คนทุกชนิดจะได้รับความรอด
1. ความรอดของเราขึ้นอยู่กับอะไร?
1 พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าเปิดโอกาสให้ผู้คนได้รับความรอด. พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาคือ “ให้คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโม. 2:3, 4, ล.ม.) ความรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์, ฐานะทางสังคม, ความสามารถ, หรือรูปร่างหน้าตาของเรา แต่ขึ้นอยู่กับการแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. (โย. 3:16, 36) ในฐานะผู้ร่วมทำการด้วยกันกับพระเจ้า เราต้องขจัดอคติใด ๆ ที่มีในหัวใจให้หมดไป เพราะสิ่งนี้อาจทำให้เราไม่ยอมรับคนที่พระยะโฮวาเต็มใจยอมรับเขา.
2, 3. อะไรจะช่วยเราไม่ให้ตัดสินคนอื่นโดยดูจากลักษณะภายนอก?
2 อย่าตัดสินคนอื่น: พระยะโฮวามองที่สภาพหัวใจของผู้คนโดยไม่มีเจตนาร้ายหรือลำเอียง. (1 ซามู. 16:7) พระองค์ทรงทราบด้วยว่าพวกเขาอาจทำอะไรได้บ้าง. ด้วยเหตุนั้น พระองค์ถือว่าคนที่ต้องการทำให้พระองค์พอพระทัยคือสิ่งที่น่าปรารถนา. (ฮาฆี 2:7) เรามีทัศนะต่อผู้อื่นแบบเดียวกับพระเจ้าไหม?
3 บางคนที่เราพบในเขตประกาศอาจแต่งกายในแบบที่ทำให้เรารู้สึกตกใจ. พวกเขาอาจแต่งตัวโทรม ๆ, ไม่สุภาพ, หนวดเครารุงรัง, หรือใส่ห่วงที่จมูกและปาก. บางคนอาจเป็นคนจรจัด. ส่วนคนอื่น ๆ อาจปฏิบัติต่อเราอย่างหยาบคาย. แทนที่จะตัดสินว่าคนแบบนั้นคงไม่มีทางเข้ามาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาได้ เราควรมีทัศนะในแง่บวก “เพราะว่าเมื่อก่อนตัวเราเองก็เป็นคนโง่, เป็นคนไม่เชื่อฟัง, เป็นคนถูกล่อลวง.” (ติโต 3:3) เมื่อตระหนักถึงเรื่องนี้แล้ว เราก็คงเต็มใจประกาศกับทุกคน แม้แต่กับคนที่ดูเหมือนไม่คู่ควรเมื่อดูจากภายนอก.
4, 5. เราเรียนรู้อะไรได้จากตัวอย่างของพระเยซูและเปาโล?
4 ตัวอย่างในสมัยศตวรรษแรก: พระเยซูคริสต์ตั้งใจช่วยบุคคลที่คนอื่น ๆ อาจมองว่าเขาคงไม่มีทางเข้ามาเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาได้. (ลูกา 8:26-39) แม้พระองค์ไม่เคยยอมให้กับกิจปฏิบัติที่ผิด แต่พระองค์รู้ว่าผู้คนอาจหลงเข้าไปพัวพันกับวิถีชีวิตที่ผิดได้. (ลูกา 7:37, 38, 44-48) ด้วยเหตุนี้ พระองค์เข้าใจพวกเขาโดย “ทรงพระกรุณาแก่เขา, เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มโก. 6:34) เราจะเลียนแบบพระองค์มากขึ้นได้ไหม?
5 อัครสาวกเปาโลถูกหินขว้าง, ถูกตี, และถูกจำคุก. (กิจ. 14:19; 16:22, 23) ประสบการณ์อันเจ็บปวดเช่นนั้นทำให้ท่านขุ่นเคืองและสรุปว่าไม่ควรมาเสียเวลากับคนชาตินั้นและเชื้อชาตินี้ไหม? ไม่เลย. ท่านรู้ว่าอาจได้พบคนที่มีหัวใจดีในท่ามกลางทุกชนชาติ และท่านก็ตั้งใจจะหาคนเช่นนั้นให้พบ. เรามีทัศนะเช่นนั้นไหม เมื่อมองดูผู้คนในเขตทำงานของเราซึ่งมาจากภูมิหลังและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน?
6. เจตคติของเราอาจก่อผลเช่นไรต่อคนใหม่ที่เข้ามายังการประชุมประชาคม?
6 ต้อนรับคนอื่นในทุกวันนี้: ประชาชนของพระเจ้าหลายคนมีความสุขที่ได้รับการต้อนรับจากพี่น้องชายและหญิงในประชาคมที่ไม่ได้มองพวกเขาแค่เพียงภายนอก. ที่เยอรมนี มีชายคนหนึ่งมาที่หอประชุมในสภาพที่มีหนวดเครารุงรัง, ผมยาวประบ่า, และใส่เสื้อผ้าสกปรก. เขามีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีนัก. กระนั้น พี่น้องในหอประชุมต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น. เขาประทับใจมากจนถึงกับกลับมาอีกในสัปดาห์ถัดมา. ไม่นาน เขาได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนสะอาดเรียบร้อยขึ้น, เลิกสูบบุหรี่, และจดทะเบียนสมรสกับแฟนสาวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาและลูก ๆ ก็รับใช้พระยะโฮวาด้วยกันทั้งครอบครัว.
7. เราจะเลียนแบบพระเจ้าผู้ไม่ลำเอียงได้อย่างไร?
7 โดยการเลียนแบบพระเจ้าผู้ไม่ลำเอียง ขอให้เราเชิญทุกคนมารับประโยชน์จากพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้า.
[กรอบหน้า 3]
“พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.”—กิจ. 10:34, 35.