บทความศึกษา 6
คุณไว้ใจไหมว่าทุกอย่างที่พระยะโฮวาทำจะถูกต้องเสมอ?
“พระเจ้าผู้เป็นเหมือนหินที่แข็งแกร่ง สิ่งที่พระองค์ทำดีเยี่ยมไม่มีที่ติ เพราะแนวทางทั้งหมดของพระองค์ยุติธรรม พระองค์เป็นพระเจ้าที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมเสมอ พระองค์เป็นพระเจ้าที่เที่ยงธรรมและซื่อตรง”—ฉธบ. 32:4
เพลง 3 กำลัง ความหวัง และความมั่นใจของเรา
ใจความสำคัญa
1-2. (ก) ทำไมหลายคนในทุกวันนี้ไม่ไว้ใจคนที่มีอำนาจ? (ข) เราจะคุยอะไรกันในบทความนี้?
ในทุกวันนี้หลายคนไม่ไว้ใจคนที่มีอำนาจ เพราะพวกเขาเห็นระบบกฎหมายและระบบการเมืองเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยและคนที่มีอำนาจ แต่คนที่ยากจนกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม คัมภีร์ไบเบิลพูดอย่างถูกต้องเลยว่า “การที่มนุษย์ปกครองมนุษย์มีแต่สร้างความเสียหายให้พวกเขา” (ปญจ. 8:9) นอกจากนั้น คนสอนศาสนาก็ทำตัวไม่ดีทำให้หลายคนไม่ไว้ใจพระเจ้าอีกต่อไป ดังนั้น ตอนที่เราสอนคัมภีร์ไบเบิลให้กับนักศึกษา เราต้องช่วยพวกเขาให้ไว้ใจพระยะโฮวาและตัวแทนของพระองค์
2 แต่ไม่ใช่แค่นักศึกษาของเราเท่านั้นที่ต้องฝึกไว้ใจพระยะโฮวาและไว้ใจองค์การของพระองค์ ถึงเราจะรับใช้พระยะโฮวามานานแล้ว เราก็ต้องเชื่อมั่นว่าทุกอย่างที่พระองค์ทำจะดีที่สุดเสมอ แต่ก็อาจจะมีบางอย่างที่ทดสอบความเชื่อของเรา ให้เรามาดู 3 สถานการณ์ด้วยกัน (1) ตอนที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับบางเรื่อง (2) ตอนที่ได้รับการชี้นำจากองค์การ และ (3) ตอนที่ถูกทดสอบในอนาคต
ไว้ใจพระยะโฮวาตอนที่อ่านคัมภีร์ไบเบิล
3. บางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลอาจทำให้เราสงสัยอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา?
3 ตอนที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลอาจจะมีบางครั้งที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาถึงตัดสินใจแบบนั้นหรือทำแบบนี้กับบางคน ตัวอย่างเช่น ตอนที่เราอ่านหนังสือกันดารวิถี เราเห็นว่าพระยะโฮวาลงโทษผู้ชายคนหนึ่งที่เก็บฟืนในวันสะบาโต แต่พออ่าน 2 ซามูเอล เราเห็นว่าพระองค์ยกโทษกษัตริย์ดาวิดที่ทำผิดศีลธรรมและฆ่าคน (กดว. 15:32, 35; 2 ซม. 12:9, 13) เราอาจสงสัยว่า ‘ทำไมพระยะโฮวาถึงให้อภัยดาวิดทั้ง ๆ ที่เขาฆ่าคนและทำผิดศีลธรรม แต่กลับให้ประหารชีวิตผู้ชายคนนั้นที่ดูเหมือนทำผิดน้อยกว่าดาวิดมาก?’ เพื่อเราจะได้คำตอบในเรื่องนี้ ให้เรามาดูข้อเท็จจริง 3 อย่างด้วยกัน และทุกครั้งที่เราอ่านคัมภีร์ไบเบิลก็ให้เราคิดถึงข้อเท็จจริง 3 อย่างนี้ด้วย
4. ปฐมกาล 18:20, 21 และเฉลยธรรมบัญญัติ 10:17 ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นยังไงในการตัดสินใจของพระยะโฮวา?
4 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดทุกอย่าง ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่ากษัตริย์ดาวิดกลับใจจริง ๆ (สด. 51:2-4) แต่สำหรับผู้ชายคนนั้นที่ฝ่าฝืนกฎเรื่องวันสะบาโต เขาเป็นคนแบบไหน? เขาเสียใจจริง ๆ ไหม? เขาเคยไม่เชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้ามาก่อนไหม? ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกเตือนแต่เขาไม่สนใจคำเตือนนั้นไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เรามั่นใจได้ก็คือพระยะโฮวา “ยุติธรรมเสมอ” (ฉธบ. 32:4) ไม่ว่าพระองค์จะตัดสินเรื่องอะไร พระองค์ก็มีข้อมูลครบถ้วนเลยตัดสินได้อย่างถูกต้อง พระยะโฮวาไม่เหมือนกับมนุษย์ พระองค์ไม่มีอคติ ไม่มีอะไรมาทำให้พระองค์เข้าใจผิดได้ และพระองค์ก็ไม่ได้ตัดสินแค่จากสิ่งที่คนอื่นพูดเท่านั้น (อ่านปฐมกาล 18:20, 21; เฉลยธรรมบัญญัติ 10:17) ยิ่งเรารู้จักพระยะโฮวาและมาตรฐานของพระองค์ เราก็ยิ่งไว้ใจว่าการตัดสินของพระองค์จะถูกต้องแน่นอน และถึงเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลแล้วเจอบางเรื่องที่เราสงสัยและยังไม่ได้รับคำตอบในตอนนี้ เราก็มั่นใจได้ว่า “พระยะโฮวาทำทุกสิ่งอย่างถูกต้อง” เสมอ—สด. 145:17
5. ความไม่สมบูรณ์แบบมีผลยังไงกับเรา? (ดูกรอบ “ความไม่สมบูรณ์แบบทำให้เราคิดผิด”)
5 เราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ พระยะโฮวาสร้างเราตามแบบของพระองค์ เราเลยอยากเห็นคนอื่นได้รับความยุติธรรม (ปฐก. 1:26) ถึงเราจะคิดว่าเรามีข้อมูลที่ครบถ้วนแล้ว แต่เราเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบเลยเป็นไปไม่ได้ที่เราจะตัดสินเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องทุกครั้ง ลองคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับโยนาห์ดูสิ เขาไม่เห็นด้วยกับพระยะโฮวาที่พระองค์เมตตาชาวเมืองนีนะเวห์ (ยนา. 3:10–4:1) แต่เพราะความเมตตาของพระยะโฮวานั่นแหละที่ทำให้ชาวเมืองนีนะเวห์มากกว่า 120,000 คนที่กลับใจรอดชีวิต เห็นแล้วไหมล่ะว่าใครถูกใครผิด?
6. ทำไมพระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องอธิบายการตัดสินใจของพระองค์?
6 พระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องอธิบายทุกอย่างกับเรา ก็จริงที่พระยะโฮวาให้โอกาสผู้รับใช้ของพระองค์ในอดีตได้พูดออกมาว่า พวกเขาไม่สบายใจกับการตัดสินใจของพระองค์บางเรื่อง (ปฐก. 18:25; ยนา. 4:2, 3) และบางครั้งพระยะโฮวาก็อธิบายเหตุผลด้วยว่าทำไมพระองค์ถึงตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง (ยนา. 4:10, 11) แต่พระองค์ไม่ได้มีหน้าที่ต้องอธิบายทุกอย่างกับเรา และเพราะพระองค์เป็นผู้สร้าง พระองค์ไม่จำเป็นต้องมาขอความเห็นชอบจากเราก่อนที่พระองค์จะทำอะไร หรือหลังจากที่พระองค์ทำบางสิ่งบางอย่างไปแล้ว—อสย. 40:13, 14; 55:9
ไว้ใจพระยะโฮวาตอนที่ได้รับการชี้นำ
7. อะไรอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเรา? และทำไมถึงยาก?
7 เราเห็นด้วยแน่นอนว่าพระยะโฮวาทำทุกอย่างถูกต้องเสมอ แต่มันอาจเป็นเรื่องยากที่เราจะไว้ใจคนที่เป็นตัวแทนของพระองค์ เราอาจสงสัยว่าคนที่มีอำนาจในองค์การทำตามการชี้นำของพระยะโฮวาหรือเปล่าหรือเขาทำตามความคิดของตัวเอง คนในสมัยคัมภีร์ไบเบิลบางคนก็อาจคิดแบบนี้เหมือนกัน ให้เรานึกถึงตัวอย่างในข้อ 3 ญาติของผู้ชายที่ทำผิดกฎวันสะบาโตจะสงสัยไหมว่าโมเสสได้ถามพระยะโฮวาหรือเปล่าก่อนที่จะตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนนั้น? หรือในกรณีของอุรีอาห์ชาวฮิตไทต์ซึ่งดาวิดเป็นชู้กับเมียเขา เพื่อนของอุรีอาห์จะสงสัยไหมว่าดาวิดอาศัยตำแหน่งกษัตริย์ของตัวเองเพื่อหลบหลีกโทษประหารหรือเปล่า? สิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องจำไว้ก็คือ พระยะโฮวาไว้ใจคนที่พระองค์แต่งตั้งให้นำหน้าในองค์การ ถ้าเราไม่ไว้ใจพวกเขาก็เท่ากับเราไม่ไว้ใจพระยะโฮวา
8. ประชาคมในทุกวันนี้ดำเนินงานเหมือนกับประชาคมในสมัยคริสเตียนรุ่นแรกยังไง? (กิจการ 16:4, 5)
8 ทุกวันนี้พระยะโฮวาชี้นำองค์การของพระองค์ผ่านทาง “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” (มธ. 24:45) ทาสที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ทำงานเหมือนกับคณะกรรมการปกครองของคริสเตียนรุ่นแรก พวกเขาดูแลคนของพระยะโฮวาทั่วโลกและให้คำแนะนำกับผู้ดูแลในประชาคมต่าง ๆ (อ่านกิจการ 16:4, 5) และผู้ดูแลก็จะเอาคำแนะนำเหล่านี้มาใช้ในประชาคม ถ้าเราเชื่อฟังคำแนะนำขององค์การและเชื่อฟังผู้ดูแล เราก็กำลังไว้ใจพระยะโฮวา
9. ทำไมบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่เราจะให้ความร่วมมือกับผู้ดูแล? และทำไมถึงยาก?
9 แต่ก็อาจไม่ง่ายที่เราจะให้ความร่วมมือกับการตัดสินใจของผู้ดูแล ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีการจัดระเบียบหมวดและประชาคมใหม่เพื่อจะใช้หอประชุมอย่างคุ้มค่า ผู้ดูแลอาจจะขอให้พี่น้องย้ายประชาคม ถ้าผู้ดูแลมาขอให้เราย้าย เราอาจไม่อยากแยกจากเพื่อน ๆ หรือครอบครัวของเราไป ที่จริง พระเจ้าได้มาบอกผู้ดูแลไหมว่าจะให้พี่น้องคนนี้ย้ายไปอยู่ที่ประชาคมไหน? ไม่ใช่ นี่เลยอาจทำให้เราไม่ค่อยอยากทำตามที่ผู้ดูแลบอก แต่ถ้าพระยะโฮวาไว้ใจผู้ดูแล เราก็ควรไว้ใจพวกเขาด้วยb
10. จากที่บอกไว้ในฮีบรู 13:17 ทำไมเราต้องให้ความร่วมมือกับผู้ดูแล?
10 ทำไมเราต้องให้ความร่วมมือกับผู้ดูแลและสนับสนุนการตัดสินใจของพวกเขาแม้ว่าเราจะไม่ค่อยเห็นด้วย? เพราะการทำแบบนี้ทำให้คนของพระยะโฮวาเป็นหนึ่งเดียวกัน (อฟ. 4:2, 3) ถ้าพี่น้องทุกคนในประชาคมยอมรับการตัดสินใจของคณะผู้ดูแลด้วยความถ่อม ประชาคมก็จะก้าวหน้า (อ่านฮีบรู 13:17) และที่สำคัญ ถ้าเราให้ความร่วมมือกับคนที่พระยะโฮวาไว้ใจให้ดูแลเรา ก็แสดงว่าเราไว้ใจพระองค์—กจ. 20:28
11. อะไรจะช่วยให้เราไว้ใจการชี้นำของผู้ดูแลมากขึ้น?
11 เราจะไว้ใจการชี้นำของผู้ดูแลมากขึ้นได้ ถ้าเราจำไว้ว่าพวกเขาอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าตอนที่ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในประชาคม นอกจากนั้น ผู้ดูแลจะค้นดูหลักการในคัมภีร์ไบเบิลและดูคำแนะนำขององค์การอย่างละเอียดด้วย สิ่งสำคัญสำหรับพวกผู้ดูแลก็คือพวกเขาอยากทำให้พระยะโฮวาพอใจจริง ๆ และดูแลพี่น้องอย่างดีที่สุด พวกเขารู้ว่าพระยะโฮวาสนใจมากว่าพวกเขาจะดูแลคนของพระองค์ยังไงและพวกเขาต้องรับผิดชอบสิ่งที่พวกเขาทำ (1 ปต. 5:2, 3) ลองคิดดูว่าโลกในทุกวันนี้แบ่งแยกเพราะเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง แต่คนของพระยะโฮวานมัสการพระองค์อย่างเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก เรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าพระยะโฮวาไม่อวยพรองค์การของพระองค์
12. ผู้ดูแลจะรู้ได้ยังไงว่าคนที่ทำผิดกลับใจจริง ๆ?
12 พระยะโฮวาให้หน้าที่สำคัญกับผู้ดูแลคือให้รักษาประชาคมให้สะอาดทางด้านศีลธรรม ถ้ามีพี่น้องคนหนึ่งทำผิดร้ายแรง ผู้ดูแลมีหน้าที่ดูว่าคนนั้นยังสามารถอยู่ในประชาคมต่อได้หรือเปล่าโดยดูว่า เขาเสียใจที่ทำผิดจริง ๆ ไหม? คนนั้นบอกว่ากลับใจแล้วแต่เขาเกลียดสิ่งที่เขาทำจริง ๆ หรือเปล่า? เขาตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดอีกไหม? และถ้าเขาคบเพื่อนไม่ดีที่ชวนให้ทำผิด เขาจะเลิกคบกับเพื่อนพวกนั้นไหม? ผู้ดูแลต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ต้องคิดถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ คิดถึงหลักการในคัมภีร์ไบเบิล และดูว่าคนที่ทำผิดคิดยังไงกับสิ่งที่เขาทำ แล้วผู้ดูแลถึงจะตัดสินได้ว่าคนนั้นควรอยู่ในประชาคมต่อหรือต้องถูกตัดสัมพันธ์ออกจากประชาคม—1 คร. 5:11-13
13. ถ้าเพื่อนหรือญาติของเราถูกตัดสัมพันธ์ เราอาจคิดอะไร?
13 เมื่อไหร่ที่เราอาจถูกทดสอบว่าเราไว้ใจผู้ดูแลจริง ๆ ไหม? ถ้าคนที่ถูกตัดสัมพันธ์ในประชาคมไม่ใช่ญาติหรือไม่ใช่เพื่อนสนิทของเรา เราอาจยอมรับการตัดสินใจของผู้ดูแลได้ไม่ยาก แต่ถ้าคนที่ถูกตัดสัมพันธ์เป็นเพื่อนสนิทของเรา เราอาจสงสัยว่าผู้ดูแลได้คิดรอบด้านดีแล้วหรือเปล่า หรือเราอาจสงสัยว่าผู้ดูแลตัดสินแบบเดียวกับที่พระยะโฮวาคิดไหม ดังนั้น อะไรจะช่วยเราให้มองการตัดสินของผู้ดูแลอย่างถูกต้อง?
14. ถ้าเพื่อนหรือญาติของเราถูกตัดสัมพันธ์ อะไรจะช่วยให้เรายอมรับการตัดสินของผู้ดูแล?
14 เราต้องจำไว้ว่าการตัดสัมพันธ์เป็นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเพื่อประโยชน์ของพี่น้องในประชาคมและอาจช่วยคนที่ทำผิดด้วย ถ้าคนทำผิดที่ไม่กลับใจยังคงอยู่ในประชาคมต่อไป เขาก็อาจเป็นอิทธิพลที่ไม่ดีต่อพี่น้อง (กท. 5:9) และเขาอาจคิดว่าความผิดที่ตัวเองทำเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง เขาอาจไม่เห็นว่าการเปลี่ยนตัวเองเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะทำให้พระเจ้าพอใจเขาอีกครั้ง (ปญจ. 8:11) เรามั่นใจได้แน่นอนว่าตอนที่มีการตัดสินว่าใครจะถูกตัดสัมพันธ์หรือไม่ ผู้ดูแลได้คิดอย่างรอบคอบแล้วและพวกเขาถือว่านี่เป็นหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ ผู้ดูแลรู้ว่าพวกเขาเป็นเหมือนผู้พิพากษาในอิสราเอลโบราณที่ “ไม่ได้พิพากษาให้มนุษย์แต่พิพากษาให้พระยะโฮวา”—2 พศ. 19:6, 7
ฝึกไว้ใจพระยะโฮวาตอนนี้ เพื่อจะไว้ใจพระองค์เต็มที่ในอนาคต
15. ทำไมตอนนี้เราต้องไว้ใจคำแนะนำของพระยะโฮวามากขึ้น?
15 ยิ่งจุดจบของโลกชั่วใกล้เข้ามา เราก็ยิ่งต้องไว้ใจพระยะโฮวามากขึ้น เพราะอะไร? เพราะในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ เราอาจได้รับคำแนะนำที่ดูแปลก ๆ ทำตามได้ยาก หรือดูไม่ค่อยมีเหตุผล แน่นอนว่าพระยะโฮวาจะไม่พูดกับเราโดยตรง แต่พระองค์จะให้คำแนะนำผ่านทางคนที่เป็นตัวแทนของพระองค์ ตอนนั้นไม่ใช่เวลาที่จะมาลังเลว่าจะทำตามดีหรือเปล่า หรือสงสัยว่า ‘พระยะโฮวาแนะนำแบบนี้จริงเหรอ หรือว่าผู้ดูแลคิดขึ้นมาเอง?’ ในช่วงเวลานั้นคุณจะไว้ใจพระยะโฮวาและองค์การของพระองค์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดยังไงกับคำแนะนำของตัวแทนของพระองค์ตั้งแต่ตอนนี้ ถ้าคุณไว้ใจและพร้อมจะเชื่อฟังคำแนะนำตั้งแต่วันนี้ คุณคงจะทำแบบเดียวกันในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่—ลก. 16:10
16. ในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นที่จะทดสอบว่าเราไว้ใจการตัดสินของพระยะโฮวาหรือเปล่า?
16 นอกจากนั้น ให้เราคิดถึงตอนที่พระยะโฮวาจะมาพิพากษามนุษย์ทุกคนบนโลกในอาร์มาเกดโดน ตอนนี้เราหวังว่าคนที่ยังไม่ได้มาเป็นพยานฯ รวมทั้งญาติ ๆ ของเราจะเลือกรับใช้พระยะโฮวาก่อนที่จุดจบจะมาถึง แต่พอถึงอาร์มาเกดโดน พระยะโฮวาจะใช้พระเยซูตัดสินแต่ละคนว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นยังไง (มธ. 25:31-33; 2 ธส. 1:7-9) พระยะโฮวาจะเมตตาพวกเขาหรือเปล่าก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา (มธ. 25:34, 41, 46) ถ้าตอนนั้นการตัดสินของพระยะโฮวาไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด เราจะไว้ใจพระองค์หรือเราจะทิ้งพระองค์? ให้เราฝึกที่จะไว้ใจพระยะโฮวาตั้งแต่ตอนนี้เพื่อเราจะไว้ใจพระองค์เต็มที่ในอนาคต
17. การพิพากษาของพระยะโฮวาทำให้เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
17 ลองนึกภาพว่าการพิพากษาของพระยะโฮวาจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ศาสนาเท็จจะถูกทำลาย ระบบการค้าที่เห็นแก่ตัวและระบบการเมืองที่กดขี่ผู้คนให้ทนทุกข์มาตลอดประวัติศาสตร์จะไม่มีอีกเลย เราจะไม่ต้องเจ็บป่วย ไม่ต้องแก่ และไม่ต้องเสียใจเพราะคนที่เรารักตายจากไป ซาตานกับทูตสวรรค์ชั่วที่เป็นพรรคพวกของมันจะถูกขัง 1,000 ปี และผลเสียหายที่พวกมันทำเอาไว้จะไม่มีต่อไป (วว. 20:2, 3) ตอนนั้นเราคงดีใจมากว่าที่ผ่านมาเราได้ไว้ใจว่าทุกอย่างที่พระยะโฮวาทำถูกต้องเสมอ
18. เราได้บทเรียนอะไรจากตัวอย่างของชาวอิสราเอลในกันดารวิถี 11:4-6 และ 21:5?
18 ในโลกใหม่เราจะถูกทดสอบอีกไหมว่าเราไว้ใจว่าทุกอย่างที่พระยะโฮวาทำถูกต้องเสมอ? ให้เราคิดถึงตัวอย่างของชาวอิสราเอลตอนที่พวกเขาออกจากอียิปต์ได้ไม่นาน หลายคนบ่นคิดถึงอาหารในอียิปต์และพูดดูถูกมานาที่พระยะโฮวาให้พวกเขา (อ่านกันดารวิถี 11:4-6; 21:5) เราจะเป็นอย่างนั้นเหมือนกันไหมหลังจากอาร์มาเกดโดน? เราไม่รู้ว่าเราต้องทำงานเยอะแค่ไหนตอนที่เก็บกวาดซากปรักหักพังและช่วยกันทำให้ทั้งโลกเป็นสวนอุทยาน แต่เราจะมีงานเยอะแน่ ๆ และตอนแรกเราก็อาจจะลำบากบ้าง อะไร ๆ ก็อาจจะไม่สะดวกสำหรับเรา แต่เราจะบ่นไหม? ที่แน่ ๆ ก็คือ ถ้าเราเห็นค่าและขอบคุณสิ่งที่พระยะโฮวาให้เราตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะยิ่งเห็นค่าและขอบคุณสิ่งที่พระยะโฮวาให้เราตอนนั้นด้วย
19. จุดสำคัญของบทความนี้คืออะไร?
19 เราต้องมั่นใจว่าทุกอย่างที่พระยะโฮวาทำจะถูกต้องเสมอ และเราต้องเชื่อมั่นในตัวคนที่พระยะโฮวาไว้ใจให้ดูแลเรา เราต้องไม่ลืมสิ่งที่พระยะโฮวาบอกผู้พยากรณ์อิสยาห์ว่า “ถ้าพวกเจ้ามีใจที่สงบและวางใจเรา พวกเจ้าก็จะมีความเข้มแข็ง”—อสย. 30:15
เพลง 98 พระคัมภีร์ พระเจ้าดลใจให้เขียนขึ้นมา
a ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าทำไมสำคัญที่เราจะไว้ใจพระยะโฮวาและคนที่เป็นตัวแทนของพระองค์ นอกจากนั้น เราจะดูด้วยว่าการทำแบบนั้นมีประโยชน์กับเรายังไงตั้งแต่ตอนนี้และจะเตรียมเราให้พร้อมยังไงสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต