตามถนนและตลาด พวกเขาไปหาผู้คนที่บ้าน (มธ. 10:11; ลก. 8:1; กจ. 5:42; 20:20) การประกาศตามบ้านเป็นวิธีที่จะเข้าถึงผู้คนทุกชนิดอย่างเป็นระบบระเบียบ
11, 12. เมื่อพูดถึงการประกาศข่าวดี คนในคริสตจักรได้ออกความพยายามอย่างไรเมื่อเทียบกับประชาชนของพระยะโฮวา?
11 โบสถ์ต่าง ๆ ของคริสตจักรประกาศข่าวดีเหมือนกับที่พระเยซูทำไหม? ตามปกติ นักเทศน์จะเป็นคนสอนสมาชิกของพวกเขา พวกผู้นำเหล่านั้นไม่ได้สอนคนใหม่ ๆ ให้เป็นสาวก พวกเขาแค่พยายามรักษาคนที่เป็นสมาชิกไม่ให้ไปไหน บางครั้ง พวกเขาพยายามกระตุ้นสมาชิกให้ไปประกาศ ตัวอย่างเช่น ในปี 2001 โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 เขียนในจดหมายว่าสมาชิกทุกคนในโบสถ์ควรประกาศข่าวดีและมีความกระตือรือร้นเหมือนกับอัครสาวกเปาโลที่บอกว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวประเสริฐ วิบัติจะเกิดแก่ข้าพเจ้า” จากนั้น โป๊ปก็พูดอีกว่า ทุกคนที่เป็นสมาชิกของโบสถ์ควรทำงานประกาศ ไม่ใช่เฉพาะบางคนที่ถูกฝึกมาเท่านั้น ถึงอย่างนั้น มีแค่บางคนที่ทำตามที่เขาบอก
12 แล้วพยานพระยะโฮวาล่ะ? พวกเขาเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ประกาศว่าพระเยซูขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์แล้วตั้งแต่ปี 1914 พวกเขาเชื่อฟังคำสั่งของพระเยซูและให้งานประกาศเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเขา (มก. 13:10) หนังสือแนวศาสนาเปรียบเทียบเล่มหนึ่ง (Pillars of Faith—American Congregations and Their Partners) พูดถึงพยานพระยะโฮวาว่า งานประกาศเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับพวกเขา หนังสือนั้นยังบอกอีกว่า พอพวกพยานฯเจอคนที่อดอยาก โดดเดี่ยว และเจ็บป่วย พวกเขาก็พยายามช่วย แต่พวกเขาไม่ลืมว่าเป้าหมายหลักคือการประกาศให้ผู้คนรู้ว่าโลกนี้กำลังจะถึงจุดจบ และสอนให้ผู้คนรู้เกี่ยวกับความหวังเรื่องความรอด พยานพระยะโฮวาประกาศข่าวสารนั้นต่อ ๆ ไปและพยายามเลียนแบบวิธีของพระเยซูและพวกสาวก
ควรทำงานนี้กว้างไกลขนาดไหน? และทำจนถึงเมื่อไร?
13. ควรทำงานประกาศกว้างไกลขนาดไหน?
13 พระเยซูบอกว่าคนที่ติดตามท่านจะประกาศและสอนข่าวดี “ไปทั่วโลก” พวกเขาได้รับคำสั่งให้สอน “คนทุกชาติ” ให้เป็นสาวก (มธ. 24:14; 28:19, 20) นี่หมายความว่าต้องมีการประกาศข่าวดีไปทั่วโลก
14, 15. อะไรพิสูจน์ว่าพยานพระยะโฮวาทำให้คำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับความกว้างไกลของงานประกาศเกิดขึ้นจริง? (ดูภาพแรก)
14 พยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่ทำให้คำพยากรณ์ของพระเยซูเรื่องการประกาศข่าวดีไปทั่วโลกเกิดขึ้นจริง ทำไมเราถึงพูดได้แบบนั้น? ในสหรัฐอเมริกา มีนักเทศน์ของคริสตจักรประมาณ 600,000 คน แต่มีพยานพระยะโฮวาประมาณ 1,200,000 คนที่ประกาศข่าวดีอยู่ในประเทศนั้น และทั่วโลกมีบาทหลวงคาทอลิกประมาณ 400,000 คน แต่มีพยานพระยะโฮวามากกว่า 8 ล้านคนที่ประกาศข่าวดีใน 240 ดินแดน เห็นได้ชัดว่า พยานพระยะโฮวาประกาศข่าวดีไปทั่วโลก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้พระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญ—สด. 34:1; 51:15
15 เป้าหมายของพวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวาคือการประกาศข่าวดีกับผู้คนให้มากเท่าที่จะทำได้ก่อนที่อวสานจะมาถึง และเพื่อจะทำงานนี้ให้สำเร็จ เราได้แปลและผลิตหนังสือ วารสาร แผ่นพับ ใบเชิญการประชุมอนุสรณ์และการประชุมใหญ่เป็นล้าน ๆ มากกว่า 700 ภาษาและให้ผู้คนฟรี ๆ เราพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ มากกว่า 200 ล้านเล่มในมากกว่า 130 ภาษา ปีที่แล้วเราผลิตสิ่งพิมพ์ออกมามากกว่า 4,500 ล้านชิ้น เว็บไซต์ของเรามีภาษามากกว่า 750 ภาษา มีแต่พยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่ทำสิ่งที่น่าทึ่งเหล่านี้
16. เรารู้ได้อย่างไรว่าพยานพระยะโฮวาได้รับพลังของพระเจ้า?
16 ควรมีการทำงานประกาศต่อไปอีกนานแค่ไหน? พระเยซูบอกว่าจะมีการประกาศจนถึงอวสาน พวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวาประกาศอย่างอดทนในสมัยสุดท้ายนี้ได้ก็เพราะพลังของพระเจ้า (กจ. 1:8; 1 ปต. 4:14) คนที่เคร่งศาสนาอาจอ้างว่าพวกเขาก็มีพลังที่มาจากพระเจ้า แต่พวกเขาสามารถทำงานที่พยานพระยะโฮวาทำในสมัยสุดท้ายได้ไหม? มีศาสนาบางกลุ่มพยายามประกาศในแบบที่เราทำ แต่พวกเขาก็ทำไม่สำเร็จ ส่วนคนอื่น ๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นมิชชันนารีก็พยายามประกาศ แต่ก็ทำได้แค่ช่วงสั้น ๆ แล้วก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม นอกจากนั้น อาจมีบางคนที่พยายามจะประกาศตามบ้าน แต่พวกเขาก็ไม่ได้ประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า ดังนั้น คนพวกนั้นไม่ได้ทำงานเดียวกับที่พระเยซูทำ
ใครกำลังประกาศข่าวดีในทุกวันนี้?
17, 18. (ก) ทำไมเราถึงมั่นใจว่าพยานพระยะโฮวาเป็นกลุ่มคนที่ประกาศข่าวดีในทุกวันนี้? (ข) เราจะทำงานนี้ต่อ ๆ ไปได้อย่างไร?
17 ดังนั้น ใครกำลังประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าในทุกวันนี้? มีแต่พยานพระยะโฮวาเท่านั้น เรารู้ได้อย่างไร? เพราะเราประกาศข่าวสารที่ถูกต้อง คือข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า เราไปหาผู้คนซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง เรามีแรงกระตุ้นที่ถูกต้องในการทำงานประกาศ คือความรักที่เรามีให้พระยะโฮวาและเพื่อนบ้าน งานประกาศของเรายังกว้างไกลที่สุด เพราะเราประกาศกับผู้คนจากทุกชาติทุกภาษา และเราจะทำงานนี้ต่อ ๆ ไปจนอวสานมาถึง
18 เป็นเรื่องน่าทึ่งจริง ๆ ที่ได้เห็นประชาชนของพระยะโฮวาทำงานที่สุดยอดนี้ในสมัยสุดท้าย แต่เราจะทำงานทั้งหมดนี้ได้อย่างไร? อัครสาวกเปาโลบอกว่า “พระเจ้าเป็นผู้ที่กระตุ้นพวกคุณให้มีทั้งความต้องการและกำลังเพื่อจะทำสิ่งที่พระองค์พอใจ” (ฟป. 2:13) ขอพระยะโฮวาให้กำลังที่จำเป็นกับพวกเราเพื่อเราจะประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไปให้ดีที่สุด—2 ทธ. 4:5