สอนความจริง
“พระยะโฮวา . . . คำของพระองค์ทั้งหมดเป็นความจริง”—สดุดี 119:159, 160
1, 2. (ก) อะไรเป็นงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพระเยซู? และทำไม? (ข) เราต้องทำอย่างไรเพื่อจะเป็น “เพื่อนร่วมงานของพระเจ้า” ที่ประสบความสำเร็จ?
พระเยซูเคยเป็นช่างไม้ และหลังจากนั้นท่านก็เป็นผู้รับใช้พระเจ้า (มาระโก 6:3; โรม 15:8) ท่านทำงานทั้งสองอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตอนเป็นช่างไม้ ท่านรู้วิธีใช้เครื่องมือเพื่อทำเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ พอท่านมาเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ท่านก็ใช้ความรู้ที่ลึกซึ้งในพระคัมภีร์เพื่อช่วยผู้คนให้เข้าใจความจริง (มัทธิว 7:28; ลูกา 24:32, 45) ตอนที่อายุ 30 ท่านเลิกเป็นช่างไม้ แล้วมาเป็นผู้รับใช้พระเจ้า ที่ทำอย่างนี้เพราะท่านรู้ว่างานนี้เป็นงานที่สำคัญที่สุด ท่านบอกว่างานประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระเจ้าส่งท่านมาบนโลก (มัทธิว 20:28; ลูกา 3:23; 4:43) พระเยซูทุ่มเทชีวิตเพื่อประกาศข่าวดีและอยากให้คนอื่นทำเหมือนกัน—มัทธิว 9:35-38
2 พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นช่างไม้ แต่ทุกคนเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าที่สอนข่าวดีให้กับคนอื่น งานนี้สำคัญมากจนพระเจ้ามีส่วนร่วมในงานนี้ด้วย ที่จริง เราถูกเรียกว่า “เพื่อนร่วมงานของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 3:9; 2 โครินธ์ 6:4) เราเห็นด้วยกับผู้เขียนหนังสือสดุดีที่บอกว่า “คำของพระองค์ทั้งหมดเป็นความจริง” (สดุดี 119:159, 160) เพราะคำของพระยะโฮวาเป็นความจริง เราเลยพยายาม “ใช้ถ้อยคำของพระองค์ที่เป็นความจริงอย่างถูกต้อง” ในงานรับใช้ (อ่าน 2 ทิโมธี 2:15) เราจึงพยายามใช้คัมภีร์ไบเบิลให้เก่ง ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องมือหลักในการสอนเรื่องพระยะโฮวา พระเยซู และรัฐบาลของพระเจ้า ดังนั้น เพื่อที่เราจะประสบความสำเร็จในงานรับใช้ องค์การของพระเจ้าได้ให้เครื่องมืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเราด้วย เครื่องมือเหล่านี้อยู่ในส่วน “เครื่องมือสำหรับการสอน”a ให้เรามาดูกันว่าเราจะใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างไร
3. เราควรพยายามเน้นอะไรเมื่อทำงานรับใช้? และตามที่บอกในกิจการ 13:48 เราควรมองหาใคร?
3 คุณอาจสงสัยว่าทำไมเราเรียกว่า “เครื่องมือสำหรับการสอน” ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการประกาศ นั่นก็เพราะว่า “การประกาศ” คือการบอกเรื่องเรื่องหนึ่ง แต่การ “สอน” คือการอธิบายเรื่องนั้นให้คนคนหนึ่งเข้าใจเพื่อเขาจะทำตามที่ได้เรียนรู้ ในช่วงนี้ที่ยังเหลือเวลาอีกไม่มาก เราต้องพยายามเน้นที่การเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แล้วสอนผู้คนให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์ ดังนั้น เราควรจะตั้งใจมองหาทุกคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป” และช่วยพวกเขาให้มารับใช้พระยะโฮวา—อ่านกิจการ 13:44-48
4. เราจะเจอคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป” ได้อย่างไร?
4 เราจะเจอคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป” ได้อย่างไร? สำหรับคริสเตียนยุคแรก วิธีเดียวที่พวกเขาจะทำอย่างนั้นคือการประกาศ พระเยซูบอกสาวกว่า “เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านไหนเมืองไหนก็ตาม ให้ไปหาคนที่เต็มใจต้อนรับคุณและสนใจฟัง” (มัทธิว 10:11) เราเองก็ต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน แน่นอน ถ้าเราเจอคนที่หยิ่ง ไม่ได้สนใจจริง ๆ หรือไม่ได้อยากรู้เรื่องพระเจ้า เราก็ไม่ได้คาดหมายว่าพวกเขาจะฟังข่าวดี แต่เราต้องพยายามหาคนที่สนใจ ถ่อม และอยากรู้ความจริง เราอาจเปรียบการหาคนที่สนใจกับสิ่งที่พระเยซูทำตอนเป็นช่างไม้ ตอนแรกพระเยซูต้องหาไม้ที่เหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ ประตู แอก หรืออย่างอื่น แล้วท่านก็เอากล่องเครื่องมือมา และใช้เครื่องมือในกล่องนั้นอย่างชำนาญเพื่อทำเครื่องใช้เหล่านั้น ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ตอนแรกเราต้องหาคนที่สนใจก่อน แล้วใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่างชำนาญเพื่อช่วยพวกเขามาเป็นสาวก—มัทธิว 28:19, 20
5. เราต้องรู้อะไรเกี่ยวกับ “เครื่องมือสำหรับการสอน”? ขอยกตัวอย่าง (ดูภาพแรก)
5 เครื่องมือแต่ละอย่างจะมีจุดประสงค์ในการใช้แตกต่างกัน เช่น ลองคิดถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่พระเยซูใช้ตอนเป็นช่างไม้b ท่านต้องมีเครื่องมือที่ใช้วัด ทำเครื่องหมาย ตัด เจาะ ทำไม้ให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ และยังต้องมีเครื่องมือสำหรับวัดว่าไม้ได้ฉากหรือเปล่า รวมทั้งเครื่องมือที่ทำให้ไม้ติดกัน คล้ายกัน เครื่องมือแต่ละอย่างในส่วน “เครื่องมือสำหรับการสอน” ก็มีจุดประสงค์ในการใช้ที่ต่างกัน ให้เรามาดูวิธีใช้เครื่องมือที่สำคัญเหล่านี้
เครื่องมือแนะนำตัว
6, 7. (ก) คุณเคยใช้นามบัตรอย่างไรบ้าง? (ข) จุดประสงค์ของใบเชิญการประชุมมีอะไรบ้าง?
6 นามบัตร ถึงเครื่องมือนี้จะเล็กแต่ก็มีประสิทธิภาพมาก เราใช้นามบัตรเพื่อแนะนำตัวและแนะนำเว็บไซต์ jw.org เว็บไซต์นี้ทำให้ผู้คนรู้จักเรามากขึ้นและขอศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ ตอนนี้มีมากกว่า 4 แสนคนแล้วที่ลงชื่อในเว็บไซต์นี้เพื่อขอศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและยังมีเพิ่มอีกหลายร้อยคนในแต่ละวัน คุณสามารถเอานามบัตรนี้ติดตัวไปและแจกให้คนที่คุณเจอตอนไหนก็ได้
7 ใบเชิญ นี่เป็นใบเชิญให้มาประชุม ใบเชิญนี้มีข้อความว่า “เราขอเชิญคุณเรียนคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา” ซึ่งสามารถทำได้ทั้ง “ในการประชุมของเรา” หรือ “กับผู้สอนเป็นส่วนตัว” ใบเชิญนี้จะบอกให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นใครและเชิญคนที่ “รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้า” ให้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล (มัทธิว 5:3) เรายินดีต้อนรับทุกคนให้มาประชุมกับเราไม่ว่าเขาจะศึกษาหรือเปล่า เมื่อเขามาประชุม เขาจะเห็นว่าเขาได้เรียนอะไรหลายอย่างจากคัมภีร์ไบเบิล
8. ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเชิญผู้คนให้มาประชุมอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง? ขอยกตัวอย่าง
8 เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเชิญผู้คนให้เข้าร่วมการประชุมของเราอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อมาประชุม พวกเขาจะเห็นว่าพยานพระยะโฮวาสอนความจริงจากคัมภีร์ไบเบิลและช่วยผู้คนให้มารู้จักพระเจ้า ซึ่งศาสนาเท็จไม่ได้ทำอย่างนั้น (อิสยาห์ 65:13) ยกตัวอย่าง เมื่อหลายปีก่อน สามีภรรยาคู่หนึ่งในสหรัฐชื่อเรย์กับลินดาได้สังเกตเห็นความแตกต่างนี้ พวกเขาเชื่อพระเจ้าและอยากรู้จักพระองค์มากขึ้นเลยตัดสินใจไปทุกโบสถ์ในเมืองของพวกเขา พวกเขาจะมองหา 2 อย่างก่อนที่จะตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกโบสถ์นั้น อย่างแรก พวกเขาต้องได้ความรู้จากโบสถ์นั้น อย่างที่สอง สมาชิกในโบสถ์ต้องแต่งตัวเหมาะกับการเป็นผู้รับใช้พระเจ้า พวกเขาใช้เวลาหลายปีกว่าจะไปครบทุกโบสถ์ แต่ในที่สุดก็ผิดหวัง พวกเขาไม่ได้ความรู้อะไรเลยและสมาชิกโบสถ์แต่ละคนก็แต่งตัวไม่เรียบร้อยและไม่ให้เกียรติพระเจ้า วันหนึ่งหลังจากไปโบสถ์สุดท้ายในรายการที่พวกเขาจดไว้ ลินดาก็ไปทำงาน ส่วนเรย์ก็กลับบ้าน ตอนที่เขาขับรถผ่านหอประชุมของพยานพระยะโฮวา เขาคิดว่า ‘ลองเข้าไปดูหน่อยว่าจะเป็นยังไง’ ปรากฏว่าเขาได้เจอประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเจอ เขาเห็นว่าทุกคนใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เข้ามาทักทาย และแต่งตัวเรียบร้อย เรย์นั่งอยู่แถวหน้าและชอบสิ่งที่เขาได้เรียนมาก เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงคำพูดของอัครสาวกเปาโลที่พูดถึงผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมาประชุมครั้งแรก ผู้ชายคนนั้นบอกว่า “พระเจ้าอยู่กับพวกคุณจริง ๆ” (1 โครินธ์ 14:23-25) ตั้งแต่นั้น เรย์ก็มาประชุมทุกวันอาทิตย์ แล้วก็เริ่มมาประชุมกลางสัปดาห์ทุกครั้ง ส่วนลินดาก็เริ่มมาประชุมด้วยเหมือนกัน แม้ทั้งสองคนจะอายุ 70 กว่าแล้ว พวกเขาได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแล้วก็รับบัพติศมาในที่สุด
เครื่องมือเริ่มประกาศ
9, 10. (ก) ทำไมแผ่นพับถึงใช้ง่าย? (ข) ขออธิบายวิธีใช้แผ่นพับอะไรจะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น?
9 แผ่นพับ ในส่วน “เครื่องมือสำหรับการสอน” มีแผ่นพับ 8 แบบ แผ่นพับของเราใช้ง่ายและใช้เริ่มคุยได้ดี ตั้งแต่มีการออกแผ่นพับในปี 2013 ก็มีการพิมพ์แล้วประมาณ 5 พันล้านแผ่น แผ่นพับเหล่านี้มีรูปแบบเดียวกัน เมื่อคุณใช้แผ่นพับแบบหนึ่งเป็น คุณก็จะใช้เป็นทั้งหมด แล้วคุณจะใช้แผ่นพับเพื่อเริ่มพูดคุยได้อย่างไร?
10 คุณอาจอยากใช้แผ่นพับอะไรจะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น? เมื่อคุยกับคนหนึ่งโดยใช้แผ่นพับนี้ ให้เขาดูคำถามหน้าแรกแล้วถามว่า “อะไรจะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น? คุณคิดว่า . . . ?” จากนั้น ให้เขาดู 3 ตัวเลือกว่าจะตอบอย่างไร ไม่ต้องบอกเขาว่าคำตอบของเขาถูกหรือเปล่า แต่ให้เปิดอีกหน้าหนึ่งที่มีข้อความว่า “คัมภีร์ไบเบิลบอกอย่างไร” และอ่านที่ดาเนียล 2:44 กับอิสยาห์ 9:6, 7 จากนั้น ให้เปิดไปที่หน้าหลังสุดตรง “คำถามชวนคิด” และถามว่า “ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรในโลกใหม่ที่รัฐบาลของพระเจ้าปกครอง?” แล้วก็ทิ้งคำถามนี้ไว้เพื่อจะมาตอบในการเยี่ยมคราวหน้า และเมื่อคุณมาเยี่ยมเขา คุณอาจใช้บทเรียนที่ 7 ในจุลสารข่าวดีสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิล
เครื่องมือช่วยให้สนใจคัมภีร์ไบเบิล
11. วารสารของเราถูกออกแบบมาเพื่ออะไร? แต่ก่อนอื่น เราต้องรู้อะไร?
11 วารสาร วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! เป็นวารสารที่มีการพิมพ์และแปลมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีผู้อ่านมากมายในหลายประเทศเลยมีการออกแบบเรื่องในหน้าปกให้กระตุ้นความสนใจของผู้คนทุกที่ เราควรใช้วารสารนี้ช่วยผู้คนให้รู้ว่าจะหาคำแนะนำที่ไว้ใจได้จากที่ไหนและอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตตอนนี้ แต่ก่อนอื่น ให้เรามาดูว่าวารสารแต่ละอย่างออกแบบสำหรับใคร
12. (ก) วารสารตื่นเถิด! ถูกออกแบบมาเพื่อใคร? และมีเป้าหมายอะไร? (ข) ขอเล่าประสบการณ์ดี ๆ ที่คุณได้ใช้เครื่องมือนี้เมื่อไม่นานมานี้
12 ตื่นเถิด! เป็นวารสารที่ออกแบบไว้สำหรับคนที่รู้เรื่องในคัมภีร์ไบเบิลอยู่บ้างหรือไม่รู้จักคัมภีร์ไบเบิลเลย พวกเขาอาจไม่รู้จักคำสอนของคริสเตียน อาจจะไม่ไว้ใจศาสนา หรือไม่รู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลมีประโยชน์อย่างไรในชีวิตของพวกเขา เป้าหมายหลักของตื่นเถิด! ก็คือช่วยผู้อ่านให้เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง (โรม 1:20; ฮีบรู 11:6) นอกจากนั้น วารสารนี้ยังพยายามช่วยผู้อ่านให้เชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็น “คำสอนของพระเจ้าจริง ๆ” (1 เธสะโลนิกา 2:13) ในปี 2018 ตื่นเถิด! ทั้ง 3 ฉบับมีหัวเรื่องต่อไปนี้ “เคล็ดลับที่ทำให้มีความสุข” “12 เคล็ดลับที่ทำให้ครอบครัวมีความสุข” และ “รับมือกับความโศกเศร้าเมื่อสูญเสียคนที่รัก”
13. (ก) วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับสาธารณะถูกออกแบบมาเพื่อใคร? (ข) ขอเล่าประสบการณ์ดี ๆ ที่คุณได้ใช้เครื่องมือนี้เมื่อไม่นานมานี้
13 เป้าหมายหลักของหอสังเกตการณ์ ฉบับสาธารณะคือ อธิบายคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลกับคนที่นับถือพระเจ้าและคัมภีร์ไบเบิลอยู่แล้ว พวกเขาอาจรู้เรื่องในคัมภีร์ไบเบิลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เข้าใจคำสอนจริง ๆ (โรม 10:2; 1 ทิโมธี 2:3, 4) ในปี 2018 หอสังเกตการณ์ ทั้ง 3 ฉบับจะตอบคำถามต่อไปนี้ “คัมภีร์ไบเบิลยังใช้ได้กับสมัยของเราไหม?” “อนาคตจะเป็นอย่างไร?” และ “พระเจ้าสนใจคุณไหม?”
เครื่องมือกระตุ้นให้อยากเรียนคัมภีร์ไบเบิล
14. (ก) วีดีโอ 4 เรื่องใน “เครื่องมือสำหรับการสอน” ถูกออกแบบมาเพื่ออะไร? (ข) ขอเล่าประสบการณ์ดี ๆ ที่คุณได้ใช้วีดีโอ 4 เรื่องนี้
14 วีดีโอ ช่างไม้ในสมัยพระเยซูมีแต่เครื่องมือที่ใช้แรงคนไม่ได้ใช้ไฟฟ้า แต่สมัยนี้ ช่างไม้จะใช้เครื่องมือไฟฟ้าด้วย เช่น เลื่อย สว่าน และเครื่องขัด คล้ายกัน นอกจากจะมีสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ และนามบัตรแล้ว ตอนนี้เราก็ยังมีวีดีโอที่น่าสนใจด้วย ใน “เครื่องมือสำหรับการสอน” มีวีดีโอ 4 เรื่องคือ ทำไมเราน่าจะเรียนคัมภีร์ไบเบิล? เราเรียนคัมภีร์ไบเบิลกันอย่างไร? เราทำอะไรบ้างที่หอประชุมราชอาณาจักร? และพยานพระยะโฮวา—เราเป็นใคร? วีดีโอที่เหมาะกับการประกาศครั้งแรกเป็นวีดีโอที่ไม่เกิน 2 นาที แต่เมื่อกลับเยี่ยมหรือเจอคนที่มีเวลา เราก็ใช้วีดีโอที่ยาวกว่าได้ วีดีโอเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ดีมากเพราะจะทำให้ผู้คนอยากศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและอยากมาประชุม
15. การที่ผู้คนได้ดูวีดีโอในภาษาของเขามีผลอย่างไร? ขอยกตัวอย่าง
15 ยกตัวอย่าง พี่น้องหญิงคนหนึ่งเจอผู้หญิงที่ย้ายมาจากไมโครนีเซียและพูดภาษาแย็ป พี่น้องได้ให้ดูวีดีโอทำไมเราน่าจะเรียนคัมภีร์ไบเบิล? ในภาษาแย็ป ตอนที่ดูวีดีโอเธอพูดว่า “ไม่น่าเชื่อ นี่มันภาษาของฉันนี่! ฟังปุ๊บก็รู้เลยว่ามาจากเกาะของฉัน เขาพูดภาษาเดียวกับฉันเลย” แล้วเธอก็บอกว่าจะอ่านและดูวีดีโอทุกเรื่องในภาษาของเธอในเว็บไซต์ jw.org (เทียบกับกิจการ 2:8, 11) อีกตัวอย่างหนึ่งคือ พี่น้องหญิงในสหรัฐคนหนึ่งส่งลิงก์วีดีโอนี้ให้กับหลานชายที่อยู่อีกทวีปหนึ่ง พอเขาได้ดูวีดีโอในภาษาของเขาเอง เขาก็ส่งอีเมลกลับมาว่า “ผมชอบตรงที่บอกว่าโลกทั้งหมดอยู่ในมือของมารร้าย ผมขอเรียนคัมภีร์ไบเบิลไปแล้วครับ” ที่น่าสนใจก็คือเขาอยู่ในประเทศที่งานของเราไม่มีอิสระเต็มที่
เครื่องมือสอนความจริง
16. ขออธิบายจุดประสงค์ของจุลสารต่อไปนี้ (ก) ฟังพระเจ้าแล้วจะมีชีวิตตลอดไป (ข) ข่าวดีสำหรับทุกคน! (ค) ใครทำตามความประสงค์ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้?
16 จุลสาร ถ้าเราเจอคนที่อ่านหนังสือไม่เก่ง หรือเจอคนที่พูดภาษาหนึ่งซึ่งองค์การของเรายังไม่มีหนังสือในภาษานั้น เราจะสอนความจริงให้กับเขาได้อย่างไร? เราสามารถใช้จุลสารฟังพระเจ้าแล้วจะมีชีวิตตลอดไปc อีกเครื่องมือหนึ่งที่ดีมากในการเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลก็คือ จุลสารข่าวดีสำหรับทุกคน! คุณอาจให้ดูปกหลังที่มี 14 หัวเรื่องและถามเจ้าของบ้านว่าอยากรู้เรื่องไหนมากที่สุด แล้วเริ่มศึกษาในหัวเรื่องนั้น คุณเคยลองวิธีนี้ไหมเมื่อกลับเยี่ยม? จุลสารอีกเล่มใน “เครื่องมือสำหรับการสอน” คือ ใครทำตามความประสงค์ของพระยะโฮวาในทุกวันนี้? จุลสารนี้ออกแบบมาเพื่อสอนนักศึกษาเกี่ยวกับองค์การของเรา เพื่อจะรู้วิธีใช้จุลสารนี้ ให้เราดูที่ชีวิตและงานรับใช้ของคริสเตียน—คู่มือประชุม เดือนมีนาคม 2017
17. (ก) หนังสือแต่ละเล่มมีจุดประสงค์อะไร? (ข) คนใหม่ทุกคนต้องทำอะไรแม้จะรับบัพติศมาแล้ว? และทำไม?
17 หนังสือ หลังจากเริ่มศึกษากับคนที่ใช้จุลสารแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนไปใช้หนังสือเรียนคัมภีร์ไบเบิลแล้วได้อะไร? เมื่อไรก็ได้ เมื่อนักศึกษาก้าวหน้าและจบหนังสือนี้แล้ว คุณสามารถต่อด้วยหนังสือทำอย่างไรให้พระเจ้ารักเราเสมอ? หนังสือนี้จะสอนนักศึกษาเกี่ยวกับวิธีใช้หลักการคัมภีร์ไบเบิลในชีวิตประจำวัน ขอจำไว้ว่า แม้เขาจะรับบัพติศมาแล้ว คนใหม่ยังต้องศึกษาต่อไปจนจบทั้งสองเล่ม นี่จะช่วยเขาให้มีความเชื่อเข้มแข็งในพระยะโฮวาและซื่อสัตย์ภักดีกับพระองค์ต่อ ๆ ไป—อ่านโคโลสี 2:6, 7
18. (ก) 1 ทิโมธี 4:16 สนับสนุนทุกคนที่เป็นผู้สอนความจริงให้ทำอะไร? (ข) เป้าหมายของเราในการใช้ “เครื่องมือสำหรับการสอน” คืออะไร?
18 คนที่เป็นพยานพระยะโฮวาทุกคนมีหน้าที่สอน “ข่าวดีที่เป็นความจริง” ซึ่งทำให้ผู้คนได้ชีวิตตลอดไป (โคโลสี 1:5; อ่าน 1 ทิโมธี 4:16) เพื่อช่วยเราให้ทำงานนี้ได้ เรามีหลายอย่างที่จำเป็นใน “เครื่องมือสำหรับการสอน” (ดูกรอบ “เครื่องมือสำหรับการสอน”) ขอเราใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้ดีที่สุด เราเลือกได้เองว่าจะใช้เครื่องมือไหนและใช้เมื่อไร แต่ขอจำไว้ว่าเราต้องไม่ใช่แค่เสนอหนังสือและเราต้องไม่ให้หนังสือกับคนที่ไม่สนใจ เป้าหมายของเราคือต้องสอนคนให้เป็นสาวก ซึ่งเป็นคนที่สนใจ ถ่อม อยากรู้เรื่องพระเจ้าจริง ๆ และ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตตลอดไป”—กิจการ 13:48; มัทธิว 28:19, 20
a “เครื่องมือสำหรับการสอน” มีอยู่ที่หน้าหลักของแอป JW Library® ด้วย
b ดูบทความ “ช่างไม้” และกรอบ “กล่องเครื่องมือของช่างไม้” ในหอสังเกตการณ์ 1 สิงหาคม 2010
c ถ้าคุณเจอคนที่อ่านหนังสือไม่ออก ให้ใช้จุลสารฟังพระเจ้า ซึ่งมีตัวหนังสือน้อยและเน้นรูปภาพมากกว่า