บทความศึกษา 14
เพลง 56 เลือกเองว่าจะเดินในทางของความจริง
“พยายามก้าวหน้าไปเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่”
“ให้เราพยายามก้าวหน้าไปเพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่”—ฮบ. 6:1
จุดสำคัญ
คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่จะตัดสินใจอย่างฉลาด เขาคิดและทำในสิ่งที่พระเจ้าพอใจเสมอ เรียนว่าเราจะเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ได้ยังไง
1. พระยะโฮวาอยากให้เราทำอะไร?
สิ่งหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ดีใจที่สุดก็คือตอนที่ลูกน้อยของพวกเขาเกิดมา ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะรักลูกที่เป็นทารก แต่พวกเขาก็ไม่ได้อยากให้ลูกเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ไปตลอด ที่จริง พวกเขาจะกังวลมากถ้าลูกไม่โตสักที เหมือนกันพระยะโฮวาก็มีความสุขที่ได้เห็นเราเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู แต่พระองค์ไม่ได้อยากให้เราหยุดอยู่แค่นั้นและเป็นเหมือนกับทารกทางด้านความเชื่อ (1 คร. 3:1) พระองค์อยากให้เราก้าวหน้าเป็นคริสเตียน “ที่เป็นผู้ใหญ่”—1 คร. 14:20
2. เราจะคุยอะไรบ้างในบทความนี้?
2 การเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่หมายถึงอะไร? เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่? การมีความรู้ที่ลึกซึ้งในพระคัมภีร์ซึ่งเป็นเหมือนอาหารแข็งจะช่วยให้เราก้าวหน้าได้ยังไง? และทำไมเราต้องระวังที่จะไม่เป็นคนมั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป? เราจะมาดูคำตอบด้วยกันในบทความนี้
การเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่หมายถึงอะไร?
3. การเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่หมายถึงอะไร?
3 ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษากรีกที่แปลว่า “ผู้ใหญ่” อาจหมายถึง “โตเต็มที่”a (1 คร. 2:6) ดังนั้น เหมือนกับเด็กทารกที่ค่อย ๆ เติบโตจนกลายเป็นผู้ใหญ่ เราเองก็ต้องเติบโตทางด้านความเชื่อซึ่งหมายถึงเราต้องสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น นี่แหละคือการเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ และถึงแม้เราจะทำตามเป้าหมายนั้นได้แล้ว เราก็ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น (1 ทธ. 4:15) เราทุกคนสามารถเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ได้แม้จะอายุน้อย แต่อะไรจะแสดงว่าเราได้ก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว?
4. คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่เป็นแบบไหน?
4 คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่จะทำทุกอย่างที่พระยะโฮวาอยากให้ทำ เขาจะไม่ใช้ชีวิตตามใจตัวเอง ก็จริงที่เขายังเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบและยังทำผิดพลาดอยู่ แต่เขาจะแสดงให้เห็นทุกวันว่าเขาคิดและทำสิ่งที่พระยะโฮวาพอใจเสมอ เขาจะปลูกฝังลักษณะนิสัยใหม่และพยายามคิดแบบพระองค์มากขึ้นเรื่อย ๆ (อฟ. 4:22-24) เขาได้ฝึกตัวเองให้ตัดสินใจอย่างฉลาดโดยอาศัยกฎหมายและหลักการของพระยะโฮวา เขาก็เลยไม่ต้องมีกฎที่ยาวเหยียดเพื่อจะบอกว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร และเมื่อเขาตัดสินใจแล้ว เขาจะพยายามเต็มที่ที่จะทำตามนั้นให้ได้—1 คร. 9:26, 27
5. คริสเตียนที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เป็นแบบไหน? (เอเฟซัส 4:14, 15)
5 ในทางกลับกัน คริสเตียนที่ยังไม่มีความเป็นผู้ใหญ่จะหลงไปกับ “อุบายล่อลวง” และเชื่อข่าวปลอม เรื่องโกหก ข่าวลือในสื่อต่าง ๆ หรือเขาอาจถูกคนที่ทรยศพระเจ้าหลอกb (อ่านเอเฟซัส 4:14, 15) เขาอาจเป็นคนที่ขี้อิจฉา ชอบทะเลาะ โกรธง่าย และยอมแพ้การล่อใจได้ง่าย—1 คร. 3:3
6. ทำไมถึงเปรียบการก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่เหมือนกับเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่? (ดูภาพด้วย)
6 อย่างที่พูดไปแล้วก่อนหน้านี้ คัมภีร์ไบเบิลเปรียบเทียบการก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่เหมือนกับเด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่ ปกติแล้วเด็กจะไม่มีประสบการณ์ เขาเลยต้องให้ผู้ใหญ่คอยปกป้องดูแล ให้เรามาดูตัวอย่างเปรียบเทียบหนึ่งด้วยกัน ลองนึกภาพแม่กับลูกสาวที่กำลังจะเดินข้ามถนน ตอนที่ลูกยังเด็ก แม่จะบอกให้ลูกจับมือแม่ไว้ตอนข้ามถนน แต่พอลูกโตขึ้น แม่อาจจะปล่อยให้ลูกข้ามถนนเองแต่จะกำชับลูกว่าก่อนข้ามถนนให้มองซ้ายมองขวาก่อน แล้วเมื่อลูกสาวของเธอโตเป็นผู้ใหญ่ ลูกก็จะรู้ว่าจะข้ามถนนยังไงให้ปลอดภัยทุกครั้ง เหมือนกับเด็กที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เพื่อจะหลีกเลี่ยงอันตราย คริสเตียนที่ยังไม่มีความเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องให้คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่คอยช่วยเพื่อที่เขาจะไม่ทำสิ่งที่ทำลายสายสัมพันธ์ของเขากับพระยะโฮวาและสามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาด แต่นี่ตรงข้ามกับคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ คนที่มีความเป็นผู้ใหญ่จะสามารถตัดสินใจเองได้โดยหาเหตุผลจากหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อจะรู้ว่าพระยะโฮวาคิดยังไงในเรื่องต่าง ๆ และทำตามนั้น
7. คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นไหม?
7 นี่หมายความว่าคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นไหม? ไม่ บางครั้งคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องขอให้คนอื่นช่วยเหมือนกัน คนที่ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่อาจจะอยากให้คนอื่นบอกว่าเขาต้องทำอะไรหรือให้คนอื่นตัดสินใจแทนเขา แต่ตรงกันข้ามกับคนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ แม้เขาจะขอความช่วยเหลือหรือถามคนที่มีสติปัญญาหรือประสบการณ์มากกว่า แต่เขารู้ว่าเขาต้องตัดสินใจเองและรู้ว่าพระยะโฮวาคาดหมายให้เขา “แบกความรับผิดชอบของตัวเอง”—กท. 6:5
8. คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่แต่ละคนมีอะไรที่ต่างกัน?
8 ปกติแล้วผู้ใหญ่แต่ละคนมีรูปร่างหน้าตาที่ต่างกัน คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ก็มีคุณลักษณะแต่ละอย่างมากน้อยไม่เท่ากัน เช่น สติปัญญา ความกล้าหาญ ความมีน้ำใจ หรือความเห็นอกเห็นใจ นอกจากนั้น เมื่อคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ 2 คนเจอสถานการณ์คล้าย ๆ กัน พวกเขาจะใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลตัดสินใจ แต่อาจจะตัดสินใจไม่เหมือนกันก็ได้โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เมื่อเป็นอย่างนั้น พวกเขาจะไม่ตำหนิอีกฝ่ายที่ตัดสินใจไม่เหมือนกับเขา แต่จะให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นหนึ่งเดียว—รม. 14:10; 1 คร. 1:10
เราจะก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ได้ยังไง?
9. เราจะก้าวหน้าเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่โดยอัตโนมัติได้ไหม? ขออธิบาย
9 เมื่อเวลาผ่านไป เราทุกคนก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ตามธรรมชาติ แต่การเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น พี่น้องในเมืองโครินธ์ตอบรับข่าวดี รับบัพติศมา ได้รับพลังบริสุทธิ์ และได้รับประโยชน์จากคำแนะนำดี ๆ หลายอย่างจากอัครสาวกเปาโล (กจ. 18:8-11) แต่พวกเขาหลายคนก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อถึงแม้พวกเขาจะรับบัพติศมามาระยะหนึ่งแล้ว (1 คร. 3:2) เราจะไม่เป็นเหมือนพวกเขาได้ยังไง?
10. เราต้องทำอะไรเพื่อจะเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่? (ยูดา 20)
10 เพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อได้ เราต้องมีความต้องการที่จะทำอย่างนั้นก่อน คน “ขาดประสบการณ์” ที่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่จะไม่มีทางเป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่ได้เลย (สภษ. 1:22) เราไม่อยากเป็นคนที่โตแต่ตัวที่คอยให้พ่อแม่ตัดสินใจแทนตลอด แต่เราอยากจะสร้างความเชื่อของเราให้เข้มแข็งด้วยตัวเอง (อ่านยูดา 20) ถ้าคุณกำลังพยายามเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ ให้อธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยคุณให้ “มีทั้งความต้องการและกำลังเพื่อจะทำสิ่งที่พระองค์พอใจ”—ฟป. 2:13
11. พระยะโฮวาจัดเตรียมอะไรบ้างเพื่อช่วยให้เราก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่? (เอเฟซัส 4:11-13)
11 พระยะโฮวาไม่ได้คาดหมายให้เราพยายามเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ด้วยตัวเราเอง แต่พระองค์ให้มีผู้ดูแลที่เป็นเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงและครูสอนในประชาคมเพื่อช่วยเราทุกคนให้ “เติบโตอย่างเต็มที่จนเป็นผู้ใหญ่เหมือนพระคริสต์” (อ่านเอเฟซัส 4:11-13) พระยะโฮวายังให้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยเราให้มี “จิตใจอย่างพระคริสต์” (1 คร. 2:14-16) นอกจากนั้น พระองค์ยังดลใจให้มีการเขียนหนังสือข่าวดี 4 เล่มเพื่อช่วยเราให้รู้ว่าพระเยซูคิด พูด และทำอะไรตอนที่ท่านทำงานรับใช้อยู่บนโลก ถ้าคุณเลียนแบบสิ่งที่พระเยซูคิดและทำ คุณก็จะเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ได้
ความรู้ลึกซึ้งที่เป็นเหมือนอาหารแข็ง
12. “หลักคำสอนเบื้องต้นเกี่ยวกับพระคริสต์” คืออะไร?
12 เพื่อจะก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ เราต้อง “ผ่านหลักคำสอนเบื้องต้นเกี่ยวกับพระคริสต์มาแล้ว” ซึ่งก็คือคำสอนพื้นฐานของคริสเตียน เช่น การกลับใจ ความเชื่อ การรับบัพติศมา และการฟื้นขึ้นจากตาย (ฮบ. 6:1, 2) คำสอนเหล่านี้เป็นคำสอนพื้นฐานที่คริสเตียนทุกคนต้องเชื่อ นี่เลยเป็นเหตุผลที่อัครสาวกเปโตรพูดถึงคำสอนเหล่านี้ตอนที่เขาประกาศกับผู้คนในวันเพ็นเทคอสต์ (กจ. 2:32-35, 38) เราต้องยอมรับคำสอนพื้นฐานเพื่อจะเป็นสาวกของพระเยซูได้ เปาโลก็เน้นเรื่องนี้ เช่น เปาโลเตือนว่าถ้าใครไม่เชื่อคำสอนเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย เขาก็ไม่ใช่คริสเตียนแท้ (1 คร. 15:12-14) แต่เราต้องไม่พอใจแค่รู้คำสอนพื้นฐานเท่านั้น
13. เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้ประโยชน์จากอาหารแข็งที่พูดถึงในฮีบรู 5:14? (ดูภาพด้วย)
13 ความรู้ที่ลึกซึ้งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นเหมือนอาหารแข็งต่างกันกับคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิล อาหารแข็งไม่ได้มีแค่กฎหมายของพระยะโฮวาเท่านั้นแต่รวมถึงหลักการของพระองค์ด้วยซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจความคิดของพระยะโฮวา เพื่อที่เราจะได้ประโยชน์จากความรู้ที่ลึกซึ้งเหล่านี้ เราต้องอ่าน ค้นคว้า คิดใคร่ครวญ และเอาคำแนะนำต่าง ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ในชีวิต ถ้าเราทำแบบนี้เราก็กำลังฝึกตัวเองให้ตัดสินใจในแบบที่ทำให้พระยะโฮวาพอใจc—อ่านฮีบรู 5:14
14. เปาโลช่วยคริสเตียนในเมืองโครินธ์ก้าวหน้าจนเป็นผู้ใหญ่ได้ยังไง?
14 เมื่อคริสเตียนที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่มีกฎบอกชัดในคัมภีร์ไบเบิล พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจยังไง พวกเขาอาจเลือกทำตามใจตัวเองหรืออาจต้องการให้มีใครมาตั้งกฎ ตัวอย่างเช่น คริสเตียนในเมืองโครินธ์อาจเป็นแบบนั้น ดูเหมือนว่าพวกเขาขอให้เปาโลตั้งกฎเรื่องการกินอาหารที่ถวายรูปเคารพ แต่แทนที่เปาโลจะทำอย่างนั้น เขาหาเหตุผลจากหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาใช้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและใช้ “สิทธิ์” เลือกเองว่าจะกินหรือไม่กิน ซึ่งนี่จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้โดยไม่รู้สึกผิดและไม่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ (1 คร. 8:4, 7-9) สิ่งที่เปาโลทำเป็นการสอนคริสเตียนในเมืองโครินธ์ให้ฝึกใช้ความคิดโดยค้นคว้าในคัมภีร์ไบเบิล เพื่อจะตัดสินใจได้เองโดยไม่ต้องคอยถามคนอื่นหรือให้ใครมาตั้งกฎ
15. เปาโลช่วยคริสเตียนชาวฮีบรูยังไงให้ก้าวหน้าจนเป็นผู้ใหญ่?
15 จดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูก็มีบทเรียนดี ๆ สำหรับเราด้วย คริสเตียนชาวฮีบรูมีความเชื่อไม่เข้มแข็ง พวกเขาเลย “กลับไปเป็นเหมือนคนที่ต้องกินน้ำนม ไม่ใช่อาหารแข็ง [ที่เสริมความเชื่อ]” (ฮบ. 5:12) พวกเขาไม่ได้เรียนรู้และยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่พระยะโฮวาสอน (สภษ. 4:18) เช่น คริสเตียนชาวฮีบรูหลายคนยังคงสนับสนุนกฎหมายของโมเสสทั้ง ๆ ที่กฎหมายนี้ถูกยกเลิกมา 30 ปีแล้วหลังจากที่พระเยซูมาสละชีวิตเป็นค่าไถ่ (รม. 10:4; ทต. 1:10) ที่จริง คริสเตียนเหล่านี้มีเวลาตั้ง 30 ปีเพื่อจะปรับความคิด เปาโลเลยเขียนจดหมายถึงพวกเขา จดหมายนั้นมีความรู้ที่ลึกซึ้งที่ช่วยให้พวกเขายอมรับการนมัสการพระยะโฮวารูปแบบใหม่ที่ดีกว่าซึ่งเป็นการจัดเตรียมผ่านทางพระเยซู และยังช่วยพวกเขาให้กล้าประกาศต่อ ๆ ไปแม้จะเจอชาวยิวต่อต้าน—ฮบ. 10:19-23
ระวังที่จะไม่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป
16. เมื่อเราก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว เราต้องทำอะไรอีก?
16 พอเราก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็ต้องพยายามที่จะเป็นแบบนั้นต่อ ๆ ไปด้วย ดังนั้น เราต้องไม่มั่นใจในตัวเองมากเกินไป (1 คร. 10:12) และต้อง “คอยตรวจสอบ” ตัวเองว่าเรากำลังก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ไหม—2 คร. 13:5
17. จดหมายของเปาโลที่เขียนถึงพี่น้องในเมืองโคโลสีแสดงให้เห็นยังไงว่าพวกเขาต้องเป็นผู้ใหญ่ทางความเชื่อเสมอ?
17 ในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองโคโลสี เขาเน้นอีกครั้งว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่เสมอ แม้พี่น้องในโคโลสีจะเป็นผู้ใหญ่ด้านความเชื่ออยู่แล้ว แต่เปาโลเตือนพวกเขาให้ระวังและอย่าถูกล่อลวงโดยแนวคิดต่าง ๆ ของโลก (คส. 2:6-10) และเปาโลก็บอกว่าเอปาฟรัสซึ่งรู้จักพี่น้องที่โคโลสีดีก็อธิษฐานเผื่อพวกเขาเสมอ เพื่อที่พวกเขาจะ “โตเป็นผู้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ได้” (คส. 4:12) เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? ทั้งเปาโลและเอปาฟรัสรู้ดีว่าการพยายามเป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่อยู่เสมอต้องใช้ความพยายามมากและต้องขอพระยะโฮวาช่วย เปาโลกับเอปาฟรัสอยากให้พี่น้องในโคโลสีเป็นแบบนั้นเสมอไม่ว่าจะเจอความยากลำบากอะไรก็ตาม
18. อาจเกิดอะไรขึ้นได้กับคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่? (ดูภาพด้วย)
18 เปาโลเตือนพี่น้องชาวฮีบรูว่า แม้แต่คริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว พระยะโฮวาก็อาจปฏิเสธเขาตลอดไปได้ คริสเตียนบางคนอาจดื้อด้านจนไม่คิดจะกลับใจและทำให้พระยะโฮวาไม่ให้อภัยเขา แต่น่าดีใจที่คริสเตียนชาวฮีบรูไม่ได้เป็นแบบนั้น (ฮบ. 6:4-9) แล้วในทุกวันนี้ล่ะ? ถ้ามีบางคนเลิกประกาศหรือถูกตัดสัมพันธ์แต่ตอนหลังกลับใจ พวกเขาจะเป็นยังไง? ถ้าพวกเขาถ่อมตัวและกลับใจจริง ๆ พวกเขาก็ไม่ได้เป็นคนแบบที่เปาโลพูดถึง ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็ยังต้องได้รับความช่วยเหลือ (อสค. 34:15, 16) ผู้ดูแลอาจขอให้พี่น้องที่มีความเป็นผู้ใหญ่ช่วยคนเหล่านี้ให้มีความเชื่อเข้มแข็งและสนิทกับพระยะโฮวาอีกครั้ง
19. เราควรมีเป้าหมายอะไร?
19 ถ้าคุณกำลังพยายามก้าวหน้าเพื่อจะเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่ ขอให้มั่นใจว่าคุณทำได้แน่นอน ให้รับอาหารแข็งหรือความรู้ที่เสริมความเชื่อต่อ ๆ ไป และพยายามเต็มที่ที่จะคิดเหมือนพระยะโฮวาให้มากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อคุณเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ให้พยายามเป็นแบบนั้นต่อ ๆ ไป
คุณจะตอบอย่างไร?
การเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่หมายถึงอะไร?
เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะก้าวหน้าจนเป็นคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่?
ทำไมเราต้องระวังที่จะไม่มั่นใจในตัวเองมากจนเกินไป?
เพลง 65 ก้าวหน้าไป!
a ถึงแม้พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่มีคำภาษาเดิมที่แปลว่า “ผู้ใหญ่” หรือ “ไม่เป็นผู้ใหญ่” แต่ก็มีแนวคิดนี้อยู่ด้วย เช่น ในหนังสือสุภาษิตมีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคนที่อายุน้อยและขาดประสบการณ์กับคนฉลาดและมีความเข้าใจ—สภษ. 1:4, 5
b ดูบทความ “คุณจะไม่หลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ ได้ยังไง?” ใน “เรื่องอื่น ๆ” ซึ่งอยู่ในส่วนบทความชุดในเว็บไซต์ jw.org และในแอป JW Library®
c ดูบทความ “โปรเจ็คศึกษาส่วนตัว” ในฉบับนี้
d คำอธิบายภาพ พี่น้องชายเอาหลักการที่ได้เรียนในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ตอนที่เลือกดูหนัง