จงขยันขันแข็งในการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน”
1, 2. ทัศนะของเปาโลต่อการประกาศข่าวดีประทับใจคุณอย่างไร และเราจะเลียนแบบท่านในการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” ได้อย่างไร?
1 อัครสาวกเปาโลเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่มีใจแรงกล้าเช่นเดียวกับพระเยซูและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์อื่น ๆ อีกหลายคนในสมัยโบราณ ท่าน “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพการณ์ใด. แม้เมื่อถูกกักบริเวณในเรือนพัก ท่านก็ “ยินดีต้อนรับทุกคนที่เข้ามาหาท่าน ประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่พวกเขาและสอนเรื่องเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เจ้าด้วยการพูดอย่างสะดวกใจยิ่ง.”—กิจ. 28:16-31, ล.ม.
2 เราก็เช่นกัน สามารถขยันขันแข็งในการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” ได้ทุกเมื่อ. นั่นหมายรวมถึงการให้คำพยานแก่ผู้คนที่เราพบในการเดินทางไปและกลับจากการประชุมภาค “จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า” และขณะอยู่ในเมืองที่จัดการประชุม.—กิจ. 28:23; เพลง. 145:10-13.
3. เราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไรเพื่อมิให้การให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการกลายเป็นเพียงสิ่งที่พยายามทำเมื่อสบโอกาสเท่านั้น?
3 การให้คำพยานเมื่อสบโอกาสหรืออย่างไม่เป็นทางการ? มีความแตกต่างกันไหม? ใช่ มีความแตกต่าง. การทำอะไรบางอย่างเมื่อสบโอกาส เป็นเพียงเรื่องของความบังเอิญหรือเป็นไปโดยไม่ตั้งใจ ราวกับว่าไม่ได้วางแผนไว้ก่อนหรือมีความสำคัญไม่มากนัก. นั่นไม่สอดคล้องกับงานรับใช้ของเราอย่างแน่นอน. ดังที่เปาโลได้ทำ การถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยการให้คำพยานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา และเราควรตั้งใจที่จะให้คำพยานที่ใดก็ตามที่เหมาะสมตลอดเวลาที่เราเดินทาง. อย่างไรก็ตาม ลักษณะท่าทางที่เราเข้าไปพูดคุยกับผู้คนอาจพรรณนาได้อย่างเหมาะเจาะว่าไม่เป็นทางการ กล่าวคือ ผ่อนคลาย, เป็นมิตร, และเป็นธรรมชาติ. การพูดคุยด้วยวิธีนี้อาจก่อผลที่ดีได้.
4. อะไรทำให้เปาโลสามารถให้คำพยานที่เรือนพักของท่านได้?
4 จงเตรียมตัวเพื่อให้คำพยาน: ท่านเปาโลต้องสร้างโอกาสเพื่อให้คำพยานขณะถูกกักบริเวณในกรุงโรม. จากเรือนพัก ท่านริเริ่มเชิญพวกผู้นำชาวยิวในท้องถิ่นให้มาที่เรือนนั้น. (กิจ. 28:17) แม้จะมีประชาคมคริสเตียนในกรุงโรม แต่เปาโลก็ทราบว่าชุมชนชาวยิวในเมืองนั้นได้รับข้อมูลโดยตรงน้อยมากในเรื่องความเชื่อแบบคริสเตียน. (กิจ. 28:22; โรม 1:7) ท่านไม่ได้ยับยั้งไว้จากการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และราชอาณาจักรของพระเจ้า.
5, 6. มีโอกาสใดบ้างที่เราอาจให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการได้ และเราอาจเตรียมการอะไรเพื่อจะทำเช่นนั้นอย่างประสบผลสำเร็จ?
5 ลองคิดถึงทุกคนที่คุณอาจติดต่อเกี่ยวข้องระหว่างการเดินทางซึ่งรู้จักพยานพระยะโฮวาเพียงผิวเผิน. พวกเขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลฟรี. จงตื่นตัวต่อโอกาสต่าง ๆ ที่จะให้คำพยานแก่ผู้คนซึ่งคุณพบขณะเดินทาง, หยุดพักกลางทาง, เติมน้ำมัน, ซื้อของ, พักที่โรงแรม, รับประทานอาหารที่ร้าน, เมื่อโดยสารรถประจำทาง, และอื่น ๆ. คิดล่วงหน้าว่าจะพูดอะไรเพื่อเริ่มการสนทนาและเพื่อให้คำพยานสั้น ๆ. บางที วันข้างหน้าคุณอาจฝึกฝนให้เกิดความชำนาญได้โดยให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการแก่เพื่อนบ้าน, ญาติพี่น้อง, เพื่อนร่วมงาน, และคนอื่น ๆ ที่คุณรู้จัก.
6 คุณจำเป็นต้องมีสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการ. เล่มไหนบ้าง? คุณอาจใช้แผ่นพับคุณอยากรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้นไหม? ชี้ไปยังห้าวรรคแรก ซึ่งให้เหตุผลหลากหลายสำหรับการอ่านคัมภีร์ไบเบิล. ให้ดูคูปองด้านหลังสำหรับการขอศึกษาพระคัมภีร์ฟรีที่บ้าน. เมื่อคุณพบคนที่ตอบรับ ก็ให้เสนอจุลสารเรียกร้อง. เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพบผู้คนที่พูดอีกภาษาหนึ่ง จงนำหนังสือเล่มเล็กข่าวดีสำหรับทุกชาติ ไปด้วย. ในหน้า 2 มีคำอธิบายวิธีใช้หนังสือนี้ในการให้คำพยาน. ถ้าเดินทางโดยรถยนต์ คุณอาจนำหนังสือพื้นฐานเล่มอื่น ๆ ติดตัวไปด้วยสักสองสามเล่มสำหรับผู้ที่แสดงความสนใจจริง ๆ ในข่าวสารราชอาณาจักร.
7, 8. เราควรเชื่อฟังคำเตือนอะไรเกี่ยวกับการแต่งกายและการประพฤติของเราขณะเดินทางและเมื่ออยู่นอกเวลาประชุม?
7 เอาใจใส่การแต่งกายและการประพฤติของคุณ: เราต้องทำให้แน่ใจว่าการประพฤติ, เสื้อผ้า, และการแต่งกายของเราจะไม่ทำให้ผู้อื่นมองเราในแง่ลบหรือเป็นเหตุให้เขา “ติเตียน” องค์การของพระยะโฮวา. (กิจ. 28:22) ควรคำนึงถึงสิ่งนี้ไม่เพียงขณะร่วมฟังการประชุมเท่านั้น แต่ขณะเดินทางและเมื่ออยู่นอกเวลาประชุมด้วย. หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 2002 หน้า 18 วรรค 14 เตือนว่า “เราไม่ควรให้การปรากฏตัวของเราเป็นแบบโอ้อวด, แปลกประหลาด, เร้าความรู้สึกทางเพศ, เผยส่วนสัด, หรือติดตามแฟชั่นมากเกินไป. นอกจากนั้น เราควรแต่งกายในลักษณะที่แสดงถึง ‘ความนับถือพระเจ้า.’ นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิดมิใช่หรือ? นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการใส่ชุดที่เหมาะสมเมื่อเข้าร่วมการประชุมประชาคม [หรือการประชุมภาค] แต่ในเวลาอื่นไม่ใส่ใจเลย. การแต่งกายของเราแต่ละคนควรสะท้อนถึงเจตคติที่แสดงความนับถือและให้เกียรติผู้อื่นเสมอ เนื่องจากเราเป็นคริสเตียนและผู้รับใช้พระเจ้าตลอด 24 ชั่วโมง.”—1 ติโม. 2:9, 10, ล.ม.
8 เราควรแต่งกายอย่างสงบเสงี่ยมและสง่าผ่าเผย. ถ้าเราให้การแต่งกายและการประพฤติของเราสะท้อนถึงความเชื่อในพระเจ้าอยู่เสมอ เราจะไม่ตะขิดตะขวงใจเลยที่จะให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการเพราะเราจะไม่รู้สึกว่าแต่งกายไม่เหมาะสม.—1 เป. 3:15.
9. เปาโลประสบผลสำเร็จอะไรในการให้คำพยานที่กรุงโรม?
9 การให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการบังเกิดผล: ช่วงสองปีที่เปาโลถูกกักบริเวณในเรือนพักที่กรุงโรม ท่านเห็นผลลัพธ์ที่ดีจากความพยายามในการให้คำพยาน. ลูการายงานว่า “คำที่ท่านกล่าวนั้นบางคนก็เชื่อ.” (กิจ. 28:24) ท่านเปาโลเองได้พูดถึงผลสำเร็จแห่งการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” โดยเขียนว่า “การทั้งปวงที่อุบัติแก่ข้าพเจ้านั้นได้กลับเป็นเหตุให้กิตติคุณแผ่แพร่หลายออกไป, จนการที่ข้าพเจ้าถูกจำจองเพราะพระคริสต์นั้นก็ปรากฏทั่วตลอดกองผู้คุมและแก่คนอื่น ๆ ทั้งสิ้น และเพราะเหตุความไว้ใจเนื่องด้วยการจำจองของข้าพเจ้านั้น, พี่น้องในพระองค์ส่วนมากจึงมีใจกล้าขึ้นที่จะกล่าวคำของพระเจ้าโดยปราศจากความกลัว.”—ฟิลิป. 1:12-14.
10. สามีภรรยาคู่หนึ่งประสบผลสำเร็จอะไรในการให้คำพยานคราวการประชุมภาคที่ผ่านมา?
10 หลังจากเข้าร่วมการประชุมภาคที่ผ่านมา สามีภรรยาคู่หนึ่งประสบผลดีในการให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการแก่พนักงานเสิร์ฟซึ่งถามเรื่องบัตรติดหน้าอกการประชุมภาค. ทั้งสองเล่าให้เธอฟังเรื่องการประชุมภาคและพูดถึงความหวังของมนุษยชาติในอนาคตตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้. เขาให้แผ่นพับคุณอยากรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้นไหม? แก่เธอ และพูดถึงการจัดเตรียมเรื่องการศึกษาพระคัมภีร์ฟรีที่บ้าน. ผู้หญิงคนนั้นบอกว่า เธอต้องการให้คนมาเยี่ยม เธอกรอกชื่อที่อยู่ด้านหลังแผ่นพับ และขอให้สามีภรรยาคู่นั้นดำเนินการให้. คุณอาจประสบผลสำเร็จอะไรในปีนี้โดยการเป็นคนขยันขันแข็งในการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน”?
11. เราควรพัฒนาคุณลักษณะอะไรเพื่อส่งเสริมข่าวดีโดยการ “ให้คำพยานอย่างถี่ถ้วน” ในการประชุมภาคปีนี้?
11 ส่งเสริมข่าวดีอย่างถี่ถ้วน: ลองนึกภาพว่าอัครสาวกเปาโลมีความสุขเพียงไรเมื่อท่านได้ยินว่าเพื่อนคริสเตียนกำลังเลียนแบบใจแรงกล้าของท่าน! ขอให้เราทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อส่งเสริมข่าวดีโดยการให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับความเชื่อของเราที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก ขณะที่เราได้รับประโยชน์จากการประชุมภาคในปีนี้.
[กรอบหน้า 3]
สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการ
■ คุณอยากรู้จักคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้นไหม? (แผ่นพับ)
■ พระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา? (จุลสาร)
■ ข่าวดีสำหรับทุกชาติ (เล่มเล็ก)
■ สิ่งพิมพ์พื้นฐานอื่น ๆ
[กรอบหน้า 4]
อย่าลืมพวกเขา!
อย่าลืมใคร? ผู้สนใจทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์หรือผู้ที่มาฟังคำบรรยายพิเศษ. เราได้เชิญเขามาร่วมการประชุมอื่น ๆ อีกไหม? หากสนับสนุนเขาด้วยความกรุณา หลายคนคงจะมาร่วม. เมื่อพวกเขามีการคบหาสมาคมที่เสริมสร้าง ณ การประชุมประชาคมหรือการประชุมอื่น ๆ ที่ให้การหนุนกำลังใจ พวกเขาจะใกล้ชิดพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์มากขึ้น. ทำไมไม่ลองเชิญพวกเขาและดูว่าเขาคิดอย่างไร? ให้รายละเอียดทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับเขา รวมทั้งวันเวลาของการประชุม หากเป็นการประชุมพิเศษ, การประชุมหมวด, หรือการประชุมภาคก็บอกสถานที่และเวลาเริ่มและจบของระเบียบวาระแต่ละส่วน รวมทั้งข้อความโฆษณาระเบียบวาระการประชุมที่ลงไว้ในปกหลังของวารสารตื่นเถิด! ฉบับ 8 มิถุนายน 2003.