บทความศึกษา 10
เพลง 31 เดินกับพระเจ้า
เรียนรู้ที่จะคิดเหมือน พระยะโฮวาและพระเยซู
“ในเมื่อพระคริสต์ทนทุกข์มาแล้วตอนที่เป็นมนุษย์ ก็ให้พวกคุณเตรียมตัวให้พร้อมและให้คิดอย่างเดียวกับท่าน”—1 ปต. 4:1
จุดสำคัญ
ดูว่าเปโตรทำยังไงเพื่อจะคิดเหมือนพระเยซูและเราจะทำเหมือนเขาได้ยังไง
1-2. การรักพระยะโฮวาหมายถึงอะไร? และพระเยซูแสดงให้เห็นเรื่องนี้ยังไง?
พระเยซูบอกว่า “ให้รักพระยะโฮวาพระเจ้าของคุณสุดหัวใจ สุดชีวิต สุดกำลัง และสุดความคิด” (ลก. 10:27) พระเยซูบอกว่านี่เป็นกฎหมายข้อสำคัญที่สุดในกฎหมายของโมเสส ขอสังเกตว่าความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาเกี่ยวข้องกับหัวใจ หัวใจเกี่ยวข้องกับความต้องการ ความรู้สึก และอารมณ์ของคนเรา และการรักพระยะโฮวาก็เกี่ยวข้องกับการให้พระองค์สุดชีวิตและสุดกำลังของเราด้วย แต่ไม่ใช่แค่นั้น การรักพระยะโฮวายังเกี่ยวข้องกับความคิดของเรา ซึ่งรวมถึงวิธีที่เรามองเรื่องต่าง ๆ แน่นอนว่าเราไม่สามารถเข้าใจความคิดของพระยะโฮวาได้อย่างครบถ้วน แต่เราก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจความคิดของพระยะโฮวามากขึ้นได้โดยเรียนรู้ที่จะมี “จิตใจอย่างพระคริสต์” เพราะพระเยซูคิดเหมือนพระยะโฮวา—1 คร. 2:16
2 พระเยซูรักพระยะโฮวาสุดความคิดของท่าน ท่านรู้ว่าพระยะโฮวาต้องการให้ท่านทำอะไร และท่านก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำตามที่พระองค์ต้องการแม้นั่นจะทำให้ท่านต้องเจอความทุกข์ลำบากหลายอย่าง การที่พระเยซูจดจ่ออยู่ที่การทำตามความประสงค์ของพระยะโฮวาเลยทำให้ท่านไม่ยอมให้อะไรมาสำคัญกว่าเรื่องนี้
3. อัครสาวกเปโตรได้เรียนอะไรจากพระเยซู และเขากระตุ้นให้คริสเตียนทำอะไร? (1 เปโตร 4:1)
3 เปโตรกับพวกอัครสาวกมีสิทธิพิเศษที่ได้อยู่กับพระเยซูและได้เรียนรู้ว่าพระเยซูคิดยังไง ตอนที่เปโตรเขียนจดหมายฉบับแรกที่ได้รับการดลใจ เขาสนับสนุนคริสเตียนให้เตรียมตัวให้พร้อมและให้คิดอย่างเดียวกับพระเยซู (อ่าน 1 เปโตร 4:1) คำภาษาเดิมที่แปลว่า “เตรียมตัวให้พร้อม” เป็นคำทางทหารซึ่งหมายถึงให้เตรียมติดอาวุธพร้อมจะต่อสู้ ดังนั้น ถ้าคริสเตียนฝึกที่จะคิดอย่างเดียวกับพระเยซู พวกเขาก็กำลังเตรียมติดอาวุธพร้อมที่จะต่อสู้กับแนวโน้มของบาปที่มีในตัวเอง และต่อสู้กับน้ำใจของโลกที่ปกครองโดยซาตาน—2 คร. 10:3-5; อฟ. 6:12
4. บทความนี้จะช่วยให้เราทำตามคำแนะนำของเปโตรได้ยังไง?
4 ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าพระเยซูคิดยังไงและเราจะเลียนแบบท่านได้ยังไง เราจะได้เรียนจากตัวอย่างของพระเยซูว่าเราต้องทำยังไงเพื่อจะ (1) เลียนแบบความคิดของพระยะโฮวา ซึ่งจะช่วยให้เราทุกคนคิดสอดคล้องกัน (2) เป็นคนถ่อมตัว และ (3) มีสติอยู่เสมอโดยพึ่งพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน
เลียนแบบความคิดของพระยะโฮวา
5. ในเหตุการณ์หนึ่ง เปโตรไม่ได้คิดเหมือนกับพระยะโฮวายังไง?
5 มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่เปโตรไม่ได้คิดเหมือนกับพระยะโฮวา ตอนนั้นพระเยซูบอกกับพวกอัครสาวกว่าท่านต้องไปที่กรุงเยรูซาเล็ม และท่านจะต้องถูกส่งตัวให้กับพวกหัวหน้าศาสนา ถูกทรมาน และก็ถูกฆ่า (มธ. 16:21) เปโตรรับไม่ได้ที่พระยะโฮวาปล่อยให้พระเยซูซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้และเป็นความหวังของอิสราเอลถูกฆ่า (มธ. 16:16) เขาก็เลยดึงตัวพระเยซูมาและทักท้วงว่า “อาจารย์ สงสารตัวเองเถอะ ท่านจะไม่เจอเรื่องร้าย ๆ อย่างนั้นหรอก” (มธ. 16:22) ที่เปโตรพูดแบบนั้นเป็นเพราะเขาไม่ได้คิดเหมือนกับพระยะโฮวา มันก็เลยทำให้เขาไม่ได้คิดสอดคล้องกับพระเยซู
6. พระเยซูทำให้เห็นยังไงว่าท่านคิดเหมือนพระยะโฮวา?
6 พระเยซูรู้ว่าพระยะโฮวาคิดยังไงและท่านก็คิดเหมือนพระองค์ ท่านเลยบอกกับเปโตรว่า “หยุดพูดได้แล้ว ซาตาน! คุณกำลังขัดขวางผม ที่คุณคิดอยู่นี้ไม่ใช่ความคิดของพระเจ้า แต่เป็นความคิดของมนุษย์” (มธ. 16:23) พระเยซูรู้ว่าพระยะโฮวาต้องการให้ท่านทำอะไร ท่านจะต้องทนทุกข์และต้องตาย ดังนั้น พระเยซูก็เลยไม่ฟังคำแนะนำของเปโตรทั้ง ๆ ที่เขาก็มีเจตนาดี แล้วเปโตรก็ได้บทเรียนจากเรื่องนี้ว่าเขาต้องคิดเหมือนกับพระยะโฮวา และนี่ก็เป็นบทเรียนสำหรับเราด้วยเหมือนกัน
7. เปโตรปรับเปลี่ยนความคิดของเขายังไงเพื่อจะคิดเหมือนพระยะโฮวา? (ดูภาพหน้าปก)
7 ในเวลาต่อมา เปโตรแสดงให้เห็นเลยว่าเขาอยากคิดเหมือนพระยะโฮวา ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่คนต่างชาติที่ไม่ได้เข้าสุหนัตจะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนของพระยะโฮวา เปโตรได้รับมอบหมายให้ประกาศกับโคร์เนลิอัสซึ่งอยู่ในคนต่างชาติกลุ่มแรกที่ได้เข้ามาเป็นคริสเตียน เขาเลยต้องปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อจะทำงานมอบหมายนี้ เมื่อเปโตรได้มาเข้าใจว่าพระยะโฮวาคิดยังไงกับคนต่างชาติ เขาก็ยอมปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเอง ผลก็คือพอมีคนไปเชิญเปโตรไปประกาศกับโคร์เนลิอัส เขาก็เลย “ไม่ขัดข้อง” ที่จะไปตามคำเชิญ (กจ. 10:28, 29) เปโตรได้ประกาศกับโคร์เนลิอัสกับครอบครัว และทั้งหมดก็รับบัพติศมา—กจ. 10:21-23, 34, 35, 44-48
8. เราจะแสดงให้เห็นยังไงว่าเราคิดสอดคล้องกับพระยะโฮวา? (1 เปโตร 3:8 และเชิงอรรถ)
8 หลายปีต่อมา เปโตรสนับสนุนให้คริสเตียน “คิดสอดคล้องกัน” (อ่าน 1 เปโตร 3:8 และเชิงอรรถ) พวกเราที่เป็นคนของพระยะโฮวาจะคิดสอดคล้องกันได้ด้วยการดูว่าพระยะโฮวาคิดยังไงโดยผ่านทางคัมภีร์ไบเบิล ตัวอย่างเช่น พระเยซูสนับสนุนสาวกของท่านให้จัดเอารัฐบาลของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต (มธ. 6:33) เนื่องจากพระเยซูสอนแบบนี้ พี่น้องบางคนในประชาคมของคุณก็เลยอาจตัดสินใจที่จะทำงานรับใช้เต็มเวลาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แทนที่เราจะบอกให้เขาสงสารตัวเอง เราควรพูดในแง่ดี และเราอาจเสนอตัวที่จะช่วยเขาทำตามเป้าหมายให้ได้
เป็นคนถ่อมตัว
9-10. พระเยซูแสดงยังไงว่าท่านเป็นคนที่ถ่อมตัวมาก?
9 ในคืนที่พระเยซูจะถูกประหารชีวิต ท่านได้สอนบทเรียนสำคัญเรื่องความถ่อมให้กับเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้พระเยซูส่งเปโตรกับยอห์นไปเตรียมสถานที่ที่จะกินอาหารเย็นมื้อสุดท้ายกับพวกเขา สิ่งหนึ่งที่สองคนนี้น่าจะต้องทำก็คือพวกเขาต้องเตรียมอ่างใส่น้ำและผ้าเช็ดตัวเพื่อคนที่มาจะได้ล้างเท้าก่อนรับประทานอาหาร แต่ใครจะถ่อมพอที่จะล้างเท้าให้คนอื่น ๆ ล่ะ?
10 พระเยซูไม่ลังเลที่จะทำงานนี้เลย ท่านแสดงให้เห็นว่าท่านถ่อมตัวมากจริง ๆ พวกอัครสาวกคงต้องรู้สึกตกใจมากที่เห็นพระเยซูทำงานที่ปกติแล้วคนรับใช้จะเป็นคนทำ พระเยซูถอดเสื้อคลุมวางไว้ และหยิบผ้าเช็ดตัวมาคาดเอว เอาน้ำใส่อ่าง แล้วเริ่มล้างเท้าให้พวกสาวก (ยน. 13:4, 5) มันคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะล้างเท้าของอัครสาวกครบทั้ง 12 คนซึ่งรวมถึงเท้าของยูดาสที่กำลังจะทรยศท่าน แต่พระเยซูก็เต็มใจทำงานนี้ แล้วท่านก็บอกว่า “เข้าใจไหมว่า ทำไมผมทำอย่างนี้ให้พวกคุณ? พวกคุณเรียกผมว่า ‘อาจารย์’ และ ‘นาย’ และที่พวกคุณเรียกแบบนั้นก็ถูกแล้ว เพราะผมเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ดังนั้น ถ้าผมที่เป็นนายและอาจารย์ยังล้างเท้าให้พวกคุณ พวกคุณก็ควรจะล้างเท้าให้กันและกันด้วย”—ยน. 13:12-14
ความถ่อมที่แท้จริงเกี่ยวข้องกับความคิดลึก ๆ ในใจของเราว่าเรามองตัวเองยังไงและมองคนอื่นยังไง
11. เปโตรแสดงให้เห็นยังไงว่าเขาได้เรียนรู้ที่จะเป็นคนถ่อม? (1 เปโตร 5:5) (ดูภาพด้วย)
11 เปโตรเรียนรู้ที่จะเป็นคนถ่อมจากพระเยซู หลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตายและกลับไปบนสวรรค์ เปโตรก็ทำการอัศจรรย์โดยการรักษาผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นง่อยตั้งแต่เกิด (กจ. 1:8, 9; 3:2, 6-8) การอัศจรรย์นี้คงต้องดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มารุมล้อมเขาแน่ ๆ (กจ. 3:11) แต่เปโตรไม่ได้อยากให้คนอื่นมาชื่นชอบเขาทั้ง ๆ ที่เขาโตมาในวัฒนธรรมที่ผู้คนให้ความสำคัญกับตำแหน่งและชื่อเสียง เปโตรถ่อมตัว ไม่ยกย่องตัวเอง แต่เขายกย่องพระยะโฮวาและพระเยซูที่เป็นผู้ทำการอัศจรรย์นี้ เขาบอกว่า “คนง่อยคนนี้ที่พวกคุณรู้จักมีกำลังขึ้นเพราะชื่อของ [พระเยซู]” (กจ. 3:12-16) หลังจากนั้น ตอนที่เปโตรเขียนจดหมายถึงคริสเตียนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเป็นคนถ่อม คำพูดที่เขาใช้ในจดหมายนั้นอาจทำให้เราคิดถึงตอนที่พระเยซูเอาผ้าเช็ดตัวมาคาดเอวและล้างเท้าอัครสาวกของท่าน—อ่าน 1 เปโตร 5:5, เชิงอรรถ
12. เราจะเลียนแบบเปโตรโดยเป็นคนถ่อมตัวต่อ ๆ ไปได้ยังไง?
12 เราสามารถเลียนแบบตัวอย่างของเปโตรได้โดยการเป็นคนถ่อมตัว ขอจำไว้ว่าความถ่อมที่แท้จริงไม่ใช่แค่การใช้คำพูดที่ทำให้ดูเป็นคนถ่อม คำภาษาเดิมสำหรับคำว่า “อ่อนน้อมถ่อมตน” ที่เปโตรใช้เกี่ยวข้องกับความคิดลึก ๆ ในใจของเราว่าเรามองตัวเองยังไงและมองคนอื่นยังไง เราทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพราะอยากได้รับคำชม แต่ทำเพราะเรารักพระยะโฮวาและรักผู้คน ถ้าเราเต็มใจรับใช้พระยะโฮวาและพี่น้องอย่างสุดความสามารถ ไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ก็ตาม เราก็กำลังพิสูจน์ว่าเราเป็นคนถ่อมตัวจริง ๆ—มธ. 6:1-4
“มีสติ” อยู่เสมอ
13. ขออธิบายว่าการ “มีสติ” หมายถึงอะไร
13 การ “มีสติ” หมายถึงอะไร? (1 ปต. 4:7) คริสเตียนที่ “มีสติ” จะพึ่งพระยะโฮวาโดยคิดก่อนว่าพระองค์มองเรื่องนั้นยังไงแล้วก็ตัดสินใจตามนั้น เขารู้ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระยะโฮวา เขาจะไม่คิดถึงตัวเองมากเกินไปและไม่คิดว่าตัวเองรู้ไปหมดซะทุกเรื่อง และเขาจะพึ่งพระยะโฮวาโดยอธิษฐานถึงพระองค์บ่อย ๆ a
14. ครั้งหนึ่งเปโตรไม่ได้พึ่งพระยะโฮวายังไง?
14 ในคืนที่พระเยซูจะเสียชีวิต ท่านเตือนสาวกของท่านว่า “คืนนี้ พวกคุณจะทิ้งผมไปหมดเพราะเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับผม” แต่เปโตรพูดด้วยความมั่นใจว่า “ถึงทุกคนจะทิ้งท่านไปหมดเพราะเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับท่าน แต่ผมจะไม่มีวันทิ้งท่านเลย” คืนเดียวกันนั้น พระเยซูได้ให้คำแนะนำกับสาวกบางคนของท่านว่า “คุณต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอและอธิษฐานอยู่เรื่อย ๆ” (มธ. 26:31, 33, 41) เปโตรไม่ได้ทำตามคำแนะนำนี้ ถ้าเขาทำตามที่พระเยซูบอก เขาก็คงมีความกล้าหาญมากพอที่จะบอกว่าตัวเขาเป็นสาวกของพระเยซู แต่เขากลับทิ้งพระเยซูนายของเขาไป ซึ่งนี่ทำให้เขารู้สึกเสียใจมาก—มธ. 26:69-75
15. พระเยซูแสดงให้เห็นยังไงว่า “มีสติ” ในคืนสุดท้ายที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลก?
15 พระเยซูพึ่งพระยะโฮวาสุดหัวใจ แม้พระเยซูเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ แต่ท่านก็อธิษฐานหลายครั้ง ซึ่งนี่ช่วยให้ท่านมีความกล้าที่จะทำทุกอย่างที่พระยะโฮวาอยากให้ท่านทำ (มธ. 26:39, 42, 44; ยน. 18:4, 5) เปโตรคงไม่มีวันลืมที่ได้เห็นพระเยซูอธิษฐานหลายต่อหลายครั้งในคืนสุดท้ายที่ท่านมีชีวิตอยู่บนโลก
16. เปโตรแสดงให้เห็นยังไงว่าเขาได้เรียนรู้ที่จะเป็นคน “มีสติ”? (1 เปโตร 4:7)
16 เมื่อเวลาผ่านไป เปโตรก็ได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพระยะโฮวามากขึ้นโดยการอธิษฐาน หลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากตาย ท่านก็กลับมาหาเปโตรและอัครสาวกคนอื่น ๆ และให้คำรับรองว่าพวกเขาจะได้รับพลังบริสุทธิ์เพื่อจะทำงานประกาศข่าวดีตามที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ แต่พระเยซูบอกพวกเขาว่าให้คอยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มก่อนจนกว่าจะได้รับพลังนั้น (ลก. 24:49; กจ. 1:4, 5) แล้วเปโตรทำอะไรระหว่างรอ? เปโตรกับพี่น้องคนอื่น ๆ “อธิษฐานร่วมกันอยู่เสมอ” (กจ. 1:13, 14) หลังจากนั้น ตอนที่เปโตรเขียนจดหมายฉบับแรก เขาก็สนับสนุนให้พี่น้องคริสเตียนมีสติและพึ่งพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน (อ่าน 1 เปโตร 4:7) เปโตรได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพระยะโฮวาและต่อมาเขาก็เป็นเสาหลักของประชาคม—กท. 2:9
17. เราต้องทำอะไรต่อ ๆ ไป? (ดูภาพด้วย)
17 เพื่อที่เราจะมีสติ เราต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวาบ่อย ๆ เรารู้ว่าขนาดเรื่องที่เราเก่งหรือทำได้ไม่ยาก เรายังต้องพึ่งพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน ดังนั้น เมื่อเราต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่ไม่ง่าย เราก็ยิ่งต้องอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาและไว้วางใจว่าพระองค์รู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา
18. เราจะเรียนรู้ที่จะคิดเหมือนพระยะโฮวามากขึ้นได้ยังไง?
18 เรารู้สึกขอบคุณที่พระยะโฮวาสร้างเราให้สามารถแสดงคุณลักษณะเหมือนพระองค์ได้ (ปฐก. 1:26) แน่นอนว่าเราไม่สามารถเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบ (อสย. 55:9) แต่ขอให้เราทำเหมือนเปโตรโดยเรียนรู้ที่จะคิดเหมือนพระยะโฮวามากขึ้น ให้เราตั้งใจต่อ ๆ ไปที่จะเลียนแบบความคิดของพระยะโฮวา เป็นคนถ่อมตัว และมีสติอยู่เสมอ
เพลง 30 พระยะโฮวาเป็นพ่อ เป็นพระเจ้า และเป็นเพื่อนของฉัน
a สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการมีสติหมายถึงอะไร ดูบทความ “อธิบายข้อคัมภีร์” หัวเรื่อง “2 ทิโมธี 1:7—‘พระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา’” และดูที่หัวข้อย่อย “คิดอย่างสมเหตุสมผล” ในเว็บไซต์ jw.org หรือในแอป JW Library®
b คำอธิบายภาพ พี่น้องหญิงอธิษฐานเงียบ ๆ ตอนที่เธออยู่หน้าห้องสัมภาษณ์งาน