‘จงรักษาตัวให้พ้นจากความโลภทุกชนิด’
“แม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.” —ลูกา 12:15, ล.ม.
1, 2. (ก) คุณสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับความสนใจและการมุ่งแสวงหาของผู้คนในทุกวันนี้? (ข) เราอาจได้รับผลกระทบอย่างไรจากเจตคติเช่นนั้น?
ทรัพย์สิน, เงินทอง, ชื่อเสียง, งานรายได้ดี, ครอบครัว—นี่คือบางสิ่งที่คนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นเครื่องวัดความสำเร็จหรือสิ่งที่รับประกันอนาคตอันมั่นคง. ไม่ว่าในประเทศร่ำรวยหรือยากจน ดูเหมือนผู้คนเป็นอันมากสนใจและมุ่งแสวงหาผลประโยชน์และความก้าวหน้าด้านวัตถุ. ในทางตรงกันข้าม ความสนใจของพวกเขาในสิ่งฝ่ายวิญญาณ—หากยังมีอยู่บ้าง—กำลังลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว.
2 สภาพดังกล่าวเป็นเหมือนกับที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ล่วงหน้าเลยทีเดียว. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ในสมัยสุดท้ายจะเกิดวิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้. เพราะว่าคนจะเป็นคนรักตัวเอง, เป็นคนรักเงิน, . . . เป็นคนรักการสนุกสนานแทนที่จะรักพระเจ้า, มีความเลื่อมใสต่อพระเจ้าในรูปแบบหนึ่ง แต่ปฏิเสธพลังแห่งความเลื่อมใสนั้น.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) เนื่องจากอยู่ท่ามกลางผู้คนเช่นนั้นทุกเมื่อเชื่อวัน คริสเตียนแท้จึงถูกกดดันอยู่ตลอดให้คล้อยตามวิธีคิดและวิถีชีวิตแบบนี้. อะไรจะช่วยเราได้ให้ต้านทานความพยายามของโลกที่จะ ‘บีบเราเข้าสู่เบ้าหลอมของมัน’?—โรม 12:2, พันธสัญญาใหม่ในภาษาอังกฤษสมัยปัจจุบัน (ภาษาอังกฤษ) โดย เจ. บี. ฟิลลิปส์.
3. พระเยซูประทานคำแนะนำอะไรที่เราจะพิจารณากันต่อจากนี้?
3 ในฐานะ “ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์” พระเยซูคริสต์ทรงสอนบทเรียนที่มีพลังแก่เราในเรื่องนี้. (เฮ็บราย 12:2, ล.ม.) ในโอกาสหนึ่งเมื่อพระเยซูตรัสกับฝูงชนเกี่ยวด้วยบางเรื่องที่ให้ความสว่างฝ่ายวิญญาณ ชายคนหนึ่งขัดจังหวะการพิจารณาโดยร้องขอต่อพระองค์ว่า “อาจารย์เจ้าข้า ขอสั่งพี่ชายของข้าพเจ้าให้แบ่งมรดกให้กับข้าพเจ้า.” พระเยซูทรงตอบโดยประทานคำแนะนำที่หนักแน่นแก่ชายคนนั้น—รวมทั้งทุกคนที่ฟังอยู่. พระองค์ทรงเตือนอย่างหนักแน่นให้ระวังความโลภและเสริมคำเตือนนั้นด้วยอุทาหรณ์ที่กระตุ้นความคิด. เราควรใส่ใจจริง ๆ ในสิ่งที่พระเยซูตรัส ณ โอกาสนั้นและดูว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อได้รับประโยชน์จากการใช้คำแนะนำนั้นในชีวิตเราเอง.—ลูกา 12:13-21, ฉบับแปลใหม่.
คำร้องขอที่ไม่เหมาะสม
4. เหตุใดการที่ชายคนนี้เข้ามาขัดจังหวะพระเยซูจึงนับว่าไม่เหมาะสม?
4 ก่อนที่ชายคนนั้นจะเข้ามาขัดจังหวะ พระเยซูกำลังตรัสกับเหล่าสาวกและคนอื่น ๆ ว่าให้รักษาตัวให้พ้นจากความหน้าซื่อใจคด, ให้กล้าประกาศตัวว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบุตรมนุษย์, และให้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์. (ลูกา 12:1-12) เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่เหล่าสาวกจำเป็นต้องเอาใจใส่อย่างแน่นอน. แต่ขณะที่กำลังมีคำบรรยายที่กระตุ้นให้ตรวจสอบความคิดความรู้สึกเช่นนั้นอยู่ ชายคนนี้ก็สอดแทรกเข้ามากลางคัน ขอให้พระเยซูช่วยจัดการแก้ข้อพิพาทที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องในวงครอบครัวเกี่ยวข้องกับสมบัติวัตถุ. ถึงกระนั้น มีบทเรียนสำคัญที่เราสามารถเรียนได้จากเหตุการณ์นี้.
5. คำร้องขอของชายคนนี้เผยอะไรเกี่ยวกับตัวเขา?
5 มีคนเคยเขียนไว้ว่า “บุคลิกลักษณะของคนเราเป็นเช่นไรมักจะดูได้จากทิศทางความคิดของเขาเมื่อฟังคำเตือนสอนทางศาสนา.” ขณะที่พระเยซูกำลังตรัสถึงเรื่องที่จริงจังฝ่ายวิญญาณ ชายคนนี้คงกำลังคิดถึงสิ่งที่เขาสามารถทำได้เพื่อจะได้รับผลประโยชน์บางอย่างทางการเงิน. ไม่มีการกล่าวไว้ว่ามีเหตุอันควรหรือไม่ที่เขาจะเป็นทุกข์ร้อนใจในเรื่องมรดก. อาจเป็นได้ว่าเขากำลังพยายามฉวยประโยชน์จากอำนาจและชื่อเสียงของพระเยซูในฐานะผู้พิพากษาที่สุขุมในเรื่องต่าง ๆ ของมนุษย์. (ยะซายา 11:3, 4; มัดธาย 22:16) ไม่ว่าจะอย่างไร คำขอของเขาชี้ว่าเขามีปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจ—การไม่มีความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งฝ่ายวิญญาณ. นี่เป็นเหตุผลที่ดีที่เราจะตรวจสอบตัวเราเองมิใช่หรือ? ตัวอย่างเช่น ณ การประชุมคริสเตียน เป็นเรื่องง่ายที่เราอาจจะใจลอยหรือคิดว่าเราจะทำอะไรหลังจากการประชุมจบลง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราควรสนใจสิ่งที่มีการพิจารณาและคิดถึงวิธีที่เราจะนำเอาความรู้นั้นไปใช้กับตัวเอง เพื่อเราจะสามารถพัฒนาสายสัมพันธ์กับพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ พระยะโฮวาพระเจ้า และกับเพื่อนคริสเตียน.—บทเพลงสรรเสริญ 22:22; มาระโก 4:24.
6. เหตุใดพระเยซูจึงปฏิเสธที่จะทำตามคำร้องขอของชายคนนี้?
6 ไม่ว่าชายคนนี้มีแรงกระตุ้นเช่นไรก็ตาม พระเยซูปฏิเสธที่จะทำตามคำขอนั้น. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระเยซูตรัสกับเขาว่า “บุรุษเอ๋ย ใครได้ตั้งเราให้เป็นตุลาการหรือเป็นผู้แบ่งมรดกให้ท่าน.” (ลูกา 12:14, ฉบับแปลใหม่) โดยตรัสอย่างนั้น พระเยซูกำลังอ้างถึงบางสิ่งที่ผู้คนรู้จักกันดี เพราะตามพระบัญญัติของโมเซ มีการตั้งผู้พิพากษาไว้ตามเมืองต่าง ๆ ให้ตัดสินในเรื่องเช่นนั้น. (พระบัญญัติ 16:18-20; 21:15-17; ประวัตินางรูธ 4:1, 2) ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูทรงเป็นห่วงในเรื่องที่สำคัญกว่า—การให้คำพยานถึงความจริงเรื่องราชอาณาจักรและสอนผู้คนให้รู้จักพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. (โยฮัน 18:37) โดยดำเนินตามตัวอย่างของพระเยซู แทนที่จะถูกชักนำให้ไขว้เขวด้วยปัญหาที่มีอยู่ทั่วไปในโลก เราใช้เวลาและพลังงานเพื่อประกาศข่าวดีและ “ทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก.”—มัดธาย 24:14; 28:19, ล.ม.
จงระวังความโลภ
7. พระเยซูทรงตั้งข้อสังเกตอะไรที่เฉียบแหลม?
7 เนื่องจากทรงสามารถทราบเจตจำนงในส่วนลึกที่สุดของหัวใจ พระเยซูทรงตระหนักว่ามีสิ่งที่ร้ายแรงกว่ารวมอยู่ด้วยในคำร้องขอของชายคนนี้ที่ขอให้พระเยซูเข้าไปไกล่เกลี่ยในเรื่องส่วนตัว. ด้วยเหตุนั้น แทนที่จะเพียงแต่ปฏิเสธคำร้องขอนั้น พระเยซูทรงเข้าถึงแรงกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้โดยตรัสว่า “จงระวังและรักษาตัวให้พ้นจากความโลภทุกชนิด เพราะแม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.”—ลูกา 12:15, ล.ม.
8. ความโลภคืออะไร และอาจก่อผลเช่นไร?
8 ความโลภไม่ได้เป็นเพียงความปรารถนาจะมีเงินหรือสิ่งของบางอย่างเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นความปรารถนาที่มีเป้าหมายและมีการใช้อย่างถูกต้องได้. ตามที่นิยามไว้ในพจนานุกรมเล่มหนึ่ง ความโลภเป็น “ความปรารถนาอันเกินควรที่จะได้มาซึ่งความมั่งคั่งหรือทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์ของผู้อื่น.” ความโลภอาจเกี่ยวข้องกับแรงกระตุ้นอันเห็นแก่ตัวและไม่รู้จักพอที่จะมีสิ่งต่าง ๆ—ซึ่งอาจเป็นของคนอื่น—เพียงเพื่อจะมีสิ่งนั้น โดยไม่คำนึงถึงว่าตนจำเป็นต้องมีสิ่งนั้นไหมหรือจะก่อผลเช่นไรต่อผู้อื่น. คนโลภปล่อยให้สิ่งที่เขาปรารถนาจะได้ครอบงำความคิดและการกระทำของตนจนถึงขั้นที่โดยแท้แล้วสิ่งนั้นกลายเป็นพระเจ้าที่เขาบูชา. พึงจำไว้ว่าอัครสาวกเปาโลถือว่าคนโลภมีฐานะเท่ากับคนไหว้รูปเคารพซึ่งไม่ได้รับมรดกในราชอาณาจักรของพระเจ้า.—เอเฟโซ 5:5; โกโลซาย 3:5.
9. ความโลภอาจแสดงออกมาได้ในทางใดบ้าง? จงยกตัวอย่าง.
9 น่าสนใจ พระเยซูทรงเตือนให้ระวัง “ความโลภทุกชนิด.” ความโลภมีหลายลักษณะ. พระบัญญัติสิบประการข้อสุดท้ายแจกแจงความโลภบางลักษณะ โดยกล่าวว่า “อย่าโลภเรือนของเพื่อนบ้าน, อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน, หรือทาสาทาสีของเขา, หรือโคลาของเขา, หรือสิ่งใด ๆ ซึ่งเป็นของของเพื่อนบ้าน.” (เอ็กโซโด 20:17) คัมภีร์ไบเบิลมีตัวอย่างมากมายของคนที่ได้พลาดพลั้งทำบาปที่ทำให้เป็นทุกข์เพราะความโลภอย่างใดอย่างหนึ่ง. ซาตานเป็นบุคคลแรกที่โลภอยากได้บางสิ่งที่เป็นของผู้อื่น กล่าวคือ เกียรติยศ, ความนับถือ, และอำนาจซึ่งเป็นของพระยะโฮวาแต่ผู้เดียว. (วิวรณ์ 4:11) ฮาวาโลภอยากได้สิทธิที่จะกำหนดก้าวเดินของตัวเอง และการที่เธอถูกหลอกอย่างนี้ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ต้องเดินบนเส้นทางของบาปและความตาย. (เยเนซิศ 3:4-7) ส่วนพวกปิศาจนั้นก็คือทูตสวรรค์ที่ไม่พอใจกับ “ตำแหน่งดั้งเดิมของตน แต่ได้ละทิ้งสถานที่อยู่อันควรของตน” เพื่อจะได้สิ่งที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์. (ยูดา 6, ล.ม.; เยเนซิศ 6:2) นอกจากนี้ ขอให้นึกถึงบีละอาม, อาคาน, เฆฮะซี, และยูดาอิศการิโอดด้วย. แทนที่จะพอใจกับสิ่งที่มีในชีวิต พวกเขาปล่อยให้ความปรารถนาเกินควรที่จะมีทรัพย์สมบัติวัตถุทำให้พวกเขาใช้อำนาจหน้าที่ของตนอย่างผิด ๆ ทำให้ตัวเองจมสู่ความหายนะและความพินาศ.
10. เราควร “ระวัง” อย่างไรตามที่พระเยซูทรงเตือน?
10 ช่างเหมาะสมสักเพียงไรที่พระเยซูทรงเกริ่นนำคำเตือนให้ระวังความโลภด้วยถ้อยคำที่ว่า “จงระวัง”! เพราะเหตุใด? เพราะเป็นเรื่องง่ายที่คนเราจะเห็นว่าคนอื่นโลภหรืออยากได้ แต่ไม่ค่อยจะยอมรับว่าตัวเขาเองมีความปรารถนาผิด ๆ อย่างนั้น. กระนั้น อัครสาวกเปาโลชี้ว่า “การรักเงินทองนั้นก็เป็นรากแห่งความชั่วทุกอย่าง.” (1 ติโมเธียว 6:9, 10) สาวกยาโกโบอธิบายว่าความปรารถนาผิด ๆ เมื่อ “เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เกิดบาป.” (ยาโกโบ 1:15, ฉบับแปลใหม่) สอดคล้องกับคำเตือนของพระเยซู เราควร “ระวัง” ไม่ใช่เพื่อดูว่าคนอื่นเป็นอย่างคำพรรณนาดังกล่าวหรือไม่ แต่เพื่อตรวจสอบว่าความปรารถนาในหัวใจของเราเองเป็นเช่นไร เพื่อจะ “รักษาตัวให้พ้นจากความโลภทุกชนิด.”
ชีวิตอันบริบูรณ์
11, 12. (ก) พระเยซูทรงเตือนเช่นไรให้ระวังความโลภ? (ข) เหตุใดเราจำเป็นต้องเอาใจใส่คำเตือนของพระเยซู?
11 มีเหตุผลอีกประการหนึ่งที่เราต้องรักษาตัวให้พ้นจากความโลภ. ขอให้สังเกตสิ่งที่พระเยซูตรัสต่อจากนั้น: “แม้ว่าคนเรามีอย่างบริบูรณ์ แต่ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี.” (ลูกา 12:15, ล.ม.) นี่ย่อมเป็นเรื่องน่าใคร่ครวญอย่างแน่นอนในยุคของเราที่นิยมวัตถุ ในสมัยที่ผู้คนถือว่าความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ. ด้วยคำตรัสดังกล่าว พระเยซูทรงชี้ว่าชีวิตที่มีความหมายและน่าพึงพอใจอย่างแท้จริงนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมบัติวัตถุ ไม่ว่าจะมีบริบูรณ์เพียงใดก็ตาม.
12 อย่างไรก็ตาม บางคนอาจไม่เห็นด้วย. พวกเขาอาจหาเหตุผลว่าการมีสมบัติพัสถานทำให้ชีวิตสุขสบายและน่าเพลิดเพลินยิ่งขึ้น จึงนับว่าคุ้มค่ามากกว่า. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาทุ่มเทตัวในอาชีพการงานที่จะทำให้พวกเขาสามารถได้สมบัติวัตถุและเครื่องใช้ทันสมัยต่าง ๆ ทั้งหมดที่พวกเขาปรารถนา. พวกเขาคิดว่านั่นจะทำให้ชีวิตสมบูรณ์พูนสุข. แต่เมื่อคิดอย่างนั้น พวกเขาพลาดจุดสำคัญที่พระเยซูทรงชี้.
13. ทัศนะที่สมดุลในเรื่องชีวิตและทรัพย์สมบัติเป็นเช่นไร?
13 แทนที่จะเน้นว่าเป็นเรื่องถูกหรือผิดที่จะมีทรัพย์มาก พระเยซูทรงเน้นว่าชีวิตของคนเราไม่ได้เป็นผลมาจาก “สิ่งที่เขามี” กล่าวคือ สิ่งที่เขามีอยู่แล้ว. ในเรื่องนี้ เราทุกคนรู้ว่าการมีชีวิต หรือการรักษาชีวิตให้อยู่ต่อไป จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากมาย. สิ่งที่จำเป็นก็เพียงแค่อาหารเล็กน้อย, เสื้อผ้าบางชุดเพื่อสวมใส่, และที่ที่จะเอนกายนอน. คนรวยมีสิ่งเหล่านี้อย่างบริบูรณ์ และคนจนอาจต้องกระเสือกกระสนเพื่อจะได้สิ่งที่พวกเขาจำเป็น. แต่ความแตกต่างดังกล่าวจะหมดไปเมื่อชีวิตไปถึงวาระสุดท้าย—ทุกอย่างจบสิ้น. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 6) ด้วยเหตุนั้น เพื่อชีวิตจะมีความหมายและคุ้มค่า ชีวิตไม่อาจเพียงแค่ประกอบด้วยสิ่งที่คนเราสามารถได้มาหรือครอบครอง และไม่ควรเป็นอย่างนั้น. แง่คิดนี้จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเราพิจารณาความหมายของชีวิตแบบที่พระเยซูตรัสถึง.
14. เราอาจเรียนอะไรได้จากคำ “ชีวิต” ที่พบในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล?
14 เมื่อพระเยซูตรัสว่า “ชีวิตของเขาก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขามี” คำที่ใช้ในที่นี้สำหรับ “ชีวิต” ในกิตติคุณของลูกา (ภาษากรีก โซเอ) ไม่ได้หมายถึงรูปแบบในการดำเนินชีวิต แต่หมายถึงตัวชีวิตเอง ชีวิตในความหมายที่ครบถ้วน.a พระเยซูกำลังตรัสว่าไม่ว่าเราจะรวยหรือยากจน ไม่ว่าเราจะอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือยหรืออยู่อย่างกระเหม็ดกระแหม่ เราไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงในการควบคุมว่าเราจะมีชีวิตยาวนานเพียงใดหรือเราจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ในวันพรุ่งนี้. พระเยซูตรัสในคำเทศน์บนภูเขาว่า “มีใครในพวกท่านโดยความกระวนกระวายอาจต่อชีวิตให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ?” (มัดธาย 6:27) คัมภีร์ไบเบิลแสดงอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวาเพียงผู้เดียวเป็น “บ่อเกิดแห่งชีวิต” และเฉพาะพระองค์เท่านั้นสามารถประทาน “ชีวิตแท้” หรือ “ชีวิตนิรันดร์” อันได้แก่ชีวิตที่ไม่สิ้นสุด แก่ผู้ซื่อสัตย์ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก.—บทเพลงสรรเสริญ 36:9, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 6:12, 19, ล.ม.
15. เหตุใดหลายคนจึงวางใจในทรัพย์สมบัติวัตถุ?
15 คำตรัสของพระเยซูชี้ว่าเป็นเรื่องง่ายจริง ๆ ที่คนเราจะมีทัศนะต่อชีวิตอย่างที่ผิดเพี้ยนหรือบิดเบือน. ไม่ว่ารวยหรือจน มนุษย์ทุกคนไม่สมบูรณ์และมีโอกาสที่จะประสบปัญหาเหมือน ๆ กัน. โมเซให้ข้อสังเกตดังนี้: “ในชั่วอายุของข้าพเจ้ามีสักเจ็ดสิบปีเท่านั้น, ถ้าแม้ว่ามีกำลังมากก็จะยืนได้ถึงแปดสิบปี; กำลังที่ตนอวดนั้นย่อมประกอบไปด้วยการลำบากและความทุกข์; เพราะไม่ช้าก็จะเสียไปและข้าพเจ้าทั้งหลายจะล่วงลับไป.” (บทเพลงสรรเสริญ 90:10; โยบ 14:1, 2; 1 เปโตร 1:24) ด้วยเหตุนี้ คนที่ไม่ได้พัฒนาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้ามักจะมีทัศนคติแบบ “ให้เรากินและดื่มเถิด, เพราะว่าพรุ่งนี้เราก็จะตาย” ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้. (1 โกรินโธ 15:32) ส่วนคนอื่น ๆ เมื่อรู้สึกว่าชีวิตมีอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราวและไม่แน่นอน จึงพยายามหาความมั่นคงปลอดภัยในทรัพย์สมบัติวัตถุ. อาจเป็นได้ที่พวกเขาคิดว่าการมีสิ่งฝ่ายวัตถุที่เห็นได้จับต้องได้มาก ๆ จะทำให้ชีวิตมั่นคงขึ้นไม่โดยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อสะสมทรัพย์สินเงินทองให้มาก ๆ โดยเข้าใจผิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความมั่นคงและความสุขสำหรับชีวิต.—บทเพลงสรรเสริญ 49:6, 11, 12.
อนาคตที่มั่นคง
16. คุณค่าที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้อาศัยอะไรเป็นพื้นฐาน?
16 อาจเป็นความจริงว่ามาตรฐานการครองชีพที่สูงกว่า—การมีอาหาร, เสื้อผ้า, ที่อยู่อาศัย, และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อย่างครบครัน—สามารถช่วยให้มีชีวิตที่สบายกว่าหรืออาจถึงกับทำให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าและด้วยเหตุนั้นจึงทำให้มีช่วงชีวิตที่ยืนยาวกว่าบ้าง. อย่างไรก็ตาม ชีวิตเช่นนั้นมีความหมายกว่าและมั่นคงกว่าจริง ๆ ไหม? คุณค่าที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้วัดกันที่จำนวนปีที่คนเราสามารถมีชีวิตอยู่หรือปริมาณวัตถุสิ่งของที่คนเราสามารถครอบครองหรือใช้ประโยชน์. อัครสาวกเปาโลชี้ถึงอันตรายของการวางใจมากเกินไปในสิ่งต่าง ๆ เช่นนั้น. ท่านเขียนถึงติโมเธียวว่า “ท่านจงกำชับคนเหล่านั้นที่มั่งมีฝ่ายโลกอย่าให้มีใจถือมานะทิฏฐิ, อย่าให้ความหวังของเขาอิงอยู่กับทรัพย์อนิจจัง, แต่ให้หวังในพระเจ้าผู้ทรงประทานสิ่งสารพัตรให้แก่เราอย่างบริบูรณ์เพื่อจะให้เราใช้ด้วยความปีติยินดี.”—1 ติโมเธียว 6:17.
17, 18. (ก) มีตัวอย่างอันโดดเด่นอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติวัตถุซึ่งคุ้มค่าที่เราจะเอาอย่าง? (ข) จะมีการพิจารณาอุทาหรณ์อะไรของพระเยซูในบทความถัดไป?
17 การฝากความหวังไว้กับความมั่งคั่งนับว่าไม่ฉลาด เพราะนั่นเป็นสิ่ง “อนิจจัง.” โยบปฐมบรรพบุรุษมีฐานะร่ำรวยมาก แต่เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ความมั่งคั่งช่วยอะไรท่านไม่ได้; สิ่งเหล่านั้นสูญสลายไปในชั่วพริบตา. แต่เป็นสายสัมพันธ์อันมั่นคงกับพระเจ้าต่างหากที่ช่วยท่านผ่านพ้นการทดสอบและความทุกข์ลำบากทั้งสิ้น. (โยบ 1:1, 3, 20-22) อับราฮามไม่ได้ปล่อยให้สมบัติวัตถุที่ท่านมีอย่างบริบูรณ์กีดขวางท่านไว้จากการยอมรับงานมอบหมายอันยากเข็ญจากพระยะโฮวา และท่านได้รับพระพรโดยได้เป็น “บิดาของชนหลายประเทศ.” (เยเนซิศ 12:1, 4; 17:4-6) เป็นเรื่องคุ้มค่าที่เราจะทำตามตัวอย่างเหล่านี้และตัวอย่างอื่น ๆ. ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ เราจำเป็นต้องตรวจสอบตัวเราเองเพื่อดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงในชีวิตเราและเราฝากความหวังไว้กับอะไร.—เอเฟโซ 5:10; ฟิลิปปอย 1:10.
18 คำตรัสไม่กี่คำที่พระเยซูตรัสในเรื่องความโลภและทัศนะที่ถูกต้องในเรื่องชีวิตนับว่ามีความหมายและเป็นบทเรียนที่ดีจริง ๆ. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงคิดถึงคำเตือนสอนมากกว่านั้น และต่อจากนั้นพระองค์จึงทรงเล่าอุทาหรณ์ที่กระตุ้นความคิดเกี่ยวกับชายเศรษฐีคนหนึ่งที่ไร้เหตุผล. อุทาหรณ์นั้นใช้ได้กับชีวิตเราในทุกวันนี้อย่างไร และเราจะเรียนอะไรได้จากอุทาหรณ์ดังกล่าว? บทความถัดไปจะให้คำตอบ.
[เชิงอรรถ]
a คำกรีกอีกคำหนึ่งที่แปลว่า “ชีวิต” คือไบออส. ตามพจนานุกรมอธิบายศัพท์พันธสัญญาเดิมและใหม่ของไวน์ (ภาษาอังกฤษ) ไบออสหมายถึง “ช่วงชีวิต,” “รูปแบบชีวิต,” และ “ปัจจัยการดำรงชีวิต.”
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราอาจเรียนอะไรได้จากการที่พระเยซูทรงปฏิเสธคำร้องขอจากชายคนหนึ่งในหมู่ฝูงชน?
• เหตุใดเราต้องระวังความโลภ และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
• เหตุใดชีวิตจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมบัติวัตถุ?
• อะไรทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมั่นคงได้อย่างแท้จริง?
[ภาพหน้า 23]
เหตุใดพระเยซูทรงปฏิเสธคำร้องขอของชายคนหนึ่ง?
[ภาพหน้า 23]
ความโลภอาจก่อผลเป็นความหายนะได้
[ภาพหน้า 25]
อับราฮามแสดงทัศนะที่ถูกต้องอย่างไรในเรื่องสมบัติวัตถุ?