จงตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณเพื่อสรรเสริญพระผู้สร้างของคุณ
“เมื่อคนเราไม่รู้ว่าจะแล่นเรือไปเทียบที่ท่าไหน ลมจะพัดไปทางใดก็ไม่สำคัญ.” ถ้อยคำเหล่านี้ ซึ่งเชื่อกันว่ากล่าวโดยนักปรัชญาชาวโรมันในสมัยศตวรรษแรก ชี้ไปยังความจริงที่ว่า เพื่อชีวิตจะมีจุดมุ่งหมาย เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ.
คัมภีร์ไบเบิลให้ตัวอย่างของผู้ที่ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง. โดยทำงานที่ใช้แรงกายถึง 50 ปี โนฮา “สร้างนาวาเพื่อช่วยครอบครัวของตนให้รอดชีวิต.” ผู้พยากรณ์โมเซ “มองเขม้นไปถึงการปูนบำเหน็จ.” (เฮ็บราย 11:7, 26, ล.ม.) ยะโฮซูอะ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโมเซได้รับเป้าหมายที่พระเจ้าประทานให้ในการพิชิตดินแดนคะนาอัน.—พระบัญญัติ 3:21, 22, 28; ยะโฮซูอะ 12:7-24.
ในสมัยศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ไม่ต้องสงสัยว่าเป้าหมายฝ่ายวิญญาณของอัครสาวกเปาโลได้รับอิทธิพลอย่างมากจากถ้อยคำของพระเยซูที่ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) โดยได้รับการกระตุ้นจากข่าวสารที่ได้รับเป็นส่วนตัวและนิมิตจากพระเยซู รวมถึงงานมอบหมายที่ให้ “นำนาม [ของพระเยซู] ไปยังคนต่างชาติ” เปาโลจึงมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนหลายแห่งเรียงรายข้ามเอเชียน้อยและเข้าไปในยุโรป.—กิจการ 9:15; โกโลซาย 1:23.
จริงทีเดียว บรรดาผู้รับใช้ของพระยะโฮวาตลอดหลายยุคหลายสมัยได้ตั้งเป้าหมายที่ดีเยี่ยมและได้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า. ในทุกวันนี้ เราจะตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร? เป้าหมายอะไรบ้างที่เราสามารถบากบั่นพยายามที่จะบรรลุ และเราสามารถทำตามขั้นตอนอะไรบ้างที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น?
แรงกระตุ้นที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็น
อาจมีการตั้งเป้าหมายในแทบทุกขอบเขตของชีวิตทีเดียว และโลกนี้ก็มีผู้คนที่ตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองด้วย. อย่างไรก็ตาม เป้าหมายตามระบอบของพระเจ้าไม่เหมือนกับความทะเยอทะยานอย่างโลก. แรงกระตุ้นพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังเป้าหมายมากมายของโลกคือความปรารถนาอันเลยเถิดในเรื่องความมั่งคั่งและความกระหายตำแหน่งและอำนาจอันไม่รู้จักพอ. นับเป็นความผิดพลาดอย่างแท้จริงที่จะมุ่งติดตามเป้าหมายที่จะได้มาซึ่งอำนาจและชื่อเสียง! เป้าหมายที่จะนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวาพระเจ้าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนมัสการของเราและผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักร. (มัดธาย 6:33) เป้าหมายเช่นนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์และมีความเลื่อมใสในพระเจ้าเป็นเป้าหมาย.—มัดธาย 22:37-39; 1 ติโมเธียว 4:7.
เมื่อเราตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณและติดตามเป้าหมายนั้น ขอให้แรงกระตุ้นของเราเป็นแบบที่ถูกต้อง ไม่ว่าเป้าหมายของเราคือเพื่อได้สิทธิพิเศษในงานรับใช้เพิ่มขึ้นหรือเพื่อทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเป็นส่วนตัว. กระนั้น แม้แต่เป้าหมายที่มาจากแรงกระตุ้นที่ถูกต้องบางครั้งก็อาจไม่บรรลุผลสำเร็จ. เราจะตั้งเป้าหมายและเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้อย่างไร?
ต้องมีความปรารถนาอันแรงกล้า
ขอให้พิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงทำให้งานสร้างเอกภพบรรลุผลสำเร็จ. ด้วยถ้อยคำที่ว่า “มีเวลาเย็นและเวลาเช้า” พระยะโฮวาทรงกำหนดช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันในการสร้างโลก. (เยเนซิศ 1:5, 8, 13, 19, 23, 31) ในตอนเริ่มต้นของแต่ละช่วงเวลา พระองค์ทราบเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของช่วงเวลานั้นอย่างชัดเจน. และพระเจ้าทำให้พระประสงค์ของพระองค์ในเรื่องการสร้างสิ่งต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ. (วิวรณ์ 4:11) โยบปฐมบรรพบุรุษได้กล่าวว่า “พระทัย [ของพระยะโฮวา] ประสงค์ให้เป็นไปอย่างไร, พระองค์ก็ทรงกระทำอย่างนั้น.” (โยบ 23:13) พระยะโฮวาคงพอพระทัยสักเพียงไรที่ได้เห็น “สิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้าง” และประกาศว่า “ดีนัก”!—เยเนซิศ 1:31.
เพื่อที่เป้าหมายของเราจะเป็นจริงได้ เราต้องมีความปรารถนาอันแรงกล้าเช่นกันที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น. อะไรจะช่วยเราให้พัฒนาความปรารถนาอันแรงกล้าเช่นนั้น? แม้แต่ในขณะที่แผ่นดินโลกว่างเปล่าอยู่ พระยะโฮวาทรงเห็นผลสุดท้ายของแผ่นดินโลกล่วงหน้า นั่นคือเป็นอัญมณีที่สวยงามในห้วงอวกาศซึ่งจะนำคำสรรเสริญและพระเกียรติมาสู่พระองค์. ในทำนองเดียวกัน การใคร่ครวญถึงผลที่จะเกิดขึ้นและประโยชน์ของการบรรลุเป้าหมายนั้นจะช่วยเพิ่มพูนความปรารถนาที่จะทำให้สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้นั้นบรรลุผลสำเร็จ. นั่นเป็นประสบการณ์ของโทนีวัย 19 ปี. เขาไม่เคยลืมความประทับใจครั้งแรกที่ได้เยี่ยมชมสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในยุโรปตะวันตก. ตั้งแต่นั้นมา คำถามที่อยู่ในใจของโทนีก็คือ ‘จะเป็นเช่นไรถ้าได้อยู่และรับใช้ในสถานที่เช่นนี้?’ โทนีคิดอยู่ตลอดเวลาถึงความเป็นไปได้ และเขาพยายามต่อไปที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น. เขามีความสุขมากเพียงไรเมื่อหลายปีต่อมา ใบสมัครของเขาที่จะรับใช้ในเบเธลได้รับการอนุมัติ!
การคบหาสมาคมกับคนที่ไปถึงเป้าหมายบางอย่างแล้ว จะช่วยก่อความปรารถนาที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นขึ้นในตัวเรา. เจสันซึ่งขณะนี้อายุ 30 ปี ไม่ค่อยชอบเข้าส่วนร่วมในงานประกาศเท่าไรนักในช่วงที่เป็นวัยรุ่น. แต่หลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยม เขากระตือรือร้นที่จะเข้าสู่งานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์ ดังนั้น เขาจึงมาเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรเต็มเวลา. อะไรช่วยเจสันให้ปลูกฝังความปรารถนาที่จะเป็นไพโอเนียร์? เขาตอบว่า “การพูดคุยกับคนที่เป็นไพโอเนียร์และทำงานรับใช้ร่วมกันกับพวกเขามีอิทธิพลต่อผมอย่างมาก.”
การเขียนเป้าหมายสามารถช่วยได้
ความคิดลอย ๆ จะแจ่มชัดและเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อเราดึงความคิดนั้นออกมาเป็นถ้อยคำ. ซะโลโมกล่าวว่า ถ้อยคำที่เหมาะสมอาจมีพลังเหมือนกับประตักที่ให้การชี้นำในชีวิต. (ท่านผู้ประกาศ 12:11) เมื่อเขียนถ้อยคำเหล่านั้น มันจะฝังแน่นตราตรึงอยู่ในจิตใจและหัวใจ. จะมีเหตุผลอื่นใดหรือที่พระยะโฮวาบัญชาให้บรรดากษัตริย์แห่งอิสราเอลคัดลอกพระบัญญัติเป็นฉบับส่วนตัว? (พระบัญญัติ 17:18) ดังนั้น เราอาจปรารถนาที่จะเขียนเป้าหมายของเราและวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นเป็นลายลักษณ์อักษร จดรายการอุปสรรคต่าง ๆ ที่เราคาดว่าจะมี รวมทั้งวิธีที่จะเอาชนะ. นอกจากนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะระบุว่าเราต้องการจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใด, ทักษะอะไรที่เราจำเป็นต้องมี, และคนที่สามารถช่วยและสนับสนุนเราได้.
การตั้งเป้าหมายฝ่ายวิญญาณให้ตัวเองมีส่วนทำให้เจฟฟรีย์ซึ่งเป็นไพโอเนียร์พิเศษมานานหลายปีในเขตโดดเดี่ยวในประเทศแถบเอเชียตั้งมั่นคงอยู่ได้. จู่ ๆ โศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้นเมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิตอย่างกะทันหัน. หลังจากใช้เวลาปรับตัวระยะหนึ่งแล้ว เจฟฟรีย์ตัดสินใจยึดอยู่กับงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์อย่างเต็มที่โดยการตั้งเป้าหมาย. หลังจากเขียนแผนการของเขาบนกระดาษ เขาอธิษฐานในเรื่องการตั้งเป้าที่จะเริ่มการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลให้ได้สามรายเมื่อถึงสิ้นเดือน. เขาทบทวนกิจกรรมของเขาในแต่ละวัน และตรวจดูความก้าวหน้าทุกสิบวัน. เขาบรรลุเป้าหมายไหม? ใช่แล้ว ที่จริงเขาส่งรายงานการศึกษาใหม่สี่รายด้วยความยินดี!
ตั้งเป้าหมายระยะสั้นให้เป็นเหมือนเครื่องหมายที่ปักไว้ตามทาง
ในตอนแรก เป้าหมายบางอย่างอาจยากเกินกว่าที่จะบรรลุได้. สำหรับโทนีที่กล่าวถึงในตอนต้น การรับใช้ในสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาดูเหมือนเป็นความฝัน. นั่นก็เพราะเขาเคยใช้ชีวิตเสเพล และยังไม่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วยซ้ำ. แต่โทนีตัดสินใจที่จะทำให้ชีวิตของเขาสอดคล้องลงรอยกับแนวทางของพระยะโฮวาและมีเป้าหมายที่จะมีคุณวุฒิเพื่อจะรับบัพติสมา. หลังจากบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว เขาก็ตั้งเป้าหมายในการเป็นไพโอเนียร์สมทบและไพโอเนียร์ประจำ โดยหมายวันที่ที่จะเริ่มเป็นไพโอเนียร์ในปฏิทินของเขา. หลังจากเป็นไพโอเนียร์ได้ระยะหนึ่ง การรับใช้ที่สำนักงานสาขาก็ดูเหมือนว่าไม่ใช่เป้าหมายที่ไม่มีทางที่จะบรรลุได้.
นับเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับเราเช่นกันที่จะแบ่งเป้าหมายระยะยาวออกเป็นเป้าหมายระยะสั้นสองสามอย่าง. เป้าหมายระยะสั้นเหล่านี้จะเป็นเหมือนเครื่องหมายที่ปักไว้ตามทางที่เราบรรลุได้เป็นระยะ ๆ ขณะที่พยายามไปให้ถึงเป้าหมายระยะยาว. การตรวจวัดดูความก้าวหน้าของเราเป็นประจำโดยคำนึงถึงเครื่องหมายที่ปักไว้ตามทางเหล่านั้นจะช่วยให้จิตใจของเราแน่วแน่อยู่เสมอ. นอกจากนั้น การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับแผนการของเราจะช่วยเราให้คงอยู่บนเส้นทางต่อไป. อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนว่า “จงอธิษฐานเสมออย่าเว้น.”—1 เธซะโลนิเก 5:17.
จำต้องตั้งใจแน่วแน่และเพียรอดทน
ทั้ง ๆ ที่เราวางแผนไว้อย่างดีและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สำเร็จ แต่เป้าหมายบางอย่างก็ยังคงไม่สามารถบรรลุได้. สาวกโยฮันมาระโกคงจะผิดหวังสักเพียงไรเมื่ออัครสาวกเปาโลไม่ต้องการพาท่านไปด้วยในการเดินทางรอบที่สองของงานมิชชันนารีของเปาโล! (กิจการ 15:37-40) มาระโกต้องเรียนรู้จากความผิดหวังครั้งนี้และปรับเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อเพิ่มงานรับใช้ให้มากขึ้น. เห็นได้ชัดว่าท่านทำอย่างนั้น. ต่อมา เปาโลกล่าวถึงมาระโกด้วยความรักใคร่และมาระโกยังชื่นชมยินดีกับการคบหากับอัครสาวกเปโตรอย่างใกล้ชิดในบาบิโลน. (2 ติโมเธียว 4:11; 1 เปโตร 5:13) บางที สิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ของท่านก็คือการเขียนเรื่องราวที่มีขึ้นโดยการดลใจเกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู.
ในการติดตามเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ เราอาจต้องประสบกับอุปสรรคเช่นกัน. แทนที่จะยอมแพ้ เราต้องทบทวน, ประเมินดูแผนการใหม่, และทำการปรับเปลี่ยน. เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้น เราจำต้องพยายามรุดหน้าต่อไปด้วยความตั้งใจแน่วแน่และความเพียรอดทน. กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดรับรองกับเราว่า “จงมอบธุระการงานของเจ้าไว้กับพระยะโฮวา, และจุดประสงค์ของเจ้าจะสำเร็จผล.”—สุภาษิต 16:3.
กระนั้น บางครั้งสภาพการณ์ก็อาจทำให้การติดตามเป้าหมายบางอย่างไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง. ตัวอย่างเช่น สุขภาพที่อ่อนแอหรือหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวอาจทำให้เป้าหมายบางอย่างที่เราต้องการจะไปให้ถึงนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อม. ขอเราอย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่า บำเหน็จรางวัลสูงสุดคือชีวิตนิรันดร์ ไม่ว่าจะในสวรรค์หรือในอุทยานบนแผ่นดินโลก. (ลูกา 23:43; ฟิลิปปอย 3:13, 14) เราจะได้มาโดยวิธีใด? อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.” (1 โยฮัน 2:17) แม้ว่าสถานการณ์อาจไม่เอื้ออำนวยให้เราบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราก็ยังสามารถ “เกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์.” (ท่านผู้ประกาศ 12:13, ล.ม.) เป้าหมายต่าง ๆ ทางฝ่ายวิญญาณจะช่วยเราให้มุ่งมั่นจดจ่ออยู่ที่การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าต่อไป. ดังนั้น ขอให้เราใช้เป้าหมายเหล่านี้เพื่อสรรเสริญพระผู้สร้างของเรา.
[กรอบหน้า 22]
เป้าหมายฝ่ายวิญญาณที่ควรคำนึงถึง
○ การอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน
○ การอ่านหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ทุกฉบับ
○ การปรับปรุงคุณภาพคำอธิษฐานของเรา
○ การแสดงผลแห่งพระวิญญาณ
○ การบากบั่นเพื่อเพิ่มพูนงานรับใช้
○ การมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการประกาศและการสอน
○ การพัฒนาความชำนาญอย่างเช่น การให้คำพยานทางโทรศัพท์, การให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการ, และการให้คำพยานในเขตธุรกิจ