บทความศึกษา 35
“เสริมสร้างกันให้เข้มแข็ง” ต่อ ๆ ไป
“ขอให้พวกคุณคอยให้กำลังใจกันและเสริมสร้างกันให้เข้มแข็ง”—1 ธส. 5:11
เพลง 90 ให้กำลังใจกัน
ใจความสำคัญa
1. อย่างที่บอกไว้ใน 1 เธสะโลนิกา 5:11 เราทุกคนต้องทำอะไร?
ประชาคมของคุณใช้หอประชุมที่สร้างใหม่หรือปรับปรุงใหม่ไหม? ถ้าใช่ คุณคงจำได้ว่าคุณตื่นเต้นขนาดไหนที่ได้ก้าวเข้าไปในหอประชุมใหม่ คุณต้องรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวามากแน่ ๆ และตอนที่ร้องเพลงเปิดการประชุมครั้งแรก คุณคงตื้นตันจนแทบจะร้องเพลงไม่ได้ หอประชุมที่สร้างอย่างสวยงามทำให้พระยะโฮวาได้รับการยกย่องสรรเสริญ แต่การสร้างอีกอย่างหนึ่งยิ่งทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องสรรเสริญมากกว่านั้นอีก มันเป็นการสร้างสิ่งที่มีค่ามากกว่าตึก นั่นก็คือการเสริมสร้างพี่น้อง เปาโลนึกถึงเรื่องนี้ตอนที่เขาเขียน 1 เธสะโลนิกา 5:11 (อ่าน) ซึ่งเป็นข้อคัมภีร์หลักของบทความนี้
2. เราจะคุยเรื่องอะไรบ้างในบทความนี้
2 อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีมากของคนที่รู้ว่าจะเสริมสร้างเพื่อนร่วมความเชื่อยังไง เปาโลเห็นอกเห็นใจพี่น้องของเขา ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเปาโลช่วยพี่น้องยังไงให้ (1) อดทนความยากลำบาก (2) อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และ (3) มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น เราจะดูว่าเราจะเลียนแบบเปาโลและเสริมสร้างพี่น้องในทุกวันนี้ได้ยังไง—1 คร. 11:1
เปาโลช่วยพี่น้องให้อดทนความยากลำบาก
3. เปาโลมีความคิดที่สมดุลยังไงเรื่องงานรับใช้และการทำงานอาชีพ?
3 เปาโลรักพี่น้องมาก ตัวเขาเองเคยเจอความยากลำบากมาก่อน เขาก็เลยเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องที่เจอความยากลำบาก ครั้งหนึ่งเปาโลไม่มีเงิน เขาต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและคนที่อยู่กับเขา (กจ. 20:34) เปาโลเป็นช่างทำเต็นท์ ตอนที่เขามาถึงเมืองโครินธ์ใหม่ ๆ เขาทำงานกับเพื่อนที่เป็นช่างทำเต็นท์เหมือนกันชื่ออะควิลลากับปริสสิลลา แต่ “ทุกวันสะบาโต” เขาจะประกาศกับชาวยิวและชาวกรีก แล้วพอสิลาสกับทิโมธีมาหาเขาที่เมืองโครินธ์ เขาก็ยิ่ง “ทุ่มเทเวลาในการประกาศคำสอนของพระเจ้า” (กจ. 18:2-5) เปาโลคิดอยู่เสมอว่าเป้าหมายในชีวิตของเขาก็คือการรับใช้พระยะโฮวา และเพราะเปาโลขยันรับใช้และทำงานหาเลี้ยงตัวเอง เขาก็เลยเป็นตัวอย่างที่ดีและสามารถให้คำแนะนำที่ให้กำลังใจพี่น้องได้ เขาเตือนพี่น้องว่าอย่าให้ความกดดันในชีวิตและความกังวลเรื่องการหาเลี้ยงครอบครัวมาทำให้ละเลยสิ่งที่ “สำคัญกว่า” ซึ่งก็คือการนมัสการพระเจ้า—ฟป. 1:10
4. เปาโลกับทิโมธีช่วยพี่น้องให้รับมือกับการข่มเหงยังไง?
4 หลังจากมีการตั้งประชาคมในเมืองเธสะโลนิกาได้ไม่นาน พี่น้องใหม่ที่นั่นเจอการต่อต้านอย่างหนัก ตอนที่ผู้ต่อต้านกลุ่มใหญ่ตามหาเปาโลกับสิลาสไม่เจอ พวกเขาลาก “พี่น้องบางคนไปหาพวกผู้ปกครองเมือง” และร้องตะโกนว่า “คนพวกนี้ทำผิดกฎหมายของซีซาร์” (กจ. 17:6, 7) คุณนึกออกไหมว่าพี่น้องจะกลัวขนาดไหนที่ต้องเจอคนในเมืองต่อต้านอย่างหนัก พวกเขาอาจถึงกับหยุดรับใช้พระเจ้าก็ได้ แต่เปาโลจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ถึงเปาโลกับสิลาสจะต้องออกจากเมืองนั้น แต่พวกเขาก็ทำให้แน่ใจว่าประชาคมใหม่นี้จะได้รับการเอาใจใส่อย่างดี เปาโลบอกพี่น้องที่นั่นว่า “[เรา] ส่งทิโมธีพี่น้องของเราไป . . . ช่วยพวกคุณให้เข้มแข็งและมีกำลังใจ เพื่อทำให้พวกคุณมีความเชื่อที่มั่นคง และไม่หวั่นไหวเมื่อเจอความยากลำบาก” (1 ธส. 3:2, 3) ตัวทิโมธีเองก็น่าจะเคยเจอการต่อต้านในเมืองลิสตราบ้านเกิดของตัวเองมาแล้ว และเขาก็คงเคยเห็นเปาโลให้กำลังใจพี่น้องที่นั่น พอทิโมธีได้เห็นความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ตอนนี้เขาก็เลยช่วยพี่น้องในเมืองเธสะโลนิกาให้มั่นใจได้เหมือนกันว่าพระองค์จะช่วยพวกเขาด้วย—กจ. 14:8, 19-22; ฮบ. 12:2
5. ไบรอันได้ประโยชน์อะไรจากความช่วยเหลือของผู้ดูแลคนหนึ่ง?
5 ให้เรามาดูอีกวิธีที่เปาโลให้กำลังใจพี่น้อง ตอนที่เปาโลกับบาร์นาบัสกลับไปเยี่ยมพี่น้องในลิสตรา อิโคนียูม และอันทิโอก พวกเขา “แต่งตั้งผู้ดูแลไว้ในแต่ละประชาคม” (กจ. 14:21-23) ผู้ดูแลเหล่านั้นต้องให้กำลังใจพี่น้องอย่างดีแน่ ๆ เหมือนที่ผู้ดูแลในทุกวันนี้ทำ ให้เรามาฟังประสบการณ์ของพี่น้องที่ชื่อไบรอัน เขาเล่าว่า “ตอนผมอายุ 15 พ่อทิ้งพวกเราไปและแม่ก็ถูกตัดสัมพันธ์ ผมรู้สึกแย่มาก มันเหมือนโดนทิ้งและไม่เหลือใครเลย” อะไรช่วยไบรอันให้อดทนความยากลำบากได้? เขาเล่าว่า “พี่น้องโทนี่ที่เป็นผู้ดูแลในประชาคมพยายามเป็นเพื่อนและมาคุยกับผมทั้งที่หอประชุมและในเวลาอื่นด้วย เขาเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับคนที่เจอความยากลำบากแต่ก็ยังมีความสุขได้ เขาให้ผมดูที่สดุดี 27:10 และพูดเรื่องเฮเซคียาห์ให้ผมฟังบ่อย ๆ เฮเซคียาห์รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์แม้ว่าพ่อของเขาจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี” สิ่งที่โทนี่ทำช่วยไบรอันยังไง? ไบรอันบอกว่า “เพราะพี่น้องโทนี่ช่วยผมและดูแลผมอย่างดี ตอนนี้ผมเลยเป็นไพโอเนียร์แล้วครับ” พี่น้องที่เป็นผู้ดูแล ขอให้คุณสนใจช่วยพี่น้องแบบไบรอันเป็นพิเศษ พวกเขาต้องการ “คำพูดดี ๆ” ที่ทำให้ได้กำลังใจ—สภษ. 12:25
6. เปาโลใช้เรื่องราวของผู้รับใช้พระเจ้าในอดีตเพื่อให้กำลังใจพี่น้องยังไง?
6 เปาโลบอกคริสเตียนให้คิดถึง “พยานมากมายเหมือนเมฆก้อนใหญ่” ที่อดทนความยากลำบากได้เพราะพระยะโฮวาให้กำลังพวกเขา (ฮบ. 12:1) เปาโลรู้ว่าเรื่องราวชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้าในอดีตที่อดทนความยากลำบากได้จะช่วยพี่น้องให้กล้าหาญ และช่วยพวกเขาให้สนใจแต่ “เมืองของพระเจ้าผู้มีชีวิตอยู่” (ฮบ. 12:22) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราก็ได้กำลังใจเมื่อได้อ่านเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลว่าพระยะโฮวาช่วยกิเดโอน บาราค ดาวิด ซามูเอล และผู้รับใช้คนอื่น ๆ ยังไง (ฮบ. 11:32-35) แล้วประสบการณ์ของพี่น้องในทุกวันนี้ล่ะ? สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาได้รับจดหมายมากมายจากพี่น้องว่าพวกเขาได้กำลังใจขนาดไหนที่ได้อ่านประสบการณ์ของพี่น้องที่รักษาความซื่อสัตย์
เปาโลทำให้เห็นวิธีอยู่ร่วมกับพี่น้องอย่างสงบสุข
7. คุณได้เรียนอะไรจากคำแนะนำของเปาโลที่โรม 14:19-21?
7 เราเสริมสร้างพี่น้องในประชาคมได้ถ้าเราทำให้ประชาคมสงบสุข แม้เราอาจคิดต่างแต่เราก็จะไม่แตกแยก ถ้าเรื่องที่พี่น้องทำไม่ขัดกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเราก็จะไม่ยืนกรานเอาแต่ความชอบของเรา ขอให้คิดถึงตัวอย่างของสมัยเปาโล คริสเตียนในโรมมีทั้งคนที่เป็นชาวยิวและคนต่างชาติ เมื่อมีการยกเลิกกฎหมายของโมเสส คริสเตียนก็ไม่ต้องทำตามกฎหมายที่ห้ามกินอาหารบางอย่างอีกต่อไป (มก. 7:19) ตั้งแต่ตอนนั้นชาวยิวบางคนที่เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนก็เริ่มกินอาหารทุกอย่าง ส่วนบางคนก็ยังทำใจไม่ได้ เรื่องนี้เลยทำให้ประชาคมแตกแยก เปาโลเลยเน้นความสำคัญของการรักษาความสงบสุขในประชาคมว่า “ดีที่สุดถ้าจะไม่กินเนื้อ หรือดื่มเหล้าองุ่น หรือทำอะไรที่ทำให้ความเชื่อของพี่น้องอ่อนลง” (อ่านโรม 14:19-21) เปาโลช่วยให้คริสเตียนในตอนนั้นเห็นว่าการเถียงกันเรื่องนั้นมีแต่ผลเสียกับตัวพวกเขาและกับประชาคม นอกจากนั้น เปาโลเองยังเต็มใจปรับเปลี่ยนด้วยเพื่อจะไม่ทำให้ความเชื่อของพี่น้องอ่อนลง (1 คร. 9:19-22) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราเองก็เสริมสร้างและทำให้ประชาคมสงบสุขได้ถ้าเราไม่เอาความชอบส่วนตัวมาเป็นใหญ่
8. เปาโลทำยังไงเมื่อมีเรื่องที่อาจทำให้ประชาคมแตกแยก?
8 เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องการรักษาความสงบสุขในประชาคมแม้ว่าเขาจะคิดไม่ตรงกันกับพี่น้องบางคนในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น คริสเตียนบางคนยืนกรานว่าคนต่างชาติจะต้องเข้าสุหนัตเพื่อไม่ให้คนทั่วไปว่าเอาได้ (กท. 6:12) เปาโลไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้เลย แต่เขาก็ไม่ได้ยืนกรานให้พี่น้องเหล่านั้นทำตามความคิดของเขา เขาถ่อมและเสนอเรื่องนี้ให้พวกอัครสาวกกับผู้ดูแลที่กรุงเยรูซาเล็มพิจารณา (กจ. 15:1, 2) สิ่งที่เปาโลทำส่งผลให้ประชาคมต่าง ๆ มีความสงบสุขและพี่น้องก็มีความสุข—กจ. 15:30, 31
9. เราจะเลียนแบบเปาโลได้ยังไง?
9 ถ้ามีเรื่องขัดแย้งกันในประชาคม ให้ขอคำแนะนำจากผู้ดูแลที่พระยะโฮวาแต่งตั้ง นอกจากนั้น เรายังหาคำแนะนำดี ๆ จากหนังสือและสื่อต่าง ๆ ขององค์การได้ด้วย ถ้าเราพยายามทำตามคำแนะนำแทนที่จะเอาแต่ความชอบของตัวเอง เราก็จะทำให้ประชาคมสงบสุข
10. เปาโลทำอะไรอีกที่ทำให้ประชาคมสงบสุข?
10 เปาโลทำให้ประชาคมสงบสุขและเป็นหนึ่งเดียวกันโดยพูดถึงพี่น้องแต่ละคนในแง่ดีและไม่พูดถึงข้อเสียของพวกเขา ในตอนท้ายของจดหมายที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในโรม เขาพูดถึงชื่อพี่น้องหลายคนและพูดถึงรายละเอียดของแต่ละคน แล้วชมส่วนดีของพวกเขา เราเองก็เลียนแบบเปาโลได้โดยพูดถึงส่วนดีของพี่น้อง ถ้าเราทำแบบนั้น พี่น้องในประชาคมจะสนิทกันและรักกันมากขึ้น
11. ถ้าเรามีปัญหากับพี่น้อง เราต้องทำยังไงเพื่อจะทำให้ประชาคมสงบสุข?
11 บางครั้งแม้แต่คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ก็อาจขัดแย้งและมีปัญหากัน เปาโลกับบาร์นาบัสซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันก็เคยเป็นแบบนั้น ทั้งสองคนคิดไม่ตรงกันว่าจะเอามาระโกไปด้วยไหมในงานมิชชันนารี พวกเขา “ทะเลาะกัน” จนต้องแยกกันไปคนละทาง (กจ. 15:37-39) แต่ในที่สุด เปาโล บาร์นาบัส และมาระโกก็รักกันเหมือนเดิมเพราะพวกเขาเห็นว่าความสงบสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญมาก และต่อมาเปาโลก็ยังพูดถึงบาร์นาบัสกับมาระโกในแง่ดีด้วย (1 คร. 9:6; คส. 4:10, 11) ถ้าเราเองมีปัญหากับพี่น้อง เราต้องรีบคืนดีและมองที่ส่วนดีของพี่น้องเสมอ ถ้าเราทำแบบนั้นเราก็จะทำให้เกิดความสงบสุขและเป็นหนึ่งเดียวกัน—อฟ. 4:3
เปาโลช่วยพี่น้องให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น
12. พี่น้องเจอปัญหาอะไรบ้าง?
12 เราเสริมสร้างพี่น้องในประชาคมได้ถ้าเราช่วยพวกเขาให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น พี่น้องบางคนถูกครอบครัว คนที่ทำงาน หรือเพื่อนที่โรงเรียนเยาะเย้ย ส่วนบางคนก็มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง บางคนรู้สึกแย่และเจ็บปวดและพยายามจะต่อสู้กับความรู้สึกนั้น และก็ยังมีพี่น้องหลายคนที่เป็นพยานฯ มานานแล้ว พวกเขารอว่าเมื่อไหร่อาร์มาเกดโดนจะมาสักที สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ที่พี่น้องเรากำลังเจออาจทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะอดทนและรักษาความเชื่อได้ คริสเตียนรุ่นแรกก็เจอปัญหาเหล่านี้คล้าย ๆ กัน ให้เรามาดูว่าเปาโลช่วยพวกเขายังไง
13. เปาโลช่วยพี่น้องที่ถูกเยาะเย้ยเรื่องความเชื่อยังไง?
13 เปาโลใช้พระคัมภีร์ช่วยพี่น้องให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คริสเตียนที่เป็นชาวยิวในสมัยนั้นอาจถูกครอบครัวเยาะเย้ยว่าศาสนายิวดีกว่าศาสนาคริสเตียน และพวกเขาก็อาจไม่รู้ว่าจะตอบคนในครอบครัวยังไง แต่จดหมายของเปาโลที่เขียนถึงคริสเตียนชาวยิวในตอนนั้นจะต้องช่วยพวกเขาให้มีความเชื่อมากขึ้นแน่ ๆ (ฮบ. 1:5, 6; 2:2, 3; 9:24, 25) และพวกเขาก็สามารถใช้การอธิบายเหตุผลของเปาโลเพื่อตอบคนที่ต่อต้านและคนในครอบครัวได้ ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราสามารถช่วยพี่น้องที่โดนคนอื่นเยาะเย้ยเรื่องความเชื่อให้รู้วิธีที่จะใช้หนังสือและสื่อต่าง ๆ ขององค์การเพื่ออธิบายเหตุผลได้ และถ้าเรารู้จักวัยรุ่นที่โดนเยาะเย้ยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องมีผู้สร้าง เราก็อาจจะช่วยพวกเขาให้หาข้อมูลจากจุลสารมีใครสร้างสิ่งมีชีวิตไหม? และจุลสารต้นกำเนิดชีวิต—ห้าคำถามที่น่าคิด
14. ถึงเปาโลจะยุ่งมากในงานประกาศและงานสอน เขาก็ยังทำอะไร?
14 เปาโลกระตุ้นพี่น้องให้แสดงความรักโดยการ “ทำความดี” (ฮบ. 10:24) เปาโลไม่ได้แค่สั่งให้พี่น้องทำแต่เขาลงมือทำเองด้วย ตัวอย่างเช่น ตอนที่พี่น้องในแคว้นยูเดียขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เปาโลก็เป็นคนเอาของไปให้พวกเขา (กจ. 11:27-30) ถึงเปาโลจะยุ่งมากในงานประกาศและงานสอนแต่เขาก็หาวิธีช่วยพี่น้องที่ยากจน (กท. 2:10) การที่เขาทำอย่างนี้ช่วยพี่น้องให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะดูแลพวกเขาแน่ ๆ ในทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราช่วยพี่น้องให้มีความเชื่อมากขึ้นได้ถ้าเราสละเวลา ออกความพยายาม และใช้ความสามารถที่มีเพื่อช่วยพี่น้องที่เจอภัยพิบัติ นอกจากนั้น เราบริจาคเป็นประจำเพื่อช่วยงานทั่วโลกได้ วิธีเหล่านี้และวิธีอื่น ๆ จะช่วยพี่น้องให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะดูแลพวกเขาและไม่มีวันทิ้งพวกเขาเลย
15-16. เราจะช่วยพี่น้องที่มีความเชื่ออ่อนแอลงได้ยังไง?
15 เปาโลไม่เคยหมดหวังในพี่น้องที่มีความเชื่ออ่อนแอลง เปาโลเห็นใจพวกเขาและคุยกับพวกเขาอย่างอบอุ่นและอ่อนโยน (ฮบ. 6:9; 10:39) ตัวอย่างเช่น เราเห็นว่าหนังสือฮีบรูทั้งเล่มใช้คำว่า “เรา” บ่อยมาก นี่แสดงว่าเปาโลคิดว่าเขาเองก็ต้องเอาคำแนะนำเหล่านั้นมาใช้ด้วย (ฮบ. 2:1, 3) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราอยากเลียนแบบเปาโลและไม่หมดหวังในตัวพี่น้องที่ความเชื่ออ่อนแอลง เราจะช่วยพวกเขาต่อ ๆ ไปและเสริมสร้างพวกเขาได้โดยแสดงให้เห็นว่าเราสนใจและรักพวกเขาจริง ๆ เราต้องใช้น้ำเสียงที่อบอุ่นและอ่อนโยนตอนที่คุยกับพวกเขาด้วยเพื่อพวกเขาจะได้กำลังใจ
16 นอกจากนั้น เปาโลยังทำให้พี่น้องมั่นใจว่าพระยะโฮวาเห็นสิ่งดี ๆ ที่พวกเขาทำ (ฮบ. 10:32-34) ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน เราก็เลียนแบบเปาโลได้เวลาพยายามช่วยพี่น้องที่มีความเชื่ออ่อนแอลง เราอาจถามพวกเขาว่ารู้จักความจริงได้ยังไง หรืออาจให้พวกเขาเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมามีตอนไหนบ้างที่พวกเขารู้สึกว่าพระยะโฮวาช่วยพวกเขา นอกจากนั้น ในช่วงที่คุยกันอยู่เราอาจจะช่วยพวกเขาให้มั่นใจว่าพระยะโฮวาไม่ลืมความรักที่พวกเขาแสดงต่อพระองค์ และพระองค์จะไม่มีวันทิ้งพวกเขาไม่ว่าตอนนี้หรืออนาคต (ฮบ. 6:10; 13:5, 6) การคุยกันแบบนี้อาจช่วยพี่น้องเหล่านั้นให้มีความเชื่อมากขึ้นและกลับมารับใช้พระเจ้าอย่างกระตือรือร้นเหมือนเดิม
“คอยให้กำลังใจกัน”
17. เราต้องทำอะไรเพื่อจะเก่งขึ้นในการเสริมสร้างพี่น้อง?
17 เหมือนกับคนที่ทำงานก่อสร้างมานานก็จะยิ่งเก่งขึ้น เราก็เก่งขึ้นในการเสริมสร้างพี่น้องได้ เราจะช่วยพี่น้องให้อดทนกับปัญหาได้โดยเล่าให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในอดีตและปัจจุบันที่เคยเจอปัญหาแล้วอดทนได้ เราจะช่วยให้ประชาคมสงบสุขได้โดยพูดถึงแต่ส่วนดีของพี่น้อง แต่เราจะไม่พูดหรือทำอะไรที่ทำลายความสงบสุขของประชาคม และถ้ามีปัญหาเราก็จะรีบคืนดี นอกจากนั้น เรายังช่วยพี่น้องให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้นได้โดยช่วยพวกเขาให้คิดถึงความจริงในคัมภีร์ไบเบิล และเมื่อเขามีปัญหาเราก็จะรีบลงมือช่วยเหลือ และเราก็จะช่วยคนที่อ่อนแอให้มีความเชื่อมากขึ้นด้วย
18. คุณตั้งใจจะทำอะไร?
18 พี่น้องที่ทำงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ขององค์การมีความสุขมาก เราก็เหมือนกัน ถ้าเราพยายามเสริมสร้างพี่น้องในประชาคม เราก็จะมีความสุขจริง ๆ และไม่เหมือนกับตึกหรืออาคารที่วันหนึ่งอาจโทรมลงและพังลงได้ สิ่งที่เราทำนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ดังนั้น ขอให้เราทุกคน “คอยให้กำลังใจกันและเสริมสร้างกันให้เข้มแข็ง”—1 ธส. 5:11
เพลง 100 ต้อนรับพวกเขาด้วยความเต็มใจ
a ชีวิตในสมัยสุดท้ายนี้ไม่ง่ายเลย พี่น้องหลายคนต้องเจอความกดดันหลายอย่าง เราจะช่วยพวกเขาได้มากขึ้นถ้าเราหาทางให้กำลังใจพวกเขา ให้เรามาดูตัวอย่างของเปาโลด้วยกันในเรื่องนี้
b คำอธิบายภาพ หน้า 24 พ่อให้ลูกดูในเว็บไซต์ขององค์การว่าลูกจะรับมือกับความกดดันที่ให้ฉลองคริสต์มาสได้ยังไง
c คำอธิบายภาพ หน้า 24 สามีภรรยาคู่หนึ่งเดินทางไปภาคอื่นของประเทศเพื่อช่วยพี่น้องที่เจอภัยพิบัติ
d คำอธิบายภาพ หน้า 24 ผู้ดูแลไปเยี่ยมพี่น้องคนหนึ่งที่ความเชื่ออ่อนแอลง เขาเอารูปโรงเรียนไพโอเนียร์ที่เขาสองคนเคยเข้าร่วมด้วยกันให้พี่น้องคนนี้ดู รูปเหล่านี้ทำให้พวกเขาคิดถึงวันเวลาที่มีความสุขมาก พี่น้องชายคนนี้นึกถึงตอนที่เขารับใช้พระยะโฮวาอย่างมีความสุขและเริ่มรู้สึกอยากกลับมารับใช้อีกครั้ง ต่อมาเขาก็กลับมารับใช้ร่วมกับประชาคม