-
1 ทำไม?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
1 ทำไม?
การอธิษฐานเป็นเรื่องหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่หลายคนสนใจใคร่รู้. ให้เรามาพิจารณาคำถามเจ็ดข้อที่ผู้คนมักถามเกี่ยวกับการอธิษฐาน แล้วดูด้วยกันว่าคัมภีร์ไบเบิลตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร. บทความต่อไปนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยคุณในเรื่องการอธิษฐาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีเริ่มอธิษฐานในครั้งแรกหรือวิธีปรับปรุงคำอธิษฐานให้ดีขึ้น.
ผู้คนทุกวัฒนธรรมและศาสนาตลอดทั่วโลกต่างก็อธิษฐาน. พวกเขาอธิษฐานเมื่ออยู่ตามลำพังหรืออธิษฐานเป็นกลุ่ม. พวกเขาอธิษฐานในโบสถ์, ในวัด, ในธรรมศาลา, ในมัสยิด, หรือตามศาลเจ้าต่าง ๆ. พวกเขาอาจใช้พรมสำหรับอธิษฐาน, ลูกประคำ, กระบอกสวดมนต์, รูปบูชา, หนังสือบทสวด, หรือเขียนคำอธิษฐานลงบนแผ่นไม้เล็ก ๆ.
การอธิษฐานทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกนี้. จริงอยู่ เรามีหลายอย่างที่คล้ายกับสัตว์. เราจำเป็นต้องได้รับอาหาร, อากาศ, และน้ำ. เราเกิดมา, มีชีวิตอยู่, และตาย. (ท่านผู้ประกาศ 3:19) แต่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่อธิษฐาน. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
บางทีคำตอบที่ง่ายที่สุดคือเพราะการอธิษฐานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์. ที่จริง โดยทั่วไปผู้คนมักมองว่าการอธิษฐานเป็นวิธีติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแดนวิญญาณ. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราถูกสร้างให้มีความปรารถนาเช่นนั้น. (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ฉบับ R73) ครั้งหนึ่งพระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ผู้ที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณก็มีความสุข.”—มัดธาย 5:3
คงไม่มีใครปฏิเสธมิใช่หรือว่า คนเรามี “ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ” หรือความต้องการที่จะนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะโลกเต็มไปด้วยอาคารและวัตถุสิ่งของมากมายเกี่ยวกับศาสนา และไม่ว่าใครต่างก็อธิษฐานภาวนากันทั้งนั้น? จริงอยู่ บางคนหาวิธีสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณนี้ด้วยตัวเองหรือไม่ก็ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์. แต่คุณเห็นด้วยไหมว่ามนุษย์ไม่มีความสามารถพอที่จะช่วยได้? มนุษย์เราอ่อนแอ ช่วงชีวิตก็แสนสั้น อีกทั้งมองสิ่งต่าง ๆ แค่ระยะสั้น ๆ. เฉพาะแต่ผู้ที่ฉลาดสุขุมกว่า แข็งแรงกว่า และมีชีวิตยาวนาน กว่าเราเท่านั้นจึงจะสามารถสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเราได้. แต่อะไรคือความจำเป็นฝ่ายวิญญาณที่กระตุ้นเราให้อธิษฐาน?
ขอให้คิดถึงเรื่องนี้: คุณเคยอยากได้คำแนะนำ, สติปัญญา, หรือคำตอบสำหรับคำถามต่าง ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีมนุษย์คนใดจะรู้ได้ไหม? เคยมีบ้างไหมที่คุณโหยหาการปลอบโยนในยามที่ประสบกับการสูญเสียอันแสนเจ็บปวด, ปรารถนาคำชี้แนะเมื่อเผชิญการตัดสินใจที่บีบคั้น, หรืออยากได้รับการอภัยเพราะความรู้สึกผิดที่มีอยู่ท่วมท้นในใจ?
คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าทั้งหมดที่กล่าวไปล้วนเป็นเหตุผลที่เราจะอธิษฐานได้. คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ให้คำแนะนำได้ดีที่สุดในเรื่องนี้ และพระคัมภีร์มีบันทึกคำอธิษฐานของผู้ซื่อสัตย์หลายคนทั้งชายและหญิง. พวกเขาอธิษฐานเพื่อจะได้รับการปลอบโยน, คำชี้แนะ, การให้อภัย, และเพื่อจะได้คำตอบสำหรับคำถามที่ยากที่สุด.—บทเพลงสรรเสริญ 23:3; 71:21; ดานิเอล 9:4, 5, 19; ฮะบาฆูค 1:3
คำอธิษฐานเหล่านี้แม้ว่าจะแตกต่างกันแต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน. ผู้อธิษฐานแต่ละคนรู้วิธีที่จะทำให้คำอธิษฐานของเขาได้รับคำตอบซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่รู้หรือไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ. นั่นคือ ผู้ซื่อสัตย์เหล่านั้นรู้ว่าควรอธิษฐานถึงใคร.
-
-
2 ถึงใคร?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
2 ถึงใคร?
คำอธิษฐานทั้งหมดไปถึงพระเจ้าองค์เดียวกันไหม ไม่ว่าจะเอ่ยชื่อใดก็ตาม? หลายคนในโลกทุกวันนี้อาจคิดเช่นนั้น โดยเฉพาะคนที่สนับสนุนการรวมความเชื่อและต้องการให้ทุกศาสนาเป็นที่ยอมรับในสังคมแม้ว่าจะต่างกันก็ตาม. แต่เป็นไปได้ไหมว่าความคิดนี้อาจไม่เป็นความจริง?
คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าแท้จริงแล้วคำอธิษฐานมากมายไม่ได้ไปถึงพระเจ้าเที่ยงแท้. ย้อนไปในสมัยที่มีการเขียนคัมภีร์ไบเบิล เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนจะอธิษฐานต่อหน้ารูปเคารพ. แต่พระเจ้าทรงเตือนหลายครั้งหลายหนไม่ให้ทำเช่นนั้น. ตัวอย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญ 115:4-6 กล่าวถึงรูปเคารพว่า “มีหู, แต่ยินไม่ได้.” เราเห็นจุดสำคัญได้ชัดเจน. จะมีประโยชน์อะไรที่จะอธิษฐานถึงพระที่ไม่มีทางได้ยินสิ่งที่คุณพูด?
บันทึกเรื่องหนึ่งที่น่าตื่นเต้นในคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น. ผู้พยากรณ์แท้เอลียาห์ได้ท้าให้พวกผู้พยากรณ์ของพระบาอัลอธิษฐานถึงพระของเขา แล้วหลังจากนั้นท่านจะอธิษฐานถึงพระของท่าน. เอลียาห์พูดว่าพระเจ้าเที่ยงแท้จะตอบคำอธิษฐานแต่พระเท็จจะไม่ตอบ. ผู้พยากรณ์ของพระบาอัลรับคำท้าและได้อธิษฐานอย่างร้อนรนและยืดยาว และอาจร้องเสียงดังด้วยซ้ำ แต่ก็ไร้ผล! บันทึกกล่าวว่า “ไม่มีใครตอบ ไม่มีใครฟัง.” (1 กษัตริย์ 18:29, ฉบับ R73) แต่เอลียาห์ล่ะเป็นอย่างไร?
หลังจากเอลียาห์อธิษฐานแล้ว พระเจ้าของท่านก็ตอบคำอธิษฐานในทันทีโดยส่งไฟลงมาจากสวรรค์เผาเครื่องบูชาที่เอลียาห์ได้เตรียมไว้. คำอธิษฐานของเอลียาห์ต่างจากคำอธิษฐานของผู้พยากรณ์ของบาอัลอย่างไร? คำอธิษฐานของเอลียาห์ซึ่งบันทึกใน 1 กษัตริย์ 18:36, 37 ช่วยให้รู้คำตอบ. คำอธิษฐานนั้นสั้นมาก ท่านใช้คำภาษาฮีบรูราว ๆ 30 คำเท่านั้น. แต่ในคำอธิษฐานไม่กี่ประโยคนั้น เอลียาห์ได้ใช้พระนามยะโฮวาซึ่งเป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้าถึงสามครั้ง.
บาอัล ซึ่งมีความหมายว่า “เจ้าของ” หรือ “เจ้านาย” เป็นพระของชาวคะนาอัน และเป็นชื่อที่ใช้กับพระหลายองค์ในหลายดินแดน. แต่ ยะโฮวา เป็นพระนามพิเศษที่ไม่เหมือนนามใดและใช้กับผู้เดียวเท่านั้นในเอกภพ. พระเจ้าองค์นี้ได้ตรัสกับประชาชนของพระองค์ว่า “เราคือยะโฮวา, นามนี้เป็นนามของเรา; และสง่าราศีของเรา ๆ จะไม่ยกให้แก่ผู้ใด.”—ยะซายา 42:8
คำอธิษฐานของเอลียาห์และคำอธิษฐานของพวกผู้พยากรณ์ของบาอัลไปถึงพระองค์เดียวกันไหม? การนมัสการบาอัลทำให้ผู้คนเสื่อมทรามด้วยพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโสเภณีและถึงกับบูชายัญมนุษย์ด้วยซ้ำ. ตรงกันข้าม การนมัสการพระยะโฮวายกระดับชาวอิสราเอลประชาชนของพระองค์โดยทำให้พวกเขาเป็นอิสระจากกิจปฏิบัติที่เสื่อมทรามเหล่านั้น. ฉะนั้น ขอให้คิดดู: ถ้าคุณตั้งใจจะเขียนจดหมายไปถึงเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนดีน่านับถือ โดยจ่าหน้าชื่อเขาอย่างชัดเจน คุณคงไม่คาดหมายว่าจดหมายนั้นจะไปถึงอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงไม่ดีต่างจากเพื่อนของคุณอย่างสิ้นเชิงมิใช่หรือ? คุณคงไม่คาดหมายเช่นนั้นแน่!
เรื่องราวเกี่ยวกับเอลียาห์และผู้พยากรณ์ของบาอัลพิสูจน์ว่าคำอธิษฐานทุกอย่างไม่ได้ไปถึงพระองค์เดียวกัน
ถ้าคุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวา คุณก็กำลังอธิษฐานถึงพระผู้สร้างผู้เป็นบิดาแห่งมวลมนุษยชาติ.a ผู้พยากรณ์ยะซายาห์กล่าวในคำอธิษฐานว่า “โอ้พระยะโฮวาพระองค์เป็นพระบิดาของพวกข้าพเจ้า.” (ยะซายา 63:16) ฉะนั้น พระเจ้าองค์นี้แหละคือผู้ที่พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึงเมื่อทรงบอกผู้ติดตามพระองค์ว่า “เรากำลังจะขึ้นไปหาพระองค์ผู้เป็นพระบิดาของเราและพระบิดาของพวกเจ้า และขึ้นไปหาพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเราและพระเจ้าของพวกเจ้า.” (โยฮัน 20:17) พระยะโฮวาคือพระบิดาของพระเยซู. พระองค์คือพระเจ้าที่พระเยซูอธิษฐานถึงและสอนสาวกให้อธิษฐานถึงด้วย.—มัดธาย 6:9
คัมภีร์ไบเบิลสอนให้เราอธิษฐานถึงพระเยซู, มาเรีย, นักบุญ, หรือทูตสวรรค์ไหม? ไม่เลย เราต้องอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเท่านั้น. ให้เราพิจารณาเหตุผลสองประการในเรื่องนี้. ประการแรก การอธิษฐานเป็นการนมัสการรูปแบบหนึ่ง และคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราต้องนมัสการพระยะโฮวาผู้เดียวเท่านั้น. (เอ็กโซโด 20:5) ประการที่สอง คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่าพระยะโฮวาเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) แม้พระยะโฮวาจะมอบหน้าที่หลายอย่างให้แก่ผู้อื่น แต่พระองค์ไม่เคยมอบหน้าที่นี้ให้แก่ผู้ใด. พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้สัญญาว่าจะสดับคำอธิษฐานของเราด้วยพระองค์เอง.
ดังนั้น ถ้าคุณต้องการให้พระเจ้าสดับคำอธิษฐานของคุณ ขอให้จำคำแนะนำในข้อคัมภีร์นี้ไว้ที่ว่า “ทุกคนที่ทูลอ้อนวอนโดยออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” (กิจการ 2:21) แต่พระยะโฮวาจะสดับคำอธิษฐานทุกอย่างไหม? หรือมีอะไรอีกไหมที่เราจำเป็นต้องรู้ ถ้าเราต้องการให้พระยะโฮวาสดับคำอธิษฐานของเรา?
a บางศาสนาสอนว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะออกเสียงพระนามเฉพาะของพระเจ้าแม้แต่ในคำอธิษฐาน. อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ไบเบิลภาษาเดิมมีพระนามนี้ปรากฏอยู่ประมาณ 7,000 ครั้ง ซึ่งหลายครั้งอยู่ในคำอธิษฐานและเพลงสรรเสริญของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา.
-
-
3 อย่างไร?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
3 อย่างไร?
เมื่อพูดถึงการอธิษฐาน หลายศาสนามักจะเน้นที่ท่าทาง, คำพูด, หรือพิธีกรรม. แต่คัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้คิดถึงแง่มุมอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าเกี่ยวกับคำถามที่ว่า “เราควรอธิษฐานอย่างไร?”
คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าได้อธิษฐานในหลายโอกาสและอธิษฐานด้วยท่าทางต่าง ๆ กัน. พวกเขาอธิษฐานในใจหรือออกเสียงแล้วแต่สภาพการณ์. พวกเขาอธิษฐานโดยเงยหน้ามองฟ้าหรือหมอบลงกับพื้น. แทนที่จะอธิษฐานโดยใช้รูปเคารพ, ลูกประคำ, หรือหนังสือบทสวด พวกเขาเพียงแต่อธิษฐานจากหัวใจเป็นคำพูดของตนเอง. อะไรทำให้คำอธิษฐานของพวกเขาได้รับคำตอบ?
ดังที่กล่าวไปในบทความก่อน พวกเขาอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น. แต่มีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน. เราอ่านที่ 1 โยฮัน 5:14 ว่า “เรามั่นใจในพระเจ้าว่า สิ่งใดก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงฟังเรา.” คำอธิษฐานของเราต้องสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า. นี่หมายความว่าอย่างไร?
เพื่อจะอธิษฐานอย่างที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าเราจำเป็นต้องรู้ว่าพระองค์มีพระประสงค์เช่นไร. ดังนั้น การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลจึงจำเป็นอย่างยิ่ง. นี่หมายความไหมว่าเราต้องมีความรู้ถึงขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าจึงจะสดับคำอธิษฐานของเรา? ไม่ใช่เช่นนั้น แต่พระเจ้าคาดหมายให้เราเรียนรู้พระประสงค์ของพระองค์ รวมทั้งพยายามเข้าใจและปฏิบัติตามพระประสงค์นั้น. (มัดธาย 7:21-23) สิ่งที่เราอธิษฐานจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้.
คำอธิษฐานจะได้รับคำตอบถ้าสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า, อธิษฐานด้วยความเชื่อ, และอธิษฐานในนามพระเยซู
ขณะที่เราเรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์เราจะมีความเชื่อมากขึ้น และความเชื่อนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คำอธิษฐานของเราได้รับคำตอบ. พระเยซูตรัสว่า “ทุกสิ่งที่พวกเจ้าอธิษฐานขอด้วยความเชื่อ เจ้าจะได้รับ.” (มัดธาย 21:22) ความเชื่อไม่ใช่ความงมงาย. แต่ความเชื่อหมายถึงความมั่นใจในสิ่งหนึ่งซึ่งแม้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่น. (ฮีบรู 11:1) คัมภีร์ไบเบิลมีหลักฐานท่วมท้นที่แสดงว่าพระยะโฮวาผู้ซึ่งเรามองไม่เห็นมีพระชนม์อยู่จริง, เป็นผู้ที่เราวางใจได้, และเต็มพระทัยจะตอบคำอธิษฐานของผู้ที่เชื่อในพระองค์. นอกจากนั้น เราแน่ใจว่าเราสามารถขอพระยะโฮวาช่วยเราให้มีความเชื่อมากขึ้นได้ และพระองค์เต็มพระทัยและยินดีที่จะประทานทุกสิ่งที่เราจำเป็นต้องได้รับ.—ลูกา 17:5; ยาโกโบ 1:17
ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการอธิษฐาน. พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีใครจะมาถึงพระบิดาได้นอกจากมาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) ดังนั้น พระเยซูทรงเป็นผู้เดียวที่จะนำเราไปถึงพระยะโฮวาพระบิดาได้. เพราะเหตุนี้พระเยซูจึงบอกให้สาวกอธิษฐานในนามของพระองค์. (โยฮัน 14:13; 15:16) นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรอธิษฐานถึงพระเยซู. แทนที่จะทำเช่นนั้นเราอธิษฐานในนามของพระเยซู โดยระลึกว่าพระเยซูเป็นผู้ที่ทำให้เราสามารถเข้าเฝ้าพระบิดาองค์บริสุทธิ์และสมบูรณ์พร้อมได้.
ในโอกาสหนึ่ง เหล่าสาวกที่ใกล้ชิดพระเยซูที่สุดได้ทูลพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอทรงสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐาน.” (ลูกา 11:1) ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ขอพระเยซูสอนเกี่ยวกับวิธีอธิษฐานดังที่เราเพิ่งพิจารณาไป แต่พวกเขาต้องการรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดในคำอธิษฐาน เหมือนกับจะถามว่า ‘พวกข้าพเจ้าควรอธิษฐานเรื่องอะไร?’
-
-
4 เรื่องอะไร?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
4 เรื่องอะไร?
กล่าวกันว่า คำอธิษฐานนี้เป็นคำอธิษฐานที่คริสเตียนท่องจำกันมากที่สุด. ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ที่แน่ ๆ ก็คือคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูหรือที่บางคนเรียกว่าคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือบทสวดข้าแต่พระบิดาได้ถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์. หลายล้านคนท่องคำอธิษฐานนี้ทุกวัน บางทีวันละหลายครั้งด้วยซ้ำ. แต่ที่จริงพระเยซูไม่ประสงค์ให้เราท่องจำคำอธิษฐานนั้น. เรารู้ได้อย่างไร?
ก่อนที่จะกล่าวคำอธิษฐานนั้น พระเยซูเพิ่งตรัสว่า “เมื่ออธิษฐาน อย่ากล่าวถ้อยคำเดียวกันซ้ำซาก.” (มัดธาย 6:7) พระเยซูจะทำสิ่งที่ขัดกับคำตรัสของพระองค์เองโดยสอนสาวกให้ท่องจำหรือกล่าวซ้ำคำอธิษฐานบทหนึ่งไหม? ไม่เลย! ที่จริง พระเยซูเพียงแต่บอกให้เรารู้ว่าควรอธิษฐานเรื่องอะไรและสอนให้เราจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะพูดในคำอธิษฐาน. ให้เราพิจารณาสิ่งที่พระเยซูตรัสในคำอธิษฐานอย่างละเอียด. คำอธิษฐานนี้มีบันทึกไว้ที่มัดธาย 6:9-13.
“ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.”
พระเยซูตรัสเช่นนี้เพื่อให้สาวกระลึกว่าเมื่ออธิษฐานควรอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์เท่านั้น. แต่คุณรู้ไหมว่าทำไมพระนามของพระเจ้าจึงสำคัญมากและทำไมต้องทำให้พระนามนี้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์?
ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นประวัติศาสตร์มนุษย์ พระนามอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าถูกทำให้มัวหมองด้วยคำโกหก. ซาตาน ศัตรูของพระยะโฮวากล่าวหาพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองที่โกหก, เห็นแก่ตัว, และไม่มีสิทธิ์อย่างแท้จริงที่จะปกครองสิ่งที่พระองค์สร้าง. (เยเนซิศ 3:1-6) หลายคนเข้าข้างซาตานโดยสอนว่าพระเจ้าเย็นชา, โหดเหี้ยม, และอาฆาตพยาบาท อีกทั้งไม่ยอมรับว่าพระองค์เป็นพระผู้สร้างเลยด้วยซ้ำ. บางคนถึงกับเหยียบย่ำพระนามของพระองค์โดยตัดพระนามยะโฮวาออกจากคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับและห้ามไม่ให้ใช้พระนามนี้.
คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่าพระเจ้าจะแก้ไขการกระทำที่ไม่ยุติธรรมเหล่านี้ทั้งหมด. (ยะเอศเคล 39:7) การที่พระองค์ทำเช่นนั้นจะเป็นผลดีกับคุณด้วยเพราะปัญหาทั้งสิ้นของคุณจะได้รับการแก้ไขและพระองค์จะดูแลคุณในทุกเรื่อง. พระเจ้าจะทำโดยวิธีใด? ถ้อยคำที่พระเยซูตรัสต่อไปในคำอธิษฐานของพระองค์จะให้คำตอบ.
“ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด.”
สิ่งที่ผู้สอนศาสนาในทุกวันนี้สอนเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าทำให้หลายคนสับสน. แต่สาวกของพระเยซูรู้ว่าผู้พยากรณ์ของพระเจ้าได้บอกล่วงหน้านานมาแล้วว่า พระมาซีฮาผู้ช่วยให้รอดที่พระเจ้าเลือกไว้จะปกครองราชอาณาจักรซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนแผ่นดินโลก. (ยะซายา 9:6, 7; ดานิเอล 2:44) ราชอาณาจักรนี้จะทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยเปิดโปงคำโกหกของซาตาน แล้วหลังจากนั้นก็จะทำลายซาตานและทุกสิ่งที่มันได้ทำไว้. ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำให้สงคราม, ความเจ็บป่วย, การขาดแคลนอาหาร, และแม้แต่ความตายหมดสิ้นไป. (บทเพลงสรรเสริญ 46:9; 72:12-16; ยะซายา 25:8; 33:24) การที่คุณอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาก็เท่ากับว่าคุณกำลังอธิษฐานขอให้คำสัญญาเหล่านี้ทั้งสิ้นเป็นจริง.
“ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.”
คำตรัสของพระเยซูบ่งชี้ว่าพระประสงค์ของพระเจ้าจะต้องสำเร็จบนแผ่นดินโลกอย่างแน่นอนเช่นเดียวกับที่สำเร็จในสวรรค์ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้า. พระประสงค์ของพระเจ้าได้สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างที่ไม่มีผู้ใดขัดขวางได้. ที่นั่นพระบุตรของพระเจ้าได้ทำสงครามกับซาตานและบริวารของมันแล้วเหวี่ยงพวกมันลงมายังแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 12:9-12) เช่นเดียวกับคำขอสองอย่างก่อนหน้านั้น คำขออย่างที่สามในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูช่วยให้เราให้คำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นอันดับแรกเสมอไม่ใช่ความต้องการของเราเอง. และพระประสงค์ของพระเจ้าจะก่อผลที่ดีที่สุดแก่สิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น. ด้วยเหตุนี้ แม้แต่พระเยซูผู้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ก็ยังทูลพระบิดาว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด.”—ลูกา 22:42.
“ขอทรงประทานอาหารแก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้.”
คำขอนี้ของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าเราสามารถทูลขอสำหรับตัวเองได้ด้วย. ไม่ผิดที่เราจะอธิษฐานขอพระเจ้าดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็นในแต่ละวัน. ที่จริง การขอเช่นนั้นช่วยให้เราระลึกอยู่เสมอว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ “ประทานชีวิต ลมหายใจ และสารพัดสิ่งแก่คนทั้งปวง.” (กิจการ 17:25) คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักซึ่งยินดีจะให้ทุกสิ่งที่จำเป็นแก่บุตรของพระองค์. แต่เช่นเดียวกับพ่อที่ดี พระองค์จะไม่ทำตามคำขอที่อาจเป็นผลเสียต่อสวัสดิภาพของลูก.
“ขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้า.”
คุณเป็นหนี้ความผิดพระเจ้าจริง ๆ ไหม? คุณจำเป็นต้องได้รับการอภัยจากพระองค์ไหม? หลายคนในทุกวันนี้ไม่มีความสำนึกในเรื่องบาปหรือความร้ายแรงของบาปอีกต่อไป. แต่คัมภีร์ไบเบิลสอนว่าบาปเป็นต้นเหตุของสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะบาปคือตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ตาย. เนื่องจากเราเกิดมาเป็นคนบาป เราจึงทำผิดบ่อย ๆ และวิธีเดียวที่จะทำให้เราอยู่ตลอดไปได้คือเราต้องได้รับการอภัยจากพระเจ้า. (โรม 3:23; 5:12; 6:23) เราสบายใจที่รู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลบอกดังนี้: “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.], พระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระคุณพร้อมที่จะทรงยกความผิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 86:5
“ขอทรงช่วยพวกข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย.”
คุณตระหนักไหมว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นมากเพียงไรที่คุณจะต้องได้รับการปกป้องจากพระเจ้า? หลายคนไม่ยอมเชื่อว่า ซาตาน “ตัวชั่วร้าย” มีอยู่จริง ๆ. แต่พระเยซูทรงสอนว่าซาตานเป็นบุคคลจริงและถึงกับเรียกมันว่า “ผู้ปกครองโลก.” (โยฮัน 12:31; 16:11) ซาตานได้บ่อนทำลายโลกที่มันครอบครองอยู่นี้ และมันก็จ้องที่จะทำลายคุณและขัดขวางไม่ให้คุณมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระบิดาของคุณ. (1 เปโตร 5:8) แต่พระยะโฮวาทรงมีพลังอำนาจยิ่งกว่าซาตานมากและยินดีอย่างยิ่งที่จะปกป้องผู้ที่รักพระองค์.
คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูที่พิจารณาไปในบทความนี้ไม่ได้ครอบคลุมทุกเรื่องที่อาจพูดได้ในคำอธิษฐาน. ขอให้จำไว้ว่า 1 โยฮัน 5:14 บอกเราเกี่ยวกับพระเจ้าว่า “สิ่งใด ก็ตามที่เราทูลขอ ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์ พระองค์จะทรงฟังเรา.” ดังนั้น ไม่ว่าคุณมีปัญหาอะไร ขอคุณอย่าคิดว่าปัญหาของคุณเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินกว่าจะทูลเรื่องนั้นต่อพระเจ้า.—1 เปโตร 5:7
แต่จะว่าอย่างไรในเรื่องเวลาและสถานที่สำหรับอธิษฐาน? สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญไหม?
-
-
5 เวลาและสถานที่สำคัญไหม?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
5 เวลาและสถานที่สำคัญไหม?
คุณคงสังเกตว่าศาสนาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสถานที่อธิษฐานที่ใหญ่โตหรูหราและยังกำหนดด้วยว่าควรอธิษฐานเวลาใด. คัมภีร์ไบเบิลมีข้อกำหนดไหมว่าควรอธิษฐานที่ไหนและเมื่อไร?
จริง ๆ แล้วคัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่ามีโอกาสใดบ้างที่จะอธิษฐานได้. ตัวอย่างเช่น ก่อนที่พระเยซูจะรับประทานอาหารกับเหล่าสาวก พระองค์ได้อธิษฐานขอบคุณพระเจ้า. (ลูกา 22:17) และเมื่อสาวกของพระองค์มาชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระเจ้า พวกเขาก็อธิษฐานร่วมกัน. นั่นเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมานานแล้วในธรรมศาลาของชาวยิวและในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลม. พระเจ้าทรงให้มีพระวิหารเพื่อเป็น “นิเวศสำหรับการอธิษฐานของชนทุกชาติ.”—มาระโก 11:17
เมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้ามาชุมนุมกันและอธิษฐานด้วยกันคำอธิษฐานของพวกเขาจะได้รับคำตอบ. ถ้าความคิดจิตใจของพวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและคำอธิษฐานที่กล่าวในนามของพวกเขาสอดคล้องกับหลักการพระคัมภีร์ พระเจ้าก็จะพอพระทัย. คำอธิษฐานนั้นอาจถึงกับกระตุ้นให้พระเจ้าทำสิ่งที่พระองค์อาจไม่คิดจะทำด้วยซ้ำ. (ฮีบรู 13:18, 19) พยานพระยะโฮวาอธิษฐานเป็นประจำที่การประชุมของพวกเขา. เรายินดีเชิญคุณมาที่หอประชุมราชอาณาจักรที่อยู่ใกล้บ้านคุณและฟังคำอธิษฐานเหล่านี้ด้วยตัวคุณเอง.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่มีข้อกำหนดว่าควรอธิษฐานเวลาใดและที่ไหน. เราอ่านพบในคัมภีร์ไบเบิลว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าอธิษฐานทุกที่ทุกเวลา. พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายอธิษฐาน จงเข้าไปอยู่ในห้องเป็นส่วนตัว และเมื่อปิดประตูห้องแล้ว จงอธิษฐานถึงพระบิดาของเจ้าผู้อยู่ในที่ลับลี้ แล้วพระบิดาผู้ทอดพระเนตรในที่ลับลี้จะทรงตอบเจ้า.”—มัดธาย 6:6
เราสามารถอธิษฐานได้ทุกที่ทุกเวลา
นี่เป็นคำตรัสที่ทำให้อบอุ่นใจมิใช่หรือ? คุณสามารถเข้าเฝ้าผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดในเอกภพได้เป็นส่วนตัวไม่ว่าเวลาใด และมั่นใจได้ว่าพระองค์จะฟังคุณอย่างแน่นอน. เพราะเหตุนี้ พระเยซูจึงมักหาเวลาอยู่ตามลำพังเพื่ออธิษฐาน! ครั้งหนึ่งพระองค์อธิษฐานถึงพระเจ้าตลอดทั้งคืน ดูเหมือนว่าพระองค์ทำเช่นนั้นเพื่อขอการชี้นำก่อนจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ.—ลูกา 6:12, 13
ชายหญิงคนอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลได้อธิษฐานเมื่อเผชิญการตัดสินใจที่สำคัญหรือปัญหาที่ทำให้หวาดหวั่น. บางครั้งพวกเขาอธิษฐานโดยพูดเสียงดังและบางครั้งก็อธิษฐานเงียบ ๆ ในใจ. พวกเขาอธิษฐานเป็นกลุ่มและอธิษฐานคนเดียว. ไม่ว่าอย่างไรสิ่งสำคัญก็คือพวกเขาอธิษฐาน. พระเจ้าถึงกับเชิญผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “จงอธิษฐานไม่หยุดหย่อน.” (1 เทสซาโลนิเก 5:17) พระองค์ทรงเต็มพระทัยสดับคำอธิษฐานของผู้ที่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์เสมอ. คำเชิญนี้แสดงว่าพระองค์รักและสนใจมนุษย์มิใช่หรือ?
อย่างไรก็ตาม ในโลกทุกวันนี้ที่ไม่อาจเชื่ออะไรได้ง่าย ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า ‘การอธิษฐานจะช่วยได้จริง ๆ หรือ?’ คุณคิดเช่นนั้นด้วยไหม?
-
-
6 จะช่วยได้หรือ?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
6 จะช่วยได้หรือ?
การอธิษฐานเป็นประโยชน์ต่อเราไหม? คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าได้รับประโยชน์มากจริง ๆ จากการอธิษฐาน. (ลูกา 22:40; ยาโกโบ 5:13) ที่จริง การอธิษฐานช่วยให้เรามีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าและเป็นประโยชน์ต่อเราทั้งด้านร่างกายและจิตใจด้วย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร?
เอาล่ะ สมมุติว่าลูกของคุณได้รับของขวัญจากใครคนหนึ่ง. คุณจะสอนลูกให้รู้สึก ขอบคุณเท่านั้นไหม? หรือคุณจะสอนเขาให้พูด ขอบคุณด้วย? เมื่อเราแสดงความรู้สึกที่สำคัญออกมาเป็นคำพูด เราก็กำลังตอกย้ำความรู้สึกนั้นและถึงกับทำให้ตัวเองรู้สึกอย่างนั้นมากขึ้นด้วย. เป็นเช่นนั้นด้วยไหมในการพูดกับพระเจ้า? แน่นอน! ให้เราดูบางตัวอย่างด้วยกัน.
คำอธิษฐานขอบคุณ. เมื่อเราขอบคุณพระบิดาของเราสำหรับสิ่งดี ๆ ที่เราได้รับ เราก็กำลังคิดถึงแต่สิ่งที่ดี. ผลคือเราจะรู้สึกขอบคุณพระเจ้ามากขึ้น, มีความสุขมากขึ้น, และคิดในแง่บวกมากขึ้น.—ฟิลิปปอย 4:6
ตัวอย่าง: พระเยซูทูลขอบพระคุณพระบิดาที่สดับฟัง และตอบคำอธิษฐานของพระองค์.—โยฮัน 11:41
คำอธิษฐานขอการอภัย. เมื่อเราขอให้พระเจ้าอภัยเรา เราก็มีสติรู้สึกผิดชอบดีขึ้น, เสียใจต่อสิ่งที่ได้ทำไปมากขึ้น, และสำนึกถึงความร้ายแรงของบาปมากยิ่งขึ้น. นอกจากนั้น เราจะไม่ทุกข์ใจเนื่องจากความรู้สึกผิดอีกต่อไป.
ตัวอย่าง: ดาวิดอธิษฐานเพื่อแสดงว่าท่านกลับใจและเสียใจ.—บทเพลงสรรเสริญบท 51
คำอธิษฐานขอการชี้นำและสติปัญญา. การอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาชี้นำหรือประทานสติปัญญาแก่เราเพื่อจะตัดสินใจได้อย่างดีสามารถช่วยเราให้เป็นคนถ่อมอย่างแท้จริง. การอธิษฐานเช่นนั้นช่วยให้เราระลึกถึงข้อจำกัดของตัวเองและวางใจในพระบิดาทางภาคสวรรค์ของเรามากขึ้น.—สุภาษิต 3:5, 6
ตัวอย่าง: โซโลมอนทูลอธิษฐานด้วยความถ่อมใจเพื่อขอการชี้นำและสติปัญญาในการปกครองชาติอิสราเอล.—1 กษัตริย์ 3:5-12
คำอธิษฐานในยามทุกข์ใจ. เมื่อเราระบายความในใจต่อพระเจ้าในยามที่จิตใจว้าวุ่น ใจของเราจะสงบและเราจะพึ่งพระยะโฮวาแทนที่จะพึ่งตัวเอง.—บทเพลงสรรเสริญ 62:8
ตัวอย่าง: กษัตริย์อาซาอธิษฐานเมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่น่าสะพรึงกลัว.—2 โครนิกา 14:11
คำอธิษฐานเพื่อสวัสดิภาพของผู้อื่น. การอธิษฐานเช่นนี้จะช่วยเราไม่ให้เป็นคนเห็นแก่ตัวและมีความเมตตาสงสารและความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น.
ตัวอย่าง: พระเยซูอธิษฐานเพื่อสาวกของพระองค์.—โยฮัน 17:9-17
คำอธิษฐานเพื่อสรรเสริญพระเจ้า. เมื่อเราสรรเสริญพระยะโฮวาเนื่องจากคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมและพระราชกิจอันมหัศจรรย์ของพระองค์ เราก็จะรู้สึกเคารพและสำนึกบุญคุณพระองค์มากขึ้น. การอธิษฐานเช่นนั้นยังช่วยให้เราใกล้ชิดพระเจ้าพระบิดาของเรามากขึ้นด้วย.
ตัวอย่าง: ดาวิดสรรเสริญพระเจ้าด้วยความรู้สึกจากหัวใจสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงสร้าง.—บทเพลงสรรเสริญบท 8
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการอธิษฐานคือเราจะมี “สันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่าง.” (ฟิลิปปอย 4:7) การมีใจสงบเป็นสิ่งที่พิเศษอย่างยิ่งในโลกที่วุ่นวายนี้และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของเราด้วย. (สุภาษิต 14:30) แต่การมีใจสงบเป็นผลมาจากความพยายามของเราเท่านั้นไหม? หรือมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย?
การอธิษฐานเป็นประโยชน์ต่อเราทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และที่สำคัญช่วยให้เรามีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า
-
-
7 พระเจ้าจะฟังและตอบไหม?หอสังเกตการณ์ 2010 | 1 ตุลาคม
-
-
7 พระเจ้าจะฟังและตอบไหม?
คำถามนี้กระตุ้นความสนใจและความอยากรู้อยากเห็น. คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าพระยะโฮวาทรงฟังคำอธิษฐานของผู้คนในทุกวันนี้จริง ๆ. แต่พระองค์จะสดับคำอธิษฐานของเราหรือไม่นั้นส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับตัวเราเอง.
พระเยซูได้ประณามผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์ที่อธิษฐานแบบหน้าซื่อใจคด เพราะพวกเขาอธิษฐานเพียงเพื่อจะให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาเคร่งศาสนา. พระองค์ตรัสว่าคนเหล่านั้นจะได้ “บำเหน็จของเขา” ซึ่งหมายความว่าคนเหล่านั้นจะได้เพียงสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดนั่นคือการยกย่องจากมนุษย์ แต่เขาจะไม่ได้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขานั่นคือการสดับฟังจากพระเจ้า. (มัดธาย 6:5) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน หลายคนอธิษฐานตามวิธีของตนเองไม่ใช่ตามวิธีของพระเจ้า. เนื่องจากพวกเขาไม่สนใจหลักการของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการอธิษฐานดังที่เราได้พิจารณาไปแล้ว พระเจ้าจึงไม่สดับคำอธิษฐานของพวกเขา.
จะว่าอย่างไรสำหรับคุณ? พระเจ้าจะฟังและตอบคำอธิษฐานของคุณไหม? คำตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีสีผิวหรือเชื้อชาติอะไรและมีฐานะทางสังคมเช่นไร. คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง แต่พระองค์ทรงชอบพระทัยคนที่ยำเกรงพระองค์และประพฤติชอบธรรมไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด.” (กิจการ 10:34, 35) คุณเป็นคนที่ยำเกรงพระเจ้าและประพฤติชอบธรรมไหม? ถ้าคุณยำเกรงพระเจ้าคุณจะเคารพยกย่องพระองค์อย่างสูงสุดและไม่ต้องการทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย. ถ้าคุณประพฤติชอบธรรมคุณจะพยายามทำสิ่งที่พระเจ้าบอกว่าถูกต้องแทนที่จะทำตามความต้องการของตัวเองหรือของคนอื่น. คุณต้องการให้พระเจ้าสดับคำอธิษฐานของคุณจริง ๆ ไหม? คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่าคุณต้องทำอย่างไร.a
จริงอยู่ หลายคนอยากให้พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของพวกเขาด้วยวิธีอัศจรรย์. อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลก็มีน้อยครั้งที่พระเจ้าจะตอบคำอธิษฐานด้วยการอัศจรรย์. การอัศจรรย์เช่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ บางครั้งอาจเว้นช่วงห่างกันเป็นร้อย ๆ ปี. นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลชี้ว่าหลังจากเหล่าอัครสาวกเสียชีวิตแล้ว การอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็หมดไป. (1 โครินท์ 13:8-10) นี่หมายความว่าทุกวันนี้พระเจ้าไม่ทรงตอบคำอธิษฐานใด ๆ เลยไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น! ให้เรามาดูตัวอย่างคำอธิษฐานที่ได้รับคำตอบจากพระเจ้า.
พระเจ้าประทานสติปัญญา. พระยะโฮวาเป็นบ่อเกิดของสติปัญญาแท้ทั้งมวล. พระองค์ทรงมีพระทัยกว้างและยินดีที่จะประทานสติปัญญานั้นแก่คนที่อยากได้รับการชี้นำจากพระองค์และพยายามดำเนินชีวิตตามสติปัญญานั้น.—ยาโกโบ 1:5
พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์และผลดีที่เกิดจากการดำเนินงานของพระวิญญาณนั้น. พระวิญญาณบริสุทธิ์คือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า. ไม่มีพลังใดที่เหนือกว่าพลังนี้. พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถช่วยเราให้อดทนการทดสอบ. พระวิญญาณนี้สามารถทำให้เรามีความสงบใจเมื่อเกิดปัญหา. พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถช่วยเราให้ปลูกฝังคุณลักษณะที่ยอดเยี่ยมและน่ารักอื่น ๆ ด้วย. (กาลาเทีย 5:22, 23) พระเยซูทรงรับรองกับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่าพระเจ้าจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยพระทัยกว้าง.—ลูกา 11:13
พระเจ้าช่วยให้คนที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจรู้ความจริง. (กิจการ 17:26, 27) มีคนที่พยายามแสวงหาความจริงอยู่ทั่วทุกมุมโลก. พวกเขาอยากรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเจ้า เช่น พระองค์มีพระนามว่าอะไร, พระองค์มีพระประสงค์เช่นไรสำหรับแผ่นดินโลกและมนุษย์, พวกเขาจะเข้าใกล้พระองค์ได้อย่างไร. (ยาโกโบ 4:8) บ่อยครั้ง พยานพระยะโฮวาได้พบคนเช่นนั้นและยินดีบอกให้พวกเขารู้คำตอบจากคัมภีร์ไบเบิลสำหรับคำถามเหล่านั้น.
คุณรับวารสารนี้เพราะอยากรู้เกี่ยวกับพระเจ้าไหม? คุณกำลังแสวงหาพระเจ้าอยู่ไหม? บางทีนี่อาจเป็นคำตอบจากพระเจ้าสำหรับคำอธิษฐานของคุณก็ได้.
a สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีอธิษฐานอย่างที่พระเจ้าจะสดับฟัง ดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? บท 17 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
-