-
คำถามจากผู้อ่านหอสังเกตการณ์ 1999 | 15 เมษายน
-
-
คำถามจากผู้อ่าน
พยานพระยะโฮวาบางคนได้รับการเสนองานอาชีพที่เกี่ยวกับอาคารหรือสถานที่ทางศาสนา. ทัศนะตามพระคัมภีร์เป็นอย่างไรในเรื่องงานเช่นนี้?
ประเด็นนี้อาจเกิดขึ้นกับคริสเตียนผู้ซึ่งต้องการปฏิบัติตาม 1 ติโมเธียว 5:8 อย่างจริงใจ ซึ่งข้อนั้นเน้นความสำคัญของการจัดหาสิ่งฝ่ายวัตถุให้ครอบครัวของตน. แม้ว่าคริสเตียนควรปฏิบัติตามคำแนะนำข้อนี้อย่างแน่นอน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะรับงานอาชีพฝ่ายโลกได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร. คริสเตียนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องไวต่อข้อบ่งชี้อย่างอื่นเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. ตัวอย่างเช่น การที่คนหนึ่งต้องการหาเลี้ยงครอบครัวของตนก็ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่เขาจะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการผิดศีลธรรมหรือฆาตกรรม. (เทียบกับเยเนซิศ 39:4-9; ยะซายา 2:4; โยฮัน 17:14, 16.) เป็นเรื่องสำคัญด้วยที่คริสเตียนจะประพฤติสอดคล้องกับพระบัญชาที่ให้ออกจากบาบูโลนใหญ่ จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ.—วิวรณ์ 18:4, 5.
ตลอดทั่วโลก ผู้รับใช้ของพระเจ้าเผชิญสถานการณ์หลากหลายในเรื่องงานอาชีพ. คงไม่เป็นประโยชน์และเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของเราที่จะพยายามทำรายการความเป็นไปได้ทั้งหมดและตั้งกฎตายตัวขึ้น. (2 โกรินโธ 1:24) กระนั้น ขอให้เรากล่าวถึงปัจจัยบางอย่างที่คริสเตียนควรพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องงานอาชีพส่วนตัว. ปัจจัยเหล่านี้ถูกกล่าวถึงคร่าว ๆ ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มกราคม 1983 ในบทความเกี่ยวกับการได้ประโยชน์จากสติรู้สึกผิดชอบของเราที่พระเจ้าประทานให้. ในกรอบได้ยกคำถามสำคัญขึ้นมาสองข้อแล้วลงรายการปัจจัยอื่น ๆ ที่มีประโยชน์.
คำถามสำคัญข้อแรกคือ พระคัมภีร์ตำหนิงานอาชีพนั้นไหม? หอสังเกตการณ์ ออกความเห็นในเรื่องนี้ว่าคัมภีร์ไบเบิลตำหนิการลักขโมย, การใช้เลือดในทางผิด, และการไหว้รูปเคารพ. คริสเตียนควรหลีกเลี่ยงงานอาชีพที่ส่งเสริมโดยตรงต่อกิจกรรมที่พระเจ้าไม่พอพระทัยนั้น เช่นที่พึ่งกล่าวไป.
คำถามข้อที่สองคือ การทำงานนั้นทำให้เราเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกิจปฏิบัติที่ถูกตำหนิไหม? เห็นได้ชัดว่า คนที่ทำงานในบ่อนการพนัน, คลินิกทำแท้ง, หรือซ่องโสเภณีเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกิจปฏิบัติที่ไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์. แม้ว่างานประจำวันของเขาที่นั่นจะเป็นเพียงการกวาดพื้นหรือรับโทรศัพท์ เขามีส่วนช่วยในกิจปฏิบัติที่พระคำของพระเจ้าตำหนิ.
คริสเตียนหลายคนที่เผชิญการตัดสินใจเรื่องงานอาชีพได้พบว่าการวิเคราะห์เพียงคำถามสองข้อนี้ก็ช่วยพวกเขาให้ตัดสินใจเองได้.
เพื่อเป็นตัวอย่าง จากคำถามทั้งสองนี้ คนหนึ่งจะเข้าใจได้ว่าทำไมผู้นมัสการแท้ต้องไม่เป็นลูกจ้างโดยตรงขององค์การศาสนาเท็จ ทำงานเพื่อคริสตจักรและในโบสถ์. วิวรณ์ 18:4 ตั้งพระบัญชานี้ไว้: “จงออกมาจากเมืองนั้นเถิด, เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ได้มีส่วนในการบาปของเมืองนั้น.” บุคคลหนึ่งจะมีส่วนในการงานและความบาปของบาบูโลนใหญ่ถ้าเขาเป็นลูกจ้างประจำของศาสนาที่สอนการนมัสการเท็จ. ไม่ว่าลูกจ้างคนนั้นจะเป็นคนสวน, ภารโรง, ช่างซ่อม, หรือนักบัญชี งานของเขาจะมีส่วนส่งเสริมการนมัสการที่ขัดกับศาสนาแท้. ยิ่งกว่านั้น ผู้คนที่เห็นลูกจ้างคนนี้ทำงานเพื่อให้โบสถ์สวยงาม, คอยซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ, หรือช่วยให้กิจกรรมทางศาสนาของคริสตจักรบรรลุผลสำเร็จนั้นคงจะคิดอย่างมีเหตุผลว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนานั้น.
กระนั้น จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับบางคนที่ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ของโบสถ์หรือองค์การทางศาสนา? บางทีเขาอาจถูกเรียกเพียงเพื่องานฉุกเฉินซ่อมท่อน้ำแตกที่อยู่ในห้องใต้ดินของโบสถ์. นั่นแตกต่างกับการที่เขาประมูลเพื่อจะได้สัญญา เช่นการมุงหลังคาหรือปูฉนวนใต้หลังคาโบสถ์มิใช่หรือ?
อีกครั้งหนึ่ง อาจนึกถึงสภาพการณ์ที่แตกต่างกันได้อีกมากมาย. ดังนั้น ให้เราทบทวนปัจจัยเพิ่มเติมห้าประการที่หอสังเกตการณ์ ได้วางเอาไว้ดังต่อไปนี้:
1. งานนั้นเป็นเพียงการบริการผู้คนซึ่งในตัวมันเองแล้วเป็นงานที่ไม่ผิดหลักพระคัมภีร์ไหม? ลองพิจารณาตัวอย่างของบุรุษไปรษณีย์. การที่เขาส่งจดหมายคงไม่ได้หมายความว่าเขาส่งเสริมกิจปฏิบัติที่ถูกตำหนิถ้าอาคารหลังหนึ่งในบริเวณที่เขาให้บริการนั้นเป็นโบสถ์หรือคลินิกทำแท้ง. พระเจ้าทรงประทานแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านหน้าต่างของอาคารทุกหลัง รวมทั้งของโบสถ์หรือของคลินิกแบบนั้นด้วย. (กิจการ 14:16, 17) คริสเตียนที่เป็นบุรุษไปรษณีย์อาจสรุปว่าเขากำลังทำหน้าที่บริการผู้คนทุกคน เป็นวัน ๆ ไป. อาจคล้าย ๆ กันกับคริสเตียนที่ถูกเรียกในเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ช่างประปาถูกเรียกให้ไปซ่อมเพื่อไม่ให้น้ำท่วมในโบสถ์หรือพนักงานประจำรถพยาบาลที่ถูกเรียกให้ไปช่วยบางคนที่หมดสติระหว่างการนมัสการในโบสถ์. เขาอาจถือว่านี่เป็นเพียงการช่วยเหลือผู้คนเฉพาะกาล.
2. เรามีอำนาจควบคุมสิ่งที่ทำกันนั้นถึงขีดไหน? คริสเตียนที่เป็นเจ้าของร้านจะไม่เห็นชอบแน่ที่จะสั่งและขายรูปเคารพ, เครื่องรางของขลัง, บุหรี่, หรือไส้กรอกที่ทำจากเลือด. ในฐานะเจ้าของร้าน เขามีอำนาจในการตัดสินใจ. ผู้คนอาจกระตุ้นให้เขาขายบุหรี่หรือรูปเคารพแล้วจะได้กำไร แต่เขาจะปฏิบัติสอดคล้องกับความเชื่อของเขาตามหลักพระคัมภีร์. ในอีกด้านหนึ่ง ลูกจ้างที่เป็นคริสเตียนในร้านขายอาหารขนาดใหญ่อาจถูกมอบหมายให้เป็นแคชเชียร์, ขัดพื้น, หรือทำบัญชี. เขาไม่ได้ควบคุมสินค้าที่มีการสั่งและขาย แม้ว่าสินค้าบางอย่างเป็นสิ่งผิด เช่น บุหรี่หรือสินค้าสำหรับวันหยุดทางศาสนา.a (เทียบกับลูกา 7:8; 17:7, 8.) จุดนี้เกี่ยวโยงกับจุดต่อไป.
3. เรามีส่วนพัวพันถึงขีดไหน? ให้เรากลับไปที่ตัวอย่างของร้านค้า. ลูกจ้างคนหนึ่งที่ถูกมอบหมายให้ดูแลเครื่องบันทึกรับเงินสดหรือจัดวางสินค้าบนชั้นอาจหยิบจับบุหรี่หรือสิ่งของทางศาสนาเป็นครั้งคราวเท่านั้น; เป็นส่วนเล็กน้อยของงานทั้งหมดที่ทำ. กระนั้น ช่างแตกต่างเสียจริงกับลูกจ้างในร้านเดียวกันที่ทำงานที่เคาน์เตอร์ยาสูบ! งานของเขาทั้งหมด วันแล้ววันเล่า เพ่งเล็งอยู่กับสิ่งที่ขัดกับความเชื่อคริสเตียน. (2 โกรินโธ 7:1) นี่เป็นตัวอย่างว่าทำไมต้องพิจารณาระดับของการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสัมผัสเมื่อตัดสินใจเรื่องงานอาชีพ.
4. ค่าจ้างมาจากที่ไหน หรือทำงานที่ไหน? ลองพิจารณาสถานการณ์สองอย่าง. เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ คลินิกทำแท้งตัดสินใจจ้างชายคนหนึ่งมาทำความสะอาดถนนในละแวกนั้น. เขาได้ค่าจ้างจากคลินิกทำแท้ง แต่เขาไม่ได้ทำงานที่คลินิก และไม่มีใครเห็นเขาอยู่ในคลินิกนั้นตลอดทั้งวัน. แต่ผู้คนเห็นเขาทำงานสาธารณะที่ในตัวมันเองไม่ได้ขัดกับพระคัมภีร์ ไม่ว่าใครจะจ่ายค่าจ้างให้เขาก็ตาม. ตอนนี้มาดูกรณีที่ต่างกัน. ในประเทศที่โสเภณีถูกกฎหมาย สำนักงานบริการสาธารณสุขจ้างพยาบาลให้ทำงานในสำนักโสเภณี ตรวจสุขภาพเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. แม้ว่าเธอได้รับค่าจ้างจากสำนักงานบริการสาธารณสุข แต่งานทั้งหมดเธอทำอยู่ในสำนักโสเภณี ทำงานเพื่อให้การผิดศีลธรรมปลอดภัยขึ้น เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น. ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่แหล่งที่มาของค่าจ้างและสถานที่ทำงานเป็นแง่มุมที่ต้องพิจารณา.
5. การทำงานนั้นส่งผลกระทบอะไร; จะทำให้สติรู้สึกผิดชอบของตนเองเสียหายหรือทำให้คนอื่นสะดุดไหม? ควรคำนึงถึงสติรู้สึกผิดชอบ ทั้งของตัวเองและของคนอื่น. แม้ว่างานชนิดหนึ่ง (รวมทั้งสถานที่ทำงานและแหล่งที่มาของค่าจ้าง) ดูเหมือนเป็นที่ยอมรับได้ของคริสเตียนส่วนใหญ่ แต่บางคนอาจรู้สึกว่ามันจะรบกวนสติรู้สึกผิดชอบของเขาเอง. อัครสาวกเปาโล ซึ่งได้วางตัวอย่างที่ดีไว้กล่าวว่า “เรามั่นใจว่า เรามีสติรู้สึกผิดชอบที่ซื่อสัตย์ เนื่องจากเราปรารถนาจะประพฤติตัวซื่อสัตย์ในทุกสิ่ง.” (เฮ็บ. 13:18, ล.ม.) เราควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่อาจทำให้เราไม่สบายใจ; กระนั้น เราไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นที่มีสติรู้สึกผิดชอบแตกต่างไป. กลับกัน คริสเตียนคนหนึ่งอาจเห็นว่างานที่เขาจะทำไม่มีอะไรขัดกับคัมภีร์ไบเบิล แต่เขาตระหนักว่างานนั้นอาจทำให้หลายคนในประชาคมและในชุมชนไม่สบายใจเป็นอย่างมาก. เปาโลแสดงให้เห็นทัศนะที่ถูกต้องในถ้อยคำของท่านที่ว่า “ไม่ว่าทางใดเรามิได้เป็นเหตุให้มีการสะดุด เพื่องานของเราไม่เป็นที่ติเตียนได้; แต่ในทุกวิถีทางเราแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า.”—2 โก. 6:3, 4, ล.ม.
ตอนนี้ขอให้เรากลับไปที่คำถามหลักเรื่องการทำงานในโบสถ์ เช่น การติดตั้งหน้าต่างใหม่, การซักพรม, หรือการบำรุงรักษาเครื่องทำความเย็น. ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาอาจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?
ย้อนนึกถึงแง่มุมเรื่องอำนาจตัดสินใจ. คริสเตียนเป็นเจ้าของกิจการหรือเป็นผู้จัดการไหมที่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะรับงานนั้นในโบสถ์หรือไม่? คริสเตียนที่มีอำนาจในการตัดสินใจจะต้องการมีส่วนร่วมกับบาบูโลนใหญ่โดยประมูลงานหรือทำสัญญาเพื่อช่วยบางศาสนาส่งเสริมการนมัสการเท็จไหม? นั่นจะเทียบได้กับการตัดสินใจจะขายบุหรี่หรือรูปเคารพในร้านของตัวเองไม่ใช่หรือ?—2 โกรินโธ 6:14-16.
ถ้าคริสเตียนเป็นลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจรับงาน ก็ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานที่ทำงานและระดับของการเข้าไปเกี่ยวข้อง. ถ้าลูกจ้างถูกขอให้เพียงแต่ส่งของหรือติดตั้งเก้าอี้ใหม่ในโอกาสหนึ่งหรือทำงานบริการเพื่อนมนุษย์ เช่น พนักงานดับเพลิงดับไฟในโบสถ์ก่อนที่จะลามไปล่ะ? หลายคนคงเห็นว่านี่แตกต่างจากลูกจ้างในธุรกิจที่ใช้เวลานานทาสีโบสถ์หรือทำสวนเป็นประจำเพื่อทำให้โบสถ์นั้นดูสวยงาม. การติดต่อเป็นประจำและยาวนานเช่นนั้นจะทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่หลายคนจะคิดว่าคริสเตียนคนนั้นเกี่ยวข้องกับศาสนาที่เขาอ้างว่าเขาไม่เห็นด้วย อาจทำให้พวกเขาสะดุด.—มัดธาย 13:41; 18:6, 7.
เราได้ยกบางเรื่องที่สำคัญขึ้นมาพิจารณาในเรื่องงานอาชีพ. เรื่องราวเหล่านี้ได้รับการเสนอในท้องเรื่องของคำถามที่เจาะจงซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาเท็จ. กระนั้น เราสามารถคำนึงถึงแง่มุมเหล่านี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน. ในแต่ละกรณี ควรมีการวิเคราะห์พร้อมทั้งการอธิษฐาน พิจารณาแง่มุมเฉพาะเจาะจง—และอาจไม่เหมือนใคร—ของสถานการณ์ในตอนนั้น. ปัจจัยที่มีการเสนอข้างต้นได้ช่วยคริสเตียนที่จริงใจหลายคนอยู่แล้วที่จะทำการตัดสินใจตามสติรู้สึกผิดชอบที่สะท้อนความปรารถนาของเขาที่จะดำเนินอย่างเที่ยงธรรมและชอบธรรมจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวา.—สุภาษิต 3:5, 6; ยะซายา 2:3; เฮ็บราย 12:12-14.
-
-
คุณจำได้ไหม?หอสังเกตการณ์ 1999 | 15 เมษายน
-
-
คุณจำได้ไหม?
คุณหยั่งรู้ค่าการอ่านหอสังเกตการณ์ ในฉบับหลัง ๆ นี้ไหม? ถ้าอย่างนั้น ลองดูซิว่าคุณจะตอบคำถามต่อไปนี้ได้หรือไม่.
▫ ทำไมสำนวนของเปาโลที่ว่า “ราชทูตของพระคริสต์” จึงเหมาะสมกับคริสเตียนผู้ถูกเจิม? (2 โกรินโธ 5:20) ในสมัยโบราณ โดยมากแล้วราชทูตถูกส่งไปในช่วงที่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพื่อดูลู่ทางว่าจะเลี่ยงสงครามได้หรือไม่. (ลูกา 14:31, 32) เนื่องจากโลกแห่งมนุษยชาติที่ผิดบาปเหินห่างจากพระเจ้า พระองค์จึงทรงส่งราชทูตที่พระองค์ทรงเจิมไว้ให้ออกไปแจ้งแก่ผู้คนให้ทราบเงื่อนไขในการคืนดีกับพระองค์ กระตุ้นพวกเขาให้แสวงหาสันติสุขกับพระเจ้า.—15/12 หน้า 17.
▫ สิ่งที่ทำให้ความเชื่อของอับราฮามเข้มแข็งมีสี่ประการ อะไรบ้าง? ประการแรก ท่านแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาโดยตั้งใจฟังเมื่อพระเจ้าตรัส (เฮ็บราย 11:8); ประการที่สอง ความเชื่อของท่านเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความหวังของท่าน (โรม 4:18); ประการที่สาม อับราฮามสนทนากับพระยะโฮวาบ่อยครั้ง; และประการที่สี่ พระยะโฮวาทรงให้การสนับสนุนเมื่อท่านติดตามการชี้นำของพระองค์. สิ่งเดียวกันนี้สามารถทำให้ความเชื่อของเราในปัจจุบันเข้มแข็งได้ด้วย.—1/1 หน้า 17, 18.
▫ สำนวนที่ว่า “ขออย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าสู่การล่อใจ” หมายความว่าอย่างไร? (มัดธาย 6:13, ล.ม.) เราทูลขอต่อพระเจ้าว่าขออย่าปล่อยให้เราพลาดพลั้งเมื่อเราถูกล่อใจให้ขัดขืนไม่เชื่อฟังพระองค์. พระยะโฮวาสามารถชี้นำเราเพื่อเราจะไม่ยอมจำนนและพ่ายแพ้แก่ซาตาน “ผู้ชั่วร้าย.” (1 โกรินโธ 10:13)—15/1 หน้า 14.
▫ คนเราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าสำหรับการประพฤติผิด? การสารภาพต่อพระเจ้าต้องควบคู่ไปกับการสำนึกผิดและ “ผลสมกับใจซึ่งกลับเสียใหม่.” (ลูกา 3:8) น้ำใจที่แสดงถึงการกลับใจและความปรารถนาที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดจะกระตุ้นเราให้แสวงหาความช่วยเหลือทางฝ่ายวิญญาณจากคริสเตียนผู้ปกครองอีกด้วย. (ยาโกโบ 5:13-15)—15/1 หน้า 19.
▫ ทำไมเราควรบากบั่นเพื่อเป็นคนถ่อมใจ? บุคคลที่ถ่อมใจเป็นคนอดทนและอดกลั้นทนนาน และเขาไม่ถือว่าตัวเองสำคัญเกินไป. การถ่อมใจทำให้คุณได้เพื่อนแท้ผู้ที่รักคุณ. ยิ่งกว่านั้น ความถ่อมใจนำมาซึ่งพระพรจากพระยะโฮวา. (สุภาษิต 22:4)—1/2 หน้า 7.
▫ มีความแตกต่างสำคัญอะไรระหว่างการวายพระชนม์ของพระเยซูและความตายของอาดาม? ความตายของอาดามนั้นนับว่าสมควร เพราะเขาจงใจไม่เชื่อฟังพระผู้สร้างของตน. (เยเนซิศ 2:16, 17) ในทางตรงกันข้าม การวายพระชนม์ของพระเยซูนั้นไม่สมควรเลยแม้แต่น้อย เพราะ “พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปประการใด.” (1 เปโตร 2:22) ดังนั้น เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงมีบางสิ่งที่มีค่าใหญ่ยิ่งที่อาดามผู้ผิดบาปไม่มีเมื่อเขาเสียชีวิต นั่นคือสิทธิที่จะมีชีวิตมนุษย์สมบูรณ์. ฉะนั้น การวายพระชนม์ของพระเยซูจึงมีคุณค่าเป็นเครื่องบูชาในการไถ่มนุษยชาติ.—15/2 หน้า 15, 16.
▫ ในนิมิตเชิงพยากรณ์ของยะเอศเคล เมืองเป็นภาพเล็งถึงอะไร? เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินที่ไม่บริสุทธิ์ (ไม่ศักดิ์สิทธิ์) ดังนั้น เมืองนี้ต้องเป็นอะไรบางอย่างฝ่ายแผ่นดินโลก. ฉะนั้น เมืองนี้จึงดูเหมือนจะเป็นภาพเล็งถึงการบริหารทางแผ่นดินโลกนี้ ซึ่งอำนวยผลประโยชน์แก่ทุกคนที่จะประกอบกันเป็นสังคมที่ชอบธรรมทางแผ่นดินโลก.—1/3 หน้า 18.
▫ ทำไมพระเยซูทรงล้างเท้าสาวกของพระองค์ขณะกำลังฉลองปัศคาปี ส.ศ. 33? พระเยซูไม่ได้ทรงตั้งพิธีการล้างเท้าแต่อย่างใด. ตรงกันข้าม พระองค์กำลังช่วยเหล่าอัครสาวกของพระองค์ให้รับเอาแง่คิดใหม่—แง่คิดที่มีความถ่อมใจและความเต็มใจจะทำงานที่แสนต่ำต้อยเพื่อประโยชน์ของพี่น้องของเขา.—1/3 หน้า 30.
▫ ในการสอนคนอื่น อะไรสำคัญยิ่งกว่าความสามารถที่เรามีมาแต่กำเนิด? นั่นคือคุณลักษณะที่เรามีและนิสัยฝ่ายวิญญาณที่เราได้ปลูกฝัง เพื่อที่นักศึกษาสามารถเลียนแบบได้. (ลูกา 6:40; 2 เปโตร 3:11)—15/3 หน้า 11, 12.
▫ ผู้บรรยายสาธารณะจะสามารถปรับปรุงการอ่านพระคัมภีร์ของตนได้อย่างไร? โดยการฝึกฝน. ถูกแล้ว โดยการอ่านออกเสียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเขาสามารถอ่านได้คล่อง. ถ้ามีตลับเทปบันทึกเสียงการอ่านคัมภีร์ไบเบิล ก็นับว่าฉลาดที่จะฟังวิธีที่ผู้อ่านเน้นตามความหมายและเปลี่ยนท่วงทำนองของเสียงและสังเกตว่าชื่อและคำที่ไม่ค่อยคุ้นอ่านออกเสียงอย่างไร.—15/3 หน้า 20.
▫ เมื่อคนตาย ‘วิญญาณจะกลับไปถึงพระเจ้า’ ในแง่ใด? (ท่านผู้ประกาศ 12:7) เนื่องจากวิญญาณเป็นพลังชีวิต วิญญาณนั้นจึง “กลับไปถึงพระเจ้า” ในความหมายที่ว่า ความหวังใด ๆ เกี่ยวกับชีวิตในอนาคตสำหรับบุคคลนั้นบัดนี้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง. เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นสามารถนำวิญญาณ หรือพลังชีวิต กลับคืนมา ทำให้บุคคลนั้นกลับมามีชีวิตอีก. (บทเพลงสรรเสริญ 104:30)—1/4 หน้า 17.
-