ซื่อสัตย์ภักดีและตั้งมั่นคงในอดีตและปัจจุบัน
ทางภาคใต้ของประเทศโปแลนด์ ใกล้พรมแดนติดกับสโลวะเกียและสาธารณรัฐเช็กที่นั่นมีเมืองเล็ก ๆ ชื่อวิสวา. แม้คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่อวิสวา แต่เมืองนี้มีประวัติที่คริสเตียนแท้คงจะรู้สึกว่าน่าสนใจอย่างมาก. มันเป็นประวัติที่โดดเด่นในเรื่องความซื่อสัตย์มั่นคงและใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการพระยะโฮวา. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
วิสวาตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาที่งดงาม ซึ่งสภาพธรรมชาติอำนวยให้มองเห็นทิวทัศน์ภูเขาสวยน่าดู. น้ำที่เชี่ยวกรากในห้วยและลำธารอีกสองสายไหลมาบรรจบกับแม่น้ำวิสทูลา สายน้ำคดเคี้ยวผ่านภูเขาและหุบเขาซึ่งเป็นป่าครึ้ม. ผู้คนในท้องถิ่นมีไมตรีจิตและสภาพอากาศที่ไม่มีใดเหมือนทำให้วิสวาเป็นศูนย์กลางการแพทย์อันลือชื่อ, เป็นเมืองตากอากาศ, และที่พักผ่อนในฤดูหนาว.
ดูเหมือนว่ามีการตั้งชนบทครั้งแรกพร้อมกับชื่อนี้ในช่วงทศวรรษ 1590. มีการตั้งโรงเลื่อย และหลังจากนั้นไม่นานที่โล่งในป่าก็มีคนเข้าไปสร้างบ้านเรือนอยู่ พวกเขาเลี้ยงแกะ, เลี้ยงปศุสัตว์, และทำการเพาะปลูก. แต่สามัญชนเหล่านี้ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา. การปฏิรูปทางศาสนาซึ่งมาร์ติน ลูเทอร์เริ่มต้นก่อผลกระทบอย่างมากต่อภูมิภาคแถบนี้ นิกายลูเทอรันกลายเป็น “ศาสนาประจำชาติในปี 1545” ตามคำบอกเล่าของนักวิจัยอันเจ ออตเชก. กระนั้น สงครามสามสิบปีและการต่อต้านการปฏิรูปภายหลังได้เปลี่ยนสภาพการณ์อย่างกะทันหัน. ออตเชกบอกต่อไปว่า “ในปี 1654 โบสถ์ทุกแห่งของนิกายโปรเตสแตนต์ถูกยึด, มีการสั่งห้ามพวกเขาปฏิบัติศาสนกิจ, และมีการเก็บริบพระคัมภีร์พร้อมกับหนังสืออื่น ๆ เกี่ยวกับศาสนา.” กระนั้น ประชากรส่วนใหญ่ในท้องถิ่นยังคงขึ้นอยู่กับนิกายลูเทอรัน.
การหว่านเมล็ดความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเป็นครั้งแรก
น่าดีใจ การปฏิรูปทางศาสนาที่สำคัญกว่าจวนเกิดขึ้นแล้ว. ในปี 1928 ด้วยใจแรงกล้า นักศึกษาพระคัมภีร์สองคน ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น ได้หว่านเมล็ดความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเป็นครั้งแรก. ปีถัดมา ยาน โกโมลาได้มาถึงเมืองวิสวาพร้อมกับนำเอาหีบเสียงติดตัวมาด้วย ซึ่งเขาได้เปิดคำบรรยายหลายเรื่องเกี่ยวกับพระคัมภีร์. จากนั้น เขาย้ายไปยังหุบเขาที่อยู่ไม่ไกล ที่นั่นเขาพบผู้ฟังที่แสดงความสนใจ คืออันเจ รัชกา ชายร่างเตี้ยล่ำสัน อาศัยอยู่ในภูมิประเทศแถบภูเขา เป็นคนที่มีหัวใจตอบรับ. รัชกาคว้าเอาคัมภีร์เล่มส่วนตัวออกมาทันทีเพื่อพิสูจน์คำบรรยายที่ได้ฟังจากแผ่นเสียง. ครั้นแล้วเขาก็อุทานออกมาว่า “พี่น้องของผม ในที่สุดผมพบความจริงเข้าแล้ว! ผมสืบเสาะคำตอบตั้งแต่ผมยังประจำอยู่แนวหน้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่ หนึ่ง!”
ด้วยศรัทธาแรงกล้า รัชกาจึงพาโกโมลาไปพบเพื่อน ๆ เช่น เยอร์เชและอันเจ พิลค์ ซึ่งตอบรับข่าวราชอาณาจักรอย่างกระตือรือร้น. อันเจ ไทร์นาซึ่งเรียนความจริงในฝรั่งเศสได้ช่วยผู้ชายเหล่านี้ให้มีความรู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้านข่าวสารของพระเจ้า. ไม่นานพวกเขาได้รับบัพติสมา. เพื่อจะช่วยกลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์กลุ่มเล็กนี้ในวิสวา พวกพี่น้องจากเมืองใกล้เคียงได้มาเยี่ยมในช่วงกลางทศวรรษ 1930. ผลที่ได้รับนั้นน่าพิศวง.
มีผู้สนใจใหม่ ๆ หลั่งไหลเข้ามาอย่างน่าประทับใจ. หลายครอบครัวในท้องถิ่นที่ถือนิกายลูเทอรันมีนิสัยชอบอ่านพระคัมภีร์ที่บ้านของเขา. ดังนั้น เมื่อพวกเขาพบการหาเหตุผลที่น่าเชื่อตามหลักพระคัมภีร์เกี่ยวกับคำสอนเรื่องไฟนรกและตรีเอกานุภาพ หลายคนสามารถแยกแยะความจริงจากคำสอนเท็จได้. หลายครอบครัวตัดสินใจสลัดทิ้งคำสอนเท็จทางศาสนา. ด้วยเหตุนั้น ประชาคมในวิสวาจึงเติบโต และพอมาในปี 1939 มีประมาณ 140 คน. แต่น่าแปลก พวกผู้ใหญ่ในประชาคมส่วนใหญ่ไม่ได้รับบัพติสมา. เฮเลนาพยานฯ รุ่นแรกบอกว่า “นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมาจะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา.” เธอกล่าวเสริมดังนี้: “เมื่อพวกเขาเผชิญการทดสอบความเชื่อในเวลาต่อมา พวกเขาได้พิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงของตน.”
พวกผู้เยาว์ทั้งหลายล่ะเป็นอย่างไร? เด็ก ๆ ได้เห็นแล้วว่าพ่อแม่ของตนค้นพบความจริง. ฟรันชีเชก บรันทซ์บอกว่า “เมื่อพ่อตระหนักว่าท่านได้พบความจริง ท่านก็พร่ำสอนผมกับพี่ชาย. ผมอายุแปดขวบ พี่ชายผมสิบขวบ. พ่อมักจะตั้งคำถามง่าย ๆ ให้เราตอบ เช่น ‘ใครเป็นพระเจ้า และพระนามของพระองค์คืออะไร? ลูกรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?’ เราต้องเขียนคำตอบและเขียนข้อคัมภีร์กำกับไว้ด้วย.” พยานฯ อีกคนหนึ่งพูดว่า “เนื่องจากพ่อแม่ของผมสมัครใจตอบรับข่าวสารราชอาณาจักร และถอนตัวจากคริสตจักรลูเทอรันในปี 1940 ผมถูกต่อต้านและถูกเฆี่ยนที่โรงเรียน. ผมสำนึกบุญคุณพ่อแม่ที่ได้ปลูกฝังหลักการของคัมภีร์ไบเบิลให้แก่ผม. นั่นเป็นการช่วยผมผ่านพ้นความยุ่งยากมาได้ในช่วงเวลาที่แสนลำบาก.”
ความเชื่อถูกทดสอบ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น และพวกนาซีเข้ายึดพื้นที่ได้, พวกเขามุ่งจะกำจัดพยานพระยะโฮวาให้หมดสิ้น. ทีแรกกลุ่มผู้ใหญ่—โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกบิดา—ถูกยุให้เซ็นชื่อในบัญชีพลเมืองสัญชาติเยอรมัน เพื่อจะได้ซึ่งสิทธิประโยชน์บางอย่าง. พยานพระยะโฮวาปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนพวกนาซี. พี่น้องชายหลายคนและพวกผู้สนใจวัยเกณฑ์ทหารต้องเผชิญปัญหา พวกเขาจะเข้าร่วมในกองทัพ หรือรักษาตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด แต่ต้องถูกลงโทษรุนแรง. อันเจ ซัลโบทซึ่งโดนตำรวจเกสตาโปจับเมื่อปี 1943 ชี้แจงว่า “หากปฏิเสธการปฏิบัติราชการทหาร นั่นหมายถึงการถูกส่งเข้าค่ายกักกัน ปกติแล้วก็ค่ายเอาชวิทซ์. ตอนนั้นผมยังไม่ได้รับบัพติสมา แต่ก็รู้คำรับรองของพระเยซูในมัดธาย 10:28, 29. ผมทราบดีว่าถ้าผมตายเพราะมีความเชื่อในพระยะโฮวา พระองค์ทรงสามารถปลุกผมขึ้นมาสู่ชีวิตอีก.”
ช่วงต้นปี 1942 ทหารนาซีได้จับกุมพี่น้องชาย 17 คนจากเมืองวิสวา. ภายในช่วงสามเดือน 15 คนในจำนวนนั้นได้เสียชีวิตในเอาชวิทซ์. เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบเช่นไรต่อพวกพยานฯ ที่เหลืออยู่ในวิสวา? แทนที่จะเป็นเหตุให้พวกเขาสลัดทิ้งความเชื่อ พวกเขากลับมีกำลังใจยึดมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา! ช่วงหกเดือนต่อจากนั้น จำนวนผู้ประกาศในวิสวาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว. ต่อมาไม่นาน อีกหลายคนถูกจับกุม. จำนวนผู้รับผลกระทบจากกองกำลังสังหารของฮิตเลอร์ทั้งสิ้นคือมีพี่น้องผู้สนใจและเด็กรวมทั้งหมด 83 คน. ในจำนวนนี้ ห้าสิบสามคนถูกส่งเข้าค่ายกักกัน (ส่วนใหญ่ที่ค่ายเอาชวิทซ์) หรือถูกส่งไปที่ค่ายแรงงานบังคับให้ทำงานหนักในเหมืองแร่หรือเหมืองหินในประเทศโปแลนด์, เยอรมนี, และโบฮีเมีย.
ซื่อสัตย์ภักดีและตั้งมั่นคง
ในค่ายเอาชวิทซ์ พวกนาซีพยายามจูงใจเหล่าพยานฯ ให้คาดหวังจะเป็นอิสระโดยเร็ว. ทหารรักษาการณ์หน่วยเอสเอสบอกบราเดอร์คนหนึ่งว่า “ถ้าคุณเพียงแต่เซ็นชื่อบนแผ่นกระดาษปฏิเสธว่าไม่ใช่นักศึกษาพระคัมภีร์ เราจะให้คุณเป็นอิสระและกลับบ้านได้.” มีการยื่นข้อเสนอแบบนี้หลายครั้งหลายหน กระนั้น บราเดอร์ของเราไม่ยอมประนีประนอมความจงรักภักดีที่มีต่อพระยะโฮวา. ผลก็คือเขาถูกเฆี่ยน, ถูกเยาะเย้ย, และทำงานเยี่ยงทาส ทั้งในค่ายเอาชวิทซ์และที่มิทเทลเบา-โดราในประเทศเยอรมนี. เพียงไม่กี่วันก่อนได้รับอิสรภาพ บราเดอร์คนนี้รอดตายอย่างหวุดหวิดระหว่างที่กองกำลังฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดค่ายซึ่งเขาถูกกักอยู่ที่นั่น.
พาเวล ซัลโบท พยานฯ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ ครั้งหนึ่งเขาเล่าว่า “ระหว่างการสอบสวน หน่วยตำรวจเกสตาโปจะซักถามผมครั้งแล้วครั้งเล่าถึงสาเหตุที่ผมไม่เข้าร่วมกองทัพเยอรมันและสดุดีฮิตเลอร์.” หลังจากชี้แจงพื้นฐานของหลักการในพระคัมภีร์ว่าด้วยความเป็นกลางของคริสเตียน เขาถูกตัดสินให้ทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ. “ชัดเจนอยู่แล้วว่า โดยสติรู้สึกผิดชอบ ผมไม่อาจยอมรับทำงานประเภทนี้ได้ ฉะนั้นพวกเขาจึงส่งผมไปทำงานในเหมือง.” กระนั้น เขาก็ยังคงรักษาความซื่อสัตย์.
ส่วนพวกที่ไม่ถูกคุมขัง—ผู้หญิงและเด็ก ๆ—ส่งอาหารบรรจุห่อสำหรับคนเหล่านั้นในค่ายเอาชวิทซ์. บราเดอร์คนหนึ่งซึ่งตอนนั้นเป็นวัยรุ่นเล่าว่า “ช่วงฤดูร้อน เราเข้าป่าเก็บลูกแครนเบอร์รีเอามาแลกข้าวสาลี. พวกพี่น้องหญิงปั้นขนมปังเป็นก้อนแล้วเอาไปทอด. จากนั้นเราก็จัดขนมนี้ใส่กล่องขนาดย่อมส่งไปให้เพื่อนร่วมความเชื่อที่ถูกคุมขัง.”
พยานฯ วัยผู้ใหญ่จากวิสวารวมทั้งสิ้น 53 คนถูกส่งไปอยู่ในค่ายกักกันและทำงานหนัก. สามสิบแปดคนเสียชีวิตที่นั่น.
หนุ่มสาวรุ่นใหม่ขึ้นมามีบทบาท
บุตรหลานของเหล่าพยานพระยะโฮวาได้รับผลกระทบเช่นกันจากการกดขี่โดยมาตรการบีบบังคับของพวกนาซี. เด็กบางคนพร้อมกับมารดาถูกส่งไปอยู่ที่ค่ายชั่วคราวในโบฮีเมีย. บางคนถูกพรากจากบิดามารดาแล้วให้ไปอยู่ค่ายเยาวชนที่เมืองลอดซ์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเลวร้ายที่สุด.
เด็กสามคนจากจำนวนที่ได้รับผลกระทบเล่าว่า “การเคลื่อนย้ายเที่ยวแรกไปยังลอดซ์ พวกเยอรมันนำพวกเราสิบคน อายุระหว่างห้าถึงเก้าขวบไปที่นั่น. พวกเราหนุนใจกันและกันโดยการอธิษฐานและเล่าเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลสู่กันฟัง. การจะอดทนนั้นไม่ง่าย.” ในปี 1945 เด็กในกลุ่มดังกล่าวได้กลับบ้านทั้งหมด. พวกเขารอดมาได้ก็จริง แต่ผ่ายผอมและมีรอยฟกช้ำ. กระนั้น ไม่มีสิ่งใดอาจทำลายความซื่อสัตย์ภักดีของพวกเขาเสียได้.
หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น?
ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จวนจะสงบ เหล่าพยานฯ จากวิสวายังตั้งมั่นคงในความเชื่อและพร้อมจะทำกิจกรรมการประกาศอีกครั้งหนึ่งด้วยใจแรงกล้าและมุ่งมั่น. กลุ่มพี่น้องหลายกลุ่มได้ไปเยี่ยมประชาชนที่อยู่ไกลจากเมืองวิสวาราว ๆ 40 กิโลเมตร ได้เผยแพร่และแจกจ่ายสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. ยาน คชอคเล่าว่า “ต่อมาไม่นาน ในเมืองของเราก็มีประชาคมที่ขันแข็งถึงสามประชาคม.” อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทางศาสนามีอยู่ได้ไม่นาน.
ปี 1950 ระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งเข้ามาแทนระบอบนาซีได้สั่งห้ามกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาในโปแลนด์. ฉะนั้น พี่น้องในประเทศนี้ต้องคิดหาวิธีที่จะทำงานรับใช้. บางครั้งพวกเขาเยี่ยมประชาชนตามบ้าน ทำทีว่าหาซื้อปศุสัตว์หรือข้าว. การจัดประชุมคริสเตียนมักจะทำกันตอนกลางคืน โดยจัดแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ. กระนั้นก็ดี หน่วยรักษาความปลอดภัยก็สามารถจับกุมผู้นมัสการพระยะโฮวาได้หลายคน ตั้งข้อหาว่าพยานฯ ทำงานให้สำนักข่าวกรองต่างชาติ ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง. เจ้าหน้าที่บางคนพูดข่มขู่แดกดันพาเวล พิลค์ว่า “แม้ฮิตเลอร์ไม่ได้ทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของคุณ แต่พวกเรานี่แหละจะทำ.” กระนั้น เขายังคงรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวา เขาถูกจำคุกห้าปี. เมื่อพยานฯ บางคนที่อายุน้อยกว่าไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารการเมืองระบอบสังคมนิยม พวกเขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนหรือไล่ออกจากงาน.
พระยะโฮวายังคงสถิตอยู่ฝ่ายพวกเขา
ปี 1989 สถานการณ์ด้านการเมืองเปลี่ยนแปลง และพยานพระยะโฮวาในโปแลนด์ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย. ผู้นมัสการพระยะโฮวาในเมืองวิสวาที่ยืนหยัดมั่นคงก็เร่งทำกิจกรรมของเขา ดังสะท้อนให้เห็นในจำนวนผู้เผยแพร่เต็มเวลาหรือที่เรียกว่าไพโอเนียร์. พี่น้องชายหญิงประมาณ 100 คนในเขตพื้นที่นี้ได้ร่วมงานรับใช้ประเภทไพโอเนียร์. จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองนี้มีชื่อเล่นว่าโรงงานไพโอเนียร์.
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการสนับสนุนจากพระเจ้าเพื่อผู้รับใช้ของพระองค์ในอดีตดังนี้: “ถ้าแม้นพระยะโฮวาไม่ทรงสถิตอยู่ฝ่ายพวกเราแล้ว, ขณะเมื่อคนทั้งปวงได้ลุกขึ้นต่อสู้พวกเรา; . . . เขาคงได้กลืนพวกเราเสียแล้วทั้งเป็น.” (บทเพลงสรรเสริญ 124:2, 3) ในสมัยของเรา ทั้งที่ความเฉยเมยและแนวโน้มทางโลกที่ผิดศีลธรรมมีแพร่หลายในท่ามกลางประชาชน แต่บรรดาผู้นมัสการพระยะโฮวาในวิสวาพยายามรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของตนและได้รับพระพรอย่างอุดม. เหล่าพยานฯ รุ่นต่อมาในเขตพื้นที่นี้สามารถให้การเป็นพยานถึงความจริงเกี่ยวด้วยคำพูดของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “ถ้าพระเจ้าอยู่ฝ่ายเรา, ใครผู้ใดจะต่อสู้เราได้?”—โรม 8:31.
[ภาพหน้า 26]
เอมมีลยา คชอคถูกส่งไปที่ค่ายชั่วคราวในโบฮีเมียพร้อมกับลูก ๆ ของเธอ เฮเลนา, เอมมีลยา, และยาน
[ภาพหน้า 26]
เมื่อพาเวล ซัลโบทปฏิเสธการเข้าประจำการในกองทัพ เขาถูกส่งไปทำงานในเหมือง
[ภาพหน้า 27]
เมื่อพี่น้องชายถูกส่งไปและได้เสียชีวิตในค่ายเอาชวิทซ์ การงานในเมืองวิสวาไม่ชะงักงัน
[ภาพหน้า 28]
พาเวล พิลค์กับยาน โปลอคถูกนำตัวไปไว้ที่ค่ายเยาวชนในเมืองลอดซ์
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Berries and flowers: © R.M. Kosinscy / www.kosinscy.pl