ใช้ชีวิตตามการชี้นำจากพลังของพระเจ้าต่อ ๆ ไป
“ให้พวกคุณใช้ชีวิตตามการชี้นำจากพลังของพระเจ้า”—กาลาเทีย 5:16
1, 2. พี่น้องคนหนึ่งเพิ่งมารู้ว่าตัวเขาเป็นอย่างไร? และเขาลงมือทำอะไร?
โรเบิร์ตรับบัพติศมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แต่ความจริงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเขา เขาบอกว่า “ผมไม่เคยทำผิด แต่ก็ทำอะไร ๆ ไปตามกิจวัตร ใคร ๆ ก็คิดว่าผมมีความเชื่อเข้มแข็ง ผมไปประชุมประจำ และเป็นไพโอเนียร์สมทบปีละสองสามครั้ง แต่ผมรู้สึกว่าอะไรบางอย่างมันขาดไป”
2 โรเบิร์ตไม่รู้ว่าสิ่งที่ขาดหายไปมันคืออะไรจนเขาแต่งงาน เขากับภรรยาเล่นเกมถามคำถามจากคัมภีร์ไบเบิลกัน ปรากฏว่าภรรยาโรเบิร์ตรู้พระคัมภีร์ดีกว่าเขาแถมยังตอบคำถามได้สบาย ๆ แต่เขากลับตอบไม่ค่อยได้แล้วก็รู้สึกอายมาก เขาบอกว่า “มันเหมือนกับว่าผมไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง ผมคิดในใจว่า ‘นี่เราจะให้ภรรยานำหน้าเราเรื่องความเชื่องั้นเหรอ? ไม่ได้การละ!’” เขาจึงลงมือทำอะไรบางอย่าง เขาเล่าว่า “ผมศึกษาค้นคว้าคัมภีร์ไบเบิล ผมศึกษาเยอะมาก พอทำแบบนั้น ผมก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น เห็นภาพชัดขึ้น และเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ผมเริ่มสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น”
3. (ก) เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากเรื่องของโรเบิร์ต? (ข) มีจุดสำคัญอะไรบ้างที่เราจะคุยกันในบทความนี้?
3 เรื่องของโรเบิร์ตให้บทเรียนเราหลายอย่างจริง ๆ เราอาจมีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลและไปประชุมกับไปประกาศเป็นประจำ แต่นั่นไม่ได้ทำให้เราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้า หรือถึงตอนนี้เราจะเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าอยู่แล้ว แต่เมื่อเราตรวจสอบตัวเอง เราอาจเห็นวิธีที่จะปรับปรุงตัวได้ (ฟีลิปปี 3:16) ในบทความนี้ เราจะตอบคำถามสำคัญ ๆ 3 ข้อ (1) อะไรจะช่วยให้รู้ว่าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าและสนิทกับพระองค์มากแค่ไหน? (2) เราจะสนิทกับพระเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร? (3) การสนิทกับพระเจ้าส่งผลกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร?
อะไรจะช่วยให้รู้ว่าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าและสนิทกับพระองค์มากแค่ไหน?
4. คำแนะนำที่เอเฟซัส 4:23, 24 ใช้กับใคร?
4 ก่อนจะบัพติศมา เราเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายอย่างซึ่งมีผลต่อทุกแง่มุมในชีวิตของเรา แต่มันไม่ได้จบแค่ตอนรับบัพติศมา คัมภีร์ไบเบิลบอกให้เรา “เปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจใหม่อย่างต่อเนื่อง” (เอเฟซัส 4:23, 24) เพราะเราเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ เราทุกคนจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อ ๆ ไป และแม้เราจะรับใช้พระยะโฮวามานานหลายปีแล้ว แต่เราก็ต้องพยายามสนิทกับพระองค์เสมอ—ฟีลิปปี 3:12, 13
5. มีคำถามอะไรบ้างที่ช่วยให้ตรวจสอบตัวเราได้?
5 ไม่ว่าเราจะอายุน้อยหรืออายุมากแล้ว เราต้องตรวจสอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันรู้สึกได้ไหมว่าฉันให้พลังของพระเจ้าชี้นำและสนิทพระองค์มากขึ้น? ฉันเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้นไหม? ความคิดและการกระทำของฉันที่การประชุมบอกว่าฉันเป็นคนอย่างไร? เรื่องที่ฉันคุยกับคนอื่นแสดงให้เห็นอย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่ฉันต้องการจริง ๆ ในชีวิต? นิสัยการศึกษาส่วนตัวและการแต่งกายบอกว่าฉันเป็นคนอย่างไร? ตอนที่ได้รับคำแนะนำ ฉันทำอย่างไร? ตอนที่ถูกล่อใจให้ทำผิด ฉันทำอย่างไร? ฉันก้าวหน้าเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่แล้วไหม?’ (เอเฟซัส 4:13) คำถามเหล่านี้จะช่วยให้รู้ว่าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าและสนิทกับพระองค์มากแค่ไหน
6. มีอะไรอีกที่ช่วยให้รู้ว่าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าและสนิทกับพระองค์มากแค่ไหน?
6 บางครั้งเราต้องให้คนอื่นช่วยเพื่อจะรู้ว่าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าและสนิทกับพระองค์หรือเปล่า อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า คนที่คิดแบบโลกจะไม่เข้าใจว่าการใช้ชีวิตของเขาทำให้พระเจ้าไม่พอใจ แต่คนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าจะเข้าใจความคิดของพระองค์ เขารู้ว่าพระยะโฮวาไม่ยอมรับการใช้ชีวิตแบบโลก (1 โครินธ์ 2:14-16; 3:1-3) ผู้ดูแลที่มีจิตใจอย่างพระคริสต์จะสังเกตเห็นเร็วมากถ้าพี่น้องเริ่มใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปในโลกและจะพยายามช่วยพี่น้อง ถ้าผู้ดูแลพยายามช่วยเรา เราจะยอมรับความช่วยเหลือและทำตามคำแนะนำของพวกเขาไหม? ถ้าเราทำแบบนั้นก็แสดงว่าเราอยากสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น—ปัญญาจารย์ 7:5, 9
สนิทกับพระเจ้ามากขึ้น
7. เรารู้ได้อย่างไรว่าคนที่สนิทกับพระเจ้าไม่ใช่คนที่มีแค่ความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเดียวเท่านั้น?
7 จำไว้ว่าการมีแต่ความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเดียวมันไม่พอที่จะทำให้เราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้า กษัตริย์โซโลมอนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาเยอะมาก และสิ่งที่เขาเขียนก็เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลด้วย แต่ตอนหลัง เขากลับไม่สนิทกับพระยะโฮวาเหมือนเดิมและไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ (1 พงศ์กษัตริย์ 4:29, 30; 11:4-6) ดังนั้น นอกจากการมีความรู้ในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เราต้องทำอะไรอีก? เราต้องพยายามทำให้ความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ (โคโลสี 2:6, 7) เราจะทำได้อย่างไร?
8, 9. (ก) อะไรจะช่วยให้เรามีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น? (ข) ตอนที่เราศึกษาและคิดใคร่ครวญ เราควรมีเป้าหมายอะไร? (ดูภาพแรก)
8 ในสมัยศตวรรษแรก เปาโลสนับสนุนคริสเตียนให้ “พยายามก้าวหน้าไปเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่” (ฮีบรู 6:1) ทุกวันนี้ เราจะเอาคำแนะนำนี้มาใช้ได้อย่างไร? วิธีหนึ่งที่สำคัญคือการศึกษาหนังสือทำอย่างไรให้พระเจ้ารักเราเสมอ? การทำอย่างนี้จะช่วยคุณให้เอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ในชีวิต ถ้าคุณศึกษาหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ก็ยังมีหนังสือเล่มอื่น ๆ อีกที่คุณจะใช้ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อจะช่วยให้คุณมีความเชื่อที่เข้มแข็งได้ (โคโลสี 1:23) นอกจากนั้น เรายังต้องคิดใคร่ครวญเรื่องที่เราได้เรียนและขอพระยะโฮวาช่วยเราให้เห็นวิธีที่จะเอาเรื่องที่เรียนไปใช้ในชีวิต
9 ตอนที่เราศึกษาและคิดใคร่ครวญ เราควรมีเป้าหมายอะไร? เป้าหมายของเราคือ เพื่อให้รู้สึกอยากมากขึ้นที่จะเชื่อฟังและทำให้พระองค์พอใจ (สดุดี 40:8; 119:97) นอกจากนั้น เราต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ให้อะไรมาทำให้เราเลิกสนิทกับพระยะโฮวา—ทิตัส 2:11, 12
10. วัยรุ่นจะสนิทกับพระเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร?
10 ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น คุณมีเป้าหมายในงานรับใช้ไหม? พี่น้องชายคนหนึ่งที่รับใช้ในเบเธลชอบคุยกับวัยรุ่นที่กำลังจะรับบัพติศมาที่การประชุมหมวดและถามพวกเขาว่ามีเป้าหมายในงานรับใช้อะไรบ้าง พี่น้องชายคนนี้สังเกตว่าหลายคนคิดวางแผนมาอย่างดีแล้วว่าอนาคตจะรับใช้พระยะโฮวาแบบไหน บางคนบอกว่าจะรับใช้เต็มเวลา ส่วนบางคนก็บอกว่าจะไปรับใช้ในที่ที่ต้องการผู้ประกาศมากกว่า แต่สำหรับวัยรุ่นบางคน พวกเขาไม่รู้จะตอบคำถามนี้อย่างไร อาจเป็นไปได้ไหมว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายในงานรับใช้? ถ้าคุณเป็นวัยรุ่น ให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันไปประชุมกับไปประกาศแค่เพราะพ่อแม่อยากให้ทำไหม? หรือฉันพยายามสร้างสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาด้วยตัวเอง?’ ที่จริง ไม่ว่าเราจะอายุน้อยหรืออายุมาก เราทุกคนต้องมีเป้าหมายในงานรับใช้ เป้าหมายนี้จะช่วยเราให้สนิทกับพระเจ้ามากขึ้น—ปัญญาจารย์ 12:1, 13
11. (ก) เราต้องทำอะไรเพื่อจะเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้า? (ข) เราควรเลียนแบบใครในคัมภีร์ไบเบิล?
11 เมื่อเรารู้แล้วว่าเราควรปรับปรุงจุดไหนบ้างเราก็ต้องเริ่มเปลี่ยน นี่เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะมันจะทำให้เราได้ชีวิตหรือไม่ก็จบลงด้วยความตาย (โรม 8:6-8) แม้พระยะโฮวาไม่ได้คาดหมายให้เราทำได้อย่างสมบูรณ์แบบและพระองค์ก็ให้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยเรา แต่เราก็ต้องออกความพยายามเองด้วย พี่น้องจอห์น บาร์ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการปกครองได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับลูกา 13:24 ว่า “หลายคนผ่านประตูแคบนั้นเข้าไปไม่ได้เพราะพวกเขาไม่ขยันมากพอเพื่อจะมีความเชื่อเข้มแข็งขึ้น” เราต้องเป็นเหมือนยาโคบที่สู้กับทูตสวรรค์อย่างไม่ยอมแพ้จนได้รับพร (ปฐมกาล 32:26-28) ถึงบางครั้งเราจะสนุกกับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่เราไม่ควรคิดว่าเราจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลเอาสนุกเหมือนอ่านนิยาย เราต้องพยายามหาความจริงที่มีค่าซึ่งให้ประโยชน์กับเรา
12, 13. (ก) อะไรจะช่วยเราให้ทำตามโรม 15:5? (ข) ตัวอย่างและคำแนะนำของเปโตรช่วยเราอย่างไร? (ค) คุณจะทำอะไรเพื่อสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น? (ดูกรอบ “วิธีที่คุณจะสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น”)
12 เมื่อเราพยายามจะสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น พลังบริสุทธิ์จะช่วยให้เราเปลี่ยนวิธีคิด เราจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะคิดแบบพระคริสต์ (โรม 15:5) พลังบริสุทธิ์จะช่วยเรากำจัดความต้องการแบบผิด ๆ และพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ทำให้พระเจ้าพอใจ (กาลาเทีย 5:16, 22, 23) ถ้าเรารู้สึกว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเงินทองหรือความสนุกสนานมากเกินไป เราต้องไม่ยอมแพ้ เราต้องขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาเรื่อย ๆ เพื่อช่วยเราปรับความคิดและให้ความสำคัญกับสิ่งที่ถูกต้อง (ลูกา 11:13) ขอให้นึกถึงอัครสาวกเปโตร เขาไม่ได้คิดแบบพระคริสต์เสมอ (มัทธิว 16:22, 23; ลูกา 22:34, 54-62; กาลาเทีย 2:11-14) แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ แล้วพระยะโฮวาก็ช่วยเขาจริง ๆ เปโตรค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะคิดแบบพระคริสต์ เราก็ทำแบบเขาได้เหมือนกัน
13 ในเวลาต่อมา เปโตรได้พูดถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เราควรมี (อ่าน 2 เปโตร 1:5-8) เราต้อง “พยายามอย่างจริงจัง” ที่จะฝึกการควบคุมตัวเอง ความอดทน ความรักต่อพี่น้อง และคุณลักษณะอื่น ๆ ให้เราถามตัวเองทุกวันว่า ‘วันนี้ฉันจะแสดงคุณลักษณะอะไรเพื่อจะสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น?’
เอาหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในชีวิตประจำวัน
14. การสนิทกับพระเจ้าส่งผลกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร?
14 ถ้าเราคิดแบบพระคริสต์ สิ่งนี้จะส่งผลต่อความประพฤติของเราในที่ทำงานและที่โรงเรียน ส่งผลต่อวิธีที่เราพูดและตัดสินใจในแต่ละวัน การตัดสินใจของเราจะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังพยายามเลียนแบบพระคริสต์ เนื่องจากเราสนิทกับพระยะโฮวา เราจึงไม่อยากทำอะไรที่จะทำลายสายสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ ตอนที่เราถูกล่อใจให้ทำผิด ถ้าเราสนิทกับพระเจ้าเราจะต้านทานการล่อใจได้ และก่อนจะตัดสินใจเรื่องอะไร เราจะหยุดคิดและถามตัวเองว่า ‘หลักการข้อไหนบ้างในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยฉันได้? ถ้าพระเยซูอยู่ในสถานการณ์นี้ ท่านจะทำยังไง? ฉันควรตัดสินใจแบบไหนที่จะทำให้พระยะโฮวาพอใจ?’ เราต้องฝึกคิดแบบนี้จนเป็นนิสัย ทีนี้ให้เรามาดูบางสถานการณ์ด้วยกัน และดูว่าหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลข้อไหนที่เราสามารถเอาไปใช้เพื่อตัดสินใจในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง
15, 16. การคิดแบบพระคริสต์จะช่วยเราอย่างไรให้ตัดสินใจอย่างฉลาดในเรื่อง (ก) การเลือกคนที่จะแต่งงานด้วย? (ข) การเลือกคบเพื่อน?
15 การเลือกคนที่จะแต่งงานด้วย หลักการในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องนี้พบได้ที่ 2 โครินธ์ 6:14, 15 (อ่าน) เปาโลบอกชัดเจนว่าคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าจะมองสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกับคนที่คิดแบบโลก หลักการนี้ช่วยคุณอย่างไรตอนที่คิดจะแต่งงาน?
16 การเลือกคบเพื่อน หลักการในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องนี้พบได้ที่ 1 โครินธ์ 15:33 (อ่าน) คนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าจะไม่เป็นเพื่อนกับคนที่จะทำให้ความเชื่อของเขาอ่อนลง ลองคิดดูว่าคุณจะใช้หลักการข้อนี้ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร เช่น หลักการนี้จะช่วยคุณอย่างไรให้ตัดสินใจเรื่องการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก? และหลักการนี้จะช่วยคุณอย่างไรให้ตัดสินใจว่าคุณจะเล่นเกมออนไลน์กับคนแปลกหน้าหรือเปล่า?
17-19. การเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าช่วยคุณอย่างไร (ก) ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไร้ประโยชน์? (ข) ให้มีเป้าหมายที่ดี? (ค) เมื่อมีปัญหากับคนอื่น?
17 กิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า เราพบคำเตือนในเรื่องนี้ที่ฮีบรู 6:1 (อ่าน) “การกระทำที่ไร้ประโยชน์” ที่พูดถึงในข้อนี้หมายถึงอะไร? การกระทำเหล่านี้คือกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ซึ่งไม่ช่วยให้เราสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น คำเตือนเกี่ยวกับการกระทำที่ไร้ประโยชน์ในข้อคัมภีร์นี้ช่วยตอบคำถามหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของเรา อย่างเช่น ‘กิจกรรมนี้เข้าข่าย “การกระทำที่ไร้ประโยชน์” ไหม? ฉันควรลงทุนในธุรกิจนี้ไหม? ทำไมฉันไม่ควรไปสนับสนุนกลุ่มที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโลก?’
18 เป้าหมายในงานรับใช้ ตอนที่พระเยซูบรรยายบนภูเขา ท่านให้คำแนะนำที่ดีเรื่องการตั้งเป้าหมาย (มัทธิว 6:33) คนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าจะให้การปกครองของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต หลักการนี้จะช่วยเราตอบคำถามต่าง ๆ ได้ เช่น ‘พอจบชั้นมัธยมซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉันควรเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหม? ถ้ามีคนเสนองานให้ ฉันควรทำงานนี้ไหม?’
19 เมื่อมีปัญหากับคนอื่น คำแนะนำที่เปาโลให้กับคริสเตียนในโรมช่วยเราตอนที่มีปัญหากับคนอื่น ถ้าเราเลียนแบบพระคริสต์ เราจะพยายาม “อยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน” (โรม 12:18) ลองถามตัวเองว่าตอนที่เรามีปัญหากับคนอื่น เราทำอย่างไร? เรารู้สึกว่ายากที่จะยอมคนอื่นไหม? หรือใคร ๆ ก็รู้ว่าเราเป็นคนสร้างสันติสุขกับคนอื่น?—ยากอบ 3:18
20. ทำไมคุณอยากใช้ชีวิตตามการชี้นำจากพลังของพระเจ้าต่อ ๆ ไป?
20 ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นว่าหลักการต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราตัดสินใจอย่างถูกต้อง ซึ่งแสดงว่าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าจริง ๆ ถ้าเราเป็นคนที่ได้รับการชี้นำจากพระเจ้าและสนิทกับพระองค์ ชีวิตเราจะมีความสุขและสงบใจ โรเบิร์ตที่พูดถึงตอนต้นบทความบอกว่า “พอผมได้รู้จักพระยะโฮวาจริง ๆ และสนิทกับพระองค์มากขึ้น ผมก็เป็นสามีและเป็นพ่อที่ดีขึ้น ผมมีความสุขและพอใจกับชีวิตจริง ๆ ครับ” ถ้าเราทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อใช้ชีวิตตามการชี้นำจากพลังของพระเจ้าต่อ ๆ ไป เราจะได้ประโยชน์หลายอย่าง เราจะมีความสุขมากขึ้นตั้งแต่ตอนนี้และในอนาคตเราจะได้ “ชีวิตแท้”—1 ทิโมธี 6:19