บทความศึกษา 5
“ความรักของพระคริสต์กระตุ้นเราอยู่”
“ความรักของพระคริสต์กระตุ้นเราอยู่ . . . เพื่อคนที่มีชีวิตอยู่จะไม่ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองอีกต่อไป”—2 คร. 5:14, 15
เพลง 13 พระคริสต์เป็นตัวอย่างให้เรา
ใจความสำคัญa
1-2. (ก) เมื่อเราคิดถึงชีวิตของพระเยซูและงานรับใช้ของท่าน เราอาจรู้สึกยังไงบ้าง? (ข) เราจะคุยเรื่องอะไรบ้างในบทความนี้?
เมื่อคนที่เรารักตายจากไป เราคิดถึงเขามากจริง ๆ และยิ่งเป็นช่วงที่เขาเพิ่งตาย พอคิดถึงเขาทีไรเราก็จะรู้สึกเศร้ามากเพราะเราจะเห็นแต่ภาพตอนที่เขาใกล้จะเสียชีวิตโดยเฉพาะตอนที่เขาต้องทุกข์ทรมานก่อนตาย แต่พอเวลาผ่านไป เราก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราจะคิดถึงสิ่งที่เขาสอน คิดถึงสิ่งที่เขาพูดหรือทำเพื่อให้กำลังใจเรา และคิดถึงตอนที่เขาทำให้เรายิ้มได้
2 คล้ายกัน เมื่อเราได้อ่านเกี่ยวกับตอนที่พระเยซูต้องทุกข์ทรมานและเสียชีวิต เราก็รู้สึกเศร้า และโดยเฉพาะในช่วงการประชุมอนุสรณ์เรายิ่งมีโอกาสที่จะใช้เวลาคิดถึงความสำคัญของค่าไถ่ของพระเยซู (1 คร. 11:24, 25) แต่เราก็มีความสุขด้วยที่ได้คิดถึงสิ่งที่ท่านพูดและทำตอนที่ท่านรับใช้อยู่บนโลก นอกจากนั้น เรายังได้กำลังใจเมื่อคิดถึงสิ่งที่พระเยซูทำตอนนี้และสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อเราในอนาคต การคิดถึงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดและคิดถึงความรักที่ท่านมีต่อเราจะทำให้เราอยากแสดงความขอบคุณท่าน นี่คือเรื่องที่เราจะคุยกันในบทความนี้
ความรู้สึกขอบคุณทำให้เราอยากติดตามพระเยซูต่อ ๆ ไป
3. เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับค่าไถ่ของพระเยซู?
3 เรารู้สึกขอบคุณเมื่อเราได้คิดใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูและความตายของท่าน ช่วงที่พระเยซูรับใช้บนโลกท่านสอนทุกคนให้รู้ว่ารัฐบาลของพระเจ้าจะทำให้มนุษย์ได้รับสิ่งดี ๆ อะไรบ้าง เราเห็นค่าจริง ๆ ที่คัมภีร์ไบเบิลทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เราขอบคุณที่พระเยซูให้ค่าไถ่กับเรา เพราะมันทำให้เราสนิทกับพระยะโฮวาและพระเยซูได้ คนที่แสดงความเชื่อในพระเยซูยังมีความหวังที่จะได้อยู่ตลอดไปและมีโอกาสได้เห็นคนที่รักฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง (ยน. 5:28, 29; รม. 6:23) ที่จริง พวกเราไม่ได้ทำอะไรที่สมควรได้รับพรที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ และเราไม่มีทางที่จะตอบแทนสิ่งที่พระยะโฮวากับพระเยซูทำเพื่อเรา (รม. 5:8, 20, 21) แต่เราทุกคนสามารถแสดงความขอบคุณได้ เราจะทำแบบนั้นได้ยังไง?
4. มารีย์มักดาลาทำอะไรบ้างเพื่อขอบคุณสิ่งที่พระเยซูทำเพื่อเธอ? (ดูภาพ)
4 ให้เรามาดูตัวอย่างของผู้หญิงชาวยิวคนหนึ่งที่ชื่อมารีย์มักดาลา ชีวิตของเธอเลวร้ายมาก เธอมีปีศาจสิงถึง 7 ตน มันทำให้เธอทุกข์ทรมานและรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเธอได้ ลองคิดดูสิว่ามารีย์จะรู้สึกขอบคุณขนาดไหนที่พระเยซูช่วยเธอให้เป็นอิสระจากปีศาจเหล่านั้น เธอรู้สึกขอบคุณพระเยซูมากจนมาเป็นสาวกของท่านและทุ่มเทเวลา กำลัง และทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอมีเพื่อสนับสนุนงานรับใช้ของท่าน (ลก. 8:1-3) แม้มารีย์จะรู้สึกขอบคุณพระเยซูมาก แต่เธอก็ยังไม่รู้ว่าท่านกำลังจะทำเพื่อเธอมากกว่านั้นอีก ท่านจะสละชีวิตของท่านเพื่อมนุษย์ “เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในท่านจะมีชีวิตตลอดไป” (ยน. 3:16) ถึงตอนนั้นมารีย์จะไม่รู้เรื่องนี้ แต่เธอก็ยังสำนึกบุญคุณท่านโดยแสดงความภักดีต่อท่าน ตอนที่พระเยซูถูกตรึงอยู่บนเสาทรมานอย่างเจ็บปวด มารีย์ก็ไม่หนีไปไหนและคอยให้กำลังใจพระเยซูรวมทั้งคนอื่น ๆ ที่อยู่ที่นั่น (ยน. 19:25) หลังจากที่พระเยซูตาย มารีย์กับผู้หญิงอีก 2 คนก็ซื้อเครื่องหอมไปที่อุโมงค์ฝังศพของพระเยซู (มก. 16:1, 2) ความภักดีของมารีย์ทำให้เธอได้รับพรที่ยอดเยี่ยม เธอมีความสุขมากที่ได้เจอกับพระเยซูที่ฟื้นขึ้นจากตายและมีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน นี่เป็นสิทธิพิเศษที่สาวกส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสจะได้แบบเธอด้วยซ้ำ—ยน. 20:11-18
5. เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อขอบคุณทุกอย่างที่พระยะโฮวากับพระเยซูทำเพื่อเรา?
5 เราเองก็แสดงว่าเราขอบคุณทุกอย่างที่พระยะโฮวากับพระเยซูทำเพื่อเราได้โดยสละเวลา กำลัง และทรัพย์สินเงินทองเพื่องานของรัฐบาลพระเจ้า เช่น เราอาจอยู่พร้อมที่จะช่วยงานก่อสร้างหอประชุมหรือช่วยดูแลรักษาหอประชุมของเราให้ดีอยู่เสมอ
ความรักต่อพระยะโฮวาและพระเยซูกระตุ้นเราให้รักคนอื่น
6. ทำไมเราถึงบอกได้ว่าค่าไถ่เป็นของขวัญที่พระเจ้าให้เราแต่ละคน?
6 เมื่อเราคิดว่าพระยะโฮวากับพระเยซูรักเราขนาดไหน มันก็ทำให้เราอยากรักพระองค์ทั้งสองมาก ๆ (1 ยน. 4:10, 19) ยิ่งเราได้รู้ว่าพระเยซูตายเพื่อเราแต่ละคน เราก็ยิ่งรักพระยะโฮวากับพระเยซูมากขึ้น เปาโลเองก็รู้เรื่องนี้และเขาก็เห็นค่ามาก เขาเขียนจดหมายถึงพี่น้องในเมืองกาลาเทียว่า “ท่านซึ่งเป็นลูกของพระเจ้ารักผมและสละชีวิตเพื่อผม” (กท. 2:20) เพราะพระเยซูตายเป็นค่าไถ่ พระยะโฮวาเลยชักนำคุณให้มาหาพระองค์เพื่อที่คุณจะได้มาเป็นเพื่อนกับพระองค์ (ยน. 6:44) คุณรู้สึกอบอุ่นและประทับใจมากใช่ไหมที่รู้ว่าพระยะโฮวาเห็นสิ่งดีในตัวคุณและพระองค์ยอมจ่ายในราคาที่แพงมากเพื่อที่คุณจะได้มาเป็นเพื่อนกับพระองค์? การคิดถึงเรื่องนี้ทำให้คุณรักพระยะโฮวากับพระเยซูมากขึ้นไหม? ลองถามตัวเองว่า ‘ความรักของพระองค์ทั้งสองกระตุ้นฉันให้ทำอะไร?’
7. อย่างที่เห็นในภาพ เราทุกคนจะแสดงยังไงว่าเรารักพระยะโฮวากับพระเยซู? (2 โครินธ์ 5:14, 15; 6:1, 2)
7 ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาและพระเยซูกระตุ้นเราให้แสดงความรักต่อคนอื่น (อ่าน 2 โครินธ์ 5:14, 15; 6:1, 2) วิธีหนึ่งที่เราจะแสดงว่ารักคนอื่นก็คือการเข้าร่วมในงานประกาศอย่างขยันขันแข็ง เราคุยกับทุกคนที่เราเจอ เราไม่มีอคติกับใครเพราะเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ฐานะทางการเงิน หรือฐานะทางสังคม นี่ก็เลยทำให้เราทำงานรับใช้อย่างที่พระยะโฮวาต้องการคือ พระองค์อยาก “ให้คนทุกชนิดรอดและได้รับความรู้ที่ถูกต้องเรื่องความจริง”—1 ทธ. 2:4
8. เราจะแสดงยังไงว่าเรารักพี่น้อง?
8 นอกจากนั้น เราจะแสดงว่ารักพระยะโฮวากับพระเยซูโดยแสดงความรักต่อพี่น้องของเรา (1 ยน. 4:21) ตอนที่พี่น้องเจอปัญหาและความยากลำบาก เราก็จะสนใจพวกเขาและคอยช่วยเหลือพวกเขา เราจะคอยปลอบใจตอนที่พี่น้องสูญเสียคนที่รัก เราจะไปเยี่ยมตอนที่พวกเขาป่วย และเราจะให้กำลังใจตอนที่พวกเขาท้อ (2 คร. 1:3-7; 1 ธส. 5:11, 14) เราจะอธิษฐานเผื่อพี่น้องเสมอ เพราะเรารู้ว่า “คำอ้อนวอนของคนที่พระเจ้ายอมรับมีพลังและได้ผลดี”—ยก. 5:16
9. อีกวิธีหนึ่งที่เราจะแสดงว่ารักพี่น้องคืออะไร?
9 นอกจากนั้น เรายังแสดงว่ารักพี่น้องโดยพยายามเต็มที่ที่จะมีสันติสุขกับพวกเขา เราจะพยายามเลียนแบบพระยะโฮวาในเรื่องการให้อภัย ถ้าพระยะโฮวาให้ลูกชายของพระองค์มาตายเพื่อลบล้างบาปของเรา เราก็ควรเต็มใจให้อภัยพี่น้องตอนที่พวกเขาทำผิดต่อเรา เราไม่อยากเป็นเหมือนทาสที่พูดถึงในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูที่แม้ว่านายของเขาจะยกหนี้ก้อนใหญ่ให้เขาแล้ว แต่เขากลับไม่ยอมยกหนี้ให้กับเพื่อนอีกคนหนึ่งทั้ง ๆ ที่เพื่อนทาสคนนั้นเป็นหนี้เขาแค่นิดเดียว (มธ. 18:23-35) ถ้ามีเรื่องเข้าใจผิดกับพี่น้อง คุณจะเข้าไปคืนดีกับเขา ก่อนที่จะประชุมอนุสรณ์ได้ไหม? (มธ. 5:23, 24) การทำแบบนี้จะแสดงให้เห็นว่าคุณรักพระยะโฮวากับพระเยซูมากจริง ๆ
10-11. ผู้ดูแลจะทำอะไรบ้างที่แสดงว่าพวกเขารักพระยะโฮวากับพระเยซู? (1 เปโตร 5:1, 2)
10 แล้วผู้ดูแลจะแสดงยังไงว่าเขารักพระยะโฮวากับพระเยซู? วิธีสำคัญวิธีหนึ่งก็คือการดูแลฝูงแกะของพระเยซู (อ่าน 1 เปโตร 5:1, 2) พระเยซูพูดเรื่องนี้ชัดเจนตอนที่ท่านพูดกับอัครสาวกเปโตร หลังจากที่เปโตรปฏิเสธพระเยซูไปแล้วถึง 3 ครั้ง เขาคงอยากจะพิสูจน์ให้พระเยซูเห็นว่าเขารักท่านมากขนาดไหน พอพระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย ท่านก็ถามเปโตรว่า “ซีโมนลูกยอห์น คุณรักผมไหม?” เรามั่นใจว่าเปโตรคงจะทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าเขารักนายของเขา แล้วพระเยซูก็บอกเปโตรว่า “ให้คุณดูแลแกะตัวเล็ก ๆ ของผม” (ยน. 21:15-17) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเปโตรใช้ชีวิตที่เหลือของเขาเพื่อดูแลฝูงแกะของพระเยซูเพื่อพิสูจน์ว่าเขารักท่าน
11 พวกคุณที่เป็นผู้ดูแล คุณจะแสดงยังไงว่าคำพูดของพระเยซูที่พูดกับเปโตรเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคุณ? ในช่วงก่อนและหลังการประชุมอนุสรณ์ คุณจะแสดงว่ารักพระยะโฮวากับพระเยซูได้โดยบำรุงเลี้ยงพี่น้องเป็นประจำ และพยายามเป็นพิเศษที่จะช่วยคนที่เลิกการประกาศให้กลับมาหาพระยะโฮวา (อสค. 34:11, 12) นอกจากนั้น คุณควรแสดงความสนใจนักศึกษาพระคัมภีร์รวมทั้งคนใหม่ ๆ ที่มาประชุมอนุสรณ์ด้วย ให้คุณทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อพวกเขาจะรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เพราะในวันข้างหน้าเขาอาจจะเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูก็ได้
ความรักที่มีต่อพระเยซูกระตุ้นให้เราเป็นคนกล้าหาญ
12. ทำไมการคิดถึงคำพูดของพระเยซูในคืนที่ท่านตายถึงทำให้เรามีความกล้า? (ยอห์น 16:32, 33)
12 ในคืนสุดท้ายที่พระเยซูมีชีวิตอยู่ ท่านบอกกับสาวกว่า “ในโลกนี้พวกคุณจะมีความยากลำบาก แต่ขอให้กล้าหาญไว้ ผมชนะโลกแล้ว” (อ่านยอห์น 16:32, 33) อะไรช่วยพระเยซูเผชิญหน้ากับศัตรูอย่างกล้าหาญและซื่อสัตย์จนเสียชีวิต? ท่านพึ่งพระยะโฮวา และพระเยซูก็รู้ว่าสาวกของท่านจะเจอปัญหาคล้ายกับที่ท่านเจอ ท่านก็เลยอธิษฐานขอพระยะโฮวาให้ดูแลสาวกของท่าน (ยน. 17:11) ทำไมการรู้เรื่องนี้ทำให้เรามีความกล้า? เพราะเรารู้ว่าพระยะโฮวาแข็งแกร่งกว่าศัตรูของเราทั้งหมด และไม่มีอะไรหลุดรอดสายตาของพระองค์ไปได้ (1 ยน. 4:4) เรามั่นใจว่าถ้าเราพึ่งพระยะโฮวา เราจะเอาชนะความกลัวและมีความกล้าหาญได้แน่นอน
13. โยเซฟจากเมืองอาริมาเธียแสดงความกล้าหาญยังไง?
13 ให้เรามาดูตัวอย่างของโยเซฟจากเมืองอาริมาเธีย เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงในชุมชนของชาวยิวเพราะเขาเป็นสมาชิกของศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิว แต่โยเซฟไม่ค่อยมีความกล้าเท่าไหร่ ยอห์นบอกว่า “โยเซฟคนนี้เป็นสาวกคนหนึ่งของพระเยซูที่ไม่เปิดเผยตัวเพราะกลัวพวกยิว” (ยน. 19:38) แม้โยเซฟจะสนใจข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า แต่เขาก็ไม่อยากให้ใครรู้ว่าเขามีความเชื่อในพระเยซู อาจเป็นไปได้ว่าเขากลัวว่าจะสูญเสียตำแหน่งและความนับหน้าถือตา แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าหลังจากที่พระเยซูตาย โยเซฟก็ “รวบรวมความกล้าและไปขอศพพระเยซูจากปีลาต” (มก. 15:42, 43) โยเซฟไม่ต้องปิดซ่อนเรื่องการเป็นสาวกของพระเยซูอีกแล้ว
14. ถ้าคุณกลัวคน คุณควรจะทำอะไร?
14 คุณเคยกลัวคนเหมือนที่โยเซฟกลัวไหม? บางครั้งตอนอยู่ที่โรงเรียนหรืออยู่ที่ทำงาน คุณรู้สึกอายที่จะบอกว่าคุณเป็นพยานพระยะโฮวาไหม? คุณไม่ยอมเป็นผู้ประกาศหรือไม่ยอมรับบัพติศมาสักทีเพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่ชอบไหม? อย่ายอมให้ความกลัวแบบนี้มาทำให้คุณไม่ได้ทำสิ่งที่คุณรู้ว่าถูกต้อง ให้อธิษฐานถึงพระยะโฮวาอย่างจริงจัง ขอพระองค์ช่วยคุณให้มีความกล้าที่จะทำตามความต้องการของพระองค์ และเมื่อคุณเห็นว่าพระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของคุณ คุณก็จะเข้มแข็งขึ้นและกล้าหาญมากขึ้น—อสย. 41:10, 13
ความสุขทำให้เรารับใช้พระยะโฮวาทุก ๆ วัน
15. สาวกของพระเยซูมีความสุขมากที่ได้เจอกับพระเยซูหลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตายแล้ว และความสุขนี้ส่งผลยังไงกับพวกเขา? (ลูกา 24:52, 53)
15 สาวกของพระเยซูเสียใจมากตอนที่ท่านตาย สมมุติว่าคุณเป็นหนึ่งในสาวกเหล่านั้นและอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่พระเยซูตาย คุณจะรู้สึกยังไง? พวกเขาไม่ได้แค่เสียเพื่อนที่รักไป แต่พวกเขารู้สึกว่าไม่เหลือความหวังอะไรแล้ว (ลก. 24:17-21) แต่พอพระเยซูฟื้นขึ้นจากตายและมาปรากฏกับพวกเขา ท่านช่วยพวกเขาให้เข้าใจว่าท่านทำให้คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นจริงยังไง และพระเยซูก็ยังให้งานสำคัญกับพวกเขาด้วย (ลก. 24:26, 27, 45-48) แล้วพอถึงเวลาที่พระเยซูจะต้องกลับไปสวรรค์หลังจากที่ท่านฟื้นขึ้นจากตายมาได้ 40 วัน ตอนนั้นความเศร้าเสียใจของสาวกก็เปลี่ยนไปเป็นความสุขเพราะพวกเขารู้ว่านายของพวกเขายังมีชีวิตอยู่และพร้อมจะช่วยพวกเขาทำงานมอบหมายให้สำเร็จ นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข และความสุขนี้ทำให้พวกเขาสรรเสริญพระยะโฮวาทุก ๆ วัน—อ่านลูกา 24:52, 53; กจ. 5:42
16. เราจะเลียนแบบสาวกของพระเยซูได้ยังไง?
16 เราจะเลียนแบบสาวกของพระเยซูได้ยังไง? เรามีความสุขที่ได้นมัสการพระยะโฮวาไม่ใช่แค่ช่วงการประชุมอนุสรณ์เท่านั้นแต่เรามีความสุขที่ได้นมัสการพระองค์ตลอดทั้งปี เพื่อเราจะมีความสุขอย่างนั้นได้เราต้องให้รัฐบาลของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต พี่น้องหลายคนปรับตารางงานอาชีพเพื่อจะทำงานรับใช้ เข้าร่วมการประชุม และนมัสการประจำครอบครัวสม่ำเสมอ ส่วนบางคนก็ยอมสละโอกาสที่จะมีทรัพย์สมบัติเงินทองที่คนอื่นมองว่าเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยพี่น้องในประชาคมมากขึ้นหรือย้ายไปในที่ที่ต้องการผู้ประกาศมากกว่า แม้เราต้องอดทนกับความยากลำบากเพื่อจะรับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไป แต่พระยะโฮวาก็สัญญาว่าจะอวยพรเราถ้าเราให้การปกครองของพระองค์สำคัญที่สุดในชีวิต—สภษ. 10:22; มธ. 6:32, 33
17. คุณตั้งใจจะทำอะไรในช่วงการประชุมอนุสรณ์นี้? (ดูภาพ)
17 เรารอคอยการประชุมอนุสรณ์ในวันอังคารที่ 4 เมษายน แต่ตั้งแต่ตอนนี้เราก็สามารถคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูและความตายของท่าน รวมถึงความรักที่พระยะโฮวากับพระเยซูมีต่อเราได้ ในช่วงสัปดาห์ก่อนและหลังการประชุมอนุสรณ์ให้เราคิดถึงเรื่องเหล่านั้นเป็นพิเศษ เช่น ให้เราจัดเวลาอ่านคัมภีร์ไบเบิลและคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อยู่ในตาราง “เหตุการณ์ในสัปดาห์ที่พระเยซูตาย” ในภาคผนวก ข 12 ของคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ตอนที่คุณอ่านเรื่องราวเหล่านั้นให้คุณสนใจจุดที่ทำให้คุณรู้สึกขอบคุณและเห็นค่าพระยะโฮวากับพระเยซู และอยากแสดงความรัก ความกล้าหาญมากขึ้น และทำให้คุณมีความสุขเพิ่มขึ้น ให้คิดว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเห็นค่าและรู้สึกขอบคุณจากหัวใจ คุณสามารถมั่นใจได้ว่าพระเยซูจะเห็นค่าทุกอย่างที่คุณทำเพื่อคิดถึงท่านในช่วงการประชุมอนุสรณ์—วว. 2:19
เพลง 17 “ผมอยากช่วย”
a ในช่วงการประชุมอนุสรณ์ เราควรคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูและความตายของท่าน รวมถึงคิดถึงความรักที่พระเยซูกับพระยะโฮวามีให้เรา ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงว่าเราเห็นค่าค่าไถ่ของพระเยซูและแสดงว่าเรารักพระยะโฮวากับพระเยซู และเราจะมาดูด้วยว่าเราจะแสดงความรักต่อพี่น้อง แสดงความกล้าหาญ และมีความสุขในงานรับใช้ได้ยังไง